ทิวซิดิดีส

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ทิวซิดิดีส (Thucydides)
Θουκυδίδης
Bust of Thucydides
รูปปั้นพลาสเตอร์ครึ่งตัวของทิวซิดิดีส ของโรมันทำขึ้นใหม่จากงานต้นแบบ (ราวช่วง ศตวรรษที่ 4 ก่อนคริสตกาล) (อยู่ที่ พิพิฒภัณฑ์พุชกิน, มอสโคว)
เกิดราว 460 ปีก่อนคริสตกาล
ฮาลิมุส (ปัจจุบัน อาลิมอส)
เสียชีวิตราว 400 ปีก่อนคริสตกาล (อายุขัยราว 60 ปี)
เอเธนส์
อาชีพนักประวัติศาสตร์, นักการทหาร (ยศนายพล)
ผลงานเด่นประวัติศาสตร์ของสงครามเพโลพอนนีเซียน
ญาติโอโลรอส (บิดา)

ทิวซิดิดีส (อังกฤษ: Thucydides; กรีกโบราณ: Θουκυδίδης, ธู-คู-ดิ-แดส; ช่วง 460 – 395 ปีก่อนคริสต์ศักราช) เป็นนักประวัติศาสตร์ชาวกรีก และเป็นผู้เขียนเรื่องประวัติศาสตร์ของสงครามเพโลพอนนีเซียน (History of the Peloponnesian War) ซึ่งบรรยายถึงเหตุการณ์ และชนวนสาเหตุของมหาสงครามเพโลพอนนีเซียน ซึ่งเป็นความขัดแย้งทางทหารระหว่างสปาร์ตากับเอเธนส์ในช่วงระหว่าง ปี 500 ถึง 411 ก่อนคริสต์ศักราช ตัวทิวซีดิดีสเองก็มีความเกี่ยวข้องกับสงครามนี้ในฐานะนักการทหารระดับแม่ทัพของเอเธนส์ และเคยนำทัพเอเธนส์รบในต่างแดนหลายครั้ง แต่ความล้มเหลวในสมรภูมิที่แอมฟิโปลิส ทำให้ท่านถูกเนรเทศตามกฎหมายของเอเธนส์ ทิวซิดิดีสได้รับการขนานนามว่าเป็นบิดาแห่งประวัติศาสตร์เชิงวิทยาศาสตร์ เนื่องจากมาตรฐานที่เข้มงวดในเรื่องของการรวบรวมพยานหลักฐาน และการวิเคราะห์ในด้านเหตุและผล โดยปราศจากการอ้างอิงถึงความเกี่ยวข้อง หรือการแทรกแทรงจากเทพเจ้า ซึ่งจะพบได้จากสรุปใจความสำคัญในบทคำนำในงานเขียนของท่าน

ทิวซิดิดีสได้รับสมญานามว่า เป็นบิดาแห่งสำนักความคิดสัจนิยมทางการเมือง ซึ่งมองเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างชาติว่า เป็นเรื่องที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของอำนาจมากกว่าความชอบธรรม นอกจากนี้ทิวซิดิดีสยังแสดงความสนใจในเรื่องการใช้ประวัติศาสตร์ศึกษาเพื่อเพิ่มพูนความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ เพื่ออธิบายถึงพฤติกรรมในวิกฤตการณ์ดังเช่น การเกิดโรคระบาด การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (ดังเช่นกรณีของชาวเมเลียน) และสงครามกลางเมือง งานเขียนสำคัญจากยุคสมัยกรีกโบราณของท่าน ยังคงได้รับการศึกษาอย่างแพร่หลายในสถาบันวิชาการทหารบกชั้นสูง และบทสนทนาโบราณระหว่างทหารเอเธนส์กับผู้ปกครองชาวเมเลียน (The Melian Dialogue) ที่บันทึกไว้ในหนังสือประวัติศาสตร์ของสงครามเพโลพอนนีเซียน ก็ยังทรงอิทธิพลต่องานเขียนในด้านทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมาจนปัจจุบัน

ชีวิต[แก้]

แม้ว่าจะมีชื่อเสียงในด้านของนักประวัติศาสตร์ แต่นักประวัติศาสตร์สมัยใหม่มีความรู้เพียงเล็กน้อยเกี่ยวกับชีวิตของทิวซิดิดีส ข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้มากที่สุดมาจากงานเขียนเรื่องประวัติศาสตร์ของสงครามเพโลพอนนีเซียนซึ่งได้บอกถึงสัญชาติ พื้นเพ และภูมิลำเนาของเขานั่นเอง ทิวซิดิดีสบอกให้เรารู้ถึงการต่อสู้ของตนเองในสงคราม การติดโรคระบาด และถูกเนรเทศโดยระบบประชาธิปไตย หลักฐานจากยุคสมัยกรีกโบราณ ทิวซิดิดีสระบุว่าตนเองเป็นชาวเอเธนส์ บิดาชื่อโอโลรัสและมาจากเขตปกครองชาวเอเธนส์แห่งฮาลิมัส ทิวซิดิดีสรอดชีวิตจากโรคระบาดในเอเธนส์ซึ่งได้คร่าชีวิตชาวเพริคลีส และชาวเอเธนส์อื่น ๆ อีกไปเป็นจำนวนมากมาย ทิวซิดิดีสบันทึกด้วยว่าเป็นเจ้าของเหมืองทองที่ Scapte Hyle (ตามตัวอักษร “Dug Woodland”) บริเวณเขตชายฝั่งทะเลของเมืองเทรซ ซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามกับเกาะ Thasos

