รัฐ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

รัฐ (อังกฤษ: state) เป็นองค์กรทางการเมืองโดยบังคับที่มีรัฐบาลแบบรวมอำนาจปกครอง และมีกลุ่มประชากรที่ผูกขาดในการใช้อำนาจโดยชอบธรรมภายในพื้นที่ภูมิศาสตร์หนึ่ง ๆ[1] โดยคำจำกัดความของคำว่า "รัฐ" ถูกนิยามไว้หลากหลาย นิยามที่ใช้กันอย่างแพร่หลายมักอ้างอิงมาจากมัคส์ เวเบอร์ (Max Weber) "รัฐ" คือองค์กรทางการเมืองรูปแบบหนึ่งที่รักษาและผูกขาดอำนาจในการใช้ความรุนแรงอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แม้ว่าคำจำกัดความดังกล่าวจะเป็นเรื่องที่ได้รับการยอมรับโดยสามัญก็ตาม[2][3] แต่สภาวะไร้รัฐก็มิได้ขัดขวางการดำรงอยู่ของสังคม เช่น สมาพันธ์เฮาเดโนเซานี (Haudenosaunee Confederacy) คือตัวอย่างของรัฐไร้สัญชาติที่ "ไม่มีสถาบันหรือบทบาททางการเมืองโดยแท้จริงหรือโดยพฤตินัยทั้งสิ้น"[4] การบริหารงานราชการ คือ เครื่องมือหลักในการดำเนินกิจการและบทบาทของภาครัฐ และเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาว่าการดำรงอยู่ของรัฐสมัยใหม่นั้น ๆ[5][6] ว่าประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวมากน้อยเพียงใด[7]

ประเทศโดยส่วนใหญ่แล้ว มักมีรูปแบบการปกครองในลักษณะที่เป็นเอกเทศออกจากกัน โดยมีการแบ่งรูปแบบการปกครองไว้ดังนี้ ได้แก่ รัฐเดี่ยว (unitary state) หรือสหพันธรัฐ (federal union) ในบริบทของรูปแบบหลัง คำว่า "รัฐ" อาจใช้เพื่อนิยามว่า การเมืองการปกครองดังกล่าวอยู่ในลักษณะของรัฐที่มีสิทธิ์หรืออำนาจในการปกครองในแต่ละพื้นที่หรือภูมิภาคที่อยู่ภายใต้การรับผิดชอบของตน โดยอำนาจสูงสุดจะมาจากรัฐบาลกลางหรือรัฐบาลสหพันธ์ ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันของหลาย ๆ รัฐ มาประกอบกันเป็นสหพันธรัฐ (คำศัพท์อื่น ๆ ที่นำมาใช้แบ่งเขตการปกครองของรัฐบาลกลาง อาจเรียกว่า "จังหวัด" "ภูมิภาค" แล้วแต่ตามที่รัฐได้กำหนดไว้)

การก่อเกิดขึ้นของรัฐอธิปไตยในสังคมมนุษย์มีมานานนับหลายสหัสวรรษ ทว่า สังคมมนุษย์ในยุคก่อนประวัติศาสตร์โดยส่วนใหญ่มักอาศัยอยู่ในสภาวะของสังคมไร้รัฐ (stateless societies) รูปแบบของรัฐที่เก่าแก่ที่สุดเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 5,500 ปีก่อน[8] ประจวบกับพัฒนาการทางสังคม เช่น การขยายเขตเมือง การประดิษฐ์ระบบการเขียน และการประมวลศาสนาแบบใหม่ เมื่อเวลาล่วงเลยผ่านไป รัฐแต่ละรัฐต่างก็มีรูปแบบพัฒนาการที่แตกต่างกันไป โดยอ้างเหตุผลสำหรับการดำรงอยู่ของรัฐไว้หลากหลายแนวคิด (ไม่ว่าจะเป็น ทฤษฎีเทวสิทธิ์ หรือ ทฤษฎีสัญญาประชาคม ฯลฯ) ปัจจุบัน รัฐชาติสมัยใหม่มักมีรูปแบบการปกครองที่ปกครองโดยประชาชนเป็นหลัก[9] รัฐอธิปไตย (sovereign states) ต้องมีอำนาจอธิปไตย การอ้างสิทธิในการปกครองของกลุ่มใด ๆ จะต้องได้รับการรับรองอย่างถูกต้องตามพฤตินัย รวมถึงต้องได้รับการยอมรับจากรัฐอธิปไตยอื่นอีกเช่นกัน

ศัพทมูลวิทยา[แก้]

นิกโกเลาะ มาเกียเวลลี (Niccolò Machiavelli) เป็นหนึ่งในบุคคลแรก ๆ ที่นิยามความหมายของคำว่า รัฐ โดยระบุไว้ว่า "ความสามัคคีทางการเมืองของประชาชนจะเพิ่มมากขึ้นเป็นสองเท่า และสามารถที่จะดำรงอยู่รอดได้ ไม่เพียงแค่ต้องพึ่งพาตัวรัฐบาลแต่เพียงเท่านั้น หากแต่ยังขึ้นอยู่กับรูปแบบการปกครองของรัฐบาลอีกด้วย"

