ข้ามไปเนื้อหา

ปรัชญาการเมือง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เพลโต (ซ้าย) และ อริสโตเติล (ขวา) เจ้าของผลงานปรัชญาทางการเมืองที่ทรงอิทธิพล อุตมรัฐและโพลิติก ในสมัยกรีกโบราณ

ปรัชญาการเมือง (อังกฤษ: political philosophy) เป็นสาขาวิชาหนึ่งขององค์ความรู้ในวิชารัฐศาสตร์ ปรัชญาการเมืองเป็นวิชาที่เก่าแก่ที่สุดเนื่องจากเป็นวิชาที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ราวศตววษที่ 5 ก่อนคริสตกาลในดินแดนคาบสมุทธเพลอพอนเนซุส หรือดินแดนของประเทศกรีซในปัจจุบัน จุดเริ่มต้นของวิชาปรัชญาการเมืองเกิดขึ้นในนครรัฐที่ชื่อว่าเอเธนส์ในช่วงที่เอเธนส์เริ่มเปลี่ยนรูปแบบการปกครองจากระบบอภิสิทธ์ชนธิปไตย (Aristocracy) มาเป็นประชาธิปไตยโบราณ (Demokratia) [1]

นิยาม

[แก้]

สารานุกรมปรัชญาของรูธเลท (Routledge Internet Encyclopedia of Philosophy) นิยามวิชาปรัชญาการเมืองว่าเป็นกระบวนการสะท้อนความคิดทางปรัชญา ในเรื่องการจัดการชีวิตสาธารณะให้มีความเหมาะสม เหมาะควร ผ่านการครุ่นคิดว่าสถาบันทางการเมืองแบบใดที่ดีที่สุด กิจกรรมทางการเมืองแบบใดที่ดีที่สุด ฯลฯ [2] ส่วนสารานุกรรมปรัชญา (Internet Encyclopedia of Philosophy) อธิบายว่า ปรัชญาการเมืองคือการแสวงหาชีวิตที่ดี แสวงหาชีวิตที่ควรจะเป็น แสวงหาค่านิยมที่ดีในการปกครอง สถาบันทางสังคมที่ดีในการปกครอง [3]

เมื่อแยกพิจารณาคำว่าปรัชญาการเมืองในภาษาอังกฤษโดยทางนิรุกติศาสตร์แล้ว จะพบว่า Philosophy มีรากศัพท์มาจากภาษากรีกโบราณว่า Φιλοσοφος (philosophos) เกิดจากการสนธิของคำว่า philos (มิตรภาพ) และ sophia (ปัญญา) ที่แปลตรงตัวว่า “มิตรภาพกับปัญญา” หรือแปลเทียบเคียงได้ว่า “การไฝ่รู้หรือความไฝ่รู้” อย่างไรก็ดีในวงวิชาการไทยมักแปลผิดเป็น "ความรักในความรู้" ทั้งที่คำว่าความรักในภาษากรีกนั้นคือ 'ερως ('eros) หรือ αγάπη (aga'pe) ซึ่งมักเป็นคำที่ถูกใช้แสดงอารมณ์ ส่วนคำว่าความรู้นั้นคือ επιστήμη (episte'me) ซึ่งหมายถึงความรู้ที่แท้จริงที่มนุษย์อาจเข้าถึงหรือเข้าไม่ถึงก็ได้ ปรัชญาจึงไม่ใช่ความรอบรู้ นักปรัชญาจึงไม่ใช่ผู้รู้หรือครู (sophist) การแปลคำว่าปรัชญาในภาษาอังกฤษว่า "ความรักในความรู้" จึงถือว่าแปลไม่ถูกต้องตามรากศัพท์ เพราะไม่ได้ครอบคลุมนิยามที่ว่าปรัชญาเป็นความรักที่จะเรียนรู้หรือแสวงหาความรู้ นักปรัชญาจึงมีลักษณะแบบนักสงสัย (sceptic) และนักแสวงหาความรู้ ว่าไปแล้วนักปรัชญาจึงมีลักษณะของนักเรียนตลอดชีพมากกว่าผู้รู้ที่ทรงภูมิตามความหมายแบบตะวันออก[4]

ส่วนคำว่าการเมืองในทางรัฐศาสตร์เป็นเรื่องทางสังคมศาสตร์ของการกำหนดมุมมองของผู้คนให้มองเห็น หรือเข้าใจในสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม ในทางรัฐศาสตร์การเมืองนั้นมีความหมายอย่างน้อย 2 ระดับ (senses) คือ

  • ในระดับที่แคบที่สุดคือ รัฐบาล (the narrowest sense : what governments do?) ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับเรื่องที่รัฐหรือรัฐบาลกระทำสิ่งใดขึ้นมา และ
  • ในระดับที่กว้างที่สุดคือความสัมพันธ์ในสังคม (the widest sense : people exercising power over others) เป็นเรื่องที่คนในสังคมการเมืองใช้อำนาจต่อกัน

นอกจากนี้การเมืองยังได้สร้างสำนึกในเรื่องความรับผิดชอบขึ้นด้วยเพราะการเมืองพยายามสร้างการรับผิดชอบต่อสิ่งที่เป็นส่วนรวม/สาธารณะ (public affairs) อาทิ การเมือง ธุรกิจ การค้า การทำงาน ศิลปะ ฯลฯ) ไม่ใช่เพียงคิดถึงเรื่องส่วนตัว (private sphere) ในขณะเดียวกันพื้นที่ส่วนตัว อาทิ ครอบครัว เรื่องในบ้าน ความสัมพันธ์ส่วนตัว ฯลฯ ควรเป็นเรื่องของเสรีภาพของคน รัฐไม่ควรเข้าไปแทรกแซง[5]

ดังนั้นหากกล่าวโดยสรุป "ปรัชญาการเมืองจึงเป็นวิชาที่เป็นการแสวงหาความเข้าใจในแนวคิดต่างๆที่นำเสนอกระบวนการทางอำนาจในการกำหนดมุมมองของผู้คนให้มองเห็น หรือเข้าใจในสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม"

อ้างอิง

[แก้]
  1. Thomas Alan Sinclair. A History Of Greek Political Thought. Cleveland and New York: Meridian, 1967.
  2. http://www.rep.routledge.com/article/S099
  3. http://www.iep.utm.edu/polphil/
  4. พิสิษฐิกุล แก้วงาม. ความรู้พื้นฐานในทางรัฐศาสตร์ (ภาคความคิด). มหาสารคาม : หลักสูตรสาขาวิชารัฐศาสตร์ วิทยาลัยกฎหมายและการปกครอง มหาวิทยาลัยราชภัฎมหาสารคาม, 2552
  5. Stephen D. Tansey. Politics : the basic. (3rd Edition) (London : Routledge, 2004), p.3.

ดูเพิ่ม

[แก้]