ข้ามไปเนื้อหา

ภีมราว รามชี อามเพฑกร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ดร.ภีมราว รามชี อามเพฑกร
เกิด14 เมษายน ค.ศ. 1891(1891-04-14)
เกิดใน Mhow (ปัจจุบันเป็นที่รู้จักอย่างเป็นทางการในชื่อ ดร.อามเพฑกร นคร/Dr. Ambedkar Nagar ใน รัฐมัธยประเทศ ประเทศอินเดีย)
เสียชีวิต6 ธันวาคม ค.ศ. 1956(1956-12-06) (65 ปี)
นิวเดลี ประเทศอินเดีย
สัญชาติอินเดีย
มีชื่อเสียงจากรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมคนแรกของอินเดีย
ขบวนการสิทธิทลิต (Dalit rights movement)
หัวหน้าคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญของอินเดีย (Constitution of India)
ขบวนการชาวพุทธทลิต (Dalit Buddhist movement)
คู่สมรสรามาพาอี อามเพฑกร (พ.ศ. 2449)[1]
สาวิตา อามเพฑกร (พ.ศ. 2491)[2]
บิดามารดารามชี มาโลชี สักปาล
ภีมาพาอี สักปาล
ลายมือชื่อ

ดร.ภีมราว รามชี อามเพฑกร (มราฐี: भीमराव रामजी आंबेडकर) หรือบางครั้งนิยมทับศัพท์เป็น เอมเบดการ์ หรือ อัมเบดการ์ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานและกระทรวงยุติธรรมของอินเดีย และเป็นประธานร่างรัฐธรรมนูญของอินเดีย ท่านถูกยกย่องให้เป็น "บิดาแห่งรัฐธรรมนูญอินเดีย" อีกด้วย อามเพฑกร เป็นผู้อุปถัมภพระพุทธศาสนาในประเทศอินเดีย และได้เดินร่วม ขบวนกับ มหาตมา คานธี และชวาหระลาล เนห์รู เพื่อเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ ต่อมาเนห์รูได้เป็นนายกรัฐมนตรีและได้แต่งตั้งให้อามเพฑกร เป็นรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานและกระทรวงยุติธรรม[3][4][5][6][7][8]

ชีวิตในเยาว์วัย

[แก้]

ภีมราว รามชี อามเพฑกร (Bhimrao Ramji Ambedkar) เกิดเมื่อวันที่ 14 เมษายน ค.ศ. 1891 ในตระกูลสังข์ปาล (Sakpal) ซึ่งเป็นจัณฑาล กลุ่มคนที่มีสถานะต่ำต้อยที่สุดในศาสนาฮินดู ครอบครัวของเขาอาศัยอยู่ที่เมือง Mhow พ่อของอามเพฑกรทำงานเป็นทหารอังกฤษ และมีความก้าวหน้ากว่าจัณฑาลกลุ่มอื่น ครอบครัวสังข์ปาลจึงเห็นความสำคัญของการศึกษา และเขี่ยวเข็ญให้ลูกๆ ได้เล่าเรียนหนังสือ ถึงขั้นที่เมื่อครอบครัวสังข์ปาลต้องย้ายไปบอมเบย์ (ปัจจุบันคือมุมไบ) และเริ่มประสบปัญหาทางการเงิน พี่ชายของอามเพฑกรต้องยอมเลิกเรียนหนังสือไปทำงานในโรงงานเพื่อช่วยค้ำจุนบ้าน และส่งเสียให้อามเพฑกรได้เรียนหนังสือ [9]