คำว่า "รัฐ" ในภาษาไทย มาจากคำว่า รฏฺฐ (raṭṭha) แปลว่า แคว้น บ้านเมือง ประเทศ หรือภูมิภาค มีรากร่วมกับคำว่า ราษฺฏฺร (राष्ट्र; rāṣṭra) ในภาษาสันสกฤต ขณะที่คำว่า "state" ในภาษาอังกฤษมีรากร่วมกับหลาย ๆ คำ ในตระกูลภาษายูโรเปียน (European languages) (เช่นคำว่า stato ในภาษาอิตาลี, estado ในภาษาสเปนและภาษาโปรตุเกส, état ในภาษาฝรั่งเศส, Staat ในภาษาเยอรมันและภาษาดัตช์ ฯลฯ) โดยทั้งหมดที่กล่าวมา ล้วนสืบสร้างมาจากคำว่า status ในภาษาละติน ที่แปลว่า "เงื่อนไข หรือ สถานะ" ซึ่งก็สามารถย้อนความไปถึงคำว่า stare ที่แปลว่า "ยืนหยัด" ซึ่งหมายถึงการคงอยู่หรือความสถาพร อันแฝงไปด้วยความศักดิ์สิทธิ์และความขลังในฐานะที่เป็นหน่วยงานทางการเมืองรูปแบบหนึ่ง

ในฐานะคำนามภาษาอังกฤษ state แปลว่า "เงื่อนไข หรือ สถานะ" โดยมีการนิยามความหมายของคำนี้มาก่อนที่จะกลายเป็นศัพท์ทางการเมือง คำ ๆ นี้มีปรากฏตั้งแต่ภาษาอังกฤษสมัยกลาง (Middle English) ราว ๆ ค.ศ. 1200 ซึ่งก็ได้หยิบยืมมาจากภาษาฝรั่งเศสเก่า (Old French) ที่สืบทอดมาจากภาษาละตินอีกทอดหนึ่ง

เมื่อมีการฟื้นฟู กฎหมายโรมัน (Roman law) ขึ้นในยุโรปช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 14 คำ ๆ นี้ มีสถานภาพทางกฎหมาย หมายถึง สถานภาพของบุคคลในสังคม (เช่น "ฐานันดรแห่งราชอาณาจักร" อันได้แก่ ขุนนาง สามัญชน และนักบวช) และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานะพิเศษของกษัตริย์ ผู้มั่งคั่ง สูงศักดิ์ และมีอำนาจสูงสุดภายในราชอาณาจักร นอกจากนั้น คำ ๆ นี้ยังมีความหมายที่เชื่อมโยงกับแนวคิดของโรมัน (ย้อนกลับไปถึงยุคของ กิแกโร) เกี่ยวกับแนวคิดเรื่อง "status rei publicae" หรือ "เงื่อนไขสาธารณะ" ในเวลาต่อมาคำ ๆ นี้ก็ได้มีความหมายที่เปลี่ยนไปจากเดิม โดยมิได้มีบริบทที่หมายถึงสถานภาพของกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่งในสังคมอีกต่อไป และเริ่มมีความหมายที่เชื่อมโยงกับกฎระเบียบทางสังคมหรือเครื่องมือในการบังคับใช้กฎหมายของภาครัฐ[10]

ผลงานของมาเกียเวลลี (Machiavelli) ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 16 (ตัวอย่างเช่น เจ้าผู้ปกครอง) มีส่วนสำคัญในการนิยามความหมายของคำว่า "รัฐ" โดยคำนิยามที่ระบุไว้ในงานประพันธ์ของมาเกียเวลลี ก็มีความหมายที่ค่อนข้างใกล้เคียงกับนิยามความหมายในยุคสมัยใหม่พอสมควร[11] การแยกความต่างระหว่างศาสนจักรกับรัฐยังคงมีมาตลอดจนถึงศตวรรษที่ 16 เมื่อกลุ่มรัฐอาณานิคมในภูมิภาคอเมริกาเหนือได้ระบุชื่อของตัวเองว่า "state" และในช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 1630 เองก็มีวลีหนึ่งที่ถูกตรัสขึ้นว่า "ข้าคือรัฐ" (L'État, c'est moi) โดยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แม้จะไม่มีหลักฐานยืนยันก็ตาม แต่ก็ได้รับการจดบันทึกไว้ในภายหลัง ตั้งแต่ช่วงปลายศตวรรษที่ 18 เป็นต้นไป[12]

คำนิยาม[แก้]

ในปัจจุบันยังมิได้มีข้อเอกฉันท์ทางวิชาการอย่างชัดเจนต่อคำจำกัดความของคำว่ารัฐ[13] ความหมายคำว่า "รัฐ" นั้นมีชุดทฤษฎีที่แตกต่างกันไปผ่านการตีความของแต่ละบุคคล แต่ยังคงมีจุดเชื่อมโยงและมักจะมีความหมายที่ทับซ้อนกันอยู่เสมอตามแต่บริบทของปรากฏการณ์ทางการเมือง ณ ชั่วขณะหนึ่ง[14] หากอ้างอิงตามคำนิยามกระแสหลักของวอลเตอร์ ไชเดิล (Walter Scheidel) เจ้าตัวได้ระบุว่ารัฐมีลักษณะสำคัญดังต่อไปนี้: "รัฐเป็นสถาบันที่มีอำนาจรวมศูนย์ซึ่งคอยกำหนดกฎเกณฑ์ต่าง ๆ และใช้อำนาจเหนือประชากรที่อยู่ภายในดินแดนใต้การปกครองของตน การเปรียบเทียบความต่างระหว่างผู้ปกครองและผู้ถูกปกครอง รวมถึงความต่างระหว่างองค์ประกอบของเอกราชหรือความมั่นคง ข้อแตกต่างเหล่านี้ส่งผลให้รัฐเป็นหน่วยการเมืองที่มีความแตกต่างจากรูปแบบขององค์กรอื่น ๆ ที่มีความมั่นคงทางอำนาจน้อยกว่า เช่น การใช้อำนาจในการปกครอง"[15]

