อำเภออุ้มผาง
อำเภออุ้มผาง | |
---|---|
การถอดเสียงอักษรโรมัน | |
• อักษรโรมัน | Amphoe Umphang |
คำขวัญ: แมกไม้เขียวสด ดอยหัวหมดชื่นชู ทีลอซูงามล้ำ ตระหง่านง้ำลอยฟ้า ล่องธาราแพไผ่ ชายแดนไทยอุ้มผาง | |
แผนที่จังหวัดตาก เน้นอำเภออุ้มผาง | |
พิกัด: 16°1′0″N 98°51′46″E / 16.01667°N 98.86278°E | |
ประเทศ | ไทย |
จังหวัด | ตาก |
พื้นที่ | |
• ทั้งหมด | 4,325.4 ตร.กม. (1,670.0 ตร.ไมล์) |
ประชากร (2565) | |
• ทั้งหมด | 49,956 คน |
• ความหนาแน่น | 11.54 คน/ตร.กม. (29.9 คน/ตร.ไมล์) |
รหัสไปรษณีย์ | 63170 |
รหัสภูมิศาสตร์ | 6308 |
ที่ตั้งที่ว่าการ | ที่ว่าการอำเภออุ้มผาง หมู่ที่ 1 ถนนสุขุมวัฒนะ 3 ตำบลอุ้มผาง อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก 63170 |
ส่วนหนึ่งของสารานุกรมประเทศไทย |
อุ้มผาง เป็นอำเภอหนึ่งทางตอนใต้ของจังหวัดตาก จัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาตั้งอำเภออุ้มผาง พ.ศ. 2502 อันมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2502 อำเภออุ้มผางเป็นอำเภอที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและเป็นอำเภอที่อยู่ห่างไกลจากตัวอำเภอเมืองมากที่สุดในประเทศไทย[1] มียอดเขาที่สูงที่สุดในภาคตะวันตกคือ ยอดเขากะเจอลา มีความสูง 2,152 เมตร[ต้องการอ้างอิง] โดยพื้นที่ตอนล่างของอำเภอ ยังเป็นที่ตั้งของ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก ซึ่งเป็นแหล่งมรดกโลกอีกด้วย
ที่ตั้งและอาณาเขต
[แก้]อำเภออุ้มผางตั้งอยู่ทางตอนใต้ของจังหวัด มีอาณาเขตติดต่อกับอำเภอข้างเคียง ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอพบพระ
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอคลองลาน อำเภอปางศิลาทอง (จังหวัดกำแพงเพชร) อำเภอแม่วงก์ (จังหวัดนครสวรรค์) และอำเภอบ้านไร่ (จังหวัดอุทัยธานี)
- ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอทองผาภูมิและอำเภอสังขละบุรี (จังหวัดกาญจนบุรี)
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับรัฐกะเหรี่ยง (ประเทศพม่า)
ที่มาของชื่ออำเภอ
[แก้]"อุ้มผาง" มีที่มาจากการสันนิษฐานของทางราชการว่ามาจากคำว่า "อุพะ" ที่เป็นคำเรียกกระบอกไม้ไผ่สำหรับเก็บเอกสารเดินทางในภาษาปกากะญอ เนื่องจากภูมิประเทศเป็นป่าเขารกทึบ การเดินทางลำบากและเอกสารฉีกขาดได้ง่าย ดังนั้นการเก็บเอกสารจึงต้องม้วนเก็บในกระบอกไม้ไผ่และมีฝาจุกปิดมิดชิด เมื่อเดินทางมาถึงด่านตรวจก็จะเปิดกระบอกไม้ไผ่เพื่อแสดงเอกสาร ชาวกะเหรี่ยงจะเรียกเอกสารนี้ว่า "อุพะ" ซึ่งต่อมาได้ออกเสียงเพี้ยนมาเป็น "อุ้มผาง" จึงได้กลายมาเป็นชื่ออำเภอในปัจจุบันนี้ ในขณะที่ชาวปกากะญอหลายคนกล่าวว่ามาจากคำว่า "อูกึผะ" แปลว่า ไฟจะไหม้ไปทั่ว โดยได้อธิบายความหมายว่า "สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็ต้องเกิดและขยายไปทั่วไป"
ประวัติ
[แก้]อุ้มผางในอดีตเป็นที่อยู่ของชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง ต่อมาก็มีคนไทยจากภาคเหนือคือ เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน แพร่ ได้อพยพหาที่ทำกินใหม่มาบุกเบิกป่าอุ้มผางเป็นที่อยู่อาศัย และเมื่อปี พ.ศ. 2432 ได้ถูกกำหนดให้เป็นเมืองหน้าด่านชายแดนตะวันตกในชื่อ อำเภอแม่กลอง ขึ้นตรงกับจังหวัดอุทัยธานี เป็นจุดตรวจตราชาวพม่าที่เดินทางเข้ามาค้าขายในประเทศไทย โดยมีเจ้าหน้าที่คอยตรวจเอกสารเดินทาง
