ข้ามไปเนื้อหา

ไตรภพ ลิมปพัทธ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ไตรภพ ลิมปพัทธ์
เกิด11 กรกฎาคม พ.ศ. 2498 (69 ปี)
จังหวัดนครศรีธรรมราช ประเทศไทย
ชื่ออื่นต๋อย, อาต๋อย
อาชีพ
  • ทนายความ
  • พิธีกร
  • นักธุรกิจ
  • นักแสดง
  • ผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์
  • ผู้ประกาศข่าว
  • ยูทูปเบอร์
ปีปฏิบัติงานพ.ศ. 2525–ปัจจุบัน​
ตัวแทนช่อง 3 HD (2532–ปัจจุบัน)
สถานีโทรทัศน์ไอทีวี
(2547–2549)
มีชื่อเสียงจากฝันที่เป็นที่จริง
ทไวไลท์โชว์
เกมเศรษฐี
ครัวคุณ​ต๋อย
ทูเดย์​โชว์​
คู่สมรสพิจิตรา ลิมปพัทธ์
(2524–ปัจจุบัน​)
บุตร2 คน
อาชีพแสดง
ผลงานเด่นมังตรา / พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ - ผู้ชนะสิบทิศ (2532)
รางวัล
โทรทัศน์ทองคำเกียรติยศคนทีวี
พ.ศ. 2561
ข้อมูลยูทูบ
ช่องBorn TV Official
ปีปฏิบัติงานพ.ศ. 2557–ปัจจุบัน
ประเภท
จำนวนผู้ติดตาม1.55 ล้านคน
รางวัลครีเอเตอร์
100,000 ผู้ติดตาม
1,000,000 ผู้ติดตาม

ไตรภพ ลิมปพัทธ์ ชื่อเล่น ต๋อย (เกิด 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2498​) เป็นพิธีกรและนักแสดงชาวไทย หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งและประธาน บริษัท บอร์น แอนด์ แอสโซซิเอทด์ จำกัด อดีตประธานบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) และผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ไอทีวี (2547-2549)

ประวัติ

[แก้]

ไตรภพ ลิมปพัทธ์ เกิดเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2498 ที่ตำบลคลัง อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช และมาเติบโตที่กรุงเทพมหานคร ไตรภพเป็นบุตรชายคนโต ในบรรดาพี่น้องทั้งหมด 4 คน ของนายอุไร (เสียชีวิต) และ นางสังวรณ์ ลิมปพัทธ์ โดยเมื่อไตรภพได้เสียพ่อไปในตอนที่ตนเองอายุ 5 ขวบ จากการที่พ่อของตนประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ ทำให้ไตรภพต้องดูแลน้องอีก 4 คน และได้ย้ายมาอยู่บ้านของยาย ส่วนแม่ที่ทำงานเป็นนักดีเทลยา ต้องออกไปทำงานต่างจังหวัด 27 หรือ 28 วันต่อเดือน ทำให้ไตรภพกับน้องอีก 4 คน ได้อยู่กับแม่เพียงแค่ 2 หรือ 3 วันต่อเดือนเท่านั้น ไตรภพเคยศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนวัดสระเกศ และเคยคิดที่จะสอบเอ็นทรานซ์เข้าคณะวิศวกรรมศาสตร์ โดยเฉพาะคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพราะเห็นญาติทางฝ่ายแม่ เรียนคณะนี้แล้วเท่ห์ แต่เนื่องจากไตรภพเป็นคนเรียนหนังสือไม่เก่ง ประกอบกับในช่วงที่เรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย หันมาเที่ยวเตร่ ไม่สนใจในการเรียนหนังสือเท่าที่ควรจะเป็น ทำให้ไตรภพ สอบเอ็นทรานซ์ไม่ผ่าน และไม่มีชื่อติดอันดับในคณะวิศวกรรมศาสตร์ทุกมหาวิทยาลัย จึงตัดสินใจเข้าศึกษาในระดับปริญญาตรีคณะ​นิติศาสตร์ มหา​วิทยาลัย​ราม​คำ​แหง​ และเมื่อสำเร็จการศึกษาจากคณะนิติศาสตร์แล้ว ไตรภพได้เข้าทำงานเป็นทนายความในสำนักกฎหมาย มณี เทพภักดี

