คลีโอพัตรา
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
คลีโอพัตราที่ 7 ฟิโลพาเธอร์ | |
---|---|
พระบรมรูปครึ่งองค์คลีโอพัตราที่ 7 ประดิษฐานอยู่ที่พิพิธภัณฑ์อัลเทส กรุงเบอร์ลิน | |
สมเด็จพระราชินีนาถแห่งอียิปต์ | |
ครองราชย์ | 51– 12 สิงหาคม 30 ปีก่อนคริสตกาล (21 ปี) |
ก่อนหน้า | ทอเลมีที่ 12 |
ผู้ปกครองร่วม | ทอเลมีที่ 12 ทอเลมีที่ 13 ทอเลมีที่ 14 ทอเลมีที่ 15 ซีซาเรียน |
ประสูติ | ตอนต้นของ 69 ปีก่อนคริสตกาล อเล็กซานเดรีย, อียิปต์ |
สวรรคต | 10 สิงหาคม 30 ปีก่อนคริสตกาล (39 พรรษา) อเล็กซานเดรีย, อียิปต์ |
ฝังพระศพ | ไม่ทราบ (อาจอยู่ในประเทศอียิปต์) |
คู่อภิเษก | ทอเลมีที่ 13 ทอเลมีที่ 14 มาร์ค แอนโทนี |
พระราชบุตร | ทอเลมีที่ 15 ซีซาเรียน, อเล็กซานเดอร์ เฮลิออส, คลีโอพัตรา เซเลเนที่ 2, ทอเลมี ฟิลาเดลฟัส |
ราชสกุล | ราชวงศ์ทอเลมี |
พระราชบิดา | ทอเลมีที่ 12 |
พระราชมารดา | คลีโอพัตราที่ 5 แห่งอียิปต์ (สันนิษฐาน) |
คลีโอพัตราที่ 7 ในไฮเออโรกลีฟ | |||||||||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
Qlwpdrt | |||||||||||||||||||
Wr(.t)-nb(.t)-nfrw-3ḫ(t)-sḥ พระนางผู้ทรงดีเลิศ ซึ่งทรงเป็นเลิศในด้านคำชี้แนะ | |||||||||||||||||||
Wr.t-twt-n-jt=s ผู้ทรงเป็นพระรูปบูชาที่ยิ่งใหญ่อันศักดิ์สิทธิ์ของพระบิดา | |||||||||||||||||||
Qlwpdrt nṯrt mr(t) jts เทพธิดาคลีโอพัตรา ผู้ทรงเป็นที่รักของพระบิดา |
คลีโอพัตราที่ 7 ฟิโลพาเธอร์ (กรีกคอยนี: Κλεοπάτρα Φιλοπάτωρ, อักษรโรมัน: Kleopátra Filopátor; หรือรู้จักทั่วไปในนาม คลีโอพัตรา; มกราคม ปีที่ 69 ก่อนคริสตกาล – 10 สิงหาคม ปีที่ 30 ก่อนคริสตกาล) เป็นพระราชินีแห่งอียิปต์โบราณและเชื้อพระวงศ์พระองค์สุดท้ายของราชวงศ์ทอเลมีแห่งมาซิโดเนีย ดังนั้นจึงเป็นผู้ปกครองอียิปต์ที่มีเชื้อสายกรีกคนสุดท้าย พระราชบิดาของพระองค์คือทอเลมีที่ 12 ออเลติส และคาดว่าพระราชมารดาเป็นพระเชษฐภคินีของโอเลเตส ทรงพระนามว่า คลีโอพัตราที่ 5 ทรีฟาเอนา ชื่อ "คลีโอพัตรา" เป็นภาษากรีก แปลว่า "ความเจริญรุ่งเรืองของบิดา" พระนามเต็มของพระนางคือ "คลีโอพัตรา เธอา ฟิโลปาตอร์" ซึ่งหมายถึง "เทพีคลีโอพัตรา ผู้เป็นที่รักของบิดา" พระนางทรงพระปรีชาสามารถมาก ทรงแตกฉานถึง 14 ภาษา เช่น ฮิบรู, ละติน, มาเซดอนโบราณ, เอธิโอเปียน, ซีเรีย, เปอร์เซีย, และ อียิปต์ ซึ่งแม้แต่ในราชวงศ์ น้อยคนนักที่จะแตกฉานภาษานี้