พ.ศ. 2468 ทางการได้ยุบอำเภออุ้มผางเป็น กิ่งอำเภออุ้มผาง และโอนการปกครองจากจังหวัดกำแพงเพชรให้ไปขึ้นกับจังหวัดตาก ในวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2502 ทางการได้มีพระราชกฤษฎีกายกฐานะจากกิ่งอำเภอเป็น อำเภออุ้มผาง และให้ขึ้นกับจังหวัดตาก[2]
พ.ศ. 2514 พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยได้เริ่มการเคลื่อนไหวทางการเมือง มีการสู้รบกันบ้างระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐคือตำรวจตระเวนชายแดน น.ป.พ. และ อ.ส. ช่วง พ.ศ. 2527 เหตุการณ์ได้ยุติลงด้วยการใช้นโยบาย 66/2523 มีมวลชนที่กลับใจและเข้ามามอบตัวเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยประมาณสองพันกว่าคน ความสงบสุขจึงกลับมาสู่ชาวอุ้มผางอีกครั้ง
หลังจากเป็นเมืองปิดมาช้านาน ทางการได้ทำการตัดถนนจากอำเภอแม่สอดสู่อำเภออุ้มผาง ลัดเลาะตามไหล่เขาและสันเขา 164 กิโลเมตร ซึ่งเป็นที่มาของชื่อถนนสายลอยฟ้า ใช้เวลาก่อสร้างกว่า 10 ปี เสร็จสิ้นเมื่อปี พ.ศ. 2526 [3]
เมื่อเรื่องราวในอดีตปิดตัวเองลง ประตูแห่งเมืองท่องเที่ยวก็ได้เปิดออกเมื่อนายแพทย์บรรลือ กองไชย ได้เข้ามารับหน้าที่เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง ท่านได้ชักชวนให้นิตยสารการท่องเที่ยวเข้ามาชมและถ่ายทำสกู๊ปลงหนังสือจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คนภายนอกได้รู้จักอุ้มผาง ในปัจจุบันคนอุ้มผางไม่น้อยที่หันมาทำธุรกิจท่องเที่ยว เริ่มจากการใช้แพไม้ไผ่ล่องแก่งและพัฒนามาเป็นเรือยาง โดยได้รับคำแนะนำในการท่องเที่ยวจากภาครัฐในรูปแบบการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
- วันที่ 24 กันยายน 2454 แยกพื้นตำบลแม่ละมุ้ง ตำบลโมโกร ตำบลอุ้มผาง ตำบลหนองหลวง อำเภอหนองหลวง และตำบลแม่จัน ตำบลแม่กลอง อำเภอแม่กลอง จังหวัดอุทัยธานี รวมหกตำบลและจัดตั้งเป็น อำเภอแม่กลอง[4] และโอนไปขึ้นกับจังหวัดกำแพงเพชร ส่วนอีกสามตำบล ของอำเภอแม่กลองที่เหลืออยู่ คือ ตำบลคอกควายเหนือ ตำบลคอกควายใต้ และตำบลแก่นมะกรูด ให้โอนไปขึ้นกับอำเภอหนองหลวง จังหวัดอุทัยธานี
- วันที่ 29 เมษายน 2460 เปลี่ยนชื่ออำเภอแม่กลอง จังหวัดกำแพงเพชร มณฑลนครสวรรค์ เป็น อำเภออุ้มผาง[5]
- วันที่ 17 มกราคม 2468 ยุบอำเภออุ้มผาง จังหวัดกำแพงเพชร เป็น กิ่งอำเภออุ้มผาง[6] และโอนไปขึ้นกับอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก
- วันที่ 10 มิถุนายน 2490 ตั้งตำบลหนองหลวง แยกออกจากตำบลอุ้มผาง และตั้งตำบลแม่ละมุ้ง แยกออกจากตำบลอุ้มผาง[7]
- วันที่ 26 มกราคม 2500 จัดตั้งสุขาภิบาลอุ้มผาง ในท้องที่บางส่วนของตำบลอุ้มผาง[8]
- วันที่ 5 พฤษภาคม 2502 ยกฐานะกิ่งอำเภออุ้มผาง อำเภอแม่สอด เป็น อำเภออุ้มผาง[9]
- วันที่ 15 มกราคม 2536 ตั้งตำบลแม่กลอง แยกออกจากตำบลอุ้มผาง[10]
- วันที่ 25 พฤษภาคม 2542 ยกฐานะสุขาภิบาลอุ้มผาง เป็นเทศบาลตำบลอุ้มผาง[11]
- วันที่ 15 กันยายน 2547 ยุบองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ละมุ้ง รวมกับองค์การบริหารส่วนตำบลอุ้มผาง เรียกชื่อว่า องค์การบริหารส่วนตำบลอุ้มผาง[12] และยุบสภาตำบลหนองหลวง รวมกับองค์การบริหารส่วนตำบลแม่กลอง[13]
- วันที่ 30 มีนาคม 2555 ยกฐานะองค์การบริหารส่วนตำบลแม่กลอง เป็นเทศบาลตำบลแม่กลอง
การแบ่งเขตการปกครอง
[แก้]การปกครองส่วนภูมิภาค