ข้อนิยามที่ถูกนำมาอ้างอิงมากที่สุดคือคำจำกัดความของมัคส์ เวเบอร์ (Max Weber)[16][17][18][19][20] ซึ่งเจ้าตัวได้อธิบายว่ารัฐเป็นองค์กรทางการเมืองภาคบังคับที่มีรัฐบาลซึ่งคอยทำหน้าที่รวมศูนย์อำนาจและผูกขาดการใช้ความรุนแรงอย่างถูกต้องตามกฎหมายภายในดินแดนใต้อาณัติของตน[2][3] กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ "รัฐเป็นชุมชนของมนุษย์ที่ (ประสบความสำเร็จ) อ้างสิทธิ์ผูกขาดในการใช้อำนาจทางกายภาพอย่างถูกต้องตามกฎหมายภายใต้ดินแดนของตน"[21]

สัญลักษณ์[แก้]

ความเป็นมา[แก้]

ทฤษฎีการเกิดขึ้นของรัฐ[แก้]

รัฐในช่วงแรก[แก้]

ทฤษฎีการเกิดขึ้นของรัฐในยุคแรก ๆ เน้นอ้างอิงถึงจุดเริ่มต้นของอารยธรรมการเพาะปลูกและการตั้งถิ่นฐานเป็นหลักเป็นแหล่งของมนุษย์ แต่นักวิชาการบางกลุ่มบ้างก็แย้งว่าทฤษฎีจุดเริ่มต้นของการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์อย่างเป็นหลักแหล่ง มาจากสภาพภูมิอากาศของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ซึ่งส่งผลให้พื้นที่บริเวณทางน้ำลดลงหลังจากยุคน้ำแข็ง (Ice Age)

รัฐสมัยใหม่[แก้]

นักวิชาการเฮนดริก สปรูอิต (Hendrik Spruyt) ได้จำแนกทฤษฎีการเกิดขึ้นของรัฐ ในฐานะที่เป็นหน่วยการเมืองที่มีอำนาจสูงสุด ไว้ทั้งหมด 3 ปัจจัยดังนี้:

  1. ทฤษฎีความมั่นคง (Security-based): ที่เน้นบทบาทของการทำสงคราม
  2. ทฤษฎีที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักเศรษฐศาสตร์ (Economy-based): เช่น การค้าขาย สิทธิในทรัพย์สินส่วนบุคคล และระบบทุนนิยม ที่ต่างก็มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนกระบวนการก่อเกิดขึ้นของรัฐ และท้ายที่สุด
  3. ทฤษฎีสถาบันนิยม (Institutionalist theories): ที่มองว่ารัฐเป็นรูปแบบขององค์กรหนึ่ง ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและความร่วมมือได้ดีกว่าองค์กรทางการเมืองอื่น ๆ ที่มีการแข่งขันกันเองอยู่ตลอดเวลา

หากอ้างอิงตามทฤษฎีของฟิลิป กอร์สกี้ (Philip Gorski) และวิเวก สวารูป ศรรมะ (Vivek Swaroop Sharma) สำหรับทฤษฎีการเกิดขึ้นของรัฐอธิปไตย ที่มองผ่านกรอบแนวคิด "นีโอ-ดาร์วิเนียน" (neo-Darwinian) อีกทอดหนึ่ง เป็นแนวคิดที่ได้รับการยอมรับในแวดวงวิชาการเป็นอย่างมาก แนวคิดแบบแบบ นีโอ-ดาร์วิเนียน เน้นย้ำว่ารัฐสมัยใหม่มีโครงสร้างทางองค์กรที่เข้มแข็งเป็นอย่างมาก และได้รับการคัดเลือกโดยธรรมชาติโดยปราศจากซึ่งการแข่งขันโดยสมบูรณ์

ทฤษฎีว่าด้วยจุดมุ่งหมายของรัฐ[แก้]

ทฤษฎีว่าด้วยความชอบธรรมของรัฐ[แก้]

โดยทั่วไปแล้วรัฐต่าง ๆ มักอ้างสิทธิ์ต่อความชอบธรรมทางการเมือง (political legitimacy) เพื่อรักษาสิทธิ์ในการใช้อำนาจเหนือพลเมืองที่อยู่ภายใต้การปกครองของตน[22][23][24]

ทฤษฎีสัญญาประชาคม[แก้]

หน้าปกแรกของหนังสือ 'เลอไวอะธัน' (Leviathan; ค.ศ. 1651) ที่เขียนขึ้นโดยโทมัส ฮอบส์ (Thomas Hobbes)

