หนังสือแสดงกิจจานุกิจ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
หนังสือแสดงกิจจานุกิจ
ประเภทเรียงความ วิชาการ
คำประพันธ์ร้อยแก้ว
ยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น
ปีที่แต่งรัชกาลที่ 3
ลิขสิทธิ์กรมศิลปากร
ส่วนหนึ่งของสารานุกรมวรรณศิลป์

หนังสือแสดงกิจจานุกิจ หรือสะกดตามต้นฉบับว่า หนังสือแสดงกิจจานุกิตย์ เป็นหนังสือที่รวบรวมสิ่งที่เป็นแก่นสารของพระพุทธศาสนา และเลือกสรรความรู้สมัยใหม่ในสมัยนั้น เช่น วิทยาศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และศาสนาเปรียบเทียบ ที่เป็นความรู้ทันสมัยและยังไม่เป็นที่ทราบกันทั่วไป

ที่มาของหนังสือ[แก้]

สืบเนื่องจากเหล่ามิชชันนารีที่เข้ามาเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในประเทศไทยในสมัยรัชกาลที่ 3 เริ่มตีพิมพ์ผลงานที่โจมตีพระพุทธเจ้าและพุทธศาสนาด้วยข้อความต่าง ๆ ว่าเป็นศาสนาล้าหลังบ้าง ด้อยพัฒนาบ้าง และท่านเจ้าพระยาก็โต้ตอบพวกหมอสอนศาสนาทั้งที่เป็นชาวเยอรมันและอเมริกัน จนท่านเหล่านั้นต้องยอมจำนนไปต่าง ๆ นานา และท่านเจ้าพระยาจึงรวบรวมคำพูดต่าง ๆ พิมพ์เป็นเล่มขึ้น

การพิมพ์[แก้]

การพิมพ์ในระยะแรก ๆ นั้น บรรดาโรงพิมพ์ของพวกมิชชันนารีต่างรังเกียจไม่รับที่จะพิมพ์ เพราะเห็นว่าเป็นหนังสือที่ขัดต่อการเผยแพร่ศาสนาของตน และอ้างว่าขัดต่อหลักการและจุดประสงค์ของโรงพิมพ์ กระนั้น ท่านก็มาตั้งโรงพิมพ์เอง เรียกในสมัยนั้นว่า "การพิมพ์หิน" คือ ใช้แผ่นหินอ่อนมาสลักเป็นแม่พิมพ์ เป็นหนังสือจำนวน 390 หน้า และออกจำหน่ายเป็นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2410

ข้อวิจารณ์[แก้]

หลังจากหนังสือนี้พิมพ์ครั้งแรก ได้มีการวิจารณ์ถกเถียงจากเหล่ามิชชันนารีเป็นจำนวนมาก จนกระทั่ง MR.Henry Alabaster อดีตรองกงสุลอังกฤษประจำประเทศสยาม และภายหลังได้มาเป็นข้าราชการในสมัยรัชกาลที่ 5 และเป็นต้นสกุล (เศวตศิลา) ได้นำข้อความบางตอนไปแปลเป็นภาษาอังกฤษในหนังสือของตนเองที่ชื่อว่า (The Wheel Of The Law) และอีกเล่มหนึ่งชื่อว่า (The Modern Buddhist) โดยเขาอ้างว่า ความคิดของเสนาบดีไทยคนนี้คือความคิดของชาวพุทธคนหนึ่ง เล่มหลังนี้พิมพ์ครั้งแรกโดย บริษัท (Trubner & Co.) ในลอนดอน เมื่อปี พ.ศ. 2413

ทัศนะของปัญญาชนสยาม[แก้]

สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เคยกล่าววิจารณ์ว่า เป็นหนังสือที่อวดได้ถึงความทันสมัยของพุทธศาสนา แต่การที่ไทยเราเดินตามฝรั่ง จนเลิกเชื่อเรื่องวัฏฏสงสารหรือการเวียนว่ายตายเกิด ซึ่งพิสูจน์ไม่ได้ตามแนวทางแห่งวิทยาศาสตร์...รวมทั้งความเชื่อเรื่องรุกขเทวดา นรกสวรรค์ แม้จนชาดกต่าง ๆ ก็เห็นเป็นว่าเรื่องเล่านิทานไป และอีกแห่งกล่าวว่า 1. ปฏิเสธความเชื่อแบบคริสต์ ที่มีความศักดิ์สิทธิ์ที่อธิบายไม่ได้ตามหลักวิทยาศาสตร์ 2. เราถือพุทธเป็นวิทยาศาสตร์ 3. คำเทศนาในปฐมสมโพธิกถา ถูกสมเด็จพระสังฆราชในสมัยรัชกาลที่ 5 ในคณะธรรมยุต ปฏิเสธเสียสิ้น[1][ระบุข้อมูลทางบรรณานุกรมไม่ครบ]

อ้างอิง[แก้]

  1. สีกากับผ้าเหลือง พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2537 และบทความอื่นๆ เช่น เรื่องพรหมจรรย์ในสังคมบริโภค และ เรื่องความอ่อนแอและเสื่อมโทรมของคณะสงฆ์ไทยและทางออกจากสถานการณ์ปัจจุบัน.