[แก้]อำเภออุ้มผางแบ่งเขตการปกครองย่อยออกเป็น 6 ตำบล 36 หมู่บ้าน[14] ได้แก่
ลำดับ | อักษรไทย | อักษรโรมัน | จำนวนหมู่บ้าน | จำนวนประชากร (ธันวาคม 2565)[15] |
---|---|---|---|---|
1. | อุ้มผาง | Umphang | 6
|
7,700
|
2. | หนองหลวง | Nong Luang | 3
|
3,475
|
3. | โมโกร | Mokro | 7
|
8,803
|
4. | แม่จัน | Mae Chan | 12
|
24,195
|
5. | แม่ละมุ้ง | Mae Lamung | 4
|
2,129
|
6. | แม่กลอง | Mae Klong | 4
|
2,918
|
การปกครองส่วนท้องถิ่น
[แก้]ท้องที่อำเภออุ้มผางประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 5 แห่ง ได้แก่
- เทศบาลตำบลอุ้มผาง ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของตำบลอุ้มผาง
- เทศบาลตำบลแม่จัน ครอบคลุมพื้นที่ตำบลแม่จันทั้งตำบล
- เทศบาลตำบลแม่กลอง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหนองหลวงและตำบลแม่กลองทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลอุ้มผาง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลแม่ละมุ้งทั้งตำบลและตำบลอุ้มผาง (นอกเขตเทศบาลตำบลอุ้มผาง)
- องค์การบริหารส่วนตำบลโมโกร ครอบคลุมพื้นที่ตำบลโมโกรทั้งตำบล
กลุ่มชาติพันธุ์
[แก้]ประชากรในเขตอำเภออุ้มผางประกอบด้วย 4 ชาติพันธุ์ คือ ไทย ม้ง ปกากะญอ และโพล่ว ภาษาไทยเหนือเรียกปกากะญอว่า ยาง ปัจจุบันใช้คำว่ากะเหรี่ยงดอย ส่วนโพล่วปัจจุบันเรียกว่า กะเหรี่ยงน้ำ
- ไทย อาศัยอยู่ในราบหุบเขาอุ้มผางในตำบลอุ้มผาง แม่กลองใหม่ และหนองหลวง
- ม้ง อาศัยอยู่ที่บ้านแม่ก่องม้ง หรือบ้านแม่กลองใหญ่ในปัจจุบัน อีกส่วนอาศัยอยู่บริเวณบ้านทุ่งนาน้อย ตำบลแม่ละมุ้ง ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของอำเภออุ้มผาง ปัจจุบันถูกอพยพไปอยู่ที่อำเภอพบพระ
- ปกากะญอ เป็นคนส่วนใหญ่และดั้งเดิมของที่นี่ ตั้งถิ่นฐานตั้งแต่บ้านหม่องคั๋วะขึ้นมาทางเหนือ ปกากะญอ แปลว่า "คน" คำเรียกชาติพันธุ์ตัวเอง คือ จือก่อ
- โพล่ว เป็นคนดั้งเดิม ตั้งถิ่นฐานตั้งแต่บ้านหม่องคั๋วะลงไปทางใต้ โพล่ว แปลว่า "คน" คำเรียกชาติพันธุ์ตัวเอง คือ ฉู
นอกจากนี้ยังมีชาวไทยในพม่าอพยพกลับมาอยู่ที่บ้านเปิ่งเคลิ่ง ภาษาคนกลุ่มนี้ใกล้เคียงกับภาษาลาว
ปกากะญอและโพล่วตั้งถิ่นฐานที่นี่มากว่า 200 ปี สองชาติพันธุ์นี้ใกล้เคียงกันมาก วิถีชีวิต ความเชื่อ ประเพณี และวัฒนธรรมมีจุดร่วมกันเป็นส่วนใหญ่ การแต่งกาย ภาษา และรายละเอียดการปฏิบัติต่างกันเล็กน้อย ในตำนานของเขาบอกว่าพวกเขาเป็นพี่น้องกัน รวมถึงตอซู (ต้องสู้) หรือปะโอ
คำเรียก "กะเหรี่ยง" ชาวปกากะญอจะเรียกตัวเองว่า กะเหรี่ยง และเรียกชาวโพล่วว่า กะหร่าง ในทางตรงข้าม ชาวโพล่วจะเรียกตัวเองว่า กะเหรี่ยง และเรียกชาวปกากะญอว่า กะหร่าง
เดิมปกากะญอและโพล่วในแถบนี้นับถือ เพอเจะ จนกระทั่งประมาณปี พ.ศ. 2535 มีความขัดแย้งระหว่างชาวโพล่วแม่จันทะกับเจ้าหน้าที่จนถึงขั้นปะทะกันด้วยความรุนแรง หลังจากนั้นจึงมีการตั้งสำนักสงฆ์และนิมนต์พระมาจำพรรษาในหลายหมู่บ้าน
สถานที่สำคัญ
[แก้]- น้ำตกทีลอซู
- น้ำตกปิตุโกร หรือเปรโต๊ะลอซู
- ดอยหัวหมด
- โรงเรียนอุ้มผางวิทยาคม
- พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมปกากะญอ บ้านกุยต๊ะ
- โรงเรียนชุมชนบ้านอุ้มผาง
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "49 เรื่องน่ารู้ ความเป็นที่สุดในประเทศไทย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-11-12. สืบค้นเมื่อ 2020-11-11.
