บุญส่ง เลขะกุล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
น.พ.บุญส่ง เลขะกุล บนปกนิตยสารเอเชียวีก

นายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล (15 ธันวาคม พ.ศ. 2450 - 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535) หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ หมอบุญส่ง เป็นแพทย์ ช่างภาพ จิตรกร นักเขียน และอาจารย์ มีชื่อเสียงในฐานะที่เป็นผู้บุกเบิกการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้และสัตว์ป่าของประเทศไทย

ประวัติ[แก้]

น.พ.บุญส่ง เกิดที่บ้านถนนนครใน ตำบลบ่อยาง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนเบญจมราชูทิศ นครศรีธรรมราช[1]มัธยมศึกษาปีที่ 8 ที่โรงเรียนเบญจมบพิตร หรือโรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตรในปัจจุบัน กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2467 เลขประจำตัว 2563 และสำเร็จการศึกษาจากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ. 2476 และถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535 ด้วยโรคหัวใจล้มเหลว ณ โรงพยาบาลมเหสักข์ กรุงเทพมหานคร

งานอนุรักษ์[แก้]

หลังสงครามมหาเอเชียบูรพา พ.ศ. 2484 - 2488 เป็นต้นมา มีรถจี๊ปเหลือใช้จากสงคราม และปืนดีๆ ก็หาซื้อได้ง่าย การล่าสัตว์เปลี่ยนไปใช้สปอตไลต์ส่องยิงสัตว์ ยิงโดยไม่เลือกว่าเป็นตัวผู้ ตัวเมียหรือลูกน้อย เกิดการทำลายล้างสัตว์ป่าอย่างกว้างขวาง น.พ.บุญส่งและคณะนักนิยมไพร ซึ่งส่วนใหญ่เคยเที่ยวป่ามาก่อน จึงได้รวมตัวกันจัดตั้ง "นิยมไพรสมาคม" ขึ้น ในปี พ.ศ. 2496 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์กลางในการพบปะพูดคุย แลกเปลี่ยน ติดตามสถานการณ์และทำการรณรงค์ด้านป่าไม้และสัตว์ป่า ที่ทำการของนิยมไพรสมาคมนั้นคือที่บ้าน น.พ.บุญส่ง บ้านเลขที่ 4 ตรอกโรงภาษีเก่า ถนนเจริญกรุง ที่ทำการนิยมไพรสมาคมนั้นเป็นห้องโถงใหญ่ มีเขาสัตว์และตัวอย่างซากนกเพื่อการศึกษาค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ล้อมรอบ อีกทั้งตำราทางด้านธรรมชาติและสัตว์ป่านับพันเล่ม จึงเป็นสถานที่ซึ่งใช้ต้อนรับผู้ที่สนใจงานอนุรักษ์ธรรมชาติ

ในปี พ.ศ. 2497 น.พ.บุญส่ง ได้นำประสบการณ์จากการเที่ยวป่าและสังเกตพฤติกรรมสัตว์ มาเขียนเป็นหนังสือได้แก่เรื่อง สัตว์ป่าเมืองไทย, วัวแดง, แรดไทย, เนื้อสมัน, สิงห์โต, ยีราฟ, ม้าลาย, ฮิปโปโปเตมัส, และช้างไทย ต่อมาท่านได้ริเริ่มออกนิตยสาร นิยมไพรสมาคม ฉบับปฐมฤกษ์เมื่อเดือนเมษายน 2501 ซึ่งในหน้าแรกของนิตยสารทุกเล่ม จะเขียนว่า "นิยมไพร" เป็นหนังสือรายเดือน เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้เหล่าสัตว์ป่า

ส่วนงานเขียนที่เป็นนวนิยาย ที่อิงจากชีวิตจริงของสัตว์ป่า และสร้างชื่อเสียงให้แก่ น.พ.บุญส่ง เป็นอย่างมาก คือเรื่อง ชีวิตฉันลูกกระทิง ซึ่งเคยตีพิมพ์เป็นตอนๆ ครั้งแรกในนิตยสาร ชัยพฤกษ์ เมื่อพิมพ์รวมเล่มเป็นหนังสือก็ได้รับการคัดเลือกให้เป็นหนังสืออ่านนอกเวลาสำหรับนักเรียน ต่อมาได้รับการคัดเลือกเป็น 1 ใน 100 หนังสือดีที่เด็กและเยาวชนไทยควรอ่านในโครงการวิจัยของ สกว. และเป็น 1 ใน 500 หนังสือดีของเด็กและเยาวชน ของสมาพันธ์องค์กรเพื่อการพัฒนาหนังสือฯ

ครั้งหนึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ได้ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ว่า "หนังสือเกี่ยวกับป่าซึ่งคุณหมอบุญส่งแต่ง เล่มที่ชอบที่สุดเห็นจะเป็นเรื่อง ชีวิตของฉันลูกกระทิง เป็นเรื่องของลูกกระทิงตัวน้อยๆ ที่เที่ยวไปในป่า เที่ยวคุยกับสัตว์ต่างๆ ชนิดที่อยู่ในป่านั้น ทำให้รู้วิถีชีวิตของสัตว์เหล่านั้น"

ในงานเขียนของ น.พ.บุญส่ง นั้น บ่อยครั้งจะสอดแทรกอารมณ์ขันหรือเหน็บแนมกระทุ้งเตือนผู้มีอำนาจ อย่างในงานเขียนเรื่อง ความรักของแม่กวาง ซึ่งตีพิมพ์ในนิตยสาร "นิยมไพร" ฉบับปฐมฤกษ์ เนื้อความตอนหนึ่งว่า