มีผู้ที่เสนอทฤษฎีสัญญาประชาคม (social contract theory) ไว้หลากหลายรูปแบบ เพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่รัฐและก็เพื่ออธิบายถึงกระบวนการก่อเกิดขึ้นของรัฐ ทัศนะหลักของทฤษฎีนี้คือสภาพธรรมชาติ (state of nature) ที่กระตุ้นให้ผู้คนแสวงหาถึงกระบวนการเกิดขึ้นของรัฐ นักปรัชญาชาวอังกฤษนามว่าโทมัส ฮอบส์ (Thomas Hobbes) ได้อธิบายถึงลักษณะโดยรวมของสภาพธรรมชาติว่ามีความ "โดดเดี่ยว, แร้นแค้น, โสโครก, ป่าเถื่อน และเห็นแก่ตัว" (เลอไวอะธัน บทที่ 13–14)[25] แต่กลับกันจอห์น ล็อก John Locke) มีมุมมองต่อสภาพธรรมชาติในเชิงบวกมากกว่า และไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งต่อแนวคิดการเสื่อมถอยของสภาพธรรมชาติ แม้จะยอมรับว่าโดยธรรมชาติแล้วมนุษย์นั้นมิอาจที่จะมีคุณภาพชีวิตที่เท่าเทียมกันได้ แต่ตัวล็อกเองก็ได้หยิบยกประเด็นในเรื่องของสิทธิมนุษยชน (human rights) ที่มิอาจแบ่งแยกออกจากสังคมมนุษย์มาโต้แย้งได้อีกเช่นกัน สิทธิที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งในมุมมองของล็อกคือสิทธิในทรัพย์สิน (the right to property) โดยล็อกได้ให้ให้เหตุผลว่าสิทธิในทรัพย์สินเป็นสิทธิหลักที่ยังมิได้รับการคุ้มครองอย่างเพียงพอในสภาพธรรมชาติ นักทฤษฎีสัญญาประชาคมมักอ้างถึงสิทธิธรรมชาติ (natural rights) อยู่เสมอ ก็เพื่อสนับสนุนและรักษาความชอบธรรมให้กับทฤษฎีเหล่านี้ กล่าวคือพลเมืองทุกคนจำต้องสละสิทธิบางอย่างเพื่อให้รัฐสามารถสถาปนาอำนาจในการปกครองได้[26][27] เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วทฤษฎีสัญญาประชาคมก็จะวางรากฐานทางความชอบธรรมให้แก่ตัวรัฐบาลเอง โดยที่ความชอบธรรมนั้นจะมั่นคงและสถาพรได้ก็ต้องขึ้นอยู่กับความยินยอมจากผู้ถูกปกครอง การให้เหตุผลในลักษณะนี้ถูกระบุไว้อย่างชัดเจนในคำประกาศอิสรภาพสหรัฐ (The United States Declaration of Independence)

ทฤษฎีเทวสิทธิราชย์[แก้]

การเกิดขึ้นของระบบรัฐชาติสมัยใหม่มีอิทธิพลสำคัญต่อกระบวนการเปลี่ยนแปลงความคิดทางการเมืองเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะความเข้าใจในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทางอำนาจและการปกครองโดยรัฐอันชอบด้วยกฎหมาย ผู้ที่สมาทานต่อระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Absolute monarchy) ในช่วงต้นยุคสมัยใหม่ ได้แก่ โทมัส ฮอบส์ (Thomas Hobbes) และฌอง โบแดง (Jean Bodin) ทั้งสองเป็นบุคคลสำคัญที่สนับสนุนทฤษฎีเทวสิทธิราชย์ (the divine right of kings) ด้วยการชี้ให้เห็นว่าการได้มาซึ่งอำนาจและความชอบธรรมของกษัตริย์ควรได้รับการพิสูจน์โดยประชาชน โดยเฉพาะฮอบส์ที่มีมุมมองต่ออำนาจและความชอบธรรมว่า มิใช่แค่อำนาจระหว่างประชาชนด้วยกันเองแต่เพียงเท่านั้น อำนาจทางการเมืองควรเป็นสิ่งที่มีความชอบธรรมในตัวเองอยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับอำนาจที่มาจากปัจเจกบุคคล (เจ้าตัวได้ระบุเอาไว้ในช่วงสงครามกลางเมืองอังกฤษ) ทั้งฮอบส์และโบแดงต่างก็คิดว่าตนกำลังปกป้องอำนาจของสถาบันกษัตริย์หาใช่การสนับสนุนระบอบประชาธิปไตยแต่อย่างใด แต่ทว่าแนวคิดเรื่องธรรมชาติของอำนาจอธิปไตยที่พวกเขาได้เสนอมานั้น กลับกลายเป็นสิ่งที่ถูกปฏิเสธอย่างหนักจากสายตาของผู้ที่เชื่อว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้มีพระราชอำนาจสูงสุดโดยสมบูรณ์อยู่แล้ว เช่น เซอร์ รอเบิร์ต ฟิล์มเมอร์ (Sir Robert Filmer) ที่มีมุมมองต่อหลักเทวสิทธิราชย์ว่าเป็นภัยต่ออำนาจของกษัตริย์ เนื่องด้วยเป็นแนวคิดที่มีสิทธิ์เปิดทางให้นำไปสู่การเรียกร้องประชาธิปไตยได้ในเวลาต่อมา

สิทธิอำนาจนิติธรรม[แก้]

ในงานเขียนของมัคส์ เวเบอร์ (Max Weber) เจ้าตัวได้ระบุถึงที่มาของสิทธิทางอำนาจอันนำไปสู่ความชอบธรรมทางการเมืองไว้ทั้งหมด 3 ประการดังนี้