วันที่ 23 พฤศจิกายน 2566 ไตรภพได้เข้ารับปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการจัดการ จาก วิทยาลัยผู้ประกอบการสร้างสรรค์นานาชาติรัตนโกสินทร์ (RICE - วิทยาลัยผู้ประกอบการสร้างสรรค์นานาชาติรัตนโกสินทร์) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์

การศึกษา

[แก้]

ระดับมัธยมศึกษา : โรงเรียนวัดสระเกศ
ระดับปริญญาตรี : คณะ​นิติศาสตร์ มหา​วิทยาลัย​ราม​คำ​แหง

ด้านวงการบันเทิง

[แก้]

จุดเริ่มต้นการเป็นพิธีกรรายการโทรทัศน์ และการได้รับงานแสดง

[แก้]

ในระหว่างที่ทำงานเป็นทนายความอยู่นั้น ไตรภพได้ไปร่วมเข้าแข่งขันรายการเกมโชว์ครั้งแรก และครั้งเดียวในชีวิตกับเครือญาติอีก 4 คน ในรายการ ล้มเค้า ทางช่องททบ.5 โดยลาวัณย์ ชูพินิจ (กันชาติ) ประธานกรรมการบริษัท เจเอสแอล จำกัด ซึ่งได้เห็นแววถึงความสามารถของไตรภพจากรายการล้มเค้าเพียงแค่กล้าพูดทักทายญาติที่รับชมอยู่ทางบ้านนั้น จึงได้ติดต่อ และพูดคุยให้ไตรภพมาเป็นพิธีกรถึง 2 ครั้ง (แต่ครั้งแรกไตรภพได้ปฏิเสธไป) แต่ครั้งที่ 2 ไตรภพก็ตัดสินใจมาเป็นพิธีกร (ซึ่งเกิดเหตุมาจากคำพูดของภรรยาที่เตือนสติ) และก็ยังคงทำงานในด้านทนายความมาอีกสักระยะ โดยเริ่มงานแรกในฐานะพิธีกรรายการ พลิกล็อก ร่วมกับ วาสนา สิทธิเวช และดี๋ ดอกมะดัน ในปี พ.ศ. 2525 และในเวลาต่อมาได้ไปเป็นพิธีกรรายการ ลาภติดเลข ร่วมกับ ธิติมา สังขพิทักษ์ ซึ่งสองรายการนี้ออกอากาศทางททบ.5 (โดยในภายหลัง ได้นำปัญญา นิรันดร์กุล มาทำหน้าที่พิธีกรรายการ พลิกล็อค แทน) ต่อมาไตรภพได้ไปทำงานที่กันตนา เพราะคุณจาฤก กัลย์จาฤก (เพื่อนสนิท) และผู้บริหารของบริษัท กันตนา (กรุ๊ป) จำกัด (มหาชน) มาทาบทามไตรภพให้ไปเป็นพิธีกร หลังจากนั้นไตรภพตัดสินใจหยุดการเป็นพิธีกรที่บริษัทเจเอสแอล แล้วไปเป็นพิธีกรที่บริษัทกันตนา โดยได้เริ่มเป็นพิธีกรในรายการ ท้าพิสูจน์ ทางช่อง 7 สี พร้อมกับรับงานแสดงเป็นครั้งคราวไป โดยบทบาทการแสดง ซึ่งเป็นที่จดจำคือ การรับบทเป็น มังตราตะเบ็งชะเวตี้ ในละครเรื่อง ผู้ชนะสิบทิศ ทางไทยทีวีสีช่อง 3 เมื่อปี พ.ศ. 2532 และเคยแสดงภาพยนตร์อยู่ 1 เรื่อง คือ อีก 10 วันโลกจะแตก โดยรับบทเป็น ดร.มีบุญ ซึ่งเป็นนักแสดงนำของเรื่องร่วมกับ ญาณี ตราโมท เมื่อปี พ.ศ. 2530

เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2527 ไตรภพ ร่วมกับ ก่อเกียรติ ลิมปพัทธ์ (น้องชายของตนเอง) จดทะเบียน และก่อตั้งบริษัทผลิตรายการโทรทัศน์ที่มีชื่อว่า บริษัท บอร์น แอนด์ แอสโซซิเอทด์ จำกัด เพื่อผลิตรายการโทรทัศน์ ออกอากาศทางไทยทีวีสีช่อง 3แต่เพียงเท่านั้น โดยเริ่มต้นจากรายการ เอาไปเลย ในปี พ.ศ. 2527 เป็นลำดับแรก แต่มามีชื่อเสียงโด่งดังในรายการ ฝันที่เป็นจริง ในปี พ.ศ. 2531 ซึ่งถือได้ว่า ไตรภพเป็นที่จดจำของผู้ชมอย่างมากจากรายการนี้ และได้สร้างชื่อเสียงให้กับช่อง 3 ให้เป็นรู้จักในวงกว้าง และในเวลานั้นเอง ไตรภพได้ลาออกจากอาชีพทนายความ โดยให้เหตุผลว่า ความรับผิดชอบของการทำรายการโทรทัศน์มีมาก และทับซ้อนกับเวลาการว่าความในศาล หลังจากนั้นเมื่อปี พ.ศ. 2533 ไตรภพเริ่มผลิตรายการ วาไรตี้โชว์ ที่มีชื่อเสียงที่สุดในยุคนั้นคือ ทไวไลท์โชว์ โดยออกอากาศในช่วงตอนบ่ายค่อนไปทางช่วงตอนเย็นวันอาทิตย์ ทางไทยทีวีสีช่อง 3 โดยในปี พ.ศ. 2538 รายการได้รับความนิยมสูงสุด เนื่องจากเวลาออกอากาศที่ยาวนานแบบต่อเนื่องถึง 3 ชั่วโมง คือ ระหว่างเวลา 15.00 - 18.00 น. (นอกเหนือจากนั้น ไตรภพ เคยไปผลิตรายการให้กับททบ. 5 ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งผลิตรายการ คู่รัก และเพลงต่อเพลง) ต่อมา เมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2543 ไตรภพผลิตรายการเกมโชว์แบบควิซโชว์รายการแรกในประเทศไทยคือ เกมเศรษฐี พร้อมกับเป็นพิธีกรด้วยตนเอง

การเข้ามาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการของ ไอทีวี

[แก้]

พ.ศ. 2538 ไตรภพได้นำบริษัทของตนเอง มาเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม ธนาคารไทยพาณิชย์ ที่ร่วมกับ บจก.สหศินิมา, หนังสือพิมพ์เดลินิวส์, สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น, หนังสือพิมพ์ดอกเบี้ย และหนังสือพิมพ์ตงฮั้ว เพื่อแข่งขันการประมูลกับกลุ่มเครือเนชั่นในการเช่าคลื่นความถี่ระบบยูเอชเอฟ และขอรับสัมปทานจากสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นเวลา 30 ปี โดยใช้ชื่อว่า "กลุ่มสยามทีวีแอนด์คอมมิวนิเคชั่นส์" (สยามอินโฟเทนเมนท์) ซึ่งตัวเขาเองก็ได้เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมก่อตั้ง สถานีโทรทัศน์ไอทีวี อีกด้วย โดยในช่วงต้นปี พ.ศ. 2539 ไตรภพเข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการของสถานีโทรทัศน์ไอทีวีเป็นครั้งแรก พร้อมกับร่วมผลิตรายการสารคดีเชิงข่าวกับกลุ่มเครือเนชั่นที่เข้ามาถือหุ้นและบริหารไอทีวีในขณะนั้น แต่เนื่องจากสาเหตุที่ไตรภพยังทำรายการให้กับทางไทยทีวีสีช่อง 3 ทำให้ไตรภพขอยุติบทบาทการเป็นผู้อำนวยการสถานี ฯ ไปก่อน หลังจากนั้นในช่วงกลางปี พ.ศ. 2547 เมื่อ บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ประสบปัญหาการถือหุ้นของผู้บริหารเครือเนชั่น บริษัท บอร์น แอนด์ แอสโซซิเอทด์ จำกัด จึงกลับเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่พร้อมกับ บริษัท กันตนา กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ของจาฤก กัลย์จาฤก กับจิตรลดา ดิษยนันทน์ ทำให้ไตรภพเข้ามาเป็นประธานกรรมการบริหาร บมจ.ไอทีวี และดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ไอทีวีเป็นครั้งที่ 2 โดยในโอกาสนี้ ไตรภพได้ย้ายรายการที่กำลังออกอากาศทางช่อง 3 มาออกอากาศทางไอทีวีแทน โดยควบคู่ไปกับการเป็นผู้บริหารไอทีวีอีกด้วย แต่การเป็นผู้บริหารไอทีวีของไตรภพนั้น เป็นได้แค่ช่วงระยะเวลาสััน ๆ คือในช่วงปี พ.ศ. 2547 - 2549 สืบเนื่องมาจากปัญหาการปรับผังรายการโดยให้มีรายการบันเทิงมากกว่ารายการข่าว จึงทำให้ไตรภพต้องกลับไปสู่สถานะผู้เช่าเวลาออกอากาศของสถานี ฯ เหมือนกับที่เคยอยู่ช่อง 3 และทำให้ นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล กับ นายทรงศักดิ์ เปรมสุข เข้ามาดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร บมจ.ไอทีวี โดยได้มีการแต่งตั้งให้ นายอัชฌา สุวรรณปากแพรก ขึ้นเป็นผู้อำนวยการสถานี ฯ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 จนกระทั่งเมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2551 สถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี ต้องสิ้นสภาพลงตามกฎหมาย จนแปลงสภาพเป็น สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส รายการทั้งหมดของ บริษัท บอร์น แอนด์ แอสโซซิเอทด์ จำกัด จึงยุติการออกอากาศลงด้วยเช่นกัน และทำให้ไตรภพ หายไปจากวงการบันเทิงถึง 9 เดือน

