ฟาโรห์เนคทาเนโบที่ 1

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เนคทาเนโบที่ 1 (อียิปต์โบราณ: Nḫt-nb.f; กรีก: Νεκτάνεβις เนคทาเนบิส; สวรรคตเมื่อ 361 หรือ 360 ปีก่อนคริสตกาล) เป็นฟาโรห์แห่งอียิปต์โบราณและทรงเป็นผู้สถาปนาราชวงศ์ที่สามสิบแห่งอียิปต์ ซึ่งเป็นราชวงศ์สุดท้ายของอียิปต์

พระนาม[แก้]

พระนามในภาษาอียิปต์โบราณของฟาโรห์เนคทาเนโบที่ 1 คือ Nḫt-nb.f ซึ่งแปลว่า "ผู้แข็งแกร่งของเจ้านายของพระองค์" และพระนามในภาษากรีกโบราณ คือ Νεκτάνεβις (เนคทาเนบิส) งานเขียนของมาเนโท ซึ่งได้รับการเก็บรักษาไว้โดยจอร์จ ซินเซลลัส ได้สะกดพระนามเป็น Νεκτανέβης (เนคทาเนเบส) แต่นี่อาจเป็นเพียงการประมาณการออกเสียงเนื่องจาก แนวโน้มของสระและคำควบกล้ำ โดยเฉพาะในภาษากรีกสมัยใหม่ เพื่อให้ได้มาซึ่งการออกเสียงสระน้อยเท่านั้น[4] ถึงแม้ว่าแบบแผนในภาษาอังกฤษจะกำหนดพระนามของพระองค์เหมือนกันกับพระนามของพระราชนัดดาของพระองค์คือ ฟาโรห์เนคทาเนโบที่ 2 แต่ที่จริงแล้วทั้งสองพระองค์มีพระนามที่ต่างกัน[5]

รัชสมัย[แก้]

การขึ้นมาสู่พระราชอำนาจและพระราชวงศ์[แก้]

ฟาโรห์เนคทาเนโบเดิมทีแล้วเป็นแม่ทัพจากเมืองเซเบนนิโตส เป็นบุตรชายของนายทหารคนสำคัญนามว่า ดเจดฮอร์ กับสตรีที่ปรากฏนามเพียงบางส่วนเท่านั้นนามว่า [...]มู[6] จารึกที่พบในเมืองเฮอร์โมโพลิส[7] ซึ่งเป็นหลักฐานที่แสดงบางอย่างว่า พระองค์ทรงเข้ามามีพระราชอำนาจโดยการโค่นล้มพระราชบัลลังก์ และอาจจะสำเร็จโทษฟาโรห์พระองค์สุดท้ายจากราชวงศ์ที่ยี่สิบเก้าแห่งอียิปต์พระนามว่า ฟาโรห์เนเฟริเตสที่ 2[8] มีข้อเสนอความเห็นที่ว่า ฟาโรห์เนคทาเนโบทรงได้รับความช่วยเหลือในการทำการยึดพระราชอำนาจโดยนายพลชาบริอัสแห่งเอเธนส์ โดยพระองค์ขึ้นปราบดาภิเษกในช่วงราว 379 หรือ 378 ปีก่อนคริสตกาลทั้งที่ในเมืองซาอิสและเมืองเมมฟิส[9] และทรงโปรดให้ย้ายราชธานีจากเมืองเมนเดสมาอยู่ที่เมืองเซเบนนิโตสแทน[10]

ความสัมพันธ์ระหว่างพระองค์กับฟาโรห์ในราชวงศ์ก่อนหน้านั้นยังไม่ชัดเจนนัก พระองค์ได้ทรงแสดงความเคารพเพียงเล็กน้อยต่อทั้งฟาโรห์เนเฟริเตสที่ 2 และฟาโรห์อาโชริส ซึ่งเป็นพระราชบิดาของฟาโรห์เนเฟริเตสที่ 2 โดยเรียกอดีตฟาโรห์พระองค์แรกว่า กษัตริย์ผู้ไร้ความสามารถ และพระองค์หลังว่า กษัตริย์ผู้แย่งชิง[11][12] ดูเหมือนว่าพระองค์จะให้ความสำคัญกับฟาโรห์เนเฟริเตสที่ 1 ซึ่งแต่ก่อนเชื่อว่าอาจจะเป็นพระราชบิดาหรือพระราชอัยกาของฟาโรห์เนคทาเนโบ ถึงแม้ว่าในปัจจุบันเชื่อกันว่า ข้อเสนอนี้เกิดจากการตีความผิดพลาดของประชุมพงศาวดารเดมอติก[8] แต่อย่างไรก็ตาม มีการเสนอว่าทั้งฟาโรห์อาโชริส และฟาโรห์เนคทาเนโบ อาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องทางสายพระโลหิตกับฟาโรห์เนเฟริเตสที่ 1 ไม่ว่าในทางใดทางหนึ่ง[12]

