ความเป็นพลเมือง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ความเป็นพลเมือง คือ สถานภาพของบุคคลที่จารีตประเพณีหรือกฎหมายของรัฐรับรองซึ่งให้แก่สิทธิและหน้าที่แห่งความเป็นพลเมืองแก่บุคคล (เรียก พลเมือง) ซึ่งอาจรวมสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง การทำงานและอาศัยอยู่ในประเทศ สิทธิกลับประเทศ สิทธิครอบครองอสังหาริมทรัพย์ การคุ้มครองทางกฎหมายต่อรัฐบาลของประเทศ และการคุ้มครองผ่านกองทัพหรือการทูต พลเมืองยังมีหน้าที่บางอย่าง เช่น หน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมายของรัฐ จ่ายภาษี หรือรับราชการทหาร บุคคลอาจมีความเป็นพลเมืองมาก และบุคคลที่ไม่มีความเป็นพลเมือง เรียก ผู้ไร้สัญชาติ (stateless)

สัญชาติมักใช้เป็นคำพ้องกับความเป็นพลเมืองในภาษาอังกฤษ ที่สำคัญในกฎหมายระหว่างประเทศ แม้คำนี้บางครั้งเข้าใจว่าหมายถึงการเป็นสมาชิกชาติ (กลุ่มชาติพันธุ์ขนาดใหญ่) ของบุคคล ในบางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร สัญชาติและความเป็นพลเมืองมีความหมายต่างกัน

คำนิยามของคำว่า ความเป็นพลเมือง[แก้]

คำว่า พลเมือง มาจากภาษาลาตินว่า (พลเมือง) ซึ่งเคยใช้ในยุคโบราณซึ่งเกี่ยวกับประชาธิปไตยในกรีกและโรมัน ต่อมายุคกลางไม่ได้นำมาใช้แต่คำว่าพลเมืองก็ได้มีการนำกลับมาใช้อีกครั้งในช่วงของการปฏิวัติในประเทศอังกฤษ สหรัฐอเมริกา และฝรั่งเศสในปลายศตวรรษที่ 18 การเป็นพลเมืองมีหลายมิติการที่จะเป็นพลเมืองนั้นต้องมีองค์ประกอบ ดังต่อไปนี้

มีเอกลักษณ์ที่มาจากความเป็นสมาชิกของชุมชนทางการเมือ

  1. ยึดถือค่านิยมเฉพาะและอุดมคติ
  2. มีสิทธิและหน้าที่
  3. มีส่วนร่วมทางการเมือง
  4. มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเมืองการปกครอง

ประวัติศาสตร์ของความเป็นพลเมือง[แก้]

ยุคสมัยโบราณกาล ความเป็นพลเมืองเป็นเอกสิทธื์ของชนชั้นสูงซึ่งมีอิสระทางด้านเศรษฐกิจความคิดและเวลาเพื่อปฏิบัติหน้าที่พลเมือง เช่น การสมัครรับการเลือกตั้ง การเป็นทหาร เป็นต้น ในสมัยนั้นประชาชนส่วนใหญ่ไม่มีสิทธิในความเป็นพลเมืองโดยเฉพาะสตรี ทาสหรือคนป่าเถื่อน

ยุคสมัยกลาง เป็นุยคของสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในยุโรป แนวคิดแบบพลเมืองก็ได้สูญหายไปเน้นความจงรักภีกดีต่อพระมหากษัตริย์ เท่านั้น พลเมืองไม่มีสิทธิเข้ามามีบทบาททางการเมือง ไม่มีสัญญาประชาคมระหว่างประชาชนกับรัฐ มีแต่ความจงรักภักดีระหว่างกษัตริย์และประชาชน ดังคำพูดที่ว่า “รัฐคือผมเอง”(พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส,1674)

ตั้งแต่การปฏิวัติฝรั่งเศสและสหรัฐอเมริกาเป็นต้นมา กระแสนิยมก่อให้เกิดแนวคิดที่ว่าประชาชนต้องนับถือรัฐมากกว่าตัวบุคคลที่ปกครองรัฐ จึงทำให้เกิดความเป็นพลเมืองที่เน้นความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับรัฐ ดังนั้น ความจงรักภักดีต่ออุดมคติทางการเมืองจึงมาแทนความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์

