ยืน ภู่วรวรรณ
ยืน ภู่วรวรรณ | |
---|---|
![]() | |
เกิด | 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2493 จังหวัดพระนคร ประเทศไทย |
สัญชาติ | ไทย |
ศิษย์เก่า | จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย |
อาชีพ | นักวิทยาการคอมพิวเตอร์ |
องค์การ | มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ |
มีชื่อเสียงจาก | การพัฒนาการประมวลภาษาธรรมชาติในภาษาไทย |
คู่สมรส | วรรณา ภู่วรวรรณ |
บุตร | 2 คน |
รางวัล | นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ (พ.ศ. 2539) |
รองศาสตราจารย์ ยืน ภู่วรวรรณ (เกิด 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2493) เป็นนักวิทยาการคอมพิวเตอร์ชาวไทย เคยเป็นอาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อยู่ก่อนเกษียณอายุราชการ รศ. ยืนมีผลงานเด่นในด้านการพัฒนาการประมวลภาษาธรรมชาติด้วยคอมพิวเตอร์ในภาษาไทย และการการพัฒนาโครงสร้างระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
วัยเยาว์และการศึกษา[แก้]
รศ. ยืน ภู่วรวรรณ เกิดเมื่อ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2493 ที่กรุงเทพมหานคร เป็นบุตรคนที่สามจากหกคน และเป็นฝาแฝดผู้พี่ของ ศ.ยง ภู่วรวรรณ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อยังเด็ก ครอบครัวได้ย้ายภูมิลำเนาไปอยู่อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม และได้เข้าศึกษาที่โรงเรียนพระปฐมวิทยาลัย และศึกษาระดับปริญญาตรีที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยสำเร็จการศึกษาวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต (วิศวกรรมไฟฟ้า) ใน พ.ศ. 2515 และระดับมหาบัณฑิต (ปริญญาโท) สาขาวิศวกรรมไฟฟ้าจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสาขาวิศวกรรมอุตสาหการจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย ใน พ.ศ. 2517[1][2]
การทำงาน[แก้]
รศ. ยืน เริ่มทำงานเป็นอาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ใน พ.ศ. 2516 โดยได้เริ่มพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับไมโครคอมพิวเตอร์ ใน พ.ศ. 2521 และทำการพัฒนาการประมวลภาษาธรรมชาติตั้งแต่ พ.ศ. 2523 รศ. ยืนและคณะได้สาธิตโปรแกรมประมวลผลคำภาษาไทยครั้งแรกใน พ.ศ. 2524 และพัฒนาโปรแกรม Thai Easy Writer เสร็จในปีถัดมา [3][4]
รศ. ยืนเป็นหนึ่งในผู้ที่สนับสนุนให้มีมาตรฐานระบบภาษาไทยสำหรับคอมพิวเตอร์ (ใน พ.ศ. 2527 มีใช้อยู่กว่ายี่สิบระบบ) และเป็นรองประธานคณะกรรมการวิชาการร่างมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม รหัสสำหรับอักขระไทยที่ใช้กับคอมพิวเตอร์ (มอก.620-2529 ซึ่งถัดมาปรับปรุงเป็น มอก.620-2533)[5]
รศ. ยืนเป็นหัวหน้าห้องปฏิบัติการวิจัยไมโครคอมพิวเตอร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งได้พัฒนาระบบมาตรฐานภาษาไทยระดับแก่น (Thai Kernel System) ใน พ.ศ. 2533 เป็นระบบเคอร์เนลที่รับรองการพัฒนาโปรแกรมที่ใช้ภาษาไทยโดยไม่ต้องขึ้นกับฮาร์ดแวร์ แต่ระบบนี้ไม่สามารถขยายฐานผู้ใช้ได้สำเร็จเมื่อมีการขยายการใช้งานของระบบไมโครซอฟท์ วินโดวส์ในเวลาต่อมา[6]
รศ. ยืนเป็นผู้บุกเบิกการใช้ฐานข้อมูลพจนานุกรมสำหรับการแบ่งคำภาษาไทยและการแปลภาษาด้วยเครื่อง ได้จัดทำอรรถาภิธานภาษาไทยเป็นครั้งแรก[7] และได้พัฒนาระบบการวิเคราะห์และสังเคราะห์คำและประโยคสำหรับการตรวจตัวสะกดด้วยคอมพิวเตอร์ ผลงานวิจัยของ รศ. ยืนจำนวนมากที่ได้นำเสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติ[8]