และทราบเพียงว่า ฟาโรห์เนคทาเนโนที่ 1 มีพระราชโอรสพระนามว่า ฟาโรห์ทีออส ซึ่งเป็นผู้สิบทอดพระราชบัลลังก์ต่อจากรพระองค์ และเจ้าทจาฮาปิมู[8]

กิจกรรมภายในพระราชอาณาจักร[แก้]

มุขหน้าของวิหารแห่งไอซิสที่ฟิเล

ฟาโรห์เนคทาเนโบที่ 1 ทรงเป็นผู้สร้างและผู้ซ่อมแซมที่ยิ่งใหญ่เท่าที่อียิปต์ไม่เคยเห็นมาก่อน[11] พระองค์ทรงโปรดให้สร้างวิหารหลายแห่งทั่วพระราชอาณาจักร[13]

บนเกาะอันศักดิ์สิทธิ์แห่งฟิเล ซึ่งอยู่ใกล้กับเมืองอัสวาน พระองค์ทรงโปรดให้เริ่มสร้างวิหารแห่งไอซิส ซึ่งจะกลายเป็นหนึ่งในสถานที่ทางศาสนาที่สำคัญที่สุดในอียิปต์โบราณโดยการสร้างส่วนหน้าขึ้น[13][14] พระองค์ยังทรงโปรดให้สร้างเสาแรกในบริเวณขัณฑสีมาแห่งอามุน-เร ที่คาร์นัก และเชื่อกันว่ามัมมิซิ (วิหารขนาดเล็กในสมัยอียิปต์โบราณที่สร้างติดกับวิหารขนาดใหญ่) ที่เก่าแก่ที่สุด ซึ่งพบที่เมืองเดนเดรานั้นถูกโปรดให้สร้างขึ้นโดยพระองค์[14][15] ลัทธิบูชาสัตว์อันศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเริ่มเด่นชัดระหว่างสองช่วงการยึดครองของชาวเปอร์เซีย (ช่วงราชวงศ์ที่ยี่สิบเจ็ดและราชวงศ์ที่สามสิบเอ็ด) ได้รับการสนับสนุนจากพระองค์เช่นกัน ตามหลักฐานจากการค้นพบทางโบราณคดีที่เมืองเฮอร์โมโพลิส, เฮอร์โมโพลิส ปาร์วา, ซาบต์ เอล-ฮินนา และเมนเดส ได้ค้นพบการก่อสร้างเพิ่มเติมที่สั่งโดยพระองค์ในอาคารทางศาสนาที่เมืองเมมฟิส ทานิส และเอล-คับ[15][16]

เสาแรกแห่งคาร์นัก

ฟาโรห์เนคทาเนโบที่ 1 ยังมีพระราชหฤทัยต่อเหล่าพระนักบวชอีกด้วย โดยในบันทึกพระราชโองการที่ระบุถึงในปีแรกแห่งรัชสมัยและจารึกที่ค้นพบที่เมืองนอคราทิส ซึ่งกำหนดให้ใช้ภาษีเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ที่เก็บจากการนำเข้าและจากการผลิตในท้องถิ่นในเมืองนี้สำหรับวิหารแห่งเทพีนิธที่เมืองซาอิส[17] เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้มีการค้นพบจารึกแฝด 2 ชิ้นในเมืองเฮราคลีออนที่จมอยู่ใต้น้ำ[18] ศิลาดังกล่าวมาจากเมืองเฮอร์โมโพลิส ซึ่งวางไว้หน้าเสาของฟาโรห์รามเสสที่ 2 ได้ระบุถึงรายการการบริจาคของฟาโรห์เนคทาเนโบแก่เทพเจ้าในท้องถิ่น และการบริจาคอื่น ๆ ยังได้มอบให้กับนักบวชของฮอรัสที่เอ็ดฟูอีกด้วย[17] ความฟุ่มเฟือยของฟาโรห์เนคทาเนโบได้แสดงความศรัทธาอย่างแรงกล้าต่อเหล่าเทพเจ้า ในขณะเดียวกันก็สนับสนุนทางการเงินแก่ผู้ถือความมั่งคั่งที่ใหญ่ที่สุดของประเทศและสำหรับการใช้จ่ายในการป้องกันประเทศ[11]