ปัจจุบัน คลีโอพัตราที่ 7 ฟิโลพาเธอร์ นับว่าเป็นผู้ปกครองอียิปต์โบราณที่มีชื่อเสียงมากที่สุด นิยมเรียกพระนามสั้น ๆ ว่า คลีโอพัตรา ซึ่งทำให้ราชินีองค์ก่อน ๆ ที่ทรงพระนามคล้ายคลึงกัน ลบเลือนไปสิ้น ในความเป็นจริง พระนางไม่เคยปกครองอียิปต์เพียงลำพัง แต่ครองราชย์ร่วมกับพระราชบิดา, พระราชอนุชา, พระราชสวามีผู้เป็นพระอนุชาของพระองค์ หรือไม่ก็พระราชโอรส การครองราชย์ร่วมกันดังกล่าวมีผู้ร่วมบัลลังก์เป็นเพียงกษัตริย์ตามพระยศเท่านั้น อำนาจแท้จริงอยู่ในมือของคลีโอพัตราเองทั้งสิ้น
พระราชประวัติ
[แก้]วัยเยาว์
[แก้]คลีโอพัตราที่ 7 เป็นชาวกรีก เสด็จพระราชสมภพในดินแดนอเล็กซานเดรีย, อียิปต์โบราณ ได้เสด็จขึ้นครองราชย์ลำดับถัดจาก ทอเลมีที่ 12 แห่งอียิปต์ ขณะนั้นพระนางเบเนไซน์และแม่ทัพอาร์เชลล์ได้ร่วมกันก่อการกบฏขึ้น ทำให้ฟาโรห์ทอเลมีที่ 12 ออเลติส ต้องเสด็จพระราชดำเนินไปทรงขอกำลังเสริมจากสภาซีเนตแห่งกรุงโรม และจ่ายเงินตามข้อเรียกร้องของ ออกัส กาบิเนียส จำนวน 10,000 เทลแลนด์ เนื่องจากฟาโรห์ไม่ทรงมีเงินพอ จึงทรงขอยืมเงินจากคหบดีผู้ร่ำรวยนาม ราบีเรียส โพลตูมัส แล้วเสด็จนิวัติอียิปต์พร้อมกองกำลังเพื่อจัดการกับผู้ก่อการกบฏ และมีพระราชบัญชาให้ประหารพระนางเบเนไซน์กับแม่ทัพอาร์เชลล์ ทำให้ราบีเรียสได้เข้ามาเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายพระคลังของอียิปต์
ขึ้นครองราชย์
[แก้]ราบีเรียสรีดไถชาวอียิปต์อย่างหนัก ทำให้ชาวเมืองลุกฮือต่อต้านด้วยความไม่พอใจ จนเขาต้องหนีกลับโรม เมื่อพระราชบิดาของพระนางคลีโอพัตราเสด็จสวรรคตในช่วงฤดูใบไม้ผลิของปีที่ 51 ก่อนคริสตกาล พระนางเสด็จเถลิงถวัลย์ขึ้นเป็นพระราชินีนาถแห่งอียิปต์ เมื่อพระเชษฐภคินีอีกสองพระองค์สิ้นพระชนม์ลง พระนางยังมีพระขนิษฐาอีกพระองค์ที่มีชื่อว่าอาร์ซิโน่ที่ 4 ในช่วงแรก พระนางทรงครองราชย์ร่วมกับพระราชบิดาเป็นระยะเวลาสั้น ๆ ต่อมาก็ได้ครองราชย์ร่วมกับพระราชอนุชาอีกสองพระองค์ ได้แก่ ปโตเลมีที่ 13 ผู้ต่อต้านการปกครองของโรมันและปโตเลมีที่ 14 แต่การสืบราชบัลลังก์ของราชวงศ์ทอเลมีนั้นนิยมการสืบเชื้อสายทางมารดา พระอนุชาทั้งสองพระองค์จึงต้องเข้าพิธีอภิเษกสมรสกับพระเชษฐภคินีคือคลีโอพัตรา เพื่อขึ้นครองราชย์ได้อย่างถูกต้องตามกฎมนเทียรบาล ภายหลังจากที่กษัตริย์ผู้เป็นพระอนุชาและสวามีของพระนางเสด็จสวรรคตลง คลีโอพัตราได้ทรงแต่งตั้งให้พระราชโอรสของพระนางเป็นกษัตริย์องค์ต่อไป มีพระนามว่าปโตเลมีที่ 15 ซีซาเรียน ขึ้นครองบัลลังก์ร่วมกัน ระหว่างปีที่ 44 - 30 ก่อนคริสตกาล
