ฮอโลคอสต์
ฮอโลคอสต์ (The Holocaust) | |
---|---|
เป็นส่วนหนึ่งของ สงครามโลกครั้งที่สอง | |
ยิวฮังการีขณะมาถึงค่ายกักกันเอาชวิทซ์ 2-เบียร์เคอเนาในประเทศโปแลนด์ที่ถูกเยอรมนียึดครอง เมื่อเดือนพฤษภาคม 1944 ส่วนใหญ่ถูก "คัดเลือก" ให้ตรงไปยังห้องรมแก๊สทันที[1] | |
สถานที่ | นาซีเยอรมนีและทวีปยุโรปที่ถูกเยอรมนียึดครอง |
วันที่ | 1941–1945[2] |
ประเภท | พันธุฆาต, การล้างชาติพันธุ์ |
ตาย | |
ผู้ก่อเหตุ | นาซีเยอรมนีและประเทศผู้ให้การสนับสนุน |
เหตุจูงใจ | การต่อต้านยิว |
ฮอโลคอสต์ (อังกฤษ: The Holocaust) หรืออีกชื่อหนึ่งว่า โชอาห์ (อังกฤษ: Shoah; ฮีบรู: השואה) เป็นพันธุฆาตระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งนาซีเยอรมนีและผู้ให้การสนับสนุนท้องถิ่น ฆ่ายิวยุโรปประมาณหกล้านคนอย่างเป็นระบบ คิดเป็นสองในสามของประชากรยิวในทวีปยุโรป ระหว่างปี 1941 ถึง 1945[a][b] ยิวตกเป็นเป้าหมายการกำจัดโดยเป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์ที่ใหญ่กว่าระหว่างสมัยฮอโลคอสต์ ซึ่งเยอรมนีและผู้ให้การสนับสนุนบีฑาและฆ่ากลุ่มอื่น รวมทั้งชาวสลาฟ (ส่วนใหญ่ได้แก่ ผู้มีชาติพันธุ์โปแลนด์ เชลยศึกโซเวียต และพลเมืองโซเวียต) ชาวโรมา "ผู้ป่วยรักษาไม่หาย" ผู้คัดค้านทางการเมืองและศาสนา เช่น นักคอมมิวนิสต์และคริสต์ศาสนิกชนพยานพระยะโฮวา และชายรักร่วมเพศ เมื่อรวมผู้เสียหายทั้งหมดจากการบีฑาของนาซีแล้ว จะมียอดผู้เสียชีวิตถึง 17 ล้านคน[3]
ประเทศเยอรมนีมีการนำไปปฏิบัติซึ่งการบีฑายิวดังกล่าวเป็นขั้นตอน หลังอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีเยอรมนีในเดือนมกราคม 1933 ระบอบสร้างเครือข่ายค่ายกักกันในประเทศเยอรมนีสำหรับคู่แข่งทางการเมืองและผู้ที่ถือว่า "ไม่พึงประสงค์" เริ่มจากดาเคาเมื่อ 22 มีนาคม 1933[5] หลังผ่านรัฐบัญญัติมอบอำนาจเมื่อวันที่ 24 มีนาคม ปีเดียวกัน[6] ซึ่งให้อำนาจเต็มที่แก่ฮิตเลอร์ รัฐบาลเริ่มแยกยิวออกจากประชาสังคม ซึ่งรวมทั้งการคว่ำบาตรธุรกิจยิวในเดือนเมษายน 1933 และการตรากฎหมายเนือร์นแบร์กในเดือนกันยายน 1935 ในวันที่ 9–10 พฤศจิกายน 1938 ในคืนกระจกแตก ธุรกิจและสิ่งปลูกสร้างอื่นของยิวถูกปล้นสะดม ทุบทำลายหรือจุดไฟเผาทั่วประเทศเยอรมนีและออสเตรีย ซึ่งประเทศเยอรมนีผนวกในเดือนมีนาคมปีนั้น หลังเยอรมนีบุกครองโปแลนด์ในเดือนกันยายน 1939 ซึ่งเป็นชนวนสงครามโลกครั้งที่สอง ระบอบตั้งเกตโตเพื่อแยกยิวออก สุดท้ายมีการตั้งค่ายและจุดกักกันอื่นหลายพันแห่งทั่วทวีปยุโรปที่ถูกเยอรมนียึดครอง
การเนรเทศยิวไปเกตโตนั้นลงเอยด้วยนโยบายกำจัดยิวที่นาซีเรียก "การแก้ปัญหายิวครั้งสุดท้าย" ซึ่งข้าราชการนาซีอาวุโสอภิปรายกันในการประชุมที่วันเซเมื่อเดือนมกราคม 1942 เมื่อกองทัพเยอรมันยึดดินแดนทางทิศตะวันออกได้ มาตรการต่อต้านยิวทั้งหมดกลายเป็นหัวรุนแรงมากขึ้น ฮอโลคอสต์อยู่ภายใต้การประสานงานของเอสเอส และมีคำสั่งจากผู้นำสูงสุดของพรรคนาซี โดยการฆ่าเกิดขึ้นในประเทศเยอรมนี ทั่วทวีปยุโรปที่ถูกยึดครอง และทั่วทุกดินแดนที่ฝ่ายอักษะควบคุม หน่วยพิฆาตกึ่งทหารที่เรียกว่า ไอน์ซัทซ์กรุพเพิน ด้วยความร่วมมือกับกองพันตำรวจแวร์มัคท์และผู้ให้การสนับสนุนท้องถิ่น ฆ่ายิวประมาณ 1.3 ล้านคนในการยิงหมู่ระหว่างปี 1941 ถึง 1945 เมื่อถึงกลางปี 1942 ผู้เสียหายถูกเนรเทศจากเกตโตในรถไฟสินค้าปกปิดไปค่ายมรณะ ซึ่งหากมีชีวิตรอดจากการเดินทาง ก็จะถูกฆ่าในห้องรมแก๊ส การฆ่าดำเนินไปจนสิ้นสงครามโลกครั้งที่สองในทวีปยุโรปในเดือนพฤษภาคม 1945
ศัพทวิทยาและขอบเขต
[แก้]ศัพทวิทยา
[แก้]คำว่า การล้างชาติ ในภาษาอังกฤษคือ "holocaust" มีรากศัพท์มาจากคำในภาษากรีกว่า holókauston ซึ่งแยกได้เป็นสองคำ คือ (holos) "อย่างสิ้นซาก" และ (kaustos) "เผา" ซึ่งมีความหมายถึงการบูชายัญต่อพระเจ้า ต่อมาในคริสต์ศตวรรษที่ 11 คำดังกล่าวได้ถูกใช้ในภาษาละตินว่า holocaustum ใช้บรรยายถึงการสังหารหมู่ชาวยิวโดยเฉพาะ และเมื่อถึงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 คำว่า holocaust ใช้ในความหมายว่า ความหายนะหรือความล่มจม
ส่วนคำในพระคัมภีร์ไบเบิล คำว่า Shoah (שואה) (หรืออาจจะสะกดว่า Sho'ah และ Shoa) หมายถึง "ความหายนะใหญ่หลวง" เป็นคำในภาษาฮีบรูที่ใช้บรรยายถึงการล้างชาติโดยนาซีในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1940 ชาวยิวได้ใช้คำว่า Shoah ด้วยเหตุผลหลายประการด้วยกันรวมไปถึงใจความของคำว่า "holocaust" ที่มีความหมายไม่ค่อยดีนัก เนื่องจากเป็นการบรรยายถึงวัฒนธรรมนอกรีตของชาวกรีกโบราณ
บทนิยาม
[แก้]นักประวัติศาสตร์ฮอโลคอสต์ส่วนใหญ่นิยามฮอโลคอสต์ว่าเป็นการนำนโยบายของรัฐเยอรมันไปปฏิบัติเพื่อกำจัดยิวในทวีปยุโรประหว่างปี 1941 ถึง 1945[a] ไมเคิล เกรย์ ผู้ชำนาญพิเศษในการศึกษาฮอโลคอสต์ เขียนใน ทีชชิงเดอะฮอโลคอสต์ (ปี 2015) เสนอบทนิยามสามประการ ได้แก่ (ก) "การบีฑาและฆ่ายิวโดยนาซีและผู้ให้การสนับสนุนระหว่างปี 1933 ถึง 1945" ซึ่งมองเหตุการณ์คืนกระจกแตกในประเทศเยอรมนีเมื่อปี 1938 เป็นฮอโลคอสต์ระยะเริ่มต้น (ข) "การฆ่าหมู่ยิวอย่างเป็นระบบโดยระบอบนาซีและผู้ให้การสนับสนุนระหว่างปี 1941 ถึง 1945" ซึ่งรับรู้การเปลี่ยนนโยบายของเยอรมนีในปี 1941 สู่การกำจัดชาวยิวในทวีปยุโรป และ (ค) "การบีฑาและการฆ่ากลุ่มต่าง ๆ โดยระบอบนาซีและผู้ให้การสนับสนุนระหว่างปี 1933 ถึง 1945" ซึ่งรวมผู้เสียหายจากนาซีทุกกลุ่ม เกรย์เขียนว่า บทนิยามที่สามนี้ไม่ได้ระบุว่ามีเพียงชาวยิวเท่านั้นที่ถูกเลือกกำจัดโดยเฉพาะ[17]
พิพิธภัณฑ์อนุสรณ์ฮอโลคอสต์สหรัฐนิยามฮอโลคอสต์ว่าเป็น "การบีฑาและฆ่ายิวอย่างเป็นระบบ มีระบบข้าราชการประจำ และรัฐให้การสนับสนุนโดยระบอบนาซีและผู้ให้การสนับสนุน"[18] โดยแยกแยะระหว่างฮอโลคอสต์และการพุ่งเป้าไปยังกลุ่มอื่นระหว่าง "สมัยฮอโลคอสต์"[19] ยาดวาเชม อนุสรณ์ฮอโลคอสต์ของอิสราเอล ระบุว่านักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ถือว่า "สมัยฮอโลคอสต์" เริ่มต้นในเดือนมกราคม 1933 เมื่อฮิตเลอร์ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี[20] ผู้เสียหายอื่นในสมัยฮอโลคอสต์ ได้แก่ ผู้ที่ถูกมองว่าด้อยกว่า ทั้งด้วยเหตุผลทางเชื้อชาติหรือชาติพันธุ์ (เช่น โรมา ชาติพันธุ์โปแลนด์ รัสเซียและผู้พิการ) และผู้ที่ตกเป็นเป้าเพราะความเชื่อหรือพฤติกรรม (เช่น พยานพระยะโฮวา คอมมิวนิสต์และคนรักร่วมเพศ)[19] ปีเตอร์ เฮส์ระบุว่า ฮิตเลอร์มองยิวว่า "เป็นอันตรายโดยเฉพาะต่อประเทศเยอรมนี ฉะนั้นจึงถูกลิขิตโดยเฉพาะให้หายไปโดยสิ้นเชิงจากไรช์และดินแดนทั้งปวงที่อยู่ภายใต้ไรช์" เขาเขียนว่า การบีฑาและฆ่ากลุ่มอื่นนั้นมีความเสมอต้นเสมอปลายน้อยกว่ามาก ตัวอย่างเช่น นาซีถือว่าสลาฟเป็น "ต่ำกว่ามนุษย์" แต่การปฏิบัติต่อสลาฟนั้นประกอบด้วย "การทำให้เป็นทาสและการลดจำนวนแบบค่อยเป็นค่อยไป" ส่วน "สลาฟบางส่วน เช่น ชาวสโลวาเกีย ชาวโครเอเชีย ชาวบัลแกเรีย ชาวยูเครนบางส่วน ได้รับที่ความชอบในระเบียบใหม่ของฮิตเลอร์"[9]
แดน สโตน ผู้เชี่ยวชาญในประวัติศาสตร์นิพนธ์ฮอโลคอสต์ แสดงรายการชาติพันธุ์โปแลนด์ ยูเครน เชลยศึกโซเวียต พยานพระยะโฮวา เยอรมันผิวดำ และคนรักร่วมเพศอยู่ในกลุ่มที่ถูกนาซีบีฑา เขาเขียนว่าการยึดครองยุโรปตะวันออกสามารถมองได้ว่าเป็นพันธุฆาต แต่เขาแย้งว่าทัศนคติของชาวเยอรมันต่อยิวนั้นต่างออกไป นาซีถือว่ายิวมิได้เป็นเชื้อชาติที่ต่ำต้อยกว่า นอกคอกหรือเป็นเชื้อชาติศัตรูดังที่มองกลุ่มอื่น แต่เป็น "เชื้อชาติอุปสรรค กล่าวคือ ไม่ใช่มนุษย์ด้วยซ้ำ" สำหรับสโตน ฮอโลคอสต์จึงนิยามว่าเป็นพันธุฆาตยิว แม้เขาแย้งว่าไม่สามารถ "ตั้งอยู่ทางประวัติศาสตร์ได้อย่างเหมาะสมโดยปราศจากความเข้าใจ "จักรวรรดินาซี" พร้อมกับแผนประชากรศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่"[c] Donald Niewyk และ Francis Nicosia ในเดอะโคลัมเบียไกด์ทูเดอะฮอโลคอสต์ (ปี 2000) นิยมบทนิยามที่ให้ความสนใจต่อยิว โรมาและผู้เสียหายจากอัคซีโยน เต4 ว่า "ฮอโลคอสต์ หรือคือพันธูฆาตนาซี เป็นการฆ่าอย่างเป็นระบบและรัฐให้การสนับสนุนซึ่งคนทั้งกลุ่มที่ตัดสินจากกรรมพันธุ์ ได้แก่ ยิว ยิปซีและผู้พิการ"[22]
คุณลักษณะเฉพาะ
[แก้]รัฐพันธุฆาต
[แก้]ลอจิสติกส์ของการฆ่าหมู่เปลี่ยนประเทศเยอรมนีให้เป็นสิ่งที่ไมเคิล เบเรนเบาม์เรียกว่า "รัฐพันธุฆาต" เอแบร์ฮาร์ด เยกเคิลเขียนในปี 1986 ว่าเป็นครั้งแรกที่รัฐแสดงอำนาจเบื้องหลังความคิดว่ากลุ่มประชากรทั้งกลุ่มควรถูกกำจัดให้สิ้น[d] ทุกคนที่มีปู่ย่าตายายเป็นยิว 3 หรือ 4 คนจะถูกกำจัด[24] และมีการปรับแก้ไขกฎซับซ้อนเพื่อจัดการกับ "พันธุ์ผสม" (คือ ครึ่งยิวหรือเป็นยิวหนึ่งในสี่)[25] ข้าราชการชี้ตัวผู้เป็นยิว ริบทรัพย์สิน และจัดกำหนดการรถไฟเพื่อเนรเทศ บริษัทไล่ยิวออกจากงานและต่อมาใช้เป็นแรงงานทาส มหาวิทยาลัยปลดผู้บริหาร อาจารย์และนักศึกษายิว บริษัทยาเยอรมันทดสอบยากับเชลยค่าย บริษัทอื่นสร้างเตาเผาศพ[26] เมื่อเชลยเข้าสู่ค่ายมรณะ จะได้รับคำสั่งให้ยกทรัพย์สินส่วนบุคคลทั้งหมด ซึ่งมีการจำแนกเป็นหมวดและติดป้ายระบุก่อนมีการส่งกลับประเทศเยอรมนีเพื่อใช้ซ้ำหรือแปรใช้ใหม่ ธนาคารแห่งชาติเยอรมันช่วยฟอกสิ่งของมีค่าที่ขโมยมาจากผู้เสียหายผ่านบัญชีลับ[27]
ความเป็นอุตสาหกรรมและขอบเขตของการฆ่านั้นไม่เคยปรากฏมาก่อน มีการดำเนินการฆ่าอย่างเป็นระบบในแทบทุกพื้นที่ของทวีปยุโรปที่ถูกยึดครอง คือ กว่า 20 ประเทศ[28] ยิวเกือบ 3 ล้านคนในประเทศโปแลนด์ที่ถูกยึดครองและยิวระหว่าง 700,000 ถึง 2.5 ล้านคนในสหภาพโซเวียตถูกฆ่า อีกหลายแสนคนเสียชีวิตในทวีปยุโรปส่วนที่เหลือ[29] มีการเคลื่อนย้ายผู้เสียหายในรถไฟสินค้าปกปิดจากทั่วยุโรปไปยังค่ายมรณะซึ่งมีห้องรมแก๊ส[30] สถานที่ดังกล่าวเติบโตจากการทดลองแก๊สพิษของนาซีระหว่างโครงการการฆ่าหมู่อัคซีโยน เท4 ("การุณยฆาต") ต่อผู้พิการหรือป่วยทางจิตที่เริ่มตั้งแต่ปี 1939[31] ประเทศเยอรมนีตั้งค่ายมรณะ 6 แห่งในประเทศโปแลนด์ ได้แก่ เอาชวิทซ์ 2-เบียร์เคอเนา (ตุลาคม 1941), ไมดาแนก (ตุลาคม 1941); เชลม์โน (ธันวาคม 1941) และค่ายปฏิบัติการไรน์ฮาร์ด 3 แห่ง ได้แก่ เบวเซตส์ โซบีบอร์และเทรบลิงคาในปี 1942[32] มีการตั้งค่ายมรณะที่ 7 ชื่อ Maly Trostinets ใกล้กับกรุงมินสค์ ในประเทศเบลารุส ซึ่งขณะนั้นเป็นส่วนหนึ่งของไรชส์ค็อมมิสซารีอาทอ็อสท์ลันท์ การอภิปรายในการประชุมที่วันเซในเดือนมกราคม 1942 ชัดเจนว่า "การแก้ปัญหายิวครั้งสุดท้าย" ของเยอรมันตั้งใจให้สุดท้ายรวมบริเตนและรัฐเป็นกลางทั้งหมดในทวีปยุโรป รวมทั้งไอร์แลนด์ สวิสเซอร์แลนด์ ตุรกี สวีเดน โปรตุเกสและสเปน[33]
นักประวัติศาสตร์มองฮอโลคอสต์ว่าเป็นปรากฏการณ์ทั่วทวีปยุโรปเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ หรือมองว่าฮอโลคอสต์หลายครั้งไม่สามารถดำเนินการได้หากปราศจากผู้ให้การสนับสนุนท้องถิ่น ประมาณว่ากว่า 200,00 คนเป็นผู้ลงมือฮอโลคอสต์[34] ซึ่งหากปราศจากผู้ให้การร่วมมือเหล่านี้ เยอรมนีจะไม่สามารถขยายฮอโลคอสต์ไปทั่วทวีปยุโรปส่วนใหญ่ได้[35] คริสตจักรบางแห่งพยายามปกป้องยิวโดยประกาศว่ายิวที่เข้ารีตแล้วเป็น "ส่วนหนึ่งของฝูง" ตามข้อมูลของเซาล์ ฟรีดเล็นแดร์ "กระนั้นก็ถึงแค่จุดหนึ่งเท่านั้น" ฟรีดเล็นแดร์เขียนว่า "ไม่มีแม้กลุ่มสังคมกลุ่มหนึ่ง ชุมชนศาสนาหนึ่ง สถาบันวิชาการหนึ่งหรือสมาคมวิชาชีพหนึ่งในประเทศเยอรมนีและทวีปยุโรประกาศความเป็นหนึ่งเดียวกับยิว"[36]
การทดลองทางการแพทย์
[แก้]การทดลองทางการแพทย์ที่เอสเอสดำเนินการต่อนักโทษในค่ายเป็นคุณลักษณะเฉพาะอีกประการหนึ่งของฮอโลคอสต์ เชลยอย่างน้อย 7,000 คนเป็นผู้ถูกทดลอง ซึ่งส่วนใหญ่เสียชีวิตระหว่างหรือหลังการทดลอง แพทย์อาวุโสและบุคลากรทางการแพทย์อื่น 23 คนถูกตั้งข้อหาที่การพิจารณาคดีเนือร์นแบร์ก ฐานอาชญากรรมต่อมนุษยชาติหลังสงครามยุติ ซึ่งมีทั้งหัวหน้ากาชาดเยอรมัน ศาสตราจารย์สิทธิถือครอง ผู้อำนวยการคลินิกและนักวิจัยชีวการแพทย์ การวิจัยเกิดขึ้นที่เอาชวิตทซ์ บูเชนวัลด์ ดาเคา นัทซ์ไวแลร์-ชตรูทอฟ นอยเอนกัมเมอ ราเวนสบรูค ซาคเซนเฮาเซิน และที่อื่น การทดลองบ้างว่าด้วยการทำหมันชายและหญิง การรักษาแผลในสงคราม วิธีตอบโต้อาวุธเคมี การวิจัยวัคซีนและยาใหม่ และการเอาชีวิตรอดในภาวะโหดร้าย
จุดกำเนิด
[แก้]ยิวในทวีปยุโรป
[แก้]ประเทศ | จำนวนยิว (ก่อนสงคราม) |
ที่มา |
---|---|---|
ออสเตรีย | 185,000–192,000 | [29] |
เบลเยียม | 55,000–70,000 | [29] |
บัลแกเรีย | 50,000 | [29] |
เชโกสโลวาเกีย | 357,000 | [37] |
เดนมาร์ก (1933) | 5,700 | [38] |
เอสโตเนีย | 4,500 | [29] |
ฟินแลนด์ | 2,000 | [29] |
ฝรั่งเศส | 330,000–350,000 | [29] |
เยอรมนี (1933) | 523,000–525,000 | [29] |
กรีซ | 77,380 | [29] |
ฮังการี | 725,000–825,000 | [29] |
อิตาลี | 42,500–44,500 | [29] |
ลัตเวีย | 91,500–95,000 | [29] |
ลิทัวเนีย | 168,000 | [29] |
เนเธอร์แลนด์ | 140,000 | [29] |
โปแลนด์ | 3,300,000–3,500,000 | [29] |
โรมาเนีย (1930) | 756,000 | [29] |
สหภาพโซเวียต | 3,020,000 | [29] |
สวีเดน (1933) | 6,700 | [38] |
สหราชอาณาจักร | 300,000 | [37] |
ยูโกสลาเวีย | 78,000–82,242 | [29] |
ในปี 1933 มียิวประมาณ 9.5 ล้านคนในทวีปยุโรป[39] ส่วนใหญ่กระจุกตัวหนาแน่นในยุโรปตะวันออก
การต่อต้านยิวและขบวนการเฟิลคิช
[แก้]ตลอดยุคกลางในทวีปยุโรป ยิวถูกต่อต้านโดยอาศัยเทววิทยาคริสต์ศาสนิกชน ซึ่งกล่าวโทษยิวสำหรับการปลงพระชนม์พระเยซู แม้หลังการปฏิรูปศาสนาฝ่ายโปรเตสแตนต์แล้ว คาทอลิกและลูเทอร์รันยังบีฑายิวต่อไป โดยกล่าวหายิวว่าสังเวยด้วยเลือด (blood libel) และจัดการโพกรมและขับไล่ยิว ครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 19 มีการถือกำเนิดของขบวนการเฟิลคิชในจักรวรรดิเยอรมันและจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี ทั้งนี้ ขบวนการดังกล่าวมีการพัฒนาโดยนักคิดอย่างฮิวสตัน สจวร์ต เชมเบอร์เลนและปอล เดอลากราด ขบวนการดังกล่าวรับคตินิยมเชื้อชาติที่เป็นวิทยาศาสตร์เทียมซึ่งมองว่ายิวเป็นเชื้อชาติที่สมาชิกติดอยู่ในการต่อสู้ตลอดกาลกับเชื้อชาติอารยันเพื่อครองโลก ความคิดเหล่านี้พบได้ดาษดื่นทั่วประเทศเยอรมนี[40] โดยชนชั้นวิชาชีพรับเอาอุดมการณ์ซึ่งไม่มองมนุษย์ว่าเป็นเชื้อชาติที่เท่าเทียมที่มีคุณค่าทางกรรมพันธุ์เท่ากัน[41] แม้พรรคการเมืองเฟิบคิชได้รับเสียงสนับสนุนในการเลือกตั้งทีแรก แต่จนถึงปี 1914 ก็ไม่มีอิทธิพลอีกต่อไป แต่ไม่ได้หมายความว่าการต่อต้านยิวหายไป แต่การต่อต้านยิวได้รวมอยู่ในแนวนโยบายของพรรคการเมืองกระแสหลักหลายพรรคไปแล้ว[40]
หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง, โลกทัศน์ของฮิตเลอร์
[แก้]สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศเยอรมนีและทั่วทวีปยุโรปหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง (ปี 1914–1918) ส่งเสริมให้เกิดความเจริญของการต่อต้านยิวที่รุนแรง ชาวเยอรมันจำนวนมากไม่ยอมรับว่าประเทศของตนปราชัย ซึ่งทำให้เกิดตำนานแทงข้างหลัง ตำนานดังกล่าวมีใจความว่านักการเมืองที่ไม่ภักดี ซึ่งเป็นยิวและคอมมิวนิสต์เป็นหลัก เป็นผู้สั่งให้ประเทศเยอรมนียอมจำนน กระแสต่อต้านยิวกระพือยิ่งขึ้นจากการที่ดูเหมือนยิวมีอยู่มากในผู้นำรัฐบาลปฏิวัติคอมมิวนิสต์ในทวีปยุโรป เช่น แอร์นสท์ โทลเลอร์ หัวหน้ารัฐบาลปฏิวัติอายุสั้นในรัฐบาวาเรีย มโนทัศน์นี้ส่งเสริมให้เกิดการกุเรื่องลัทธิบอลเชวิกยิว[42]
ความฝืดเคืองทางเศรษฐกิจจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ทำให้สถาบันทางการแพทย์ในเยอรมนีสนับสนุนการฆ่า (เรียกแบบกลบเกลื่อนว่า "การุณยฆาต") ผู้พิการทางจิตและกาย "ที่รักษาไม่หาย" เพื่อเป็นมาตรการประหยัดค่าใช้จ่ายเพื่อให้มีเงินสำหรับผู้รักษาได้ เมื่อพรรคแรงงานเยอรมันชาติสังคมนิยม หรือพรรคนาซี เถลิงอำนาจในปี 1933 มีความโน้มเอียงเพื่อแสวงการช่วยเหลือ "ผู้มีคุณค่า" ทางเชื้อชาติอยู่แล้ว โดยกำจัด "ผู้ไม่พึงประสงค์" ทางเชื้อชาติออกจากสังคม[43] พรรคถือกำเนิดขึ้นในปี 1920 โดยเป็นผลลัพธ์ของขบวนการเฟิลคิช และรับการต่อต้านยิวของขบวนการนั้นด้วย[44] ผู้ต่อต้านยิวระยะแรกในพรรค ได้แก่ ไดทริช เอ็กคาร์ท ผู้จัดพิมพ์เฟิลคิเชอร์เบโอบัคเทอร์ หนังสือพิมพ์ของพรรค และอัลเฟรด โรเซนแบร์ค ผู้เขียนบทความต่อต้านยิวลงหนังสือพิมพ์ดังกล่าวในคริสต์ทศวรรษ 1920 วิสัยทัศน์การคบคิดยิวในทางลับเพื่อควบคุมโลกของโรเซนแบร์คมีอิทธิพลต่อมุมมองของฮิตเลอร์ต่อยิว โดยทำให้ยิวกลายเป็นแรงผลักดันเบื้องหลังคอมมิวนิสต์ จุดกำเนิดและการแสดงออกแรกของการต่อต้านยิวของฮิตเลอร์ยังเป็นประเด็นอภิปรายอยู่[45] โลกทัศน์ศูนย์กลางของฮิตเลอร์ได้แก่การขยายอาณาเขตและเลเบินส์เราม์ (ที่อยู่อาศัย) สำหรับประเทศเยอรมนี เขารับเอาภาพพจน์ต่อต้านยิวทั่วไป และเปิดเผยเกี่ยวกับความเกลียดชังยิว[46] นับแต่ต้นคริสต์ทศวรรษ 1920 เป็นต้นมา เขาเปรียบยิวกับเชื้อโรค และว่าควรจัดการยิวในทางเดียวกัน เขามองว่าลัทธิมากซ์เป็นลัทธิของยิว กล่าวว่าเขากำลังสู้กับ "ลัทธิมากซ์ยิว" และเชื่อว่ายิวสร้างคอมมิวนิสต์ขึ้นมาเป็นการสมคบทำลายประเทศเยอรมนี[47]
ความเจริญของนาซีเยอรมนี
[แก้]เผด็จการและการกดขี่
[แก้]เมื่ออดอล์ฟ ฮิตเลอร์ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีเยอรมนีในเดือนมกราคม 1933 และการสถาปนาไรช์ที่สาม ผู้นำเยอรมันประกาศการเกิดใหม่ของโฟลค์สเกไมน์ชัฟท์ ("ชุมชนประชาชน")[49] นโยบายนาซีแบ่งประชากรออกเป็นสองกลุ่ม ได้แก่ โฟลค์สเกโนสเซน ("สหายร่วมชาติ") ซึ่งเป็นสมาชิกของโฟลค์สเกไมน์ชัฟท์ และเกไมน์ชัฟท์เฟรมเดอ ("คนต่างด้าวชุมชน") ซึ่งไม่เป็นสมาชิก มีการแบ่งศัตรูออกเป็นสามกลุ่ม ได้แก่ (1) ศัตรู "เชื้อชาติ" หรือ "สายเลือด" เช่น ยิวและโรมา (2) คู่แข่งทางการเมืองของลัทธินาซี ได้แก่ นักลัทธิมากซ์ นักเสรีนิยม คริสต์ศาสนิกชน และ "นักปฏิกิริยา" ซึ่งมองว่าเป็น "สหายร่วมชาติ" ที่ไม่ยอมรับคำชี้นำ และ (3) คู่แข่งทางศีลธรรม เช่น พวกรักร่วมเพศ ผู้เกียจคร้าน และผู้กระทำความผิดติดนิสัย จะมีการส่งคู่แข่งทางการเมืองและคู่แข่งทางศีลธรรมเข้าค่ายกักกันเพื่อ "รับการศึกษาใหม่" โดยมีความมุ่งหมายเพื่อให้สุดท้ายกลืนเข้าสู่โฟล์คสเกไมน์ชัฟท์ ส่วนศัตรู "เชื้อชาติ" นั้นไม่อาจอยู่ในโฟล์คสเกไมน์ชัฟท์ได้ จำต้องถูกกำจัดออกจากสังคม[50]
ก่อนและหลังการเลือกตั้งไรช์สทาคเดือนมีนาคม 1933 นาซียิ่งทวีการรณรงค์ความรุนแรงต่อคู่แข่งยิ่งขึ้น[51] มีการตั้งค่ายกักกันสำหรับการจำคุกนอกกระบวนการยุติธรรม[52] ค่ายกักกันแห่งแรก ๆ ได้แก่ ค่ายกักกันที่ดาเคา เปิดทำการเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 1933[53] ทีแรกค่ายมีคอมมิวนิสต์และนักประชาธิปไตยสังคมนิยมเป็นส่วนใหญ่[54] กลางปี 1934 เรือนจำแห่งแรก ๆ อื่นมีการรวมกันเป็นค่ายที่สร้างขึ้นมีวัตถุประสงค์นอกนครต่าง ๆ ซึ่งเอ็สเอ็สเป็นผู้บริหารจัดการโดยจำเพาะ[55] วัตถุประสงค์เดิมทีของค่ายมีเพื่อกีดขวางโดยทำให้ชาวเยอรมันที่ไม่ยอมฝักใฝ่กลัว[56]
ตลอดคริสต์ทศวรรษ 1930 สิทธิทางกฎหมาย เศรษฐกิจและสังคมของยิวถูกจำกัดอย่างต่อเนื่อง[57] วันที่ 1 เมษายน 1933 มีการคว่ำบาตรธุรกิจยิว[58] วันที่ 7 เมษายน 1933 มีการผ่านกฎหมายเพื่อการฟื้นฟูราชการพลเรือนวิชาชีพ ซึ่งยกเว้นยิวและ "ผู้มิใช่อารยัน" อื่นมิให้เข้าร่วมราชการพลเรือน[59] ยิวถูกห้ามประกอบวิชาชีพกฎหมาย เป็นบรรณาธิการหรือเจ้าของหนังสือพิมพ์ เข้าร่วมสมาคมนักหนังสือพิมพ์ หรือเป็นเจ้าของไร่นา[60] ในเดือนมีนาคม 1933 ในไซลีเชีย กลุ่มชายบุกเข้าอาคารศาลและทุบตีทนายความยิว ฟรีดเลนเดอร์เขียนว่า ในเดรสเดิน นักกฎหมายและผู้พิพากษายิวถูกลากตัวออกจากศาลระหว่างการพิจารณา[61] นักศึกษายิวถูกจำกัดการเข้าเรียนในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยด้วยโควตา[59] ธุรกิจยิวตกเป็นเป้าบังคับให้ปิดหรือถูก "ทำให้เป็นอารยัน" คือ การบังคับขายให้ชาวเยอรมัน จากธุรกิจที่ยิวเป็นเจ้าของประมาณ 50,000 แห่งในประเทศเยอรมนีในปี 1933 เหลือประมาณ 7,000 แห่งเท่านั้นที่ยิวยังเป็นเจ้าของอยู่ในเดือนเมษายน 1939 ผลงานของนักประพันธ์เพลง[62] ผู้ประพันธ์ และศิลปินยิวถูกห้ามพิมพ์เผยแพร่ บรรเลงและจัดแสดง[63] แพทย์ยิวถูกปลดหรือกระตุ้นให้ลาออก วารสารการแพทย์ดอยท์เชอส์แอร์ซเทบลัทท์รายงานเมื่อวันที่ 6 เมษายน 1933 ว่า "ชาวเยอรมันต้องได้รับการรักษาจากชาวเยอรมันเท่านั้น"[64]
กฎหมายทำหมัน และอัคซีโยน เท4
[แก้]นาซีใช้วลี เลเบินสอุนแวร์เทสเลเบิน (ชีวิตที่ไม่คู่ควรแก่การมีชีวิต) พาดพิงถึงผู้พิการและผู้ป่วยทางจิต วันที่ 14 กรกฎาคม 1933 มีการผ่านกฎหมายเพื่อการป้องกันบุตรมีโรคทางพันธุกรรม หรือกฎหมายทำหมัน เพื่ออนุญาตให้มีการบังคับทำหมัน[66][67] เดอะนิวยอร์กไทมส์ รายงานเมื่อวันที่ 21 ธันวาคมปีนั้นว่า "ชาวเยอรมัน 400,000 คนจะถูกทำหมัน"[68] แพทย์ยื่นคำขอ 84,525 ครั้งในปีแรก ศาลบรรลุคำวินิจฉัยใน 64,499 คำขอ และคำวินิจฉัย 56,244 ครั้งสนับสนุนการทำหมัน[69] ประมาณการจำนวนครั้งการบังคับทำหมันระหว่างสมัยไรช์ที่สามทั้งหมดอยู่ระหว่าง 300,000 ถึง 400,000 คน[70]
ในเดือนตุลาคม 1939 ฮิตเลอร์ลงนาม "กฤษฎีกาการุณยฆาต" ซึ่งมีผลย้อนหลังถึงวันที่ 1 กันยายน 1939 อนุญาตให้ไรช์สไลแตร์ ฟีลิพ บัวร์เลอร์ หัวหน้าทำเนียบรัฐบาลฮิตเลอร์ และคาร์ล บรันดท์ แพทย์ประจำตัวของฮิตเลอร์ ดำเนินโครงการ "การุณยฆาต" บังคับ หลังสงครามโครงการนี้ได้ชื่อว่า อัคซีโยน เท4[71] โครงการดังกล่าวได้ชื่อตาม ทีร์การ์เทนสตรัสเซอ 4 ที่อยู่ของวิบลลาแห่งหนึ่งในย่านทีร์การ์เทนของกรุงเบอร์ลิน อันเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ขององค์การต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง[72] เท4 ส่วนใหญ่มีเป้าหมายที่ผู้ใหญ่ แต่ก็มีการดำเนินการ "การุณยฆาต" เด็กเช่นกัน[73] ระหว่างปี 1939 ถึง 1941 มีการฆ่าผู้ใหญ่ป่วยทางจิต 80,000 ถึง 100,000 คนในสถาบัน เช่นเดียวกับเด็ก 5,000 คนและยิว 1,000 คน ซึ่งอยู่ในสถาบันเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีศูนย์ฆ่าชำนัญพิเศษ ซึ่งมียอดผู้เสียชีวิตโดยประมาณ 20,000 คนจากข้อมูลของเกออร์ก เรนโน รองผู้อนวยการชลอสส์ ฮาร์ไทม์ ซึ่งเป็นศูนย์ "การุณยฆาต" แห่งหนึ่ง หรือ 400,000 คน ตามข้อมูลของฟรังค์ ไซไรส์ ผู้บัญชาการค่ายกักกันเมาเทาเซิน[74] สิริแล้วมีจำนวนผู้พิการทางจิตและกายถูกฆ่าประมาณ 150,000 คน[75]
แม้จิตแพทย์และสถาบันจิตเวชจะไม่ได้รับคำสั่งให้มีส่วนในโครงการ แต่ยังเข้ามาวางแผนและดำเนินการอัคซีโยน เท4 ในทุกระยะ[76] หลังการประท้วงจากคริสตจักรคาทอลิกและโปรเตสแตนต์เยอรมัน ฮิตเลอร์สั่งยกเลิกโครงการเท4 ในเดือนสิงหาคม 1941[77] แม้ผู้พิการและผู้ป่วยทางจิตถูกสั่งฆ่าจนสิ้นสงคราม[75] ชุมชนแพทย์ได้รับศพและชิ้นส่วนร่างกายเป็นประจำเพื่อใช้ในการวิจัย มหาวิทยาลัยเอเบอร์ฮาร์ด คาร์ลได้รับศพ 1,077 ศพที่ถูกประหารชีวิตระหว่างปี 1933 ถึง 1945 นักประสาทวิทยาศาสตร์ ยูลีอุส ฮัลเลอร์วอร์เดินได้รับสมอง 697 ชิ้นจากโรงพยาบาลแห่งหนึ่งระหว่างปี 1940 ถึง 1944 เขาว่า "ฉันยอมรับสมองพวกนี้อยู่แล้ว พวกมันมาจากไหนและมาถึงฉันได้อย่างไรนั้นไม่ใช่ธุระของฉันเลยจริง ๆ"[78]
กฎหมายเนือร์นแบร์ค, ยิวอพยพออกนอกประเทศ
[แก้]วันที่ 15 กันยายน 1935 ไรชส์ทาคผ่านกฎหมายความเป็นพลเมืองไรช์และกฎหมายสำหรับการพิทักษ์เลือดเยอรมันและเกียรติยศเยอรมัน เรียก กฎหมายเนือร์นแบร์ค กฎหมายฉบับแรกระบุว่า ฉพาะ "เลือดเยอรมันหรือเครือญาติ" เท่านั้นที่เป็นพลเมืองได้ ทุกคนที่มีปู่ย่าตายายเป็นยิวตั้งแต่สามคนขึ้นไปจะจัดเป็นยิว กฎหมายฉบับที่สองระบุว่า "ห้ามการสมรสระหว่างยิวและคนในบัคับของรัฐเยอรมันหรือเลือดที่สัมพันธ์" ความสัมพันธ์ทางเพศระหว่างยิวและเยอรมันก็มีความผิดอาญาเช่นกัน ยิวไม่ได้รับอนุญาตให้ว่าจ้างหญิงเยอรมันอายุต่ำกว่า 45 ปีในบ้าน กฎหมายพาดพิงถึงยิวแต่ยังใช้กับชาวโรมาและเยอรมันผิวดำเท่า ๆ กัน
นโยบายเชื้อชาติของนาซีมุ่งบีบให้ยิวอพยพออกนอกประเทศ[80] ยิวเยอรมัน 50,000 คนออกนอกประเทศเยอรมนีเมื่อถึงปลายปี 1934 และในปลายปี 1938 ประชากรยิวเยอรมันประมาณครึ่งหนึ่งออกนอกประเทศ ในบรรดายิวที่โดดเด่นที่ออกนอกประเทศ ได้แก่ ผู้ควบคุมวง บรูโน วัลเทอร์ ซึ่งหนีไปหลังได้รับคำบอกว่าจะมีการเผาโถงของเบอร์ลินฟิลฮาร์มอนิกหากเขายังควบคุมวงคอนเสิร์ตอยู่[81] อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ผู้อยู่ในสหรัฐเมื่อฮิตเลอร์เถลิงอำนาจ ไม่หวนกลับประเทศเยอรมนีอีก เขาถูกขับออกจากสมาคมไกเซอร์วิลเฮล์ม และสมาคมวิทยาศาสตร์ปรัสเซีย และถูกเพิกถอนความเป็นพลเมือง[82] นักวิทยาศาสตร์ยิวอื่น รวมทั้งกุสทัฟ เฮิร์ตซ เสียงานอาจารย์และออกนอกประเทศ[83]
วันที่ 12 มีนาคม 1938 เยอรมนีผนวกออสเตรีย นาซีออสเตรียบุกเข้าร้านค้ายิว ขโมยของจากบ้านและธุรกิจของยิว และบังคับให้ยิวทำงานที่น่าอับอาย เช่น ขัดถนนหรือทำความสะอาดส้วม[84] ธุรกิจยิวถูก "ทำให้เป็นอารยัน" และมีการกำหนดข้อจำกัดทางกฎหมายทุกประการดังเช่นยิวในประเทศเยอรมนี[85] ในเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน อาด็อล์ฟ ไอช์มันได้รับแต่งตั้งให้รับผิดชอบหน่วยงานกลางสำหรับการอพยพออกนอกประเทศของยิวในกรุงเวียนนา (Zentralstelle für jüdische Auswanderung in Wien) ยิวออสเตรียประมาณ 100,000 คนออกนอกประเทศเมื่อถึงเดือนพฤษภาคม 1939 รวมทั้งซิกมุนด์ ฟรอยด์และครอบครัวซึ่งย้ายไปกรุงลอนดอน[86] มีการจัดการประชุมเอเวียง (Évian) ในเดือนกรกฎาคม 1938 โดยมี 32 ประเทศเข้าร่วมเพื่อพยายามช่วยเหลือผู้ลี้ภัยจากประเทศเยอรมนีที่เพิ่มขึ้น แต่นอกจากการตั้งคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยผู้ลี้ภัยซึ่งค่อนข้างไร้ประสิทธิภาพแล้ว ประเทศต่าง ๆ ดำเนินการเพีงยเล็กน้อยและส่วนมากไม่เพิ่มจำนวนผู้ลี้ภัยที่จะรับเข้าอยู่แล้ว[87]
คืนกระจกแตก
[แก้]วันที่ 7 พฤศจิกายน 1938 เฮอร์เชล กรินสปัน ยิวโปแลนด์ ยิงนักการทูตเยอรมัน แอนสท์ ฟอม รัท ในสถานเอกอัครราชทูตเยอรมันในกรุงปารีส เพื่อแก้แค้นการขับบิดามารดาและพี่น้องเขาจากประเทศเยอรมนี[88] เมื่อฟอม รัทเสียชีวิตในวันที่ 9 พฤศจิกายน รัฐบาลใช้เป็นเหตุชนวนของโพกรมต่อยิวทั่วไรช์ที่สาม รัฐบาลอ้างว่าเหตุดังกล่าวเกิดเอง แต่ที่จริงเป็นคำสั่งและการวางแผนของฮิตเลอร์และเกิบเบิลส์ แม้ไม่มีเป้าหมายชัดเจนตามข้อมูลของเดวิด ซีซารานี เขาเขียนว่า ผลคือ "การฆ่าคน การข่มขืนกระทำชำเรา การปล้นสะดม การทำลายทรัพย์สินและการคุกคามในขนาดที่ไม่เคยมีมาก่อน"[89][90]
เหตุดังกล่าวเรียก คริสทัลนัคท์ (หรือ "คืนกระจกแตก") บางส่วนเอ็สเอ็สและเอ็สเอเป็นผู้ลงมือก่อเหตุ[91] แต่ชาวเยอรมันทั่วไปเข้าร่วมด้วย ในบางพื้นที่เกิดความรุนแรงขึ้นก่อนเอ็สเอ็สหรือเอ็สเอมาถึงเสียอีก[92] ร้านค้ายิวกว่า 7,500 แห่ง (จากทั้งหมด 9,000 แห่ง) ถูกปล้นสะดมและโจมตี และธรรมศาลากว่า 1,000 แห่งได้รับความเสียหายหรือถูกทำลาย กลุ่มยิวถูกฝูงชนบังคับให้ดูธรรมศาลาถูกเผา ในเบนส์ไฮม์ ยิวถูกบังคับให้เต้นรอบธรรมศาลา และในเลาพ์ไฮม์ ยิวถูกบังคับให้คุกเข่าต่อหน้าธรรมศาลา[93] ยิวเสียชีวิตอย่างน้อย 90 คน มีการประมาณความเสียหายที่ 39 ล้านไรช์มาร์ค[94] ซีซารานีเขียนว่า "ขนาดของการถูกทำลายทำให้ประชาชนมึนงงและสั่นสะเทือนรัฐบาล"[89] มีการส่งยิว 30,000 คนเข้าค่ายกักกันดาเคา บูเชนวัลด์และซัคเซินเฮาเซิน[95] ยิวจำนวนมากได้รับการปล่อยตัวในไม่กี่สัปดาห์ เมื่อถึงต้นปี 1939 ยังมียิวอยู่ในค่าย 2,000 คน[96] ยิวเยอรมันถูกถือว่ารับผิดชอบร่วมกันสำหรับการชดใช้ความเสียหาย นอกจากนี้ยังต้องจ่าย "ภาษีไถ่โทษ" กว่าหนึ่งพันล้านไรช์มาร์ค รัฐบาลยึดการจ่ายประกันสำหรับความเสียหายต่อทรัพย์สินของยิว กฤษฎีกาเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 1938 ห้ามยิวประกอบอาชีพที่ยังได้รับอนุญาตอยู่เกือบทุกอาชีพ[97] คริสตัลนัคท์เป็นเครื่องหมายการสิ้นสุดของกิจกรรมและวัฒนธรรมยิวสาธารณะทั้งปวง และยิวยิ่งเพิ่มความพยายามออกนอกประเทศมากขึ้น[98]
ทางแก้ดินแดนและการโยกย้ายถิ่นฐาน
[แก้]ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ประเทศเยอรมนีพิจารณาการเนรเทศหมู่เยอรมันเชื้อสายยิว และในเวลาต่อมารวมยุโรปเชื้อสายยิว ออกจากทวีปยุโรป ดินแดนที่มีการพิจารณาสำหรับการโยกย้ายได้แก่ปาเลสไตน์ของบริเตน และมาดากัสการ์ของฝรั่งเศส หลังสงครามเริ่ม ผู้นำเยอรมันพิจารณาเนรเทศยิวในทวีปยุโรปไปไซบีเรีย[99][100] ปาเลสไตน์เป็นสถานที่เดียวที่แผนการโยกย้ายประชากรของเยอรมันสัมฤทธิ์ผล ผ่านความตกลงฮาวาราระหว่างสหพันธ์ลัทธิไซออนิสต์แห่งเยอรมนีกับรัฐบาลเยอรมัน[101] ส่งผลให้มีการย้ายเยอรมันเชื้อสายยิว 60,000 คนและเงิน 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐจากเยอรมนีไปปาเลสไตน์ แต่ยุติลงเมื่อสงครามโลกครั้งที่สองปะทุ[102]
สงครามโลกครั้งที่สอง
[แก้]ประเทศที่ถูกยึดครอง
[แก้]ประเทศโปแลนด์
[แก้]เมื่อเยอรมนีบุกครองโปแลนด์ในเดือนกันยายน 1939 เยอรมนีเข้าควบคุมยิวประมาณ 1.7 ถึง 1.8 ล้านคนในดินแดนยึดครอง (ไม่รวมดินแดนของสหภาพโซเวียตที่บุกมาทางทิศตะวันออก)[103] กองทัพเยอรมันมีไอน์ซัทซืกรุพเพนเอ็สเอ็ส ("หน่วยเฉพาะกิจพิเศษ") 7 หน่วย และหน่วยไอน์ซัทซ์คอมมันโด จำนวนรวม 3,000 คน ซึ่งมีบทบาทจัดการกับ "ส่วนต่อต้านเยอรมันทั้งหมดในประเทศปรปักษ์หลังทหารในการรบ" ผู้บังคับบัญชาไอน์ซัทซ์กรุพเพนส่วนใหญ่เป็นมืออาชีพ ผู้นำ 15 จาก 25 คนมี ปร.ด. เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม สองวันก่อนการบุกครอง พวกเขานำตัวคน 30,000 คนไปยังค่ายกักกัน และในสัปดาห์แรกของการบุกครอง มีคนถูกประหารชีวิต 200 คนทุกวัน[104]
เยอรมันเริ่มส่งยิวจากดินแดนที่เพิ่งผนวก (ออสเตรีย เชโกสโลวาเกีย และโปแลนด์ตะวันตก) ไปยังส่วนกลางของโปแลนด์ ที่เรียก เขตปกครองสามัญ[105] เพื่อให้ง่ายต่อการควบคุมและเนรเทศ ยิวกระจุกอยู่ในเกตโตในนครใหญ่[106] เยอรมันวางแผนจัดตั้งเขตสงวนยิวในโปแลนด์ตะวันออกเฉียงใต้รอบค่ายชั่วคราวใน Nisko แต่แผนดังกล่าวส่วนหนึ่งถูกคัดค้านเพราะฮันส์ ฟรังค์ ผู้ว่าการเขตปกครองสามัญ[107] กลางเดือนตุลาคม 1940 มีการรื้อฟื้นความคิดนี้ แต่ย้ายไปตังอยู่ที่ลูบลิน การย้ายถิ่นฐานดำเนินไปจนเดือนมกราคม 1941 นายทหารเอ็สเอ็ส Odilo Globocnik แต่แผนเพิ่มเติมสำหรับเขตสงวนลูบลินล้มเหลวจากสาเหตุทางลอจิสติกส์และการเมือง[108]
เกตโต, สภายิว
[แก้]หลังบุกครองโปแลนด์ ฝ่ายเยอรมันตั้งเกตโตในดินแดนที่ผนวกและเขตปกครองสามัญเพื่อกักขังยิว[105] มีการตั้งเกตโตและปิดผนึกจากโลกภายนอกต่างวาระและต่างสาเหตุกัน[109] ในต้นปี 1941 เกตโตวอร์ซอมีประชากร 445,000 คน รวมทั้ง 130,000 คนจากที่อื่น[110] ส่วนเกตโตวูชที่มีขนาดใหญ่รองลงมา มีประชากร 160,000 คน[111]
ฝ่ายเยอรมันต้องการให้เกตโตทุกแห่งมียูเดนรัท หรือสภาผู้อาวุโสยิวเป็นผู้บริหารจัดการ[112] สภาฯ รับผิดชอบต่อปฏิบัติการรายวันของเกตโต รวมทั้งการจำหน่ายอาหาร น้ำ ความร้อน การบริบาลทางการแพทย์และที่พักอาศัย ฝ่ายเยอรมันยังต้องการให้สภาฯ ริบทรัพย์สิน จัดระเบียบแรงงานบังคับ และสุดท้าย อำนวยความสะดวกแก่การเนรเทศไปค่ายมรณะ[113] ยุทธศาสตร์พื้นฐานของสภาฯ คือ ยุทธศาสตร์พยายามลดความสูญเสียให้น้อยที่สุด โดยให้ความร่วมมือกับทางการเยอรมัน ติดสินบนเจ้าพนักงาน และการร้องทุกข์ขอภาวะความเป็นอยู่หรือการผ่อนผันที่ดีขึ้น[114]
เกตโตตั้งใจให้ใช้ชั่วคราวจนกว่าจะเนรเทศยิวไปที่อื่น ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้น แต่จะมีการส่งผู้อยู่อาศัยไปค่ายมรณะ โดยสภาพเกตโตเป็นเรือนจำที่หนาแน่นมากซึ่งใช้เป็นเครื่องมือ "การฆ่าช้า ๆ และไม่ต้องลงแรง" แม้วอร์ซอเกตโตมีประชากร 30% ของกรุงวอร์ซอ แต่กินพื้นที่เพียง 2.5% ของพื้นที่นคร หรือคิดเป็นกว่า 9 คนต่อห้องโดยเฉลี่ย[115] ระหว่างปี 1940 ถึง 1942 ความอดอยากและโรคภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งไข้รากสาดน้อย ฆ่าคนจำนวนมากในเกตโต ผู้อยู่อาศัยในวอร์ซอเกตโตกว่า 43,000 คน หรือหนึ่งในสิบของประชากรทั้งหมด เสียชีวิตในปี 1941[116] ในเทอเรเซียนชตัดท์ ผู้อยู่อาศัยกว่าครึ่งเสียชีวิตในปี 1942
ประเทศนอร์เวย์และเดนมาร์ก
[แก้]เยอรมนีบุกครองนอร์เวย์และเดนมาร์กในวันที่ 9 เมษายน 1940 ระหว่างปฏิบัติการเวแซร์รืบุง ประเทศเดนมาร์กถูกพิชิตเร็วเสียจนไม่มีเวลาตั้งการต้านทานอย่างมีระเบียบ ผลคือ รัฐบาลเดนมาร์กยังคงมีอำนาจและเยอรมันพบว่าการทำงานผ่านรัฐบาลเดนมาร์กนั้นง่ายกว่า ด้วยเหตุนี้ จึงมีการออกมาตรการต่อยิวเดนมาร์กเพียงเล็กน้อยก่อนปี 1942 เมื่อถึงเดือนมิถุนายน 1940 นอร์เวย์ถูกยึดครองอย่างสมบูรณ์[117] ปลายปี 1940 ยิว 1,800 คนในประเทศถูกห้ามประกอบบางอาชีพ และในปี 1941 ยิวทุกคนต้องขึ้นทะเบียนทรัพย์สินทั้งหมดต่อรัฐบาล[118] วันที่ 26 พฤศจิกายน 1942 ยิว 532 คนถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจนำตัวไปยังท่าเรือกรุงออสโลในเวลา 4 นาฬิกา ซึ่งถูกนำขึ้นเรือเยอรมัน แล้วถูกส่งตัวต่อด้วยรถไฟสินค้าไปยังค่ายมรณะเอาชวิตซ์ แดน สโตนระบุว่า ในจำนวนนี้เก้าคนรอดชีวิตจากสงคราม[119]
ประเทศฝรั่งเศสและกลุ่มประเทศแผ่นดินต่ำ
[แก้]ในเดือนพฤษภาคม 1940 ประเทศเยอรมนีบุกครองเนเธอร์แลนด์ ลักเซมเบิร์ก เบลเยียมและฝรั่งเศส หลังเบลเยียมยอมจำนน มีการตั้งผู้ว่าราชการทหารเยอรมัน อเล็กซานเดอร์ ฟอน ฟัลเคนเอาเซิน ซึ่งตรามาตรการต่อต้านยิวต่อยิว 90,000 คนในประเทศ ซึ่งในจำนวนนี้จำนวนมากเป็นผู้ลี้ภัยจากเยอรมนีหรือยุโรปตะวันออก[120]
ในประเทศเนเธอร์แลนด์ เยอรมันแต่งตั้งอาร์ทัวร์ ไซส์-อินควาร์ทเป็นไรช์สคอมมิสซาร์ ซึ่งเริ่มบีฑายิว 140,000 คนในประเทศ ยิวถูกบีบให้ออกจากงานและต้องลงทะเบียนกับรัฐบาล ในเดือนกุมภาพันธ์ 1941 พลเมืองดัตช์ที่ไม่ใช่ยิวจัดการหยุดงานประท้วงแต่ถูกขจัดอย่างรวดเร็ว[121] ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 1942 มียิวดัตช์กว่า 107,000 คนถูกเนรเทศ และมีเพียง 5,000 คนที่รอดชีวิตจากสงคราม ส่วนใหญ่มีการส่งไปค่ายมรณะเอาชวิตซ์ การขนย้ายยิว 1,135 คนเที่ยวแรกจากฮอลแลนด์สู่เอาชวิตซ์มีขึ้นในวันที่ 15 กรกฎาคม 1942 ระหว่างวันที่ 2 มีนาคมถึง 20 กรกฎาคม 1943 มีการส่งยิว 34,313 คนใน 19 พาหนะขนส่งไปยังค่ายมรณะโซบิบอร์ ซึ่งคาดว่ายิวทั้งหมดยกเว้น 18 คนถูกรมแก๊สเมื่อถึง[122]