อามเพฑกรต้องเผชิญกับการกีดกันทางวรรณะที่แสนเลวร้าย เพราะนามสกุลเดิมอย่างสังข์ปาล หรือนามสกุลใหม่ของครอบครัวที่ตั้งตามภูมิลำเนาอย่าง อัมบาวาเดการ์ (Ambavadekar) ยังแสดงให้เห็นว่าเขาเป็นจัณฑาลอย่างชัดเจนโดยในชั้นเรียน อามเพฑกรถูกเลือกปฏิบัติหลายอย่าง เช่น ถูกครูสั่งให้นำผ้าปูพื้นเก่า ๆ มานั่งแยกจากเพื่อนนักเรียน ไม่มีเพื่อนมาพูดคุยหรือเล่นด้วย ไม่ได้กินข้าวกับเพื่อน ๆ จำเป็นต้องกินน้ำโดยไม่มีแก้ว และถูกห้ามเรียนภาษาสันสกฤต เพราะความเชื่อที่ว่าจัณฑาลต่ำต้อยและแปดเปื้อนเกินกว่าจะศึกษาภาษาสันสกฤตอันศักดิ์สิทธิ์ได้ อามเพฑกรจึงเติบโตกับการถูกเลือกปฏิบัติโดยการตีตราทางวรรณะ แต่เขายังได้รับโอกาสที่ดี เมื่อ กฤษณาจี เคชาฟ อามเพฑกร (Krishnaji Keshav Ambedkar) ครูวรรณะพราหมณ์ซึ่งเอ็นดูเขาเป็นพิเศษ อนุญาตให้เขาใช้นามสกุล “อามเพฑกร” จนหลายคนเข้าใจผิดคิดว่า อามเพฑกรเป็นคนในวรรณะพราหมณ์ ซึ่งช่วยลดแรงเสียดทานที่ต้องเผชิญได้เป็นอย่างดี อามเพฑกรจึงยกย่องสรรเสริญครูคนนี้มาก เพราะนามสกุลดังกล่าวช่วยเบิกทางให้เขากลายเป็นผู้นำคนสำคัญในการต่อสู้เพื่อปลดแอกระบบวรรณะ[10]

ต่อมาใน ค.ศ. 1907 อามเพฑกรเรียนจบโรงเรียนมัธยมปลายเอลฟินสโตน ซึ่งนับเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่สำหรับจัณฑาลที่สามารถไต่เต้าเข้าสู่การศึกษาระดับสูง เมื่อมีงานเลี้ยงฉลองเรียนจบ อามเพฑกรก็ได้รู้จักกับพุทธศาสนาเป็นครั้งแรกจาก กฤษณจี อรชุน เกลุสการ์ (Krishnaji Arjun Keluskar) นักเขียนนวนิยายภาษามราฐีและนักสังคมสงเคราะห์ ที่นำหนังสือพุทธประวัติที่เขาเป็นผู้เขียนมอบให้อามเพฑกร ตอนนั้นอามเพฑกรสนใจเรื่องพระพุทธเจ้าอย่างมาก แต่เขาก็ยังคงนับถือศาสนาฮินดูตามเดิม[11]

เรียนต่อต่างประเทศ

[แก้]

อามเพฑกรเป็นคนตั้งใจศึกษาหาความรู้ ทำให้อามเพฑกรได้รับทุนการศึกษาในระดับปริญญาตรีด้านเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยบอมเบย์ จาก มหาราชาสายาจีราว คายกวาทที่ 3 (Maharaj Sayajirao Gaekwad III) กษัตริย์ผู้ปกครองรัฐบาโรดา หลังเรียนจบแล้วใน ค.ศ. 1913 อามเพฑกรได้ทำงานตอบแทนมหาราชาแห่งรัฐบาโรดา แต่โดนย้ายตำแหน่งงานใหม่เรื่อย ๆ โดยไม่มีงานถาวร ประกอบกับพ่อของเขาเสียชีวิต อามเพฑกรจึงตัดสินใจลาออก แต่เดือนมิถุนายน ปีเดียวกัน อามเพฑกรได้รับทุนของมหาราชาสายาจีราว คายกวาทที่ 3 อีกครั้ง เพื่อเรียนต่อปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีเงื่อนไขว่าต้องกลับมาทำงานใช้ทุนทันทีหลังเรียนจบ[12]

