กฎหมายระหว่างประเทศ
กฎหมายระหว่างประเทศ (อังกฤษ: International law) หมายถึง กฎ กฎเกณฑ์ และข้อตกลงที่เกิดขึ้นจากความตกลง หรือการแสดงเจตนาเข้าผูกพันของรัฐตั้งแต่สองรัฐขึ้นไป หรือระหว่างรัฐกับองค์การระหว่างประเทศ และมักใช้เป็นหลักในการพิจารณาข้อพิพาทระหว่างประเทศ มีทั้งแบบที่เป็นลายลักษณ์อักษร และไม่เป็นลายลักษณ์อักษร
กฎหมายระหว่างประเทศ แบบลายลักษณ์อักษร[แก้]
เป็นกฎหมายระหว่างประเทศ ที่มีแบบแผนชัดเจน ถูกร่างขึ้นเป็นเอกสารข้อตกลง ซึ่งมีผลผูกพันกับรัฐในระดับต่างๆ มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับประเภทของกฎหมายนั้นๆ และมีการลงโดยผู้แทนของรัฐ รวมถึงการให้สัตยบันโดยรัฐสภาของรัฐที่ลงนาม จึงจะถือว่ากฎหมายนั้น มีผลผูกมัดอย่างแท้จริง
ปฏิญญา[แก้]
เป็นประเภทลายลักษณ์อักษร ที่มีผลผูกพันน้อยที่สุด (หรือไม่มีผลผูกพันเลย) ปฏิญญา คือการแถลงการณ์ร่วมกัน โดยให้คำมั่นว่ารัฐที่ลงนาม จะปฏิบัติตามข้อตกลงที่ได้แถลงไว้ แต่ถ้าหากไม่ทำตาม ก็ไม่มีบทลงโทษใดๆ ผลที่ตามมาคือภาพลักษณ์ของรัฐนั้นๆ ที่ไม่สามารถทำตามสิ่งที่ให้สัจจะสัญญาไว้ได้ หรือเป็นการ เสียหน้า นั่นเอง
สนธิสัญญา[แก้]
สนธิสัญญา เป็นกฎหมายที่มีผลผูกพันชัดเจน เปรียบเทียบได้กับสัญญาในกฎหมายภายในประเทศ
กฎหมายระหว่างประเทศ แบบไม่เป็นลายลักษณ์อักษร[แก้]
เป็นกฎหมายระหว่างประเทศ ที่ไม่มีการลงนาม หรือร่างเอกสารใดๆ แต่เป็นสิ่งที่ปฏิบัติต่อๆกันมาในระยะหนึ่ง และไม่มีรัฐใดคัดค้าน รวมทั้งเห็นควรว่าต้องปฏิบัติ ซึ่งอาจเป็นจารีต ประเพณี มารยาท หรือธรรมเนียมปฏิบัติต่างๆ กฎหมายประเภทนี้ สามารถเปลี่ยนแปลงได้ในเวลาไม่นาน หากแนวคิด หรือวิถีปฏิบัติในกิจการระหว่างประเทศเปลี่ยนแปลงไป
- เดโช สวนานนท์, พจนานุกรมศัพท์การเมือง, พ.ศ. 2545, หน้า 6
- Encyclopædia Britannica 2001
- ชมรมลูกพ่อขุนประยุกต์, กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง,พ.ศ. 2561