ผู้ชนะสิบทิศ
ปกนวนิยาย ผู้ชนะสิบทิศ ตอน บุเรงนองลั่นกลองรบ ฉบับตีพิมพ์ปี 2496 | |
ผู้ประพันธ์ | ยาขอบ |
---|---|
ประเทศ | ไทย |
ภาษา | ไทย |
หัวเรื่อง | พระเจ้าบุเรงนอง |
ประเภท | อิงประวัติศาสตร์ |
ผู้ชนะสิบทิศ เป็นนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ งานประพันธ์ของ ยาขอบ กล่าวถึงเรื่องราวของนักรบผู้หนึ่งที่ได้ชื่อว่าเป็น "ผู้ชนะสิบทิศ" นั่นคือ พระเจ้าบุเรงนองแห่งกรุงหงสาวดี นวนิยายได้รับความนิยมมากและดัดแปลงเป็นละครเวที ละครโทรทัศน์ และ ภาพยนตร์ หลายครั้ง ตลอดจน ละครวิทยุ รวมถึงมีการประพันธ์เพลง ผู้ชนะสิบทิศ ซึ่งเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายด้วย
ประวัติ
[แก้]ผู้ชนะสิบทิศ เป็นนิยายที่ยาขอบ หรือโชติ แพร่พันธุ์ ประพันธ์ ครั้งแรกใช้ชื่อว่า "ยอดขุนพล" เริ่มเขียนใน พ.ศ. 2474 จบลงใน พ.ศ. 2475 ในหนังสือพิมพ์ "สุริยา" และเริ่มเขียน "ผู้ชนะสิบทิศ" ในหนังสือพิมพ์ "ประชาชาติ" เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 จบภาคหนึ่งเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2476 ในตอน "ความรักครั้งแรก" รวมเล่มพิมพ์เมื่อ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2482 ฉบับพิมพ์รวมเล่มใช้ชื่อ "ลูกร่วมนม" สร้างชื่อเสียงให้ยาขอบ[1] เขียนรวมทั้งหมด 3 ภาค เมื่อ พ.ศ. 2482 แต่ยังไม่จบ เนื่องจากขาดข้อมูลบางอย่างที่จะต้องใช้ประกอบการเขียน ในเนื้อเรื่องกล่าวถึงราชวงศ์ตองอูตอนต้น เริ่มตั้งแต่รัชสมัยของพระเจ้าเมงจีโย ไปจนถึงพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ หรือ มังตราราชบุตร โดยคำว่าผู้ชนะสิบทิศนั้น มาจากคำที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงกล่าวถึง พระเจ้าบุเรงนองว่าเป็น The Conqueror of Ten Directions แต่สำหรับชื่อนิยาย จากหนังสือประวัติยาขอบ อ้างอิงว่า มาลัย ชูพินิจ เป็นผู้ตั้งให้[ต้องการอ้างอิง]
ผู้ชนะสิบทิศได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งยุคของจอมพลแปลก พิบูลสงครามเป็นช่วงที่รัฐบาลไทยมีนโยบายสร้างสหรัฐไทยเดิม โดยการส่งทหารไทยเข้ารุกรานดินแดนพม่าของอังกฤษร่วมกับญี่ปุ่น มีการปลุกระดมชาตินิยม ปี พ.ศ. 2485 ทางรัฐบาลได้มีการเข้าควบคุมสื่อสิ่งพิมพ์ทุกอย่าง นิยายผู้ชนะสิบทิศได้ถูกพิจารณาว่ามีเนื้อหาที่ยกย่องศัตรูของชาติ มีการใช้เรื่องราวที่ในนิยายไม่ได้กล่าวไว้ เช่นเรื่องการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่หนึ่งมาใช้การปลุกระดมชาตินิยม ทำให้นิยายผู้ชนะสิบทิศในสมัยนั้นถูกสั่งห้ามพิมพ์จำหน่ายหรือมีไว้ครอบครองอย่างเด็ดขาด[ต้องการอ้างอิง]
โครงเรื่อง
