กลัวเมีย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กลัวเมีย
กำกับหลวงอนุรักษ์รัถการ (2479)
ขุนวิจิตรมาตรา (2514)
เขียนบทหลวงอนุรักษ์รัถการ
อำนวยการสร้างมานิต วสุวัต (2479)
ชายชาญ วสุวัต (2514)
นักแสดงนำครั้งที่ 1
มานี สุมนนัฎ
จำรัส สุวคนธ์
เขียน ไกรกุล
ครั้งที่ 2
สมบัติ เมทะนี
อรัญญา นามวงศ์
รุจน์ รณภพ
นงลักษณ์ โรจนพรรณ
กำกับภาพหลวงกลการเจนจิต
ตัดต่อกระเศียร วสุวัต (2479)
ดนตรีประกอบนารถ ถาวรบุตร (ทำนอง)
จำรัส รวยนิรันดร์ (คำร้อง)
กิจ สาราภรณ์ (ช่วยแต่งเพลง ใจสนองใจ)
บริษัทผู้สร้าง
บริษัทภาพยนตร์เสียงศรีกรุง จำกัด / ศรีกรุงภาพยนตร์
วันฉายพ.ศ. 2479 (ฉบับแรก)
พ.ศ. 2514 (ฉบับหลัง)
ประเทศไทย
ภาษาไทย

กลัวเมีย เป็นภาพยนตร์ไทยพูด (ในฟิล์ม) ของไทยแนวตลกชวนหัวประกอบเพลง ระบบ 35 มม. ระบบไวด์สกรีน เสียงในฟิล์ม (ซาวออนฟิล์ม) ของ บริษัทภาพยนตร์เสียงศรีกรุง จำกัด พ.ศ. 2479 (ขาวดำ)

นำแสดงโดย มานี สุมนนัฎ นางเอกศรีกรุงผู้มีชื่อเสียงและ จำรัส สุวคนธ์ ดาวรุ่งดวงใหม่จาก เลือดชาวนา ซึ่งได้เป็นดาราระดับพระเอกศรีกรุงอย่างสมบูรณ์ มีสิทธิ์นั่งเก้าอี้พิเศษของโรงถ่ายหลังจากภาพยนตร์เรื่องนี้ นอกจากนี้ยังมีเพลงไพเราะร่วมสมัยเป็นที่จดจำของผู้ฟังเพลงจนถึงปัจจุบัน

หลังจากศรีกรุงหยุดกิจการภาพยนตร์ไปนานตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ต่อมาในปี พ.ศ. 2514 ได้หวนกลับวงการอีกครั้งประเดิมด้วย กลัวเมีย ฉบับสร้างใหม่เป็นเรื่องแรก (สีอิสต์แมน) ในนาม ศรีกรุงภาพยนตร์

นำแสดงโดย สมบัติ เมทะนี และ อรัญญา นามวงศ์ ดาราคู่ขวัญยอดนิยมสมัยนั้น ร่วมด้วย รุจน์ รณภพ, นงลักษณ์ โรจนพรรณ (ดาราจอแก้วไทยทีวีช่อง 4 บางขุนพรหม ที่ก้าวสู่วงการจอเงินมาแล้วหลายเรื่อง) ฉายที่โรงภาพยนตร์เพชราม่า เชิงสะพานลอยประตูน้ำ (ใกล้ซอยชิดลม)

ชายชาญ วสุวัต อำนวยการสร้าง, มานิต วสุวัต ที่ปรึกษา กำกับการแสดงโดย ขุนวิจิตรมาตรา ซึ่งเคยช่วยงานที่ศรีกรุงในยุคบุกเบิก

เรื่องย่อ[แก้]