เพราะอิทธิพลงานเขียนของเขาในเขตปกครองชาวเทรซ ทิวซิดิดีสจึงได้รับการส่งตัวไปเป็นเสนาธิการทหาร ณ Thasos ปีก่อนคริสต์ศักราช 424 ปี ในช่วงระหว่างฤดูหนาวก่อนคริสต์ศักราช 424 – 423 ปี Brasidas เสนาธิการทหารของสปาร์ตัน บุกโจมตีเมืองแอมฟิโพลิสโดยใช้เวลาแล่นเรือมาทางทิศตะวันตกเพียงครึ่งวันจาก Thasos บริเวณชายฝั่งเทรซ Eucles ผู้บัญชาการทหารฝ่ายเอเธนส์แห่งแอมฟิโพลิสจึงของความช่วยเหลือจากทิวซิดิดีสBrasidas ตระหนักถึงการปรากฏตัวของทิวซิดิดีสที่ Thasos รวมถึงอิทธิพลของเขาต่อพลเมืองแอมฟิโพลิสและเกรงต่อความช่วยเหลือทางทะเลที่กำลังจะมาถึง จึงเสนอเงื่อนไขที่ชาญฉลาดพอสมควรต่อชาวแอมฟิโพลิสเพื่อให้ยอมจำนนซึ่งชาวเมืองก็ยอมรับเงื่อนไขนั้น ดั้งนั้นเมื่อทิวซิดิดีสเดินทางมาถึงแอมฟิโพลิสก็อยู่ภายใต้การปกครองของสปาร์ตันไปแล้ว (ดูจากยุทธการที่แอมฟิโพลิส) แอมฟิโพลิสเป็นจุดยุทธศาสตร์จุดใหญ่ที่สำคัญและข่าวการพ่ายแพ้ก็นำมาซึ่งความหวาดหวั่นอย่างใหญ่หลวงสู่เอเธนส์ทิวซิดิดีสจึงถูกกล่าวหา ถึงแม้จะยืนยันว่าข้อกล่าวหาดังกล่าวไม่ใช่ความผิดของเขา และเพราะไม่สามารถไปถึงแอมฟิโพลิสตามเวลาโดยไม่มีเหตุผลที่ดีเพียงพอ เพราะความล้มเหลวของเขาที่ไม่สามารถรักษาแอมฟิโพลิสไว้ได้ ทิวซิดิดีสจึงถูกเนรเทศ

"เป็นชะตากรรมของฉันด้วยที่ต้องถูกเนรเทศจากประเทศของตัวเองนานถึง 20 ปี หลังจากที่ได้ปกครองแอมฟิโพลิสและการมีอยู่ ณ ปัจจุบันของเมืองทั้ง 2 และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชาวเพโลพอนนีซัสอันเป็นสาเหตุที่ทำให้ฉันถูกเนรเทศ ฉันจึงมีเวลาว่างเพื่อสังเกตเรื่องราวได้อย่างค่อนข้างเป็นพิเศษ"

การใช้สถานะผู้ถูกเนรเทศจากเอเธนส์ท่องเที่ยวอย่างอิสระระหว่างประเทศพันธมิตรของ Peloponnesian ทำให้เขาสามารถมองเห็นภาพของสงครามจากมุมกว้างทั้ง 2 ฝ่าย ระหว่างช่วงเวลานี้ทิวซิดิดีสดำเนินการค้นคว้าที่สำคัญเพื่อประวัติศาสตร์ของตัวเขาเอง มีการอ้างว่าเขาดำเนินแผนที่เขาคิดว่ามันจะเป็นหนึ่งในแผนที่ดีที่สุดในการต่อต้านสงครามระหว่างกรีกในแง่ของโอกาส

ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ทิวซิดิดีสเขียนเกี่ยวกับชีวิตของเขาเองแต่มีข้อเท็จจริงเพียงเล็กน้อยที่สามารถพบได้จากหลักฐานร่วมสมัยที่น่าเชื่อถือได้ เฮโรโดทัสได้เขียนถึงบิดาของทิวซิดิดีสว่าชื่อ Oloros และได้มีการติดต่อกับเมืองเทรซและเชื้อพระวงศ์ชาวเทรซ ทิวซิดิดีสเองก็น่าจะมีโอกาสได้ติดต่อผ่านทางครอบครัวกับรัฐบุรุษชาวเอเธนส์และผู้บัญชาการทหาร Miltiades รวมถึง Cimon ลูกชายของเขา ซึ่งเป็นผู้นำของชนชั้นขุนนางเก่าที่ถูกแทนที่โดยกลุ่มผู้สนับสนุนการปกครองแบบประชาธิปไตยหัวรุนแรง ชื่อของตาของ Cimon ก็คือ Oloros เช่นกัน ทำให้ความเกี่ยวข้องเป็นไปได้อย่างมาก นอกจากนั้นทิวซิดิดีสมีชีวิตอยู่ก่อนนักประวัติศาสตร์และยังได้ติดต่อกับเมืองเทรซทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างพวกเขาแน่นแฟ้นด้วย ในตอนท้าย เฮโรโดทัสยังได้ยืนยันความเกี่ยวข้องของครอบครัวทิวซิดิดีสกับเหมืองแร่ที่ Scapte Hyle

