เหรียญราชรุจิ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เหรียญราชรุจิ
มอบโดย พระมหากษัตริย์ไทย
อักษรย่อร.จ.ท.(ทอง), ร.จ.ง.(เงิน)
ประเภทเหรียญราชอิสริยาภรณ์อันเป็นบำเน็จในพระองค์พระมหากษัตริย์
วันสถาปนาพ.ศ. 2440
ประเทศไทย ราชอาณาจักรไทย
จำนวนสำรับไม่จำกัดจำนวน
มอบเพื่อพระราชทานตามพระราชอัธยาศัย
สถานะยังพระราชทานอยู่
ผู้สถาปนาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ประธานพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
ลำดับเกียรติ
สูงกว่าเหรียญรัตนาภรณ์
รองมาไม่มี (เหรียญบำเหน็จในพระองค์พระมหากษัตริย์ลำดับต่ำสุด)

เหรียญราชรุจิ เป็นเหรียญสำหรับพระราชทานเป็นบำเหน็จในพระองค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาขึ้นสำหรับพระราชทานแก่ข้าราชการในราชสำนัก นายทหารรักษาพระองค์ และผู้มีบำเหน็จความชอบในราชสำนัก รวมถึงข้าราชการในราชสำนักแห่งพระมหากษัตริย์ต่างประเทศ เป็นต้น

ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสถาปนาเหรียญราชรุจิ ประจำรัชกาลของพระองค์ ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2454, พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสถาปนาในปี พ.ศ. 2470 ,พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงสถาปนาสำหรับรัชกาลของพระองค์ในปี พ.ศ. 2502 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาในปี พ.ศ. 2562 ส่วนพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร (รัชกาลที่ 8) ไม่ได้พระราชทานไว้

ลักษณะ[แก้]

ลักษณะของเหรียญ[แก้]

เหรียญราชรุจิ มี 2 ชนิด คือ เงินกาไหล่ทอง และเงิน ใช้ประดับที่อกเสื้อเบื้องซ้าย มีลักษณะเป็นเหรียญกลม ลักษณะโดยรวมของเหรียญราชรุจิแต่ละรัชกาลนั้นคล้ายคลึงกัน กล่าวคือ ด้านหน้าของเหรียญราชรุจิเป็นพระบรมฉายาลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ผู้ทรงสร้างเหรียญแต่ละรัชกาล ที่ขอบเหรียญจารึกพระปรมาภิไธยเป็นภาษาบาลี อักษรไทย ดังนี้

  • รัชกาลที่ 5 จารึกว่า "จุฬาลังกรโณ ปรมราชาธิราชา"
  • รัชกาลที่ 6 จารึกว่า "วชิราวุโธ ปรมราชาธิราชา"
  • รัชกาลที่ 7 จารึกว่า "ปชาธิปโก ปรมราชาธิราชา"
  • รัชกาลที่ 9 จารึกว่า "ภูมิพโล ปรมราชาธิราชา"

ด้านหลังทำเป็นรูปจักร ทิศทางของปลายคมจักรเวียนตามเข็มนาฬิกา รายละเอียดของลวดลายวงจักรแตกต่างกันไปในแต่ละรัชกาล ภายในวงจักรมีข้อความภาษาบาลี อักษรไทย จารึกว่า "ราชรุจิยา ทิน์นมิทํ" (ราชรุจิยา ทินฺนมิทํ) หมายความว่า เหรียญนี้ทรงพอพระราชหฤทัยพระราชทาน ยกเว้นเหรียญราชรุจิ รัชกาลที่ 7 ข้อความดังกล่าวไม่ได้จารึกไว้ที่กลางวงจักร แต่จารึกไว้ที่แผ่นป้ายติดห่วงเหรียญสำหรับห้อยแพรแถบ

(จากซ้าย) เหรียญราชรุจิ รัชกาลที่ 5 รัชกาลที่ 6 รัชกาลที่ 7 และรัชกาลที่ 9

สำหรับเหรียญราชรุจิ รัชกาลที่ 10 ซึ่งเป็นเหรียญราชรุจิที่มีการพระราชทานในปัจจุบัน มีลักษณะเป็นเหรียญกลมแบน ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 32 มิลลิเมตร ด้านหน้ามีพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวครึ่งพระองค์ ทรงหันพระพักตร์ทางเบื้องขวา มีอักษรจารึกริมขอบว่า "วชิราลงกรโณ ปรมราชาธิราชา" ด้านหลังมีรูปจักร กลางวงจักรจารึกอักษรว่า "ราชรุจิยา ทิน์นมิทํ" มีห่วงห้อยกับแพรแถบกว้าง 32 มิลลิเมตร สีเหลืองริมสีขาว สำหรับบุรุษประดับที่อกเสื้อด้านซ้าย สำหรับสตรีใช้ห้อยกับแพรแถบผูกเป็นรูปแมลงปอ ประดับเสื้อที่หน้าบ่าซ้าย

ลักษณะแพรแถบย่อ[แก้]

สำหรับสีแพรแถบของเหรียญราชรุจิ จะกำหนดแตกต่างกันไปในแต่ละรัชกาล ดังนี้

แพรแถบย่อ ชื่อ ลักษณะแพรแถบย่อ
เหรียญราชรุจิ รัชกาลที่ 5 พื้นสีแดง
เหรียญราชรุจิ รัชกาลที่ 6
  1. พื้นสีขาบเข้ม
  2. แพรแถบกว้าง 31 มิลลิเมตร
เหรียญราชรุจิ รัชกาลที่ 7
  1. พื้นสีเขียว
  2. แพรแถบกว้าง 33 มิลลิเมตร
เหรียญราชรุจิ รัชกาลที่ 9
  1. พื้นสีเหลือง ริมสีขาว
  2. แพรแถบกว้าง 34 มิลลิเมตร
เหรียญราชรุจิ รัชกาลที่ 10
  1. พื้นสีเหลือง ริมสีขาว
  2. แพรแถบกว้าง 32 มิลลิเมตร

อักษรย่อ[แก้]

ผู้ที่ได้รับพระราชทานเหรียญราชรุจิ หากเป็นเหรียญราชรุจิทอง ใช้อักษรย่อว่า "ร.จ.ท." หากเป็นเหรียญราชรุจิเงิน ใช้ว่า "ร.จ.ง." แล้วต่อท้ายด้วยหมายเลขรัชกาลของพระมหากษัตริย์ผู้พระราชทานเหรียญ เช่น "ร.จ.ท.10" เป็นต้น

การพระราชทาน[แก้]

เหรียญราชรุจินี้พระราชทานเป็นเครื่องหมายแห่งพระมหากรุณาธิคุณตามพระราชอัธยาศัย และพระราชทานเป็นสิทธิ แม้ผู้ได้รับพระราชทานล่วงลับไปแล้วก็ให้ตกทอดแก่ทายาทเพื่อรักษาไว้เป็นที่ระลึกในวงศ์ตระกูลสืบไป แต่ไม่มีสิทธิที่จะประดับเหรียญนี้ ถ้าผู้ได้รับพระราชทานก็ดี ทายาทก็ดี กระทำความผิดร้ายแรงหรือประพฤติตนไม่สมเกียรติ อาจทรงเรียกคืนได้

อ้างอิง[แก้]