ช้าง (ภาพยนตร์)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ช้าง
กำกับมีเรียน ซี. คูเปอร์
เออร์เนส บี โชคแส็ค
เขียนบทAchmed Abdullah
อำนวยการสร้างมีเรียน ซี. คูเปอร์
กำกับภาพErnest B. Schoedsack
ตัดต่อLouis R. Loeffler
ผู้จัดจำหน่ายพาราเมาท์
วันฉาย29 เมษายน พ.ศ. 2470
ความยาว64 นาที
ภาษาไทย
ข้อมูลจาก IMDb

ช้าง (อังกฤษ: Chang: A Drama of the Wilderness) เป็นภาพยนตร์สารคดี เรื่องแรกที่เข้ามาถ่ายทำในประเทศไทย โดยบริษัท พาราเมาท์ กำกับโดย มีเรียน ซี. คูเปอร์ เมื่อ พ.ศ. 2468 ใช้เวลาถ่ายทำนานถึงหนึ่งปีครึ่ง ที่จังหวัดน่าน แพร่ พัทลุง สงขลา ตรัง สุราษฎร์ธานี ชุมพร มีการนำช้างมาเข้าฉากถึง 400 เชือก การถ่ายทำได้รับการสนับสนุนจากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และนายเซียวซองอ๊วน สีบุญเรือน

ภาพยนตร์เรื่อง ช้าง ถ่ายทำแล้วเสร็จออกฉายเมื่อ พ.ศ. 2470 ที่โรงภาพยนตร์ในนครนิวยอร์ก หลังจากออกฉายที่สหรัฐอเมริกา ก็ได้รับความสนใจเป็นอันมาก ได้รับการเสนอชื่อเข้าประกวดรางวัลออสการ์ ครั้งที่ 1 ประจำปี ค.ศ. 1929 ในสาขา ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม "การผลิตที่เป็นเอกลักษณ์ และมีศิลปะ" (en:Academy Award for Unique and Artistic Production) ฉายครั้งแรกในประเทศไทย เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2471

ผู้กำกับ มีเรียน ซี. คูเปอร์ และ ช่างภาพ เออร์เนสต์ สโคแซค ต่อมาได้ร่วมงานกันอีกในการสร้างภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก คิงคอง (1933)

ในเวลาที่ภาพยนตร์เรื่อง ช้าง ออกฉายในประเทศสยามนั้น คนไทยได้สร้างหนังบันเทิงและนำออกฉายแล้วหลายเรื่อง ผู้คนจึงไม่ค่อยตื่นเต้นกับภาพยนตร์เรื่อง ช้าง กันมากเท่าที่ควร

เรื่องย่อ[แก้]

นายกรุจับลูกช้างได้จากหลุมที่ทำดักไว้ แล้วนำลูกช้างนั้นมาผูกไว้ใต้ถุนเรือนของตน ภายหลังแม่ช้างมาทำลายเรือนของนายกรุ เพื่อชิงเอาลูกของมันกลับคืนไป

งานสร้าง[แก้]

ภาพยนตร์เรื่อง ช้าง กำกับและถ่ายทำโดย มาเรียน ซี คูเปอร์ และ เออร์เนส บี โชคแส็ค ใช้เวลาถ่ายทำทั้งสิ้นปีครึ่ง สิ้นเงินประมาณ 2 แสนบาทไทยขณะนั้น สถานที่ถ่ายทำคือจังหวัดน่าน พัทลุง ตรัง สงขลา และชุมพร

การถ่ายทำภาพยนตร์ในสยามโดยคนไทย เริ่มด้วยพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าทองแถมถวัลยวงศ์ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ พระเจ้าน้องยาเธอในรัชกาลที่ 5 ทรงสั่งซื้อกล้องถ่ายภาพยนตร์และอุปกรณ์เข้ามาในสยามเมื่อครั้งที่พระองค์ ทรงตามเสด็จพระพุทธเจ้าหลวง ประพาสยุโรปครั้งแรกในปี พ.ศ. 2440 แล้วทรงเริ่มถ่ายภาพยนตร์ด้วยฝีพระหัตถ์ของพระองค์เอง ภาพยนตร์ส่วนใหญ่เป็นภาพยนตร์สั้นๆ ส่วนพระองค์ เป็นบันทึกพระราชกรณียกิจในพระราชพิธีสำคัญๆ ของพระพุทธเจ้าหลวง และทรงนำออกฉายเก็บค่าดูจากสาธารณชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานขายของประจำปีของวัดเบญจมาบพิตรฯ ผู้ถ่ายภาพยนตร์ในสยามยุคบุกเบิก ที่สมควรแก่การจารึกพระนามไว้อีกพระองค์คือ พระศรัทธาพงศ์ (ต่วย) ซึ่งต่อมาทรงเป็นเจ้าของโรงหนังรัตนปีระกา

ปี พ.ศ. 2465 ในสมัยรัชกาลที่ 6 พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงอัครโยธิน พระเจ้าน้องยาเธอในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงจัดตั้งกองภาพยนตร์เผยแพร่ข่าวขึ้นในกรมรถไฟหลวง เพื่อทำหน้าที่ผลิตหนังข่าวสารและสารคดีเผยแพร่กิจการของกรมรถไฟสยาม ตลอดจนกิจการของกระทรวงทบวงกรมอื่นๆด้วย อีกทั้งยังรับจ้างผลิตภาพยนตร์ให้กับเอกชนโดยทั่วไป เมื่อการสร้างภาพยนตร์บันเทิงของไทยในสยามถือกำเนิดขึ้นในปี พ.ศ. 2470 ก็ได้อาศัยอุปกรณ์และบุคลากรจากกองภาพยนตร์นี้เองเป็นสำคัญ

สัตว์ที่ปรากฏในเรื่องช้าง[แก้]

มีสัตว์ที่อยู่ในป่าในเรื่องช้าง เช่น ลิ่น หมี เสือโคร่ง ตัวเงินตัวทอง เสือดาว ช้าง แพะ ควาย และ ชะนี เป็นต้น