ความสัมพันธ์กับจูเลียส ซีซาร์
[แก้]ในปีที่ 48 ก่อนคริสตกาล คณะที่ปรึกษาของทอเลมีที่ 13 นำโดยขันทีโปรธินุส เข้ายึดอำนาจของคลีโอพัตรา พระนางหนีจากอียิปต์ โดยมีอาร์สิโนเอ พระขนิษฐาติดตามไปด้วย ต่อมาในปีเดียวกัน อำนาจของทอเลมีที่ 13 ถูกลิดรอนเมื่อเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับโรม กรณีที่พระองค์เอาใจซีซ่าร์ด้วยการประหารนายพลปอมเปอุส มักนุส (ซึ่งมีภรรยาเป็นลูกสาวของ จูเลียส ซีซาร์ นางเสียชีวิตขณะคลอดบุตรชาย) ซึ่งหลบหนีซีซาร์มาที่เมืองอเล็กซานเดรีย ซีซาร์ไม่พอใจการกระทำดังกล่าว จึงยกทัพบุกยึดเมืองหลวงของอียิปต์ พร้อมกับตั้งตนเป็นผู้ตัดสินคดีชิงบัลลังก์ระหว่างทอเลมีที่ 13 และ คลีโอพัตรา หลังจากการสู้รบช่วงสั้น ๆ ทอเลมีที่ 13 สวรรคต ซีซาร์คืนอำนาจให้แก่พระนาง โดย ทอเลมีที่ 14 เป็นผู้ร่วมครองบัลลังก์
ซีซาร์ พำนักในอียิปต์ตลอดช่วงฤดูหนาว ระหว่างปีที่ 48 ก่อนคริสตกาล - 47 ก่อนคริสตกาล พระนางสร้างความได้เปรียบทางการเมืองให้แก่ตนด้วยการเป็นคนรักของเขา ทำให้อียิปต์ยังคงเป็นความเป็นเอกราชไว้ได้ แต่ยังคงมีกองกำลังทหารโรมันสามกองประจำการอยู่ พระนางมีพระประสูติการพระราชโอรส ทรงพระนามทอเลมี ซีซาร์ (หรือมีชื่อเล่นว่าซีซาเรียน ซึ่งแปลว่าซีซาร์น้อย) อย่างไรก็ดี เขาปฏิเสธซีซาเรียนเป็นผู้สืบทอดอำนาจของตน และได้แต่งตั้งให้พระราชภาคิไนย (หลาน) ทรงพระนาม ออกุสตุส ซีซาร์ อ็อกตาเวียน เป็นผู้สืบทอดอำนาจแทน
พระนางกับซีซาเรียนเสด็จพระราชดำเนินเยือนกรุงโรมในระหว่างปีที่ 46 ก่อนคริสตกาล และ 44 ก่อนคริสตกาล ในช่วงเหตุการณ์ลอบสังหารซีซ่าร์
ก่อนเสด็จพระราชดำเนินกลับถึงอียิปต์เพียงเล็กน้อย ทอเลมีที่ 14 เสด็จสวรรคตอย่างลึกลับ พระนางแต่งตั้งซีซาเรียนเป็นผู้ร่วมครองบัลลังก์ (สันนิษฐานกันว่าพระนางลอบวางยาพิษทอเลมีที่ 14 ผู้เป็นอนุชาของตนเอง)
ความสัมพันธ์กับมาร์ค แอนโทนี
[แก้]ในปีที่ 42 ก่อนคริสตกาล มาร์ค แอนโทนี หนึ่งในคณะผู้สำเร็จราชการชุดที่สองของโรม (ผู้ซึ่งปกครองกรุงโรมในช่วงสุญญากาศทางอำนาจหลังอสัญกรรมของซีซาร์) กราบทูลเชิญคลีโอพัตราเสด็จมาพบเขาที่เมืองทาร์ซุส ในแคว้นซิลิเซีย เพื่อทรงตอบคำถามเกี่ยวกับความจงรักภักดีของพระนางต่ออาณาจักรโรมัน ต่อมาในช่วงฤดูหนาวระหว่างปีที่ 42 ก่อนคริสตกาล - ปีที่ 41 ก่อนคริสตกาล เขาใช้เวลาอยู่กับพระนางในอเล็กซานเดรีย จนมีพระราชโอรส - ธิดาฝาแฝด พระนามว่าอเล็กซานเดอร์ เฮลิออส และ คลีโอพัตรา เซเลเนที่ 2
