ร. จันทพิมพะ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
รวงทอง จันทพิมพะ
เกิด24 สิงหาคม 2452
เสียชีวิต6 เมษายน 2497 (อายุ 45ปี)
นามปากการ.จันทพิมพะ
อาชีพนักเขียน

ร. จันทพิมพะ เป็นนามปากกาของ เริ่ม จันทพิมพะ หรือ รวงทอง นักเขียนท่านนี้เกิดเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2452 เขียนหนังสือตั้งแต่เป็นนักเรียนโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย เข้าทำงานเป็นนักเขียนจริงจังครั้งแรก ที่ หนังสือพิมพ์ "ประชามิตร" เมื่อ พ.ศ. 2484 ตำแหน่งหัวหน้าแผนกบันเทิงคดี เขียนเรื่องสั้นลงใน หนังสือพิมพ์ "รายวัน" ยุคนั้นเรื่องสั้นที่มีชื่อเสียงของเธอก็เช่น แสงอรุณ ค่าของความบาป และ เดือนดวงใหม่

ประวัติ[แก้]

ร.จันทพิมพะ ชื่อจริงของเธอ คือ น.ส.รวงทอง จันทพิมพะ หรือชื่อเดิมว่า เริ่ม เกิดเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2452 เป็นบุตรีของอำมาตย์โท พระประจำคดี (บัวรส จันทพิมพะ) กับนางประจำคดี (ตุ้ม)

เธอเริ่มการประพันธ์มาแต่ตอนที่เป็นครูอยู่ที่โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย โดยได้เขียนเรื่องยาวชื่อว่า"อวสานสวนกุหลาบ" ปรากฏว่าเป็นที่โปรดปรานของนักอ่านที่เป็นเพื่อนครูและบรรดาศิษย์มาแต่ครั้งนั้น

เมื่อลาออกจากครูและกลับไปอยู่บ้าน จึงได้ขอสมัครทำงานหนังสือพิมพ์โดยเริ่มที่วิกบางขุนพรหม และไปสมัครต่อ “ศรีบูรพา” โดยอยู่ในความดูแลของ “แม่อนงค์” หรือ คุณมาลัย ชูพินิจ

วิทยากร เชียงกูล เขียนบทความไว้ว่า ร.จันทพิมพะ (2452-2597) เป็นนักเขียนหญิงที่มีผลงานเด่นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เกือบจะถูกลืมไป อาจจะเป็นเพราะเธอเสียชีวิตไปตั้งแต่ปี 2497 โดยไม่มีทายาทหรือเพื่อนฝูงที่สนใจจะนำงานของเธอมาตีพิมพ์ซ้ำ

ถ้าจะกล่าวโดยรวม ๆ แล้ว ร.จันทพิมพะเขียนเรื่องสั้นแบบสมัยใหม่ โดยใช้ท่วงทำนองการเขียนแบบตะวันตกมากกว่าการเล่านิทานที่เล่าเรื่องไปเรื่อย ๆ แบบไทย เรื่องของเธอมักจะกระชับ มีฉากมีตัวละคร บรรยากาศ บทสนทนาที่ชัดเจน ขณะเดียวกันก็สะท้อนสภาพสังคมชีวิตและสังคมท้องถิ่น ความคิด บทสนทนาของผู้คนในยุคนั้น (พ.ศ. 2492-2495) ได้อย่างดีคือ เป็นนักเขียนที่มีความคิดอ่าน ช่างสังเกต ไม่ใช่แค่นักเล่านิทาน แสน ธรรมยศ ก็เป็นผู้หนึ่งที่เขียนเรื่องสั้นทำนองคล้าย ๆ กันนี้

ตัวละครผู้หญิงของ ร.จันทพิมพะ ออกจะมีลักษณะเสรีนิยมหรืออยากลองของใหม่ อยากเผชิญโลกใหม่ ชีวิตแบบใหม่ มากกว่าตัวละครของดอกไม้สด ซึ่งเป็นคนรุ่นใกล้ ๆ กัน แต่เอาจริงก็เป็นผู้หญิงที่อยากคิดอย่างเสรี มากกว่าที่จะอยากใช้ชีวิตเสรีจริง ๆ หลายเรื่องจึงกลายเป็นเรื่องที่ฝ่ายชายเข้าใจฝ่ายหญิงผิด เช่นเรื่อง"ม่านดอกไม้" "ทางสุดท้าย" โดยเธอมักจะอยู่ข้างฝ่ายหญิงหรือให้ความยุติธรรมกับผู้หญิงอยู่เสมอ ซึ่งต่างจากนักเขียนผู้หญิงหัวเก่าบางคนที่ถูกครอบงำจากกระแสคิดหลักที่ยกย่องผู้ชายมากกว่าผู้หญิง

ร.จันทพิมพะ ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2497 ขณะมีอายุได้ 45 ปี

การทำงาน[แก้]

ร.จันทพิมพะ ทำงานอยู่ที่ น.ส.พ. "ประชามิตร-สุภาพบุรุษ" อยู่จนถึง พ.ศ. 2493 จึงลาออก นับว่าเป็นนักเขียนสตรียุคหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ที่เด่นมากคนหนึ่งในสมัยนั้น เรื่องที่เด่นคือ เราลิขิต และ บนหลุมศพวาสิฏฐี ซึ่งเป็นเรื่องที่ต่อเนื่องกัน ตอนแรกชื่อ เราลิขิต ลงใน "ประชามิตร- สุภาพบุรุษ" ปี ๒๔๘๙ และตอนจบชื่อ บนหลุมฝังศพวาสิฏฐี ลงใน "สยามสมัย" ปี พ.ศ. 2493

เนื้อหาผลงานของ ร. จันทพิมพะสะท้อนภาพสังคมกรุงเทพฯ ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เช่น ภาวะข้าวยากหมากแพง การทุจริต คดโกง การลักลอบค้าข้าวสารของนักฉวยโอกาส นอกจากนั้นยังได้นำเหตุการณ์ประวัติศาสตร์กรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 มาสอดแทรกเป็นส่วนหนึ่งในเนื้อเรื่องได้อย่างกลมกลืน อีกทั้งยังแสดงความก้าวหน้าในยุคนั้นเกี่ยวกับการเสนอเรื่องสิทธิเสมอภาคของสตรีไว้ด้วย จนเคยถูกหาว่าเป็นนักเขียนสตรีที่แหกคอกสังคม[1]

ผลงาน[แก้]

เท่าที่ปรากฏ

  • อวสานสวนกุหลาบ
  • เพื่อเธอเท่านั้น
  • จิตจำลอง
  • ฉากเช้าตรู่
  • ปาริชาติชีวิต
  • เรื่องรักข้ามศตวรรษ
  • เราลิขิต-บนหลุมศพวาสิฏฐี
  • ม่านดอกไม้
  • แสงอรุณ
  • ค่าของความบาป
  • เดือนดวงใหม่
  • ฯลฯ

อ้างอิง[แก้]