พระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

บทความนี้รวบรวมการประกอบพระราชพิธีสถาปนาเฉลิมพระนามาภิไธยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร พระองค์ต่าง ๆ

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร[แก้]

พระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร

ภายหลังกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ กรมพระราชวังบวรสถานมงคลพระองค์สุดท้ายเสด็จทิวงคตแล้ว ก็ไม่มีการสถาปนาผู้ใดขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลอีก เพราะว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริว่า ตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลไม่เหมาะสมกับกาลสมัย และอาจทำให้ชาวต่างประเทศเข้าใจสับสน และมีพระราชดำริว่า พระราชอิสริยยศ "สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร" ซึ่งเรียกว่า "สมเด็จหน่อพระพุทธเจ้า" ที่ได้ตั้งขึ้นไว้ตั้งแต่ครั้งสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ครั้งกรุงเก่า เป็นตำแหน่งที่สอดคล้องตามแบบอย่างการสืบสันตติวงศ์ของพระมหากษัตริย์ในนานาอารยประเทศที่มีราชประเพณีแต่งตั้งพระราชโอรสองค์ใหญ่เป็นมกุฎราชกุมารดำรงตำแหน่งรัชทายาท

ด้วยเหตุนี้ พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งพระราชพิธีมหาพิไชยมงคลลงสรงสนานเฉลิมพระปรมาภิไธยสถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ขึ้นเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2429 มีพระนามตามจารึกสุพรรณบัฏว่า[1]

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ อดิศวรมหาจุฬาลงกรณ์ บดินทรสมมติเทพยวรางกูร บรมมกุฎนเรนทรสูริย์ขัตติยสันตติวงศ์ อุกฤษฐพงศ์วโรภโตสุชาต ธัญญลักษณวิลาศวิบุลยสวัสดิ์ ศิริวัฒนวิสุทธิ สยามมกุฎราชกุมาร

นับเป็นครั้งแรกในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ที่มีตำแหน่งสยามมกุฎราชกุมาร เป็นตำแหน่งรัชทายาท แทนตำแหน่งพระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล หรือ วังหน้า ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ในการนี้สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียได้ส่งโทรเลขมาอำนวยพรสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารด้วย[2]

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร[แก้]

พระบรมฉายาลักษณ์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ต่อมาเมื่อเสด็จฯขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ในพระปรมาภิไธยที่"พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว"รัชกาลที่ 6 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์

หลังจากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2437 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ กรมขุนเทพทวารวดี ซึ่งทรงดำรงพระเกียรติยศเป็นลำดับที่สองรองจากสมเด็จพระเชษฐา และกำลังทรงศึกษาอยู่ ณ สหราชอาณาจักร ขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร พระองค์ที่ 2 แห่งราชวงศ์จักรี เมื่อวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2437 มีพระนามว่า "สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร"[3][4]

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร[5][แก้]

วันศุกร์ที่ 28 กรกฎาคม พุทธศักราช 2515[แก้]

เมื่อสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ ทรงเจริญพระชนมพรรษา 20 พรรษา และทรงบรรลุพระราชนิติภาวะแล้ว ในวันดังกล่าว พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการตั้งการพระราชพิธีสถาปนาเฉลิมพระนามาภิไธยสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ ให้ทรงดำรงพระราชอิสริยยศขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ในวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2515 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต[6]

วันพฤหัสบดีที่ 21 ธันวาคม พุทธศักราช 2515[แก้]

พระราชพิธีจารึกพระสุพรรณบัฏและพระราชลัญจกร ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมมหาราชวัง

วันพุธที่ 27 ธันวาคม พุทธศักราช 2515[แก้]

พระราชพิธีศรีสัจจปาน การเสกน้ำพระพัฒน์สัตยา ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมมหาราชวัง และพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุประทาน ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหสูริยพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง

วันพฤหัสบดีที่ 28 ธันวาคม พุทธศักราช 2515[แก้]

พระราชพิธีสถาปนาเฉลิมพระนามาภิไธย ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้อาลักษณ์กองประกาศิต สำนักนายกรัฐมนตรี อ่านประกาศกระแสพระบรมราชโองการสถาปนาเฉลิมพระนามาภิไธยสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ มาที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ
บดินทรเทพยวรางกูร สิริกิตยสมบูรณสวางควัฒน์
วรขัตติยราชสันตติวงศ์ มหิตลพงศอดุลยเดช
จักรีนเรศยุพราชวิสุทธิ สยามมกุฎราชกุมาร

และประกอบพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมมหาราชวัง พระราชครูวามเทพมุนีประกอบพิธีแช่งน้ำ ด้วยการร่ายพระเวท อ่านโองการแช่งน้ำ เชิญพระแสงศร พระแสงราชศัตราวุธสำคัญ พระแสงประจำรัชกาล แทงน้ำในขันพระสาคร หลังจากจบพิธีแช่งน้ำ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงถวายสัตย์ปฏิญาณความว่า "จะทรงรักษาเกียรติยศและอิสริยศักดิ์ที่พระราชทานไว้เสมอ"

อ้างอิง[แก้]

  1. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศเฉลิมพระปรมาภิไธย สถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าราชกุมารพระองค์ใหญ่ เป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ, เล่ม ๓, ตอน ๔๔, วันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๒๙, หน้า ๓๖๘
  2. จดหมายเหตุรายวันของสมเด็จพระบรมราชปิตุลาธิบดี เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ, บันทึก ณ วันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2429
  3. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสถาปนา สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธสยามมกุฎราชกุมาร, เล่ม ๑๑, ตอน ๔๓, ๒๐ มกราคม พ.ศ. ๒๔๓๗, หน้า ๓๔๖
  4. พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้ากรุงสยาม (บางตอน) และพระราชนิพนธ์อันเป็นสุดที่รัก เรื่อง พระนล คำหลวง, หน้า 20
  5. การพระราชพิธีสถาปนาเฉลิมพระนามาภิไธยสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร 28 ธันวาคม 2515 ที่ยูทูบ 
  6. กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง. นิทรรศการภายในพิพิธภัณฑ์เหรียญกษาปณานุรักษ์. กรุงเทพฯ : [ม.ป.พ.], 2562.