เหตุการณ์หลังสิ้นสภาพไอทีวี-ทีไอทีวี

[แก้]

เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 บริษัท บอร์น แอนด์ แอสโซซิเอดท์ จึงเริ่มผลิตรายการโทรทัศน์อีกครั้ง ทางช่อง 7 สี ชื่อรายการว่า คลับเซเว่น ซึ่งออกอากาศทุกวันอังคาร เวลา 22.30 - 00.30 น. แต่ก็ออกอากาศไปได้ถึงเพียงสิ้นเดือนมีนาคม พ.ศ. 2552 เท่านั้น เนื่องจากไม่สามารถแข่งขันระดับความนิยมของช่อง 7 กับช่อง 3 ซึ่งออกอากาศรายการ ตีสิบ ในช่วงเวลาเดียวกันได้ โดยทางสถานีเคยให้คลับเซเว่น เปลี่ยนวันออกอากาศไปเป็นวันพุธ แต่ไตรภพไม่พอใจกับผังเวลาที่ได้รับ จึงถอนตัวออกจากผังรายการของสถานี ฯ (และทางสถานี ฯ ได้นำรายการชิงร้อยชิงล้าน มาออกอากาศแทน) จนทำให้ไตรภพคิดจะลาออกจากวงการบันเทิงอย่างถาวร

การกลับมาผลิตรายการให้กับช่อง 3

[แก้]

เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 ไตรภพกลับมาผลิตรายการทาง สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 อีกครั้ง ตามความประสงค์ของประวิทย์ มาลีนนท์ ที่อยากจะให้ไตรภพผลิตรายการโทรทัศน์ต่อไป และจัดสรรเวลาให้ไตรภพผลิตรายการโทรทัศน์โดยออกอากาศต่อจากรายการข่าว 3 มิติ ซึ่งใช้ชื่อรายการว่า ทูไนท์โชว์ ออกอากาศทุกวันจันทร์ เวลา 23.00 - 24.00 น. และตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2552 ได้รับจัดสรรเวลาเพิ่มเป็น 23.00 - 00.30 น. ในเวลาต่อมา ไตรภพได้กลับมาผลิตรายการควิซโชว์อีกครั้งในรอบ 4 ปี โดยใช้ชื่อรายการว่า X - GAME (เอ็กซ์เกม) ออกอากาศทุกวันจันทร์ - วันพุธ เวลา 18.00 น. - 18.30 น. ทาง ช่อง 3 ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 และออกอากาศครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม ปีเดียวกัน