สี่ปีต่อมาในปีที่ 37 ก่อนคริสตกาล เขาเดินทางเยือนอเล็กซานเดรียอีกครั้ง ระหว่างทางออกรบกับจักรวรรดิพาร์เธีย และได้สานสัมพันธ์กับพระนางทั้งยังถือเอาอเล็กซานเดรียเป็นบ้านนับแต่นั้นเป็นต้นมา เขาอภิเษกสมรสกับพระนางตามประเพณีอียิปต์ (ตามที่กล่าวไว้ในจดหมายของสุเอโตนิอุส) ทั้ง ๆ ที่แต่งงานแล้วกับอ็อกตาเวีย พี่สาวของ อ็อกตาเวียน (หนึ่งในคณะผู้สำเร็จราชการชุดที่สองของโรม) เขามีบุตรกับพระนางอีกหนึ่งคน ชื่อ ทอเลมี ฟิลาเดลฟุส ในพิธีมอบดินแดนอเล็กซานเดรียเป็นของขวัญชิ้นใหญ่แก่พระนางและโอรสธิดา ช่วงปลายปีที่ 34 ก่อนคริสตกาล (หลังจากที่เขามีชัยเหนืออาร์มีเนีย) พระนางกับซีซาเรียนได้ปกครองอียิปต์กับไซปรัสร่วมกัน อเล็กซานเดอร์ เฮลิออส ได้เป็นกษัตริย์ปกครองอาร์มีเนีย เมเดีย และ พาร์เธีย คลีโอพัตรา เซเรเน ได้เป็นราชินีปกครองซีเรไนกา และ ลิเบีย ส่วนทอเลมี ฟิลาเดลฟุสได้เป็นกษัตริย์ปกครองโฟนิเซีย, ซีเรีย และ ซิลิเซีย นอกจากนี้พระนางยังดำรงตำแหน่งราชินีแห่งราชาทั้งปวงอีกด้วย
มีเหตุการณ์อันโด่งดังมากมายเกี่ยวกับคลีโอพัตรา ที่รู้จักกันแพร่หลายที่สุดซึ่งไม่อาจตรวจสอบความจริงได้ คือเรื่องพระกระยาหารค่ำมูลค่าแพงลิบ โดยพระนางหยอกเย้าพนันกับแอนโทนีว่าสามารถใช้เงินสิบล้านเซสเตอร์ซีอุสกับพระกระยาหารมื้อเดียวได้ เขารับพนัน คืนต่อมาหลังพระกระยาหารค่ำธรรมดา พระนางรับสั่งให้นำน้ำส้มสายชูอย่างแรงหนึ่งถ้วยเข้ามาถวาย แล้วทรงถอดต่างหูไข่มุกอันประมาณค่ามิได้ หย่อนลงไปในถ้วยปล่อยให้ไข่มุกละลายแล้วดื่มส่วนผสมนั้น
พฤติกรรมของมาร์ค แอนโทนี นับว่ากระด้างกระเดื่องมากในสายตาของพวกโรมัน อ็อกตาเวียนจึงโน้มน้าวให้วุฒิสภาเปิดสงครามกับอียิปต์ ในปีที่ 31 ก่อนคริสตกาล กองกำลังของ แอนโทนี เผชิญหน้ากับทัพเรือทหารโรมันนอกชายฝั่งแอคติอุม คลีโอพัตราร่วมออกรบด้วยทัพเรือของพระนางเองและเห็นกองเรือของเขาที่มีแต่เรือขนาดเล็กขาดแคลนยุทโธปกรณ์ ต้องพ่ายแพ้กับกองเรือโรมันที่มีเรือขนาดใหญ่กว่า พระนางนำเรือหลบหนี ทำให้แอนโทนี ทิ้งสนามรบกลางทะเลและรีบตามพระนางไป
สิ้นพระชนม์
[แก้]หลังการรบที่อ่าวแอคติอุม อ็อกตาเวียนยกพลขึ้นบกบุกอียิปต์ ขณะใกล้ถึงอเล็กซานเดรีย กองกำลังของแอนโทนีหนีทัพไปร่วมด้วย คลีโอพัตรา และ มาร์ค แอนโทนี ตัดสินใจฆ่าตัวตาย โดยพระนางใช้งูพิษปลิดชีพพระองค์เองเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม ในปีที่ 30 ก่อนคริสตกาล ซีซาเรียน โอรสของพระนางที่เกิดกับจูเลียส ซีซาร์ ถูก อ็อกตาเวียนปลงพระชนม์ ส่วนโอรสธิดาอีกสามพระองค์ที่เกิดกับแอนโทนี รอดชีวิตและต้องเดินทางไปโรม โดยการร้องขอและช่วยเหลือของ อ็อกตาเวีย อดีตภรรยาของเขา