จากการรวบรวมหลักฐานไม่สมบูรณ์ที่สามารถหาได้ ดูเหมือนว่าครอบครัวของเขาเป็นเจ้าของที่ดินขนาดใหญ่ในเมืองเทรซส่วนหนึ่งเป็นเหมืองทอง ซึ่งทำรายได้เป็นกอบเป็นกำให้แก่ครอบครัวและความมั่งคั่งอย่างถาวร การรักษาความปลอดภัยและความเจริญรุ่งเรืองอย่างต่อเนื่องของที่ดินจำนวนมากมายจึงทำให้ต้องมีข้อตกลงอย่างเป็นทางการกับกษัตริย์หรือเจ้าเมืองผู้ปกครอง ซึ่งอธิบายได้อย่างชัดเจนถึงการยอมรับนามของเชื้อพระวงศ์ชาวเทรซ Oloros เข้ามาในครอบครัว ครั้งนั้นเมื่อถูกเนรเทศทิวซิดิดีสสร้างหมู่บ้านถาวรขึ้นบนที่ดินและมีรายได้อย่างงดงามจากเหมืองทอง เขาได้อุทิศตัวเองให้กับการเขียนเรื่องราวทางประวัติศาสตร์อย่างเต็มที่รวมถึงการค้นคว้าซึ่งประกอบด้วยการเดินทางเพื่อค้นหาหาข้อเท็จจริงมากมาย จุดสำคัญคือหลังจากเขาเกษียณแล้วในเวลาดังกล่าว และมีการติดต่อที่ดีกับแหล่งข้อมูลซึ่งเป็นรัฐบุรุษคนสำคัญผู้ซึ่งเกษียณจากแวดวงการเมืองและการทหารแล้วในช่วงเวลานั้นทิวซิดิดีสได้จัดตั้งกองทุนโครงการทางวิทยาศาสตร์ของตัวเองขึ้น

แหล่งข้อมูลในภายหลัง[แก้]

หลักฐานที่เหลืออยู่เกี่ยวกับชีวิตของทิวซิดิดีส มาจากหลักฐานในยุคโบราณต่อมาซึ่งค่อนข้างน่าเชื่อถือน้อยกว่า จากข้อมูลของ Pausanias นักภูมิศาสตร์ชาวกรีก กล่าวว่าบุคคลที่ชื่อ Oenobius สามารถอนุญาตให้ Thucydedes กลับเอเธนส์ได้ตามกฎหมาย สันนิษฐานว่าอยู่ในช่วงเวลาสั้น ๆ หลังจากที่แอมฟิโพลิสยอมจำนนและจุดสิ้นสุดของสงครามในช่วงก่อนคริสต์ศักราช 404 ปี Pausanias ยังระบุว่า ทิวซิดิดีสถูกฆาตกรรมระหว่างเดินทางกลับเอเธนส์ ยังมีข้อสงสัยอีกมากในบันทึกนี้ ดูจากหลักฐานที่กล่าวว่าทิวซิดิดีสมีชีวิตอยู่ในช่วตอนปลายก่อนคริสต์ศักราช 397 ปี พลูทาร์ก ผู้พิพากษาและทูตชาวกรีก ยืนยันว่า ทิวซิดิดีสยังมีชีวิตอยู่เมื่อกลับสู่เอเธนส์และอาศัยอยู่ในห้องใต้ดินของครอบครัว Cimon

การบรรยายประวัติศาสตร์ของทิวซิดิดีสจบลงอย่างห้วน ๆ โดยหยุดอยู่ที่ช่วงกลางของปีที่ 411 ก่อนคริสต์ศักราช ซึ่งมักเข้าใจกันว่าท่านตายขณะกำลังเขียนหนังสือ

การศึกษา[แก้]

แม้ว่าจะไม่มีหลักฐานพิสูจน์แน่ชัด แต่ศิลปะการใช้คำในงานเขียนของทิวซิดิดีสแสดงว่า ท่านมีความคุ้นเคยกับคำสอนของพวกครูสอนปรัชญาโซฟิสต์ส และนักบันทึกการเดินทางผู้ซึ่งเดินทางมาเอเธนส์และเมืองอื่น ๆ ของกรีก นอกจากนี้ ยังมีข้อสันนิษฐานว่า งานเขียนที่เคร่งครัดของทิวซิดิดีส ซึ่งเน้นอย่างเข้มงวดในเรื่องของเหตุและผล และมีความพิถีพิถันที่น่าเลื่อมใสในเรื่องการชั่งน้ำหนักข้อเท็จจริงตามธรรมชาติต่อการแยกปัจจัยอื่น ๆ เป็นเพราะว่าได้รับอิทธิพลมาจากวิธีการและแนวคิดของนักเขียนด้านการแพทย์ เช่น ฮิปโปเครตีสแห่งเกาะคอส