  • ประการแรก: ความชอบธรรมที่เกิดจาก "สิทธิอำนาจตามประเพณี" (legitimacy based on traditional grounds) โดยที่มาของอำนาจดังกล่าวมาจากชุดความคิดที่ว่าสิ่งต่าง ๆ ควรเป็นไปตามกฎหรือธรรมเนียมปฏิบัติอย่างที่เคยเป็นมาตั้งแต่อดีต อีกทั้งผู้ที่ใช้อำนาจปกครองภายใต้อำนาจเหล่านี้เองก็มีสิทธิในการเรียกร้องอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมายอีกเช่นกัน
  • ประการที่สอง: ความชอบธรรมที่เกิดจาก "สิทธิอำนาจบารมี" (legitimacy based on charismatic) อันหมายถึงการอุทิศตนให้กับผู้นำหรือกลุ่มบุคคลที่มีภาพลักษณ์ว่าเป็นบุคคลสำคัญหรือมีคุณธรรมอย่างยิ่ง โดยอำนาจรูปแบบดังกล่าวจะเกิดขึ้นผ่านความเชื่อหรือความศรัทธาหลังจากที่อำนาจตามประเพณีหรืออำนาจนิติธรรมเสื่อมความนิยมลงแต่เพียงเท่านั้น
  • ประการที่สาม: "สิทธิอำนาจนิติธรรม" (rational-legal authority) อันมีที่มาจากความเชื่อที่ว่ากลุ่มผลประโยชน์บางกลุ่มได้รับอำนาจในลักษณะที่ถูกต้องตามกฎหมายและสมเหตุสมผลตามประมวลกฎหมายลายลักษณ์อักษรเฉพาะ โดยเวเบอร์เชื่อว่ารัฐสมัยใหม่มีลักษณะเฉพาะคือสิทธิ์ในการยื่นอุทธรณ์ต่อผู้มีอำนาจทางกฎหมายที่มีเหตุและผลในการปกครอง[28][29][30]

ความล้มเหลวของรัฐ[แก้]

รัฐบางรัฐถูกระบุว่าเป็น "รัฐบอบบาง" หรือ "รัฐล้มเหลว" นักรัฐศาสตร์ นามว่า เดวิด ซามูเอลส์ (David Samuels) ได้ระบุไว้ว่า "...ความล้มเหลวของรัฐจะเกิดขึ้น ก็ต่อเมื่ออำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนที่อ้างสิทธิ์ทั้งหลายได้พังทลายลง หรือมิสามารถบริหารการปกครองได้อย่างมีประสิทธิภาพ"[31] นักรัฐศาสตร์หลาย ๆ คน อย่างเช่น ซามูเอลส์ และ โจ เอส. มิกแดล (Joel S. Migdal) ได้สำรวจถึงเงื่อนไขในการเกิดขึ้นของรัฐล้มเหลวเหล่านี้ว่า มีความแตกต่างจากรัฐในโลกตะวันตก ที่มี "เสถียรภาพ" มากกว่าอย่างไร และสถานภาพของความเป็นประเทศกำลังพัฒนา มีผลอย่างไรต่อพัฒนาการทางเศรษฐกิจของประเทศดังกล่าว

ซามูเอลส์ ได้แนะนำแนวคิดเกี่ยวกับความสามารถของรัฐ เพื่อใช้อ้างอิงถึงขอบเขตความสามารถในการบรรลุบทบาทขั้นพื้นฐานของรัฐ เช่น การรักษาความปลอดภัย การบังคับใช้กฎหมาย การรักษาความสงบเรียบร้อย และการให้บริการสาธารณะ หากไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว รัฐเหล่านั้นก็จะถือว่าเป็นรัฐล้มเหลว นักวิชาการท่านอื่น ๆ เช่น เจฟฟรีย์ เฮิปสต์ (Jeffrey Herbst) ได้เสริมแนวคิดนี้โดยระบุไว้ว่า ความล้มเหลวของรัฐเป็นผลมาจากความที่สถาบันเหล่านั้นมีความอ่อนแอหรือไม่มีอำนาจโดยแท้จริง ซึ่งหมายถึงรัฐเหล่านั้นปราศจากความชอบธรรมในการปกครอง เนื่องด้วยรัฐเหล่านั้นมิสามารถบริหาร ปกครอง หรือรักษาความปลอดภัย และความสงบเรียบร้อยภายในสังคมได้ อย่างไรก็ดี ก็ยังมีผู้ที่ท้าทายทฤษฎีการเกิดขึ้นของรัฐล้มเหลวอีกท่านอย่าง สตีเฟน ดี. แครสเนอร์ (Stephen D. Krasner) โดยเจ้าตัวได้ให้เหตุผลว่า ความล้มเหลวของรัฐหาใช่ผลลัพธ์ของสถาบันที่อ่อนแอเพียงอย่างเดียว แต่การเกิดขึ้นของรัฐล้มเหลวนั้นเป็นปรากฏการณ์ที่มีความซับซ้อนแตกต่างกันไป ตามแต่ละบริบทและสภาวการณ์ของแต่ละพื้นที่ ด้วยเหตุนี้เราจึงไม่ควรวิเคราะห์ถึงการเกิดขึ้นของรัฐล้มเหลว ผ่านความเข้าใจที่เรียบง่ายหรือตื้นเขินเกินไป

ปัญหาของรัฐล้มเหลว[แก้]