มักกล่าวกันว่าคลีโอพัตราใช้งูพิษชนิดหนึ่งที่เรียกว่า แอสพฺ (asp) ซึ่งเป็นศัพท์เทคนิค โดยทั่วไปหมายถึงงูพิษหลากหลายประเภทในแอฟริกา และยุโรป แต่ในที่นี้ หมายถึงงูเห่าอียิปต์ ซึ่งใช้ประหารนักโทษในบางครั้ง มีเรื่องเล่าว่าพระนางทดสอบวิธีการฆ่าตัวตายด้วยวิธีต่าง ๆ นานากับข้าราชบริพารและนักโทษหลายคน ก่อนตัดสินใจเลือกวิธีการที่เห็นว่ามีประสิทธิภาพที่สุด
ด้วยความมีเชื้อสายกรีก - มาเซโดเนีย ทั้งด้านภาษาและวัฒนธรรม พระนางเป็นสมาชิกคนแรกของราชวงศ์ทอเลมี (ซึ่งปกครองอิยิปต์ยาวนานกว่า 300 ปี) ที่มีชื่อเสียงในอัจฉริยะภาพเป็นเลิศอย่างแตกฉานทางภาษาอียิปต์ และภาษาต่างประเทศอีก 14 ภาษา
ข้อถกเถียงเกี่ยวกับชาติพันธุ์ของคลีโอพัตรา
[แก้]ยังเป็นข้อถกเถียงระหว่างนักไอยคุปต์ศาสตร์ กับนักประวัติศาสตร์ที่นิยมแอฟริกา เกี่ยวกับเชื้อสายแท้จริงของคลีโอพัตรา นักไอยคุปต์ศาสตร์กล่าวว่าพระนางสืบเชื้อสายจากราชวงศ์ทอเลมีของกรีก โดยมีบรรพบุรุษเป็นหนึ่งในทหารระดับนายพลของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช และยังกล่าวว่าผังตระกูลของราชวงศ์ทอเลมีระบุว่า การสมรสข้ามเผ่าพันธุ์มีอยู่มากและคลีโอพัตราเป็นราชนิกูลพระองค์แรกที่เรียนภาษาอียิปต์ มีผิวขาว รูปปั้นโบราณรวมทั้งรูปบนเหรียญตรายังบ่งชี้ว่าพระนางมีเชื้อสายคอเคเซียน
นักประวัติศาสตร์สายนิยมแอฟริกาอ้างว่า ไอยคุปต์ปกครองโดยอารยธรรมของชาวชนผิวดำ และชาวอียิปต์โบราณส่วนใหญ่เป็นชนผิวดำ แม้ว่านักประวัติศาสตร์กลุ่มหลังนี้ ยอมรับว่าราชวงศ์ทอเลมีเป็นชนผิวขาว แต่ก็เชื่อว่าจะราชวงศ์กับชาวอียิปต์น่าจะมีการสมสู่กัน ดังนั้นเมื่อไม่ปรากฏว่าใครคือมารดาของพระนาง (มิได้ระบุไว้ในผังตระกูลของราชวงศ์ทอเลมี) หลายคนจึงเชื่อว่าพระนางน่าจะเป็นพระสนมผิวดำคนหนึ่ง
นักไอยคุปต์ศาสตร์อ้างว่า การกล่าวว่าคลีโอพัตราเป็นชนผิวดำ เป็นแนวคิดแต่งเติมของนักโบราณคดีที่นิยมแอฟริกา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความภาคภูมิใจให้กับเยาวชนเชื้อสายแอฟริกัน ขณะที่นักโบราณคดีที่นิยมแอฟริกาอ้างว่า ความเชื่อว่าคลีโอพัตราเป็นชนผิวขาวนั้น เป็นเพียงอีกหนึ่งตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าชนผิวขาวขโมยวัฒนธรรมของชนผิวดำ
คลีโอพัตราในศิลปวัฒนธรรม
[แก้]บทประพันธ์
[แก้]บางส่วนของงานเขียนเรื่องราวของคลีโอพัตรา
