บ้านผีปอบ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ภาพยนตร์เรื่องบ้านผีปอบ ภาคแรก

บ้านผีปอบ เป็นภาพยนตร์ไทย ประเภทหนังผีประเภทผสมความตลกขบขัน ที่มีการสร้างถึง 14 ภาคตั้งแต่ปี 2532−2554[1] ถือเป็นภาพยนตร์ไทยที่มีภาคต่อมากที่สุด[2] เป็นหนังที่นำเอาตัวละครผีปอบ มาจากนวนิยายชุด ภูตผีปีศาจไทย เรื่อง ผีปอบ ในเล่ม ปีศาจของไทย ของนักเขียนและจิตรกรชั้นครูผู้ล่วงลับคือครู เหม เวชกร มาเป็นต้นแบบ ส่วนชื่อ ทองคำ ซึ่งเป็นชื่อของ ปอบยายทองคำ มาจากชื่อของ 1 ในตัวละครหลักของนวนิยายชุดนี้

ความประสบความสำเร็จในภาคแรก ๆ ทำให้มีการสร้างภาคต่อ ๆ มา และกลายเป็นภาพยนตร์สยองขวัญผสมเบาสมอง โดยเน้นความตลกเบาสมองเสียมากกว่า แต่ก็ทำให้ ปอบหยิบ โด่งดังและเป็นที่รู้จักอย่างดี ในภาพยนตร์จะมีวิธีการหนีผีแปลกๆ แบบหนีลงตุ่ม วิ่งหนีขึ้นต้นไม้ เหาะข้ามคลอง หรือแม้กระทั่ง แกล้งผีปอบต่าง ๆ นานา เช่น ทาสีทำเป็นประตูลวง เป็นต้น หรือตัวผีปอบเองก็มีวิธีวิ่งไล่จับคนแปลกๆเช่น เช่น ขี่บั้งไฟ ขี่มอเตอร์ไซค์ ใช้พัดสันกำแพงเป็นต้น โดยมีณัฐนี สิทธิสมาน ที่ได้ฉายานามว่า เจ้าแม่ผีปอบ ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ ซีรีส์ภาพยนตร์เรื่อง บ้านผีปอบ

ในภาคแรกผู้รับบทผีปอบคือ สุชาดา อีแอม และ ตัวละคร ปอบหยิบ เริ่มมีตั้งแต่ภาคที่ 2 รับบทโดย ณัฐนี สิทธิสมาน บ้านผีปอบภาคที่ 5 ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น พันธุ์ผีปอบ 34 เนื่องจากภาคนี้ ณัฐนี สิทธิสมาน ไม่ได้เล่น และบ้านผีปอบข้ามภาค 12 ไป เนื่องจากถือเคล็ดว่าไม่เป็นหนังโหล กลายเป็นภาคที่ 13

ภาพยนตร์เรื่อง บ้านผีปอบ 2 (ปี 2533) ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติ ประจำปี 2558[3]

งานสร้าง[แก้]

ที่มา[แก้]

ในช่วงที่ตลาดหนังไทยยังพอไปได้ แต่ยังไม่ค่อยดี บริษัทกรุ๊ฟโฟร์ ที่มีทีมงานอยู่ไม่กี่คนได้รวมตัวกันเพื่อจะสร้างหนัง ซึ่งคิดว่าหนังผีน่าจะเป็นทางออกที่น่าจะประสบความสำเร็จได้ มีความเสี่ยงน้อยที่สุด โดยช่วยกันหาเงินมาทำหนัง เรื่องหนึ่งใช้เงินประมาณ 4 แสนกว่าบาท โดยประเด็นที่เลือกคือผีปอบ เพราะเคยมีหนังผี กระสือ หรือ แม่นาคพระโขนง และคิดว่าการนำเสนอเรื่องผีปอบที่ชาวบ้านเล่าลือกันมากในแถบภาคอีสานเป็นสิ่งใหม่และไม่มีใครทำมาก่อน[4] บริษัทกรุ๊ฟโฟร์ติดต่อให้ สายยนต์ ศรีสวัสดิ์ มารับหน้าที่เขียนบทและกำกับภาพยนตร์ โดยวางให้ณัฐนี สิทธิสมาน มารับบทปอบตั้งแต่ภาคแรก แต่ได้ตอบปฏิเสธไปเพราะยังไม่มีคิวว่าง[2]

