จักรพรรดิฮั่นเกาจู่

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
จักรพรรดิฮั่นเกาจู่
漢高祖
จักรพรรดิแห่งราชวงศ์ฮั่นตะวันตก
จักรพรรดิจีน
ครองราชย์28 กุมภาพันธ์ 202 ปีก่อนคริสตกาล – 1 มิถุนายน 195 ปีก่อนคริสตกาล
ก่อนหน้าจื่ออิง แห่งราชวงศ์ฉิน (ในฐานะกษัตริย์ฉิน)
ถัดไปฮั่นฮุ่ย
(漢王)
กษัตริย์แห่งรัฐฮั่น
ครองราชย์มีนาคม 206 ปีก่อนคริสตกาล – 28 กุมภาพันธ์ 202 ปีก่อนคริสตกาล
ประสูติ256 ปีก่อนคริสตกาล
เมืองเฟิง อำเภอเพ่ย์ รัฐฉู่[1]
สวรรคต1 มิถุนายน 195 ปีก่อนคริสตกาล
(60–61 ชันษา)
ฉางอาน จักรวรรดิฮั่น
พระนามเต็ม
ชื่อสกุล: หลิว (นามสกุล) (刘)
ชื่อ: ปัง (邦)
ชื่อรอง: จี้ (季)
พระสมัญญานาม
จักรพรรดิเกา/เกาหฺวางตี้ (高皇帝)
พระอารามนาม
ไท่จู่ (太祖)
ราชวงศ์ฮั่น
พระราชบิดาหลิวไท่กง
พระราชมารดาหลิวอ่าว
ช่วงเวลา

ฮั่นเกาจู่ ตามภาษาจีนมาตรฐาน หรือ ฮั่นโกโจ ตามภาษาจีนฮกเกี้ยน (จีนตัวย่อ: 汉高祖; จีนตัวเต็ม: 漢高祖; พินอิน: Hàn Gāozǔ; 256 ปีก่อนคริสตกาล – 1 มิถุนายน 195 ปีก่อนคริสตกาล) พระนามเดิม หลิว ปัง (จีนตัวย่อ: 刘邦; จีนตัวเต็ม: 劉邦; พินอิน: Liú Bāng) เป็นจักรพรรดิพระองค์แรกแห่งราชวงศ์ฮั่นของจักรวรรดิจีน และเป็นผู้ก่อตั้งราชวงศ์ดังกล่าว เสวยราชย์ช่วง 202–195 ปีก่อนคริสตกาล นับเป็นหนึ่งในปฐมกษัตริย์จีนไม่กี่พระองค์ที่มาจากครอบครัวรากหญ้า[2]

ก่อนเข้าสู่อำนาจ หลิว ปัง เป็นข้าราชการชั้นผู้น้อยในราชวงศ์ฉิน ทำหน้าเป็นนายด่านที่บ้านเกิดในอำเภอเพ่ย์ (沛縣) แห่งรัฐฉู่ (楚国) ที่ถูกราชวงศ์ฉินยึดครอง เมื่อฉินฉื่อหฺวังตี้ (秦始皇帝) ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์ฉิน สิ้นพระชนม์ และจักรวรรดิฉิน (秦朝) ตกอยู่ในความวุ่นวายทางการเมือง หลิว ปัง ละทิ้งตำแหน่งราชการเข้าร่วมกบฏต่อต้านราชวงศ์ฉิน จนสามารถบีบให้จื่ออิง (子嬰) ผู้นำคนสุดท้ายของราชวงศ์ฉิน ยอมจำนนได้เมื่อ 206 ปีก่อนคริสตกาล

