ทรัพยศาสตร์
หน้าแรกของทรัพยสาตร์ ชั้นต้น เล่มแรก | |
ผู้ประพันธ์ | พระยาสุริยานุวัตร (เกิด บุนนาค) |
---|---|
ชื่อเรื่องต้นฉบับ | ทรัพยสาตร์ ชั้นต้น |
ประเทศ | สยาม |
ภาษา | ไทย |
หัวเรื่อง | เศรษฐศาสตร์, ทรัพย์ |
สำนักพิมพ์ | โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ |
วันที่พิมพ์ | พ.ศ. 2454 |
ชนิดสื่อ | สิ่งพิมพ์ |
332 ส417ท |
ทรัพยศาสตร์ หรือมีที่สะกดว่า ทรัพย์ศาสตร์ หรือต้นฉบับเดิมชื่อ ทรัพย์สาตร์ ชั้นต้น เป็นตำราวิชาเศรษฐศาสตร์ โดย พระยาสุริยานุวัตร (เกิด บุนนาค) จัดพิมพ์ครั้งแรกใน พ.ศ. 2454 จัดเป็นหนึ่งในหนังสือดี 100 เล่มที่คนไทยควรอ่าน ประเภทสารคดี และถือเป็นตำราเศรษฐศาสตร์เล่มแรกของไทย[1]
เนื้อหา
[แก้]หนังสือกล่างถึงสภาพความยากจนในสยาม แนวทางแก้ไขและพัฒนาเศรษฐกิจ และการจัดระบบเศรษฐกิจใหม่เพื่อลดการเอาเปรียบและความเหลื่อมล้ำทางสังคม[2]: 3
ผู้เขียนแบ่งปัจจัยการผลิตออกเป็น 3 ประการ คือ ที่ดิน แรงทำการ และทุน ซึ่งในทัศนะของผู้เขียนมองว่าทุนเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจไทย เนื่องจากช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และการลงทุนทำให้เกิดผลตอบแทนงอกเงย ชี้ให้เห็นความเหลื่อมล้ำระหว่างสัดส่วนการถือครองทุนในระบบเศรษฐกิจ แรงงานได้ส่วนแบ่งจากการผลิตน้อย แต่นายทุนที่ผูกขาดปัจจัยการผลิตได้ส่วนแบ่งมาก อย่าไรก็ดี ผู้เขียนยังไม่ต้องการยกเลิกกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลเพราะมองว่ากรรมสิทธิ์ก่อให้เกิดแรงจูงใจในการทำงาน ผู้เขียนเสนอให้ใช้ระบบสหกรณ์และการรวมตัวกันจัดตั้ง "สมาคมคนทำงาน" นอกจากนี้ยังมีการกล่าวถึงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เรียกร้องให้รัฐบาลจัดการศึกษาขั้นต่ำในชั้นประถมศึกษาโดยไม่เก็บเงินแก่ราษฎร[1]
การจัดพิมพ์
[แก้]หนังสือดังกล่าวจัดพิมพ์สองเล่มใน พ.ศ. 2454 ต่อมาใน พ.ศ. 2474 ทองเปลว ชลภูมิ นำเฉพาะเล่มแรกมาพิมพ์ใหม่ชื่อ เศรษฐวิทยาชั้นต้น หลังจากนั้น ผู้เขียนได้ประพันธ์เล่ม 3 ออกมาชื่อ เศรษฐกิจและการเมือง ใน พ.ศ. 2477 แต่หาต้นฉบับไม่พบ[3][2]: 2
ปฏิกิริยา
[แก้]หนังสือดังกล่าวได้รับความนิยมทันทีที่จัดพิมพ์ ทว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงไม่พอพระทัยกับหนังสือเล่มนี้มากและมีรับสั่งให้พระยาสุริยานุวัตรยุติการเขียน[3] พระองค์ทรงใช้นามปากกา "อัศวพาหุ" วิจารณ์หนังสือดังกล่าวลงในวารสารสมุทสาร ของราชนาวีสมาคมแห่งกรุงสยาม ระบุว่า การแบ่งชนชั้นในสยามอย่างในยุโรปเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง และว่าหากผู้ใดมีความสามารถก็สามารถเลื่อนชนชั้นทางสังคมได้ทั้งนั้น[1] นอกจากนี้ยังวิจารณ์การใช้สำนวนภาษาและการนำเสนอข้อมูล พร้อมทั้งเสนอให้กระทรวงธรรมการไม่ควรใช้หนังสือเล่มนี้เป็นตำราเรียนอีกด้วย แม้กระทรวงธรรมการจะออกใบอนุญาตให้เป็นตำราเรียนแล้วก็ตาม[4] ต่อมารัฐบาลสั่งห้ามเผยแพร่หนังสือดังกล่าว ซึ่งเชื่อมโยงกับกฎหมายห้ามสอนลัทธิเศรษฐกิจในสยาม[2]: 2 จนกระทั่งกลับมาเผยแพร่ได้อีกครั้งเมื่อมีการจัดการเรียนการสอนลัทธิเศรษฐกิจในมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองเมื่อ พ.ศ. 2477[3]
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 "ทรัพยศาสตร์ ตำราเศรษฐศาสตร์เล่มแรกของไทย วิชาต้องห้ามในอดีต". ศิลปวัฒนธรรม. 13 สิงหาคม 2020. สืบค้นเมื่อ 24 สิงหาคม 2020.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 ฉัตรทิพย์ นาถสุภา. "ความคิดทางเศรษฐกิจของพระยาสุริยานุวัตร". ใน ศักดิ์เกรียงไกร, สิริลักษณ์ (บ.ก.). พระยาสุริยานุวัตร (เกิด บุนนาค) นักเศรษฐศาสตร์คนแรกของไทย (PDF) (1 ed.). กรุงเทพมหานคร: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์. ISBN 974-07-5066-4. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2022-06-05. สืบค้นเมื่อ 2020-08-24.
- ↑ 3.0 3.1 3.2 นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ (บ.ก.). "หนังสือต้องห้าม". สถาบันพระปกเกล้า. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 พฤษภาคม 2023. สืบค้นเมื่อ 24 สิงหาคม 2020.
- ↑ "ร.6 ทรงวิจารณ์ ทรัพยศาสตร์ ตำราเศรษฐศาสตร์เล่มแรกในสยาม "ผู้แต่งไม่รู้จักชาติดีพอ"". ศิลปวัฒนธรรม. 2 กันยายน 2020. สืบค้นเมื่อ 2 กันยายน 2020.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- พระยาสุริยานุวัตร (1975). ทรัพย์ศาสตร์ (3 ed.). สำนักพิมพ์พิฆเณศ – โดยทาง หอสมุดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.