การถ่ายทำ[แก้]

ในภาคแรกได้งบประมาณในการสร้างน้อยมาก ใช้เวลาถ่ายทำที่สุพรรณบุรีเพียง 7 วัน และใช้นักแสดงหน้าใหม่เกือบทั้งหมด ในภาคต่อมาเริ่มมีเงินทุนมากขึ้น มีเวลาถ่ายทำมากขึ้น ตั้งแต่ 10-20 วัน จนภาค 13 ใช้เวลาถ่ายทำถึง 2 เดือน [4]

เนื้อหา[แก้]

โครงเรื่องของภาพยนตร์เรื่อง บ้านผีปอบ จะคงโครงเรื่องเดิม ๆ ไว้ คล้าย ๆ กันทุกภาค แต่จะเปลี่ยนมุกตลกต่าง ๆ เนื้อเรื่องหลักคือ กลุ่มแพทย์จากกรุงเทพฯ ที่มารักษาชาวบ้าน เจอเหตุการณ์แปลกๆในหมู่บ้าน อันเนื่องมาจากการอาละวาดของผีปอบ ชาวบ้านก็ต่างหาวิธีจับผีปอบ แต่สุดท้ายก็โดนผีปอบอาละวาดกลับ โดยลักษณะจุดเด่นของบ้านผีปอบคือ การวิ่ง ไล่หนีกันระหว่าง ผีปอบ และตัวละครในเรื่อง[4]

มุกตลกที่ถือเป็นภาพจำของภาพยนตร์เรื่องนี้ อาทิ มุกหนีผีลงตุ่ม ซึ่งเริ่มมีในภาค 2 และต่อมาเป็นมุกขายในแทบทุกภาค มุกนี้เกิดขึ้นจากการไปดูสถานที่ถ่ายทำเขียนบทที่จังหวัดสุพรรณบุรี และสังเกตเห็นตุ่มดินที่ทุกบ้านใช้เพื่อเก็บน้ำ โดยเริ่มคิดจากเทคนิคการถ่ายทำ หากให้คนลงไปสิบคน คงเป็นไปไม่ได้ จึงใช้เทคนิคทางด้านภาพ ซึ่งสมัยนั้นยังไม่ใช้เทคนิคนี้มากเท่าไร[5]

ปอบ[แก้]

ในแต่ละภาคจะมีผีปอบอย่างน้อย 1 คนที่คอยปั่นป่วนชาวบ้านเสมอ ในภาคแรกปอบคือ ยายทองคำ (รับบทโดย สุชาดา อีแอม) มีเอกลักษณ์ตรงใบหน้าที่ดุร้าย ไม่ค่อยมีอารมณ์ขันมากนักสำหรับภาคแรก (ยายทองคำกลับมาอีกครั้งในภาค 11) คนต่อมาคือ ยายหยิบ หมอผีประจำหมู่บ้าน ผู้เล่นของและคุณไสย จนกลายเป็น ปอบหยิบ (รับบทโดย ณัฐนี สิทธิสมาน) ซึ่งปรากฏตัวครั้งแรกในภาค 2 ลักษณะท่าทางยังคงความน่ากลัวอยู่ จนภาค 3 ที่ปรับให้เพิ่มความตลกขบขันจนได้รับเสียงตอบรับที่ดี ปอบหยิบมีเอกลักษณ์คือ ท่าหยิบ ที่ได้แรงบันดาลใจจากไก่ต้ม ส่วนในภาค 8 ปอบหยิบจะหายไป และมีปอบคนใหม่ คือ ผีปอบฝรั่งชื่อ แอน (รับบทโดย วิกกี้ สาริกบุตร) เนื่องจากเปลี่ยนผู้กำกับจาก ศรีสวัสดิ์ ที่กำกับมาตลอด 7 ภาค มาเป็น ธงทอง แต่ก็ล้มเหลว จนปอบหยิบต้องกลับมาอีกครั้งในภาค 9 เป็นต้นมา[4]