การเอาชนะการรุกรานของชาวเปอร์เซีย[แก้]

ในช่วงประมาณ 374 หรือ 373 ปีก่อนคริสตกาล ฟาโรห์เนคทาเนโบทรงต้องเผชิญหน้ากับความพยายามของชาวเปอร์เซียที่จะยึดพระราชอาณาจักรอียิปต์ ซึ่งยังถูกเพ่งเล็งโดยกษัตริย์แห่งจักรวรดิอะเคเมนิดพระนามว่า อาร์ตาเซอร์ซีสที่ 2 ไม่มีอะไรมากไปกว่าการก่อกบฎของเหล่าผู้ปกครองท้องถิ่น หลังจากหกปีในการเตรียมตัวและใช้แรงกดดันต่อเอเธนส์เพื่อระลึกถึงชาบริอุสนายพลชาวกรีก[19] กษัตริย์อาร์ตาเซอร์ซีสที่ 2 ก็ทรงได้ส่งกองทัพอันยิ่งใหญ่ที่นำโดยนายพลอิฟิเครติสแห่งเอเธนส์และฟาร์นาบาซูสแห่งเปอร์เซีย มีบันทึกว่ากองทัพประกอบด้วยทหารกว่า 200,000 นาย รวมทั้งทหารเปอร์เซียและทหารรับจ้างชาวกรีก และเรือประมาณ 500 ลำ ป้อมปราการบนสาขาเปลูเซียของแม่น้ำไนล์ ซึ่งได้รับคำสั่งจากฟาโรห์เนคทาเนโบทรงบังคับให้กองเรือข้าศึกต้องหาวิธีอื่นในการแล่นเรือไปตามแม่น้ำไนล์ ในที่สุดกองเรือก็สามารถหาทางขึ้นไปยังสาขาเมนเดสที่ได้รับการป้องกันน้อยกว่าได้[19]

ชาบริอุส นายพลแห่งเอเธนส์ (ด้านซ้าย) กับอาเกซิลาอุส กษัตริย์แห่งสปาร์ตา (ตรงกลาง) ในราชสำนักของฟาโรห์เนคทาเนโบที่ 1 เมื่อราว 361 ปีก่อนคริสตกาล

เมื่อถึงจุดนี้ ความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกันที่เกิดขึ้นระหว่างแม่ทัพอิฟิเครตีสกับฟาร์นาบาซูส ทำให้ศัตรูไม่สามารถไปถึงเมืองเมมฟิสได้ จากนั้นน้ำท่วมแม่น้ำไนล์ประจำปีและความตั้งใจของกองหลังชาวอียิปต์ที่จะปกป้องดินแดนของพวกเขาได้เปลี่ยนสิ่งที่ปรากฏให้เห็นในตอนแรกว่าฟาโรห์เนคทาเนโบจะพ่ายแพ้ต่อสงครามในครั้งนี้ แต่กองทหารของพระองค์กลับกลายว่าเป็นชัยชนะอย่างสมบูรณ์[20]

จากนั้นในช่วง 368 ปีก่อนคริสตกาล เหล่าผู้ปกครองท้องถิ่นบริเวณตะวันตกของจักรวรรดิอาคีเมนิดจำนวนมากได้เริ่มก่อกบฏต่อกษัตริย์อาร์ตาเซอร์ซีสที่ 2 ดังนั้น ฟาโรห์เนคทาเนโบจึงให้การสนับสนุนทางการเงินแก่กลุ่มกบฏและสถาปนาความสัมพันธ์กับทั้งสปาร์ตาและเอเธนส์ขึ้นใหม่[15]

การสืบพระราชสันตติวงศ์[แก้]

ฟาโรห์เนคทาเนโบเสด็จสวรรคตในช่วงปีที่ 19 แห่งการครองราชย์ของพระองค์ ซึ่งไม่เคยค้นพบหลุมฝังพระบรมศพ โลงพระบรมศพ และมัมมี่ของพระองค์เลย ในช่วงปลายรัชสมัยของพระองค์ (ในปีที่ 16 – ราว 364 หรือ 363 ก่อนคริสตศักราช) พระองค์อาจจะทรงแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับพระราชวงศ์ที่มีปัญหากับผู้ปกครองก่อนพระองค์ ดังนั้น ฟาโรห์เนคทาเนโบทรงได้ฟื้นฟูการปฏิบัติที่หายไปนานของการสำเร็จราชการร่วม โดยเชื่อมโยงเจ้าชายทีออส ซึ่งเป็นพระราชโอรสของพระองค์เข้ากับพระราชบัลลังก์ อย่างไรก็ตาม ไม่นานหลังจากการขึ้นมาเป็นผู้สำเร็จราชการร่วมของฟาโรห์ทีออส พระอนุชาของฟาโรห์เนคทาเนโบที่ 1 พระนามว่า เจ้าชายทจาฮาปิมู ได้ทรงทำการทรยศต่อพระองค์และพยายามโน้มน้าวให้เจ้านัคต์ฮอร์เฮบ ซึ่งเป็นพระโอรสของพระองค์เอง (ต่อมาคือ ฟาโรห์เนคทาเนโบที่ 2) ขึ้นครองพระราชบัลลังก์แห่งอียิปต์[8]