นักวิชาการอย่างซูซาน ไรซ์ (Susan Rice) ได้ให้เหตุผลว่าความล้มเหลวของรัฐเป็นภัยคุกคามที่สำคัญต่อเสถียรภาพและความมั่นคงของการเมืองโลก เนื่องจากรัฐที่ล้มเหลวมีความเสี่ยงที่จะนำไปสู่การก่อการร้ายและความขัดแย้งภายในสังคม นอกจากนี้ไรซ์ยังเชื่อว่าความล้มเหลวของรัฐเป็นอุปสรรคต่อวิถีของประชาธิปไตย เนื่องจากรัฐเหล่านี้มักประสบกับความรุนแรงทางการเมือง การปกครองแบบเผด็จการ และการละเมิดสิทธิมนุษยชนในหลาย ๆ ครั้ง แม้ว่าจะมีการถกเถียงกันอย่างมากเกี่ยวกับผลกระทบโดยตรงของความล้มเหลวของรัฐ แต่ผลกระทบทางอ้อมก็ควรได้รับการเน้นย้ำอีกเช่นกัน ความล้มเหลวของรัฐอาจนำไปสู่การหลั่งไหลของผู้ลี้ภัยและความขัดแย้งข้ามพรมแดน ขณะเดียวกันก็กลายเป็นแหล่งหลบภัยสำหรับกลุ่มอาชญากรหรือกลุ่มหัวรุนแรงอีกด้วย เพื่อที่จะแก้ไขและป้องกันปัญหาเหล่านี้ในอนาคต รัฐจำเป็นที่จะต้องมุ่งเน้นไปที่การสร้างสถาบันที่มีความเข้มแข็ง เช่นการส่งเสริมความหลากหลายและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และการแก้ไขปัญหาการใช้ความรุนแรงในแต่ละรัฐ

การเกิดขึ้นของรัฐในยุคแรก[แก้]

เพื่อให้เข้าใจถึงการเกิดขึ้นของรัฐที่ล้มเหลว ซามูเอลส์ได้เปรียบเทียบปัจจัยในการเกิดขึ้นของรัฐชาติที่ตั้งอยู่ในยุโรปช่วงคริสตทศวรรษที่ 1600 กับรัฐในศตวรรษที่ 20 โดยซามูเอลส์ได้ระบุว่า รัฐบาลจะต้องอนุญาตให้พลเมืองมีสิทธิ์หรือส่วนร่วมในการดำเนินการแก้ไขปัญหาของชาติ ขณะที่ประชาชนเองก็ยินยอมต่อการใช้อำนาจที่มีสิทธิ์ในการบังคับใช้เหนือต่อพลเมืองเอง การจัดระเบียบทางสังคมประเภทนี้จำเป็นต้องลดความชอบธรรมของการปกครองรูปแบบดั้งเดิมลง (เช่น หน่วยงานทางศาสนา) และแทนที่ด้วยการสร้างความชอบธรรมผ่านการปกครองโดยปราศจากการยึดโยงต่อตัวบุคคลใดบุคคลหนึ่ง การที่รัฐบาลกลางมีอำนาจอธิปไตยที่เพิ่มมากขึ้นนี้เอง ส่งผลให้ภาครัฐมีความซับซ้อนทางองค์กร (ระบบราชการ) นั้นมีเพิ่มมากขึ้นตาม ๆ กัน

การเปลี่ยนผ่านไปสู่ความเป็นรัฐสมัยใหม่ในภูมิภาคยุโรปเกิดขึ้นเมื่อราว ๆ ปี ค.ศ. 1600 ประจวบพร้อมกับปัจจัยต่างๆ เช่น พัฒนาการของเทคโนโลยีอาวุธสงคราม ที่เป็นส่วนสำคัญในการเร่งปฏิกิริยาให้มีการก่อเกิดขึ้นของรัฐสมัยใหม่ อย่างการเก็บภาษีและการควบอำนาจรัฐเข้าสู่ศูนย์กลาง เพื่อให้รัฐมีประสิทธิภาพในการปกป้องตนเองจากภัยคุกคามจากรัฐอื่น ๆ นอกจากนี้พัฒนาการต่อผลผลิตทางการเกษตร (อันเป็นผลมาจากการปรับปรุงคุณภาพในการผลิต) ทำให้ระบบสาธารณสุขมีประสิทธิภาพที่มากขึ้นส่งผลให้สามารถรักษาคุณภาพชีวิตของพลเมืองได้มากขึ้นตามมา การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมดังกล่าว ส่งผลให้อำนาจรัฐมิได้ยึดโยงกับระบอบเก่า เช่น สถาบันกษัตริย์ (monarchies) อีกต่อไป และได้ปูทางไปสู่การเกิดขึ้นของรัฐชาติสมัยใหม่ได้ในท้ายที่สุด[32]

การเกิดขึ้นของรัฐในยุคร่วมสมัย[แก้]