รศ. ยืนยังมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ตั้งแต่ พ.ศ. 2533 ซึ่งต่อมาได้มีการใช้ระบบเครือข่ายใยแก้วนำแสงเป็นมหาวิทยาลัยแรกในประเทศไทย และแลนไร้สายทั้งมหาวิทยาลัยใน พ.ศ. 2540 ซึ่งเป็นเครือข่ายที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้[9] ทั้งนี้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นผู้บุกเบิกการใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศมานาน โดยได้ตั้งสำนักบริการคอมพิวเตอร์เป็นหน่วยงานระดับคณะตั้งแต่ พ.ศ. 2528 ซึ่ง รศ. ยืนก็เคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักฯ รศ. ยืนดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศมาตั้งแต่ พ.ศ. 2545 จนเกษียณอายุราชการใน พ.ศ. 2554
รศ. ยืนมีผลงานเขียนหนังสือและตำราด้านคอมพิวเตอร์และด้านอื่น ๆ กว่าหกสิบรายการ และได้รับการยอมรับมานานว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ระดับแนวหน้าของประเทศไทย
ชีวิตส่วนตัว[แก้]
รศ. ยืน สมรสกับนางวรรณา ภู่วรวรรณ มีบุตรสาวสองคนและบุตรชายหนึ่งคนคือ ณวรรณ ณัญจนา และ ณัช ภู่วรวรรณ ตามลำดับ รศ. ยืนได้ริเริ่มใช้อีเมลในการสื่อสารกับบุตรทั้งสามคนมาตั้งแต่ พ.ศ. 2537 โดยใช้เป็นตัวกลางในการสื่อสารเวลาอยู่ต่างประเทศ และสอนบทเรียนชีวิตผ่านตัวอย่างที่มักได้จากธรรมชาติ ด้วยเหตุนี้กูเกิลจึงได้ให้ รศ. ยืนเป็นหนึ่งใน "ฮีโร่เว็บ" ในแคมเปญ "เว็บคือสิ่งที่คุณสร้างสรรค์" ซึ่งเป็นการประชาสัมพันธ์เบราว์เซอร์กูเกิล โครม[10]
เกียรติประวัติ[แก้]
สภาวิจัยแห่งชาติ ได้มองรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2539 สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพและคณิตศาสตร์ แด่ รศ. ยืน เป็นการประกาศเกียรติคุณสำหรับผลงานวิจัยด้านการประมวลภาษาธรรมชาติด้วยคอมพิวเตอร์อย่างต่อเนื่อง รศ. ยืนยังได้รับรางวัลผลงานคิดค้นหรือสิ่งประดิษฐ์ที่เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ จากสภาวิจัยแห่งชาติ ใน พ.ศ. 2526 พ.ศ. 2527 พ.ศ. 2529 พ.ศ. 2530 พ.ศ. 2531 พ.ศ. 2533 และ พ.ศ. 2535 อีกด้วย[11]
รศ. ยืนได้ดำรงตำแหน่งกรรมการสมาคมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ เป็นสมาชิกสภาวิจัยแห่งชาติ และเป็นที่ปรึกษาให้กับหน่วยราชการ อาทิเช่นสำนักงบประมาณและกรมสรรพากร รศ. ยืนเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในการจัดทำหลักสูตรคอมพิวเตอร์ให้กับสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นผู้ดูแลตัวแทนนักเรียนไทยในการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ และเป็นประธานคณะกรรมการจัดงานการแข่งขันฯ ครั้งที่ 23 ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพใน พ.ศ. 2554
รางวัลที่ได้รับ[แก้]
ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์(การวิเคราะห์ธุรกิจและวิทยาการข้อมูล) จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]
- พ.ศ. 2542 –
เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)[12]
- พ.ศ. 2537 –
เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 1 ประถมาภรณ์ช้างเผือก (ป.ช.)[13]
- พ.ศ. 2546 –
เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ชั้นที่ 4 จตุตถดิเรกคุณาภรณ์ (จ.ภ.)[14]
- พ.ศ. 2541 –
เหรียญจักรพรรดิมาลา (ร.จ.พ.)[15]
อ้างอิง[แก้]
- ↑ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, "ยืน ภู่วรวรรณ", เว็บไซต์ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-09-14, สืบค้นเมื่อ 2012-11-20.