- ↑ พระราชกฤษฎีกาตั้งอำเภออุ้มผาง พ.ศ. ๒๕๐๒ เก็บถาวร 2012-05-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๗๖ ตอนที่ ๕๐ ก ประกาศ ณ วันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๒ หน้า ๑๐๘
- ↑ ประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง กำหนดให้ทางหลวงจังหวัด สายแยกทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๑ - บ้านคลองลาน - อำเภออุ้มผาง ตอนบ้านคลองลาน - อำเภออุ้มผาง เป็นทางหลวงที่มีความจำเป็นต้องสร้างโดยเร่งด่วน ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๐๐ ตอนที่ ๔๑ ง ฉบับพิเศษ ประกาศ ณ วันที่ ๒๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๖ หน้า ๕
- ↑ [1]แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง จัดแบ่งท้องที่มณฑลนครสวรรค์ แยกตำบลแม่ละมุง ตำบลโมโกร ตำบลอุ้มผาง ตำบลหนองหลวง จากอำเภอหนองหลวง แขวงเมืองอุทัยธานี แล้วนำมารวมกับตำบลแม่จัน ตำบลแม่กะลอง จัดตั้งเป็นอำเภอแม่กะลอง โอนไปอยู่ในปกครองของเมืองกำแพงเพชร ส่วนอำเภอหนองหลวงให้คงอยู่ในปกคองของเมืองอุทัยธานีตามเดิม และให้แยกตำบลในอำเภอแม่กะลองอีก ๓ตำบล คือ ตำบลคอกควายเหนือ ตำบลคอกควายใต้ ตำบลแก่นมะกรูด มารวมกับตำบลลานสัก
- ↑ [2] เก็บถาวร 2011-11-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนชื่ออำเภอ
- ↑ [3] เก็บถาวร 2012-05-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ยุบแยกและตั้งอำเภอในมณฑลนครสวรรค์
- ↑ [4] เก็บถาวร 2011-11-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งตำบลในจังหวัดต่าง ๆ
- ↑ [5]ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง จัดตั้งสุขาภิบาลอุ้มผาง กิ่งอำเภออุ้มผาง อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก
- ↑ [6] เก็บถาวร 2012-05-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนพระราชกฤษฎีกาตั้งอำเภออุ้มผาง พ.ศ. ๒๕๐๒
- ↑ [7]ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและกำหนดเขตตำบลในท้องที่อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก
- ↑ [8] เก็บถาวร 2008-04-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนพระราชบัญญัติเปลี่ยนแปลงฐานะของสุขาภิบาลเป็นเทศบาล พ.ศ. ๒๕๔๒
- ↑ [9] เก็บถาวร 2020-09-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การยุบรวมองค์การบริหารส่วนตำบลกับองค์การบริหารส่วนตำบล
- ↑ [10][ลิงก์เสีย]ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การยุบรวมสภาตำบลกับองค์การบริหารส่วนตำบล
- ↑ ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและกำหนดเขตตำบลในท้องที่อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก เก็บถาวร 2012-05-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๑๐ ตอนที่ ๕ ง ฉบับพิเศษ ประกาศ ณ วันที่ ๑๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๖ หน้า ๖๗
- ↑ "ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหาร". stat.bora.dopa.go.th.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- ประวัติศาสตร์และความเป็นมาของอุ้มผาง เก็บถาวร 2011-05-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- พิพิธภัณฑ์ในอุ้มผาง เก็บถาวร 2009-02-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน