สุชีพ ปุญญานุภาพ
สุชีพ ปุญญานุภาพ ท.ม., ต.ช. | |
---|---|
![]() | |
เกิด | บุญรอด สงวนเชื้อ 13 เมษายน พ.ศ. 2460 อำเภอบางปลา จังหวัดนครปฐม |
เสียชีวิต | 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2543 (83 ปี) |
สัญชาติ | ไทย |
ชื่ออื่น | สุชีโวภิกขุ |
พลเมือง | ไทย |
การศึกษา | ป.ธ.๙ ปร.ด กิตติมศักดิ์ ศน.ด กิตติมศักดิ์ |
ศิษย์เก่า | มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ |
อาชีพ | นักวิชาการ นักเขียน |
ปีปฏิบัติงาน | พ.ศ. 2481 – พ.ศ. 2543 |
องค์การ | องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย |
มีชื่อเสียงจาก | ผู้มีคุณูปการต่อวงการพระพุทธศาสนา |
ผลงานเด่น | พระไตรปิฏกฉบับประชาชน ใต้ร่มกาสาวพัสตร์ กองทัพธรรม ลีลาชีวิต นิราศบางไทรป่า |
คู่สมรส | เพ็ญสุข ศิวดิตถ์ |
บุตร | 4 คน |
บิดามารดา | อ่วม สงวนเชื้อ ทองคำ สงวนเชื้อ |
ครอบครัว | สงวนเชื้อ (เกิด) ปุญญานุภาพ (เมื่อลาสิกขา) |
รางวัล | คนไทยตัวอย่าง ประจำปี 2540 |
ยศที่ได้รับการแต่งตั้ง | |
รับใช้ | ![]() |
บริการ/ | กองทัพเรือไทย |
ประจำการ | พ.ศ. 2499 – พ.ศ. 2500 |
ชั้นยศ | ![]() |
สุชีพ ปุญญานุภาพ (13 เมษายน พ.ศ. 2460 – 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2543) เป็นนักวิชาการที่ได้รับการยอมรับทั้งจากพุทธศาสนิกชนและคณะสงฆ์ไทยอย่างกว้างขวาง ในฐานะที่สมบูรณ์ด้วยวิชาความรู้ทางพระพุทธศาสนาอย่างเยี่ยมยอด หาใครเทียมได้ยาก ในเวลาเดียวกัน ก็มีความประพฤติที่ดีงาม สุภาพอ่อนโยน ระหว่างที่ท่านเคยบวชเป็นพระอยู่ในชื่อว่า สุชีโว ภิกขุ ท่านมีชื่อเสียงโด่งดังที่สุด เพราะประการแรก ท่านเชี่ยวชาญพระพุทธศาสนาเป็นเลิศ ประการที่สอง ท่านรอบรู้วิชาการสมัยใหม่อย่างเยี่ยม ประการที่สาม ท่านเป็นพระภิกษุไทยรูปแรกที่บรรยายธรรมเป็นภาษาอังกฤษ ทำให้เกิดการติดต่อระหว่างชาวพุทธในต่างประเทศกับประเทศไทย แม้ว่าท่านจะมีภาระงานมากมาย แต่ท่านก็เป็นนักเขียน ที่ผลิตงานเขียน ทั้งในรูปหนังสือและตำราเผยแพร่ความรู้ด้านพุทธศาสนา รวมทั้งนวนิยายอิงธรรมะเป็นจำนวนมาก นอกจากนั้น ยังเป็นผู้บุกเบิกทำพจนานุกรมศัพท์พระพุทธศาสนาอีกด้วย
อาจารย์สุชีพได้ถึงแก่กรรมลง เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2543 เวลา 15.51 น. สิริอายุ 83 ปี 21 วัน [1]
ประวัติ[แก้]
สุชีพ เกิดเมื่อวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2460 ที่ตำบลบางไทรป่า อำเภอบางปลา (อำเภอบางเลน ในปัจจุบัน) จังหวัดนครปฐม ท่านมีพี่น้องทั้งหมด 12 คนที่เกิดร่วมพ่อแม่เดียวกัน แต่ทั้งหมดเสียชีวิตตั้งแต่วัยเยาว์ เหลือท่านเพียงคนเดียวเท่านั้น พ่อแม่จึงตั้งชื่อให้ท่านว่า "บุญรอด" ภายหลัง ท่านได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น 'สุชีพ' ตามฉายาภาษาบาลีของท่านคือ "สุชีโว" (ผู้มีชีวิตที่ดี) ซึ่งสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร) พระอุปัชฌาย์ของท่านได้ตั้งให้เพื่อเป็นสิริมงคล