บุคลิก[แก้]

ทิวซิดิดีส ยกย่องชื่นชม เพริคลีส และยอมรับพลังดึงดูดแห่งบุคลิกภาพที่เพริคลีสใช้ความคุมชาวเอเธนส์ แต่ท่านแสดงออกอย่างชัดเจนถึงความรังเกียจ ที่มีต่อพวกนักปลุกระดมทางการเมืองที่คอยติดตามเพริคลิส ทิวซิดิดีสไม่เห็นด้วยกับทั้งม็อบฝูงชนในระบอบประชาธิปไตย และแนวคิดประชาธิปไตยแบบเปิดกว้างอย่างที่เพริคลีสสนับสนุน เพียงแต่ท่านเห็นว่าระบอบประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ หากว่าประเทศมีผู้นำที่ดีและมีความสามารถอย่างเพริคลีส[1] อย่างไรก็ดี ทิวซิดิดีส เขียนบรรยายเหตุการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นอย่างเป็นภาวะวิสัย ท่านพูดถึงความล้มเหลวของตัวท่านเองในฐานะแม่ทัพในสมภูมิแอมฟิโพลิส แต่บางทีท่านก็อดไม่ได้ที่จะตำหนินักการเมืองที่คอยปลุกปั่นประชาชน เช่น คลีออน[2] [3] เนื่องมาจากว่าคลีออนเป็นศัตรูทางการเมืองของท่าน และตัวท่านเองไม่ค่อยศรัทธาระบอบประชาธิปไตยนัก

ประวัติศาสตร์ของสงครามเพโลพอนนีเซียน[แก้]

ปรัชญาความคิด[แก้]

ทิวซิดิดีส ได้รับความเคารพโดยทั่วไปว่าเป็นหนึ่งในนักประวัติศาสตร์ที่แท้จริงคนแรก ๆ ของโลก เช่น เฮโรโดตัส (นิยมเรียกว่า บิดาแห่งประวัติศาสตร์) ทิวซิดิดีสให้ความสำคัญอย่างสูงต่อการพิสูจน์หลักฐานอย่างละเอียด และการบันทึกคำบอกเล่าของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ รวมถึงคำบรรยายเหตุการณ์ที่ตัวเองได้มีส่วนร่วมอย่างตรงไปตรงมาที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ท่านยังใช้ความอุตสาหะในการทบทวนและตรวจดูความถูกต้องจากบันทึกในเอกสาร และตามคำบอกเล่าของผู้ที่มีส่วนร่วมในเหตุการณ์จริง ที่สำคัญที่สุดคือ ทิวซิดิดีสเป็นนักประวัติศาสตร์คนแรกที่ไม่ปักใจเชื่อ หรือพอใจอ้างอิงคำบอกกล่าวของกวี โดยไม่คิดวิเคราะห์ด้วยหลักฐานเสียก่อน งานเขียนของท่านจึงไม่ได้อิงกับตำนานหรือเทพนิยายอย่างสมัยนิยม ซึ่งแม้แต่อย่างข้อเขียนทางปรัชญาของเพลโต ผู้เป็นนักเขียนสมัยหลังทิวซิดิดีส ก็ยังพึ่งพาเทพปรกณัมอย่างมากในการตั้งของสัณนิษฐาน นอกจากนี้ทิวซิดิดีสยังไม่ให้ความสำคัญกับอำนาจของเทพยดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่จะมายุ่งเกี่ยว หรือบงการความเป็นไปของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ต่างจากเฮโรโดตัสที่มักโทษความหยิ่งยโสโง่เขลา (hubris) ของมนุษย์ว่า เป็นเหตุให้พระเป็นเจ้ามาลงโทษ

วิธีวิทยาทางประวัติศาสตร์[แก้]

งานเขียนทางประวัติศาสตร์ของทิวซิดิดีส ได้แก่ ประวัติศาสตร์ของสงครามเพโลพอนนีเซียน รับการแยกออกเป็นหนังสือจำนวน 8 เล่มหลังจากที่เขาเสียชีวิต งานชิ้นนี้เป็นความทุ่มเททางประวัติศาสตร์ของเขาที่จะบันทึกเรื่องราวทางประวัติศาสตร์การเมืองและการสู้รบ ของมหาสงคราม 27 ปี ระหว่างนครเอเธนส์และพันธมิตร กับฝ่ายสปาร์ต้า เนื้อหาของบันทึกหยุดลงใกล้กับช่วงสิ้นสุดปีที่ 21 ของสงคราม และไม่ได้บรรยายไปถึงเหตุการณ์ในตอนท้ายของสงคราม (ส่วนที่เหลือของสงครามได้รับการบรรยายต่อจนจบในงานเขียนของ เซโนฟอน (Xenophone) นักการทหาร และนักประวัติศาสตร์ชาวกรีก) มีเพียงข้อมูลที่ถูกร่างอย่างคร่าว ๆ ระบุว่าการเสียชีวิตของทิวซิดิเดสเกิดขึ้นแบบไม่มีใครคาดหมาย และเป็นไปได้ว่าอาจจะเกิดขึ้นอย่างกะทันหันหรือถูกทำร้าย ทิวซิดิดีสเชื่อว่ามหาสงครามเพโลพอนนีซ ในตอนปลาย ศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสตกาล เป็นเหตุการณ์สำคัญในระดับที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์โลก ไม่ว่าในบันทึกของชาวกรีกเอง หรือของชาติอื่น เขาจึงตั้งใจอุทิศบันทึกเหตุการณ์นี้ไว้แก่โลกเพื่อให้เป็นประโยชน์ดั่งเช่น “สมบัติแก่อนุชนไปชั่วกาลสมัย"