ในสหรัฐอเมริกา อามเพฑกรสามารถคบหาผู้คนได้มากมาย เพราะปราศจากการกีดกันทางวรรณะ ซึ่งช่วยให้อามเพฑกรเห็นศักยภาพของประชาธิปไตยที่จะทำให้สังคมมีความเสมอภาคมากขึ้น พร้อมกับเรียนรู้ความสำคัญเรื่องสิทธิ เป็นฐานของการขับเคลื่อนสังคมอินเดียให้ก้าวหน้าต่อไป อามเพฑกรเรียนจบปริญญาโทในปี 1916 ทว่าเขากลับตัดสินใจขอเรียนต่อที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ โดยขยายทุนอีก 1 ปี แต่ก็เรียนไม่จบจึงต้องกลับอินเดียเพื่อทำงานใช้ทุนมหาราชา โดยอามเพฑกรกลับอินเดียในปี 1917 เข้าทำงานเป็นเลขานุการกองทัพของมหาราชาบาโรดา แต่หนีการถูกเหยียดวรรณะไม่พ้น เพราะคนวรรณะพราหมณ์ซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของอามเพฑกรต่างรังเกียจเขา อามเพฑกรร้องเรียนเรื่องนี้ต่อมหาราชา แต่ทุกอย่างยังคงเงียบงัน ช่วงนั้นเขายังโดนชาวปาร์ซีกลุ่มหนึ่งขับไล่ออกจากหอพัก หลังทราบว่าเขาเป็นจัณฑาล ทำให้อามเพฑกรตัดสินใจเดินทางออกจากบาโรดา และไปอยู่ที่บอมเบย์[13]

วิทยาลัยการพาณิชย์และเศรษฐศาสตร์ซิดแนมเสนอให้เขารับตำแหน่งอาจารย์ด้านเศรษฐกิจการเมืองเป็นเวลา 2 ปี อามเพฑกรตอบตกลงทันที และเริ่มงานตั้งแต่ 11 พฤศจิกายน ปี 1918 เขาทุ่มเทกับการสอนหนังสืออย่างจริงจังกระทั่งมีชื่อเสียงโด่งดัง ดึงดูดนักศึกษาจากสถาบันอื่นให้มาฟังเขาบรรยายได้อย่างล้นหลาม กระนั้นเพื่อนร่วมงานวรรณะสูงบางคนก็ยังเหยียดเขาอยู่ อามเพฑกรที่เข้าใจดีถึงการกดขี่ทางวรรณะ จึงเริ่มเคลื่อนไหวต่อสู้เรื่องระบบวรรณะ เรียกร้องให้ชาวอินเดียโดยเฉพาะคนวรรณะสูงและอภิสิทธิ์ชนเปลี่ยนทัศนคติ ให้นึกถึงสิทธิของคนที่ถูกกดขี่ ไล่เลี่ยกันนั้นก็ตัดสินใจลาออกก่อนหมดสัญญาจ้าง พกทุนรอนก้อนหนึ่งย้ายไปเป็นข้าราชการในเมืองโครักขปุระตามคำเชิญของ มหาราชาชาหุที่ 1 ผู้ทรงสนับสนุนสิทธิของจัณฑาล

มหาราชาพระองค์นี้ออกทุนให้อามเพฑกรเขียนและตีพิมพ์วารสารรายสัปดาห์ชื่อ มุขนายก ในบอมเบย์เมื่อปี 1920 อามเพฑกรใช้วารสารฉบับนี้โจมตีนักการเมืองอนุรักษนิยมที่ไม่แยแสต่อการกดขี่คนวรรณะต่ำ แต่วารสารนี้กลับต้องปิดตัวลงในเวลาไม่นานด้วยขาดสภาพคล่องทางการเงิน แม้การเคลื่อนไหวช่วงแรกจะเต็มไปด้วยปัญหา แต่เขาก็ยังไม่ละทิ้งความมุ่งมั่น เมื่ออามเพฑกรเก็บหอมรอมริบได้จำนวนหนึ่ง และจากการหยิบยืมเงินจากเพื่อนและมหาราชา ก็ไปเรียนต่อปริญญาโทและปริญญาเอกที่วิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอน ประเทศอังกฤษ พร้อมกับพยายามสอบเนติบัณฑิต เขาใช้ชีวิตในอังกฤษอย่างแร้นแค้นถึง 3 ปี จนสามารถเรียนจบปริญญาโท ปริญญาเอก และสอบผ่านเนติบัณฑิตอังกฤษ[14]

การต่อสู้เพื่อคนนอกวรรณะ

[แก้]

อามเพฑกรกลับอินเดีย โดยการเริ่มต้นทำงานเป็นทนายความในศาลสูงบอมเบย์ในปี 1924 ทำให้มีโอกาสช่วยเหลือเรื่องกฎหมายให้ผู้ด้อยโอกาส เขาได้ทำตามความฝันอีกครั้ง นั่นคือ การเคลื่อนไหวเรียกร้องให้สังคมอินเดียมองเห็นปัญหาของระบบวรรณะ ควบคู่กับการเรียกร้องอิสรภาพจากอังกฤษ