อาจารย์สุชีพสร้างลูกศิษย์ผู้ชำนาญทางพระพุทธศาสนามากมายทั่วประเทศ ทั้งพระทั้งฆราวาส ศิษยานุศิษย์เหล่านี้ต่างมีบทบาทในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาระดับชั้นต่าง ๆ ของสังคม อาทิ พระธรรมเมธาภรณ์ (ระแบบ ฐิตญาโณ), พระราชญาณกวี (สุวิทย์ ปิยวิชฺโช), พระเทพปริยัติวิมล (แสวง ธมฺเมสโก) อดีตอธิการบดีมหามกุฏราชวิทยาลัย, พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ (อนิลมาน ธมฺมสากิโย), รศ.ดร. สุภัทร ปัญญาทีป, รศ. สุวรรณ เพชรนิล, วศิน อินทสระ, ศ. แสง จันทร์งาม (หรือ ธรรมโฆษ), รศ.ดร. สุนทร ณ รังษี, เสถียร โพธินันทะ, สุเชาวน์ พลอยชุม ฯลฯ รวมทั้งเจ้าอาวาสวัดหลายแห่งทั่วประเทศไทย จากความพยายามในการพัฒนาการศึกษาสงฆ์จนเกิดเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ของท่าน
การศึกษา[แก้]
- เปรียญ ๗ ประโยค วัดกันมาตุยาราม ขึ้นกับสำนักเรียนวัดเทพศิรินทราวาส
- ปร.ด (กิตติมศักดิ์) มหาวิทยาลัยรามคำแหง
- ปร.ด (กิตติมศักดิ์) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ศน.ด (กิตติมศักดิ์) มหามกุฏราชวิทยาลัย
สุชีพสำเร็จการศึกษาเปรียญ 9 ประโยค วัดกันตมาตุยาราม ซึ่งขึ้นกับสำนักเรียนวัดเทพศิรินทราวาส ราชวรวิหาร อย่างไรก็ดี แม้ว่าท่านจะจบเปรียญ 9 ประโยค แต่ท่านก็มีวิริยะอุตสาหะเรียนรู้วิชาสมัยใหม่อื่นๆ ด้วยตนเองเป็นหลัก จึงชำนาญหลายๆ วิชา อาทิ ภาษาอังกฤษ โหราศาสตร์ ดาราศาสตร์ ภาษาสันสกฤต และ ภาษาปรากฤต ท่านสามารถค้นวรรณคดีและพจนานุกรมภาษาเหล่านี้ได้อย่างละเอียด สำหรับภาษาสันสกฤตนั้น ท่านเป็นศิษย์ของ พระสารประเสริฐ (ตรี นาคะประทีป) ตอนหลัง ท่านได้ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จาก มหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยรามคำแหงและ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพเคยให้สัมภาษณ์ว่าบุคคลในพระพุทธศาสนาในอุดมคติที่ท่านถือเป็นแบบในการพัฒนาตนเป็นนัก วิชาการทางพระพุทธศาสนาคือพระวชิรญาโณ ภิกฺขุ (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) และสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ท่านเคยให้เหตุผลว่าสองท่านนี้เป็นคนไทยรุ่นบุกเบิกที่ประยุกต์พระพุทธศาสนาให้เข้ากับสังคมร่วมสมัยโดยนำเอาวิชาการสมัยใหม่มาใช้เป็นประโยชน์ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา สุชีพอยู่ในเพศพระภิกษุจนได้ตำแหน่งสมณศักดิ์ที่ ‘พระศรีวิสุทธิญาณ’ สมัยที่ท่านยังเป็นพระภิกษุนั้น ท่านมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วประเทศ ไม่มีใครยุคนั้นเทียบได้ ต่อมาได้ลาสิกขาสู่เพศฆราวาส ระหว่างที่ท่านลาสิกขาเมื่ออายุ 35 ปี มีพุทธศาสนิกชนจำนวนมากร้องไห้เพราะความเสียดาย หลังจากสึกหาลาเพศแล้ว ท่านเช่าห้องพักที่ถนนข้าวสาร บางลำภู ก่อนจะย้ายไปปลูกบ้านหลังใหม่บริเวณถนนสุขุมวิท
สุชีพ ปุญญานุภาพได้รับการยกย่องว่าเป็นนักปราชญ์ที่สุภาพอ่อนโยน ในด้านความรู้ทางพระพุทธศาสนานั้น ท่านได้รับการยกย่องจาก ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ประธานองคมนตรีและประธานองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก ว่าเป็น พระไตรปิฎกเคลื่อนที่ หมายเลข 1 ของประเทศเพราะท่านสามารถอธิบายและตอบคำถามทาง พระพุทธศาสนา หรือหลัก พุทธธรรม ได้ทุกอย่างอย่างละเอียด พร้อมอ้างที่มาในพระไตรปิฎกให้เพื่อการค้นคว้าต่อไปอย่างแม่นยำอีกด้วย ด้วยเหตุนี้เองชาวพุทธจำนวนมากจึงได้กล่าวขานถึงท่านด้วยฉายา 'พระไตรปิฎกเคลื่อนที่' ตาม ศ.สัญญา ธรรมศักดิ์[ต้องการอ้างอิง]
บิดาแห่งมหาวิทยาลัยสงฆ์ไทย[แก้]
สมัยเป็นพระภิกษุอยู่วัดกันตมาตุยาราม ท่านเปิดสอนวิชาพระพุทธศาสนาควบคู่กับวิชาทางโลกสมัยใหม่ให้ศิษยานุศิษย์ที่เป็นพระภิกษุและสามเณร รวมทั้งประชาชนทั่วไป ต่อมา พระพรหมมุนี (ผิน สุวโจ) ผู้ช่วยเจ้าอาวาส วัดบวรนิเวศวิหาร ได้แนะนำให้ท่านรื้อฟื้นมหามกุฏราชวิทยาลัย อันเป็นวิทยาลัยสงฆ์แห่งแรกที่ก่อตั้งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 แต่ยุบกิจการไปนานแล้ว หลังจากประสบปัญหาต่างๆ และเสนอแนะให้ท่านมาใช้สถานที่ในวัดบวรนิเวศวิหาร ท่านจึงพาลูกศิษย์มาขอใช้สถานที่ วัดบวรนิเวศวิหาร เพื่อเริ่มเปิดเรียนเป็นกิจจะลักษณะ แม้จะมีการต่อต้านจากพระสงฆ์ผู้ใหญ่มาก เพราะถือว่าวิชาความรู้สมัยใหม่ เช่น ภาษาอังกฤษ เป็นเดรัจฉานวิชา แต่ท่านก็สู้อดทน วัตถุประสงค์ก็คือ ต้องการสร้างบุคลากรที่สามารถประยุกต์ พุทธธรรม ให้เข้ากับสังคมสมัยใหม่ จนกระทั่ง ได้รับการสนับสนุนจาก สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงสนับสนุนด้วยพระองค์เอง โดยมีพระบัญชาให้ประกาศจัดตั้ง สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัยเมื่อ พ.ศ. 2488 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของ มหาวิทยาลัยสงฆ์ ไทยในยุคใหม่
หลายสิบปีผ่านไป แม้จะถูกวิจารณ์ว่าเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์เถื่อนเพราะรัฐบาลไม่ยอมรับรอง แต่พระสงฆ์ก็เรียกร้องรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง จนถึงที่สุดในพุทธศักราช 2527 รัฐบาลได้ตรากฎหมายรับรอง และในปัจจุบัน มหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่งก็ได้รับการรับรองให้เป็น มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ อย่างสมบูรณ์ อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ มักห้ามศิษยานุศิษย์มิให้กล่าวหรือเขียนยกย่องท่านในที่สาธารณะ ตามนิสัยถ่อมตัวและรักสันโดษของท่าน จึงไม่ค่อยมีคนทราบประวัติและความดีที่ท่านทำอยู่เบื้องหลังการก่อตั้งมหาวิทยาลัยสงฆ์เท่าใดนัก เนื่องในงานประชุมสุดยอดผู้นำชาวพุทธจากทั่วโลกครั้งที่ 4 เก็บถาวร 2006-02-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จัดขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในวโรกาสครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ที่ มหามกุฏราชวิทยาลัย และองค์กรพุทธชาวญี่ปุ่นร่วมเป็นเจ้าภาพจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 1-5 พฤศจิกายน 2548 และมีผู้เข้าร่วมประชุมจากทั่วทุกมุมโลก ดร. ปฐมพงษ์ โพธิ์ประสิทธินันท์ ได้นำเสนอบทความว่าด้วยประวัติและผลงานของท่านอาจารย์สุชีพ เป็นครั้งแรกที่มีเขียนประวัติท่านเป็นภาษาอังกฤษค่อนข้างละเอียด โดยได้เชิญชวนให้บรรดาผู้นำชาวพุทธทั่วโลกที่มาร่วมชุมนุมร่วมยกย่องท่านอาจารย์สุชีพเป็น "บิดาแห่งมหาวิทยาลัยสงฆ์ไทย"(The Father of Modern Buddhist University in Thailand) เพื่อประกาศเกียรติคุณของท่านให้ปรากฏ
คำว่า บิดาแห่งมหาวิทยาลัยสงฆ์ไทย เพื่อยกย่องอาจารย์สุชีพนี้ ดร.ปฐมพงษ์ริเริ่มนำมาใช้ในบทความชื่อ Sujib Punyanubhab: His Life and Work เป็นบทความขนาดยาว รวมอยู่ในหนังสือ Buddhist Unity in the Globalisation Age ซึ่ง มหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาได้จัดพิมพ์เมื่อคราวจัดประชุมสุดยอดผู้นำชาวพุทธจากทั่วโลกนั่นเอง บทความดังกล่าวเชิญชวนให้บรรดาชาวพุทธระดับผู้นำซึ่งมาประชุมพร้อมกันได้รับรู้ถึงคุณูปการที่ท่านอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ ได้กระทำต่อพระพุทธศาสนาในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ กล่าวคือสมัยศตวรรษที่ 20 ซึ่งเป็นช่วงที่วัฒนธรรมวัตถุนิยมไหลบ่าเข้าสู่ประเทศไทยมาก ประชาชนทั่วประเทศกำลังเบนเข็มไปพัฒนาประเทศในแนววัตถุนิยม หลงลืมพระพุทธศาสนา หลายคนพูดไทยปนฝรั่ง ในขณะที่พระสงฆ์ก็เทศน์คำไทยปนคำบาลีสันสกฤต ไม่มีความรู้ในวิชาการทางโลกพอจะเข้าใจชาวบ้าน พระสงฆ์ถูกมองว่าเป็นพวกไดโนเสาร์ของประเทศ การศึกษาของสงฆ์ไม่สัมพันธ์กับสังคมที่เปลี่ยนไป ฯลฯ
เมื่อสังคมมีแนวโน้มที่จะเชื่ออย่างนี้ สุชีโว ภิกฺขุ (หรือ อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ ) ได้พยายามรื้อฟื้นมหาวิทยาลัยสงฆ์ คือ มหามกุฏราชวิทยาลัย ซึ่งสถาปนาขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 แต่ถูกยุบไปใหม่ แรกเริ่มท่าน ได้เปิดสอนวิชาพระพุทธศาสนาแนวประยุกต์กับศาสตร์สมัยใหม่ที่วัดกันมาตุยาราม ซึ่งอยู่ในย่านเยาวราช ให้แก่พระภิกษุสามเณรและอุบาสกอุบาสิกา หลังจากนั้น พระพรหมมุนี (ผิน สุวโจ ป.ธ.๖) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหารได้นิมนต์ท่านให้มาใช้สถานที่ของวัดบวรนิเวศวิหารเพื่อเปิดสอนให้เป็นกิจจะลักษณะในรูปวิทยาลัย พร้อมทั้งแนะให้รื้อฟื้น มหามกุฏราชวิทยาลัย ด้วย
ท่านสุชีโว ภิกขุจึงพาลูกศิษย์ที่สนใจเรียนด้วยมาเปิดเรียนที่ วัดบวรนิเวศวิหาร โดยใช้อาคารตึก มหามกุฏราชวิทยาลัย เป็นสถานที่เรียน พระสงฆ์สามเณรที่สนใจประยุกต์หลัก พุทธธรรม ก็พากันมาเรียนกับท่านสุชีโว ภิกขุเป็นจำนวนมาก แต่พอมีข่าวว่าท่านสุชีโว ภิกขุจะรื้อฟื้นวิทยาลัยสงฆ์แล้วเปิดการสอนในรูปแบบมหาวิทยาลัย ปรากฏว่าบรรดาพระเถรานุเถระระดับเจ้าอาวาสวัดทั่วประเทศจำนวนมากต่อต้าน บอกว่าวิชาสมัยใหม่เป็นเดรัจฉานวิชา ขณะเดียวกัน ก็พากันห้ามมิให้พระภิกษุสามเณรในวัดออกไปร่วมกิจกรรมกับสุชีโว ภิกขุ พระเถระผู้ใหญ่หลายท่านอ้างว่าการไปเรียนวิชาสมัยใหม่จะทำให้พระสงฆ์สามเณรสึกหาลาเพศกันมากขึ้น ทำให้จำนวนพระภิกษุสามเณรลดลง ตัวท่านเองเป็นเป้าของการติฉินนินทานานัปการ ถูกมองว่าจะนำความเสื่อมเสียมาสู่พระพุทธศาสนาก็มี
สุชีโวภิกขุจึงพยายามอย่างหนักที่จะทำความเข้าใจ กับพระสงฆ์ผู้ใหญ่ซึ่งมีจำนวนน้อยมากที่เห็นด้วย ขณะเดียวกันก็พยายามบรรยายและแสดงปาฐกถาให้บรรดาข้าราชการไทยที่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่เห็นคุณค่า แต่กระแสสังคมในสมัยนั้น คล้อยตามพระเถรานุเถระผู้ใหญ่สูงมาก แนวคิดของท่านจึงถูกต่อต้านหลังจากพยายามอยู่หลายปี ในที่สุด ท่านสุชีโวภิกขุจึงเข้ากราบทูลสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เป็นส่วนตัว โดยมี พระมหาเจริญ สุวฑฺฒโน วัดบวรนิเวศวิหาร (สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก) ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมรุ่นกัน ช่วยอธิบายให้เจ้าประคุณสมเด็จฯ ฟังด้วย สุชีโวภิกขุได้อธิบายว่า
- พระสงฆ์ที่จะเข้าเรียนมหาวิทยาลัยสงฆ์ล้วนแต่หนักแน่นในพระพุทธศาสนาเพราะต่างได้เปรียญสูงๆ กันมาแล้ว การเปิดมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาจะช่วยให้พระสงฆ์ได้มีความรู้ในการประยุกต์หลัก พุทธธรรม ให้เข้ากับสังคมสมัยใหม่
- ศาสตร์สมัยใหม่ทั้งหลายมีประโยชน์ในการเป็นบันไดหรือรางรถไฟให้พระพุทธศาสนา (ซึ่งท่านเปรียบเหมือนตัวรถไฟ) ได้วิ่งไปโดยสะดวก
- ถึงพระสงฆ์ที่บวชเรียนและจบจากมหาวิทยาลัยสงฆ์จะสึกหาลาเพศไป ก็จะเป็นศาสนทายาท ช่วยเผยแผ่พระพุทธศาสนาในหน่วยงานของตนๆ ได้
หลังจากทรงทราบรายละเอียด อันรวมทั้งวัตถุประสงค์และวิธีดำเนินการแล้ว สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ประทานพระอุปถัมภ์ เมื่อสมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ ทรงเห็นชอบขึ้นมา คณะสงฆ์วัดบวรนิเวศวิหารก็เห็นชอบด้วย, ให้ความอุปถัมภ์จนถึงช่วยชี้แจงให้พระภิกษุสามเณรและพุทธศาสนิกชนทั่วไปเข้าใจด้วย ในที่สุด มหามกุฏราชวิทยาลัย อันเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งแรกก็เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2488 โดยมีสุชีโว ภิกขุ เป็นเลขาธิการท่านแรก เมื่อเห็นมหามกุฏราชวิทยาลัยสามารถเปิดสอนได้ ฝ่ายคณะสงฆ์มหานิกายก็รื้อฟื้น มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ขึ้นตามมาในปี พ.