- Cléopâtre โดย Jules - Émile - Frédéric Massenet
- Incipit Legenda Cleopatrie Martiris โดย Egipti Regine (จาก The Legend of Good Women ของ Geoffrey Chaucer)
- Antony and Cleopatra โดย วิลเลียม เชคสเปียร์
- All for Love โดย John Dryden
- Cléopatre โดย Victorien Sardou
- Caesar and Cleopatra โดย George Bernard Shaw
- The Memoirs of Cleopatra โดย Margaret George
- The Life and Times of Cleopatra โดย C.M.Franzero (ทเวนตี้ เซ็นจูรี่ ฟ็อกซ์ ซื้อลิขสิทธิ์นำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ปี 1963)
ภาพยนตร์/ละครเวที
[แก้]ภาพยนตร์เรื่องแรกที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับคลีโอพัตรา ได้แก่เรื่อง Antony and Cleopatra (ปี ค.ศ. 1908) นำแสดงโดย Florence Lawrence ในบทของคลีโอพัตรา ส่วนภาพยนตร์เรื่องแรกที่มีคลีโอพัตราเป็นเนื้อหาหลักได้แก่เรื่อง Cleopatra, Queen of Egypt นำแสดงโดย เฮเลน การ์ดเนอร์ (ค.ศ. 1912)
บางส่วนของภาพยนตร์ และละคร ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากราชินีแห่งลุ่มแม่น้ำไนล์:
- ค.ศ. 1917: Cleopatra: Theda Bara (คลีโอพัตรา), Fritz Leiber (ซีซาร์), Thurston Hall (แอนโทนี) กำกับการแสดงโดย J. Gordon Edwards สร้างจากบทละครเรื่อง Cléopatre ของ Émile Moreau, Cléopatre ของ Sardou และ Antony and Cleopatra ของ วิลเลียม เชคสเปียร์
- ค.ศ. 1934 : Cleopatra: Claudette Colbert (คลีโอพัตรา), Warren William (ซีซาร์), Henry Wilcoxon (แอนโทนี) กำกับการแสดงโดย Cecil B. DeMille ได้รับรางวัลออสการ์ สาขาถ่ายภาพยอดเยี่ยม
- ค.ศ. 1946 : Caesar and Cleopatra: วิเวียน ลีห์ (คลีโอพัตรา), Claude Rains (ซีซาร์), Stewart Granger, Flora Robson — ดัดแปลงจากบทละครของ George Bernard Shaw ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์สาขากำกับศิลป์-ตกแต่งภายใน วิเวียน ลีห์ ยังได้แสดงเป็นคลีโอพัตราร่วมกับ Laurence Olivierสามีของเธอในสมัยนั้น ผู้รับบทซีซาร์ ในภาคละครเวทีของเรื่องนี้ที่เปิดแสดงในกรุงลอนดอน
- ค.ศ. 1953 : Serpent of the Nile: Rhonda Fleming (คลีโอพัตรา), Raymond Burr (มาร์ค แอนโทนี), Michael Fox (ออกตาเวียน)
- ค.ศ. 1963 : Cleopatra: เอลิซาเบท เทย์เลอร์ (คลีโอพัตรา), Rex Harrison (ซีซาร์), Richard Burton (แอนโทนี) ได้รับ 4 รางวัลออสการ์ด้านศิลปกรรม, ถ่ายภาพ, เครื่องแต่งกายและเทคนิคพิเศษ