อ้างอิง[แก้]

  1. Lloyd (1994), p. 358
  2. Depuydt (2006), p. 279
  3. von Beckerath 1999, pp. 226–227.
  4. Popko & Rücker, pp. 52–53 (note 84).
  5. Depuydt 2010, pp. 193–194.
  6. Dodson & Hilton 2004, p. 256.
  7. Erman & Wilcken (1900)
  8. 8.0 8.1 8.2 8.3 Lloyd 1994, pp. 340–341.
  9. Grimal 1992, p. 372.
  10. Wilkinson 2010, p. 458.
  11. 11.0 11.1 11.2 Wilkinson 2010, pp. 456–457.
  12. 12.0 12.1 Grimal 1992, p. 373.
  13. 13.0 13.1 Clayton 1994, p. 203.
  14. 14.0 14.1 Lloyd 1994, p. 353.
  15. 15.0 15.1 15.2 Grimal 1992, p. 377.
  16. Lloyd 1994, p. 354.
  17. 17.0 17.1 Lloyd 1994, p. 343.
  18. Yoyotte (2006)
  19. 19.0 19.1 Grimal 1992, pp. 375–376.
  20. Lloyd (1994), p. 348

บรรณานุกรม[แก้]

  • von Beckerath, Jürgen (1999). Handbuch der ägyptischen Königsnamen. Münchner ägyptologische Studien. Vol. 46. Mainz am Rhein: Philipp von Zabern. ISBN 3-8053-2310-7.
  • Clayton, Peter A. (1994). Chronicle of the Pharaohs. Thames & Hudson. ISBN 978-0-500-05074-3.
  • Depuydt, Leo (2006). "Saite and Persian Egypt, 664 BC – 332 BC". ใน Erik Hornung; Rolf Krauss; David A. Warburton (บ.ก.). Ancient Egyptian Chronology. Leiden/Boston: Brill. ISBN 978-90-04-11385-5.
  • Depuydt, Leo (2010). "New Date for the Second Persian Conquest, End of Pharaonic and Manethonian Egypt: 340/39 B.C.E.". Journal of Egyptian History. 3 (2): 191–230. doi:10.1163/187416610X541709.
  • Dodson, Aidan; Hilton, Dyan (2004). The Complete Royal Families of Ancient Egypt. London: Thames & Hudson Ltd. ISBN 0-500-05128-3.
  • Erman, Adolf; Wilcken, Ulrich (1900). "Die Naukratisstele". Zeitschrift für Ägyptische Sprache und Altertumskunde. 38: 127–135. doi:10.1524/zaes.1900.38.jg.127. S2CID 202508833.
  • Grimal, Nicolas (1992). A History of Ancient Egypt. Oxford: Blackwell Books. ISBN 978-0-631-19396-8.
  • Lloyd, Alan B. (1994). "Egypt, 404–332 B.C.". The Fourth Century B.C. The Cambridge Ancient History. Vol. VI. ISBN 0-521-23348-8.
  • Popko, Lutz & Michaela Rücker (2011). "P.Lips. Inv. 1228 und 590: Eine neue ägyptische Königsliste in griechischer Sprache". Zeitschrift für Ägyptische Sprache und Altertumskunde. 138 (1): 43–62. doi:10.1524/zaes.2011.0005. ISSN 2196-713X.
  • Wilkinson, Toby (2010). The Rise and Fall of Ancient Egypt. London: Bloomsbury. ISBN 9781408810026.
  • Yoyotte, Jean (2006). "An extraordinary pair of twins: the steles of the Pharaoh Nektanebo I". ใน F. Goddio; M. Clauss (บ.ก.). Egypt's Sunken Treasures. Munich. pp. 316–323.

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม[แก้]

  • de Meulenaere, Herman (1963). "La famille royale des Nectanébo". Zeitschrift für Ägyptische Sprache und Altertumskunde. 90: 90–93. doi:10.1524/zaes.1963.90.1.90.