แยกสามยอด

พิกัด: 13°44′49″N 100°30′12″E / 13.746981°N 100.503208°E / 13.746981; 100.503208
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก สี่แยกสามยอด)
สี่แยก สามยอด
แผนที่
ชื่ออักษรไทยสามยอด
ชื่ออักษรโรมันSam Yot
รหัสทางแยกN119 (ESRI), 056 (กทม.)
ที่ตั้งแขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
ทิศทางการจราจร
ถนนมหาไชย
» แยกเรือนจำ
ถนนเจริญกรุง
» แยกเอสเอบี
ถนนมหาไชย
» แยกเมอร์รี่คิงส์
ถนนเจริญกรุง
» แยกอุณากรรณ

แยกสามยอด เป็นทางแยกแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร เป็นสี่แยกในพื้นที่แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร เป็นทางตัดระหว่างถนนเจริญกรุงและถนนมหาไชย

โดยชื่อ "สามยอด" นั้นมาจาก "ประตูสามยอด" อันเป็นส่วนหนึ่งของประตูพระบรมมหาราชวังรอบนอก สร้างขึ้นในรัชสมัยรัชกาลที่ 1 เมื่อครั้งสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ เดิมเป็นประตูไม้ ต่อมาในรัชสมัยรัชกาลที่ 3 ได้มีการสร้างเพิ่มเติมเป็นก่ออิฐถือปูนบานไม้ ด้านบนเป็นหอรบ ในรัชสมัยรัชกาลที่ 4 มีการตัดถนนเจริญกรุงขึ้น และวางแนวถนนผ่านประตูนี้เข้าในเขตกำแพงเมือง จนรัชสมัยรัชกาลที่ 5 การจราจรที่ผ่านประตูมีความคับคั่ง เกิดอุบัติเหตุรถม้าชนกันเป็นประจำทุกวัน จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างประตูเป็นสามช่อง ช่องซ้ายสำหรับรถรางผ่าน อีกสองช่องสำหรับรถม้า, รถลาก และผู้คนสัญจรไปมา แต่ละช่องจะมียอดแหลมขึ้นไปจึงเรียกกันว่า "ประตูสามยอด" จึงทำให้ย่านนั้นถูกเรียกว่า "สามยอด" ไปด้วย โดยเป็นย่านที่มีความคึกคักมากเนื่องจากใกล้กับแหล่งการค้า เช่น สำเพ็ง, เยาวราช, สะพานหัน และยังเป็นที่ตั้งของโรงหวย ก ข รวมถึงมีสถานที่สำคัญ คือ วังบูรพาภิรมย์ และทำให้มีฐานะเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดพระนคร จนกระทั่งมาถึงรัชสมัยรัชกาลที่ 7 จึงลดฐานะลงเป็นเพียงตำบล และกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของแขวงวังบูรพาภิรมย์ในปัจจุบัน

ประตูสามยอด ถูกรื้อถอนออกในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อ พ.ศ. 2440 อันเนื่องจากกีดขวางการจราจรและเกรงว่าจะถล่มลงมาได้ เพราะโครงสร้างเดิมไม่แข็งแรง พร้อมกับการบูรณะสะพานเหล็กบน หรือสะพานดำรงสถิตที่อยู่ใกล้เคียง[1]

บริเวณแยกดังกล่าวมีสถานีสามยอด ซึ่งเป็นสถานีรถไฟใต้ดิน ของเส้นทางรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) ส่วนต่อขยายหัวลำโพง-บางแค ซึ่งเปิดให้บริการแล้ว และ รถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) ส่วนต่อขยายเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ซึ่งจะดำเนินการก่อสร้างในอนาคต นับว่าเป็นสถานีรถไฟใต้ดินที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย โดยตัวอาคารสถานีมีความโอ่อ่า ด้วยสถาปัตยกรรมแบบจีน-โปรตุเกส[2]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. "อวสานประตูสามยอด ฝรั่งว่าแบบประตูน่าเกลียด! ทั้งขวางความเจริญของบ้านเมือง!!". ผู้จัดการออนไลน์. 2017-09-20. สืบค้นเมื่อ 2018-02-16.
  2. จรัญญา (2016-03-24). "เผยโฉม! 4 สถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน ออกแบบสวยที่สุดในประเทศ". เอ็มไทยดอตคอม. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-05-11. สืบค้นเมื่อ 2018-02-16.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

13°44′49″N 100°30′12″E / 13.746981°N 100.503208°E / 13.746981; 100.503208