- ค.ศ. 1964 : Carry On Cleo:ภาพยนตร์ตลกขบขัน ล้อเลียนภาพยนตร์ที่สร้างในปี ค.ศ. 1963 Amanda Barrie รับบทคลีโอพัตรา, Sid James เป็น มาร์ค แอนโทนี และ Kenneth Williams เป็นซีซาร์
- ค.ศ. 1972/1973 : Antony & Cleopatra: ดัดแปลงจากงานประพันธ์ของวิลเลียม เช็กสเปียร์ (William Shakespeare) สร้างโดย แร็งค์ออร์แกไนเซชั่น (Rank Organization) ฮีลเดการ์ด นีล (Hildegard Neil) เป็นคลีโอพัตรา, ชาร์ลตัน เฮสตัน (Charlton Heston) เป็น มาร์ค แอนโทนี และทำหน้าที่ผู้กำกับการแสดงครั้งแรก แต่ไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากบทที่เฉื่อยชาและทุนสร้างจำกัดเกินไปสำหรับหนังแนวมหากาพย์ (Epic) [1][2]
- ค.ศ. 1974 : Antony & Cleopatra: โดย London's Royal Shakespeare Company นำแสดงโดย Janet Suzman (คลีโอพัตรา), Richard Johnson (แอนโทนี) และ Patrick Stewart (เอโนบาร์บุส)
- ค.ศ. 1999 : Cleopatra: Leonor Varela (คลีโอพัตรา), ทิโมธี ดาลตัน (ซีซาร์), Billy Zane (แอนโทนี) สร้างจากหนังสือ Memoirs of Cleopatra โดย Margaret George เป็นเรื่องที่มีเนื้อหาใกล้เคียงกับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์มากที่สุด แต่ฉากเล่นกับงูก่อนปลิดชีพดูมากเกินควรและไม่น่าเป็นไปได้รวมทั้งยังขัดแย้งกับอารมณ์เศร้าหดหู่ในช่วงท้าย
Teresa Pavlinek รับบทคลีโอพัตราในฉากการรบที่อ่าวแอคติอุม จากภาพยนตร์เรื่อง History Bites
ละครโทรทัศน์
[แก้]- ค.ศ. 1983 The Cleopatras ละครสั้นของสถานีโทรทัศน์บีบีซี บอกเล่าเรื่องราวของราชินีอียิปต์ทั้งเจ็ดพระองค์ที่มีพระนามว่าคลีโอพัตรา
ภาพวาด
[แก้]- ภาพวาดคลีโอพัตราที่มีชื่อเสียงมากที่สุด อาจไม่เคยมีในประวัติศาสตร์เลย ตำนานกล่าวว่าเนื่องจากพระนางได้สวรรคตในอียิปต์หลายปีก่อนที่ออกุสตุสจะได้ประกาศชัยชนะของตนในกรุงโรม เขาจึงสั่งให้ศิลปินวาดภาพพระนางถูกล่ามโซ่ตรวนเดินไปตามท้องถนน เพื่อแสดงถึงชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของเขาจากนั้นก็สั่งให้ประหารชีวิตพระนางด้วยพิษงู เรื่องราวนี้อ้างอิงจากเว็บไซต์ Plut. Ant. 86 และ App. Civ. II.102 ซึ่งแหล่งข้อมูลหนังนี้ได้กล่าวถึงรูปปั้นแทนที่จะเป็นภาพวาด นอกจากนั้น Cass. Dio LI.21.3 ยังกล่าวด้วยว่าภาพตัวแทนของพระนางที่เป็นสีทองนั้นไม่ใช่ภาพวาดแน่นอน กล่าวกันว่าภาพวาดนี้ ค้นพบในเมืองซอเรนโต สมัยคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นภาพในคอลเล็คชันส่วนตัวและเป็นส่วนหนึ่งในคอลเล็คชันที่เมืองคอร์โทนา แต่ไม่พบร่องรอยของภาพนี้แต่ประการใด สาเหตุของการหายไปอย่างลึกลับของภาพวาดดังกล่าว น่าจะเป็นเพราะภาพปลอมนั่นเอง