อามเพฑกรเห็นว่า “ระบบวรรณะ” คือสิ่งชั่วร้ายที่ขัดขวางความก้าวหน้าของสังคมอินเดีย อีกทั้งคำเรียกผองชนผู้ไร้วรรณะอย่าง “จัณฑาล” เป็นคำเรียกอย่างรังเกียจเดียดฉันท์ จึงเลือกใช้คำว่า “ทลิต” (Dalit) อันมีความหมายว่า แตกหัก หรือ สลาย ในภาษาสันสกฤต เป็นคำเรียกผองชนทั้งมวลที่ถูกกดขี่ในสังคมอินเดีย ไม่ใช่เพียงชาวฮินดูเท่านั้น หากยังรวมถึงคนด้อยโอกาสต่าง ๆ ด้วย หลากหลายวาระโอกาสที่อามเพฑกรพยายามต่อสู้เรียกร้องสิทธิและเสรีภาพให้กลุ่มคนด้อยโอกาสเช่น ในปี 1927 อามเพฑกรทำพิธีสัตยาเคราะห์ ดื่มน้ำในสระโชว์ดาร์ที่เมืองมหัท (Mahad) ซึ่งเดิมห้ามคนวรรณะต่ำใช้น้ำในสระ เพื่อเรียกร้องสิทธิให้ทลิตเข้าไปใช้น้ำในสระสาธารณะโชว์ดาร์ได้

ช่วงแรกอามเพฑกรมีเจตนารมณ์ถอดรากถอนโคนระบบวรรณะให้สิ้นซาก ปรากฏชัดในงานเขียน The Annihilation of Caste (วรรณะวินาศ) ซึ่งมีเนื้อหาแข็งกร้าว รุนแรง ปลุกระดมให้ชาวทลิตและผู้ด้อยโอกาสตระหนักรู้ ต่อสู้เพื่อสิทธิและเสรีภาพของตน  อามเพฑกรจึงกลายเป็นผู้นำของชาวทลิตในการต่อสู้ล้มล้างระบบวรรณะ และมีบทบาทในการเรียกร้องเอกราชของอินเดีย โดยเป็นผู้แทนชาวทลิตหารือเรื่องเอกราชอินเดียร่วมกับผู้แทนกลุ่มอื่น ๆ กับอังกฤษ

แต่เมื่อรัฐบาลอังกฤษเห็นด้วยกับอามเพฑกรว่าทลิตควรมีสิทธิเลือกผู้แทนของตน เช่นที่ชาวมุสลิมและซิกซ์มี กลุ่มฮินดูอนุรักษนิยมกลับไม่เห็นด้วย เพราะเกรงว่าการมีผู้แทนทลิตจะก่อให้เกิดความแตกแยก จึงกดดันให้อามเพฑกรยกเลิกข้อเรียกร้องเรื่องผู้แทนชาวทลิต อามเพฑกรซึ่งกลัวว่าข้อเรียกร้องจะทำให้ชาวทลิตถูกคนฮินดูหมู่มากเพ่งเล็ง จึงยอมถอนข้อเรียกร้อง และยอมลดระดับความเคลื่อนไหวเป็นในทางประนีประนอมมากขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้อามเพฑกรเห็นว่า ภายใต้กรอบของศาสนาฮินดู ไม่มีทางที่ชาวทลิตจะยกสถานภาพของตัวเองได้เลย จึงประกาศความตั้งใจละทิ้งศาสนาฮินดูไปนับถือศาสนาอื่น ตัวแทนศาสนาทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นอิสลาม ซิกข์ และคริสต์ ต่างพยายามเกลี้ยกล่อม แต่อามเพฑกรได้ปฏิเสธข้อเสนอทั้งหมดอย่างนุ่มนวล[15]

บิดาแห่งรัฐธรรมนูญอินเดีย

[แก้]

ปี 1947 หลังอินเดียได้รับเอกราชจากอังกฤษ อามเพฑกรได้รับเชิญจากพรรคคองเกรส เข้าร่วมกับคณะรัฐมนตรีของ ยวาหลาล เนห์รู นายกรัฐมนตรีคนแรกของอินเดีย ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และดำรงตำแหน่งประธานกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญของอินเดีย ร่วมกับสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญทั้งหมด 296 คน ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่มาจากพรรคคองเกรส แต่ยังมีทลิตอีก 29 คน ช่วยร่างรัฐธรรมนูญ

อามเพฑกรในฐานะประธานกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้ทำให้ “รัฐธรรมนูญอินเดีย” กลายเป็นบรรทัดฐานสำคัญในการสร้างสังคมอินเดียสมัยใหม่ ที่ประชาชนทุกคนต่างเสมอภาคกันด้วยกฎหมาย รัฐธรรมนูญอินเดียคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพชาวอินเดียทุกคน ทั้งการนับถือศาสนา การยกเลิกระบบวรรณะ และยกเลิกการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบ ไม่ว่าด้วยเหตุแห่งวรรณะ ศาสนา เพศ เชื้อสาย และภูมิลำเนา เหล่านี้คือมรดกสำคัญ ซึ่งทำให้อามเพฑกรได้รับการยกย่องเป็น “บิดาแห่งรัฐธรรมนูญอินเดีย”  

อามเพฑกรยังทำให้อินเดียมีระบบโควตาในระบบราชการ โรงเรียน และมหาวิทยาลัย เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ด้อยโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ซึ่งสิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของอามเพฑกร ในการต่อสู้เพื่อสร้างสังคมอินเดียที่มีความเสมอภาค ถึงอย่างนั้น อามเพฑกรยังคงไม่พอใจกับรัฐธรรมนูญอินเดีย เพราะมีหลายส่วนในรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นไปดังใจเขา และยังคงแสวงหาหนทางที่จะทำให้ชาวทลิตขึ้นมามีบทบาทในสังคมอินเดียมากขึ้น

อามเพฑกร ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้ผลักดันร่างกฎหมายกฎบัตรฮินดู (Hindu Code Bill) เพื่อแทนที่จารีตฮินดู ซึ่งผู้หญิงตกเป็นเบี้ยล่างมาตลอด ด้วยกฎหมายที่มอบสิทธิทางเศรษฐกิจและสังคมให้แก่ผู้หญิงอย่างเท่าเทียมกับผู้ชาย โดยเฉพาะเรื่องมรดก การแต่งงาน และเศรษฐกิจ แต่ร่างกฎหมายดังกล่าวกลับล้มเหลว เพราะถูกต่อต้านจากนักการเมืองส่วนใหญ่ในสภา อามเพฑกรจึงลาออกจากรัฐบาลในปี 1951 ต่อมา เขาลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในปี 1952 และแพ้การเลือกตั้ง แต่ได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาในปีเดียวกัน และเป็นวุฒิสมาชิกจวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต [16]

การเปลี่ยนศาสนา

[แก้]

เนื่องจากเดิมอามเพฑกรเป็นชาวจัณฑาล ภายหลังได้เลิกนับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เนื่องจากศาสนาพราหมณ์-ฮินดู มีการใช้ระบอบวรรณะ ถูกคนวรรณะอื่นรังเกียจเดียดฉันท์ ซึ่งเขาเคยเผชิญมากับตนเองตั้งแต่ยังเด็ก เพื่อทำลายความอยุติธรรมนั้น อามเพฑกรจึงได้ปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะที่เมืองนาคปุระ พร้อมกับบุคคลวรรณะศูทรกว่า 500,000 คน เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2499 โดยในการนั้นมีพระภิกษุอยู่ในพิธี ร่วมเป็นสักขีพยานด้วย 3 รูป คือ ท่านพระสังฆรัตนเถระ (Ven. M. Sangharatana Thera) พระสัทธราติสสเถระ (Ven. S. Saddratissa Thera) และพระปัญญานันทเถระ (Ven. Pannanand Thera) ในพิธีมีการประดับธงธรรมจักรและสายรุ้งอย่างงดงาม ในพิธีนั้น ผู้ปฏิญาณตนได้กล่าวคำปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ [17][18][19][20]

อย่างไรก็ตามในการเปลี่ยนศาสนาครั้งใหญ่ในครั้งนี้ มีทั้งผู้สนับสนุน และคัดค้านเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีผู้นำคำสุนทรพจน์ของอามเพฑกรไปตีพิมพ์เป็นหนังสือ เป็นคำปราศรัยยาว 127 หน้า ขนาด 8 ยก[21][22][23][24]

ถึงแก่อสัญกรรม

[แก้]