"ผู้แทนราษฏรชุดปัจจุบันนี้ จะมีน้ำจิตน้ำใจอย่างไรกันบ้าง ผมยังไม่ทราบดี" ข้าพเจ้าตอบ "ผมเคยพบแต่ผู้แทนราษฏรชุดสมัยรัฐบาลเก่า บางคนท่านก็ดีมาก เห็นใจพวกสัตว์ป่าและทรัพยากรของชาติที่กำลังทรุดโทรมแหลกลาญลง แต่ส่วนมากละก็เหลือรับทีเดียว ส่วนมากถือว่าตัวเองเป็นผู้แทนของราษฏร ไม่ใช่ผู้แทนของสัตว์ป่า ราษฎรเป็นผู้เลือก สัตว์ป่าไม่ได้เลือกเขา ฉะนั้นการที่จะไปร้องขอให้เขาออก พ.ร.บ. คุ้มครองสัตว์ป่า ให้คนฆ่าน้อยลงกว่าเดิม จะไปขอไม่ให้ยิงสัตว์ตัวเมียหรือลูกเล็กเด็กแดงนั้น เขาถือว่าเป็นการไปตัดสิทธิ์ของราษฎร เขาจึงปฏิเสธไม่ยอมช่วยด้วย เขาคงเกรงไปว่าอาจจะเสียเสียงจากบางคนในการเลือกตั้งครั้งต่อไป เขาจึงไม่สนใจที่จะช่วยเหลือในเรื่องเหล่านี้เลย"

ต่อมาในปี พ.ศ. 2502 น.พ.บุญส่ง เลขานุการนิยมไพรสมาคม และคณะกรรมการนิยมไพรสมาคมจำนวนหนึ่ง ได้เข้าพบปะกับจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี เพื่อยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลมีนโยบายและออกกฎหมายคุ้มครองทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า ซึ่งจอมพลสฤษดิ์และคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบตามข้อเสนอ จึงได้ออกกฎหมายหลายฉบับ เช่น พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503 (ปรับปรุงแก้ไข พ.ศ. 2535) และพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 หลังจากนั้นจึงได้มีการประกาศป่าขนาดใหญ่หลายแห่งให้เป็นอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า อาทิ ป่าเขาใหญ่ ประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรก ในปี พ.ศ. 2505 ป่าสลักพระ จ.กาญจนบุรี ประกาศให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งแรก ในปี พ.ศ. 2508 และป่าอีกหลายแห่งให้เป็นอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าตามกฎหมายทั้งสองฉบับดังกล่าว

มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์[แก้]

น.พ.บุญส่งและสมาชิกนิยมไพรสมาคม ยังได้ร่วมกันก่อตั้งมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์เมื่อ พ.ศ. 2526 โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยเจ้าฟ้าชายฟิลิป ดยุคแห่งเอดินบะระ ทรงเป็นองค์ประธานในงานกาลาดินเนอร์ เนื่องในโอกาสสถาปนามูลนิธิฯ ณ โรงแรมโอเรียนเต็ล กรุงเทพมหานคร

ในปี พ.ศ. 2550 "คณะทำงาน 100 ปี นายแพทย์ บุญส่ง เลขะกุล" ซึ่งประกอบด้วยคณะทายาท ญาติมิตร และลูกศิษย์ ได้จัดงาน "100 ปี หมอบุญส่ง เลขะกุล" ขึ้นเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์สยามสมาคม ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อรำลึกถึงคุณงามความดีและผลงานด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าของประเทศไทย

เกียรติยศ[แก้]

คำกล่าวถึง[แก้]

หนังสือเกี่ยวกับป่าซึ่งคุณหมอบุญส่งแต่ง เล่มที่ชอบที่สุดเห็นจะเป็นเรื่อง ชีวิตของฉันลูกกระทิง เป็นเรื่องของลูกกระทิงตัวน้อยๆ ที่เที่ยวไปในป่า เที่ยวคุยกับสัตว์ๆ ชนิดที่อยู่ในป่านั้น ทำให้รู้วิถีชีวิตของสัตว์เหล่านั้น

ท่านเป็นคนสำคัญที่วางพื้นฐานเรื่องธรรมชาติวิทยาให้ไว้เรา

ท่านเป็นหลักหินแห่งความยุติธรรมในการปกป้องป่าและชีวิตสัตว์ป่าอย่างแท้จริง

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. หนังสืออนุสรณ์ 100 ปี โรงเรียนเบญจมราชูทิศ นครศรีธรรมราช
  2. นิตยสารสารคดี, ๑๐๐ ปี หมอรักษาไพร นายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล ปีที่ 23 ฉบับที่ 273: พฤศจิกายน 2550

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

หนังสือและบทความ[แก้]

  • สัณฐิตา กาญจนพันธุ์. (2557). ความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมและความคิดสีเขียวในเมือง. ใน สังคมเปลี่ยนผ่าน/เปลี่ยนผ่านสังคม: รวมบทความวิชาการ ในวาระครบรอบ 50 ปี คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. บรรณาธิการโดย วสันต์ ปัญญาแก้ว. หน้า 1-38. เชียงใหม่: ศูนย์วิจัยและบริการวิชาการ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

เว็บไซต์[แก้]