ระหว่างศตวรรษที่ 19 และ 20 อุดมคติเสรีนิยมทำให้คำนิยามของความเป็นพลเมืองกลายเป็นเรื่องสิทธิและเสรีภาพ ซึ่งเป็นอุดมคติของความเสมอภาคและเสรีภาพ พลเมืองทุกคนมีเหตุผลและมีทางเลือกที่เท่ากัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของชนชั้นหรือเพศแต่อย่างไรก็ตาม ในสมัยนี้ความเสมอภาคก็เป็นได้แค่ความเสมอภาคในประเด็นทางกฎหมายเท่านั้น

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิทธิพลเมือง สิทธิทางการเมืองและสิทธิทางสังคมได้พิสูนจน์ว่าความเสมอภาคด้านกฎหมาย ไม่ได้ทำให้เกิดความเสมอภาคอย่างแท้จริงดังนั้นรัฐมีหน้าที่คุ้มครองพลเมืองทางด้านสังคมด้วย ด้วยเหตุผลนี้รัฐสวัสดิการจึงเกิดขึ้นและส่งผลกระทบต่อทัศนคติของประชาชน จะทำให้ประชาชนเห็นว่าไม่ต้องตอบแทนอะไรแก่รัฐ จากเหตุนี้ จะเห็นได้ว่าประชาชนในยุโรปและอเมริกาไม่ค่อยไปเลือกตั้งหรือเข้าร่วมกิจกรรมในชุมชนเท่าที่ควร เพราะอาจคิดว่า การเมืองในระดับชาตินั้นไม่ได้เกิดประโยชน์ที่แท้จริงในสมัยโลกาภิวัฒน์แล้ว ดั้งนั้น อนาคดของความเป็นพลเมืองอาจกลายเป็น"พลเมืองโลก" ซึ่งในยุโรปมีสภาวการณ์ของความเป็นพลเมืองของยุโรปแล้ว(European Citizenship)[1]

แนวคิดเกี่ยวกับการเป็นพลเมือง[แก้]

แนวคิดการสร้างความเป็นพลเมืองเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข เป็นวิธีการที่องค์การสหประชาชาติให้ความสนใจมาก เพื่อที่จะทำให้การอยู่ร่วมกันมีความมั่นคงและปลอดภัยสำหรับสังคมตะวันตกให้ความสำคัญกับความเป็นพลเมืองเป็นอย่างมาก และพลเมืองก็รู้จักบทบาทหน้าที่ของตนภายใต้ขอบเขตที่กฎหมายกำหนดได้อย่างชัดเจน พลเมือง (Citizen) หรือ ความเป็นพลเมือง (Citizenship) ในยุคสังคมกรีกและโรมันถือเป็นต้นแบบของประชาธิปไตย และมีพัฒนาความเป็นเมืองที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ประชาชนเข้าใจสภาพการณ์ทางสังคมกว้างมากขึ้น ผลจากการติดต่อสื่อสารกันทางสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ การเมืองการปกครอง ดังนั้นศตวรรษที่ 21 มีผู้นำรัฐต่างๆหยิบเอา “ความเป็นพลเมือง” เป็นเครื่องมือพัฒนาการอยู่ร่วมกัน และส่งเสริมระบบการเมืองการปกครองก้าวไปสู่ความเป็นพลเมืองในสังคมประชาธิไตย และประเทศนั้นๆต้องปลูกฝังรากฐานความรู้ความเป็นพลเมือง ให้สืบทอดได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน[2]

ความหมายของคำว่า พลเมือง[แก้]