ในปี พ.ศ. 2556 ทางสถานี ฯ ได้จัดสรรเวลาให้ไตรภพผลิตรายการ ครัวคุณต๋อย (ซึ่งเป็นรายการวาไรตี้แนะนำอาหารครั้งแรกของไตรภพ) โดยออกอากาศทุกวันจันทร์ - วันศุกร์ เวลา 13.40 น. - 14.10 น. ทาง ช่อง 3 ออกอากาศครั้งแรกเมื่อที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2557 ไตรภพได้รับจัดสรรเวลาจากช่อง 3 อีกครั้ง โดยไตรภพผลิตรายการทไวไลท์โชว์ ซึ่งเคยเป็นรายการวาไรตี้ทอล์คโชว์ที่มีเรตติ้งสูงที่สุดรายการนึงในอดีตของช่อง 3 โดยออกอากาศทุกวันเสาร์ 15.30 - 17.00 น. แต่ออกอากาศเพียงไม่กี่เดือน ทางสถานี ฯ ขอลดเวลาการออกอากาศรายการนี้เหลือเพียงแค่ 30 นาทีเพื่อทำรายการฟุตบอลที่มีชื่อว่า The Unseen Football ทีมนี้พี่รัก และประกอบกับผู้บริหารทางสถานี ฯ เล็งเห็นว่าความนิยมของผู้ชมไม่เหมือนในอดีตที่ผ่านมา ไตรภพจึงขอทางสถานี ฯ ยุติการผลิตรายการทไวไลท์โชว์ และเปลี่ยนเป็นรายการครัวคุณต๋อย Saturday โดยออกอากาศทุกวันเสาร์ 16.00 น. - 17.00 น. เริ่มออกอากาศครั้งแรกตั้งแต่วันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2557 จนถึงวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 และ ในปีเดียวกัน ไตรภพได้รับจัดสรรเวลาออกอากาศในช่วงกลางวันของวันอาทิตย์อีกครั้ง โดยใช้ชื่อรายการ ทูเดย์โชว์ (ซึ่งรูปแบบของรายการมาจากรายการ "ทูไนท์โชว์") โดยออกอากาศทุกวันอาทิตย์เวลา 15.00 น. - 16.00 น. ทางช่อง 3 โดยออกอากาศครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2558 (ซึ่งเป็นรายการที่มาแทน ชิงร้อยชิงล้าน Sunshine Day ที่ได้ย้ายการออกอากาศไปยังช่องเวิร์คพอยท์)

การเป็นผู้ประกาศข่าวครั้งแรกในชีวิต

[แก้]

ในปี พ.ศ. 2560 ไตรภพยังได้รับการจัดสรรเวลาจากทางสถานี ฯ เพื่อทำรายการข่าวบันเทิงในช่วงเย็น ซึ่งเป็นรายการสด โดยผลิตรายการร่วมกับ วิบูลย์ ลีรัตนขจร (ประธานบริษัท เซิรซ์ (ไลฟ์) จำกัด) โดยใช้ชื่อรายการว่า รีวิวบันเทิง เริ่มออกอากาศครั้งแรกวันจันทร์ที่ 1 พฤษภาคม 2560 เวลา 17.30 - 18.00 น. ทางช่อง 3 เอชดี และรายการนี้ได้มีการเปลี่ยนแปลงเวลาออกอากาศเป็นทุกวันจันทร์ ถึง วันศุกร์ เวลา 16.45 - 17.00 น. และ เวลา 01.30 - 01.50 น. ทางช่อง 3 เอชดี (ช่อง 33) (ไตรภพได้ยุติการดำเนินรายการรีวิวบันเทิงตั้งแต่กลางตุลาคม พ.ศ. 2560 และร่วมผลิตรายการครั้งสุดท้ายเมื่อปลายปี พ.ศ. 2561 โดยรายการนี้ได้ยกให้ทางฝ่ายข่าวช่อง 3 เอชดี และวิบูลย์ ลีรัตนขจร เป็นผู้ผลิตรายการต่อไป แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ไตรภพไม่ได้ให้เหตุผลที่แน่ชัดว่าทำไมและเหตุผลใดถึงตัดสินใจยุติบทบาทในรายการรีวิวบันเทิงโดยไม่มีการลา และไม่ได้บอกล่วงหน้าเอาไว้ และนี่ก็น่าจะเป็นอีก 1 ประวัติศาสตร์ของวงการโทรทัศน์เมืองไทย ว่าไม่ค่อยมีเหตุการณ์ที่พิธีกรรายการโทรทัศน์จะตัดสินใจยุติบทบาทไปเองโดยที่ผู้ชมไม่ทราบถึงสาเหตุ ประกอบกับในช่วงเวลานั้นรายการรีวิวบันเทิงจะต้องงดออกอากาศไปสักระยะหนึ่งเพื่อเข้าสู่งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยในเวลานั้นไตรภพได้แต่แค่แจ้งเอาไว้ว่ารายการรีวิวบันเทิงของงดออกอากาศ และจะกลับมาอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2560 แต่เมื่อรายการกลับมาออกอากาศอีกครั้ง ไตรภพก็ได้หายไปจากรายการรีวิวบันเทิง แต่ถึงกระนั้น ไตรภพก็ยังคงไปออกรายการรีวิวบันเทิงถึง 2 ครั้ง โดยไปในฐานะแขกรับเชิญและไปในฐานะเป็นผู้จัดงานครัวคุณต๋อย expo เพื่อประชาสัมพันธ์งานที่จะเกิดขึ้น)

