ปริมณฑลสาธารณะ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ปริมณฑลสาธารณะ (Public Sphere) หมายถึง พื้นที่ที่บุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปพบปะพูดคุยกันในประเด็นเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับสาธารณะ หรือ ประเด็นสาธารณะ (Habermas, 1989)[1][2]

อรรถาธิบาย[แก้]

แนวคิดเรื่องปริมณฑลสาธารณะนี้เริ่มต้นจากงานเขียนของเจอเกน ฮาเบอร์มาส (Jürgen Habermas) ในหนังสือเรื่อง การเปลี่ยนแปลงของพื้นที่สาธารณะ (the transformation of public sphere) โดยฮาเบอร์มาสได้อธิบายปริมณฑลสาธารณะว่า

“อาณาเขตของชีวิตทางสังคมของเราที่สิ่งซึ่งเรียกว่า “ความคิดเห็นสาธารณะ” สามารถสร้างขึ้นได้ และการเข้าถึงปริมณฑลสาธารณะนั้นจะต้องเป็นระบบ และหลักการที่เปิดกว้างให้แก่พลเมืองทุก ๆ คนได้มีส่วนร่วม” (วราภรณ์ วนาพิทักษ์, 2554)[3]

กล่าวคือปริมณฑลสาธารณะเป็นสถานที่ซึ่งปัจเจกบุคคล (private person) มารวมตัวกัน เพื่อสนทนาแลกเปลี่ยนกันอย่างเสรีในประเด็นที่มีความสนใจใคร่รู้ร่วมกัน หรือ อีกนัยหนึ่งก็คือ ประเด็นสาธารณะ เพื่อที่จะนำไปสู่สิ่งที่เรียกว่า "ความคิดเห็นสาธารณะ" (public opinion) โดยฮาเบอร์มาสได้ตั้งต้นจากภาพของสังคมในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 18 ที่เริ่มมีการก่อตัวของชนชั้นกลางที่สถาปนาอำนาจนำขึ้นมาในสังคม แทนที่ชนชั้นในระบอบการปกครองเดิม (the rising of middle class) และสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาหลังจากที่พวกเขาเข้ามามีบทบาท และอิทธิพลทางการเมืองก็คือ การเริ่มสนทนาในประเด็นเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขา ไปจนกระทั่งถึงเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับการปกครอง และนโยบายสาธารณะของรัฐ โดยสถานที่ที่พวกเขาจับกลุ่มพูดคุยกันก็คือ สโมสร สมาคม หรือ ซาลอง (salon) ในฝรั่งเศส หรือ พับลิคเฮาส์ (public-house) ในอังกฤษ (ที่รู้จักกันในปัจจุบันภายใต้ชื่อ "ผับ") เป็นต้น โดยปริมณฑลเหล่านี้สามารถปรากฏขึ้นให้เห็นได้ในทุก ๆ ที่ของสังคมซึ่งทำให้ปริมณฑลสาธารณะนี้มีความแตกต่างจากตลาดกลางเมือง (agora) ในสมัยกรีกโบราณที่ถูกจำกัด และทำให้แคบอยู่เพียงแค่บริเวณของตลาดที่ผู้คนสามารถมาพบปะเพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนได้เท่านั้น

แนวคิดเกี่ยวกับเรื่องปริมณฑลสาธารณะนั้นได้รับการใช้ให้เกิดประโยชน์ในทางการเมืองในเวลาต่อมา เพราะปริมณฑลสาธารณะนั้นได้เปิดโอกาสให้พลเมืองภายในรัฐนั้นได้มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมในการอภิปรายนโยบายสาธารณะ และการจัดการปกครองของรัฐบาลมากกว่าเดิมจากการขยายขอบเขตของพื้นที่ ๆ กลายเป็นสาธารณะจากเดิมที่กระจุกตัวอยู่เพียงแค่ภายในสถาบันทางการเมืองที่เป็นทางการของกลไกอำนาจรัฐ มาเป็นพื้นที่นอกสถาบันทางการเมืองที่เป็นทางการซึ่งมีความหลากหลาย และกระจายไปตามส่วนต่าง ๆ ของสังคมอย่างที่ไม่เคยปรากฏขึ้นมาก่อน ซึ่งท้ายที่สุดได้นำไปสู่จุดกำเนิดของสิ่งที่เรารู้จักกันในนามของภาคประชาสังคม

ปริมณฑลสาธารณะจึงได้กลายเป็นพื้นที่ที่เปิดกว้างให้แก่สมาชิกทุก ๆ คนในสังคมได้มีส่วนร่วม เพื่อเข้ามาร่วมกันสร้าง “ความคิดเห็นสาธารณะ” ทางการเมืองซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตของพวกเขานั่นเอง