ปัจจัยในการเกิดขึ้นของรัฐชาติสมัยใหม่ในยุคปัจจุบันนั้นมีความต่างไปจากปัจจัยในการเกิดขึ้นของรัฐชาติที่ตั้งอยู่ในยุโรป โดยหลาย ๆ ประเทศในยุคปัจจุบันนั้นขาดประสิทธิภาพในการจัดเก็บและใช้ประโยชน์จากภาษีจากของประชาชน ปัญหาที่เกิดขึ้นก็เช่น การทุจริต การหลีกเลี่ยงภาษี และการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เชื่องช้า เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้ต่างไปจากสถานภาพของรัฐในภูมิภาคยุโรป การเกิดขึ้นของรัฐสมัยใหม่ในยุคปัจจุบันโดยมากล้วนแต่เกิดขึ้นผ่านบริบทของความขัดแย้งระหว่างประเทศที่มีขอบเขตชัดเจน จึงทำให้รัฐเหล่านี้มีแรงจูงใจในการจัดเก็บภาษีที่ต่ำและหันไปนิยมใช้จ่ายทางการทหารเสียมากกว่า อีกปัจจัยหนึ่งคือรัฐเหล่านี้ล้วนเกิดขึ้นจากผลพวงของลัทธิอาณานิคม (colonialism) จึงทำให้รัฐเหล่านี้กลายเป็นสถาบันที่ถูกออกแบบมาเพื่อให้เจ้าอาณานิคมแสวงหาผลประโยชน์จนนำไปสู่สถานภาพของประเทศที่ยากจน ซึ่งก็ส่งผลให้เกิดความยุ่งยากในการสร้างชาติตามมา นอกจากนี้การล่าอาณานิคมของมหาอำนาจในยุโรปยังเป็นกำหนดเส้นเขตแดนระหว่างประเทศตามอำเภอใจ ซึ่งในแต่ละพื้นที่หรือแต่ละเขตแดนต่างก็มีกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีอัตลักษณ์ วัฒนธรรม หรือความเชื่อที่แตกต่างกันออกไปแต่กลับต้องอยู่ภายใต้ชายคาเดียวกัน เมื่อมีกรณีแบบนี้เกิดขึ้นจึงส่งผลให้ยากต่อการสร้างเอกภาพและความพึงพอใจให้กับทุกภาคส่วนในสังคม เนื่องจากรัฐบางรัฐเองก็มีความต้องการที่จะช่วงชิงและกำหนดอัตลักษณ์ทางการเมืองให้เป็นไปในแนวทางที่ตนต้องการเช่นกัน[32]

มิกแดลได้นำเสนอประเด็นนี้ผ่านกรอบของเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ว่าการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมอย่างเฉียบพลันในประเทศโลกที่สามระหว่างยุคของการปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution) เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญอย่างมากต่อการเกิดขึ้นของรัฐล้มเหลว การขยายตัวของระบบการค้าระหว่างประเทศ (international trade) ที่เริ่มต้นขึ้นราว ๆ ค.ศ. 1850 นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในภูมิภาคแอฟริกา เอเชีย และละตินอเมริกา

การขยายตัวตัวของระบบการค้าระหว่างประเทศ มีวัตถุประสงค์ก็เพื่อเป็นฐานไว้สำหรับผลิตสินค้าเพื่อรองรับกับความต้องการของตลาดในภูมิภาคยุโรป การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ประกอบไปด้วย:

  • การปฏิรูปกฎหมายกรรมสิทธิ์ที่ดิน: มีวัตถุประสงค์ก็เพื่อบูรณาการที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ให้สัมพันธ์กับตลาดเศรษฐกิจระหว่างประเทศมากขึ้น
  • การเพิ่มการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง: ทั้งของเกษตรกรและเจ้าของที่ดินรายย่อย โดยเก็บภาษีเหล่านี้ในรูปแบบเงินสดแทนที่จะเป็นในรูปแบบเดิม รวมถึง
  • การพัฒนาระบบคมนาคมสมัยใหม่: เช่น การคมนาคมทางรถไฟ ที่ทำให้ใช้เวลาและต้นทุนในการผลิตและขนส่งสินค้าลดลง

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนอกจากจะมีผลต่อโครงสร้างทางสังคมรูปแบบเดิมแล้ว ก็ยังส่งผลให้สถาบันทางสังคมที่มีอยู่แต่เดิมเสื่อมโทรมลง และกลายเป็นการเปิดทางไปสู่การสร้างสถาบันทางสังคมรูปแบบใหม่ ๆ ที่ไม่มีเหตุอันใดจะต้องทำให้กลุ่มประเทศเหล่านี้ต้องเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชาติ[33] นอกจากนี้การขยายตัวของรูปแบบทางสังคมดังกล่าวทำให้เกิดตรรกะทางการเมืองที่ว่า รัฐจะต้องมี "ผู้นำที่เข้มแข็ง" ในระดับหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้ที่มีศักยภาพและความสามารถมากพอที่จะท้าทายอำนาจอธิปไตยของรัฐ และสร้างผลประโยชน์ให้กับชาติผ่านการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างและสถาบันดังที่กล่าวมาข้างต้น ความเห็นทั้งหมดที่มิกแดลได้นำเสนอมานี้ จึงเป็นการชี้ให้เห็นว่าการกระจายอำนาจผ่านการควบคุมทางโครงสร้างและสถาบันทางสังคมเป็นอุปสรรคสำคัญต่อพัฒนาการที่เข้มแข็งของรัฐ[34]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

เชิงอรรถ[แก้]