ประเทศฝรั่งเศสมียิวประมาณ 300,000 คน แบ่งระหว่างส่วนเหนือที่เยอรมนียึดครอง และพื้นที่ทางใต้ที่ไม่ถูกยึดครองแต่ให้ความร่วมมือในวิชีฝรั่งเศส บริเวณที่ถูกยึดครองอยู่ภายใต้ผู้ว่าราชการทหาร ซึ่งในที่นั้นมาตรการต่อต้านยิวยังไม่ตรารวดเร็วเท่าพื้นที่ที่ถูกวิชีควบคุม ในเดือนกรกฎาคม 1940 มีการขับไล่ยิวในบางส่วนของอาลซัส-ลอแรนที่ถูกผนวกกับเยอรมนีไปวิชีฝรั่งเศส[123] รัฐบาลวิชีฝรั่งเศสนำมาตรการต่อต้านยิวไปปฏิบัติในแอลจีเรียของฝรั่งเศสและดินแดนในอารักขาตูนิเซียและโมร็อกโกของฝรั่งเศส[124] ตูนิเซียมียิว 85,000 คนเมื่อเยอรมนีและอิตาลีมาถึงในเดือนพฤศจิกายน 1942 มียิวประมาณ 5,000 คนถูกบังคับให้ใช้แรงงาน[125]
การล่มสลายของฝรั่งเศสทำให้เกิดแผนมาดากัสการ์ในฤดูร้อน 1940 เมื่อมาดากัสการ์ของฝรั่งเศสทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปแฟริกากลายเป็นความสนใจของการอภิปรายเกี่ยวกับการเนรเทศยิวยุโรปไปที่นั่นทั้งหมด เพราะมีภาวะครองชีพที่ไม่เอื้ออำนวยซึ่งจะเร่งการเสียชีวิตให้เร็วขึ้น[126] ผู้นำเยอรมันหลายคนอภิปรายความคิดนี้ในปี 1938 และสำนักงานของอาด็อล์ฟ ไอช์มันได้รับคำสั่งให้ดำเนินการวางแผนการโยกย้ายถิ่นฐาน แต่ไม่มีหลักฐานการวางแผนจนหลังฝรั่งเศสแพ้ในเดือนมิถุนายน 1940[127] แต่เพราะไม่สามารถพิชิตบริเตนได้ทำให้ขัดขวางการขนย้ายยิวข้ามทะเล[128] และมีการประกาศยุติแผนมาดากัสการ์ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 1942[129]
ยูโกสลาเวียและกรีซ
[แก้]ยูโกสลาเวียและกรีซถูกบุกครองในเดือนเมษายน 1941 และยอมจำนนก่อนสิ้นเดือน เยอรมนีและอิตาลีแบ่งกรีซออกเป็นเขตยึดครองแต่ยังไม่ทำลายฐานะประเทศ ยูโกสลาเวียเป็นที่พำนักของยิวประมาณ 80,000 คนมีการแบ่งเป็นภูมิภาคทางเหนือที่ถูกเยอรมนีผนวก และภูมิภาคตามชายฝั่งรวมเป็นส่วนหนึ่งของอิตาลี ประเทศส่วนที่เหลือแงเป็นเสรีรัฐโครเอเชีย ซึ่งเป็นพันธมิตรในนามของเยอรมนี และเซอร์เบีย ซึ่งปกรองโดยผู้ปกครองทหารและตำรวจผสมกัน[130] นักประวัติศาสตร์ เจเรมี แบล็ก ระบุว่า มีการประกาศว่าเซอร์เบียปลอดยิวในเดือนสิงหาคม 1942[131] พรรครัฐบาลโครเอเชีย อูสตาซี ฆ่ายิวในประเทศ และฆ่าชาวเซิร์บคริสต์ออร์โธด็อกซ์และมุสลิม[130] แบล็กระบุว่ายิวและเซิร์บ "ถูกสับจนตายและเผาในโรงนา" ข้อแตกต่างหนึ่งระหว่างเยอรมันกับโครเอเชียคือ อูสตาซีอนุญาตให้ยิวและเซอร์เบียเข้ารีตคาทอลิกเพื่อให้รอดชีวิตได้[131] ตามข้อมูลของ Jozo Tomasevich ในบรรดาชุมชนยิว 115 แห่งจากยูโกสลาเวียซึ่งมีอยู่ในปี 1939 และ 1940 มีเพียงชุมชนจากซาเกรบเพียงแห่งเดียวเท่านั้นที่เหลือรอดจนหลังสงคราม[132]
สหภาพโซเวียต
[แก้]เยอรมนีบุกครองสหภาพโซเวียตในวันที่ 22 มิถุนายน 1941 เยือร์เกิน มัทเทอุส (Jürgen Matthäus) นักประวัติศาสตร์ระบุว่าการบุกครองดังกล่าวเป็น "จุดพลิกผันในประวัติศาสตร์ เป็นก้าวเล็กสุดสู่ฮอโลคอสต์" เป็นเหตุการณ์ที่เปลี่ยน "แวร์มัคท์ เอสเอส ตำรวจเยอรมันและหน่วยงานพลเรือน ทหารพันธมตร [และ] ผู้ให้ความร่วมมือท้องถิ่น" เป็นผู้ก่อการ[134] เมื่อสิ้นปี 1941 มัทเทอุสระบุว่ามียิวเสียชีวิต 500,000–800,000 คน (2,700–4,200 คนต่อวัน) ในเหตุยิงหมู่[135] ระหว่างต้นฤดูใบไม้ร่วง 1941 ถึงปลายฤดูใบไม้ผลิ 1942 เขาเขียนว่ามีทหารโซเวียต 2 ล้านจาก 3.5 ล้านคนถูกแวร์มัคท์จับเป็นเชลยแล้วถูกประหารชีวิตหรือเสียชีวิตเพราะการละเลยและการทารุณ "เมื่อพวกเขาถอนกำลังสุดท้ายในปี 1944 เยอรมันทำลายโครงสร้างพื้นฐานส่วนใหญ่ของดินแดนยึดครอง เผาหมู่บ้านหลายพันแห่ง และทำให้อาณาบริเวณกว้างขวางรกร้าง ความสูญเสียทั้งหมดของโซเวียตประมาณได้ยาก แต่ตัวเลขอย่างน้อย 20 ล้านคนดูเป็นไปได้"[136]
โฆษณาชวนเชื่อของเยอรมันพรรณนาสงครามกับสหภาพโซเวียตว่าเป็นทั้งสงครามอุดมการณ์ระวห่างลัทธินาซีเยอรมันกับบอลเชวิกยิว และสงครามเชื้อชาติระหว่างเยอรมันกับพวกต่ำกว่ามนุษย์ยิว โรมนีและสลาฟ[137] ประชากรท้องถิ่นในดินแดนโซเวียตที่ถูกยึดครองบางแห่งยังมีส่วนในการฆ่ายิวและอื่น ๆ และช่วยชี้ตัวและล้อมจับยิว[138] ในประเทศลิทัวเนีย ลัตเวียและยูเครนตะวันตก คนท้องถิ่นมีส่วนอย่างลึกซึ้งในการฆ่า หน่วยทหารลัตเวียและลิทัวเนียบางหน่วยยังเข้าร่วมฆ่ายิวในเบลารุส ในทางใต้ ยูเครนฆ่ายิวประมาณ 24,000 คน บ้างก็ไปประเทศโปแลนด์เพื่อเป็นยามในค่ายกักกันและค่ายมรณะ[138]
การยิงหมู่
[แก้]มีการมอบหมายการสังหารหมู่ยิวในดินแดนโซเวียตที่ถูกยึดครองให้เป็นหน้าที่ของรูปขบวนเอสเอส เรียก ไอน์ซัท์กรุพเพน ("กำลังรบเฉพาะกิจ") ภายใต้การบังคับบัญชาของเอสเอสโอเบอร์กรุพเพนฟือเรอร์ ไรน์ฮาร์ท ไฮดริช หัวหน้าทบวงกลางความมั่นคงไรช์[139] มีการใช้หน่วยเหล่านี้ในขอบเขตจำกัดในโปแลนด์ในปี 1939 เพื่อฆ่ายิวและปัญญาชน ตลอดจนกลุ่มอื่น[140] แต่มีการจัดระเบียบในดินแดนโซเวียตในขอบเขตใหญ่ขึ้นมาก บทบาทของพวกเขาคือจัดการกับ "ส่วนต่อต้านเยอรมันทั้งหมดในประเทศปรปักษ์หลังทหารในการรบ"[141] ผู้บัญชาการไอน์ซัทซกรุพเพนเป็นพลเมืองสามัญ ส่วนใหญ่เป็นมืออาชีพ และส่วนมากเป็นปัญญาชน สไนเดอร์เขียนว่าผู้นำไอน์ซัทซ์กรุพเพอและไอน์ซัทซคอมมันโดมีปริญญาเอก[142]
ตรงแบบผู้เสียหายจะถูกเปลื้องผ้าและสละสิ่งของมีค่าก่อนเข้าแถวกันข้างคูดินเพื่อถูกยิง หรือพวกเขาถูกบังคับให้ปีนเข้าคู นอนอยู่บนศพชั้นล่าง ๆ และรอถูกฆ่า[143] อย่างหลังนี้เรียก การยัดแน่นปลาซาร์ดีน ซึ่งเป็นวิธีการที่นายทหารเอสเอส ฟรีดริช เจ็กเคออินเป็นผู้ริเริ่ม ไอน์ซัทซ์กรุพเพนและผู้ให้ความร่วมมือท้องถิ่นเดินทางพร้อมกับกองพันตำรวจรักษาความสงบเก้ากอง และวัฟเฟิน-เอ็สเอ็สสามหน่วย[144] ได้ฆ่าประชาชนเกือบ 500,000 คนด้วยวิธีดังกล่าวในฤดูหนาวปี 1941–1942[145] และประมาณสองล้านคนเมื่อสิ้นสงคราม ในจำนวนนี้ ประมาณ 1.3 ล้านคนเป็นยิว และ 250,000 คนเป็นชาวโรมา[146]
ในเดือนกรกฎาคม 1941 การสังหารหมู่โพนารีใกล้วิลนีอัส (ซึ่งขณะนั้นเป็นส่วนหนึ่งของโซเวียตลิทัวเนีย) มียิว 72,000 คนและลิทัวเนียและโปแลนด์ที่มิใช่ยิว 8,000 คนถูกไอน์ซัทกรุพเพอบีและผู้ให้ความร่วมมือลิทัวเนียยิง[147] ในการสังหารหมู่คาเมียเนส-โพดิสกี (ซึ่งขณะนั้นอยู่ในโซเวียตยูเครน) มียิวถูกฆ่าเกือบ 24,000 คนระหว่างวันที่ 27 ถึง 30 สิงหาคม 1941[136] การสังหารหมู่ใหญ่สุดเกิดที่เหวชื่อบาบึนยาร์นอกกรุงเคียฟ ซึ่งยิว 33,771 คนถูกฆ่าในปฏิบัติการเดียวในวันที่ 29–30 กันยายน 1941[148][e] คนจากไอน์ซัทซ์กรุพเพอซี ตำรวจรักษาความสงบเป็นผู้ลงมือฆ่า โดยได้รับการสนับสนุนจากทหารอาสาสมัครยูเครน[150] ขณะที่กองทัพที่ 6 ของเยอรมันช่วย้อมจับและขนย้ายผู้เสียหายมาให้ยิง กองทัพเยอรมันไม่ยอมรับความรับผิดชอบต่อไอน์ซัทซกรุพเพน นักประวัติศาสตร์เดโบราห์ ดีเวิร์กและรอเบิร์ต แจน ฟัน เพลต์ ระบุว่า ทีแรกกองทัพเสียใจกับการยิง แล้วต่อมาเป็นผู้ให้ความร่วมมืออย่างแข็งขัน ซึ่งรวมทั้งการมีส่วนในการยิงเสียเอง[151] เพื่อให้เหตุผลกับการเข้าเกี่ยวข้องของกำลังพล ผู้บังคับบัญชาแวร์มัคท์จะเรียกผู้เสียหายว่าเป็น "ตัวประกัน" "โจรป่า" และ "พลพรรค"[152]
พันธมิตรของเยอรมนี
[แก้]ประเทศโรมาเนีย
[แก้]แดน สโตนเขียนว่า แม้การฆ่ายิวในโรมาเนียเกิดขึ้นภายใต้ความควบคุมของนาซี แต่ "โดยสภาพแล้วดำเนินการเป็นอิสระ"[153] ประเทศโรมาเนียนำมาตรการต่อต้านยิวไปปฏิบัติในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน 1940 โดยเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามร่วมเป็นพันธมิตรกับเยอรมนี ยิวถูกบีบให้ออกจากงานราการ มีการดำเนินการโพกรม และจนถึงเดือนมีนาคม 1941 ยิวทุกคนตกงงานและถูกยึดทรัพย์สิน[154] ในเดือนมิถุนายน 1941 โรมาเนียเข้าร่วมการบุกครองสหภาพโซเวียต ยิวหลายพันคนถูกฆ่าระหว่างเดือนมกราคมถึงมิถุนายน 1941 และโพกรมบูคาเรสต์และลาซี (Iaşi)[155] รายงานของทูเวีย ฟริลลิงและคณะในปี 2014 ระบุว่ายิวมากถึง 14,850 คนเสียชีวิตระหว่างโพกรมลาซี[156] กองทัพโรมาเนียฆ่ายิวถึง 25,000 คนระหว่างการสังหารหมู่โอเดสซาระหว่างวันที่ 18 ตุลาคม 1941 ถึงมีนาคม 1942 โดยได้รับการสนับสนุนจากตำรวจ[157] มีไฮ อันทอนเนสคู รองนายกรัฐมนตรีโรมาเนีย มีรายงานว่ากล่าวว่ามันเป็น "ชั่วขณะที่เอื้ออำนวยที่สุดในประวัติศาสตร์ของเรา" เพื่อระงับ "ปัญหาชาวยิว"[158] ในเดือนกรกฎาคม 1941 เขาว่าถึงเวลา "การทำให้ชาติพันธุ์บริสุทธิ์โดยเบ็ดเสร็จ สำหรับการทบทวนชีวิตของชาติ และสำหรับการกวาดล้างส่วนที่ผิดแปลกต่อวิญญาณซึ่งเติบโตเหมือนมิสเซิลโทและทำให้อนาคตของเรามืดมนจากเชื้อชาติของเรา"[159] โรมาเนียตั้งค่ายกักกันภายใต้การวบคุมในทรานส์นีสเตรีย ซึ่งมีการเนรเทศยิว 154,000–170,000 คนในปี 1941 ถึง 1943[160]
ประเทศบัลแกเรีย สโลวาเกีย ฮังการี
[แก้]ประเทศบัลแกเรียเริ่มใช้มาตรการต่อต้านยิวในปี 1940 ถึง 1941 รวมทั้งข้อกำหนดให้สวมดาวเหลือง การห้ามสมรสข้ามชาติพันธุ์และขึ้นทะเบียนทรัพย์สิน[161] ประเทศผนวกเธรซและมาซิโดเนีย และในเดือนกุมภาพันธ์ 1943 ตกลงเนรเทศยิว 20,000 คนไปเทรบลิงคา ยิวทั้งหมด 11,000 คนจากดินแดนผนวกถูกส่งไปตาย และมีแผนเนรเทศยิวบัลแกเรียอีก 6,000–8,000 คนจากกรุงโซเฟียเพื่อให้ครบโควตา[162] เมื่อสาธารณะทราบแผนดังกล่าว คริสตจักรออร์โธด็อกซ์และชาวบัลแกเรียหลายคนประท้วง และพระเจ้าซาร์บอริสที่ 3 แห่งบัลแกเรีย ทรงยกเลิกการเนรเทศยิวที่เกิดในบัลแกเรีย[163] โดยให้ขับไปยังส่วนในประเทศเพื่อรอคำวินิจฉัยเพิ่มเติม[162]
แดน สโตนเขียนว่า สโลวาเกีย ซึ่งมียอเซ็ฟ ติซอ นักบวชโรมันคาทอลิก (และประธานาธิบดีรัฐสโลวักปี 1939–1945) เป็นผู้นำ เป็น "ระบอบผู้ให้การสนับสนุนที่ภักดีมากที่สุดแห่งหนึ่ง" ประเทศเนรเทศยิว 7,500 คนในปี 1938 ซึ่งเป็นการริเริ่มของตนเอง นำมาตรการต่อต้านยิวไปใช้ในปี 1940 และจนถึงฤดูใบไม้ร่วงปี 1942 ประเทศเนรเทศยิวประมาณ 60,000 คนไปเกตโตและค่ายกักกันในประเทศโปแลนด์ มีเนรเทศอีก 2,396 คน และ 2,257 คนถูกฆ่าในฤดูใบไม้ร่วงปีนั้นระหว่างการก่อการกำเริบ และมีการเนรเทศ 13,500 คนระหว่างเดือนตุลาคม 1944 และมีนาคม 1945[164] แดน สโตนเขียนว่า "ฮอโลคอสต์ในสโลวาเกียเป็นมากกว่าโครงการของเยอรมัน แม้ดำเนินการในบริบทของรัฐ "หุ่นเชิด""[165]
แม้ฮังการีขับยิวที่มิใช่พลเมืองออกจากดินแดนที่เพิ่งผนวกใหม่ในปี 941 แต่ประเทศไม่ได้เนรเทศยิวส่วนใหญ่[166] จนกระทั่งเยอรมนีบุกครองฮังการีในเดือนมีนาคม 1944 ระหว่างวันที่ 15 พฤษภาคมถึง 9 กรกฎาคม 1944 มีการเนรเทศยิวฮังการี 440,000 คนไปเอาชวิตซ์เป็นส่วนใหญ่ โดยมีการขนส่งสี่เที่ยวต่อวัน เที่ยวละ 3,000 คน[167] ปลายปี 1944 ในกรุงบูดาเปสต์ ยิวเกือบ 80,000 คนถูกกองพันกางเขนลูกศรของฮังการีฆ่า[168]
พันธมิตรอื่น
[แก้]อิตาลีนำมาตรการต่อต้านยิวบางอย่างไปใช้ แต่มีการต่อต้านยิวน้อยกว่าในเยอรมนี และยิวในประเทศที่ถูกอิตาลียึดครองปลอดภัยกว่าดินแดนที่เยอรมนียดครอง ในบางพื้นที่ ทางการอิตาลีพยายามปกป้องยิวด้วยซ้ำ เช่น ในพื้นที่โครเอเชียของคาบสมุทรบอลข่าน แต่แม้กองทัพอิตาลีในรัสเซียไม่ได้ป่าเถื่อนต่อยิวเหมือนกับเยอรมัน แต่ก็มิได้พยายามหยุดความโหดเหี้ยมของเยอรมันเช่นกัน[169] ไม่มีการเนรเทศยิวอิตาลีไปเยอรมนีระหว่างที่อิตาลีเป็นพันธมิตร มีกาตั้งค่ายแรงงงานเกณฑ์หลายแห่งในประเทศลิเบียที่อิตาลียึดครอง ยิวลิเบียเกือบ 2,600 คนถูกส่งไปยังค่าย โดยมีผู้เสียชีวิต 562 คน[170]
ฟินแลนด์ถูกกดดันในปี 1942 ให้ส่งตัวยิวที่มิใช่ฟินแลนด์ 150–200 คนให้เยอรมนี หลังการคัคด้านจากรัฐบาลและสาธารณะ ยิวที่มิใช่ฟินแลนด์แปดคนถูกเนรเทศในปลายปี 1942 มีเพียงคนเดียวที่รอดชีวิตจากสงคราม[171] ญี่ปุ่นมีการต่อต้านยิวน้อยในสังคมและมิได้บีฑายิวในดินแดนส่วนใหญ่ที่ควบคุม ยิวในเซี่ยงไฮ้ถูกกักขัง แต่ไม่ถูกฆ่าแม้เยอรมนีกดดัน[172]
ค่ายกักกันและค่ายแรงงาน
[แก้]ทีแรกประเทศเยอรมนีใช้ค่ายกักกันเป็นที่กักขังศัตรูการเมืองและ "ปรปักษ์ต่อรัฐ" โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ยังไม่มีการส่งยิวจำนวนมากไปค่ายกักกันจนหลังเหตุการณ์คืนกระจกแตกในเดือนพฤศจิกายน 1938[174] แม้มีอัตราการตายสูง แต่ค่ายไม่ได้ออกแบบมาเพื่อเป็นสถานที่ฆ่า[175] หลังสงครามอุบัติในปี 1939 มีการตั้งค่ายใหม่ บางแห่งอยู่นอกเยอรมนีในทวีปยุโรปที่ถูกยึดครอง[176] ในเดือนมกราคม 1945 เอ็สเอ็สรายงานว่ามีนักโทษกว่า 700,000 คนในความควบคุม ซึ่งข้อมูลของนักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่มีว่าเกือบครึ่งของจำนวนนี้เสียชีวิตเมื่อถึงปลายเดือนพฤษภาคม 1945[177] นักโทษยามสงครามส่วนใหญ่ของค่ายมิใช่เยอรมันแต่เป็นพลเมืองของประเทศที่อยู่ภายใต้การยึดครองของเยอรมนี[178]
หลังปี 1942 หน้าที่ทางเศรษฐกิจของค่าย ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นรองหน้าที่ลงทัณฑ์และสร้างความกลัว กลายมาเป็นหน้าที่หลัก แรงงานบังคับซึ่งเป็นนักโทษค่ายกลายเป็นเรื่องปกติ[174] ยามเริ่มป่าเถื่อนมากขึ้น และยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเมื่อยามไม่เพียงทุบตีและทำให้นักโทษอดอยากเท่านั้น แต่ยังฆ่านักโทษบ่อยขึ้นด้วย[178] การกำจัดผ่านการใช้แรงงาน (Vernichtung durch Arbeit) กลายเป็นนโยบาย ผู้ถูกคุมขังในค่ายจะมีการบังคับใช้ทำงานจนตาย หรือจนเหนื่อยทางกายภาพ ซึ่งเมื่อถึงจุดนั้นจะถูกรมแก๊สหรือยิง[179] เยอรมันประมาณอายุขัยของนักโทษเฉลี่ยในค่ายกักกันไว้ที่สามเดือน เนื่องจากการขาดอาหารและเครื่องนุ่งห่ม โรคระบาดอยู่เนือง ๆ และการลงโทษบ่อยครั้งกับการกระทำผิดเล็กน้อยที่สุด[180] กะงานยาวนานและมักเกี่ยวข้องกับการสัมผัสวัสดุอันตราย[181]
การขนย้ายระหว่างค่ายมักใช้รถไฟขนสินค้าโดยมีการยัดนักโทษอย่างหนาแน่น จะมีความล่าช้าเป็นเวลานาน[182] นักโทษอาจถูกกักขังในคันรถเป็นเวลาหลายวัน ค่ายใช้แรงงานกลางปี 1942 เริ่มต้องการนักโทษที่เพิ่งมาใหม่ให้อยู่ในการกักโรคสี่สัปดาห์[183] นักโทษสวมสามเหลี่ยมสีต่าง ๆ บนเครื่องแบบ ซึ่งสีนี้ระบุสาเหตุสำหรับการกักขัง สีแดงบอกถึงนักโทษการเมือง สีม่วงบอกคริสต์นิกายพยานพระยะโฮวา สีดำและเขียวบอก "พวกไม่เข้าสังคม" และอาชญากร และสีชมพูหมายถึงเกย์[184] ยิวสวมสามเหลี่ยมสีเหลืองสองรูปซ้อนกันเป็นดาวหกแฉก[185] ในเอาชวิตซ์ นักโทษถูกสักเลขประจำตัวเมื่อมาถึง[186]
มาตรการสุดท้าย
[แก้]เพิร์ลฮาร์เบอร์, ตัดสินใจฆ่ายิว
[แก้]วันที่ 7 ธันวาคม 1941 อากาศยานญี่ปุ่นโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์ ฐานทัพเรืออเมริกันในโฮโนลูลู รัฐฮาวาย เป็นเหตุให้อเมริกันเสียชีวิต 2,403 คน วันรุ่งขึ้น สหรัฐประกาศสงครามต่อญี่ปุ่น และในวันที่ 11 ธันวาคม เยอรมนีประกาศสงครามต่อสหรัฐ[187] จากข้อมูลของเดโบราห์ ดีวอร์กและรอเบิร์ต แจน ฟัน เพลต์ระบุว่าฮิตเลอร์วางใจยิวอเมริกัน ซึ่งเขาสันนิษฐานว่าล้วนเป็นผู้ทรงอำนาจ เพื่อกันสหรัฐออกจากสงครามเพื่อประโยชน์ของยิวเยอรมัน เมื่ออเมริกาประกาศสงคราม เขาก็โทษยิว[188]
เกือบสามปีก่อนหน้านั้น วันที่ 30 มกราคม 1939 เขาบอกไรช์สทาคว่า "ถ้านักการเงินยิวนานาชาติทั้งในและนอกยุโรปประสบความสำเร็จในการปล้นประชาชาติอีกครั้งหนึ่งเป็นสงครามโลก ผลจะไม่ทำให้โลกเป็นบอลเชวิคและเป็นชัยของยิว แต่จะเป็นการทำลายล้างเชื้อชาติยิวในยุโรป!"[189] ในทัศนะของคริสเตียน เกอร์ลัค ฮิตเลอร์อาจประกาศคำวินินฉัยทำลายล้างยิวในวันที่ 12 ธันวาคม 1941 ระหว่างสุนทรพจน์ต่อเกาไลแตร์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งชองผู้นำพรรคนาซี วันรุ่งขึ้น โยเซฟ เกิบเบิลส์ รัฐมนตรีโฆษณาการไรช์ บันทึกในอนุทินของเขาว่า "เขาเตือนยิวว่าหากพวกเขาก่อสงครามโลกอีกหน มันจะนำไปสู่การทำลายล้างพวกนั้น ... บัดนี้สงครามโลกมาถึงแล้ว การทำลายล้างยิวจึงต้องเป็นผลลัพธ์ที่จำเป็นของมัน"[190]
การประชุมที่วันเซ
[แก้]เอ็สเอ็สโอเบอร์กรุพเพนฟือเรอร์ ไรน์ฮาร์ท ไฮดริช หัวหน้าทบวงกลางความมั่นคงไรช์ จัดการประชุมที่วันเซในวันที่ 20 มกราคม 1942 ณ อัมกรอสเซนวันเซ 56–58 ซึ่งเป็นวิลลาแห่งหนึ่งในวันเซชานกรุงเบอร์ลิน[191][192] การประชุมเดิมกำหนดไว้วันที่ 9 ธันวาคม 1941 และมีการส่งคำเชิญในวันที่ 29 พฤศจิกายน แต่มีการเลื่อนอย่างไม่มีกำหนด อีกหนึ่งเดือนต่อมา มีการส่งคำเชิญอีกครั้งโดยกำหนดวันที่ประชุมเป็นวันที่ 20 มกราคม[193]
ชาย 15 คนที่เข้าร่วมประชุม ได้แก่ อาด็อล์ฟ ไอช์มัน (หัวหน้ากิจการยิวสำหรับทบวงกลางความมั่นคงไรช์ และผู้จัดระเบียบการเนรเทศยิว) ไฮน์ริช มึลเลอร์ (หัวหน้าเกสตาโป) และผู้นำพรรคและรัฐมนตรีต่าง ๆ[194] มีการจัดทำรายงานการประชุม 30 ชุด ซึ่งเรียก พิธีสารวันเซ พนักงานอัยการอเมริกันพบสำเนาเลขที่ 16 ในเดือนมีนาคม 1947 ในแฟ้มของกระทรวงการต่างประเทศเยอรมัน[195] สำเนาดังกล่าวไอช์มันเป็นผู้เขียนและประทับตราว่า "ลับสุดยอด" รายงานการประชุมดังกล่าวเขียนใน "ภาษาไพเราะ" ตามคำสั่งของเฮย์ดริช ตามคำให้การในภายหลังของไอช์มัน[196]
การประชุมนี้มีความมุ่งหมายหลายอย่าง โดยอภิปรายแผนสำหรับ "การแก้ปัญหายิวครั้งสุดท้าย" (Endlösung der Judenfrage) และ "การแก้ปัญหายิวครั้งสุดท้ายในทวีปยุโรป" (Endlösung der europäischen Judenfrage) เจตนาแบ่งปันสารสนเทศและความรับผิดชอบ ประสานงานความพยายามและนโยบาย (Parallelisierung der Linienführung) และรับประกันว่าอำนาจเป็นของไฮดริช นอกจากนี้ยังมีการอภิปรายว่าจะรวมลูกครึ่งยิวเยอรมัน (Mischlinge) หรือไม่ ไฮดริชบอกแก่ที่ประชุมว่า "การแก้ปัญหาที่เป็นไปได้อีกทางหนึ่งบัดนี้อยู่ในรูปของการย้ายถิ่นออก คือ การอพยพยิวไปทางทิศตะวันออก หากว่าฟือเรอร์ให้ความเห็นชอบอย่างเหมาะสมล่วงหน้า" เขากล่าวต่อไปว่า
ภายใต้การใช้นำที่เหมาะสม ในห้วงการแก้ปัญฆายิวครั้งสุดท้ายจะมีการจัดสรรสำหรับแรงงานอย่างเหมาะสมในทิศตะวันออก จะมีการแบ่งยิวที่สามารถทำงานได้ แบ่งตามเพศ เป็นสดมภ์งานขนาดใหญ่ในพื้นที่เหล่านี้ให้ทำงานบนถนน ซึ่งในช่วงดังกล่าวไม่ต้องสงสัยว่าจำนวนมากจะถูกกำจัดด้วยสาเหตุธรรมชาติ
ส่วนสุดท้ายที่เป็นไปได้ ด้วยเหตุที่ประกอบด้วยส่วนที่ขัดขืนมากที่สุดอย่างไม่ต้องสงสัย จะได้รับการปฏิบัติตามนั้นเพราะมันเป็นผลของการคัดเลือกโดยธรรมชาติ ซึ่งหากปล่อยไป จะเป็นเมล็ดพันธุ์ของการฟื้นฟูยิวรอบใหม่ (ดูประสบการณ์ประวัติศาสตร์) ในห้วงของการลงมือปฏิบัติแก้ปัญหาครั้งสุดท้าย ทวีปยุโรปจะถูกพลิกแผ่นดินหาจากทิศตะวันตกถึงตะวันออก ประเทศเยอรมนี รวมทั้งรัฐในอารักขาโบฮีเมียและโมราเวีย จะถูกจัดการก่อนเนื่องจากปัญหาการเคหะและความจำเป็นทางสังคมและการเมืองเพิ่มเติม การอพยพยิวทีแรกจะส่งไปเกตโตเปลี่ยนผ่านทีละกลุ่ม ซึ่งจะมีการเคลื่อนย้ายพวกเขาไปทางทิศตะวันออกต่อไป[191]
การอพยพเหล่านี้ถือว่าเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะกิจหรือชั่วคราว (Ausweichmöglichkeiten)[197] การแก้ปัญหาสุดท้ายจะครอบคลุมยิว 11 ล้านคนที่อาศัยอยู่ไม่เฉพาะในดินแดนที่เยอรมนีควบคุม แต่รวมถึงที่อื่นในทวีปยุโรปและดินแดนที่อยู่ติดกัน เช่น บริเตน ไอร์แลนด์ สวิสเซอร์แลนด์ ตุรกี สวีเดน โปรตุเกส สเปนและฮังการี "ขึ้นอยู่กับพัฒนาการทางทหาร"[197] มีข้อสงสัยน้อยว่าการแก้ปัญหาสุดท้ายคือสิ่งใด ปีเตอร์ ลองเกอริชเขียนว่า "ยิวจะถูกกำจัดทั้งจากการใช้แรงงานบังคับและการสังหารหมู่รวมกัน"[198]
ค่ายมรณะ
[แก้]ค่าย | ที่ตั้ง (โปแลนด์ที่ถูกยึดครอง) |
ผู้เสียชีวิต | ห้องรมแก๊ส | รถตู้รมแก๊ส | เริ่มก่อสร้าง | เริ่มฆ่าหมู่ | แหล่งที่มา (Yad Vashem) |
---|---|---|---|---|---|---|---|
เอาชวิตซ์ 2 | Brzezinka | 1,082,000 (ค่าเอาชวิตซ์ทุกค่าย; รวมยิว 960,000 คน)[f] |
4[g] | ตุลาคม 1941 (เดิมสร้างเป็นค่ายเชลยศึก)[202] |
c. 20 มีนาคม 1942[203][h] | [204] | |
แบวแชตส์ | แบวแชตส์ | 600,000[205] | 1 พฤศจิกายน 1941[206] | 17 มีนาคม 1942[206] | [205] | ||
เชลม์โน | Chełmno nad Nerem | 320,000[207] | 8 ธันวาคม 1941[208] | [207] | |||
ไมดาแนก | ลูบลิน | 78,000[209] | 7 ตุลาคม 1941 (เดิมสร้างเป็นค่ายเชลยศึก)[210] |
ตุลาคม 1942[211] | [212] | ||
โซบีบอร์ | โซบีบอร์ | 250,000[213] | กุมภาพันธ์ 1942[214] | พฤษภาคม 1942[214] | [213] | ||
เทรบลิงคา | เทรบลิงคา | 870,000[215] | พฤษภาคม 1942[216] | 23 กรกฎาคม 1942[216] | [215] | ||
รวม | 3,218,000 |
ตั้งแต่ปลายปี 1941 เยอรมันสร้างค่ายมรณะหกแห่งในโปแลนด์ที่ถูกยึดครอง ได้แก่ เอาชวิทซ์ 2 (สร้างตุลาคม 1941) ไมดาแนก (ตุลาคม 1941), เชลม์โน (ธันวาคม 1941), แบวแชตส์ โซบีบอร์และเทรบลิงคา (ปี 1942) ค่ายสามแห่งหลังนี้เรียก ค่ายปฏิบัติการไรน์ฮาร์ท การฆ่าขนานใหญ่โดยใช้ห้องรมแก๊สหรือรถตู้รมแก๊สเป็นข้อแตกต่างระหว่างค่ายมรณะและค่ายกักกัน เชลม์โนที่มีเฉพาะรถตู้รมแก๊ส มีที่มาจากโครงการการุณยฆาตอัคซีโยน เท4 ไมดาแนกเริ่มจากเป็นค่ายเชลยศึกแต่มีการติดตั้งห้องรมแก๊สในเดือนสิงหาคม 1942 ค่ายอื่นที่บางครั้งเรียกว่าค่ายมรณะ ได้แก่ มาลีทรอสเตเนซ (Maly Trostinets) ค่ายและจุดกำจัดใกล้กับมินสก์ในสหภาพโซเวียตที่ถูกยึดครอง ซึ่งคาดว่ามีผู้เสียชีวิต 65,000 คน ส่วนใหญ่ถูกยิงทิ้งแต่บ้างเสียชีวิตในรถตู้แก๊ส,[217] เมาเทาเซินในประเทศออสเตรีย, ชทุททอฟ ใกล้กับกดัญสก์ ประเทศโปแลนด์, และซัคเซินเฮาเซินและราเวนสบรึคในประเทศเยอรมนี ค่ายในประเทศออสเตรีย เยอรมนีและโปแลนด์ทุกแห่งมีห้องรมแก๊สเพื่อฆ่าผู้ถูกคุมขังที่ดูแล้วทำงานไม่ได้[218]
รถตู้แก๊ส
[แก้]เชล์มโน ซึ่งใช้แต่รถตู้แก๊ส มีรากในโครงการการุณยฆาตอัคซีโยน เท4[219] ในเดือนธันวาคม 1939 ถึงมกราคม 1940 มีการใช้รถตู้แก๊สทดลองที่บรรทุกถังแก๊สและส่วนกั้นปิดผนึกเพื่อฆ่าผู้พิการและป่วยทางจิตในโปแลนด์ที่ถูกยึดครอง[220] เมื่อการยิงหมู่ดำเนินไปในรัสเซีย ฮิมม์เลอร์และผู้ใต้บังคับบัญชาในสนามเกรงว่าการฆ่าจะก่อปัญหาต่อจิตใจแก่เอ็สเอ็ส[221] และเริ่มมองหาวิธีการที่มีประสิทธิภาพมากกว่า มีการเริ่มใช้รถตู้คล้ายกันแต่ใช้ไอเสียแทนแก๊สอัดขวดในค่ายมรณะเชล์มโนในเดือนธันวาคม 1941[206] ผู้เสียหายจะขาดอากาศขณะโดยสารไปยังหลุมฝังศพที่เตรียมไว้ในป่าแถวนั้น ซึ่งจะมีการนำศพหลังจากรถและฝัง[222] รถตู้นี้ยังใช้ในสหภาพโซเวียตที่ถูกยึดครอง ตัวอย่างเช่น ในการปฏิบัติกวาดล้างขนาดย่อมในเกตโตมินสก์[223] นอกจากนี้ยังมีใช้ในยูโกสลวาเกีย[224] ดูเหมือนว่ารถตู้จะก่อให้เกิดปัญหาทางอารมณ์ต่อผู้ใช้งานเช่นเดียวกับการยิงหมู่ และผู้เสียหายจำนวนน้อยที่รถตู้รองรับได้ทำให้มันไม่มีประสิทธิภาพ[225]
ห้องรมแก๊ส
[แก้]คริสเตียน เกอร์ลัคเขียนว่ายิวกว่าสามล้านคนถูกฆ่าในปี 1942 ซึ่งเป็นปีที่ "เป็นจุดสูงสุด" ของการฆ่าหมู่[227] ในจำนวนนี้ อย่างน้อย 1.4 ล้านคนอยู่ในพื้นที่เขตปกครองสามัญของประเทศโปแลนด์[228] ปกติผู้เสียหายมาถึงค่ายมรณะด้วยรถไฟสินค้า[229] เกือบทั้งหมดที่มายังเบวเซตส์ โซบีบอร์และเทรบลิงคาถูกส่งเข้าห้องรมแก๊สโดยตรง[230] โดยบางทีมีบ้างที่ได้รับเลือกให้ทดแทนคนงานที่เสียชีวิต[231] ที่เอาชวิตซ์มีการเลือกยิวประมาณร้อยละ 20 ไว้ใช้งาน[232] ผู้ที่ได้รับเลือกให้ตาย ณ ทุกค่ายได้รับคำสั่งให้ถอดเสื้อผ้าและส่งมอบสิ่งของมีค่าให้แก่คนงานค่าย[233] จากนั้นพวกเขาจะเดินเรียงแถวกันเข้าห้องรมแก๊ส เพื่อป้องกันความตื่นตระหนก พวกเขาได้รับบอกเล่าว่าห้องรมแก๊สเป็นห้องอาบน้ำหรือห้องกำจัดเหา[234]
ที่เอาชวิตซ์ หลังคนเข้าไปเต็มห้องแล้ว จะมีการปิดประตูและหย่อนเม็ดยาเล็กซือโคลน เบเข้าไปในห้องผ่านท่อระบายอากาศ ซึ่งจะปล่อยไฮโดรเจนไซยาไนด์[235] คนที่อยู่ภายในจะเสียชีวิตภายใน 20 นาที ความเร็วของการเสียชีวิตขึ้นอยู่กับว่าผู้นั้นยืนอยู่ใกล้ปล่องแก๊สมากเพียงใด ตามข้อมูลของผู้บัญชาการรูด็อล์ฟ เฮิส ซึ่งประมาณว่าผู้เสียหายประมาณหนึ่งในสามเสียชีวิตทันที[236] โยฮันน์ เครเมอร์ แพทย์เอ็สเอ็สซึ่งควบคุมดูแลการรมแก๊ส ให้การว่า "เสียงตะโกนและกรีดร้องของผู้เสียหายสามารถได้ยินผ่านช่องเปิดและชัดเจนว่าพวกเขาต่อสู้เอาชีวิตรอด"[237] จากนั้นจะมีการปั๊มแก๊สออก ขนย้ายศพออก มีการดึงทองอุดฟัน ตัดผมหญิง ถอดแขนขาเทียมและแว่นตา[238] ซอนเดอร์คอมมันโดหรือคณะทำงานซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักโทษยิวเป็นผู้ทำงานดังกล่าว ที่เอาชวิตซ์ ทีแรกมีการฝังศพในหลุมลึกและปิดปากหลุมด้วยไลม์ แต่ระหว่างเดือนกันยายนถึงพฤศจิกายน 1942 ตามคำสั่งของฮิมม์เลอร์ มีการขุดศพขึ้นมาเผา ต้นปี 1943 มีการสร้างห้องรมแก๊สและเมรุใหม่เพื่ออำนวยความสะดวกจำนวนที่เพิ่มขึ้น[239]
ระหว่างเดือนมีนาคม 1042 ถึงพฤศจิกายน 1943 มียิวประมาณ 1,56,500 คนถูกรมแก๊สในค่ายปฏิบัติการไรน์ฮาร์ดสามแห่งในห้องรมแก๊สโดยใช้ไอเสียจากเครื่องยนต์ดีเซล์ที่ตั้งอยู่กับที่[230][32] มีการดึงทองอุดจากศพก่อนฝัง แต่มีการตัดผมหญิงก่อนเสียชีวิต ที่เทรบลิงคา เพื่อปลอบขวัญผู้เสียหาย มีการจัดให้ชานชาลาที่มาถึงดูเหมือนสถานีรถไฟที่มีนาฬิกาปลอม[240] ไมดาแนกใช้แก๊สซือโคลน เบในห้องแก๊ส ค่ายเบวเซตส์ โซบีบอร์และเทรบลิงคามีขนาดค่อนข้างเล็กซึ่งตรงข้ามกับเอาชวิตซ์ ผู้เสียหายส่วนใหญ่ที่ค่ายเหล่านี้ทีแรกฝังอยู่ในหลุม โซบีบอร์และเบวเซตส์เริ่มการขุดศพมาเผาในปลายปี 1942 เพื่อปกปิดหลักฐาน เช่นเดียวกับเทรบลิงคาในเดือนมีนาคม 1943 มีการเผาศพในหลุมไฟเปิดและมีการบดกระดูกที่เหลือเป็นผง[241]
การขัดขืนของยิว
[แก้]แทบไม่มีการขัดขืนในเกตโตในโปแลนด์จนปลายปี 1942 ตามข้อมูลของปีเตอร์ ลองเกอริช[243] ฝ่ายราอูล ฮิลเบิร์กให้เหตุผลโดยหยิบยกประวัติศาสตร์การบีฑายิว คือ การร้องขอผู้กดขี่และการยอมตามคำสั่งอาจเลี่ยงมิให้สถานการณ์บานปลายจนกระทั่งเหตุการณ์บรรเทาลง[244] ทิโมธี สไนเดอร์บันทึกว่าระหว่างสามเดือนหลังการเนรเทศรอบเดือนกรกฎาคม–กันยายน 1942 เกิดความตกลงว่าจำเป็นต้องมีการขัดขืนด้วยอาวุธ[245]
มีการก่อตัวกลุ่มขัดขืนหลายกลุ่ม เช่น องค์การรบยิว (ZOB) และสหภาพทหารยิว (ZZW) ในเกตโตวอร์ซอ และองค์การสหพลพรรคในวิลนา[246] เกิดการกบฏและก่อการกำเริบกว่า 100 ครั้งในเกตโตและที่อื่นรวมอย่างน้อย 19 แห่งในยุโรปตะวันตก เหตุการณ์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดได้แก่การก่อการกำเริบเกตโตวอร์ซอในเดือนเมษายน 1943 เมื่อฝ่ายยเอรมันเข้ามาส่งตัวผู้อยู่อาศัยที่เหลือเข้าค่ายมรณะ ทหารเยอรมันต้องล่าถอยในวันที่ 19 เมษายนจากนักรบ ZOB และ ZZW และในวันเดียวกันหวนกลับมาภายใต้บังคับบัญชาของพลเอกเอ็สเอ็ส ยืร์เกน ชตรูพ[247] นักรบที่ติดอาวุธอย่างเลวประมาณ 1,000 คนสกัดกั้นเอ็สเอ็สได้เป็นเวลาสี่สัปดาห์[248] ตามบันทึกของโปแลนด์และยิว ฝ่ายเยอรมันเสียชีวิตหลายร้อยหรือหลายพันนาย[249] ส่วนเยอรมันรายงานว่ามีผู้เสียชีวิต 16 นาย[250] ฝ่ายเยอรมันรายงานว่ามียิวเสียชีวิต 14,000 คน ในจำนวนนี้ 7,000 คนเสียชีวิตระหว่างการสู้รบ และอีก 7,000 คนถูกส่งไปยังเทรบลิงคา[251] และมีการเนรเทศระหว่าง 53,000[252] คนถึง 56,000 คน[250]
Gwardia Ludowa หนังสือพิมพ์ของฝ่ายต่อต้านโปแลนด์ เขียนในเดือนพฤษภาคม 1943 ว่า "จากหลังฉากควันและไฟ ซึ่งบรรดาพลพรคยิวที่กำลังต่อสู้อยู่นั้นเสียชีวิต ตำนานคุณภาพการสู้รบอันเยี่ยมยอดของเยอรมันกำลังถูกบ่อนทำลาย 'ชัย' อันเสื่อมเสียนั้นดูเป็นอย่างไรเมื่อกว่าชนะได้ก็ต้องเผาและพังถล่มย่านทั้งย่านของเมืองหลวง ... ยิวที่กำลังต่อสู้นั้นคว้าชัยให้เราในสิ่งที่สำคัญที่สุด: ความจริงเกี่ยวกับความอ่อนแอของเยอรมัน"[253]
ระหว่างการกบฏในเทรบลิงคาเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 1943 ผู้ถูกคุมขังฆ่ายามห้าหรือหกนายและจุดไฟเผาอาคารค่าย มีผู้หลบหนีได้หลายคน[254] ในเกตโตเบียวิสตอก (Białystok) วันที่ 16 สิงหาคม 1943 ผู้ก่อการกำเริบยิวต่อสู้เป็นเวลาห้าวันเมื่อเยอรมันประกาศเนรเทศครั้งใหญ่[255] วันที่ 14 ตุลาคม 1943 นักโทษยิวในโซบีบอร์ รวมทั้งเชลยศึกยิว-โซเวียต พยายามหลบหนี[256] ฆ่านายทหารเอ็สเอ็สได้ 11 นาย และยามค่ายชาวยูเครนอีกหยิบมือหนึ่ง[257] มีผู้หลบหนีได้ 300 คน แต่ 100 คนถูกตามจับได้และยิงทิ้ง[258] วันที่ 7 ตุลาคม 1943 สมาชิกยิวของซอนเดอร์คอมมันโดที่เอาชวิตซ์ 300 คน ซึ่งทราบว่าตนกำลังถูกฆ่า โจมตีผู้คุมและระเบิดเมรุ 4 มีนายทหารเอ็สเอ็สเสียชีวิต 3 นาย ไม่มีกบฏคนใดรอดชีวิตจากเหตุการณ์นี้[259]
ประมาณการจำนวนยิวในหน่วยพลพรรคทั่วทวีปยุโรปอยู่ระหว่าง 20,000 ถึง 100,000 คน[260] ในดินแดนโปแลนด์และโซเวียตที่ถูกยึดครอง ยิวหลายพันคนหลบหนีเข้าบึงน้ำหรือป่าและเข้าร่วมกับพลพรรค[261] แม้ขบวนการพลพรรคไม่ยินดีต้อนรับพวกเขาเสมอไป[262] ประมาณ 20,000 ถึง 30,000 คนเข้าร่วมขบวนการพลพรรคโซเวียต[263] กลุ่มยิวที่มีชื่อเสียงกลุ่มหนึ่งคือ พลพรรคเบลสกีในเบลารุส ซึ่งมีพี่น้องเบลสกีเป็นหัวหน้า[261] ยิวยังเข้าร่วมกับกำลังโปแลนด์ รวมทั้งกองทัพพิทักษ์ชาติ ทิโมธี สไนเดอร์เยนว่า "ยิวสู้รบในการก่อการกำเริบวอร์ซอเดือนสิงหาคม 1944 มากกว่าในการก่อการกำเริบเกตโตวอร์ซอเดือนเมษายน 1943"[264]
การขัดขืนของโปแลนด์ การไหลของสารนิเทศเกี่ยวกับการฆ่าหมู่
[แก้]รัฐบาลพลัดถิ่นโปแลนด์ในกรุงลอนดอนทราบเกี่ยวกับเอาชวิตซ์จากผู้นำโปแลนด์ในกรุงวอร์ซอตั้งแต่ปลายปี 1940 "ได้รับสารนิเทศที่หลั่งไหลมาอย่างต่อเนื่อง" เกี่ยวกับค่าย ตามข้อมูลของนักประวัติศาสตร์ ไมเคิล เฟลมมิง[265] ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพราะฝีมือของร้อยเอก Witold Pilecki แห่งกำลังพิทักษ์ชาติโปแลนด์ ซึ่งยอมให้ถูกจับในเดือนกันยายน 1940 แล้วถูกส่งตัวไปยังค่าย เขาเป็นผู้ถูกคุมขังจนกระทั่งหลบหนีออกมาได้ในเดือนเมษายน 1943 ภารกิจของเขาคือการตั้งขบวนการขัดขืน (ZOW) เตรียมยึดค่าย และลักลอบนำสารนิเทศเกี่ยวกับค่ายออกมาตีแผ่[266]
วันที่ 6 มกราคม 1942 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศโซเวียต วยาเชสลาฟ โมโลตอฟ ส่งบันทึกทางทูตเกี่ยวกับความป่าเถื่อนของเยอรมัน บันทึกนี้อาศัยรายงานเกี่ยวกับสุสานหมู่และศพที่ปรากฏขึ้นจากหลุมและเหมืองในดินแดนที่กองทัพแดงเข้าปลดปล่อย ตลอดจนรายงานของพยานจากดินแดนที่เยอรมันยึดครอง[267] เดือนต่อมา Szlama Ber Winer หลบหนีออกจากค่ายกักกันเชล์มโนในโปแลนด์และส่งต่อสารนิเทศเกี่ยวกับค่ายให้แก่กลุ่ม Oneg Shabbat ในเกตโตวอร์ซอ รายงานของเขา ซึ่งได้ชื่อตามนามแฝงของเขาว่า รายงาน Grojanowski ไปถึงกรุงลอนดอนในเดือนมิถุนายน 1942[207][268] ในปีเดียวกันนั้นเอง Jan Karski ส่งสารนิเทศให้แก่ฝ่ายสัมพันธมิตรหลังถูกลักลอบพาเข้าเกตโตวอร์ซอสองครั้ง[269] ประมาณปลายเดือนกรกฎาคมหรือต้นเดือนสิงหาคม 1942 ผู้นำโปแลนด์ในกรุงวอร์ซอทราบเกี่ยวกับการฆ่าหมู่ยิวในเอาชวิตซ์ตามข้อมูลของเฟลมมิง[265] รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยโปแลนด์เตรียมรายงานชื่อ Sprawozdanie 6/42[270] ซึ่งมีข้อความปิดท้ายว่า:
มีวิธีประหารหลายวิธี ถูกยิงโดยชุดยิง ถูกฆ่าด้วย "ค้อนอากาศ" /Hammerluft/ และถูกรมแก๊สในห้องรมแก๊สพิเศษ นักโทษที่ถูกเกสตาโปประหารใช้สองวิธีแรก วิธีที่สาม ห้องรมแก๊ส ใช้กับผู้ที่ป่วยหรือทำงานไม่ได้ และผูที่ถูกนำตัวมาในพาหนะที่เจาะจงสำหรับวัตถุประสงค์นี้ /เชลยศึกโซเวียต และยิวเมื่อเร็ว ๆ นี้[265]
มีการส่ง Sprawozdanie 6/42 ให้แก่นายทหารโปแลนด์ในกรุงลอนดอนโดยคนเดินหนังสือ และไปถึงในวันที่ 12 พฤศจิกายน 1942 มีการแปลเป็นภาษาอังกฤษและเพิ่มเข้า "รายงานเกี่ยวกับสภาพในโปแลนด์" ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน เฟลมมิงเขียนว่ามีการส่งให้แก่สถานเอกอัครราชทูตโปแลนด์ในสหรัฐ[271] วันที่ 10 ธันวาคม 1942 รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศโปแลนด์ Edward Raczyński กล่าวต่อสหประชาชาติที่เพิ่งตั้งในเวลานั้นเกี่ยวกับการฆ่า มีการจำหน่ายคำปราศรัยด้วยชื่อ "การกำจัดหมู่ยิวในโปแลนด์ที่เยอรมันยึดครอง" เขาบอกสหประชาชาติเกี่ยวกับการใช้แก๊สพิษ เกี่ยวกับเทรบลิงคา เบวเซคและซอบีบอร์ ว่าขบวนการใต้ดินโปแลนด์เรียกค่ายเหล่านั้นว่าค่ายมรณะ และยิวหลายหมื่นคนถูกฆ่าในเบวเซคในเดือนมีนาคมและเมษายน 1942 เขาประเมินว่ายิวในโปแลนด์เสียชีวิตแล้วหนึ่งในสาม จากประชากร 3,130,000 คน คำปราศรัยนี้มีรายงานในหนังสือพิมพ์ เดอะนิวยอร์กไทมส์ และ เดอะไทมส์ออฟลอนดอน วินสตัน เชอร์ชิลล์ได้รับรายงาน และแอนโทนี อีเดนนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีบริเตน วันที่ 17 ธันวาคม 1942 ฝ่ายสัมพันธมิตร 11 ประเทศออกปฏิญญาร่วมโดยสมาชิกสหประชาชาติประณาม "นโยบายการกำจัดอย่างเลือดเย็นเยี่ยงเดียรัจฉาน"[272]
รัฐบาลบริติชและอเมริกันลำบากใจในการเผยแพร่ข่าวกรองที่ได้รับ ในบันทึกบีบีซีในฮังการี เขียนโดย คาร์ลิล แม็กคาร์ทนีย์ ผู้สื่อข่าวบีบีซีและที่ปรึกษาอาวุโสของกระทรวงการต่างประเทศบริติชว่าด้วยฮังการี กล่าวในปี 1942 ว่า "เราไม่ควรกล่าวถึงยิวเลย" ทัศนะของรัฐบาลบริติชมีอยู่ว่าการต่อต้านยิวของชาวฮังการีจะทำให้พวกเขาไม่ไว้ใจฝ่ายสัมพันธมิตรหากแพร่สัญญาณโดยเน้นเรื่องยิว[273] รัฐบาลสหรัฐกลัวว่าจะเปลี่ยนสงครามให้เกี่ยวกับยิว ทั้งนี้ การต่อต้านยิวและการแยกตัวโดดเดี่ยวพบทั่วไปในสหรัฐก่อนเข้าสู่สงคราม[274] แม้รัฐบาลและสาธารณชนเยอรมันดูเหมือนจะเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ดูเหมือนว่ายิวยังไม่ทราบ จากข้อมูลของซาอูล ฟรีดแลนเดอร์ "คำให้การที่ได้จากยิวทั่วยุโรปที่ทุกยึดครองบ่งชี้ว่า ตรงข้ามกับภาคส่วนของสังคมแวดล้อม ผู้เสียหายไม่เข้าใจว่าสุดท้ายมีอะไรรอพวกเขาอยู่" เขาเขียนว่า ในยุโรปตะวันตก ชุมชนยิวดูเหมือนไม่สามารถปะติดปะต่อสารสนเทศเข้าด้วยกัน ส่วนในยุโรปตะวันออก พวกเขาไม่อาจยอมรับได้ว่านิยายที่พวกเขาได้ยินจากที่อื่นสุดท้ายจะเกิดขึ้นกับตนด้วย[275]
ฮอโลคอสต์ในฮังการี
[แก้]เอ็สเอ็สกวาดล้างเก็ตโตยิวในพื้นที่เขตปกครองสามัญของโปแลนด์ในปี 1942–1943 และขนย้ายประชากรไปยังค่ายเพื่อกำจัด[277] ข้อยกเว้นอย่างเดียวคือเก็ตโตวูช ซึ่งไม่ถูกกำจัดจนกลางปี 1944[278] ยิวประมาณ 42,000 คนในเขตปกครองสามัญถูกยิงระหว่างปฏิบัติการเทศกาลเก็บเกี่ยว (Aktion Erntefest) ในวันที่ 3–4 พฤศจิกายน 1943[279] ขณะเดียวกัน มีการขนส่งทางรางเข้าค่ายเป็นประจำจากทวีปยุโรปตะวันตกและใต้[280] การขนส่งยิวเข้าค่ายมีลำดับความสำคัญต่อทางรถไฟเยอรมันเหนืออย่างอื่น ยกเว้นสิ่งจำเป็นสำหรับกองทัพ และยังดำเนินต่อไปแม้เมื่อเผชิญกับสถานการณ์ทางหทารที่เลวร้ายที่เพิ่มขึ้นทุกทีในปลายปี 1942[281] ผู้นำกองทัพและผู้จัดการเศรษฐกิจร้องเรียนเกี่ยวกับการแบ่งทรัพยากรและการฆ่าคนงานยิวมีทักษะ[282] แต่ผู้นำนาซีจัดว่าคำสั่งทางอุดมการณ์อยู่เหนือข้อพิจารณาทางเศรษฐกิจ[283]
เมื่อถึงปี 1943 ในหมู่ผู้นำกองทัพเยอรมันเริ่มประจักษ์แล้วว่าเยอรมนีกำลังแพ้สงคราม[284] การฆ่าหมู่ยังดำเนินต่อไป จนมีอัตรา "บ้าคลั่ง" ในปี 1944[285] เมื่อเอาชวิตซ์รมแก๊สยิวเกือบ 500,000 คน[286] วันที่ 19 มีนาคม 1944 ฮิตเลอร์สั่งให้ทหารยึดครองฮังการีและส่งอาดอล์ฟ ไอชมันน์ไปยังกรุงบูดาเปสต์เพื่อควบคุมดูแลการเนรเทศยิวในประเทศ[287] หลังจากวันที่ 22 มีนาคม กำหนดให้ยิวสวมดาวสีเหลือง ห้ามเป็นเจ้าของรถยนต์ จักรยาน วิทยุหรือโทรศัพท์ และต่อมาถูกบังคับให้เข้าเกตโต[288] ระหว่างวันที่ 15 พฤษภาคมถึง 9 กรกฎาคม ยิว 437,000 คนถูกเนรเทศจากฮังการีไปยังเอาชวิตซ์ 2-เบียร์เคเนา เกือบทั้งหมดถูกส่งเข้าห้องรมแก๊สโดยตรง หนึ่งเดือนก่อนเริ่มการเนรเทศ ไอชมันน์เสนอผ่านคนกลาง โยเอิล บรันด์ ให้แลกเปลี่ยนยิวหนึ่งล้านคนกับรถบรรทุก 10,000 คันและสินค้าอื่นจากฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งเขากล่าวว่าเยอรมันจะไม่นำไปใช้ในแนวรบด้านตะวันตก มีรายงานว่าไอชมันน์เรียกข้อเสนอนี้ว่า "เลือดแลกสินค้า"[289] บริติชพอระแคะระคายข้อเสนอนี้และปล่อยข่าวให้สื่อ เดอะไทมส์ เรียกว่าเป็น "ความเพ้อฝันและการหลอกตัวเองระดับใหม่"[290]
การเดินแถวมรณะ
[แก้]เมื่อถึงกลางปี 1944 ชุมชนยิวที่อยู่ในเงื้อมมือระบอบนาซีถูกกำจัดเหี้ยนแล้ว[291] วันที่ 5 พฤษภาคม 1944 ฮิมม์เลอร์สั่งนายทหารกองทัพบกว่า "ปัญหายิวโดยทั่วไปได้รับชำระสะสางในเยอรมนีและประเทศที่ถูกเยอรมนียึดครองแล้ว"[292] เมื่อกองทัพโซเวียตรุกคืบ มีการปิดค่ายในโปแลนด์ตะวันออก และมีความพยายามปกปิดสิ่งที่เกิดขึ้น มีการรื้อห้องรมแก๊ส มีการระเบิดเมรุทิ้งด้วยไดนาไมต์ และมีการขุดหลุมฝังศพหมู่แล้วนำศพมาเผา[293] ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเมษายน 1945 เอ็สเอ็สส่งนักโทษไปทางทิศตะวันตกใน "การเดินแถวมรณะ" ไปยังค่ายในเยอรมนีและออสเตรีย[294][295] ในเดือนมกราคม 1945 เยอรมนีมีบันทึกผู้ต้องขัง 714,000 คนในค่ายกักกัน เมื่อถึงเดือนพฤษภาคม มีผู้เสียชีวิต 250,000 คน (ร้อยละ 35) ระหว่างการเดินแถวมรณะ[296] นักโทษซึ่งป่วยอยู่แล้วหลังเผชิญความรุนแรงและความอดอยากนานหลายเดือนถึงหลายปี มีการต้อนให้เดินแถวไปยังสถานีรถไฟและขนส่งเที่ยวละหลายวันโดยไม่มีอาหารและที่พักอาศัยในขบวนรถขนสินค้าเปิด เมื่อถึงแล้วยังถูกบังคับให้เดินแถวอีกไปยังค่ายใหม่อีก บ้างเดินทางโดยรถบรรทุกหรือเกวียน บ้างต้องเดินแถวตลอดระยะทางไปยังค่ายใหม่ คนที่ช้าหรือล้มลงจะถูกยิงทิ้ง[297]
การปลดปล่อย
[แก้]ค่ายหลักแห่งแรกที่ทหารฝ่ายสัมพันธมิตรไปพบ คือ ไมดาแนก โดยทหารโซเวียต ร่วมกับห้องรมแก๊ส เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 1944[298] เทรบลิงคา ซอบีบอร์และแบวแซตส์ไม่เคยได้รับการปลดปล่อย แต่เยอรมันทำลายทิ้งในปี 1943[299] โซเวียตปลดปล่อยเอาชวิตซ์อีกในวันที่ 27 มกราคม 1945 เมื่อพบนักโทษ 7,000 คนในสามค่ายหลัก และ 500 คนในค่ายย่อย[300] สหรัฐปลดปล่อยบูเชนวัลด์ในวันที่ 11 เมษายน[301] บริเตนปลดปล่อยแบร์เกิน-เบ็ลเซินในวันที่ 15 เมษายน[302] สหรัฐปลดปล่อยดาเคาในวันที่ 29 เมษายน[303] โซเวียตปลดปล่อยราเวนสบรึค ในวันที่ 30 เมษายน[304] และสหรัฐปลดปล่อยเมาเทาเซินในวันที่ 5 พฤษภาคม[305] กาชาดเข้าควบคุมเทอเรอเซียนชตัดท์ในวันที่ 3 พฤษถาคม ก่อนโซเวียตมาถึงหลายวัน[306]
กองพลยานเกราะที่ 11 ของบริเตนพบนักโทษประมาณ 60,000 คน (เป็นยิวร้อยละ 90) เมื่อพวกเขาปลดปล่อยแบร์เกิน-เบ็ลเซิน[302][307] เช่นเดียวกับศพที่ไม่ถูกฝัง 13,000 ศพ และอีก 10,000 คนเสียชีวิตจากไข้รากสาดน้อยหรือทุพโภชนาการในอีกหลายสัปดาห์ถัดมา[308] ผู้สื่อข่าวสงครามของบีบีซี ริชาร์ด ดิมเบิลบีอธิบายฉากที่เขาและกองทัพบริติชพบที่เบ็ลเซินในรายงานที่สะเทือนใจจนบีบีซีไม่ยอมแพร่สัญญาณเป็นเวลาสี่วัน จนวันที่ 19 เมษายน เมื่อดิมเบิลลีขู่ว่าจะลาออก เขากล่าวว่าเขา "ไม่เคยเห็นทหารบริติชเร้าเป็นโทสะเย็นเยือกขนาดนั้นมาก่อน"[309]
ยอดผู้เสียชีวิต
[แก้]
| ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
|
ยิวที่ถูกฆ่านั้นคิดเป็นประมาณหนึ่งในสามของยิวในโลก[317] และประมาณสองในสามของยิวในทวีปยุโรป โดยยึดประมาณการยิวในทวีปยุโรป 9.7 ล้านคนเมื่อสงครามเริ่มต้น[318] ตามข้อมูลของ Yad Vashem Holocaust Martyrs' and Heroes' Remembrance Authority ในเยรูซาเล็ม "การวิจัยจริงจังทั้งหมด" ยืนยันว่ายิวเสียชีวิตระหว่าง 5 ถึง 6 ล้านคน[319] การคำนวณหลังสงครามยุติใหม่ ๆ มี 4.2 ถึง 4.5 ล้านคนจาก Gerald Reitlinger;[320] 5.1 ล้านคนจาก Raul Hilberg; และ 5.95 ล้านคนจาก Jacob Lestschinsky[321] ในปี 1990 Yehuda Bauer และ Robert Rozett กะไว้ 5.59–5.86 ล้านคน[322] และในปี 1991 Wolfgang Benz เสนอว่า 5.29 ถึงกว่า 6 ล้านคนเล็กน้อย[323] จำนวนดังกล่าวมีเด็กกว่า 1 ล้านคน[324] ความไม่แน่นอนส่วนใหญ่มาจากการขาดจำนวนที่เชื่อถือได้สำหรับจำนวนยิวในทวีปยุโรปในปี 1939 การเปลี่ยนเขตแดนทำให้การนับผู้เสียหายซ้ำหลีกเลี่ยงได้ยาก การขาดบันทึกที่แม่นยำจากผู้ลงมือ และความไม่แน่นอนว่ารวมการเสียชีวิตหลังปลดปล่อยแล้วที่เกิดจากการบีฑาหรือไม่[320]
อัตราตายขึ้นอยู่กับรัฐยุโรปที่อยู่รอดในการคุ้มครองพลเมืองยิวของตนเป็นหลัก[325] ในประเทศที่เป็นพันธมิตรกับเยอรมนี การควบคุมพลเมืองยิวบ้างถูกมองว่าเป็นประเด็นอำนาจอธิปไตย การมีสถาบันของรัฐอยู่ต่อเนื่องช่วยป้องกันชุมชนยิวมิให้ถูกทำลายสิ้นซาก ในประเทศที่ถูกยึดครอง การอยู่รอดของรัฐก็เทียบสัมพันธ์กับอัตราตายของยิวที่ต่ำกว่าเช่นกัน โดยร้อยละ 75 ของยิวเสียชีวิตในเนเธอร์แลนด์ และร้อยละ 99 ของยิวที่อาศัยอยู่ในเอสโตเนียเมื่อเยอรมนนีมาถึง นาซีประกาศให้เอสโตเนียปลอดยิวในเดือนมกราคม 1942 ในการประชุมวันเซ ส่วนร้อยละ 75 รอดชีวิตในฝรั่งเศส และร้อยละ 99 ในเดนมาร์ก[326]
Christian Gerlach เขียนว่า การอยุ่รอดของยิวในประเทศซึ่งรัฐยังหลงเหลืออยู่แสดงให้เห็นว่า "มีขีดจำกัดอำนาจของเยอรมัน" และอิทธิพลของผู้ที่มิใช่เยอรมัน รัฐบาลหรือเอกชนก็ตาม มีความ "สำคัญยิ่งยวด"[327] ยิวที่รอดชีวิตในรัฐก่อนสงครามที่ถูกทำลาย (โปแลนด์และรัฐบอลติก) หรือพลัดถิ่น (สหภาพโซเวียตตะวันตก) ขึ้นอยู่กับความเมตตาของรัฐเยอรมันและบางทีประชากรท้องถิ่นที่เป็นปรปักษ์ ยิวเกือบทั้งหมดที่อาศัยอยู่ในโปแลนด์ รัฐบอลติกและสหภาพโซเวียตที่ถูกเยอรมนียึดครองถูกฆ่า โดยมีโอกาสรอดชีวิตเฉลี่ยร้อยละ 5[325] จากยิว 3.3 ล้านคนในประเทศโปแลนด์ ถูกฆ่าไปเกือบร้อยละ 90[328]
ผู้เสียหายอื่นจากการบีฑาของนาซี
[แก้]เชลยศึกและพลเรือนโซเวียต
[แก้]นาซีถือว่าสลาฟเป็นอุนแทร์เมนเชน (ต่ำกว่ามนุษย์)[9] ทหารเยอรมันทำลายหมู่บ้านทั่วสหภาพโซเวียต[329] ล้อมจับพลเรือนไปใช้แรงงานเกณฑ์ในเยอรมนี และก่อให้เกิดทุพภิกภัยโดยริบอาหาร ในเบลารุส เยอรมนีกำหนดระบอบซึ่งเนรเทศประชากรประมาณ 380,000 คนสำหรับใช้แรงงานเกณฑ์และฆ่าอีกหลายแสนคน มีหมู่บ้านกว่า 600 แห่งที่ประชากรถูกฆ่า และนิคมเบลารุสอย่างน้อย 5,295 แห่งถูกทำลาย ข้อมูลของ Timothy Snyder ระบุว่า จากประชากร 9 ล้านคนในโซเวียตเบลารุสในปี 1941 "ประมาณ 1.6 ล้านคนถูกเยอรมันฆ่าในการกระทำที่อยู่ห่างจากสมรภูมิ รวมทั้งเชลยศึกประมาณ 700,000 คน ยิว 500,000 คน และคนที่ถูกนับว่าเป็นพลพรรค 320,000 คน (ส่วนใหญ่เป็นพลเรือนไม่มีอาวุธ)"[330] พิพิธภัณฑ์อนุสรณ์ฮอโลคอสต์สหรัฐประมาณว่าเชลยศึกโซเวียต 3.3 จาก 5.7 ล้านคนตายในการควบคุมของเยอรมัน[331] อัตราตายลดลงเมื่อเชลยศึกมีความจำเป็นต้องช่วยความพยายามของสงครามเยอรมัน ในปี 1943 มีการใช้ครึ่งล้านคนเป็นแรงงานทาส[332] อดอล์ฟ ฮิตเลอร์สั่งให้ทำลายเลนินกราดที่ถูกล้อมอยู่ ร่วมกับผู้อยู่อาศัยในนั้นทั้งหมด[333] เจตนาเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนพันธุฆาตเจเนรัลพลัน โอสท์ ซึ่งสั่งให้กำจัด ให้แผลงเป็นเยอรมัน ให้ขับไปยังพื้นที่ทางตะวันออกของเทือกเขาอูราลและจับเป็นทาสซึ่งชาวรัสเซีย ยูเครนและเบลารุสส่วนใหญ่ โดยมีความมุ่งหมายเพื่อให้ชาวเยอรมันมีพื้นที่อยู่อาศัยมากขึ้น[334]
ชาวโปแลนด์ที่มิใช่ยิว
[แก้]มีคำสั่งห้ามการติดต่อทางสังคมระหว่างชาวโปแลนด์และชาวเยอรมันในพื้นที่ที่ถูกยึดครอง[335] และฮิตเลอร์ประกาศชัดเจนว่าคนงานโปแลนด์จะต้องเก็บไว้ในสิ่งที่ Robert Gellately เรียกว่า "สภาพต่ำต้อยกว่าอย่างถาวร"[336] ในรายงานถึงฮิตเลอร์ ลงวันที่ 25 พฤษภาคม 1940 "ความคิดบางส่วนว่ด้วยการปฏิบัติต่อประชากรต่างชาติพันธุ์ในทิศตะวันออก" ฮิมม์เลอร์แถลงว่าเยอรมันมีผลประโยชน์ในการส่งเสริมความแตกแยกระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ในทิศตะวันออก เขาต้องการจำกัดผู้ที่มิใช่เยอรมันในดินแดนที่ถูกยึดครองให้มีการศึกษาขั้นประถมเท่านั้น เพื่อสอนให้พวกเขาเขียนชื่อตัวเอง นับเลขถึง 500 ทำงานหนักและเชื่อฟังเยอรมัน[337] ชนชั้นการเมืองของโปแลนด์ตกเป็นเป้าการรณรงค์แห่งการฆ่าฟัน[338] พลเมืองโปแลนด์ที่มิใช่ยิวเสียชีวิตด้วยน้ำมือเยอรมันระหว่าง 1.8 ถึง 1.9 ล้านคนระหว่างสงคราม ประมาณสี่ในห้าเป็นชาติพันธุ์โปแลนด์ ส่วนที่เหลือเป็นชาวยูเครนและเบลารุส[314] อย่างน้อย 200,000 คนเสียชีวิตในค่ายกักกัน ประมาณ 146,000 คนเสียชีวิตในเอาชวิตซ์ ส่วนที่เหลือเสียชีวิตในการสังหารหมู่หรือในการก่อการกำเริบ เช่น การก่อการกำเริบวอร์ซอ ที่มีผู้เสียชีวิต 120,000–200,000 คน[339] เด็กโปแลนด์ถูกเยอรมันลักพาตัวไปเพื่อ "เปลี่ยนเป็นเยอรมัน"[340]
ชาวโรมานี
[แก้]เยอรมนีและพันธมิตรฆ่าชาวโรมานีมาถึง 220,000 คน คิดเป็นประมาณร้อยละ 25 ของชุมชนในทวีปยุโรป[341] ซึ่งชาวโรมานีเรียกว่า "โพราจมอส"[342] Robert Ritter หัวหน้า Rassenhygienische und Bevolkerungsbiologische Forschungsstelle เรียกชาติพันธุ์ดรมานีว่า "เป็นชนิดมนุษย์แบบที่ประหลาดที่ไม่สามารถพัฒนาได้และเกิดขึ้นจากการกลายพันธุ์"[343] Bauer เขียนว่า ในเดือนพฤษภาคม 1942 โรมานีถูกจัดอยู่ภายใต้กฎหมายคล้ายกับยิว และในเดือนธันวาคม ฮิมม์เลอร์สั่งให้ "ครึ่งพันธุ์ยิปซี ยิปซีโรมา และสมาชิกตระกูลที่มีกำเนิดจากบอลข่านที่มิใช่เลือดเยอรมัน" ถูกส่งไปยังเอาชวิตซ์ ยกเว้นแต่รับราชการในเวร์มัคท์[344] ฮิมม์เลอร์ปรับคำสั่งในวันที่ 15 พฤศจิกายน 1943 ในดินแดนโซเวียตที่ถูกยึดครอง "ยิปซีและผู้มีเชื้อยิปซีที่อยู่ประจำที่ให้ปฏิบัติเหมือนพลเมืองของประเทศ ยิปซีและผู้มีเชื้อยิปซีเร่ร่อนให้จัดอยู่ในระดับเดียวกับยิวและให้อยู่ในค่ายกักกัน" Yehuda Bauer เขียนว่าการปรับนี้สะท้อนอุดมการณ์นาซีว่าโรมานี ซึ่งเดิมเป็นประชากรอารยัน ถูกทำให้เสียด้วยเลือดที่มิใช่โรมานี[345] ในเบลเยียม ฝรั่งเศสและเนเธอร์แลนด์ ชาวโรมานีถูกจำกัดการเคลื่อนที่และจำกัดให้อยู่ในค่ายรวบรวม[346] ส่วนในยุโรปตะวันออก ถูกส่งเข้าค่ายกักกันและถูกฆ่าไปเป็นจำนวนมาก[347] ในค่าย ปกติพวกเขาถูกนับในหมู่ผู้ไร้สังคม และถูกสั่งให้สวมสามเหลี่ยมสีน้ำตาลหรือดำบนเสื้อผ้า[348] ระหว่างการบุกครองสหภาพโซเวียต โรมานีตกเป็นเป้าหมายของไอน์ซัทซ์กรุพเพน แม้มีขอบเขตน้อยกว่ายิว[349] เชื่อว่ามีจำนวนถึง 1,000 คนถูกฆ่าโดยไอน์ซัทซ์กรุพเนเอชในสโลวาเกีย[346] หลังเยอรมนียึดครองฮังการีในปี 1944 ชาวโรมานี 1,000 คนถูกเนรเทศไปเอาชวิตซ์[350] ชาวโรมานียังตกเป็นเป้าของพันธมิตรเยอรมนี เช่น ในโครเอเชีย มีจำนวนมากถูกฆ่าในค่ายกักกัน Jasenovac[346] ผู้เสียชีวิตในโครเอเชียทั้งหมดมีจำนวนประมาณ 28,000 คน[351]
ศัตรูการเมืองและศาสนา
[แก้]นักคอมมิวนิสต์ สังคมนิยมและสหภาพแรงงานชาวเยอรมันเป็นศัตรูยุคแรก ๆ ของนาซี[352] และเป็นพวกแรก ๆ ที่ถูกส่งไปค่ายกักกัน[353] คำสั่งจากฮิตเลอร์ Nacht und Nebel ("ราตรีและหมอก") ในเดือนธันวาคม 1941 ส่งสผลให้เกิดการหายตัวของนักปฏิบัติการการเมืองทั่วดินแดนที่เยอรนียึดครอง เนื่องจากพวกเขาปฏิเสธกล่าวสวามิภักดิ์ต่อพรรคนาซีหรือรับราชการในกองทัพ ผู้นับถือนิกายพยานพระยะโฮวาจึงถูกส่งไปยังค่ายกักกัน[354] ซึ่งมีการระบุด้วยเครื่องหมายสามเหลี่ยมสีม่วง และได้รับตัวเลือกว่าจะบอกเลิกศาสนาของตนเองและยอมจำนนต่ออำนาจของรัฐหรือไม่[355] พิพิธภัณฑ์อนุสรณ์ฮอโลคอสต์สหรัฐ ประมาณการว่ามีผู้ถูกส่งเข้าค่ายระหว่าง 2,700 ถึง 3,300 คน และมีผู้เสียชีวิต 1,400 คน[315] ตามข้อมูลของนักประวัติศาสตร์ชาวเยอรมัน Detlef Garbe "ไม่มีขบวนการศาสนาอื่นขัดขืนแรงกดดันให้เชื่อฟังลัทธิชาติสังคมนิยมโดยมีความเป็นเอกภาพและความเด็ดเดี่ยวเสมอ"[356]
ชายรักร่วมเพศ
[แก้]ชายรักร่วมเพศประมาณ 100,000 คนถูกจับในเยอรมนี และ 50,000 คนถูกจำขังระหว่างปี 1933 ถึง 1945 เชื่อว่ามี 5,000–15,000 คนถูกส่งเข้าค่ายกักกัน ที่ซึ่งมีการระบุด้วยเครื่องหมายสามเหลี่ยมชมพูบนเสื้อผ้า ไม่ทราบว่ามีผู้เสียชีวิตมากเท่าใด[316] มีหลายร้อยคนถูกตอน และบ้าง "เต็มใจ" เพื่อเลี่ยงรับโทษทางอาญา[357] ในปี 1936 ฮิมม์เลอร์สร้างสำนักงานกลางไรช์สำหรับการต่อสู้การรักร่วมเพศและการทำแท้ง[358] ตำรวจปิดบาร์เกย์และสิ่งพิมพ์เผยแพร่ของเกย์[316] เลสเบียนค่อนข้างไม่ค่อยได้รับผลกระทบ นาซีมองว่าเลสเบียนเป็น "พวกไร้สังคม" มากกว่าพวกเบี่ยงเบนทางเพศ[359]
คนดำ
[แก้]จำนวนเยอรมันเชื้อสายแอฟริกาในเยอรมนีเมื่อนาซีเถลิงอำนาจมีประมาณการหลากหลายที่ 5,000–25,000 คน[360] ไม่ชัดเจนว่าตัวเลขเหล่านี้รวมชาวเอเชียด้วยหรือไม่ แม้คนดำในเยอรมนีและยุโรปที่เยอรมนียึดครอง รวมทั้งเชลยศึก เผชิญกับการจองจำ การทำหมันและการฆ่า แต่ไม่มีโครงการฆ่าคนดำแบบเป็นกลุ่ม[361]
ผลที่ตามมา
[แก้]การพิจารณาคดี
[แก้]ฝ่ายสัมพันธมิตรจัดศาลทหารในเนือร์นแบร์ก ประเทศเยอรมนี เพื่อดำเนินคดีต่อผู้นำเยอรมันในการพิจารณาคดีเนือร์นแบร์ก การพิจารณาครั้งแรกเป็นการพิจารณาผู้นำการเมืองและทหาร 22 คนโดยศาลทหารระหว่างประเทศ[362] ฮิตเลอร์ ฮิมม์เลอร์และเกิบเบิลส์ชิงฆ่าตัวตายหลายเดือนก่อนแล้ว[363] มีคำฟ้องคดีอุกฉกรรจ์ต่อจำเลย 24 คน (มีการยุติคำฟ้องสองคำฟ้องก่อนสิ้นสุดการพิจารณาคดี) และเจ็ดองค์การ ได้แก่ คณะรัฐมนตรีไรช์ เอ็สเอ็ส, เอ็สเด, เกสตาโป, เอ็สเอ และ "เสนาธิการและกองบัญชาการ" คำฟ้องคดีอุกฉกรรจ์เป็นคำฟ้องฐานมีส่วนในแผนร่วมหรือการสมบคิดเพื่อให้บรรลุอาชญากรรมต่อสันติภาพ การวางแผน ริเริ่มและก่อสงครามเพื่อรุกราน และอาชญากรรมต่อสันติภาพอื่น อาชญากรรมสงคราม และอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ศาลผ่านคำพิพากษาตั้งแต่ไม่มีความผิดไปจนถึงประหารชีวิตด้วยการแขวนคอ[364] จำเลย 11 คนถูกประหารชีวิต รวมทั้งโยอาคิม ฟ็อน ริบเบินทร็อพ, วิลเฮล์ม ไคเทิล, อัลเฟรด โรเซนเบิร์ก และอัลเฟรด โยเดิล สำหรับริบเบินทร็อพ คำพิพากษาประกาศว่าเขา "มีบทบาทสำคัญใน 'การแก้ปัญหายิวครั้งสุดท้าย' ของฮิตเลอร์"[365]
การพิจารณาที่เนือร์นแบร์กครั้งถัด ๆ มาเกิดขึ้นระหว่างปี 1946 ถึง 1949 ซึ่งพิจารณาคดีจำเลยอีก 185 คน[366] เยอรมนีตะวันตกทีแรกพิจารณาอดีตนาซีบางส่วน แต่หลังการพิจารณาคดีอูลม์ ไอน์ซัทซ์คอมมันโดปี 1958 รัฐบาลตั้งหน่วยงานของรัฐขึ้นสอบสวนอาชญากรรม[367] การพิจารณาคดีนาซีและผู้สนับสนุนอื่นเกิดขึ้นในยุโรปตะวันตกและตะวันออก ในปี 1960 เจ้าหน้าที่มอสซาดจับกุมอาด็อลฟ์ ไอชมันน์ในประเทศอาร์เจนตินาแล้วนำตัวมายังประเทศอิสราเอลเพื่อพิจารณาคดีในคำฟ้องคดีอุกฉกรรจ์รวม 15 คดี ประกอบด้วยอาชญากรรมสงคราม อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และอาชญากรรมต่อชาวยิว เขาถูกพิพากษาในเดือนธันวาคม 1961 และประหารชีวิตในเดือนมิถุนายน 1962 การพิจารณาคดีและการเสียชีวิตของไอชมันน์รื้อฟื้นความสนใจในอาชญากรสงครามและฮอโลคอสต์โดยรวม[368]
ค่าปฏิกรรม
[แก้]รัฐบาลอิสราเอลร้องขอเงิน 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐจากสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีในเดือนมีนาคม 1951 เพื่อหาเงินทุนแก่การฟื้นฟูสภาพผู้รอดชีวิตยิว 500,000 คน โดยแย้งว่าเยอรมนีขโมยเงิน 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐจากยิวยุโรป ชาวอิสราเอลมีความเห็นแตกกันเกี่ยวกับความคิดการเอาเงินจากเยอรมนี การประชุมเรื่องค่าสินไหมทดแทนทรัพย์สินยิวต่อเยอรมนี (หรือเรียก การประชุมค่าสินไหมทดแทน) เปิดในรัฐนิวยอร์ก และหลังการเจรจา ค่าสินไหมทดแทนลดเหลือ 845 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[369][370]
ประเทศเยอรมนีตะวันตกจัดสรรเงินอีก 125 ล้านดอลลาร์สหรัฐสำหรับค่าปฏิกรรมในปี 1988 บริษัทอย่างบีเอ็มดับเบิลยู ดอยท์เชอแบงก์ ฟอร์ด โอเปิล ซีเมนส์และโฟล์กสวาเกินเจอคดีความสำหรับการใช้แรงงานทาสระหว่างสงคราม[369] เยอรมนีตอบสนองโดยการจัดตั้งมูลนิธิ "การรำลึก ความรับผิดชอบและอนาคต" ในปี 2000 ซึ่งจ่ายเงิน 4.45 พันล้านยูโรแก่อดีตผู้ใช้แรงงานทาส (คิดเป็นคนละ 7,670 ยูโร)[371] ในปี 2013 เยอรมนีตกลงจัดหาเงิน 772 ล้านยูโรในการสนับสนุนการบริบาลพยาบาล บริการสังคมและยาแก่ผู้รอดชีวิตจากฮอโลคอสต์ 56,000 คนทั่วโลก[372] บริษัทการรถไฟที่รัฐฝรั่งเศสเป็นเจ้าของ SNCF ตกลงในปี 2014 จ่ายเงิน 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐแก่ผู้รอดชีวิตยิวอเมริกัน คิดเป็นประมาณ 100,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อคน สำหรับบทบาทในการขนส่งยิว 76,000 คนจากฝรั่งเศสไปค่ายมรณะระหว่างปี 1942 ถึง 1944[373]
ฮิสโทรีเคอร์ชเตรท์, ปัญหาเอกลักษณ์
[แก้]ในทศวรรษแรก ๆ ของการศึกษาฮอโลคอสต์ นักวิชาการมีแนวเข้าสู่การศึกษาฮอโลคอสต์เป็นพันธุฆาตที่เป็นเอกลักษณ์ทั้งในด้านขอบเขตและความจำเพาะ Nora Levin บอกว่า "โลกเอาชวิตซ์ที่จริงเป็นดาวเคราะห์ใหม่"[374] แนวทางเข้าสู่การศึกษานี้มีการตั้งคำถามในคริสต์ทศวรรษ 1980 ระหว่างฮิสโทรีเคอร์ชเตรท์ ("การทักท้วงของนักประวัติศาสตร์") เป็นความพยายามจัดตำแหน่งฮอโลคอสต์ใหม่ในประวัติศาสตร์นิพนธ์เยอรมัน[375]
Ernst Nolte ริเริ่มฮิสโทรีเคอร์ชเตรท์ในเดือนมิถุนายน 1986 ในหนังสือพิมพ์อนุรักษนิยม Frankfurter Allgemeine Zeitung "อดีตที่จะไม่ผ่าน: สุนทรพจน์ที่สามารถเขียนได้แต่จะกล่าวไม่ได้อีกต่อไป"[376][377] Nolte เขียนว่า แทนที่จะศึกษาวิธีเดียวกันกับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์อื่น ๆ แต่สมัยนาซีถูกระงับเหมือนดาบเหนืออนาคตของเยอรมนี เขาเปรียบเทียบความคิด "ความผิดของชาวเยอรมัน" กับ "ความผิดของยิว" ในสมัยนาซี และแย้งว่าการมุ่งสนใจการแก้ปัญหาสุดท้ายมองข้ามโครงการการุณยฆาตและการปฏิบัติต่อเชลยศึกโซเวียตของนาซี ตลอดจนปัญหาหลังสงครามเช่นสงครามในเวียดนามและอัฟกานิสถาน เมื่อเปรียบเทียบเอาชวิตซ์กับกูลัก เขาเสนอว่าฮอโลคอสต์เป็นการสนองต่อความกลัวสหภาพโซเวียตของฮิตเลอร์ "กลุ่มเกาะกูลักไม่ได้มีมาก่อนเอาชวิตซ์หรือ การที่บอลเชวิกฆ่าคนทั้งกลุ่มไม่ใช่ข้อเท็จจริงและตรรกะที่มีมาก่อน 'การฆ่าเชื้อชาติ' ของชาติสังคมนิยมหรือ ... บางทีเอาชวิตซ์อาจมีที่มาในอดีตที่จะไม่ผ่านหรือเปล่า"[376]
การให้เหตุผลของ Nolte ถูกมองว่าเป็นความพยายามทำให้ฮอโลคอสต์เป็นเรื่องปกติ นักประวัติศาสตร์ Ernst Piper มีปัญหาสำคัญหนึ่งในการอภิปราย คือ ประวัติศาสตร์ควรทำให้เป็นประวัติศาสตร์หรือทำให้เป็นเรื่องศีลธรรม[378] ในการสนองต่อการให้เหตุผลของ Nolte ในเดือนกันยายน 1986 ในหนังสือพิมพ์ฝ่ายซ้าย Die Zeit Eberhard Jäckel สนองว่า "ไม่เคยมีมาก่อนที่รัฐ ด้วยอำนาจของผู้นำ วินิจฉัยและประกาศว่ามนุษย์กลุ่มหนึ่ง รวมทั้งผู้สูงอายุ หญิง เด็กและทารก จะต้องถูกฆ่าให้เร็วที่สุด แล้วดำเนินข้อมตินี้ด้วยทุกวิถีทางของอำนาจรัฐ" ในหนังสือ Denying the Holocaust (1993) Deborah Lipstadt มอง "การเปรียบเทียบทางประวัติศาสตร์ที่ไม่สมเหตุสมผล" ว่าเป็นการปฏิเสธฮอโลคอสต์รูปแบบหนึ่ง "ซึ่งออกแบบมาให้ชาวเยอรมันยอมรับอดีตของพวกตนโดยบอกพวกเขาว่าการกระทำของประเทศตนไม่แตกต่างจากประเทศอื่นอีกนับไม่ถ้วน ..."[379]
แดน สโตนเขียนในปี 2010 ว่าฮิสฌทรีเคอร์ชเตรท์วาง "ปัญหาการเปรียบเทียบ" ในวาระดังกล่าว[375] เขาแย้งว่าความคิดฮอโลคอสต์เป็นเอกลักษณ์ซึ่งถูกเอาชนะด้วยความพยายามจะจัดมันในบริบทของลัทธิสตาลิน การล้างชาติพันธุ์ และเจตนาของนาซีสำหรับ "การจัดระเบียบใหม่ทางประชากรศาสตร์" โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจเนรัลพลันโอสท์ ด้วยแผนฆ่าสลาฟหลายสิบล้านคนเพื่อสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับชาวเยอรมัน[380] Richard J. Evans แย้งในปี 2015 ว่า:
ฉะนั้นถึงแม้ 'การแก้ปัญหาสุดท้าย' ของนาซีเป็นพันธุฆาตหนึ่งในอีกจำนวนมาก แต่มันมีคุณลักษณะที่ทำให้มันโดดเด่นจากที่เหลือด้วยเช่นกัน สิ่งที่ไม่เหมือนพันธุฆาตอื่นคือมันไม่ถูกผูกมัดด้วยกาละและเทศะ การริเริ่มมิได้เป็นไปต่ออุปสรรคท้องถิ่นหรือภูมิภาค แต่เป็นศัตรูโลกที่ถูกมองว่าดำเนินการอยู่ในระดับโลก มันติดอยู่กับแผนที่ใหญ่กว่านั้นอีกในการจัดระเบียบเชื้อชาติและการก่อสร้างใหม่ซึ่งเกี่ยวข้องกับฆ่าแบบพันธุฆาตเพิ่มในเกือบจะเป็นขอบเขตที่จินตนาการไม่ถึง อย่างไรก็ดี มุ่งที่การเก็บกวาดทางในภูมิภาคเฉพาะ คือ ยุโรปตะวันออก สำหรับการต่อสู้เพิ่มเติมต่อยิวและผู้ที่นาซีถือว่าเป็นหุ่นเชิดของพวกตน มันเกิดขึ้นจากการสนับสนุนอุดมการณ์ที่มองประวัติศาสตร์โลกในแง่เชื้อชาติ ส่วนหนึ่งมันดำเนินการด้วยวิธีการทางอุตสาหกรรม ทุกสิ่งเหล่านี้ทำให้มันเป็นเอกลักษณ์
— Richard Evans, "Was the 'Final Solution' Unique?", The Third Reich in History and Memory.[381]
ความตระหนัก
[แก้]ในเดือนกันยายน 2018 การสำรวจออนไลน์ของซีเอ็นเอ็น–คอมเรสจากผู้ใหญ่ 7,092 คนในประเทศยุโรปเจ็ดประเทศ ได้แก่ ออสเตรีย ฝรั่งเศส เยอรมนี บริเตนใหญ่ ฮังการี โปแลนด์และสวีเดน พบว่า 1 ใน 20 ไม่เคยทราบเรื่องฮอโลคอสต์ ตัวเลขดังกล่าวรวม 1 ใน 5 ของชาวฝรั่งเศสอายุระหว่าง 18–34 ปี ชาวออสเตรีย 4 ใน 10 คนกล่าวว่าพวกเขาทราบ "เพียงเล็กน้อย" เยาวชนออสเตรียร้อยละ 12 ตอบว่าไม่เคยทราบมาก่อน[382] การสำรวจปี 2018 ในสหรัฐพบว่าร้อยละ 22 ของผู้ใหญ่ 1,350 คนกล่วว่าพวกตนไม่เคยทราบ ส่วนชาวอเมริกันร้อยละ 41 และมิลเลนเนียลร้อยละ 66 ไม่ทราบว่าเอาชวิตซ์คืออะไร[383] ในปี 2019 การสำรวจชาวแคนาดา 1,100 คนพบว่าร้อยละ 49 บอกชื่อค่ายกักกันไม่ได้เลย[384]
แหล่งที่มา
[แก้]เชิงอรรถ
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 Matt Brosnan (Imperial War Museum, 2018): "The Holocaust was the systematic murder of Europe's Jews by the Nazis and their collaborators during the Second World War."[7]
Jack R. Fischel (Historical Dictionary of the Holocaust, 2010): "The Holocaust refers to the Nazi objective of annihilating every Jewish man, woman, and child who fell under their control."[8]
Peter Hayes (How Was It Possible? A Holocaust Reader, 2015): "The Holocaust, the Nazi attempt to eradicate the Jews of Europe, has come to be regarded as the emblematic event of Twentieth Century ... Hitler's ideology depicted the Jews as uniquely dangerous to Germany and therefore uniquely destined to disappear completely from the Reich and all territories subordinate to it. The threat posted by supposedly corrupting but generally powerless Sinti and Roma was far less, and therefore addressed inconsistently in the Nazi realm. Gay men were defined as a problem only if they were German or having sex with Germans or having sex with Germans and considered 'curable' in most cases. ... Germany's murderous intent toward the handicapped inhabitants of European mental institutions ... was more comprehensive ... but here, too, implementation was uneven and life-saving exceptions permitted, especially in Western Europe. Not only were some Slavs—Slovaks, Croats, Bulgarians, some Ukrainians—allotted a favored place in Hitler's New Order, but the fate of most of the other Slavs the Nazis derided as sub-humans ... consisted of enslavement and gradual attrition, not the prompt massacre meted out to the Jews after 1941."[9]
Raul Hilberg (The Destruction of the European Jews, 2003): "At the beginning there was little memorialization. ... Little by little, some documents were gathered and books were written, and after about two decades the annihilation of the Jews was given a name: Holocaust."[10]
Holocaust Memorial Day Trust, UK (2019): "The Holocaust (The Shoah in Hebrew) was the attempt by the Nazis and their collaborators to murder all the Jews in Europe."[11] Ronnie S. Landau (The Nazi Holocaust: Its History and Meaning, 1992): "The Holocaust involved the deliberate, systematic murder of approximately 6 million Jews in Nazi-dominated Europe between 1941 and 1945."[2] Michael Marrus (Perspectives on the Holocaust, 2015): "The Holocaust, the murder of close to six million Jews by the Nazis during the Second World War ...".[12] Timothy D. Snyder (Bloodlands: Europe Between Hitler and Stalin, 2010): "In this book the term Holocaust signifies the final version of the Final Solution, the German policy to eliminate the Jews of Europe by murdering them. Although Hitler certainly wished to remove the Jews from Europe in a Final Solution earlier, the Holocaust on this definition begins in summer 1941, with the shooting of Jewish women and children in the occupied Soviet Union. The term Holocaust is sometimes used in two other ways: to mean all German killing policies during the war, or to mean all oppression of Jews by the Nazi regime. In this book, Holocaust means the murder of the Jews in Europe, as carried out by the Germans by guns and gas between 1941 and 1945."[13] Dan Stone (Histories of the Holocaust, 2010): "'Holocaust' ... refers to the genocide of the Jews, which by no means excludes an understanding that other groups—notably Romanies and Slavs—were victims of genocide."[14] United States Holocaust Memorial Museum (Holocaust Encyclopedia, 2017): "The Holocaust was the systematic, bureaucratic, state-sponsored persecution and murder of six million Jews by the Nazi regime and its collaborators."[15]Yad Vashem (2019): "The Holocaust was the murder by Nazi Germany of six million Jews."[16]
- ↑ United States Holocaust Memorial Museum: "Six million Jews died in the Holocaust. ... According to the American Jewish Yearbook, the Jewish population of Europe was about 9.5 million in 1933. ... By 1945, most European Jews—two out of every three—had been killed."[4]
- ↑ Dan Stone (Histories of the Holocaust, 2010): "Europe's Romany (Gypsy) population was also the victim of genocide under the Nazis. Many other population groups, notably Poles, Ukrainians, and Soviet prisoners of war were killed in huge numbers, and smaller groups such as Jehovah's Witnesses, Black Germans, and homosexuals suffered terribly under Nazi rule. The evidence suggests that the Slav nations of Europe were also destined, had Germany won the war, to become victims of systematic mass murder; and even the terrible brutality of the occupation in eastern Europe, especially in Poland, can be understood as genocidal according to the definition put forward by Raphael Lemkin in his major study, Axis Rule in Occupied Europe (1944), the book that introduced the term 'genocide' to our vocabulary. Part of the reason for today's understanding, though, is a correct assessment of the fact that for the Nazis the Jews were regarded in a kind of 'metaphysical' way; they were not just considered as racially inferior (like Romanies), deviants (like homosexuals) or enemy nationals standing in the way of German colonial expression (like Slavs). ... [T]he Jews were to some extent outside of the racial scheme as defined by racial philosophers and anthropologists. They were not mere Untermenschen (sub-humans) ... but were regarded as a Gegenrasse: "a 'counter-race', that is to say, not really human at all. ... 'Holocaust', then, refers to the genocide of the Jews, which by no means excludes an understanding that other groups—notably Romanies and Slavs—were victims of genocide. Indeed ... the murder of the Jews, although a project in its own right, cannot be properly historically situated without understanding the 'Nazi empire' with its grandiose demographic plans."[21]
- ↑ Eberhard Jäckel (Die Zeit, 1986): "Ich behaupte ... daß der nationalsozialistische Mord an den Juden deswegen einzigartig war, weil noch nie zuvor ein Staat mit der Autorität seines verantwortlichen Führers beschlossen und angekündigt hatte, eine bestimmte Menschengruppe einschließlich der Alten, der Frauen, der Kinder und der Säuglinge möglichst restlos zu töten, und diesen Beschluß mit allen nur möglichen staatlichen Machtmitteln in die Tat umsetzte." ("I maintain ... that the National Socialist killing of the Jews was unique in that never before had a state with the authority of its leader decided and announced that a specific group of humans, including the elderly, the women, the children and the infants, would be killed as quickly as possible, and then carried out this resolution using every possible means of state power.")[23]
- ↑ The Germans continued to use the ravine for mass killings throughout the war; the total killed there could be as high as 100,000.[149]
- ↑ Franciszek Piper used timetables of train arrivals combined with deportation records to calculate that, of the 1.3 million deported to Auschwitz, 1,082,000 died there between 1940 and 1945, a figure (rounded up to 1.1 million) that he regarded as a minimum.[199]
- ↑ Auschwitz I contained crematorium I, which stopped operating in July 1943.[200] Auschwitz II contained crematoria II–V.[201]
- ↑ Auschwitz I also had a gas chamber; gassing there, of non-Jewish Poles and Soviet POWs, began in August 1941.
- ↑ "Estimate of Jews killed in the Holocaust, by country of residence at the time of deportation or death". Figures from Harvey Schulweis,[310] citing Wolfgang Benz,[311] Jean Ancel,[312] and Yitzak Arad.[313]
- ↑ ไม่รวมยิว 1.3 ล้านคน
- ↑ รวมทหารยิว 50,000 นาย
การอ้างอิง
[แก้]- ↑ "Deportation of Hungarian Jews". Timeline of Events. United States Holocaust Memorial Museum. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 25 November 2017. สืบค้นเมื่อ 6 October 2017.
- ↑ 2.0 2.1 Landau 2016, p. 3.
- ↑ 3.00 3.01 3.02 3.03 3.04 3.05 3.06 3.07 3.08 3.09 3.10 3.11 "Documenting Numbers of Victims of the Holocaust and Nazi Persecution". United States Holocaust Memorial and Museum. 4 February 2019. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 9 March 2019.
- ↑ "Remaining Jewish Population of Europe in 1945". Holocaust Encyclopedia. United States Holocaust Memorial Museum. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 13 June 2018.
- ↑ For the date, see Marcuse 2001, p. 21.
- ↑ Stackelberg & Winkle 2002, pp. 141–143.
- ↑ Brosnan, Matt (12 มิถุนายน 2018). "What Was The Holocaust?". Imperial War Museum. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 มีนาคม 2019. สืบค้นเมื่อ 2 มีนาคม 2019.
- ↑ Fischel 2010, p. 115.
- ↑ 9.0 9.1 9.2 Hayes 2015, pp. xiii–xiv.
- ↑ Hilberg 2003, p. 1133.
- ↑ "The Holocaust". Holocaust Memorial Day Trust. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 10 February 2019.
- ↑ Marrus 2015, p. vii.
- ↑ Snyder 2010, p. 412.
- ↑ Stone 2010, pp. 1–3.
- ↑ "Introduction to the Holocaust". Holocaust Encyclopedia. United States Holocaust Memorial Museum. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 1 October 2017. สืบค้นเมื่อ 4 October 2017.
- ↑ "What was the Holocaust?". Yad Vashem. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-03-02. สืบค้นเมื่อ 2019-03-19.
- ↑ Gray 2015, p. 8.
- ↑ Gray 2015, p. 4; "What Was the Holocaust?". United States Holocaust Memorial Museum. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 February 2019.
- ↑ 19.0 19.1 Gray 2015, p. 4.
- ↑ Gray 2015, p. 5.
- ↑ Stone 2010, pp. 2–3.
- ↑ Niewyk & Nicosia 2000, p. 52.
- ↑ Jäckel, Eberhard (12 September 1986). "Die elende Praxis der Untersteller". Die Zeit. p. 3/8. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 18 July 2009.
- ↑ Bauer 2002, p. 49.
- ↑ Friedländer 2007, pp. 51–52.
- ↑ Berenbaum 2006, p. 103.
- ↑ Fischel 1998, p. 167.
- ↑ United States Holocaust Memorial Museum 1996, p. 7.
- ↑ 29.00 29.01 29.02 29.03 29.04 29.05 29.06 29.07 29.08 29.09 29.10 29.11 29.12 29.13 29.14 29.15 29.16 29.17 Crowe 2008, p. 447.
- ↑ Evans 2015a, p. 385.
- ↑ "Gassing Operations". Holocaust Encyclopedia. United States Holocaust Memorial Museum. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 February 2015. สืบค้นเมื่อ 25 January 2015.