การเปิดพื้นที่ทางการเมืองด้วยปริมณฑลสาธารณะที่ขยายตัวออกไปอยู่นอกสถาบันทางการเมืองที่เป็นทางการนั้นได้ส่งผลสำคัญอีกประการหนึ่งต่อความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ และสังคม โดยจากเดิมเมื่อครั้งที่รัฐสมัยใหม่ได้รับการสถาปนาขึ้นในสังคมนั้น รัฐได้ลอยตัวขึ้นอยู่เหนือสังคมเพื่อควบคุม และธำรงไว้ซึ่งความสงบร่มเย็นของภาคส่วนสังคมจนเมื่อผ่านไปนานเข้ารัฐจึงได้สถาปนาอำนาจนำ (hegemony) ขึ้นอยู่เหนือสังคมตามความเข้าใจของผู้คนไปโดยปริยาย ดังนั้น ปริมณฑลสาธารณะจึงเข้ามามีบทบาทในการสร้างบทบาทให้แก่ภาคส่วนสังคมให้สามารถถ่วงดุลกับภาครัฐได้จากการทำหน้าที่ควบคุมตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐด้วยการวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชนโดยทั่วไปภายในปริมณฑลสาธารณะ แต่ทว่าการพูดคุยแลกเปลี่ยนพื้นที่สาธารณะนั้นจะต้องเป็นการสนทนาพูดคุยที่เกิดขึ้นโดยปราศจากการบังคับ หรือ การใช้กำลังเข้าข่มขู่ชักจูง ดังที่ฮาเบอร์มาสได้กล่าวว่า

"คำว่า “ความคิดเห็นสาธารณะ” นั้นมีนัยหมายถึงการวิพากษ์วิจารณ์ และการควบคุมตรวจสอบอำนาจรัฐ... (และ) ส่วนปริมณฑลสาธารณะก็คือการสนทนาพูดคุยในทุก ๆ เรื่องที่พลเมืองกระทำในพื้นที่สาธารณะ โดยที่เมื่อพวกเขาพูดถึงประเด็นที่เป็นผลประโยชน์ส่วนรวมโดยปราศจากซึ่งการควบคุม หรือ บังคับขู่เข็ญ” (วราภรณ์, 2554)

จากลักษณะของปริมณฑลสาธารณะในข้างต้นจะทำให้เราเห็นได้ว่า พลังของปริมณฑลสาธารณะ (ตามความคิดของฮาเบอร์มาส) นั้นจะมีความสำคัญ และสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพก็ต่อเมื่อเกิดขึ้นภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีการสมาทานกระบวนการประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือมาใช้ร่วมกันกับระบบตัวแทน ดังที่ฮาเบอร์มาสได้ตั้งข้อสังเกตไว้อย่างแหลมคมว่า

“เมื่อเรากล่าวถึงปริมณฑลสาธารณะในทางการเมืองนั้นเมื่อการสนทนาในที่สาธารณะนั้นสนใจในเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับการกระทำของรัฐ การใช้อำนาจบังคับขู่เข็ญจากรัฐแม้จะเป็นของที่อยู่คู่กันเสมอ แต่กลับไม่เคยเป็นส่วนหนึ่งของปริมณฑลสาธารณะ” (วราภรณ์, 2554)

จากข้อสังเกตข้างต้นของฮาเบอร์มาส อำนาจรัฐนั้นจะสามารถกลายมาเป็นพื้นที่สาธารณะได้ก็ต่อเมื่อนโยบายสาธารณะที่ดำเนินโดยรัฐนั้นเกิดขึ้นโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อประโยชน์สุขของส่วนรวม และอยู่ภายใต้กระบวนการควบคุมตรวจสอบของประชาชนในปริมณฑลสาธารณะผ่านกระบวนการประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือนั่นเอง[4][5]

ปริมณฑลสาธารณะในงานของฮาเบอร์มาสนั้นได้รับการสร้างขึ้นในช่วงทศวรรษ 1990 ซึ่งเป็นช่วงที่เครือข่ายการสื่อสารไร้สาย หรือ อินเทอร์เน็ตนั้นเพิ่งนำมาใช้ประโยชน์ในทางสาธารณะเป็นช่วงแรก ๆ เพราะการเปลี่ยนแปลงในทางเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารนี้จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อพื้นที่สาธารณะให้กลายเป็นพื้นที่ ๆ ไร้พรมแดน และไม่จำกัดขนาดภายใต้สังคมในยุคโลกาภิวัตน์ (globalization) โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระแสของเครือข่ายสังคม (social network) ที่เกิดขึ้นในช่วงปลายทศวรรษ 2000 ซึ่งเป็นพื้นที่ชนิดใหม่ที่สามารถก้าวข้ามกาลเวลา และสถานที่ ยังผลให้การปฏิสัมพันธ์ของผู้คนนั้นสามารถเกิดขึ้นได้แม้กระทั่งในระดับโลก (global) ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และเป็นจำนวนมากได้อย่างที่มิเคยปรากฏขึ้นมาก่อน สิ่งเหล่านี้นี่เองที่นำไปสู่ปรากฏการณ์ที่ปัจเจกบุคคลสามารถติดต่อสื่อสารในระดับ “มวลชน” กับพลเมืองคนอื่น ๆ ในโลกได้ในคราวเดียว