เรื่องของสามีเจ้าชู้ไม่เลือกแม้แต่สาวใช้ในบ้าน แต่ไม่อาจรอดพ้นสายตาของภรรยาที่ระแวงคอยจับผิดอยู่ก่อนแล้วทุกครั้ง จนเธอทนไม่ไหวตัดสินใจหนีออกจากบ้าน ฝ่ายชายเริ่มสำนึกได้ว่าตนเป็นต้นเหตุทั้งหมด ขณะที่ฝ่ายภรรยาซึ่งอดคิดถึงสามีไม่ได้จึงกลับเข้ามาในบ้านและแอบได้ยินฝ่ายชายรำพันด้วยความเสียใจ ทั้งคู่ปรับความเข้าใจและกลับมาเริ่มต้นชีวิตร่วมกันใหม่ในที่สุด

งานสร้าง[แก้]

ทั้งสองฉบับ ถ่ายทำด้วยฟิล์ม 35 มม.ระบบไวด์สกรีน ซาวออนฟิล์ม (บันทึกเสียงจริงขณะถ่ายทำ) ตามมาตรฐานสากลซึ่งศรีกรุงเป็นผู้บุกเบิกการสร้างระบบนี้ในเมืองไทยตั้งแต่เริ่มแรกโดยต้องใช้อุปกรณ์และผู้ชำนาญรวมทั้งค่าใช้จ่ายมากกว่าระบบพากย์ลงฟิล์มภายหลัง ภาพยนตร์ประสบความสำเร็จอย่างดีทั้งสองครั้ง

ฉากเด่นตอนหนึ่งของฉบับ พ.ศ. 2514 ซึ่งต้องถ่ายทำให้ได้ในครั้งเดียว คือ เมื่อสามีภรรยา (สมบัติ-อรัญญา) ทะเลาะกันตามปกติ แต่คราวนี้ภรรยาโกรธจัด คว้าไวโอลินที่สามีหลอกว่ากำลังฝึกเล่น ฟาดสุดแรงกับขอบโต๊ะจนเครื่องดนตรีหักกระเด็นเป็นชิ้น ๆ ทั้งการประชันบทบาทของดารานำและการบันทึกเสียงให้ความสมจริงจนผู้ชมนิ่งอึ้งด้วยคาดไม่ถึงกับความรุนแรงของสถานการณ์

เพลง[แก้]

  1. สุรานารี (จำรัส-เขียน / สมบัติ-นงลักษณ์)
  2. ใจสนองใจ (มานี / อรัญญา)
  3. แสนอาลัย (จำรัส / สมบัติ)
  4. ชื่นชีวิต (จำรัส-มานี / สมบัติ-อรัญญา)
  5. ยามรัก (มีเฉพาะฉบับ พ.ศ. 2514 โดย หม่อมราชวงศ์ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ ดารารับเชิญ)
  6. ผัวหาย (มีเฉพาะฉบับ พ.ศ. 2514 โดย ขวัญจิต ศรีประจันต์ นักร้องรับเชิญ)

เพลงต้นฉบับ บันทึกลงแผ่นเสียงตราศรีกรุง อัลบั้มอื่น ๆ ขับร้องโดย เช่น หม่อมราชวงศ์ถนัดศรี สวัสดิวัตน์, จินตนา สุขสถิตย์, นริศ อารีย์, อารีย์ นักดนตรี, อัลบั้มลองเพลย์เพลงบรรเลงของวงศรีกรุงออร์เคสตร้า โดย อดิง ดีล่า - กังวาล ชลกุล และ อัลบั้มเฉพาะกิจชุด เพลงประทับใจในอดีตของนารถ ถาวรบุตร โดย ประสิทธิ์ พยอมยงค์, หม่อมราชวงศ์พรพุฒิ วรวุฒิ, ประสาน สุทัศน์ ณ อยุธยา, นพ โสตถิพันธ์ เป็นต้น

อ้างอิง[แก้]

  • ภาพยนตร์ กลัวเมีย ศรีกรุงภาพยนตร์ /ภาพยนตร์เสียงศรีกรุง, 2514
  • กาญจนาคพันธุ์ ยุคเพลงหนังและละครในอดีต เรืองศิลป์ 2518 หน้า 89