ม้ากิ้น
ม้ากิ้น (หม่า จฺวิน) 馬鈞 | |
---|---|
เกิด | ไม่ทราบ นครซิงผิง มณฑลฉ่านซี |
เสียชีวิต | ไม่ทราบ |
ชื่ออื่น | เต๋อเหิง (徳衡) |
อาชีพ | วิศวกรเครื่องกล, นักประดิษฐ์, ขุนนาง |
ม้ากิ้น (หม่า จฺวิน) | |||||||||
อักษรจีนตัวเต็ม | 馬鈞 | ||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
อักษรจีนตัวย่อ | 马钧 | ||||||||
|
ม้ากิ้น (มีบทบาทในช่วง ค.ศ. 220-265)[1] มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า หม่า จฺวิน (จีน: 馬鈞; พินอิน: Mǎ Jūn) ชื่อรอง เต๋อเหิง (จีน: 徳衡; พินอิน: Déhéng) เป็น วิศวกรเครื่องกล นักประดิษฐ์ และขุนนางชาวจีนของรัฐวุยก๊กในยุคสามก๊กของจีน สิ่งประดิษฐ์ที่โดดเด่นที่สุดของม้ากิ้นคือรถชี้ทิศใต้ ยานพาหนะเข็มทิศชี้ทิศทางซึ่งแท้จริงแล้วไม่มีความเป็นแม่เหล็ก แต่ทำงานโดยใช้เฟืองท้าย (ซึ่งใช้แรงบิดเท่ากันกับล้อขับเคลื่อนที่หมุนด้วยความเร็วต่าง ๆ กัน)[2] ด้วยอุปกรณ์ที่ปฏิวัติวงการชิ้นนี้ (รวมถึงผลงานสิ่งประดิษฐ์อื่น ๆ) ทำให้ม้ากิ้นมีชื่อเสียงในฐานะวิศวรกรเครื่องกลและนักประดิษฐ์ที่มีความสามารถมากที่สุดในยุคนี้ (เคียงคู่กับจาง เหิงเมื่อต้นยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันออก) อุปกรณ์ได้รับการคิดค้นพัฒนาขึ้นใหม่โดยหลายคนหลังจากม้ากิ้น รวมถึงจู่ ชงจือ (ค.ศ. 429-500) นักดาราศาสตร์และนักคณิตศาสตร์ ในสมัยราชวงศ์ยุคกลางในภายหลัง รถชี้ทิศใต้ของม้ากิ้นได้รับการประยุกต์รวมเป็นอุปกรณ์เดียวกับมาตรระยะทาง
ประวัติ
[แก้]จากการระบุโดยฟู่ เสฺวียน (傅玄; ค.ศ. 214-278) ผู้เป็นสหายของม้ากิ้นและเป็นกวีกับนักปราชญ์ร่วมสมัยกับม้ากิ้น ระบุว่าม้ากิ้นเป็นชาวเมืองฝูเฟิง (扶風郡 ฝูเฟิงจฺวิ้น) ซึ่งตั้งอยู่บริเวณนครซิงผิง มณฑลฉ่านซีในปัจจุบัน[3] ม้ากิ้นในวัยเยาว์ออกเดินทางไปทั่วบริเวณที่เป็นมณฑลเหอหนานในปัจจุบัน และได้รับวุฒิปั๋วชื่อ (博士; ราชบัณฑิต)[3] แม้ว่าจะได้รับวุฒิปั๋วชื่อ แต่ม้ากิ้นในวัยเยาว์ค่อนข้างยากจน แต่ก็พบวิธีที่ทำให้ได้รับการยอมรับโดยใช้อัจฉริยภาพในการสร้างอุปกรณ์และสิ่งประดิษฐ์เครื่องกล
ม้ากิ้นเป็นขุนนางที่ค่อนข้างโดดเด่นของรัฐวุยก๊ก ขึ้นมามีตำแหน่งขุนนางกรมวัง (給事中 จี่ชื่อจง)[2] ครั้งหนึ่งม้ากิ้นเคยรับผิดชอบกำกับการก่อสร้างพระราชวังฉงหฺวา (崇華殿 ฉงหฺวาเตี้ยน) ภายใต้รับสั่งของโจยอยจักรพรรดิลำดับที่สองของวุยก๊ก ม้ากิ้นเป็นที่รู้จักในวุยก๊กในฐานะนักออกแบบผู้มีพรสวรรค์ในการออกแบบอาวุธและอุปกรณ์บางชนิด และได้รับการยกย่องอย่างสูงโดยเฉพาะจากฟู่ เสฺวียนที่เขียนยกย่องในข้อเขียนของตน ฟู่ เสฺวียนระบุว่าม้ากิ้นไม่ใช่นักพูดที่ดีและไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านวาทศิลป์ มักมีปัญหาในการถ่ายทอดความคิดของตนให้ผู้อื่นเพราะมีบุคลิกที่ค่อนข้างเก็บตัว แต่ม้ากิ้นก็มีชื่อเสียงจากความเป็นผู้มีอัจฉริยภาพในด้านเครื่องกล และได้รับการยกย่องในระดับสากลว่าเป็นวิศวกรเครื่องกลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของจีนโบราณ
ผลงานทางวิศวกรรมและเทคโนโลยี