- ↑ 32.0 32.1 "Killing Centers: An Overview". Holocaust Encyclopedia. United States Holocaust Memorial Museum. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 14 September 2017.
- ↑ Gilbert 2001, p. 289.
- ↑ Bajohr & Pohl 2008, p. 10, cited in Stone 2010, p. 109.
- ↑ Bloxham 2009, p. 130.
- ↑ Friedländer 2007, p. xxi.
- ↑ 37.0 37.1 United States Holocaust Memorial Museum 1996, p. 14.
- ↑ 38.0 38.1 "Jewish Population of Europe in 1933". Holocaust Encyclopedia. United States Holocaust Memorial Museum. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 15 December 2019.
- ↑ United States Holocaust Memorial Museum 1996, p. 13.
- ↑ 40.0 40.1 Evans 1989, pp. 69–70.
- ↑ Friedlander 1994, pp. 495–496.
- ↑ "Antisemitism in History: World War I". Holocaust Encyclopedia. United States Holocaust Memorial Museum. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 9 September 2015. สืบค้นเมื่อ 1 September 2015.
- ↑ Peukert 1994, p. 289.
- ↑ Fischer 2002, p. 47.
- ↑ Kershaw 1998, p. 60.
- ↑ Bergen 2016, pp. 52–54.
- ↑ Bergen 2016, p. 56.
- ↑ "Boycotts". Educational Resources. Center for Holocaust and Genocide Studies, University of Minnesota. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 11 June 2007.
- ↑ Fritzsche 2009, pp. 38–39.
- ↑ Noakes & Pridham 1983, p. 499.
- ↑ Wachsmann 2015, pp. 28–30.
- ↑ Wachsmann 2015, pp. 32–38.
- ↑ Gilbert 1985, p. 32.
- ↑ Longerich 2012, p. 155.
- ↑ Wachsmann 2015, pp. 84–86.
- ↑ Peukert 1987, p. 214.
- ↑ Friedländer 1997, p. 33.
- ↑ Friedländer 1997, pp. 19–20.
- ↑ 59.0 59.1 Burleigh & Wippermann 1991, p. 78.
- ↑ Friedländer 1997, pp. 32–33.
- ↑ Friedländer 1997, p. 29.
- ↑ Friedländer 1997, p. 134.
- ↑ Evans 2005, pp. 158–159, 169.
- ↑ Hanauske-Abel 1996, p. 1459.
- ↑ "Poster promoting the Nazi monthly publication Neues Volk". Artifact Gallery. United States Holocaust Memorial Museum. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 October 2017. สืบค้นเมื่อ 5 October 2017.
- ↑ Hanauske-Abel 1996, p. 1457.
- ↑ Proctor 1988, pp. 101–103.
- ↑ Tolischus, Otto D. (21 December 1933). "400,000 Germans to be sterilized", The New York Times.
- ↑ Hanauske-Abel 1996, p. 1458.
- ↑ Proctor 1988, pp. 106–108.
- ↑ Burleigh & Wippermann 1991, pp. 142–149.
- ↑ Kershaw 2000, pp. 252–261.
- ↑ Bloxham 2009, p. 171.
- ↑ Lifton 2000, p. 142.
- ↑ 75.0 75.1 Niewyk & Nicosia 2000, p. 48.
- ↑ Strous 2007.
- ↑ Lifton 2000, pp. 90–95.
- ↑ Hanauske-Abel 1996, pp. 1458–1459.
- ↑ London 2000, p. 161.
- ↑ Gilbert 2001, p. 285.
- ↑ Friedländer 1997, p. 1.
- ↑ Friedländer 1997, p. 12.
- ↑ Evans 2005, p. 16.
- ↑ Cesarani 2016, pp. 147–150.
- ↑ Cesarani 2016, pp. 153–155.
- ↑ Evans 2005, pp. 659–661.
- ↑ Niewyk & Nicosia 2000, p. 200.
- ↑ Cesarani 2016, p. 181.
- ↑ 89.0 89.1 Cesarani 2016, p. 183.
- ↑ Evans 2005, pp. 581–582.
- ↑ Evans 2005, pp. 583–584.
- ↑ Bloxham 2009, p. 168.
- ↑ Cesarani 2016, pp. 184–185.
- ↑ Cesarani 2016, pp. 184, 187.
- ↑ Evans 2005, p. 591.
- ↑ Cesarani 2016, p. 200.
- ↑ Evans 2005, pp. 595–596.
- ↑ Ben-Rafael, Glöckner & Sternberg 2011, pp. 25–26.
- ↑ Cesarani 2016, p. 382.
- ↑ Cesarani, David (17 February 2011). "From Persecution to Genocide". History: World Wars. BBC. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 22 October 2012. สืบค้นเมื่อ 25 September 2012.
- ↑ Fischel 2010, p. 264.
- ↑ Chase 1999, p. xiii.
- ↑ Browning 2004, p. 12; Crowe 2008, pp. 158–159.
- ↑ Browning 2004, pp. 16–17.
- ↑ 105.0 105.1 Black 2016, p. 29.
- ↑ Browning 2004, p. 111.
- ↑ Black 2016, p. 31.
- ↑ Cesarani 2016, pp. 261–263, 266.
- ↑ Hilberg 2003, pp. 216–7.
- ↑ Browning 2004, p. 124.
- ↑ Yahil 1990, p. 165.
- ↑ Trunk 1996, pp. 1–3 ; also see Browning 2004, p. 26.
- ↑ Hilberg 1993, p. 106.
- ↑ Hilberg 1993, p. 170.
- ↑ Dwork & van Pelt 2003, p. 239.
- ↑ "Deportations to and from the Warsaw Ghetto". Holocaust Encyclopedia. United States Holocaust Memorial Museum. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 September 2012.
- ↑ Bergen 2016, p. 169.
- ↑ McKale 2002, p. 162.
- ↑ Stone 2010, p. 14, citing Arne Johan Vetlesen (2005). Evil and Human Agency: Understanding Collective Evildoing. Cambridge University Press. ISBN 978-0521856942
- ↑ McKale 2002, p. 164.
- ↑ McKale 2002, pp. 162–163.
- ↑ Schelvis 2014, pp. xv, 198.
- ↑ Zuccotti 1993, p. 52.
- ↑ Bauer 2001, pp. 256–257.
- ↑ "Tunisia" (PDF). Shoah Resource Center. Yad Vashem. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 25 March 2009. สืบค้นเมื่อ 20 June 2017.
- ↑ Naimark 2001, p. 73.
- ↑ Browning 2004, pp. 81–85.
- ↑ Browning 2004, p. 88.
- ↑ Hildebrand 1984, p. 70.
- ↑ 130.0 130.1 McKale 2002, pp. 192–193.
- ↑ 131.0 131.1 Black 2016, p. 134.
- ↑ Jozo Tomasevich; Rat i revolucija u Jugoslaviji : 1941-1945. : okupacija i kolaboracija p. 650; EPH media, Zagreb, 2010, ISBN 978-953-300-147-0
- ↑ "Einsatzgruppe member kills a Jewish woman and her child near Ivangorod, Ukraine, 1942". United States Holocaust Memorial Museum. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 11 May 2019.
- ↑ Matthäus 2004, p. 245.
- ↑ Matthäus 2004, p. 243.
- ↑ 136.0 136.1 Matthäus 2007, p. 219.
- ↑ Burleigh 2001, pp. 512, 526–527.
- ↑ 138.0 138.1 Matthäus 2004, p. 268.
- ↑ Browning 2004, pp. 16, 224–225.
- ↑ Longerich 2010, pp. 167–168.
- ↑ Browning 2004, p. 16.
- ↑ Snyder 2010, p. 126.
- ↑ McKale 2002, p. 204.
- ↑ McKale 2002, p. 198.
- ↑ Fischel 2010, p. 67.
- ↑ Bergen 2016, p. 200.
- ↑ Snyder 2010, p. 193.
- ↑ Matthäus 2007, p. 219; Evans 2008, pp. 226–227 ; Bergen 2016, pp. 199–200.
- ↑ Bergen 2016, p. 199.
- ↑ McKale 2002, p. 203; Cesarani, David (25 September 2009). "An insult to Kiev's massacred Jews". The Guardian. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 24 March 2017.
- ↑ Dwork & van Pelt 2003, p. 274.
- ↑ Wette 2006, p. 131.
- ↑ Stone 2010, p. 36.
- ↑ Black 2016, pp. 131–133.
- ↑ Dwork & van Pelt 2003, pp. 267–272.
- ↑ Friling, Ioanid & Ionescu 2004, p. 126.
- ↑ Friling, Ioanid & Ionescu 2004, p. 150.
- ↑ Dwork & van Pelt 2003, p. 272.
- ↑ Dwork & van Pelt 2003, p. 269.
- ↑ Black 2016, pp. 131–133; for extreme bruality, see Stone 2010, p. 36.
- ↑ Fischel 2010, p. 35.
- ↑ 162.0 162.1 Longerich 2010, p. 392.
- ↑ Black 2016, pp. 136–137.
- ↑ Stone 2010, pp. 33–34.
- ↑ Stone 2010, pp. 34–35.
- ↑ Black 2016, p. 135.
- ↑ Longerich 2010, p. 408.
- ↑ Longerich 2010, pp. 409–410.
- ↑ Black 2016, pp. 137–139.
- ↑ Ochayon, Sheryl. "The Jews of Libya". The International School for Holocaust Studies. Yad Vashem. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 25 September 2013.
- ↑ Black 2016, p. 140.
- ↑ Black 2016, p. 141.
- ↑ Orth 2009, p. 181.
- ↑ 174.0 174.1 Baumel 2001, p. 135.
- ↑ Fischel 2010, pp. 50–52.
- ↑ "Nazi Camps". Holocaust Encyclopedia. United States Holocaust Memorial Museum. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 June 2018. สืบค้นเมื่อ 5 July 2018.
- ↑ "Concentration Camp System: In Depth". Holocaust Encyclopedia. United States Holocaust Memorial Museum. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 July 2018. สืบค้นเมื่อ 5 July 2018.
- ↑ 178.0 178.1 Wachsmann 2015, pp. 287–288.
- ↑ Longerich 2010, pp. 314–320.
- ↑ Black 2016, p. 76.
- ↑ Black 2016, p. 104.
- ↑ Friedländer 2007, p. 492–494.
- ↑ Wachsmann 2015, p. 347.
- ↑ Wachsmann 2015, pp. 125–127, 623.
- ↑ Yahil 1990, p. 134; Wachsmann 2015, p. 119.
- ↑ "Tattoos and Numbers: The System of Identifying Prisoners at Auschwitz". United States Holocaust Memorial Museum. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 13 June 2018.
- ↑ Gerlach 2016, p. 80.
- ↑ Dwork & van Pelt 2003, p. 279.
- ↑ Burleigh & Wippermann 2003, p. 99; "Reichstag Speech". United States Holocaust Memorial Museum. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 22 May 2019.
- ↑ Gerlach 1998, p. 122; Browning 2004, p. 407, citing Die Tagebücher von Joseph Goebbels, II, 2:498–499, entry of 13 December 1941.
- ↑ 191.0 191.1 191.2 Original: "Besprechungsprotokoll" (PDF). Haus der Wannsee-Konferenz. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 2 February 2019.
English: "Wannsee Protocol, January 20, 1942". The Avalon Project. Yale Law School. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 16 August 2018.
German: "Wannsee-Protokoll". EuroDocs. Harold B. Lee Library, Brigham Young University. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 22 June 2006.
- ↑ Gerlach 1998, p. 759; "Wannsee Conference and the 'Final Solution'". Holocaust Encyclopedia. United States Holocaust Memorial Museum. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 28 September 2017.
- ↑ Gerlach 1998, p. 764.
- ↑ Roseman 2003, p. 66.
- ↑ Roseman 2003, p. 8.
- ↑ Longerich 2010, p. 306.
- ↑ 197.0 197.1 Longerich 2010, p. 307.
- ↑ Longerich 2010, p. 308.
- ↑ Piper 2000, pp. 226–227, 230–231.
- ↑ Piper 2000, p. 133.
- ↑ Piper 2000, pp. 144, 155–156.
- ↑ Strzelecka & Setkiewicz 2000, pp. 81–82.
- ↑ Czech 2000, p. 143; also see Piper 2000, p. 134, footnote 422, citing Danuta Czech, The Auschwitz Chronicle, p. 146.
- ↑ "Auschwitz-Birkenau Extermination Camp". About the Holocaust. Yad Vashem. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 October 2017. สืบค้นเมื่อ 2 October 2017.
- ↑ 205.0 205.1 "Belzec" (PDF). Holocaust Resource Center. Yad Vashem. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 6 October 2014. สืบค้นเมื่อ 29 May 2017.
- ↑ 206.0 206.1 206.2 Gerlach 2016, p. 74.
- ↑ 207.0 207.1 207.2 "Chelmno" (PDF). Holocaust Resource Center. Yad Vashem. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 1 February 2017.
- ↑ Wachsmann 2015, p. 301; Gerlach 2016, p. 74.
- ↑ Wachsmann 2015, p. 637.
- ↑ Wachsmann 2015, p. 286.
- ↑ Wachsmann 2015, p. 330.
- ↑ "Majdanek" (PDF). Holocaust Resource Center. Yad Vashem. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 27 November 2007.
- ↑ 213.0 213.1 "Sobibor" (PDF). Holocaust Resource Center. Yad Vashem. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 23 January 2014.
- ↑ 214.0 214.1 Gerlach 2016, pp. 93–94.
- ↑ 215.0 215.1 "Treblinka" (PDF). Holocaust Resource Center. Yad Vashem. สืบค้นเมื่อ 29 May 2017.
- ↑ 216.0 216.1 Gerlach 2016, p. 94; also see Cesarani 2016, p. 504.
- ↑ "Maly Trostinets" (PDF). Holocaust Resource Center. Yad Vashem. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 3 June 2013. สืบค้นเมื่อ 29 May 2017.; Heberer 2008, p. 131; Lehnstaedt 2016, p. 30.
- ↑ "Gassing operations". Holocaust Encyclopedia. United States Holocaust Memorial Museum. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 February 2015.
- ↑ Montague 2012, pp. 14–16, 64–65.
- ↑ Bergen 2016, p. 160.
- ↑ Fischel 1998, pp. 42–43.
- ↑ Montague 2012, pp. 76–85.
- ↑ Cesarani 2016, p. 513.
- ↑ Arad 2009, p. 138.
- ↑ "Gas vans" (PDF). Yad Vashem. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 27 November 2003.
- ↑ Didi-Huberman 2008, pp. 16–17.
- ↑ Gerlach 2016, p. 99.
- ↑ Gerlach 2016, p. 99, note 165.
- ↑ Fischel 1998, pp. 81–85.
- ↑ 230.0 230.1 Black 2016, pp. 69–70.
- ↑ Crowe 2008, p. 243; Arad 1999, p. 98.
- ↑ Piper 2000, pp. 219–220.
- ↑ Dwork & van Pelt 2003, pp. 287–288.
- ↑ Piper 1998b, p. 173.
- ↑ Piper 1998b, p. 157.
- ↑ Piper 1998b, p. 170.
- ↑ Piper 1998b, p. 163.
- ↑ Piper 1998b, pp. 170–172.
- ↑ Piper 1998b, pp. 163–164.
- ↑ Fischel 1998, pp. 83–85.
- ↑ Arad 1999, pp. 170–171.
- ↑ "Jews captured by Waffen SS soldiers during the suppression of the Warsaw Ghetto Uprising". Yad Vashem. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 9 October 2014.
- ↑ Longerich 2010, pp. 340–341.
- ↑ Hilberg 2003, pp. 1112–1128.
- ↑ Snyder 2010, p. 283; Longerich 2010, p. 341.
- ↑ Black 2016, pp. 82–85.
- ↑ Engelking & Leociak 2009, pp. 775–777.
- ↑ Black 2016, pp. 83–84.
- ↑ Gutman 1994, p. 243.
- ↑ 250.0 250.1 Bergen 2016, p. 269.
- ↑ Cesarani 2016, p. 616.
- ↑ Cesarani 2016, p. 636.
- ↑ Engelking & Leociak 2009, pp. 793.
- ↑ Arad 1999, pp. 286, 293–294; Fischel 1998, p. 99.
- ↑ Fischel 1998, pp. 95–96.
- ↑ Fischel 1998, p. 98.
- ↑ Arad 1999, p. 337.
- ↑ Arad 1999, p. 341; Fischel 1998, p. 98.
- ↑ Langbein 1998, pp. 500–501.
- ↑ Kennedy 2007, p. 780.
- ↑ 261.0 261.1 Fischel 1998, pp. 100–101.
- ↑ Cesarani 2016, p. 648.
- ↑ Tec 2001, p. 546.
- ↑ Snyder 2010, p. 302.
- ↑ 265.0 265.1 265.2 Fleming 2014a, p. 35.
- ↑ Bartrop 2016, pp. 210–211 ; Fleming 2014b, p. 131 .
- ↑ Spector 1990, p. 158.
- ↑ "Grojanowski Report" (PDF). Shoah Resource Center. Yad Vashem. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 6 February 2012.
- ↑ Crowe 2008, p. 354; Niewyk & Nicosia 2000, p. 183.
- ↑ Fleming 2014a, p. 35 ; Fleming 2014b, p. 144 .
- ↑ Fleming 2014a, pp. 35–36.
- ↑ Zimmerman 2015, p. 182; "11 Allies Condemn Nazi War on Jews". The New York Times. 18 December 1942.
Frankel, Max (14 November 2001). "150th Anniversary: 1851–2001; Turning Away From the Holocaust". The New York Times. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 23 December 2017.
- ↑ Thomson, Mike (13 November 2012). "Could the BBC have done more to help Hungarian Jews?". BBC News. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 22 July 2018.
Also see Fleming 2014b, p. 368, note 4 , who cites Thomson.
- ↑ Novick 2000, pp. 27–28.
- ↑ Friedländer 2010, p. 23.
- ↑ Piper 2000, photographs between pp. 112 and 113.
- ↑ Dwork & van Pelt 2003, pp. 256–257; Longerich 2010, pp. 330–339, 375–379.
- ↑ Dwork & van Pelt 2003, pp. 256–257.
- ↑ Gerlach 2016, p. 112; "Operation 'Harvest Festival'". Holocaust Encyclopedia. United States Holocaust Memorial Museum. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 10 March 2017.
- ↑ Longerich 2010, pp. 360–365.
- ↑ Yahil 1990, pp. 376–378.
- ↑ Kwiet 2004, pp. 61, 69–71, 76–77.
- ↑ Kwiet 2004, pp. 77–78.
- ↑ Fischer 1998, pp. 536–538.
- ↑ Black 2016, p. 108.
- ↑ Piper 2000, p. 11; also see "Killing Centers". Holocaust Encyclopedia. United States Holocaust Memorial Museum. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 May 2017. สืบค้นเมื่อ 29 May 2017.
- ↑ Braham 2000, pp. 62, 64–65.
- ↑ Braham 2011, p. 45.
- ↑ Bauer 1994, pp. 163–164; for "blood for goods", see Fischel 2010, p. 31 .
- ↑ Bauer 1994, p. 192; "A Monstrous 'Offer'". The Times. No. 49913. 20 July 1994. p. 2.
- ↑ Black 2016, pp. 107–109.
- ↑ Longerich 2012, p. 695.
- ↑ Longerich 2010, pp. 410–412.
- ↑ Longerich 2010, pp. 415–418.
- ↑ "Major death marches and evacuations, 1944–1945". Holocaust Encyclopedia. United States Holocaust Memorial Museum. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 16 August 2012.
- ↑ Blatman 2011, pp. 1–2.
- ↑ Friedländer 2007, pp. 648–650; for trucks or wagons, Blatman 2011, p. 11.
- ↑ Niewyk & Nicosia 2000, p. 165; for gas chambers, see Friedländer 2007, p. 627 and Longerich 2010, p. 411.
- ↑ Longerich 2010, p. 411.
- ↑ Stone 2015, p. 41.
- ↑ Stone 2015, pp. 72–73.
- ↑ 302.0 302.1 Longerich 2010, p. 417.
- ↑ Marcuse 2001, p. 50.
- ↑ Wachsmann 2015, p. 577.
- ↑ Gilbert 1985, pp. 808–809.
- ↑ Niewyk & Nicosia 2000, p. 167.
- ↑ "The 11th Armoured Division (Great Britain)". Holocaust Encyclopedia. United States Holocaust Memorial Museum. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 16 August 2012.
- ↑ "Bergen-Belsen". Holocaust Encyclopedia. United States Holocaust Memorial Museum. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 15 August 2012.
- ↑ Reynolds 2014, pp. 277–278.
- ↑ Schulweis 2015, p. xii.
- ↑ Benz 1991, pp. 15–16, 229–230, 238, 330, 351, 379.
- ↑ Ancel 2011, p. 558.
- ↑ Arad 2009, pp. 521–525.
- ↑ 314.0 314.1 Also see "Polish Victims". Holocaust Encyclopedia. United States Holocaust Memorial Museum. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 May 2016. สืบค้นเมื่อ 1 June 2016.
- ↑ 315.0 315.1 "Jehovah's Witnesses". Holocaust Encyclopedia. United States Holocaust Memorial Museum. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 11 April 2017. สืบค้นเมื่อ 29 June 2017.
- ↑ 316.0 316.1 316.2 "Persecution of Homosexuals in the Third Reich". Holocaust Encyclopedia. United States Holocaust Memorial Museum. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 12 June 2018.
- ↑ Gilbert 2001, p. 291.
- ↑ Fischel 1998, p. 87; Bauer & Rozett 1990, p. 1799.
- ↑ "FAQ: How many Jews were murdered in the Holocaust?". Yad Vashem. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 11 January 2016.
- ↑ 320.0 320.1 Michman 2012, p. 197.
- ↑ Bauer & Rozett 1990, p. 1797.
- ↑ Bauer & Rozett 1990, p. 1799.
- ↑ Benz 1991, p. 17.
- ↑ "Children during the Holocaust". United States Holocaust Memorial Museum. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 9 October 2017.
- ↑ 325.0 325.1 Snyder 2012, pp. 164–165.
- ↑ For Netherlands, "The Netherlands". Yad Vashem.
For France, Gerlach 2016, p. 14; for Denmark and Estonia, Snyder 2015, p. 212; for Estonia (Estland) and the Wannsee Conference, see "Besprechungsprotokoll" (PDF). Haus der Wannsee-Konferenz. p. 171. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 2 February 2019.
- ↑ Gerlach 2016, p. 13.
- ↑ Polonsky 2001, p. 488.
- ↑ Fritz 2011, pp. 333–334.
- ↑ Snyder 2010, pp. 250–251.
- ↑ "Nazi Persecution of Soviet Prisoners of War". Holocaust Encyclopedia. United States Holocaust Memorial Museum. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 22 August 2012. สืบค้นเมื่อ 1 September 2012.
- ↑ Berenbaum 2006, p. 125.
- ↑ Ian Dear, Michael Richard Daniell Foot (2001). The Oxford Companion to World War II. Oxford University Press. p. 88. ISBN 0-19-860446-7
- ↑ Snyder, Timothy (2010). Bloodlands: Europe Between Hitler and Stalin. Basic Books. p. 160. ISBN 0465002390
- ↑ Gellately 2001, p. 155.
- ↑ Gellately 2001, p. 153.
- ↑ Longerich 2012, pp. 450–452.
- ↑ Bloxham 2009, p. 112.
- ↑ Piotrowski 1998, p. 295.
- ↑ Stargardt 2010, pp. 226–227.
- ↑ "Genocide of European Roma (Gypsies)". Holocaust Encyclopedia. United States Holocaust Memorial Museum. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 September 2012. สืบค้นเมื่อ 1 September 2012.
- ↑ Huttenbach 2016, p. 31; Hancock 2004, p. 385 (Hancock writes Porrajmos).
- ↑ Bauer 1998, p. 442.
- ↑ Bauer 1998, p. 444; also see Longerich 2010, p. 50.
- ↑ Bauer 1998, p. 446.
- ↑ 346.0 346.1 346.2 Longerich 2010, p. 419.
- ↑ Longerich 2010, pp. 419–421.
- ↑ Teleki, László. "The Fate of the Roma during the Holocaust: The Untold Story" (PDF). The Holocaust and the United Nations Outreach Programme. p. 92.
- ↑ Longerich 2010, p. 288.
- ↑ Bloxham 2009, p. 114.
- ↑ Bloxham 2009, p. 119.
- ↑ "Non-Jewish Resistance". Holocaust Encyclopedia. United States Holocaust Memorial Museum. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 20 November 2011. สืบค้นเมื่อ 29 May 2017.
- ↑ Wachsmann 2015, p. 125.
- ↑ Fischel 2010, p. 184.
- ↑ Milton 2001, pp. 346–349.
- ↑ Garbe 2001, p. 251.
- ↑ Giles 1992, pp. 45–7.
- ↑ Longerich 2012, p. 237.
- ↑ "Lesbians and the Third Reich". Holocaust Encyclopedia. United States Holocaust Memorial Museum. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 12 June 2018.
- ↑ Lusane 2003, pp. 97–8.
- ↑ "Blacks during the Holocaust". Holocaust Encyclopedia. United States Holocaust Memorial Museum. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 April 2017. สืบค้นเมื่อ 29 May 2017.
- ↑ "International Military Tribunal: The Defendants". United States Holocaust Memorial Museum.
- ↑ Biddiss 2001, p. 643.
- ↑ Biddiss 2001, pp. 643–644.
- ↑ Conot 1984, p. 495.
- ↑ Biddiss 2001, p. 646.
- ↑ Crowe 2008, p. 412.
- ↑ Crowe 2008, pp. 430–433.
- ↑ 369.0 369.1 "Reparations and Restitutions" (PDF). Shoah Resource Center. Yad Vashem. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 16 May 2017. สืบค้นเมื่อ 5 July 2018.
- ↑ Zweig 2001, pp. 531–532.
- ↑ "Payment Programme of the Foundation EVZ". Bundesarchiv. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 October 2018. สืบค้นเมื่อ 5 July 2018.
- ↑ Staff (29 May 2013). "Holocaust Reparations: Germany to Pay 772 Million Euros to Survivors". Spiegel Online International. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 13 December 2014.
- ↑ Bazyler 2005, p. 173; Staff (5 December 2014). "Pour le rôle de la SNCF dans la Shoah, Paris va verser 100 000 euros à chaque déporté américain". Le Monde/Agence France-Presse. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 December 2014.
Davies, Lizzie (17 February 2009). "France responsible for sending Jews to concentration camps, says court". The Guardian. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 10 October 2017.
- ↑ Stone 2010, p. 206.
- ↑ 375.0 375.1 Stone 2010, p. 207.