เมื่อสิ้นราชวงศ์ฉินแล้ว เซี่ยง อฺวี่ (項羽) ผู้นำกบฏ แบ่งดินแดนฉินออกเป็นสิบแปดส่วน ให้หลิว ปัง เป็น "ราชาฮั่น" (漢王) ไปครองภูมิภาคปาฉู่ (巴蜀) อันห่างไกลและกันดาร หลิว ปัง จึงนำทัพต่อต้านเซี่ยง อฺวี่ และสามารถยึดภูมิภาคฉินทั้งสาม (三秦) ไว้ได้ นำไปสู่สงครามกลางเมืองที่เรียกว่า "สงครามฉู่–ฮั่น" (楚漢戰爭)

ครั้น 202 ปีก่อนคริสตกาล หลังเกิดยุทธการไกเซี่ย (垓下之戰) หลิว ปัง มีชัยในการชิงอำนาจ จึงสามารถรวบดินแดนจีนส่วนใหญ่ไว้ในกำมือ เขาก่อตั้งราชวงศ์ฮั่น มีตนเป็นจักรพรรดิพระองค์แรก ใช้พระนาม "ฮั่นเกาจู่" รัชสมัยฮั่นเกาจู่มีการลดหย่อนภาษี ส่งเสริมลัทธิขงจื๊อ และปราบปรามกบฏเจ้าประเทศราชต่าง ๆ ฮั่นเกาจู่ยังริเริ่มนโยบายที่เรียก "วิวาห์สันติ" (和親) เพื่อสร้างความปรองดองกับกลุ่มซฺยงหนู (匈奴) หลังพ่ายแพ้ในยุทธการไป๋เติง (白登之戰) เมื่อ 200 ปีก่อนคริสตกาล ครั้น 195 ปีก่อนคริสตกาล ฮั่นเกาจู่สวรรคต พระโอรส คือ หลิว อิ๋ง (劉盈) สืบตำแหน่งต่อ ใช้พระนามว่า "ฮั่นฮุ่ย" (汉惠)

ต้นชีวิต[แก้]

ตำนานกษัตริย์เล่าว่า หลิว ปัง สืบเชื้อสายมาจากจักรพรรดิเหยา (堯帝) กษัตริย์ในตำนานซึ่งสืบเชื้อสายมาจากจักรพรรดิเหลือง (黃帝) อีกทอด[3] ทั้งนี้ ชนชั้นปกครองจีนมักอ้างว่า ตนสืบเชื้อสายมาจากจักรพรรดิเหลือง เพื่อสามารถอ้างได้ว่า มีอาณัติสวรรค์ให้มาปกครองแผ่นดิน[4]

หลิว ปัง เกิดในครอบครัวไพร่ (peasant) ณ หมู่บ้านเฝินหยู (枌榆社), ตำบลจงหยาง (中阳里), เมืองเฟิง (丰邑), อำเภอเพ่ย์ ของรัฐฉู่ ในปลายยุครณรัฐ[1]

บิดามารดาของหลิว ปัง ไม่ปรากฏนามในเอกสารทางประวัติศาสตร์ บิดามักได้รับการเรียกขานว่า "หลิวไท่กง" (刘太公; "เจ้าหลวงหลิว") ส่วนมารดาของเขามักเรียกขานกันว่า "หลิวอ่าว" (刘媪; "ยายหลิว") ตำนานเล่าว่า วันหนึ่ง เกิดพายุฝน หลิวอ่าวเข้าไปหลบใต้สะพาน หลิวไท่กงออกบ้านไปตามภริยา เห็นมังกรลอยอยู่เหนือนาง จากนั้น นางก็ตั้งครรภ์และคลอดออกมาเป็นหลิว ปัง[5]