คำว่า พลเมือง ไม่ใช่คำที่อยู่อย่างโดดๆ แต่เป็นคำที่คู่กับคำว่า ชุมชนการเมือง ที่กรีกเรียกว่า (Polis) และคนปัจจุบันเรียกว่ารัฐ (State) พลเมืองเป็นสมาชิกของชุมชนการเมืองหรือรัฐซึ่งหมายความว่าที่ใดก็ตามที่มนุษย์มาอยู่ร่วมกัน มีการใช้อำนาจจัดการบริการกิจกรรมต่างๆ ภายในน้อยมากที่อยู่อย่างโดดเดี่ยว ไม่สุงสิงกับใคร การเป็นคนจึงเท่ากับเป็นเรื่องการเมือง (To be human is to be political) พูดอีกอย่างหนึ่งคือ คนเป็นสัตว์การเมือง (Man is a political animal) ความเป็นพลเมืองก็คือการเข้าร่วมส่วนในชุมชนการเมือง กล่วงอีกอย่างหนึ่งไม่มีพลเมืองก็ไม่มีชุมชนการเมืองหรือไม่มีรัฐ กล่าวโดยสรุป ในสมัยที่ระบอบประชาธิปไตยมีบทบาทและได้รับการยอมรับไปทั่ว คำว่า พลเมือง ก็ได้กลายเป็นคำที่ได้รับการยอมรับมากขึ้น เช่น กันประชาชนที่อพยพมาจากรัฐของตนเข้าไปอยู่ในรัฐใหม่ ก็เรียกร้องขอสิทธิความเป็นพลเมืองของรัฐใหม่ทั้งนี้ก็เพื่อการได้รับสิทธิผลประโยชน์ต่างๆ ในฐานะที่เป็นพลเมือง ส่วนองค์กรที่สนันสนุนการเรียกร้องครั้งนี้โดยการย้ำถึงสิทธิมนุษยชนที่คนๆหนึ่งได้รับ และสิทธิมนุษยชนนั้นก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่นำไปสู่ความเป็นพลเมืองในที่สุด[3]

พื้นฐานความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย[แก้]

สิ่งหนึ่งที่จะทำให้สังคมไทยมีความสงบสุขได้ คือ คนไทยทุกคนต้องปฏิบัติตนเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย มีหลักประชาธิปไตยในการดำรงชิวิต ปฏิบัติตามกฎหมายและทำตัวให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม ซึ่งการสร้างความเป็นพลเมืองไม่ใช่การทำให้ประชาชนรู้สึกถึงสิทธิและหน้าที่ของตัวเองมีแต่สิ่งที่จะต้องทำให้ประชาชนได้เรียนรู้และเข้าใจอย่างถูกต้อง สิ่งแรกคือ "พื้นฐานความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย" มี 3 ประการ คือ

  1. เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทุกคนเกิดมามีคุณค่าเท่ากันอาจล่วงละเมิดได้ การมีอิสรภาพและความเสมอภาคการยอมรับในเกียรติภูมิของแต่ละคน โดยไม่คำนึงถึงสถานภาพทางสังคมยอมรับความแตกต่างของทุกคน
  2. เคารพสิทธิ เสรีภาพ และกฏกติกาของสังคมที่เป็นธรรม โดยให้ความสำคัญต่อสิทธิเสรีภาพ การมีกฏกติกาที่วางอยู่บนความยุติธรรมและชอบธรรม มีหลักในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพไม่ให้ถูกละเมิด
  3. รับผิดชอบต่อตนเอง ผู้อื่นและสังคม โดยคำนึงถึงบทบาท หน้าที่ของความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยโดยมุ่งเน้นไปที่คุณลักษณะสำคัญในหน้าที่และความรับผิดชอบของตนเองต่อสังคมและการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ใช้สติปัญญาในการแก้ไขปัญหาด้วยเหตุผล

ดังนั้น หากประชาชนได้เข้าใจในหลักพื้นฐานความเป็นพลเมืองทั้ง 3 หลักการที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว และสามารถนำไปปฏิบัติให้เกิดผลได้ก็จะทำให้สังคมไทยพัฒนาเป็นสังคมประชาธิปไตยได้อย่างแท้จริง[4]

เพลโต้และอริสโตเติ้ลว่าด้วยการศึกษาและความเป็นพลเมือง[แก้]

เพลโต้กับแนวคิดเรื่องพลเมือง ในงานเขียนของเพลโต้ชื่อ “กฎหมาย” (Laws) เพลโต้ได้กล่าวถึงความสำคัญของการศึกษาและได้นิยามพลเมืองไว้ด้วย เพลโต้ได้เสนอแนวคิด พลเมืองที่สมบูรณ์ (Perfect Citizen Concept) จากงานเขียนของเพลโต้ สามารถสรุปสาระสำคัญของเพลโต้ได้ ดังนี้

  1. การให้การศึกษาเพื่อปลูกฝังคุณธรรม นั้นต้องเริ่มสร้างตั้งแต่วัยเด็ก
  2. คุณธรรมที่ว่าก็คือความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะเป็นพลเมืองที่สมบูรณ์
  3. พลเมืองที่สมบูรณ์หมายถึงคนที่รู้วิธีปกครองผู้อื่นและวิธีถูกผู้อื่นปกครองด้วยความยุติธรรม
  4. ให้เรียกการฝึกอบรมเพื่อสร้างคุณธรรมเช่นนี้ว่า “การศึกษา” (Education) เท่านั้น ส่วนการฝึกอบรมส่วนอื่นๆให้เรียกว่า Training