  1. Definition 7 (noun) : "a politically unified people occupying a definite territory; nation."; Definition 10 (noun) : "the body politic as organized for civil rule and government (distinguished from church)."; Definition 16 (noun) : "of or pertaining to the central civil government or authority.". -Webster's New Universal Unabridged Dictionary, Random House/Barnes and Noble, ISBN 9780760702888, pp. 1860-1861.
  2. 2.0 2.1 Cudworth et al., 2007: p. 95
  3. 3.0 3.1 Salmon, 2008: p. 54 เก็บถาวร 15 พฤษภาคม 2016 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  4. "Stateless Society | Encyclopedia.com". www.encyclopedia.com.
  5. Black's Law Dictionary, 4th ed. (1968). West Publishing Co.
  6. Uricich v. Kolesar, 54 Ohio App. 309, 7 N.E. 2d 413.
  7. Patrick, Stewart (10 December 2007). "'Failed' States and Global Security: Empirical Questions and Policy Dilemmas". International Studies Review. 9 (4): 644–662. doi:10.1111/j.1468-2486.2007.00728.x.
  8. Sandeford, David S. (May 2018). "Organizational complexity and demographic scale in primary states". Royal Society Open Science. 5 (5): 171137. Bibcode:2018RSOS....571137S. doi:10.1098/rsos.171137. PMC 5990841. PMID 29892345.
  9. Wimmer, Andreas; Feinstein, Yuval (October 2010). "The Rise of the Nation-State across the World, 1816 to 2001". American Sociological Review. 75 (5): 764–790. doi:10.1177/0003122410382639. S2CID 10075481. This global outcome—the almost universal adoption of the nation-state form
  10. Skinner, 1989: p.134
  11. Bobbio, 1989: pp.57–58 เก็บถาวร 30 เมษายน 2016 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  12. C. D. Erhard, Betrachtungen über Leopolds des Weisen Gesetzgebung in Toscana, Richter, 1791, p. 30 เก็บถาวร 19 มกราคม 2018 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Recognized as apocryphal in the early 19th century. Jean Etienne François Marignié, The king can do no wrong: Le roi ne peut jamais avoit tort, le roi ne peut mal faire, Le Normant, 1818 p. 12 เก็บถาวร 19 มกราคม 2018 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน.
  13. Cudworth et al., 2007: p. 1
  14. Barrow, 1993: pp. 9–10
  15. Scheidel, Walter (2013). "Studying the State". The Oxford Handbook of the State in the Ancient Near East and Mediterranean. Oxford University Press. pp. 5–58. doi:10.1093/oxfordhb/9780195188318.013.0002. ISBN 978-0195188318.
  16. Dubreuil, Benoít (2010). Human Evolution and the Origins of Hierarchies: The State of Nature. Cambridge University Press. p. 189. ISBN 978-0-521-76948-8. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 May 2016.
  17. Gordon, Scott (2002). Controlling the State: Constitutionalism from Ancient Athens to Today. Harvard University Press. p. 4. ISBN 978-0-674-00977-6. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 May 2016.
  18. Hay, Colin (2001). Routledge Encyclopedia of International Political Economy. New York: Routledge. pp. 1469–1474. ISBN 0-415-14532-5. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 May 2016.
  19. Donovan, John C. (1993). People, power, and politics: an introduction to political science. Rowman & Littlefield. p. 20. ISBN 978-0-8226-3025-8. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 May 2016.
  20. Shaw, Martin (2003). War and genocide: organized killing in modern society. Wiley-Blackwell. p. 59. ISBN 978-0-7456-1907-1. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 June 2016.
  21. Weber, Max (1991). From Max Weber: Essays in Sociology (ภาษาอังกฤษ). Psychology Press. p. 78. ISBN 978-0-415-06056-1.
  22. Vincent, 1992: p. 43 เก็บถาวร 24 มิถุนายน 2016 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  23. Malešević, 2002: p. 85 เก็บถาวร 20 พฤษภาคม 2016 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  24. Dogan, 1992: pp. 119–120 เก็บถาวร 17 มิถุนายน 2016 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  25. "Leviathan, by Thomas Hobbes". www.gutenberg.org. สืบค้นเมื่อ 2020-11-19.
  26. Locke, John (1690). Second Treatise of Government.แม่แบบ:Pn
  27. Stephen Cox (2013). "Rand, Paterson, and the Problem of Anarchism". The Journal of Ayn Rand Studies. 13 (1): 3. doi:10.5325/jaynrandstud.13.1.0003. S2CID 169439235.
  28. Wallerstein, Immanuel (1999). The end of the world as we know it: social science for the twenty-first century. University of Minnesota Press. p. 228. ISBN 978-0-8166-3398-2. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 28 May 2016.
  29. Collins, Randall (1986). Weberian Sociological Theory. Cambridge University Press. p. 158. ISBN 978-0-521-31426-8. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 June 2016.
  30. Swedberg, Richard & Agevall, Ola (2005). The Max Weber dictionary: key words and central concepts. Stanford University Press. p. 148. ISBN 978-0-8047-5095-0. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 28 April 2016.
  31. Samuels, David (2012). Comparative Politics. Pearson Higher Education. p. 29.
  32. 32.0 32.1 Samuels, David. Comparative Politics. Pearson Higher Education.
  33. Migdal, Joel (1988). Strong societies and weak states: state-society relations and state capabilities in the Third World. pp. Chapter 2.
  34. Migdal, Joel (1988). Strong societies and weak states: state-society relations and state capabilities in the Third World. Princeton University Press. pp. Chapter 8.

บรรณานุกรม[แก้]

อ่านเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

วิกิคำคม มีคำคมที่กล่าวโดย หรือเกี่ยวกับ State