[แก้]มหาราชพม่าพระองค์หนึ่งมีพื้นตระกูลกำเนิดสามัญชน "จะเด็ด" เป็นลูกพระนมหลวง จึงพลอยได้สมาคมกับพระราชวงศ์นับแต่ร่วมน้ำนมกับมังตราราชบุตร และตะละแม่จันทรา ต่อมาเป็นดั่งดวงใจ จะเด็ด ฉากของเรื่องมีสามเมืองใหญ่ที่เหตุการณ์เกี่ยวเนื่องกันด้วยการเมือง การรบ ความแค้น และความรัก คือตองอู เมืองพม่าอันมีจะเด็ดเป็นหนึ่งในตองอู กับเมืองแปร และเมืองหงสาวดี อันเป็นเมืองมอญ ตองอูนั้นสร้างด้วยสามเกลอร่วมใจกัน คือ มังสินธุ ขุนพลผู้ออกบวช ภายหลังเป็นมหาเถรกุโสดออาจารย์ของจะเด็ด, ทะกะยอดิน ขุนพลผู้พอใจเป็นขุนวัง และเมงกะยินโย ขุนพลผู้เป็นกษัตริย์เมืองตองอู มีพระราชธิดาเกิดแต่พระอัครมเหสีนามว่า ตะละแม่จันทรา มีพระราชโอรสเกิดด้วยพระมหาเทวีเป็นรัชทายาทนามว่า มังตรา ส่วนจะเด็ดเป็นลูกคนปาดตาลที่แม่ชื่อ นางเลาชี ซึ่งมหาเถรกุโสดอถวายคำแนะนำกษัตริย์ตองอู รับเป็นพระนมของมังตราและจันทรา
ฝ่ายเมืองแปร หญิงผู้เป็นแสนรักของจะเด็ดอีกคนเกิดที่นี่ นามตะละแม่กุสุมา พระธิดาพระเจ้าเมืองแปรหรือพระเจ้านรบดี พระเจ้าแปรเป็นพระอนุชาของผู้ครองหงสาวดีคือพระยาราม มีราชบุตรชื่อสอพินยา ซึ่งมีบริวารนามว่าไขลู ตัวละครนี้ยาขอบรักที่สุด เพราะจะสร้างพระเอกอย่างจะเด็ดสร้างได้ไม่ยากนัก แต่จะสร้างคนชั่วช้าแบบไขลูสร้างได้ยากยิ่ง ตัวละครในผู้ชนะสิบทิศมีมากและกินเวลายาว กระนั้นการที่คนอ่านไม่เพียงตราตรึงบทของตัวละครเอก แต่ยังแผ่ใจจดจำตัวประกอบรองๆ ไม่สับสนหลงลืม เพราะผู้ประพันธ์กำหนดบทบาทและบุคลิกภาพของตัวละครชัดเจน เป็นกระพี้ที่สำคัญต่อการประสมประสานเป็นองค์เอกภาพเดียวกัน
จะเด็ดเจ้าชู้และเป็นชายชาตรีลูกคนธรรมดา เกือบจะพิมพ์เดียวกับขุนแผน ขณะที่ขุนแผนใช้เวทมนตร์และวิ่งหาความรัก ไม่ประสบความสำเร็จในชีวิตรักโดยเฉพาะชีวิตครอบครัว ส่วนบทบาทของขุนแผนในทางสังคมก็เพียงขุนนางชาวบ้านผู้จงรักภักดี แต่จะเด็ดหนุ่มรูปงามคารมดี มิได้ใช้เวทมนตร์ใด หากกิริยาวาจานั้นกำใจทั้งสาวๆ ในตัวละครและทั้งคนอ่าน แม้ผู้หญิงตามปกติไม่เห็นใจชายเจ้าชู้ ทว่าจะเด็ดดูว่าเป็นข้อยกเว้น เพราะด้วยความเคลิ้มอยากเป็นตะละแม่สักนางหนึ่ง เมื่อจะเด็ดอ้อนรำพัน "ข้าพเจ้ารักจันทราด้วยใจภักดิ์ แต่รักกุสุมาด้วยใจปอง" ซึ่งหัวใจจะเด็ดยังกว้างเหมือนมหาสมุทรที่ไม่เลือกเรือสำหรับหญิงอื่นๆ อีกด้วย ในความเป็นสามัญชนของจะเด็ดยังแตกต่างจากขุนแผน ที่เป็นเพียงข้าผู้ภักดีในฐานะขุนนาง ทว่าจะเด็ดไม่เพียงเด็ดดอกฟ้าโดยเป็นสวามีพระพี่นางของมังตรา หลังสิ้นมังตรายังขึ้นเป็นกษัตริย์ของคนทั้งแผ่นดิน[ต้องการอ้างอิง]
การดัดแปลง
[แก้]ผู้ชนะสิบทิศ ถูกนำไปสร้างเป็น ละครเวที ละครวิทยุ ละครโทรทัศน์[2] และ ภาพยนตร์ มาแล้วหลายครั้ง ได้แก่
ภาพยนตร์
[แก้]ในระหว่างช่วงปี พ.ศ. 2509 - พ.ศ. 2510 ผู้ชนะสิบทิศสร้างครั้งแรกเป็นภาพยนตร์ไตรภาค ในระบบถ่ายทำ 16 มม. สร้างโดย เจ้าพระยาภาพยนตร์ อำนวยการสร้างโดย เฑียรร์ กรรณสูต กำกับการแสดงโดย เนรมิต บทภาพยนตร์โดย พงศ์ อำมาตย์, อนุมาศ บุนนาค, เจน จำรัสศิลป์ ถ่ายภาพโดย อนันต์ อินละออ เนื้อเรื่องแบ่งเป็น 3 ภาค ดังนี้