ภาค[แก้]

ปี ชื่อภาค ปอบ หมายเหตุ
2532 บ้านผีปอบ ปอบทองคำ เปิดตัวปอบทองคำ
2532 บ้านผีปอบ 2 ปอบหยิบ ปอบกระดึง เปิดตัวปอบหยิบ, ใช้มุขหลบในตุ่มเป็นครั้งแรก
2533 บ้านผีปอบ 3 ปอบหยิบ ปอบหมอผีคล้าย เปลี่ยนนางเอกจาก ตรีรัก รักการดี เป็น รักษ์สุดา สินวัฒนา, เกียรติ กิจเจริญ (ซูโม่กิ๊ก) รับบทเป็นพระรอง เรื่องบ้านผีปอบ (3−7) อย่างเต็มตัว
2534 บ้านผีปอบ 4 ปอบหยิบ ปอบหมอผีคล้าย เปิดตัวบุญชอบ (กฤษณ์ ศุกระมงคล), มุข กระโดดถอยกลับ โดยเทคนิค ภาพ Auto Reverse ใช้ในภาคนี้[6], มุข ทาสีทำเป็นประตูลวง, ปอบหยิบ ไถล สเก็ตบอร์ด
2534 บ้านผีปอบ' 34 (ภาค 5) สร้างโดยทีมงานอื่น ใช้ชื่อว่า บ้านผีปอบ' 34 และเมื่อทีมงานบ้านผีปอบ 1−4 มาสร้างภาคต่อ ก็ข้ามไปภาคที่ 6 เลย โดยถือว่าภาคนี้เป็นภาคที่ 5 เพื่อไม่ให้ผู้ชมสับสน ภาคนี้มีเนื้อเรื่องใหม่หมด เปลี่ยนปอบเป็น มณีรัตน์ วัยวุฒิ,มุขเอาของออกจากป้ายโฆษณา
2534 บ้านผีปอบ 6 ปอบหยิบ ปอบหยิบกลับมา พร้อมอุปกรณ์จับผีปอบแบบพิสดารมากมาย เปลี่ยนจากกลุ่มตลกกลิ่นสี เป็น ซูโม่สำอาง อย่าง ซูโม่โค้ก (สมชาย เปรมประภาพงศ์) และ ซูโม่เอ๋ (เกรียงไกร อมาตยกุล) ร่วมด้วย สุเทพ ประยูรพิทักษ์, ภาคนี้ ธงชัย ประสงค์สันติ ไม่ได้แสดง, มุข ปอบหยิบบินได้ด้วยพัดสันกำแพง
2535 บ้านผีปอบ 7 ปอบหยิบ ไล่จับผีปอบถึงเขาพระวิหาร, ธงชัย ประสงค์สันติ กลับมาแสดงนำอีกครั้ง, ภาคสุดท้ายของ เกียรติ กิจเจริญ
2535 บ้านผีปอบ 8 ปอบแอน (ปอบฝรั่ง) สมาชิกในทีมวิจัยผีปอบ คือ แอน โดนผีปอบเข้าสิง, กลุ่มตลก กลิ่นสี (กาละแม, ซานโต๊ส, ชลิต) กลับมาร่วมแสดงในซีรีส์บ้านผีปอบ อีกครั้ง, ศุภกร อุดมชัย และ ท้วม ทรนง มาร่วมกลุ่มวิ่งหนีผีปอบด้วย
