วิก 07
วิก 07 | |
---|---|
ประเภท | ละครเวที |
สร้างโดย | เจเอสแอล |
พิธีกร | วัชระ ปานเอี่ยม ไกรวิทย์ พุ่มสุโข สมบัติ เมทะนี สัญญา คุณากร |
ดนตรีแก่นเรื่องเปิด | วิก 07 |
ประเทศแหล่งกำเนิด | ไทย |
ภาษาต้นฉบับ | ไทย |
การผลิต | |
ผู้อำนวยการสร้าง | พิไลวรรณ บุญล้น |
สถานที่ถ่ายทำ | สตูดิโอแอคทีฟ ไทย |
ความยาวตอน | ประมาณ 45 นาที |
ออกอากาศ | |
เครือข่าย | ช่อง 7 สี เจเอสแอล แชนแนล(1 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 ---) |
ออกอากาศ | 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2530 – 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538 |
การแสดงที่เกี่ยวข้อง | |
จันทร์กะพริบ 07 โชว์ ศูนย์ 07 07 |
วิก 07 เป็น รายการโทรทัศน์ไทย ประเภทละครเวทีแนวหรรษา ของบริษัท เจเอสแอล และเป็นรายการแรกของบริษัทที่ออกอากาศทาง สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
ประวัติ
[แก้]รายการ "วิก 07" หรือ "วิก 07 โชว์" สร้างสรรค์โดย พิไลวรรณ บุญล้น, วัชระ แวววุฒินันท์ และอีกหลายท่าน ออกอากาศครั้งแรกวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2530 โดยเสนอเป็นประจำทุกเย็นวันอาทิตย์ ทางช่อง 7 สี โดยเป็นรายการละครเวทีที่เสนอเรื่องราวสมมติซึ่งเปลี่ยนไปทุกสัปดาห์ ด้วยรูปแบบการนำเสนอที่สนุกสนาน ชวนหัว เข้าถึงผู้ชมได้ง่าย ลักษณะการถ่ายทำใช้โรงถ่าย (Studio) ของเจเอสแอล เป็นโรงละครเวทีตลอดเรื่อง รายการนี้ประสบความสำเร็จจากความนิยมของผู้ชมทั่วประเทศ และได้สร้างคนเขียนบท รวมทั้งนักแสดงมากมาย จนมีการแจกรางวัล "วิก 07 ทองคำ" ตามมา [1] กระทั่งรายการต้องยุติลงในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538 ก่อนจะเปลี่ยนรูปแบบและชื่อรายการเป็น "ศูนย์ 07" และ "07 โชว์" ตามลำดับ
ระยะเวลาออกอากาศ
[แก้]เดิมออกอากาศทุกวันอาทิตย์ เวลา 17.50 - 18.20 น. แต่ในปี พ.ศ. 2532 เป็นต้นมา รายการได้เพิ่มเวลาเป็น 1 ชั่วโมง โดยเสนอในเวลา 17.30 - 18.30 น. บางช่วงเริ่มเวลา 17.00 - 18.00 น. และในบางครั้งอาจเริ่มเวลาเร็วกว่าเดิม กรณีมีการถ่ายทอดสดรายการพิเศษ โดยออกอากาศทางช่อง 7 สีตรงกับชื่อรายการมาตลอด
นอกจากนี้ ยังได้จัดรายการพิเศษ "วิก 07 กะพริบวันหยุด" ในวันหยุดนักขัตฤกษ์ ปี พ.ศ. 2533 - พ.ศ. 2536 โดยเป็นการแสดงละครเรื่องพิเศษตามรูปแบบของวิก 07 แต่ใช้ผู้ดำเนินรายการจากรายการ จันทร์กะพริบ
พิธีกร
[แก้]เนื่องจาก "วิก 07" เป็นละครเวที แต่ใช้คำว่า "รายการ" นำหน้า ซึ่งต้องมีพิธีกรดำเนินรายการด้วย รายการนี้มีการเปลี่ยนตัวพิธีกรหลายรุ่น โดยคนแรกคือ วัชระ ปานเอี่ยม จนในปี พ.ศ. 2533 เปลี่ยนเป็น ไกรวิทย์ พุ่มสุโข, สมบัติ เมทะนี และ สัญญา คุณากร ตามลำดับ นอกจากนี้ยังมีอีกหลายท่านที่มาเป็นผู้ช่วยพิธีกร โดยทำหน้าที่เกริ่นนำละครในตอนต้น การแสดงหน้าม่าน และแนะนำนักแสดงในตอนท้ายรายการ
ศึกรักประกาศิต
[แก้]ในรายการ วิก 07 นอกจากละครจบในตอนที่สลับสับเปลี่ยนทุกสัปดาห์แล้ว ยังมีละครที่ดำเนินเรื่องราวอย่างต่อเนื่อง จนมีการทำเป็นภาคต่อหลายครั้ง ได้แก่เรื่อง "ศึกรักประกาศิต" โดยแสดงตั้งแต่ปี พ.ศ. 2531 จนถึงเทปสุดท้ายของรายการในต้นปี พ.ศ. 2538 นำแสดงโดย จรัล มโนเพ็ชร, ผุสชา โทณะวณิก ร่วมด้วยนักแสดงชื่อดังในแต่ละภาค และยังได้มีการจัดแสดงละครเวทีต่อสาธารณชน ณ หอประชุมใหญ่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ในวันที่ 31 มกราคม - 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535 [2]
รางวัล
[แก้]- รางวัลโทรทัศน์ทองคำ ปี 2530 ประเภทละครชวนหัวชุดดีเด่น [3]
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ "ประวัติเจเอสแอล". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-12-05. สืบค้นเมื่อ 2010-02-16.
- ↑ เล่าเรื่องวันละรูป จรัล มโนเพ็ชร[ลิงก์เสีย]
- ↑ รางวัลที่เจเอสแอลได้รับ[ลิงก์เสีย]