ชื่อตอน | วันที่เข้าฉาย | โรงภาพยนตร์ | ความยาว |
---|---|---|---|
ยอดขุนพล | 8 เมษายน พ.ศ. 2509 | แกรนด์ วังบูรพา | 145 นาที |
บุเรงนองลั่นกลองรบ | 15 เมษายน พ.ศ. 2510 | ศาลาเฉลิมกรุง | 131 นาที |
บุเรงนองถล่มหงสาวดี | 7 กันยายน พ.ศ. 2510 | ศาลาเฉลิมกรุง | 143 นาที |
- นักแสดง
ตัวละคร | ยอดขุนพล | บุเรงนองลั่นกลองรบ | บุเรงนองถล่มหงสาวดี |
---|---|---|---|
จะเด็ด/มังฉงาย/บุเรงนองกะยอดินนรธา (พระเจ้าบุเรงนอง) | ไชยา สุริยัน [3] | ||
มังตรา (พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้) | ประจวบ ฤกษ์ยามดี | ||
ตะละแม่จันทรา | กรุณา ยุวกร | ||
ตะละแม่กุสุมา | พิศมัย วิไลศักดิ์ | ||
ตะละแม่อเทตยา | เอื้อมเดือน อัษฎา [4] | ||
มินบู | แก่นใจ มีนะกนิษฐ์ | ||
กันทิมา | เมตตา รุ่งรัตน์ | ||
ตะละแม่นันทวดี | บุศรา นฤมิตร | ||
เมงกะยินโย (พระเจ้าเมงจีโย) | ทัต เอกทัต (ประวัติ ผิวเผือก) | ||
เลาชี | ศรินทิพย์ ศิริวรรณ | ||
จาเลงกะโบ | ชนะ ศรีอุบล | ||
เนงบา | อดินันท์ สิงห์หิรัญ | ||
สีอ่อง | รุจน์ รณภพ | ||
สอพินยา | แมน ธีระพล | ||
ไขลู | สมพล กงสุวรรณ | ||
มหาเถรกุโสดอ | หม่อมหลวงรุจิรา อิศรางกูร |
ร่วมด้วย อรสา อิศรางกูร ณ อยุธยา, มารศรี อิศรางกูร ณ อยุธยา, สมควร กระจ่างศาสตร์, สาหัส บุญหลง, ถนอม อัครเศรณี, ชาลี อินทรวิจิตร, เชาว์ แคล่วคล่อง, สุคนธ์ คิ้วเหลี่ยม, เมืองเริง ปัทมินทร์, สิงห์ มิลินทราศัย [5]
ในการฉายเป็นภาพยนตร์นั้น มีเพลงประกอบที่เป็นที่รู้จักและยังติดอยู่ในความทรงจำตราบจนปัจจุบัน 2 เพลง คือ "บุเรงนองลั่นกลองรบ" ขับร้องโดย สุเทพ วงศ์กำแหง และ "ผู้ชนะสิบทิศ" ขับร้องโดย ชรินทร์ นันทนาคร
เพลงบุเรงนองลั่นกลองรบนั้นทำดนตรีใหม่ให้เป็นดนตรีร่วมสมัยมากขึ้น แต่ยังคงเนื้อร้องเดิมอยู่ โดย กษาปณ์ จำปาดิบ ในปี พ.ศ. 2538 และยืนยง โอภากุล ในปี พ.ศ. 2549
ละครโทรทัศน์
[แก้]ผู้ชนะสิบทิศมีการสร้างเป็นละครโทรทัศน์มาแล้วหลายครั้งและเมื่อต้นปี พ.ศ. 2549 โมเดิร์นไนน์ทีวี มีโครงการสร้างเป็นละครอีกครั้ง โดยประกาศหานักแสดงนำฝ่ายชายสำหรับบทจะเด็ด แต่ยกเลิกไป เนื่องจากการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ หลังเหตุการณ์รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549[6]
อย่างไรก็ดี ผู้ชนะสิบทิศ เป็นนิยายที่ว่าถึง กษัตริย์พม่าองค์ที่สามารถชนะเอกราชของกรุงศรีอยุธยาได้ จึงเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์เสมอ ๆ เมื่อจะสร้างเป็นละครหรือภาพยนตร์แต่ละครั้ง[7]
- รายชื่อนักแสดงและการสร้าง
ละครวิทยุ
[แก้]- รายการ วรรณกรรมทางอากาศ จัดโดย อาคม ธรรม์นิเทศ ทางสถานีวิทยุ 01 มีนบุรี เอเอ็ม 945 ราว พ.ศ. 2530 - 2540
- ละครวิทยุ เอเอ็ม พ.ศ. 2554