[แก้]สิ่งประดิษฐ์หนึ่งในช่วงต้น ๆ ของม้ากิ้นคือกี่ทอไหมที่ปรับปรุงใหม่ ฟู่ เสฺวียนระบุว่ากี่ทอไหมนี้ทำให้ม้ากิ้นได้รับการยอมรับอย่างสูงจากทักษะด้านนวัตกรรม ในสมัยนั้น กี่ทอไหมโดยทั่วไปมีตะกอ 50 อันและคันเหยียบ 50 อัน กี่บางอันมีตะกอและคันเหยียบอย่างละ 60 อัน ม้ากิ้นประดิษฐ์กี่ทอไหมที่มีคันเหยียบเพียง 12 อันซึ่งไม่เพียงทำให้กระบวนการทอไหมเร็วขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังช่วยให้สามารถทอลวดลายที่ซับซ้อนใหม่ ๆ ได้อีกด้วย[3]
ระหว่างที่ม้ากิ้นรับราชการในราชสำนักวุยก๊ก ม้ากิ้นได้ถกเถียงกับเกาถาง หลง (高唐隆) และจีนล่งเกี่ยวกับแนวคิดเรื่องรถชี้ทิศใต้ เกาถาง หลงและจีนล่งเยาะเย้ยม้ากิ้นที่เชื่อว่ารถชี้ทิศใต้ได้เคยถูกประดิษฐ์ขึ้นจริง ๆ ในอดีต (ตามตำนานเล่าว่ารถชี้ทิศใต้ถูกประดิษฐ์ขึ้นโดยจักรพรรดิหวงตี้) ซึ่งเกาถาง หลงและจีนล่งมองว่าเป็นตำนานไร้แก่นสารที่ไม่เป็นประวัติศาสตร์ ม้ากิ้นโต้กลับว่า "ข้อโต้แย้งเลื่อนลอยไม่สู้การทดสอบจริง ๆ ที่จะแสดงออกซึ่งผลลัพธ์ในทางปฏิบัติ"[2] หลังม้ากิ้นได้รับคำสั่งให้สร้างอุปกรณ์ดังกล่าว ม้ากิ้นก็ออกแบบรถชี้ทิศใต้ที่ใช้งานได้จริงเสร็จสมบูรณ์ในปี ค.ศ. 235[4] ด้วยอุปกรณ์ยานพาหนะที่ขับเคลื่อนดัวยกลไกนี้ ม้ากิ้นจึงได้สร้างหนึ่งในอุปกรณ์กลไกแรก ๆ ในโลกที่ใช้การออกแบบเฟืองท้าย เฟืองท้ายของม้ากิ้น เมื่อกล่าวถึงประวัติศาสตร์ของเฟืองท้าย เฟืองท้ายของม้ากิ้นถือเป็นงานออกแบบที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่ตรวจสอบได้ในประวัติศาสตร์ ในประเทศจีน รถชี้ทิศใต้ได้รับการประดิษฐ์ใหม่เป็นครั้งที่ 2 โดยจู่ ชงจือ (ค.ศ. 429–500) เนื่องจากรายละเอียดของวิธีการสร้างดั้งเดิมได้สูญหายไป
ม้ากิ้นเคยประดิษฐ์ละครหุ่นกระบอกที่ขับเคลื่อนด้วยกลไกและพลังน้ำอย่างซับซ้อนถวายโจยอยจักรพรรดิวุยก๊ก (กลไกซับซ้อนกว่าหุ่นกระบอกกลไกที่ถูกค้นพบโดยเล่าปัง (จักรพรรดิฮั่นโกโจ) จักรพรรดิผู้ก่อตั้งราชวงศ์ฮั่น ระหว่างที่สำรวจสิ่งของจากพระคลังของจักรพรรดิจิ๋นซีฮ่องเต้)[5] ละครหุ่นกระบอกของม้ากิ้นมีความคล้ายคลึงกับหุ่นของกรีกที่ประดิษฐ์โดยเฮโรแห่งอะเล็กซานเดรีย ความแตกต่างอยู่ที่หุ่นของเฮโรใช้ล้อเฟิิืองทรงกระบอกที่หมุนได้กับเชือกและรอกในการดำเนินละครกลไก
ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ Day & McNeil (1996), p. 461.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 Needham (1986), p. 40.
- ↑ 3.0 3.1 3.2 Needham (1986), p. 39.
- ↑ Needham (1986), p. 288.
- ↑ Needham (1986), p. 158.
บรรณานุกรม
[แก้]- ตันซิ่ว (ศตวรรษที่ 3). จดหมายเหตุสามก๊ก (ซานกั๋วจื้อ).
- เผย์ ซงจือ (ศตวรรษที่ 5). อรรถาธิบายจดหมายเหตุสามก๊ก (ซานกั๋วจื้อจู้).
- ฟ่าน เย่ (ศตวรรษที่ 5). ตำราประวัติศาสตร์ราชวงศ์ฮั่นยุคหลัง (โฮ่วฮั่นชู).
- Needham, Joseph (1986). Science and Civilization in China: Volume 4, Part 2. Taipei: Caves Books, Ltd.
- Day, Lance; McNeil, Ian (1996). Biographical Dictionary of the History of Technology. New York: Routledge. ISBN 0-415-06042-7.