ความตายของคลีโอพัตราสร้างแรงบันดาลใจแก่ศิลปินหลายยุคหลายสมัย ตั้งแต่ยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการจนถึงปัจจุบัน แต่ไม่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ เป็นเพียงผลงานจากหัวข้อในการเรียนของโรงเรียนช่างวาดฝรั่งเศส ดังรายชื่อต่อไปนี้ (เรียงตามลำดับเหตุการณ์)
- อัตวินบาตกรรมของคลีโอพัตรา (ค.ศ. 1621) ภาพสีน้ำมัน ขนาด 46 x 36 - 3/4 นิ้ว (116.8 x 93.3 ซ.ม.) วาดโดย จีโอวานนี ฟรานเซสโก บาร์บีเอรี ฉายา แกร์ซีโน ปัจจุบันแสดงในคอลเล็คชันที่พิพิธภัณฑ์นอร์ตัน ไซมอน ในเมืองพาซาดีนา รัฐแคลิฟอร์เนีย ในภาพดังกล่าวคลีโอพัตราจับงูพิษไว้ในมือข้างหนึ่ง เตรียมจะปลิดชีพตนเอง
- งานเลี้ยงโต๊ะยาวของคลีโอพัตรา (ค.ศ. 1743 - 5) ภาพสีน้ำมัน ขนาด 248.2 x 357.8 ซ.ม. วาดโดย จีแอมบัตติสตา ทีเอโปโล (ค.ศ. 1696 - 1770) จัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งรัฐวิคตอเรีย ประเทศออสเตรเลีย ในภาพแสดงงานเลี้ยงที่คลีโอพัตราเอาต่างหูมุกมาละลายในแก้วน้ำส้มสายชู
- คลีโอพัตรากับชาวนา (ค.ศ. 1838) ภาพสีน้ำมัน วาดโดย เออแฌน เดอลาครัว แสดงที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะอาคแลนด์ มหาวิทยาลัยนอร์ทคาโลไลนา ในภาพมีชายผู้หนึ่งนำงูพิษมาถวายคลีโอพัตราเพื่อให้พระนางปลิดชีพตนเอง
- คล๊โอพัตรากับซีซาร์ (ค.ศ. 1866) ภาพสีน้ำมัน วาดโดย ชอง - เลอง เกโรม (ค.ศ. 1824 - 1904) ภาพต้นฉบับหายสาบสูญไป เหลือเพียงสำเนา เป็นภาพคลีโอพัตรายืนอยู่ต่อหน้าแท่นประทับของซีซาร์ ในแบบศิลปะตะวันออก
- ความตายของคลีโอพัตรา (ค.ศ. 1874) ภาพสีน้ำมัน วาดโดย ชอง อองเดร รีซอง จัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์โอกุสแต็ง ในเมืองตูลูซ ประเทศฝรั่งเศส
อ้างอิง
[แก้]แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- Cleopatra on the Web เก็บถาวร 2005-08-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ภาพเกี่ยวกับคลีโอพัตรา ทั้งโบราณและสมัยใหม่
- [1] เก็บถาวร 2009-09-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Cleopatra VII Philopator ancient sources
- Cleopatra VII (VI) at LacusCurtius — (Chapter XIII of E. R. Bevan's House of Ptolemy, ค.ศ. 1923)