บันทึกสมัยหลังระบุว่า หลิว ปัง เป็นคนโผงผางมุทะลุ แต่มีเสน่ห์ น้ำใจงาม ความอดทนเป็นเลิศ แต่มักเที่ยวเตร่ไปวัน ๆ ไปสนใจอ่านหนังสือ ไม่ชอบทำไร่ไถนา ไม่พอใจการใช้แรงงาน และมักวิวาทกับเจ้าหน้าที่บ้านเมือง บิดาจึงมักเรียกเขาว่า "นักเลงตัวจ้อย" (little rascal) เมื่อโตขึ้น หลิว ปัง ก็ยังใช้ชีวิตเหมือนเดิม ได้ครอบครัวเป็นแหล่งอาศัยและดำรงชีพ เมื่อสูงวัยขึ้น เขาได้คบหาชอบพอกับจาง เอ่อร์ (张耳) ผู้ว่าการอำเภอหมินเฉวียน (民权县) ซึ่งเคยเป็นคนสนิทของข้าราชการบรรดาศักดิ์ซิ่นหลิงจวิน (信陵君)

หลังจากราชวงศ์ฉินยึดครองรัฐฉู่เป็นผลสำเร็จ จาง เอ่อร์ หนีไปซ่อนตัว หลิว ปัง ก็เดินทางกลับบ้านเดิม และได้รับแต่งตั้งเป็นมือปราบประจำหอซื่อฉุ่ย (泗水亭) ในอำเภอเพ่ย์ ทำงานในการบังคับบัญชาของเซียว เหอ (蕭何) กับเฉา ชาน (曹參) ซึ่งเป็นสหายรักของเขา และมักช่วยปิดบังพฤติกรรมเกกมะเหรกของเขา หลิว ปัง ยังได้ผูกไมตรีกับข้าราชการท้องถิ่นอีกหลายคน ทำให้มีชื่อเสียงขึ้นในเขตนั้น ต่อมา หลิว ปัง ถูกส่งไปใช้แรงงานในเสียนหยาง (咸阳) เมืองหลวงของจักรวรรดิฉิน และได้พบกับฉินฉื่อหฺวังตี้ ปฐมกษัตริย์ฉิน ขณะเสด็จตรวจราชการ เขาเห็นขบวนเสด็จโอ่อ่าอลังการ ก็อุทานว่า "แม่เจ้า ผู้ยิ่งใหญ่ต้องแบบนี้แหละ" (嗟乎,大丈夫当如此也)

ต่อมา ลฺหวี่ เหวิน (吕文) คหบดีแห่งอำเภอช่าน (单县) ย้ายรกรากมายังอำเภอเพ่ย์ และจัดเลี้ยงผู้ลากมากดีในท้องถิ่น ลฺหวี่ เหวิน มอบหมายให้เซียว เหอ ตรวจเก็บของขวัญที่ได้จากแขกเหรื่อ เซียว เหอ ประกาศว่า คนที่ให้ของขวัญมูลค่าต่ำกว่าหนึ่งพันเฉียน (钱) ให้ออกไปนั่งข้างนอก หลิว ปัง มางานโดยไม่ได้เตรียมของขวัญมาด้วย แต่กล่าวว่า "มอบหนึ่งหมื่นเฉียน" (錢錢一萬) ลฺหวี่ เหวิน มองมาที่หลิว ปัง และประทับใจในบุคลิกลักษณะ จึงลุกขึ้นต้อนรับหลิว ปัง เข้าไปข้างใน แล้วให้นั่งข้างกัน แม้เซียว เหอ จะบอกว่า หลิว ปัง ไม่ได้นำสิ่งใดมาเลยก็ตาม ลฺหวี่ เหวิน พินิจดูรูปร่างหลิว ปัง แล้วกล่าวว่า "ข้าทำนายลักษณะคนมาก็มาก แต่ไม่เคยพบผู้ใดมีลักษณะพิเศษเช่นท่านเลย" (我很會看面相,但是沒看過像你這麼相貌不凡的) ลฺหวี่ เหวิน จึงยกลฺหวี่ จื้อ (呂雉) ผู้เป็นบุตรสาว ให้เป็นภริยาของหลิว ปัง ลฺหวี่ จื้อ มีบุตรสองคนกับหลิว ปัง คนหนึ่งเป็นบุตรชาย คือ หลิว อิ๋ง ซึ่งภายหลังขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิฮั่นฮุ่ย อีกคนเป็นบุตรสาว ซึ่งภายหลังได้เป็นองค์หญิงหลู่-ยฺเหวียน (魯元公主)

