ก้านกล้วย
ก้านกล้วย | |
---|---|
![]() ใบปิดภาพยนตร์ | |
กำกับ | คมภิญญ์ เข็มกำเนิด |
เขียนบท | อัมราพร แผ่นดินทอง จรูญ ปรปักษ์ประลัย |
สร้างจาก | เจ้าพระยาปราบหงสาวดี โดย อริยา จินตพานิชการ |
อำนวยการสร้าง | อัจฉรา กิจกัญจนาสน์ |
นักแสดงนำ | จุรี โอศิริ รอง เค้ามูลคดี เทพ โพธิ์งาม ชาญณรงค์ ขันทีท้าว |
ตัดต่อ | พรสวรรค์ ศรีบุญวงษ์ |
ดนตรีประกอบ | ชาติชาย พงษ์ประภาพันธ์ |
บริษัทผู้สร้าง | |
ผู้จัดจำหน่าย | สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล |
วันฉาย | 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 |
ความยาว | 104 นาที |
ประเทศ | ไทย |
ภาษา | ไทย |
ทุนสร้าง | 150 ล้านบาท |
ทำเงิน | 196 ล้านบาท[1] |
ต่อจากนี้ | ก้านกล้วย 2 |
ข้อมูลจาก IMDb | |
ข้อมูลจากฐานข้อมูลภาพยนตร์ไทย | |
ข้อมูลจากสยามโซน |
ก้านกล้วย เป็นภาพยนตร์แอนิเมชันสามมิติอิงประวัติศาสตร์ของไทยที่ออกฉายใน พ.ศ. 2549 ผลิตโดยกันตนาแอนิเมชันและจัดจำหน่ายโดยสหมงคลฟิล์ม ชื่อภาพยนตร์ได้แรงบันดาลใจจากบางส่วนของพงศาวดารว่าลักษณะของเจ้าพระยาปราบหงสาวดี ช้างทรงของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชนั้น จะมีหลังโค้งลาดคล้ายก้านกล้วย จึงตั้งชื่อภาพยนตร์และตัวละครเอกว่า ก้านกล้วย เนื้อเรื่องบางส่วนสร้างจากเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ไทย เป็นการเล่าเรื่องราวตั้งแต่การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 1 จนถึงสงครามยุทธหัตถี ภาพยนตร์เรื่องนี้กำกับโดยคมภิญญ์ เข็มกำเนิด ซึ่งเคยไปศึกษาการทำแอนิเมชันที่สหรัฐและเคยทำภาพเคลื่อนไหวร่วมกับดิสนีย์และบลูสกายสตูดิโอในภาพยนตร์แอนิเมชันอย่างทาร์ซาน, ไอซ์ เอจ และแอตแลนติส[2]
ก้านกล้วยเป็นภาพยนตร์ที่มีเอกลักษณ์ไทย ทั้งภูมิทัศน์ พรรณไม้ ประเพณีไทย และบ้านทรงไทย นอกจากนี้ ยังเป็นแอนิเมชันไทยลำดับต้น ๆ ที่สร้างด้วยคอมพิวเตอร์ต่อจากปังปอนด์และสุดสาครซึ่งเป็นแอนิเมชันสองมิติ ก้านกล้วยถูกดัดแปลงเป็นการ์ตูนทางโทรทัศน์ทางช่อง 7 ที่มีชื่อว่า ก้านกล้วยผจญภัย ซึ่งใช้ตัวละครที่มีอยู่เดิม แต่มีเนื้อหารายละเอียดมากขึ้น
เนื้อเรื่องและงานพากย์[แก้]
เนื้อเรื่อง
ณ ป่าใหญ่แห่งหนึ่ง ช้างสาวแสงดาได้ให้กำเนิดลูกชายชื่อว่า "ก้านกล้วย" ซึ่งก้านกล้วยนั้นมีสายเลือดช้างศึกผู้ยิ่งใหญ่ซึ่งก็คือภูผาพ่อของเขาเอง เมื่อปี พ.ศ. 2112 กรุงศรีอยุธยากำลังถูกกองทัพหงสาวดีกรีฑาทัพมาจู่โจม ภูผาและสิงขรเพื่อนของเขาได้นำทัพออกต้านไว้ แต่ก็ต้องเผชิญกับงวงแดง ช้างศึกแม่ทัพหงสาวดีผู้มีร่างกายมหึมา ซึ่งต้องการจะทำลายกองทัพอยุธยาทั้งหมด งวงแดงกำลังจะทำร้ายสิงขร แต่ภูผาได้เข้ามาขวางและเข้าชนกับงวงแดง ภูผาถูกงวงแดงหักคอตาย เมื่อกองทัพอยุธยาไร้ภูผา กองทัพหงสาวดีก็เข้ายึดครองกรุงศรีอยุธยาเป็นผลสำเร็จ (คนที่ขี่งวงแดงคือพระเจ้าบุเรงนอง และคนที่ขี่สิงขรคือสมเด็จพระมหินทราธิราช)
หลายปีผ่านไป ก้านกล้วยกำลังเล่นซ่อนแอบกับกบในบึง และข้างบนมีเพื่อนสี่คนชื่อว่า มะโรง, มะโหนก, บักอึด และเสริม ทั้งสี่ชอบเล่นกบลูกบอล แต่พอลูกบอลตกลงไปในบึง มะโรงก็สั่งให้ก้านกล้วยไปเอามา แต่ก้านกล้วยไม่ยอมทำตาม มะโรงจึงล้อก้านกล้วยว่า "ขี้ขลาดเหมือนพ่อ" นั่นทำให้ก้านกล้วยโกรธและวิ่งเข้าชนมะโรงเพื่อต่อสู้กัน พวกของมะโรงก็เลยเข้ารุมก้านกล้วย พอสู้เสร็จก้านกล้วยก็กลับไปหาแสงดาผู้เป็นแม่ แสงดาถามก้านกล้วยว่าไปเล่นซนมาหรือเปล่า ก้านกล้วยไม่ตอบ มีแต่น้าจิ๊ดริด นกพิราบสื่อสารแห่งกองทัพอยุธยา ซึ่งเห็นเหตุการณ์นั้นบอกว่าโตไปก้านกล้วยจะได้เป็นช้างศึกผู้ยิ่งใหญ่เหมือนพ่ออย่างแน่นอน เนื่องจากทักษะการต่อสู้ที่ดีเยี่ยม
ก้านกล้วยคิดว่า ผมต้องไปตามหาพ่อของผมเพราะไม่รู้ว่าพ่อผมอยู่ที่ไหน เมื่อแอบหนีออกจากโขลงตามหาพ่อมาได้สักพัก ก็ได้หลงเข้าไปในค่ายพม่า ก้านกล้วยได้เจอกับงวงแดง ก้านกล้วยถามงวงแดงว่ารู้จักภูผาหรือไม่ งวงแดงซึ่งเป็นผู้ฆ่าภูผาได้ยินดังนั้นจึงตวัดไล่ก้านกล้วยไป ก้านกล้วยต้องวิ่งหนีเหล่าทหารหงสาวดีที่ทราบเรื่องราวเพราะเสียงงวงแดง พระนเรศวรหรือพระองค์ดำทรงช่วยไว้ แต่ก้านกล้วยก็ตกเหวและหาช่องทางสะดวกขึ้นมาได้ และได้พบชบาแก้ว ช้างสาวสีชมพูน่ารักวัยเดียวกับก้านกล้วย ก้านกล้วยตกตะลึงสักพัก ชบาแก้วก็พาก้านกล้วยไปอยู่กับคุณตามะหูดที่หมู่บ้านหินขาว
ก้านกล้วยฝึกฝนทักษะการต่อสู้กับคุณตามะหูด จนโตขึ้นเป็นช้างหนุ่มรูปงามผู้ทรงพละกำลัง คืนหนึ่ง ก้านกล้วยกับชบาแก้วได้ลอยกระทงกันอย่างสนุกสนาน เช้าวันต่อมา ทหารหงสาวดีได้บุกมาปล้นสะดมที่หมู่บ้านหินขาว นำสัตว์ร้ายเช่นเสือ ชะมด มาข่มขวัญชาวบ้าน และก้านกล้วยก็มาจัดการกับพวกรุกรานให้ออกไป พอสู้เสร็จแล้วคุณตามะหูดก็ได้นำช้างทั้งหมดของเขาเข้ากรุงศรีอยุธยา ก้านกล้วยได้เป็นช้างทรงของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้รับบรรดาศักดิ์ว่า "เจ้าพระยาไชยานุภาพ" ส่วนพลายบุญเรือง ช้างผู้มีความแข็งแกร่งไม่แพ้กันได้เป็นช้างทรงของ สมเด็จพระเอกาทศรถ จากนั้นก้านกล้วยก็ไปกับแสงดาและน้าจิ๊ดริดเพื่อจะไปตามหาพ่อว่าพ่ออยู่ไหน ในที่สุดก็ได้พบช้างผู้เฒ่านามว่าสิงขรในวังช้าง ซึ่งเขาสามารถแนะนำเรื่องของภูผาได้ด้วยดี เขาเล่าว่า ภูผาเสียชีวิตแล้ว เนื่องจากสละชีวิตให้กับงวงแดงเพื่อปกป้องสิงขรเอง ก้านกล้วย แสงดา และจิ๊ดริดรู้สึกเสียใจเป็นอย่างมากเมื่อรู้ว่าภูผาได้ตายไปแล้ว
ในวันแรม 2 ค่ำ เดือนยี่ ปีมะโรง (18 มกราคม) พ.ศ. 2135 สมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้ทรงนำทัพทหารแห่งกองทัพกรุงศรีอยุธยาไปสู้รบกับทหารแห่งกองทัพหงสาวดี ก้านกล้วยฝ่ากองทัพหงสาวดีมาจนถึงช่วงกลางของทัพ ในขณะที่ก้านกล้วยถูกล้อมด้วยกองทัพหงสาวดี พระนเรศวรทอดพระเนตรเห็นพระมหาอุปราชามังกะยอชวาประทับบนหลังพลายงวงแดงอยู่ที่ใต้ร่มไม้ จึงตรัสกับมังกะยอชวาว่า "มหาอุปราชาแห่งหงสาวดี ท่านจะทรงยืนช้าอยู่ใยในล่มไม้เล่า เชิญออกมาทำยุทธหัตถี เพื่อเป็นเกียรติยศไว้ให้กับแผ่นดินเถิด อย่าให้ต้องลำบากแก่ไพร่พลเลย" มังกะยอชวาจึงไสช้างงวงแดงเข้าทำยุทธหัตถีกับพระนเรศวร งวงแดงจำได้ว่าก้านกล้วยคือลูกชายของภูผา จึงพยายามหักคอ ตอนนั้นก้านกล้วยก็หักงาข้างขวาของงวงแดง เมื่องวงแดงรู้ว่างาหัก ก็โมโหมาก จึงพุ่งเข้าชนก้านกล้วยจนเสียท่า พระนเรศวรตรัสให้กำลังใจก้านกล้วยว่า "พ่อเมืองเอย ถ้าท่านละทิ้งเรา ณ บัดนี้ ก็เท่ากับว่าพ่อละทิ้งตัวท่านเอง ยืนหยัดอยู่กับเราเถิด ด้วยความกล้าหาญของพ่อ และกำลังของเราจะสามารถพลิกชะตากรรมของแผ่นดินได้" มังกะยอชวาทรงใช้พระแสงของ้าวฟันพระนเรศวร แต่พระนเรศวรทรงเบี่ยงหลบทัน และทรงฟันพระอังสะขวาของมังกะยอชวาด้วยพระแสงของ้าวจนสิ้นพระชนม์บนคอช้าง ก้านกล้วยยันโคนต้นพุทราแล้วดันงวงแดงให้ล้มทับงาที่ถูกหักไว้ถึงแก่ความตาย (ในประวัติศาสตร์ช้างทรงของมังกะยอชวาไม่ได้ล้มตายในสงครามยุทธหัตถี)
หลังจากชัยชนะของกรุงศรีอยุธยาในสงครามยุทธหัตถีครั้งนี้ กรุงศรีอยุธยาก็ได้รับเอกราชจากหงสาวดีและอยู่กันอย่างร่มเย็นภายใต้พระบารมีของพระนเรศวร ด้วยความเก่งกาจของก้านกล้วย ทำให้เขาได้รับพระราชทานนามจากพระนเรศวรว่า "เจ้าพระยาปราบหงสาวดี" มีช้างคู้สมรสคือชบาแก้ว และอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
งานพากย์
ภาพยนตร์ | พ.ศ. 2549 |
---|---|
ตัวละคร | ให้เสียงพากย์ไทย |
ก้านกล้วย | อัญญาฤทธิ์ พิทักษ์ติกุล (วัยเด็ก) ภูริ หิรัญพฤกษ์ (วัยหนุ่ม) |
ชบาแก้ว | นวรัตน์ เตชะรัตนประเสริฐ (วัยเด็ก) วรัทยา นิลคูหา (วัยสาว) |
จิ๊ดริด | พงษ์สุข หิรัญพฤกษ์ |
แสงดา | นันทนา บุญ-หลง |
พังนวล | จุรี โอศิริ |
คุณตามะหูด | สุเทพ โพธิ์งาม |
สิงขร | รอง เค้ามูลคดี |
งวงแดง | เอกชัย พงศ์สมัย |
เจ้าเมืองมล่วน | ชาญณรงค์ ขันทีท้าว |
ลักไวทำมู | วสันต์ พัดทอง |
สมเด็จพระนเรศวรมหาราช | บุญชลิด โชคดีภูษิต (วัยเด็ก) สุเมธ องอาจ (วัยหนุ่ม) |
พระมหาอุปราชามังกะยอชวา | สราวุธ เจริญลาภ (วัยเด็ก) กลศ อัทธเสรี (วัยหนุ่ม) |
มะโรง | ฤทธิเดช ฤทธิชุ |
มะโหนก | เจริญพร อ่อนละม้าย |
เสริม | วิยะดา จิตมะหิมา |
บักอึด | พุทธิพันธ์ พรเลิศ |
มางจาชโร, สมิงอะคร้าน, สมิงเป่อ และสมิงซายม่วน | ธงชัย คะใจ |
องอาจ เจียมเจริญพรกุล | |
ธีระวัฒน์ ทองจิตติ |
การเปิดตัว[แก้]
ก้านกล้วย ได้รับการเปิดตัวในรูปแบบดีวีดีที่สหรัฐอเมริกา ในช่วงเดือนกันยายน ค.ศ. 2008 โดยใช้ชื่อในเวอร์ชันอเมริกันคือ The Blue Elephant
บริษัทเพอร์เซ็ปต์พิคเจอร์คอมพานีของอินเดีย ได้ซื้อสิทธิ์ภาพยนตร์และเปิดตัวในเวอร์ชันภาษาฮินดีโดยใช้ชื่อ Jumbo ซึ่งนักแสดงอินเดียชื่อ อักษัย กุมาร เป็นผู้ให้เสียงพากย์ตัวเอกของเรื่องที่ใช้ชื่อในเวอร์ชันนี้ว่า จัมโบ้[3]
รางวัล[แก้]
- ภาพยนตร์เรื่องก้านกล้วย ได้รับรางวัล Best Feature Film จากการประกวดแอนิเมชัน AniMadrid 2006 ที่ประเทศสเปน[4]
- ภาพยนตร์เกียรติยศแห่งปี, ภาพยนตร์ยอดนิยมแห่งปี ที่ทำรายได้สูงสุด, บันทึกเสียงยอดเยี่ยม, ดนตรีประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม รางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี (ตุ๊กตาทอง) ครั้งที่ 28 ประจำปี พ.ศ. 2549[5]
อ้างอิง[แก้]
- ↑ [boxofficemojo\khankluay boxofficemojo\khankluay].
{{cite web}}
:|title=
ไม่มีหรือว่างเปล่า (help); ตรวจสอบค่า|url=
(help) - ↑ "คมภิญญ์ เข็มกำเนิด ผู้นำหนัง "ก้านกล้วย"". Positioning Magazine. 10 กุมภาพันธ์ 2548. สืบค้นเมื่อ 11 มิถุนายน 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
และ|date=
(help) - ↑ "Akshay Kumar's Jumbo is actually a Thai film", ScreenIndia; retrieved 2008-12-13
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-01-08. สืบค้นเมื่อ 2006-11-06.
- ↑ รางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี ครั้งที่ 28 ประจำปี พ.ศ. 2549
แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]
- เว็บไซต์อย่างเป็นทางการ เก็บถาวร 2021-06-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ข่าวจากผู้จัดการออนไลน์ เก็บถาวร 2006-06-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ข่าวจาก modernine เก็บถาวร 2006-06-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- เพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องก้านกล้วย (ขับร้องโดย แอ๊ด คาราบาว) เก็บถาวร 2010-03-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (ไทย)
- ก้านกล้วย (2006) ที่สยามโซน