2536 บ้านผีปอบ 9 ปอบหยิบ, ปอบแอน (ปอบฝรั่ง) ปอบหยิบสร้างความอลหม่านในกรุงเทพฯ เพราะหลุดหลงกับทีมนักวิจัยผีปอบ ที่สถานีรถไฟหัวลำโพง, กล้วย เชิญยิ้ม มาร่วมแสดงอยู่ในแก๊งวิ่งหนีผีปอบเช่นกัน, ตลกอาวุโส สงัด เหงือกงาม กลับมาเล่นเป็น ลุงบิลลี่ อีกครั้งในภาคนี้, มุกวิ่งเข้าไปหลบในทีวี
2536 บ้านผีปอบ 10 ปอบหยิบ มีของเล่นประเภทจรวด, วิ่งหนีปอบหยิบรอบบริเวณที่ฉาย หนังกลางแปลง, มุกขึ้นรถชาวบ้านพอถึงที่หมายแล้วคิดเงิน
2537 บ้านผีปอบ 11 ปอบหยิบ ปอบทองคำ ปอบทองคำฟื้นคืนชีพ ขึ้นมาโดยไม่ได้ตั้งใจ เพราะภาพวาดในหนังสือการ์ตูน บ้านผีปอบ , หม่ำ จ๊กมก และ น้อย โพธิ์งาม มาร่วมแสดงอยู่ในแก๊ง วิ่งหนีผีปอบ เป็นภาคแรก ในภาคนี้, มี อ.อู๊ดดี้- ชัยณรงค์ อริยะประเสริฐ นักวาดภาพชื่อดัง จากรายการ มาตามนัด รับบทเป็นนักเขียนการ์ตูน เรื่อง บ้านผีปอบ
2537 บ้านผีปอบ 13 ปอบหยิบ ปอบดี้ (ผีปอบเขมร) ข้ามภาคที่ 12 ไปเลย โดยให้เหตุผลว่า เพื่อไม่ให้เป็นผีโหลๆ ภาคนี้มีนักแสดงและทุนสร้างมากขึ้น,ผีปอบอาละวาดหนักขึ้น โดยที่ชาวบ้านได้แต่สงสัยว่านอกจากปอบหยิบแล้ว ใครเป็นผีปอบที่ออกอาละวาดอีกบ้าง, มุกวิ่งหนีลงตุ่มกลับมาใช้ในภาคนี้
2551 บ้านผีปอบ 2008 ปอบหยิบ ปอบหยิบกลับมาอีกครั้ง จากการปลุกขึ้นมาของหมอคล้าย (กลศ อัทธเสรี) สร้างความอลหม่านให้ชาวบ้านไปทั่วในรอบ 14 ปี ภาคนี้นับเป็นภาคที่ 14 ของ ซีรีส์บ้านผีปอบ, กล้วย เชิญยิ้ม กลับมาแสดงอีกครั้ง, รวิช ไรวินท์ แจ็ค เชิญยิ้ม และ สมเจต พยัฆโส ร่วมแสดงอยู่ในแก๊งวิ่งหนีผีปอบด้วย, มีทีมนักพากย์พันธมิตร มาพากย์ในบางคน
2554 บ้านผีปอบ รีฟอร์เมชั่น ปอบหยิบ [7] ปอบหยิบอาละวาดอีกครั้งหลังจากตกหน้าผาหายสาบสูญไป 20 ปีก่อน มีการเสริมในเรื่องของเทคโนโลยีทันสมัย มีนักแสดงตลกจากวงการโฆษณากับทีมนักพากย์พันธมิตร มาร่วมกลุ่มวิ่งหนีผีปอบด้วย, กรุ๊ฟโฟร์กลับมาสร้างอีกครั้ง,ได้ สายยนต์ ศรีสวัสดิ์ ผู้กำกับบ้านผีปอบคนแรกมาช่วยควบคุมงานสร้างอีกด้วย, ปอบหยิบไถลสเก็ตบอร์ดอีกครั้ง