ความแตกต่างหลัก ๆ ข้อหนึ่งระหว่างงานเขียนประวัติศาสตร์ของทิวซิดิดีสและงานเขียนประวัติศาสตร์รุ่นใหม่ก็คือ งานเขียนของทิวซิดิดีสจะประกอบด้วยคำพูดสนทนา และคำแถลงแบบเป็นทางการ หรือรวมเอาคำให้การที่มีความยาวพอสมควรไว้ ซึ่งตัวทิวซิดิดีสเองยอมรับว่าบทสนทนาพวกนี้เป็นเนื้อหาที่ไม่ได้ตรงกับคำพูดจริง ๆ ทั้งหมด แต่เป็นการ"บูรณะ" (reconstruct) ขึ้นใหม่ตามคำให้การของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ หรือความจำของตัวเขาเอง โดยนักประวัติศาสตร์ปัจจุบันเชื่อว่าทิวซิดิดีสใส่ความเห็นของตนลงไปด้วยในคำพูดเหล่านั้น หรือตามความเข้าใจและการตีความของเขาเองต่อเนื้อหาของสิ่งที่พูดว่าควรเป็นอย่างไร อย่างไรก็ดีนี่เป็นวิธีที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ในสมัยนั้น ที่จะรักษาความทรงจำเกี่ยวกับสิ่งที่เคยพูดไว้ได้ เพราะหากทิวซิดิดีสไม่ทำเช่นนั้น เนื้อหาของบทสนทนาทางประวัติศาสตร์คงจะไม่เหลือรอดอยู่เลย ซึ่งไม่เหมือนกับกรณีของยุคสมัยใหม่ที่ทีเทคโนโลยีที่สามารถบันทึกและเก็บรักษาเอกสารคำให้การจำนวนมาก ๆ ดังนั้นทิวซิดิดีสจึงไม่แค่เพียง “เขียนตามหลักฐาน” แต่เป็นการช่วยไม่ให้แหล่งข้อมูลบอกเล่าด้วยปากถูกลืมเลือนไปโดยสิ้นเชิงด้วย ตัวอย่างที่สำคัญที่สุดชิ้นนึงของบันทึกคำบอกเล่าที่ทิวซิดิสรักษาไว้ ได้แก่ คำสุทรพจน์ไว้อาลัยผู้ตายในสงครามของเพริคลีส หรือ สุนทรพจน์ไว้อาลัยของเพริคลีส (Pericles' funeral oration) ซึ่งเป็นตำอธิบายและเชิดชูคุณค่าทางศีลธรรมของสังคมประชาธิปไตย จากปากของเพริคลีส ผู้เป็นรัฐบุรุษและผู้นำของชาวเอเธนส์ และถือเป็นงานวรรณกรรมเกี่ยวกับประชาธิปไตยที่สำคัญที่สุดชิ้นหนึ่งมาจนถึงปัจจุบัน ส่วนนึงของข้อความนั้นเป็นภาษิตว่า:

โลกทั้งใบคือสุสานของมนุษย์ผู้ลือนาม บุรุษพวกนี้มิได้เพียงแค่ถูกระลึกถึง โดยแนวเสาหินหรือเพียงคำไว้อาลัยในแผ่นดินของตนเอง แต่ยังถูกจดจำในต่างแดน ในความทรงจำที่มิใช่เพียงบันทึกบนแผ่นศิลา หากเป็นในหัวใจและความนึกคิดของผู้คนแม้จะอยู่ต่างถิ่น

— สุนทรพจน์ไว้อาลัยของเพริคลีสต่อชาวเอเธนส์[4]

บุกเบิกแนวคิดสัจนิยมทางประวัติศาสตร์[แก้]

ความถูกผิดชอบธรรม (δίκαιος) ตามความเข้าใจของนรชนในโลกนี้ เป็นเรื่องที่เคารพปฏิบัติก็แต่ระหว่างฝ่ายที่ถูกผูกมัดด้วยธรรมเนียมนั้นเหมือน ๆ กัน แต่ผู้แข็งแกร่งย่อมทำได้ตามที่ตนสามารถ ในขณะที่ผู้อ่อนแอมีแต่ต้องทนรับ

— บทสนทนาระหว่างผู้ถือสารของจักรวรรดิเอเธนส์และผู้ปกครองนครเมลอส[5]