จากที่กล่าวมา จะต้องให้การศึกษาตั้งแต่ชั้นอนุบาล - ประถม เป็นการปลูกฝังความดีงาม (Virtue) ให้แก่ประชาชน หมายความว่าปรารถนาที่จะเป็นพลเมืองที่ดีในสังคมนั้นเป็นคุณธรรมอย่างหนึ่งเป็นพลเมืองสมบูรณ์ที่รู้ทั้งวิธีการปกครองและวิธีการเป็นผู้ถูกปกครองนั้นย่อมแสดงว่าพลเมืองแต่ละคนจะพลัดเปลี่ยนกันเข้ามาบริหารประเทศสลับกันไปมา ไม่มีใครอยู่ในอำนาจอย่างถาวรนี่คือความคิดแบบประชาธิปไตยของเพลโต้

อริสโตเติ้ลกับแนวคิดเรื่องพลเมือง ต่อจากเพลโต้ ก็คืออริสโตเติ้ล (Airstotle , 384-323 B.C.) นักคิดที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นนักรัฐศาสตร์คนแรกของโลก อริสโตเติ้ลเป็นศิษย์ของเพลโต้ที่ผ่านมา ความเข้าใจของสังคมไทยที่มีต่อนักคิดผู้นี้เกี่ยวกับการเมืองมีเพียงประเด็นเดียว คือ “มนุษย์เป็นสัตว์การเมืองโดยธรรมชาติ คนที่อยู่ของรัฐหากไม่ใช่ยิ่งใหญ่กว่ามนุษย์ (หมายถึงเทวดา) ก็ต้องต่ำกว่ามนุษย์” (หมายถึงสัตว์) การพูดว่ามนุษย์เป็นสัตว์การเมือง อาจทำให้คนจำนวนหนึ่งเข้าใจมนุษย์หลีกไม่พ้นอิทธิพลของการเมืองไม่ว่าจะอยู่ในถิ่นใด แต่หลีกไม่ได้ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีบทบาทมากไปกว่านั้นแต่ความจริงแล้วอริสโตเติ้ลเห็นมากกว่านั้นคือ มนุษย์จะไปถึงศักยภาพเต็มที่ชองชีวิตของเขาได้ (To reach the full potential of his life and personality) ก็ด้วยการเข้าไปแล้วมีส่วนร่วมในกิจกรรมของโพลิส ( Polis - ชุมชนการเมืองหรือที่แปลกันทั่วไปว่า “ นครรัฐ ” ) หรือกิจกรรมสาธรณะเท่านั้น (Only by participation in the affairs of a polis) อริสโตเติ้ลเห็นว่าคนที่เข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมเหล่านั้นก็ คือ พลเมือง (Citizens) พลเมือง คือ

  1. คนที่ใช้สิทธิเข้าร่วมในหน่วยงานที่กำหนดนโยบายหรือตัดสินคดีความในเวลาที่กำหนดตายตัวหรือไม่ก็ได้
  2. คนที่เข้าร่วมส่วนในชีวิตพลเมืองที่มีทั้งการปกครองและการถูกปรครองสลับกันไป
  3. พลเมืองที่ดี คือ คนที่ต้องมีความรู้และความสามารถในการปกครองและการถูกปกครอง

กล่าวอีกนัยหนึ่ง ความยอดเยี่ยมของพลเมืองดีก็คือ ความรู้ในการปกครองเหนือเสรีชนทั้งหลายและความรู้ที่ถูกพวกเสรีชนทั้งหลายปกครองเรา[5]

ความเป็นพลเมืองในประเทศไทย (Citizenship)[แก้]