- คณะสยาม 81 ทางสถานีวิทยุ วพท.เอเอ็ม 792 เวลา 8.30 - 9.00 น. เริ่มเดือนกันยายน พ.ศ. 2555
เพลงประกอบละคร
[แก้]ปี | ชื่อเพลง | คำร้อง | ทำนอง | เรียบเรียง | ขับร้อง |
---|---|---|---|---|---|
2501 | ผู้ชนะสิบทิศ | ไสล ไกรเลิศ | ไสล ไกรเลิศ | - | - |
2504 | ผู้ชนะสิบทิศ | ไสล ไกรเลิศ | ไสล ไกรเลิศ | - | ชรินทร์ นันทนาคร |
2514 | ผู้ชนะสิบทิศ | ไสล ไกรเลิศ | ไสล ไกรเลิศ | - | ชรินทร์ นันทนาคร |
2523 | ผู้ชนะสิบทิศ | ไสล ไกรเลิศ | ไสล ไกรเลิศ | - | ชรินทร์ นันทนาคร |
2523 | ผู้ชนะสิบทิศ | ไสล ไกรเลิศ | ไสล ไกรเลิศ | - | ชรินทร์ นันทนาคร |
2526 | ผู้ชนะสิบทิศ | ไสล ไกรเลิศ | ไสล ไกรเลิศ | - | ยืนยง โอภากุล |
2532 | ผู้ชนะสิบทิศ | ชัยรัตน์ วงศ์เกียรติขจร | ชัยรัตน์ วงศ์เกียรติขจร | วิรัช อยู่ถาวร | อาเธอร์ ปัญญโชติ |
2556 | ชัยชนะนี้เป็นของเธอ | สุทธิพงษ์ สมบัติจินดา | วุฒิชัย สมบัติจินดา | อนุชา อรรจนาวัฒน์ | ณัฐพนธ์ วงษ์สนิท |
หัวใจให้แผ่นดิน...วิญญาณให้ความรัก | สุทธิพงษ์ สมบัติจินดา | วุฒิชัย สมบัติจินดา | อนุชา อรรจนาวัฒน์ | ณัฐพนธ์ วงษ์สนิท |
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ตอนที่ 3 บุเรงนองกะยอดินนรธา : ขุนพลผู้ทรงเสน่ห์ ในหนังสือบุเรงนองกะยอดินนรธา กษัตริย์พม่าในโลกทัศน์ไทย โดย ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ ISBN 974-323-512-4
- ↑ "5 ดาราสาวประชันบทครั้งแรกใน "ผู้ชนะสิบทิศ"". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-10-29. สืบค้นเมื่อ 2011-07-28.
- ↑ ประวัติ ไชยา สุริยัน
- ↑ ผู้ชนะสิบทิศเป็นทั้งหนังทั้งละคร ใครประทับใจจะเด็ดคนไหนมากกว่ากัน เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน thaifilm.com
- ↑ "ตำนานมายา : 'ผู้ชนะสิบทิศ' อมตะนิยายไทยบนแผ่นฟิล์ม". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2015-04-29.
- ↑ ลือ! "จะเด็ด" มีเสียว หลุดผังตามก้น "มิ่งขวัญ"เก็บถาวร 2012-11-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากผู้จัดการออนไลน์
- ↑ "ฤทธิ์ ลือชา" นำประท้วงตามหา "จะเด็ด"เก็บถาวร 2006-04-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากเอ็มไทย
ดูเพิ่ม
[แก้]- นวนิยายอิงประวัติศาสตร์
- หนังสือดี 100 เล่มที่คนไทยควรอ่าน
- วรรณกรรมที่สร้างเป็นภาพยนตร์
- วรรณกรรมที่สร้างเป็นละคร
- ตัวละครที่เป็นพระมหากษัตริย์
- พระเจ้าบุเรงนอง
- ละครโทรทัศน์ช่อง 3
- ละครโทรทัศน์ช่อง 4 บางขุนพรหม
- ละครโทรทัศน์ไทยในปี พ.ศ. 2501
- ละครโทรทัศน์ไทยในปี พ.ศ. 2504
- ละครโทรทัศน์ไทยในปี พ.ศ. 2514
- ละครโทรทัศน์ช่อง 9
- ละครโทรทัศน์ไทยในปี พ.ศ. 2523
- ละครโทรทัศน์ช่อง 5
- ละครโทรทัศน์ไทยในปี พ.ศ. 2526
- ละครโทรทัศน์ไทยในปี พ.ศ. 2532
- ละครโทรทัศน์ช่อง 8
- ละครโทรทัศน์ไทยในปี พ.ศ. 2556