ศ. 2490 ประเทศไทยเราจึงมีมหาวิทยาลัยสงฆ์ที่สร้างศาสนทายาทถึง 2 แห่งซึ่งขณะนี้ ได้ขยายวิทยาเขตไปทั่วประเทศเพราะความมานะบากบั่นริเริ่มของท่านอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ โดยแท้ บทความได้สรุปว่าคุณูปการที่อ.สุชีพได้กระทำเหล่านี้ สมควรที่ชาวพุทธจะร่วมกันเชิดชูเกียรติท่านอาจารย์ สุชีพ ปุญญานุภาพ ไว้ในฐานะ บิดาแห่งมหาวิทยาลัยสงฆ์ไทย ในบันทึกประวัติศาสตร์เพื่อให้ชาวพุทธรุ่นหลังได้รับรู้ต่อไป[2]
กิจกรรมเพื่อพระพุทธศาสนา[แก้]
อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพเป็นผู้ริเริ่มกิจกรรมสำคัญๆ ทางพระพุทธศาสนาอื่นๆ หลายเรื่องที่คนไทยไม่ค่อยรู้จักอาทิ
- เป็นผู้ริเริ่มหรือรื้อฟื้นให้มีมหาวิทยาลัยสงฆ์ขึ้น หลังจากที่เคยมีการศึกษาสงฆ์ระดับวิทยาลัยแต่ถูกยุบไปในสมัยรัชกาลที่ 5
- หลังจากมหามกุฏราชวิทยาลัยก่อตั้งขึ้นมาแล้ว พระสงฆ์สามเณรไม่มีทุนเพื่อศึกษาเล่าเรียนและทำวิจัยทางพระพุทธศาสนา ท่านได้ดำริก่อตั้ง มูลนิธิปุญญานุภาพเพื่อหาทุนสนับสนุน โดยท่านบริจาคเงินค่าลิขสิทธิ์จากงานเขียนของท่านทั้งหมดเพื่อก่อตั้งทุนในช่วงเริ่มต้น
- เป็นผู้เริ่มวางรากฐานให้มีการก่อตั้ง ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย โดยมีศิษย์ท่านดำเนินการออกหน้า กล่าวคือคุณบุญยง ว่องวานิชและอาจารย์ เสถียร โพธินันทะ
- เป็นพระภิกษุไทยคนแรกที่ปาฐกถาเป็นภาษาอังกฤษในที่ประชุมที่มีฝรั่งต่างชาติ จนกลายเป็นแบบให้พระภิกษุยุคใหม่ได้ปรับใช้
- เป็นบิดาแห่งวิชาศาสนาเปรียบเทียบในประเทศไทย เพราะเป็นคนไทยคนแรกที่นำเอาวิชาศาสนาเปรียบเทียบมาใช้สอนในมหาวิทยาลัย กล่าวคือเริ่มที่มหามกุฏราชวิทยาลัย[3]
- เป็นคนแรกที่บุกเบิกนำเอาวิชาพระพุทธศาสนาไปใช้สอนในลักษณะวิเคราะห์ระดับมหาวิทยาลัย
- เป็นผู้แปลชื่อหน่วยงานพระพุทธศาสนา "World Fellowshipof Buddhists" เป็นภาษาไทยว่า ‘องค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก’
- เป็นคนบัญญัติศัพท์คำว่า สมาคมบาลีปกรณ์ จากคำภาษาอังกฤษว่า "Pali Text Society"
ผลงานการประพันธ์[แก้]
สุชีพได้ผลิตงานวิชาการออกมามากมาย ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ งานที่ทำให้อาจารย์สุชีพ โด่งดังมากที่สุดได้แก่ พระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชน ซึ่งริเริ่มเขียนตั้งแต่ยังเป็นสามเณรอายุ 18 ปี อีกเล่มหนึ่งที่กล่าวขวัญถึงมากได้แก่ คุณลักษณะพิเศษแห่งพระพุทธศาสนา
