ปรากฏการณ์
ปรากฏการณ์ (อังกฤษ: phenomenon) คือเหตุการณ์หรือสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น[1] และสามารถสังเกตเห็นได้ด้วยประสาทสัมผัส
ในทางปรัชญา
[แก้]ในทางปรัชญาสมัยใหม่ คำว่า "ปรากฏการณ์" ได้ถูกใช้อย่างกว้างขวางโดยอิมมานูเอล คานต์ ซึ่งใช้คำนี้เพื่ออธิบายถึงสิ่งต่าง ๆ ซึ่งสามารถรับรู้และสังเกตเห็นได้โดยตรง ตรงกันข้ามกับนูเมนอน (noumenon) ซึ่งไม่สามารถรับรู้และสังเกตเห็นได้โดยตรง คานต์ได้รับอิทธิพลอย่างมากจากก็อทฟรีท วิลเฮ็ล์ม ไลบ์นิทซ์ในส่วนหนึ่งของปรัชญาของเขา ซึ่งมองว่าคำว่าปรากฏการณ์และนูเมนอนเป็นคำศัพท์เฉพาะที่มีความเกี่ยวข้องกัน
ในทางวิทยาศาสตร์
[แก้]ในทางวิทยาศาสตร์ คำว่า "ปรากฏการณ์" หมายถึงเหตุการณ์ใด ๆ ที่เกิดขึ้นซึ่งสามารถสังเกตเห็นได้ด้วยประสาทสัมผัสโดยตรง หรือด้วยเครื่องมือก็ได้ พร้อมทั้งสามารถสังเกต บันทึก และเรียบเรียงข้อมูลได้ โดยเฉพาะในฟิสิกส์ การศึกษาเกี่ยวกับปรากฏการณ์อาจเกี่ยวข้องกับการวัดเกี่ยวกับสสาร พลังงาน หรือเวลา เช่น การสังเกตการโคจรของดวงจันทร์และกฎความโน้มถ่วงของไอแซก นิวตัน หรือการสังเกตการเคลื่อนที่ของลูกตุ้มของกาลิเลโอ กาลิเลอี[2]
ในวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ คำว่า "ปรากฏการณ์" ก็หมายถึงเหตุการณ์ใด ๆ ที่เกิดขึ้นซึ่งสามารถสังเกตได้เช่นกัน ซึ่งคำนี้ก็ถูกใช้โดยไม่คำนึงถึงสาเหตุของเหตุการณ์ ตัวอย่างปรากฏการณ์ทางกายภาพก็อย่างเช่น ปรากฏการณ์การโคจรของดวงจันทร์ หรือปรากฏการณ์การแกว่งของลูกตุ้ม ซึ่งทั้งสองสามารถสังเกตได้[2]
ปรากฏการณ์เชิงกลเป็นปรากฏการณ์ทางกายภาพซึ่งสัมพันธ์กับสมดุลหรือการเคลื่อนที่ของวัตถุ[3] ตัวอย่างเช่น เปลของนิวตัน เครื่องยนต์ ลูกตุ้มคู่
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "Phenomenon". The Columbia Encyclopedia. 2008.
- ↑ 2.0 2.1 Bernstein, Jeremy (1996). A Theory for Everything. New York: Copernicus.
- ↑ "Mechanical Phenomenon". AudioEnglish.org. Tudorancea Media Network. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 23 July 2011. สืบค้นเมื่อ 23 May 2011.