หลังจากการประกาศเป็นพุทธมามกะได้เพียง 3 เดือน ก็ได้เสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2499[25] ท่ามกลางความเสียใจของเหล่าบรรดาชนชั้นวรรณะต่ำในอินเดีย ชวาหระลาล เนห์รู ได้กล่าวอย่างเศร้าสลดว่า "เพชรของรัฐบาลหมดไปเสียแล้ว" มุขมนตรีของบอมเบย์ในขณะนั้น คือนายชะวาน ได้ประกาศให้วันเกิดของอามเพฑกรถือเป็นวันหยุดราชการของรัฐ เพื่อเป็นเกียรติแก่ดวงวิญญาณของอามเพฑกร ภรรยาของเขาต้องการจะนำศพของท่านอามเพฑกร ไปทำพิธียังบอมเบย์ รัฐบาลก็ได้จัดเที่ยวบินพิเศษให้ เมื่อเครื่องบินนำศพมาถึงบอมเบย์ ประชาชนหลายหมื่นคนได้มารอรับศพของอามเพฑกรอย่างเนืองแน่น

หลังจากการอสัญกรรมของอามเพฑกร ชวาหระลาล เนห์รู นายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศอินเดีย ได้กล่าวสรรเสริญนายอามเพฑกร ความว่า

ชื่ออามเพฑกร จะต้องถูกจดจำต่อไปอีกชั่วกาลนาน โดยเป็นสัญลักษณ์แห่งการต่อสู้เพื่อลบล้างความอยุติธรรมในสังคมฮินดู อามเพฑกรต่อสู้กับสิ่งที่ทุกคนเห็นว่าเป็นสิ่งที่จำต้องต่อสู้ อามเพฑกร ได้เป็นคนปลุกให้สังคมฮินดูตื่นจากหลับ

อ้างอิง

[แก้]
  1. Pritchett, Frances. "In the 1900s" (PHP). สืบค้นเมื่อ 5 January 2012.
  2. Pritchett, Frances. "In the 1940s". สืบค้นเมื่อ 2012-06-13.
  3. Bhimrao Ambedkar
  4. Ambedkar Jayanti 2019: Facts on Babasaheb to share with kids | Parenting News,The Indian Express
  5. How India’s Most Downtrodden Embraced the Power of Statues
  6. Bhimrao Ramji Ambedkar | Biography, Books, & Facts | Britannica
  7. All You Need To Know About BR Ambedkar On His 129th Birth Anniversary
  8. Buswell, Robert Jr; Lopez, Donald S. Jr., บ.ก. (2013). Princeton Dictionary of Buddhism. Princeton, NJ: Princeton University Press. p. 34. ISBN 978-0691157863.
  9. https://www.silpa-mag.com/history/article_113176
  10. https://www.silpa-mag.com/history/article_113176
  11. https://www.silpa-mag.com/history/article_113176
  12. https://www.silpa-mag.com/history/article_113176
  13. https://www.silpa-mag.com/history/article_113176
  14. https://www.silpa-mag.com/history/article_113176
  15. https://www.silpa-mag.com/history/article_113176
  16. https://www.silpa-mag.com/history/article_113176
  17. https://theprint.in/opinion/why-ambedkar-chose-buddhism-over-hinduism-islam-christianity/237599/
  18. https://indianexpress.com/article/explained/buddha-purnima-special-why-ambedkar-coverted-to-buddhism-6397742/
  19. https://www.thequint.com/news/india/br-ambedkar-conversion-to-buddhism
  20. Christopher Queen (2015). Steven M. Emmanuel (บ.ก.). A Companion to Buddhist Philosophy. John Wiley & Sons. pp. 529–531. ISBN 978-1-119-14466-3.
  21. https://theprint.in/opinion/why-ambedkar-chose-buddhism-over-hinduism-islam-christianity/237599/
  22. https://indianexpress.com/article/explained/buddha-purnima-special-why-ambedkar-coverted-to-buddhism-6397742/
  23. https://www.thequint.com/news/india/br-ambedkar-conversion-to-buddhism
  24. Christopher Queen (2015). Steven M. Emmanuel (บ.ก.). A Companion to Buddhist Philosophy. John Wiley & Sons. pp. 529–531. ISBN 978-1-119-14466-3.
  25. Dr. B.R. Ambedkar บิดาแห่งรัฐธรรมนูญอินเดีย