โดยผลกระทบจากปริมณฑลสาธารณะในโลกไซเบอร์ได้แสดงให้เห็นถึงอิทธิพล และพลังของความเห็นสาธารณะที่เกิดขึ้นภายในปริมณฑลดังกล่าวที่มีต่อการออกนโยบายสาธารณะของรัฐบาล หรือ การดำเนินการของส่วนราชการ และภาครัฐอย่างชัดเจน ดังจะเห็นตัวอย่างได้จากกรณีที่มีการบุกรุก และเผาทำลายสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาในหลายประเทศในโลกมุสลิม เช่น อียิปต์ ลิเบีย เป็นต้น ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากที่ชาวมุสลิมเกิดความไม่พอใจต่อคลิปวิดีโอภาพยนตร์เรื่อง "the innocence of Muslims" ที่มีการอัปโหลดกันอย่างแพร่หลายภายในเว็บไซต์ยูทูบ (youtube) โดยที่ภาพยนตร์ดังกล่าวนั้นมีการสอดแทรกเนื้อหาที่เป็นการลบหลู่ดูหมิ่นศาสดามูฮะหมัดของชาวมุสลิม อันนำไปสู่ความไม่พอใจและปรากฏการณ์ความรุนแรงทางการเมืองที่เกิดขึ้นดังกล่าว หรืออิทธิพลของการใช้ทวิตเตอร์ (Twitter) ที่มีต่อปรากฏการณ์อาหรับสปริง (Arab Spring)

ตัวอย่างการนำไปใช้ในประเทศไทย[แก้]

สำหรับในประเทศไทย ผลกระทบจากความคิดเห็นสาธารณะที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในระยะหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากการเติบโตของสื่อในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นรายการจำนวนมากในฟรีทีวี เคเบิลทีวี วิทยุชุมชน สื่อสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ และโดยเฉพาะในเครือข่ายสังคมภายในโลกไซเบอร์ เช่น เว็บไซต์พันทิป และอื่น ๆ ได้ส่งผลต่อการใช้พื้นที่สาธารณะและการแสดงความคิดเห็นในแง่มุมต่าง ๆ ต่อปัจเจกและกลุ่มคนที่ถูกมองว่าเป็นบุคคลสาธารณะ เช่น นักแสดง นักการเมือง หรือแม้แต่นักวิชาการ ทั้งในด้านบวกและลบ รวมตลอดถึงการที่บุคคลเหล่านี้ใช้พื้นที่สาธารณะรูปแบบใหม่เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ชื่อเสียง ผลงาน และความนิยมของตนเอง

การใช้พื้นที่สาธารณะแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวางรวดเร็วในสังคมไทยส่งผลกระทบต่อการออกนโยบายสาธารณะที่สำคัญ ๆ ในหลาย ๆ ครั้ง ยกตัวอย่างเช่น กรณีที่ผู้นำทางการเมืองทั้งจากฝ่ายค้าน และฝ่ายรัฐบาลนั้นมาแสดงความคิดเห็นทั้งในเรื่องส่วนบุคคล และเรื่องที่เป็นประเด็นสาธารณะในปริมณฑลสาธารณะภายในโลกไซเบอร์นั้นได้ส่งผลผูกมัดให้บุคคลเหล่านี้ต้องมีความรับผิดชอบ และรอบคอบในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองมากยิ่งขึ้น เพราะความคิดเห็นของพวกเขาสามารถแพร่กระจาย และส่งต่อไปยังบุคคลต่าง ๆ ภายใต้เครือข่ายสังคมอย่างไร้ขอบเขต โดยปราศจากข้อจำกัดของทั้งมิติด้านพื้นที่ และกาลเวลา เป็นต้น[6]

อ้างอิง[แก้]

  1. Habermas, Jürgen (1989). In Thomas Burger (Trans). The Structural Transformation of the Public Sphere: An Inquiry into a Category of Bourgeois Society. Cambridge: MIT Press.
  2. จุฬาวิทยานุกรม. “สาธารณะ”. เข้าถึงวันที่ 30 กันยายน 2555 ใน http://www.chulapedia.chula.ac.th/index.php/%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%98%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B8%B0.
  3. วราภรณ์ วนาพิทักษ์ (2554). “ทฤษฎีวิพากษ์ของเจอร์เกน ฮาเบอร์มาส : พื้นที่สาธารณะทางการเมือง และเสรีภาพในการแสดงออกบนอินเทอร์เน็ต”. เข้าถึงวันที่ 30 กันยายน 2555ใน http://www.oknation.net/blog/print.php?id=728311[ลิงก์เสีย].
  4. Castell, Manuel (2009). Communication Power. Oxford: Oxford University Press.
  5. สมเกียรติ ตั้งนโม (2549). “ฮาเบอร์มาส: พื้นที่สาธารณะที่ถูกรัฐและทุนนิยมปล้นเอาไป”. เข้าถึงวันที่ 30 กันยายน 2555 ใน http://61.47.2.69/~midnight/midnight2544/0009999927.html เก็บถาวร 2012-03-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน.
  6. ฉันทัส เพียรธรรม (2542). สถาปนาสถาบันเมือง : เมือง การเมือง ชุมชน และประชาสังคม. กรุงเทพฯ : สถาบันการพัฒนาพื้นฐาน.