ความเป็นพลเมือง ( Citizenship ) เป็นคำที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประชาธิปไตย ประชาธิปไตยจะประสบความสำเร็จได้ไม่ใช่เพียงมีรัฐธรรมนูญที่ดีเท่านั้น แต่ประชาชนจะต้องเป็นพลเมืองตามระบอบประชาธิปไตยด้วย (วรากรณ์ สามโกเศศ , 2554) กล่าวคือ มีสมาชิกของสังคมที่ใช้สิทธิเสรีภาพโดยมีความรับผิดชอบ เคารพสิทธิผู้อื่น เคารพความแตกต่าง เคารพกติกา ในต่างประเทศ เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศเยอรมนี จัดให้มีการศึกษาเพื่อสร้างความเป็นพลเมือง (Civic Education) ขึ้นมา และประสบความสำเร็จในการวร้างพลเมือง จนเป็นตัวอย่างให้กับประเทศต่างๆ ทั่วโลก ประเทศไทยจัดว่าพัฒนากระบวนการประชาธิปไตยมาร่วมกว่า 80 ปี แต่ยังคงมีปัญหาของการถอยกลับไปสู่ยุคที่เรียกว่า ขาดความเป็นประชาธิปไตย ด้วยเหตุผลหลายประการ อย่างไรก็ตามหากประชาธิปไตยมีความเป็นพลเมืองในแนวคิดที่จะช่วยพัฒนาประเทศไปอย่างสันติได้ ก็น่าจะส่งผลต่อการเสริมสร้างความก้าวหน้าของกระบวนการประชาธิปไตยมากขึ้น

คุณสมบัติของความเป็นพลเมือง แบ่งได้ ดังนี้

  1. มีค่านิยมตามประเพณีนิยม (Traditional Values) ประกอบด้วย การเคารพผู้อาวุโสกว่า เสียสละเวลา ทำงานเพื่อส่วนรวม ปฏิบัติตามกฎหมาย ปฏิบัติตามหลักศาสนา มีความภูมิใจในการเป็นคนไทย ทำงานแบบสุจริต บริจาคโลหิต สิ่งของและรักษาสิ่งแวดล้อม
  2. มีความรู้เกี่ยวกับการเป็นพลเมือง (Civic knowledge) ประกอบด้วย การสามารถเปรียบเทียบนโยบาย ของพรรคและผู้สมัคร มีความรู้เรื่องการเมืองของประเทศต่างๆ เต็มใจที่จะเสียภาษี
  3. การมีส่วนร่วมทางการเมือง ซึ่งประกอบไปด้วยการไปใช้สิทธิเลือกตั้ง การเป็นสมาชิกกลุ่ม สามารถไปร่วมชุมนุม ติดตามการทำงานของนักการเมืองและข้าราชการ[6]
  1. ดร.ถวิลวดี บุรีกุล และ รัชวดี แสงมหะหมัด.2014.ความเป็นพลเมืองในประเทศไทย.สืบค้นจาก http://kpi.ac.th/%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%9E%E0%B8%A5%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2-citizenship-in-thailand-.html.สืบค้นเมื่อ[ลิงก์เสีย] 20 ก.พ. 2560.(หน้า 6-7)
  2. อาจารย์ภณ ใจสมัคร.ความเป็นพลเมืองในสังคมยุคใหม่.ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์.สืบค้นจาก http://ge.kbu.ac.th/Download9_files/img/07.pdf.สืบค้นเมื่อ[ลิงก์เสีย] 19 ก.พ. 2560.(หน้า 3-4)
  3. ธเนศวร์ เจริญเมือง.2551.พลเมืองเข้มแข็ง.490/9 ถนนริมคลองประปาฝั่งขวา เขตบางซื่อ กรุงเทพฯ 10800:สำนักพิมพ์วิภาษา.(หน้า 3-8)
  4. ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่ง.ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์.พื้นฐานความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย.สืบค้นจาก[[https://web.archive.org/web/20180403203222/http://www.radioparliament.net/parliament/uploads/ckeditor/files/0405571549.pdf เก็บถาวร 2018-04-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน]].สืบค้นเมื่อ 20 ก.พ. 2560.(หน้า1-3)
  5. รศ.ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง.กันยายน 2548.แนวคิดว่าด้วยความเป็นพลเมือง.บริษัท โรงพิมพ์ คลังวิชา จำกัด : จัดพิมพ์โดย สถาบันปกเกล้า.(หน้า 63-72)
  6. ดร.ถวิลวดี บุรีกุล และ รัชวดี แสงมหะหมัด.2014.ความเป็นพลเมืองในประเทศไทย.สืบค้นจาก http://kpi.ac.th/media/pdf/M10_452.pdf.สืบค้นเมื่อ[ลิงก์เสีย] 20 ก.พ. 2560.(หน้า 4-5)