การต่อต้านราชวงศ์ฉิน[แก้]

ต่อมา หลิว ปัง ได้รับมอบหมายให้อารักขานักโทษไปยังเขาหลี่ (驪山) เพื่อก่อสร้างสุสานหลวง แต่นักโทษหลบหนีระหว่างทาง หลิว ปัง กลัวจะถูกลงโทษถึงตาย จึงปล่อยนักโทษที่เหลือไปทั้งหมด แล้วตนเองก็หลบหนีไป นักโทษบางคนในกลุ่มนี้ประทับใจเขามาก ถึงขนาดกลับมาล่มหัวจมท้ายกัน

ร่ำลือกันว่า ครั้งนั้น หลิว ปัง และพวกพ้อง พบงูใหญ่สีขาว พ่นลมหายใจเป็นพิษ ทำให้ผู้คนมากมายล้มตาย หลิว ปัง กำลังเมาก็ฆ่างูตายเสียในคืนหนึ่ง ครั้นรุ่งเช้า พวกพ้องหลิว ปัง พบหญิงแก่คนหนึ่งเดินร้องไห้คร่ำครวญไปตามถนน จึงถามสาเหตุ นางตอบว่า "บุตรข้าเป็นลูกจักรพรรดิขาว เขากลายร่างเป็นงูขาวเลื้อยอยู่ตามถนน แต่มาถูกลูกจักรพรรดิแดงสังหารเสียแล้ว" (我兒是白帝之子,化成白蛇躺在路上,卻被赤帝之子殺死了) แล้วหญิงนางนั้นก็หายตัวไป พวกพ้องหลิว ปัง ฟังคำอันแปลกประหลาดของหญิงผู้นั้นแล้ว เชื่อว่า ฟ้าส่งหลิว ปัง มาเกิดเป็นกษัตริย์ ก็ยิ่งชื่นชมในตัวหลิว ปัง เหตุการณ์ครั้งนี้เรียกว่า "กบฏเพราะฆ่างูขาว" (斬白蛇起義)

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 李祖德 (2012). "刘邦祭祖考——兼论春秋战国以来的社会变革". 中国史研究 [Journal of Chinese Historical Studies]. CNKI. 34 (3): 11–58. {{cite journal}}: |access-date= ต้องการ |url= (help)
  2. "Gaozu Emperor of Han Dynasty". Encyclopædia Britannica.
  3. Patricia Buckley Ebrey (2003). /books?id=oJbpoEwvQzcC&pg=PA171&dq=huangdi+family+tree#v=onepage&q&f=false Women and the family in Chinese history. Vol. Volume 2 of Critical Asian scholarship (illustrated ed.). Psychology Press. p. 171. ISBN 0-415-28823-1. สืบค้นเมื่อ 4-01-2012. {{cite book}}: |volume= has extra text (help); ตรวจสอบค่า |url= (help); ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  4. Fabrizio Pregadio (2008). Fabrizio Pregadio (บ.ก.). /books?id=MioRmEq2xHUC&pg=PA505&dq=huangdi+family+tree#v=onepage&q=huangdi%20family%20tree&f=false The encyclopedia of Taoism, Volume 1 (ill ustrated ed.). Psychology Press. p. 505. ISBN 0-7007-1200-3. สืบค้นเมื่อ 4-01-2012. {{cite book}}: ตรวจสอบค่า |url= (help); ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  5. Translation เก็บถาวร 2017-01-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน of Sima Qian's Shiji.
ก่อนหน้า จักรพรรดิฮั่นเกาจู่ ถัดไป
พระเจ้าจื่ออิง
ราชวงศ์ฉิน (ในฐานะกษัตริย์ฉิน)
จักรพรรดิจีน
(202–195 ปีก่อนคริสตกาล)
จักรพรรดิฮั่นฮุ่ยตี้