- ↑ บุญหนุน, จิรพรรณ (18 September 2007), "Computer pioneer", The Nation, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-09-06, สืบค้นเมื่อ 2009-02-15.
- ↑ กออนันตกูล, ทวีศักดิ์ (7 February 2007), "A brief history of ICT in Thailand", Bangkok Post, สืบค้นเมื่อ 2009-02-15.
- ↑ กออนันตกูล, ทวีศักดิ์ (May 1997), "Multilingual Information Technology Initiatives in Thailand", International Symposium on Standardization of Multilingual Information Technology (MLIT97), สืบค้นเมื่อ 2009-02-15.
- ↑ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม, ตันประเสริฐ, จุฬารัตน์ (บ.ก.), รหัสสำหรับอักขระไทยที่ใช้กับคอมพิวเตอร์ (ออนไลน์ ed.), สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-01-29, สืบค้นเมื่อ 2009-02-15.
- ↑ Linux Thai Project, "การพัฒนาของภาษาไทยกับคอมพิวเตอร์", Linux Thai Project, Linux Thai Project, สืบค้นเมื่อ 2009-02-15.
- ↑ The Nation (21 October 2004), "Booktalk: A tale of two Thai thesauruses", The Nation, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-10-02, สืบค้นเมื่อ 2009-02-21.
- ↑ สภาวิจัยแห่งชาติ, รองศาสตราจารย์ ยืน ภู่วรวรรณ นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2539 สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพและคณิตศาสตร์, สภาวิจัยแห่งชาติ, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-04, สืบค้นเมื่อ 2009-02-15.
- ↑ Business Wire (16 September 2003), Kasetsart University Builds Largest Academic Wi-Fi Network in Southeast Asia with Cisco Aironet Wireless LAN Solutions, Business Wire, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-06-17, สืบค้นเมื่อ 2009-02-21.
- ↑ บุญเรือง, ศศิวิมล (12 July 2011), "Nature and nurture: How a doting dad got elevated to the status of 'web hero'", Bangkok Post, สืบค้นเมื่อ 30 August 2011.
- ↑ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, "รองศาสตราจารย์ ยืน ภู่วรวรรณ", นิทรรศการงานวิจัย 60 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-06-09, สืบค้นเมื่อ 2009-02-15.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย, เล่ม ๑๑๖ ตอนที่ ๒๐ ข หน้า ๑๙, ๒ ธันวาคม ๒๕๔๒
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2007-01-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๑ ตอนที่ ๒๑ ข หน้า ๔๑, ๓ ธันวาคม ๒๕๓๗
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ เก็บถาวร 2021-10-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๐ ตอนที่ ๒๐ ข หน้า ๑๒๙, ๑ ธันวาคม ๒๕๔๖
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญจักรมาลาและเหรียญจักรพรรดิมาลา, เล่ม ๑๑๖ ตอนที่ ๓ ข หน้า ๗๓๘, ๒๙ มกราคม ๒๕๔๒
- บุคคลที่เกิดในปี พ.ศ. 2493
- บุคคลจากจังหวัดพระนคร
- บุคคลฝาแฝดจากประเทศไทย
- ฝาแฝดเหมือน
- วิศวกรชาวไทย
- รองศาสตราจารย์
- บุคคลจากโรงเรียนพระปฐมวิทยาลัย
- นิสิตเก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- บุคคลจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- ผู้ได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งประเทศไทย
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ป.ช.
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ม.ว.ม.
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ จ.ภ.