สุชีพนับเป็นนักวิชาการที่มีพรสวรรค์ในการประพันธ์นวนิยายอิงธรรมะมาก ท่านเขียนขึ้นมาหลายเล่ม แต่ละเล่มเป็นที่สนใจของบรรดาพุทธศาสนิกชนอย่างกว้างขวาง ชนิดที่ไม่เคยเป็นมาก่อน คนอ่านจำนวนมากไปขออ่านนวนิยายอิงธรรมะของท่านถึงแท่นพิมพ์ของมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัยก็มี จนกระทั่งว่าศิษย์ของท่านต้องเดินรอยตาม ไม่ว่าจะเป็น วศิน อินทสระ หรือ แสง จันทร์งาม บทประพันธ์ที่ท่านแต่งและยังกินใจอยู่จนทุกวันนี้ ได้แก่ ใต้ร่มกาสาวพัสตร์, ลุ่มน้ำนัมมทา, อาทิตย์ขึ้นทางตะวันตก, กองทัพธรรม, เชิงผาหิมพานต์ ฯลฯ นวนิยายเหล่านี้ โดยเฉพาะเล่มหลัง มีอิทธิพลต่อพระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตโต) เป็นอย่างมาก
สมณศักดิ์ในอดีต[แก้]
- ได้รับพระราชทานตั้งสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญเปรียญ ในราชทินนามที่ พระศรีวิสุทธิญาณ (สุชีพ สุชีโว)
เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]
- พ.ศ. 2497 –
เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 2 ทวีติยาภรณ์มงกุฎไทย (ท.ม.)[4]
- พ.ศ. 2496 –
เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 3 ตริตาภรณ์ช้างเผือก (ต.ช.)[5]
ดูเพิ่ม[แก้]
อ้างอิง[แก้]
- ↑ หนังสืออนุสรณ์ งานพระราชทานเพลิงศพอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ
- ↑ แจงปม ย้ายรูปเหมือน “อาจารย์สุชีพ” บิดาแห่งมหาวิทยาลัยสงฆ์ไทย เก็บไว้ที่เหมาะสมเพื่อถวายความปลอดภัยสมเด็จพระสังฆราช
- ↑ พระสังฆราชทรงเชิดชู อาจารย์สุชีพ ผู้ผลิต “พระไตรปิฏกฉบับประชาชน”
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-11-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๗๑ ตอนที่ ๘๗ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๓๓๘, ๒๙ ธันวาคม ๒๔๙๗
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-05-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๗๐ ตอนที่ ๗๘ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๑๙๒, ๒๓ ธันวาคม ๒๔๙๖
![]() |
วิกิคำคมมีคำคมเกี่ยวกับ สุชีพ ปุญญานุภาพ |
- Pathompong Bodhiprasidhinand, (2005). Sujib Punyanubhab: His Life and Work. In Buddhist Unity in the Globalisation Age. The Fourth World Buddhist Summit. Bangkok: Mahamakut Buddhist University. Pp.116-137.
- ประวัติและผลงาน: อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ, กรุงเทพฯ: มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย, 2543.
- Pages using infobox military person with embed
- บุคคลที่เกิดในปี พ.ศ. 2460
- บุคคลที่เสียชีวิตในปี พ.ศ. 2543
- พระราชาคณะชั้นสามัญ
- ผู้เชี่ยวชาญด้านศาสนาพุทธ
- นักวิชาการชาวไทย
- อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย
- เปรียญธรรม 9 ประโยค
- นักเขียนชาวไทย
- บุคคลจากอำเภอบางเลน
- ผู้ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง