จรวยพร ธรณินทร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ดร.จรวยพร ธรณินทร์
ไฟล์:จรวยพร ธรณินทร์.jpg
เกิด31 พฤษภาคม พ.ศ. 2491 (75 ปี)
พระนครศรีอยุธยา
สัญชาติไทย
มีชื่อเสียงจากปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (2549-2551)
คู่สมรสดร.ผดุง ธรณินทร์
บุตรพ.ญ.ภาวิณี ฤกษ์นิมิตร และนายพิชชา ธรณินทร์

ดร.จรวยพร ธรณินทร์ กรรมการในคณะกรรมการสภาการศึกษา [1] อดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการ อดีตกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.) เกิดเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2491 ที่อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ชีวิตครอบครัวสมรสกับ ดร.ผดุง ธรณินทร์ มีบุตร 2 คน ได้แก่ รองศาสตราจารย์​ แพทย์หญิง ภาวิณี ฤกษ์นิมิตร และนายพิชชา ธรณินทร์

ดร.จรวยพร ธรณินทร์ มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก จากการรณรงค์การออกกำลังกายเพื่อสุขภาพโดยเฉพาะการออกกำลังแบบแอโรบิกดานซ์ การเป็นผู้อำนวยการจัดการชุมนุมลูกเสือโลกครั้งที่ 20 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ณ หาดยาว จังหวัดชลบุรี เมื่อปลายปี พ.ศ. 2545 และการทำงานด้านกิจการนักเรียนนักศึกษา

การศึกษา[แก้]

ดร.จรวยพร ธรณินทร์ สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาพลศึกษา (เกียรตินิยมและรางวัลเหรียญทอง) จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และรัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต สาขาบริหารรัฐกิจ จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

ระดับปริญญาโท สาขาพลศึกษา จาก มหาวิทยาลัยโคโลราโดสเตต สหรัฐ และปริญญาเอก สาขาวิทยาศาสตร์การกีฬา จาก มหาวิทยาลัยฟลอริดาสเตต สหรัฐ

ด้านหลักสูตรการฝึกอบรม ได้เข้ารับการอบรมหลายหลักสูตร อาทิ นักบริหารระดับสูง รุ่นที่ 13 ปรอ.3 วปรอ.4313 และ วตท.4

ประวัติการทำงาน[แก้]

ดร.จรวยพร ธรณินทร์ เริ่มรับราชการในตำแหน่งอาจารย์ตรี วิทยาลัยครูพระนครศรีอยุธยา ในปี พ.ศ. 2513 หลังจากนั้นได้รับทุนไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทและเอกที่สหรัฐ ด้วยทุนของรัฐบาล และกลับมารับราชการที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (เดิมคือ วิทยาลัยพลศึกษากรุงเทพ) ต่อมา พ.ศ. 2519 ได้โอนมารับราชการในสังกัดกรมพลศึกษา และได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายทดสอบสมรรถภาพ ในปี พ.ศ. 2521 หัวหน้ากองยุวกาชาด ปี พ.ศ. 2523 ผู้อำนวยการกองส่งเสริมพลศึกษาและสุขภาพ ปี พ.ศ. 2524

ต่อมาในปี พ.ศ. 2530 ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านส่งเสริมมาตรฐานพลศึกษา และได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมพลศึกษา ในปี พ.ศ. 2536 รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาเอกชน พ.ศ. 2537 ที่ปรึกษาด้านพัฒนากระบวนการเรียนรู้ พ.ศ. 2541 เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาเอกชน พ.ศ. 2542 อธิบดีกรมพลศึกษา พ.ศ. 2545 รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546 และปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในปี พ.ศ. 2549 จนเกษียณอายุราชการในปี พ.ศ. 2551

ราชการพิเศษ[แก้]

ในระหว่างที่รับราชการ ดร.จรวยพร ธรณินทร์ ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติราชการสำคัญหลายงาน อาทิ

ในระหว่างปี พ.ศ. 2550 - พ.ศ. 2551 ดร.จรวยพร ธรณินทร์ ได้รับการแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่สำคัญหลายตำแหน่ง อาทิ สมาชิกสมัชชาแห่งชาติ ประธานกรรมการสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) ประธานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรการศึกษา รองประธานกรรมการบริหารคณะลูกเสือแห่งชาติ รองประธานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา กรรมการข้าราชการพลเรือน ประธานกองทุนสงเคราะห์โรงเรียนเอกชน กรรมการโครงการสานใจไทยสู่ใจใต้ กรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ กรรมการสถานศึกษาโรงเรียนพระตำหนัก กรรมการสภามหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น และกรรมการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้

รางวัลเกียรติคุณ[แก้]

  1. 2531 ชนะเลิศ การเขียนหนังสืออ่านระดับประถมศึกษา 2 รางวัล
  2. 2535 “นักพลศึกษาดีเด่นด้านการบริหาร”
  3. 2536 “ครุศาสตร์ปราชญ์จุฬา”
  4. 2543 รางวัลชมเชยงานวิจัย”ปฏิรูปการศึกษาฯ” จากปปร
  5. 2546 “บุคคลดีเด่นด้านป้อง กันปัญหายาเสพติด” ปปส.
  6. 2546 เกียรติบัตร "ผู้อำนวยการจัดงานชุมนุมลูกเสือโลกครั้งที่20 "
  7. 2549 “ศิษย์เก่าสวนสุนันทาดีเด่น”
  8. 2549 “ทูตสันติภาพ” จากสหพันธ์นานาชาติ และศาสนาเพื่อสันติภาพโลก
  9. 2550 “ศิษย์เก่าเกียรติยศ” คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  10. 2551 “บุคคลดีเด่นด้านควบคุมยาสูบในกลุ่มเยาวชน”
  11. 2551 “นักเรียนทุนรัฐบาลไทยดีเด่น”

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

งานสังคม[แก้]

ดร.จรวยพร ธรณินทร์ มีบทบาทในงานสังคมกับองค์กรต่างๆ หลายองค์การ อาทิ เป็นกรรมการบริหารสภากีฬานักเรียนแห่งอาเซียน เลขาธิการสมาคมพลศึกษา ในปี พ.ศ. 2526-2528 อุปนายกสมาคมวิทยาศาสตร์การกีฬาแห่งประเทศไทย เป็นประธานสหพันธ์ฟุตบอลนักเรียนแห่งเอเชีย พ.ศ. 2534-2536 และนายกสมาคมศิษย์เก่าสวนสุนันทาในพระบรมราชูปถัมภ์ พ.ศ. 2550-2552

อ้างอิง[แก้]

  1. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/E/260/5.PDF
  2. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เก็บถาวร 2022-05-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๙ ตอนที่ ๒๑ ข หน้า ๗, ๔ ธันวาคม ๒๕๔๕
  3. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2015-09-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๔ ตอนที่ ๒๗ ข หน้า ๒๒, ๓ ธันวาคม ๒๕๔๐
  4. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริยิ่งรามกีรติ ลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ และเหรียญลูกเสือสดุดี, เล่ม ๑๒๓ ตอนที่ ๑ ข หน้า ๒๗, ๕ มกราคม ๒๕๔๙
  5. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญจักรมาลาและเหรียญจักรพรรดิมาลา, เล่ม ๑๑๓ ตอนที่ ๔ ข หน้า ๕๐๔, ๑๕ มีนาคม ๒๕๓๙