ข้อวิจารณ์

[แก้]

ไตรภพ ถูกวิจารณ์อย่างหนักในบทบาทของพิธีกรว่า อวยแขก กับแขกรับเชิญที่มาในรายการทอล์คโชว์ของไตรภพเสมอ ๆ ซึ่งล่าสุดกับคดีดิไอคอนกรุ๊ป ไตรภพถูกสื่อโซเชียลมีเดียอย่าง เฟซบุ๊ก ขุดคลิปสัมภาษณ์รายการทูเดย์โชว์ ช่วงปี พ.ศ. 2564 - 2566 ในประเด็นที่ไตรภพเชิญเหล่าบอสต่าง ๆ ของบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด มาออกรายการ จนถูกวิพากษ์วิจารณ์จากชาวเน็ตเป็นจำนวนมากช่วงที่เกิดคดีขึ้น แต่ไตรภพยังไม่ได้ออกมาชี้แจงประเด็นนี้แต่อย่างใด [1]

ชีวิตส่วนตัว

[แก้]

ไตรภพสมรสกับ พิจิตรา ลิมปพัทธ์ มีบุตร - ธิดา รวม 2 คน คือ

  1. ตูน - พัทธยศ (เกิด พ.ศ. 2526) สมรสกับ สุทธินีย์ พรหมสุวรรณ
  2. ตาล - ไตรตรา (เกิด พ.ศ. 2528) สมรสกับ คงศักดิ์ คุณจักร์

ผลงาน

[แก้]

รายการโทรทัศน์

[แก้]

รายการที่เป็นพิธีกรอยู่ในปัจจุบัน

[แก้]

รายการที่เคยเป็นพิธีกรและยุติการออกอากาศไปแล้ว

[แก้]

ภาพยนตร์

[แก้]
  • อีก 10 วันโลกจะแตก รับบทเป็น ดร. มีบุญ (2530)

ละครโทรทัศน์

[แก้]
ปี เรื่อง บทบาท ออกอากาศ
2526 คุณยายกายสิทธิ์ - ช่อง 5
2527 สาปอสูร - ช่อง 3
2530 ละครคน ดรงค์
2531 เจ้าสาวของอานนท์ โกศล
คนเริงเมือง บุญช่วย
เกมกามเทพ แนบ
2533 ผู้ชนะสิบทิศ มังตรา/พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้
ผู้พิชิตมัจจุราช ร.ต.อ. สุจริต
2537 3 หนุ่ม หลายมุม ตอน สามหนุ่มและมุมที่มองข้าม เอนก ช่างศิลปะ (รับเชิญ) ช่อง 7

โฆษณา

[แก้]

รางวัลที่ได้รับ

[แก้]
  • พ.ศ.2531

รายการส่งเสริมอาชีพ จากรายการฝันที่เป็นจริง ทางช่อง 3

  • พ.ศ.2533

ผู้ดำเนินรายการดีเด่นชาย จากรายการฝันที่เป็นจริง ทางช่อง 3

  • พ.ศ.2539

ผู้แต่งกายดีเด่น สาขาพิธีกร

  • พ.ศ.2558

ดาราเดลี่ เดอะเกรต อวอร์ดส์ ครั้งที่ 5 สาขารางวัล พิธีกรที่สุดแห่งปี 2015

  • พ.ศ.2561

รางวัลโทรทัศน์ทองคำ ครั้งที่ 32 สาขารางวัลเกียรติยศคนทีวี, รางวัลเพชรกนก สาขารางวัล เกียรติภูมิแผ่นดิน

อ้างอิง

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]