การตอบรับ[แก้]

ความนิยม[แก้]

บ้านผีปอบ เป็นภาพยนตร์เกรดบี ในภาคแรกเวลาฉายจะไม่ค่อยได้รอบพิเศษเหมือนภาพยนตร์เกรดเอ จนในภาคสอง มีบางโรงภาพยนตร์ฉายเพิ่มรอบเที่ยงคืน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของภาคสามและก็ทำเรื่อยมา ซึ่งจากรายได้ที่ฉาย ในกรุงเทพจะได้ไม่มากนัก แต่ในต่างจังหวัดอย่างในภาคอีสานและภาคเหนือหนังประสบความสำเร็จทุกภาค ครั้งหนึ่งขณะถ่ายทำภาค 7 ที่เขาพระวิหาร จังหวัดศรีสะเกษ มีคนมามุงดูการถ่ายทำอยู่มาก และมีคนมาขอลายเซ็นณัฐนี สิทธิสมาน, เกียรติ กิจเจริญ, ธงชัย ประสงค์สันติ สามดารานำในเรื่อง ทั้งคนไทยและกัมพูชากันแน่นขนัด[4]

สิ่งสืบเนื่อง[แก้]

บ้านผีปอบ มีอิทธิพลต่อภาพยนตร์ในรุ่นหลัง ๆ ที่มักมีสไตล์ที่เลียนแบบหรือล้อเลียนมา อย่างเช่น ในปี 2551 มีภาพยนตร์เรื่อง บ้านผีเปิบ ที่ได้รับอิทธิพลมาจากบ้านผีปอบ แต่มีเนื้อเรื่องและสไตล์ที่ต่างกัน ตามยุคตามสมัย[8] ในปีเดียวกันภาพยนตร์เรื่อง ว้อ ... หมาบ้ามหาสนุก ที่มีภาพลักษณะชาวบ้านวิ่งหนีหมาบ้า คล้าย ๆ กับบ้านผีปอบ[9] ในปี พ.ศ. 2561 เป็นเอก รัตนเรือง กำกับซีรีส์ทางช่องเอชบีโอ ในโครงการ Folklore คือซีรีส์สยองขวัญ 6 ตอน โดยรวบรวมผู้กำกับจาก 6 ประเทศแถบเอเชีย ที่สะท้อนถึงความเชื่อ ความเร้นลับ อันเป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่นเฉพาะตัวของแต่ละประเทศ โดยตอนของเป็นเอก ใช้ชื่อว่า "ปอบ" ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจาก บ้านผีปอบ[10]

นอกจากนั้น ณัฐนี ผู้แสดงเป็นปอบยังได้ปรากฏตัวอยู่ในภาพยนตร์แนวเดียวกันอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น โรงเรียนกำจัดปอบ, แม่นาคเจอผีปอบ, ปลุกผีมาจี้ปอบ และ สยองก๋อยส์[2]

อ้างอิง[แก้]

  1. มองหาความคัลต์ในหนังไทย เก็บถาวร 2016-03-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน โดย ผู้จัดการออนไลน์ 23 มิถุนายน 2550 10:13 น.
  2. 2.0 2.1 2.2 "๑๙ มกราคม ลานดารา ณัฐนี สิทธิสมาน". หอภาพยนตร์. สืบค้นเมื่อ 8 มีนาคม 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)
  3. "วธ.ประกาศขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติประจำปี 25 เรื่อง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-10-12. สืบค้นเมื่อ 2018-05-14.
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 นิตยสารไบโอสโคป ฉบับที่ 77 เดือนเมษายน 2551 หน้า 70-75
  5. เก้า มีนานนท์ (30 ตุลาคม 2018). "บ้านผีปอบ หนังผีเกรดบีสุดคัลต์ ผู้สร้างตำนาน 'ปอบหยิบ' และมุกหนีผีลงตุ่ม". สืบค้นเมื่อ 8 มีนาคม 2020.
  6. กระทู้ในพันทิพ.คอม
  7. http://www.thaicinema.org/kits336popreform.asp
  8. "เนื้อเรื่องใหม่ มุกใหม่ ฮาสยองกว่าหลายเท่าตัว". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-08-04. สืบค้นเมื่อ 2008-04-18.
  9. นิตยสารแฮมเบอร์เกอร์ ฉบับที่ 122 เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2551 หน้า 136
  10. เก้า มีนานนท์ (6 กันยายน 2561). "ล้างตารอดู Folklore: Pob หนังผีเรื่องใหม่จาก ต้อม เป็นเอก ฉายทาง HBO Asia ตุลาคมนี้". เดอะสแตนดาร์ด. สืบค้นเมื่อ 8 มีนาคม 2563. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)