ทิวซิดิดีสพิจารณาว่าการเมืองเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคำถามทางจริยธรรมเสมอไป ท่านตั้งคำถามว่าความยุติธรรมและจารีตประเพณีจะมีบทบาทอย่างไร ต่อความสัมพันธ์ระหว่างรัฐซึ่งมีอำนาจเป็นปัจจัยสำคัญ[6] นักสัจจะนิยมมักจะตั้งแง่กับการนำประเด็นทางศีลธรรมมาเกี่ยวข้องกับการเมืองระหว่างประเทศ และบางคนก็เถียงว่าไม่มีพื้นที่ให้กับคำถามทางศีลธรรมในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือมิฉะนั้นก็อ้างว่ารัฐอธิปไตยย่อมมี "ศีลธรรมของตนเอง" ที่แตกต่างไปจากศีลธรรมตามจารีตประเพณี ด้วยเหตุนี้นักสัจจะนิยมจึงมองธรรมชาติของมนุษย์ว่ามีความเห็นแก่ตัว และมักคล้อยไปทางความหลงมัวเมาในอำนาจ จนมักจะเอาประโยชน์ส่วนตัวมาอยู่เหนือหลักเกณฑ์ทางศีลธรรมอยู่ตลอดเวลา[7]

อัครปุระ ในกรุงเอเธนส์
ซากปรักหักพังในสปาร์ตา

ด้วยสาเหตุนี้นักสัจจะนิยมจึงคิดว่าสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศ - ซึ่งไม่มีกลไกถาวรจะมาสร้างและบังคับใช้กฎเกณฑ์ทางจารีต หรือศีลธรรม - เป็นพื้นที่ที่แต่ละรัฐต้องรับผิดชอบความอยู่รอดของตัวเอง และมีอิสระเสรีเต็มที่ที่จะกำหนดผลประโยชน์ และแสวงหาอำนาจ หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งว่าเป็นพื้นที่อนาธิปไตย (anarchy) ที่อำนาจมีบทบาทสำคัญที่สุดที่จะกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ[8] แนวคิดนี้ได้รับการสนับสนุนโดยบทสนทนาเมเลียน (Melian Dialogue)ระหว่างคณะทูตชาวเอเธนส์ และผู้ปกครองของนครเมลอส โดยขณะที่ฝ่ายเมลอสพยายามป้องกันความเป็นอิสรภาพของตนโดยอ้างหลักความยุติธรรม และความชอบธรรม[9] ผู้ถือสารจากเอเธนส์กลับเตือนให้ผู้ปกครองของเมลอสตระหนักถือแสนยานุภาพทางการทหารที่เหนือกว่าของเอเธนส์ ที่สามารถจะทำให้เมลอสพินาศได้ทุกเมื่อ[10]

แนวคิดสัจจะนิยมอธิบายว่า ประเทศทั้งหลายย่อมพยายามทำการทุกอย่างเพิ่มพูนอำนาจของตน และจะกระทำการใด ๆ เพื่อคาน หรือยับยั้งอำนาจของรัฐอื่นที่อยู่ในข่ายที่อาจเป็นภัยก้าวร้าวต่อความมั่นคงของรัฐตน ด้วยเหตุนี้สงครามจึงอาจเกิดขึ้นได้ เมื่อประเทศที่เคยทรงอำนาจมาก่อนเห็นว่ารัฐอีกรัฐหนึ่งกำลังขยายอำนาจคุกคามความมั่นคงของตนมากขึ้นเรื่อย ๆ และไม่มีวิธีการอื่นที่จะหยุดการเพิ่มพูนทางอำนาจของรัฐที่ตนเห็นว่าเป็นปรปักษ์ได้ จากเหตุผลดังกล่าวทิวซิดิดีสจึงระบุว่าสาเหตุของสงครามเพโลพอนนีเซียน เกิดจากการถ่ายเทอำนาจระหว่างสองขั้วอำนาจหลักของนครรัฐกรีก คือ ฝ่ายสันนิบาตดีเลียนภายใต้การนำของเอเธนส์ฝ่ายหนึ่ง และฝ่ายสันนิบาตเพโลพอนนีเซียนที่อยู่ภายใต้แสนยานุภาพทางทหารของสปาร์ตา (ซึ่งเป็นผู้นำทางการสงครามในภูมิภาคนี้มาแต่โบราณ) อีกฝ่ายหนึ่ง หรือพูดอีกอย่างคือ ทิวซิดิดีสเชื่อว่าการขยายอำนาจของเอเธนส์จนขึ้มมาเป็นจักรวรรดิ์ทางทะเล ทำให้ฝ่ายสปาร์ตาตัดสินใจเข้าสู่สงครามกับเอเธนส์[11]

การวิเคราะห์และตีความของนักวิชาการ[แก้]

อย่างไรก็ดีหากพิจารณาจากบันทึกมหาสงครามเพโลพอนนีเซียนทั้งเล่มของท่าน จะเห็นได้ว่าทิวซิดิดีส ไม่ได้เป็นนักสัจจะนิยมสายแข็ง แต่ท่านกลับมุ่งแสดงให้ผู้อ่านเห็นว่า อำนาจย่อมนำไปสู่ความกระหายที่จะแสวงหาอำนาจเพิ่มขึ้นอย่างไม่มีที่สิ้นสุด หากไม่ถูกบั่นทอนเสียบ้างโดยสำนึกของความยุติธรรม ซึ่งความมัวเมาในอำนาจและความมั่งคั่งทางวัตถุของจักรวรรดินี้ อาจกลายเป็นเครื่องมือของนักการเมืองที่จะเอามาใช้เพื่อหาเสียงเข้าสู่อำนาจ จนประเทศชาติถูกชักนำไปสู่ความหายนะ ซึ่งนี่ก็เป็นชะตากรรมแบบเดียวกับที่เอเธนส์เผชิญในที่สุด เพราะชาวเอเธนส์ถูกชักนำให้มีความหยิ่งยโส คิดถึงแต่เรื่องผลประโยชน์ แต่ไม่ใส่ใจพิจารณาถึงความชอบธรรมทางจารีตประเพณีในการกระทำของตน พวกเขาจึงประเมินกำลังตัวเองสูงเกินไป และในที่สุดความกระหายอำนาจนั้นก็นำไปสู่ความพ่ายแพ้ต่อสปาร์ตาคู่อริ ดังนี้จะเห็นได้ว่าทิวซิดิดีวก็เอาภาพรวมของประวัติศาสตร์ มาอธิบายการล่มสลายของจักรวรดิเอเธนส์ว่าเกิดจากการตัดสินใจที่ผิดพลาดต่อ ๆ กันมาเป็นอนุกรม เพราะถูกชักจูงโดยความโลภและขาดสติ ซึ่งเป็นแนวคิดที่คล้ายกับวรรณกรรมโศกนาฏกรรมของกรีก ด้วยเหตุนี้นักวิชาการสมัยใหม่จึงเริ่มแคลงใจที่จะจัดให้ ทิวซิดิดีส เป็นบิดาของสัจนิยมการเมือง (real politik) เหมือนอย่างในอดีต

รูปครึ่งตัวของทิวซิดิดีส ตั้งอยู่ ณ Royal Ontario Museum, โทรอนโท

นักวิชาการด้านกรีกโบราณ จาเคอลีน เดอ รอมิยี (Jacqueline de Romilly) เป็นคนแรกที่ชี้ให้เห็นว่า ปัญหาในทางจริยศาสตร์เกี่ยวกับลัทธิจักรวรรดินิยมของเอเธนส์ เป็นหนึ่งในประเด็นที่ทิวซิดิดีสเพ่งความสนใจมากที่สุด และเธอชี้ว่าท่านวางงานเขียนประวัติศาสตร์ของตนไว้ ในบริบทของความคิดแบบกรีกเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างประเทศ การวิเคราะห์ของเธอกระตุ้นให้นักวิชาการหลายคน หันมาตั้งคำถามเกี่ยวกับมุมมองของทิวซิดิดีส ที่มีต่อ Realpolitik หรือแนวคิดสัจนิยมการเมือง จนระยะหลังมานี้ ความเชื่อว่าตัวทิวซิดิดีสเป็น "บิดาของสำนักความคิดสัจนิยมการเมือง" ถูกสั่นคลอนอย่างต่อเนื่อง นักวิชาการบางท่านรวมทั้ง ริชาร์ด เน็ด เลอโบ (Richard Ned Lebow) เห็นว่างานเขียนของทิวซิดิดีส อาศัยและอ้างอิงแนวคิดในบทกวีมหากาพย์ และโศกนาฏกรรมในวรรณกรรมกรีกอย่างมาก จนถึงขนาดว่าจะยกให้ท่านเป็น "นักประพันธ์โศกนาฏกรรมคนสุดท้าย"[12] ก็ไม่ผิดนัก ในมุมมองนี้ พฤติกรรมที่ไร้ศีลธรรม และอัปยศ หรือ ฮิวบริส (ὕβρις) ของชาวเอเธนส์ จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้พวกเขาต้องพบกับความหายนะ

ส่วนนักปรัชญาการเมือง ลีโอ สเตราส์ (ในหนังสือ The City and Man) เห็นว่าทิวซิดิดีสมีความรู้สึกขัดแย้งต่อวัฒนธรรมของชาวเอเธนส์ กล่าวคือในขณะที่สติปัญญาของตัวท่านเองเป็นผลผลิตของประชาธิปไตยแบบเพริคลีส ซึ่งให้เสรีภาพแก่ความกล้าคิดกล้าทำ ความกล้าเสี่ยงภัย และจิตวิญญาณที่ใฝ่ค้นหาคำตอบของปัจเจกบุคคล แต่เสรีภาพดังกล่าวในที่สุดก็ส่งเสริมความทะเยอทะยานทางการเมืองอย่างไม่มีที่สิ้นสุด จนนำไปสู่ลัทธิจักรวรรดินิยม และความยุ่งเหยิงในประเทศ

อ้างอิง[แก้]

  1. Thucydides, 2.65
  2. Thucydides, 3.36
  3. Thucydides, 4.27
  4. Thucydides, 2.43
  5. Thucydides, 5.89
  6. Korab-Karpowicz, W. Julian (26 July 2010). "Political Realism in International Relations". ใน Edward N. Zalta (บ.ก.). The Stanford Encyclopedia of Philosophy (Summer 2013 ed.). สืบค้นเมื่อ 2016-03-23.
  7. ibid.
  8. ibid.
  9. Thucydides, 5.90
  10. Thucydides, 5.101
  11. Thucydides, 1.23
  12. Richard Ned Lebow, The Tragic vision of Politics (Cambridge University Press, 2003), p. 20.

อ้างอิงและอ่านเพิ่มเติม[แก้]

แหล่งข้อมูลปฐมภูมิ[แก้]

แหล่งข้อมูลทุติยภูมิ[แก้]

  • Cornelius Castoriadis, "The Greek Polis and the Creation of Democracy" in The Castoriadis Reader. Translated and edited by David Ames Curtis, Blackwell Publishers Ltd 1997, pp. 267–289 [Cornelius Castoriadis, "La polis grecque et la création de la démocratie" in Domaines de l’homme. Les Carrefours du labyrinthe II. Paris: Éditions du Seuil, 1986, pp. 261–306].
  • Cornelius Castoriadis, Thucydide, la force et le droit. Ce qui fait la Grèce. Tome 3, Paris: Éditions du Seuil, 2011.
  • Connor, W. Robert, Thucydides. Princeton: Princeton University Press, 1984. ISBN 0-691-03569-5.
  • Dewald, Carolyn, Thucydides' War Narrative: A Structural Study. Berkeley, CA: University of California Press, 2006 (hardcover, ISBN 0-520-24127-4).
  • Finley, John Huston, Jr., Thucydides. Cambridge, Massachusetts: Harvard University Press, 1947.
  • Forde, Steven, The ambition to rule: Alcibiades and the politics of imperialism in Thucydides. Ithaca: Cornell University Press, 1989. ISBN 0-8014-2138-1.
  • Hanson, Victor Davis, A War Like No Other: How the Athenians and Spartans Fought the Peloponnesian War. New York: Random House, 2005. ISBN 1-4000-6095-8.
  • Hornblower, Simon, A Commentary on Thucydides. 2 vols. Oxford: Clarendon, 1991–1996. ISBN 0-19-815099-7 (vol. 1), ISBN 0-19-927625-0 (vol. 2).
  • Hornblower, Simon, Thucydides. London: Duckworth, 1987. ISBN 0-7156-2156-4.
  • Kagan, Donald, The Archidamian War. Ithaca: Cornell University Press, 1974. ISBN 0-8014-0889-X OCLC 1129967.
  • Kagan, Donald, The Peloponnesian War. New York: Viking Press, 2003. ISBN 0-670-03211-5.
  • Kelly, Paul, "Thucydides: The naturalness of war" in Conflict, War and Revolution: The problem of politics in international political thought. London: LSE Press, 2022. ISBN 978-1-909890-73-2
  • Luce, T.J., The Greek Historians. London: Routledge, 1997. ISBN 0-415-10593-5.
  • Luginbill, R.D., Thucydides on War and National Character. Boulder: Westview, 1999. ISBN 0-8133-3644-9.
  • Momigliano, Arnaldo, The Classical Foundations of Modern Historiography (= Sather Classical Lectures 54). Berkeley: University of California Press, 1990.
  • Novo, Andrew and Jay Parker, Restoring Thucydides. New York: Cambria Press, 2020. ISBN 978-1621964742.
  • Orwin, Clifford, The Humanity of Thucydides. Princeton: Princeton University Press, 1994. ISBN 0-691-03449-4.
  • Podoksik, Efraim, "Justice, Power, and Athenian Imperialism: An Ideological Moment in Thucydides’ History" in History of Political Thought 26(1): 21–42, 2005.
  • Romilly, Jacqueline de, Thucydides and Athenian Imperialism. Oxford: Basil Blackwell, 1963. ISBN 0-88143-072-2.
  • Rood, Tim, Thucydides: Narrative and Explanation. Oxford: Oxford University Press, 1998. ISBN 0-19-927585-8.
  • Russett, Bruce (1993). Grasping the Democratic Peace. Princeton University Press. ISBN 0-691-03346-3.
  • de Sainte Croix, The origins of the Peloponnesian War. London: Duckworth, 1972. pp. xii, 444.
  • Strassler, Robert B, ed, The Landmark Thucydides: A Comprehensive Guide to the Peloponnesian War. New York: Free Press, 1996. ISBN 0-684-82815-4.
  • Strauss, Leo, The City and Man Chicago: Rand McNally, 1964.
  • Zagorin, Perez, Thucydides: an Introduction for the Common Reader. Princeton, NJ: Princeton University Press, 2005. ISBN 0-691-13880-X OCLC 57010364.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

หนังสือและตำรา[แก้]

  • วิศรุต พึ่งสุนทร. (2556). ประวัติศาสตร์นิพนธ์ตะวันตกก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 20. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

เว็บไซต์[แก้]