- ↑ 376.0 376.1 Nolte, Ernst (6 June 1986). "Vergangenheit, die nicht vergehen will: Eine Rede, die geschrieben, aber nicht gehalten werden konnte" (PDF). Frankfurter Allgemeine Zeitung. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2017-09-14. สืบค้นเมื่อ 2020-06-17.
Knowlton & Cates 1993, pp. 18–23; partly reproduced in "The Past That Will Not Pass" (translation), German History in Documents and Images.
- ↑ Evans 1987, p. 764.
- ↑ Piper 1993, p. 274.
- ↑ Lipstadt 1994, p. 213.
- ↑ Stone 2010, pp. 211–212.
- ↑ Evans 2015, p. 385.
- ↑ Greene, Richard Allen (November 2018). "A Shadow Over Europe". CNN. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 November 2018.
- ↑ "New Survey by Claims Conference Finds Significant Lack of Holocaust Knowledge in the United States". Claims Conference. 2018. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 12 April 2018.
Astor, Maggie (12 April 2018). "Holocaust Is Fading From Memory, Survey Finds". The New York Times. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 18 April 2018.
- ↑ Stober, Eric (26 January 2019). "Nearly half of Canadians can't name a single concentration camp: survey". Global News. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 January 2019.
บรรณานุกรม
[แก้]งานที่อ้าง
[แก้]- Antoniou, Giorgos; Moses, Anthony Dirk (2018). The Holocaust in Greece. Cambridge: Cambridge University Press. ISBN 978-1-10847-467-2.
- Arad, Yitzhak (1999) [1987]. Belzec, Sobibor, Treblinka: The Operation Reinhard Death Camps. Bloomington, IN: Indiana University Press. ISBN 978-0-253-21305-1.
- ——— (2009). The Holocaust in the Soviet Union. Lincoln, NE: University of Nebraska Press. ISBN 978-0-8032-4519-8.
- ———; Gutman, Yisrael; Margaliot, Abraham, บ.ก. (2014) [1981]. Documents on the Holocaust: Selected Sources on the Destruction of the Jews of Germany and Austria, Poland, and the Soviet Union. Pergamon Press/Elsevier. ISBN 978-0-803-25937-9.
- ——— (2018) [1987]. The Operation Reinhard Death Camps, Belzec, Sobibor, Treblinka (Revised and Expanded ed.). Bloomington, IN: Indiana University Press. ISBN 978-0-2530-2541-8.
- Bajohr, Frank; Pohl, Dieter (2008). Massenmord und schlechtes Gewissen: Die deutsche Bevölkerung die NS-Führung und der Holocaust. Frankfurt am Main: Fischer Taschenbuch Verlag.-->
- Bartulin, N. (2013). Honorary Aryans: National-Racial Identity and Protected Jews in the Independent State of Croatia. Palgrave Macmillan US. ISBN 978-1-137-33912-6.
- Bauer, Yehuda (1998) [1994]. "Gypsies". ใน Gutman, Yisrael; Berenbaum, Michael (บ.ก.). Anatomy of the Auschwitz Death Camp. Bloomington, IN: Indiana University Press. pp. 441–455. ISBN 0-253-20884-X.
- ——— (2001) [1982]. A History of the Holocaust (Revised ed.). New York: Franklin Watts. ISBN 0-531-15576-5.
- ——— (1994). Jews for Sale?: Nazi-Jewish Negotiations, 1933–1945 (ภาษาอังกฤษ). New Haven, CT: Yale University Press. ISBN 978-0-300-05913-7.
- ——— (2002). Rethinking the Holocaust. New Haven, CT: Yale University Press. ISBN 0-300-09300-4.
- Bauer, Yehuda; Rozett, Robert (1990). "Appendix 6: Estimated Losses in the Holocaust". ใน Gutman, Israel (บ.ก.). Encyclopedia of the Holocaust. Vol. 4. New York: Macmillan Library Reference. pp. 1797–1802. ISBN 0-02-896090-4.
- Baumel, Judith Tydor (2001). "Concentration Camps". ใน Laqueur, Walter; Baumel, Judith Tydor (บ.ก.). The Holocaust Encyclopedia. New Haven, CT: Yale University Press. pp. 133–135. ISBN 0-300-08432-3.
- Bazyler, Michael J. (2005) [2003]. Holocaust Justice: The Battle for Restitution in America's Courts. New York and London: New York University Press. ISBN 978-0-8147-2938-0.
- Bell, Martin (2017). War and the Death of News. London: Oneworld Publications. ISBN 978-1-7860-7109-5.
- Ben-Rafael, Eliezer; Glöckner, Olaf; Sternberg, Yitzhak (2011). Jews and Jewish Education in Germany Today. Leiden: Brill. ISBN 978-90-04-25329-2.
- Benz, Wolfgang (1991). Dimension des Völkermords. Die Zahl der jüdischen Opfer des Nationalsozialismus (ภาษาเยอรมัน). Munich: R. Oldenburg Verlag. ISBN 3-486-54631-7.
- Berenbaum, Michael (2006). The World Must Know: The History of the Holocaust as Told in the United States Holocaust Memorial Museum (2nd ed.). Washington, DC: United States Holocaust Memorial Museum. ISBN 978-0-8018-8358-3.
- Bergen, Doris (2016). War & Genocide: A Concise History of the Holocaust (Third ed.). Lanham, MD: Rowman & Littlefield. ISBN 978-1-4422-4228-9.
- Biddiss, Michael (2001). "Nuremberg trials". ใน Dear, Ian; Foot, Richard D. (บ.ก.). The Oxford Companion to World War II. Oxford: Oxford University Press. pp. 643–646. ISBN 0-19-280670-X.
- Black, Jeremy (2016). The Holocaust: History and Memory. Bloomington, IN: Indiana University Press. ISBN 978-0-253-02214-1.
- Blatman, Daniel (2011) [2009]. The Death Marches: The Final Phase of Nazi Genocide. Cambridge, MA: Harvard University Press. ISBN 978-0-674-05049-5.
- Bloxham, Donald (2009). The Final Solution: A Genocide. Oxford: Oxford University Press. ISBN 978-0-19-955034-0.
- Braham, Randolph L. (2000). The Politics of Genocide: The Holocaust in Hungary. Detroit: Wayne State University Press. ISBN 0-8143-2691-9.
- ——— (2011). "Hungary: The Controversial Chapter of the Holocaust". ใน Braham, Randolph L.; vanden Heuvel, William Jacobus (บ.ก.). The Auschwitz Reports and the Holocaust in Hungary. Boulder, CO: Social Science Monographs. pp. 29–49.
- Browning, Christopher (2004). The Origins of the Final Solution: The Evolution of Nazi Jewish Policy, September 1939 – March 1942. Lincoln and Jerusalem: University of Nebraska Press and Yad Vashem. ISBN 978-0-8032-1327-2.
- Burleigh, Michael (2001). The Third Reich: A New History. New York: Hill and Wang. ISBN 0-8090-9326-X.
- Burleigh, Michael; Wippermann, Wolfgang (2003) [1991]. The Racial State: Germany 1933–1945. Cambridge: Cambridge University Press. ISBN 0-521-39802-9.
- Cesarani, David (2016). Final Solution: The Fate of the Jews 1933–1949. New York: St. Martin's Press. ISBN 978-0230768918.
- Cohen, Boaz (2010). "Israel". ใน Hayes, Peter; Roth, John K. (บ.ก.). The Oxford Handbook of Holocaust Studies. Oxford and New York: Oxford University Press. pp. 575–589. ISBN 978-0-19-921186-9.
- Conot, Robert E. (1984). Justice at Nuremberg. New York: Carroll & Graf. ISBN 978-0-88184-032-2.
- Crowe, David M. (2008). The Holocaust: Roots, History, and Aftermath. Boulder, CO: Westview Press. ISBN 978-0-8133-4325-9.
- Czech, Danuta (2000). "A Calendar of the Most Important Events in the History of the Auschwitz Concentration Camp". ใน Długoborski, Wacław; Piper, Franciszek (บ.ก.). Auschwitz, 1940–1945. Central Issues in the History of the Camp. Vol. V: Epilogue. Oświęcim: Auschwitz-Birkenau State Museum. pp. 119–231. ISBN 978-83-85047-87-2.
- Didi-Huberman, Georges (2008). Images in Spite of All: Four Photographs from Auschwitz. Chicago: University of Chicago Press. ISBN 978-0-226-14816-8.
- Dwork, Deborah; van Pelt, Robert Jan (2003). Holocaust: A History. New York: W. W. Norton. ISBN 0-393-05188-9.
- Engelking, Barbara (2001). Holocaust and Memory. Leicester: Leicester University Press. ISBN 0718501594.
- Engelking, Barbara; Leociak, Jacek (2009). The Warsaw Ghetto: A Guide to the Perished City. New Haven: Yale University Press. ISBN 978-0-300-11234-4.
- Evans, Richard J. (December 1987). "The New Nationalism and the Old History: Perspectives on the West German Historikerstreit". The Journal of Modern History. 59 (4): 761–797. doi:10.1086/243286. JSTOR 1879952. S2CID 155066120.
- ——— (2004) [2003]. The Coming of the Third Reich. New York: Penguin. ISBN 1-59420-004-1.
- ——— (2005). The Third Reich in Power. New York: Penguin. ISBN 1-59420-074-2.
- ——— (2015). "Is the "Final Solution" Unique?". The Third Reich in History and Memory. Oxford: Oxford University Press. ISBN 978-0-19-022839-2.
- Fritzsche, Peter (2009). Life and Death in the Third Reich. Cambridge, MA: Harvard University Press. ISBN 978-0-674-03374-0.
- Fischel, Jack R. (1998). The Holocaust. Westport, CT: Greenwood Press. ISBN 0-313-29879-3.
- ——— (2020). Historical Dictionary of the Holocaust (Third ed.). Lanham, MD: Rowman & Littlefield. ISBN 978-1-5381-3015-5.
- Fischer, Conan (2002). The Rise of the Nazis. New Frontiers in History (Second ed.). Manchester, UK: Manchester University Press. ISBN 0-7190-6067-2.
- Fischer, Klaus (1998) [1995]. Nazi Germany: A New History. New York: Barnes & Noble. ISBN 0-7607-0736-7.
- Fisher, Ronit (2001). "Medical Experimentation". ใน Laqueur, Walter; Baumel, Judith Tydor (บ.ก.). The Holocaust Encyclopedia. New Haven, CT: Yale University Press. pp. 410–414. ISBN 0-300-08432-3.
- Fleming, Michael (2014). Auschwitz, the Allies and Censorship of the Holocaust. Cambridge: Cambridge University Press. ISBN 978-1-1070-6279-5.
- Fleming, Michael (2019). "The Volunteer: The True Story of the Resistance Hero Who Infiltrated Auschwitz". Israel Journal of Foreign Affairs. 13 (2): 289–294. doi:10.1080/23739770.2019.1673981. S2CID 210468082.
- Friedlander, Henry (1994). "Step by Step: The Expansion of Murder, 1939–1941". German Studies Review. 17 (3): 495–507. doi:10.2307/1431896. JSTOR 1431896.
- Friedländer, Saul (1997). Nazi Germany and the Jews: The Years of Persecution 1933–1939. New York: Harper Collins. ISBN 0-06-019042-6.
- ——— (2007). The Years of Extermination: Nazi Germany and the Jews 1939–1945. New York: Harper Perennial. ISBN 978-0-06-093048-6.
- ——— (2010). "An Integrated History of the Holocaust: Possibilities and Challenges". ใน Weise, Christian; Betts, Paul (บ.ก.). Years of Persecution, Years of Extermination: Saul Friedländer and the Future of Holocaust Studies. New York and London: Continuum. pp. 21–29. ISBN 978-1-4411-2987-1.
- Friling, Tuvia; Ioanid, Radu; Ionescu, Mihail E., บ.ก. (2004). International Commission on the Holocaust in Romania: Final Report (PDF). Iași: Polirom. ISBN 973-681-989-2.
- Fritz, Stephen (2011). Ostkrieg: Hitler's War of Extermination in the East. Lexington, KY: University Press of Kentucky. ISBN 978-0-8131-3416-1.
- Garbe, Detlef (2001). "Social Disinterest, Governmental Disinformation, Renewed Persecution, and Now Manipulation of History?". ใน Hans Hesse (บ.ก.). Persecution and Resistance of Jehovah's Witnesses During the Nazi-Regime 1933–1945. Bremen: Edition Temmen. pp. 251–265.
- Gerlach, Christian (December 1998). "The Wannsee Conference, the Fate of German Jews, and Hitler's Decision in Principle to Exterminate All European Jews" (PDF). The Journal of Modern History. 70 (4): 759–812. doi:10.1086/235167. S2CID 143904500.
- ——— (2016). The Extermination of the European Jews. Cambridge, UK: Cambridge University Press. ISBN 978-0-521-70689-6.
- Gilbert, M. (2012). The Routledge Atlas of the Holocaust. Routledge Historical Atlases. Taylor & Francis. ISBN 978-1-135-10851-9.
- Gilbert, Martin (2001). "Final Solution". ใน Dear, Ian; Foot, Richard D. (บ.ก.). The Oxford Companion to World War II. Oxford, UK: Oxford University Press. pp. 285–292. ISBN 0-19-280670-X.
- ——— (2004) [1982]. The Routledge Atlas of the Holocaust (Third ed.). London: Routledge. ISBN 0-415-28145-8.
- ——— (1985). The Holocaust: A History of the Jews of Europe During the Second World War. New York: Henry Holt. ISBN 0-8050-0348-7.
- Giles, Geoffrey J. (1992). "The Most Unkindest Cut of All: Castration, Homosexuality and Nazi Justice". Journal of Contemporary History. 27 (1): 41–61. doi:10.1177/002200949202700103. JSTOR 260778. S2CID 159524123.
- Grabowski, Jan (2013). Hunt for the Jews: Betrayal and Murder in German-Occupied Poland. Bloomington: Indiana University Press. ISBN 978-02-53010-74-2.
- Gray, Michael (2015). Teaching the Holocaust: Practical Approaches for Ages 11–18. Abingdon and New York: Routledge. ISBN 978-1-317-65082-9.
- Greif, Gideon (2005). We Wept Without Tears: Testimonies of the Jewish Sonderkommando from Auschwitz. New Haven, CT: Yale University Press. ISBN 978-0-300-13198-7.
- Gutman, Israel (1994). Resistance: The Warsaw Ghetto Uprising. Boston, MA: Houghton Mifflin. ISBN 0-395-60199-1.
- Gross, Jan T. (2001). Neighbors: The Destruction of the Jewish Community in Jedwabne, Poland. Princeton, NJ: Princeton University Press. ISBN 0-691-08667-2.
- Hanauske-Abel, Hartmut M. (7 December 1996). "Not a slippery slope or sudden subversion: German medicine and National Socialism in 1933". BMJ. 313 (7070): 1453–1463. doi:10.1136/bmj.313.7070.1453. JSTOR 29733730. PMC 2352969. PMID 8973235.
- Hancock, Ian (2004). "Romanies and the Holocaust: A Reevaluation and Overview". ใน Dan Stone (บ.ก.). The Historiography of the Holocaust. New York: Palgrave-Macmillan. pp. 383–396.
- Hayes, Peter (2015). "Introduction". ใน Hayes, Peter (บ.ก.). How Was It Possible?: A Holocaust Reader. Lincoln, NE: University of Nebraska Press. pp. xiii–xiv.
- Hayes, Peter (2017). Why? Explaining the Holocaust. New York: W. W. Norton & Company.
- Heberer, Patricia (2008). "Justice in Austrian Courts? The Case of Josef W. and Austria's Difficult Relationship with Its Past". ใน Heberer, Patricia; Matthäus, Jürgen (บ.ก.). Atrocities on Trial: Historical Perspectives on the Politics of Prosecuting War Crimes. Lincoln and London: University of Nebraska Press.
- Heller, Kevin Jon (2011). The Nuremberg Military Tribunals and the Origins of International Criminal Law. Oxford University Press. ISBN 978-0-19-923233-8.
- Hilberg, Raul (2003) [1961]. The Destruction of the European Jews. Vol. I–III (3rd ed.). New Haven and London: Yale University Press. ISBN 0-300-09592-9.
- ——— (1993) [1992]. Perpetrators Victims Bystanders: The Jewish Catastrophe 1933–1945. New York: HarperPerennial. ISBN 0-06-099507-6.
- Himka, John-Paul (2011). "The Lviv Pogrom of 1941: The Germans, Ukrainian Nationalists, and the Carnival Crowd". Canadian Slavonic Papers. 43 (2/4): 209–243. doi:10.1080/00085006.2011.11092673. JSTOR 41708340. S2CID 159577084.
- Huttenbach, Henry R. (2016) [1991]. "The Romani Pořajmos: The Nazi Genocide of Gypsies in Germany and Eastern Europe". ใน Crowe, David; Kolsti, John (บ.ก.). The Gypsies of Eastern Europe. Abingdon and New York: Routledge. pp. 31–50. ISBN 978-1-315-49024-3.
- Ioanid, Radu (2000). The Holocaust in Romania: The Destruction of Jews and Gypsies under the Antonescu Regime, 1940–1944. Chicago: Ivan R. Dee. ISBN 978-1-56663-771-8.-->
- Jones, Adam (2006). Genocide: A Comprehensive Introduction. London: Routledge. ISBN 0-415-35384-X.
- Kennedy, David M., บ.ก. (2007). The Library of Congress World War II Companion. New York: Simon & Schuster. ISBN 978-0-7432-5219-5.
- Kershaw, Ian (2000). Hitler 1936–1945: Nemesis. New York: W. W. Norton. ISBN 978-0-393-32252-1.
- ——— (2008). Hitler, the Germans, and the Final Solution. New Haven, CT: Yale University Press. ISBN 978-0-300-12427-9.
- Knowlton, James and Cates, Truett (translators, 1993). Forever in the Shadow of Hitler?: Original Documents of the Historikerstreit, the Controversy Concerning the Singularity of the Holocaust. Atlantic Highlands, NJ: Humanities Press. ISBN 978-0-391-03811-0.
- Kubica, Helena (1998) [1994]. "Children". ใน Gutman, Yisrael; Berenbaum, Michael (บ.ก.). Anatomy of the Auschwitz Death Camp. Bloomington, IN: Indiana University Press. pp. 412–427. ISBN 0-253-20884-X.
- Kwiet, Konrad (2004). "Forced Labour of German Jews in Nazi Germany". ใน Cesarani, David (บ.ก.). Holocaust: Concepts in Historical Studies: Volume II: From the Persecution of the Jews to Mass Murder. London: Routledge. pp. 59–81. ISBN 0-415-27511-3.
- Langbein, Hermann (1998) [1994]. "The Auschwitz Underground". ใน Gutman, Yisrael; Berenbaum, Michael (บ.ก.). Anatomy of the Auschwitz Death Camp. Bloomington, IN: Indiana University Press. pp. 485–502. ISBN 0-253-20884-X.-->
- Landau, Ronnie S. (2016) [1992]. The Nazi Holocaust: Its History and Meaning. London: I.B. Tauris. ISBN 978-1-78076-971-4.
- Laqueur, Walter (2001). "Jewish Brigade". ใน Laqueur, Walter; Baumel, Judith Tydor (บ.ก.). The Holocaust Encyclopedia. New Haven, CT: Yale University Press. p. 351. ISBN 0-300-08432-3.
- Lehnstaedt, Stephan (2016) [2010]. Occupation in the East: The Daily Lives of German Occupiers in Warsaw and Minsk, 1939–1944. New York and Oxford: Berghahn Books. ISBN 978-1-78533-323-1.
- Lifton, Robert J. (2000) [1986]. The Nazi Doctors: Medical Killing and the Psychology of Genocide (2000 ed.). New York: Basic Books. ISBN 978-0-465-04905-9.
- Lipstadt, Deborah (1994) [1993]. Denying the Holocaust: The Growing Assault on Truth and Memory. New York: Penguin Books. ISBN 0-452-27274-2.
- London, Louise (2000). Whitehall and the Jews, 1933–1948: British Immigration Policy, Jewish Refugees and the Holocaust. Cambridge: Cambridge University Press. ISBN 978-0-521-63187-7.
- Longerich, Peter (2010). Holocaust: The Nazi Persecution and Murder of the Jews. Oxford, UK: Oxford University Press. ISBN 978-0-19-280436-5.
- ——— (2012). Heinrich Himmler. Oxford: Oxford University Press. ISBN 978-0-19-959232-6.
- Lusane, Clarence (2003). Hitler's Black Victims: The Historical Experience of Afro-Germans, European Blacks, Africans and African Americans in the Nazi Era. London; New York: Routledge.
- Lustigman, Marsha; Lustigman, Michael M. (16 October 1994). "Bibliographic Classification of Documents Dealing with the Subject 'Holocaust'". Alexandria, VA: 5th ASIS SIG/CR Classification Research Workshop. pp. 111–120.
- Marcuse, Harold (2001). Legacies of Dachau: The Uses and Abuses of a Concentration Camp, 1933–2001. Cambridge: Cambridge University Press. ISBN 0-521-55204-4.
- Matthäus, Jürgen (2004). "Operation Barbarossa and the Onset of the Holocaust, June–December 1941". ใน Browning, Christopher (บ.ก.). The Origins of the Final Solution: The Evolution of Nazi Jewish Policy, September 1939 – March 1942. Lincoln, NE: University of Nebraska Press. pp. 244–308. ISBN 0-8032-1327-1.
- ——— (Fall 2007). "Controlled Escalation: Himmler's Men in the Summer of 1941 and the Holocaust in the Occupied Soviet Territories". Holocaust and Genocide Studies. 21 (2): 218–242. doi:10.1093/hgs/dcm037. S2CID 143962137.
- McKale, Donald M. (2002). Hitler's Shadow War: The Holocaust and World War II. New York: Cooper Square Press. ISBN 0-8154-1211-8.
- Michman, Dan (2012) [2010]. "Jews". ใน Hayes, Peter; Roth, John K. (บ.ก.). The Oxford Handbook of Holocaust Studies. Oxford: Oxford University Press. pp. 185–202. ISBN 978-0-19-966882-3.
- Milton, Sybil (2001). "Jehovah's Witnesses". ใน Laqueur, Walter; Baumel, Judith Tydor (บ.ก.). The Holocaust Encyclopedia. New Haven, CT: Yale University Press. pp. 346–350. ISBN 0-300-08432-3.
- Montague, Patrick (2012). Chelmno and the Holocaust: A History of Hitler's First Death Camp. Chapel Hill, NC: University of North Carolina Press. ISBN 978-0-8078-3527-2.
- Müller, Filip (1999) [1979]. Eyewitness Auschwitz: Three Years in the Gas Chambers. Chicago: Ivan R. Dee. ISBN 9781566632713.
- Müller-Hill, Benno (1999). "The Blood from Auschwitz and the Silence of the Scholars". History and Philosophy of the Life Sciences. 21 (3): 331–365. JSTOR 23332180. PMID 11197188.
- Nicosia, Francis R. (2008). Zionism and Anti-Semitism in Nazi Germany. New York: Cambridge University Press. ISBN 978-0-521-88392-4.
- Niewyk, Donald L.; Nicosia, Francis R. (2000). The Columbia Guide to the Holocaust. New York: Columbia University Press. ISBN 0-231-11200-9.
- Noakes, Jeremy; Pridham, Geoffrey (1983). Nazism: A History in Documents and Eyewitness Accounts, 1919–1945. New York: Schocken Books. OCLC 809750541.
- Novick, Peter (2000) [1999]. The Holocaust in American Life. New York: Houghton Mifflin. ISBN 0-618-08232-8.
- Orth, Karin (2009). "Camps and Subcamps under the SS-Inspectorate of Concentration Camps/Business Administration Main Office". ใน Megargee, Geoffrey P. (บ.ก.). Encyclopedia of Camps and Ghettos, 1933–1945. Vol. 1A. Bloomington and Indianapolis: United States Holocaust Memorial Museum, Indiana University Press. pp. 181–196. ISBN 978-0-253-35328-3.
- Piotrowski, Tadeusz (1998). Poland's Holocaust: Ethnic Strife, Collaboration With Occupying Forces and Genocide in the Second Republic, 1918–1947. Jefferson, NC: McFarland & Company. ISBN 9780786403714.
- Piper, Franciszek (1998a) [1994]. "The Number of Victims". ใน Gutman, Yisrael; Berenbaum, Michael (บ.ก.). Anatomy of the Auschwitz Death Camp. Bloomington, IN: Indiana University Press. pp. 61–80. ISBN 0-253-20884-X.
- ——— (1998b) [1994]. "Gas chambers and Crematoria". ใน Gutman, Yisrael; Berenbaum, Michael (บ.ก.). Anatomy of the Auschwitz Death Camp. Bloomington, IN: Indiana University Press. pp. 157–182. ISBN 0-253-20884-X.
- ——— (2000). Długoborski, Wacław; Piper, Franciszek (บ.ก.). Auschwitz, 1940–1945. Central Issues in the History of the Camp. Volume III: Mass Murder. Oświęcim: Auschwitz-Birkenau State Museum. ISBN 978-83-85047-87-2.
- Pohl, Dieter (2018). "War and Empire". ใน Robert Gellately (บ.ก.). The Oxford Illustrated History of the Third Reich. New York: Oxford University Press. ISBN 978-0-19872-828-3.
- Pohl, Dieter (2019). "Right-wing Politics and Antisemitism in Europe, 1935–1940: A Survey". ใน Bajohr, Frank; Pohl, Dieter (บ.ก.). Right-Wing Politics and the Rise of Antisemitism in Europe 1935–1941. Göttingen: Wallstein Verlag. pp. 19–38. ISBN 978-3-8353-3347-5.
- Polonsky, Antony (2001). "Polish Jewry". ใน Laqueur, Walter; Baumel, Judith Tydor (บ.ก.). The Holocaust Encyclopedia. New Haven, CT: Yale University Press. pp. 486–493. ISBN 0-300-08432-3.
- Polonsky, Antony; Michlic, Joanna B. (2004). "Preface". ใน Polonsky, Anthony; Michlic, Joanna B. (บ.ก.). The Neighbors Respond: The Controversy over the Jedwabne Massacre in Poland. Princeton and Oxford: Princeton University Press. pp. xiii–xiv. ISBN 0-691-11643-1.
- Priemel, Kim Christian (2016). The Betrayal: The Nuremberg Trials and German Divergence (ภาษาอังกฤษ). Oxford University Press. ISBN 978-0-19-256374-3.
- Proctor, Robert (1988). Racial Hygiene: Medicine Under the Nazis. Cambridge, MA: Harvard University Press. ISBN 0-674-74578-7.
- Reynolds, David (2014). The Long Shadow: The Legacies of the Great War in the Twentieth Century. New York: W. W. Norton & Company, Inc. ISBN 978-0-393-24429-8.
- Roseman, Mark (2003). The Villa, The Lake, The Meeting: Wannsee and the Final Solution. London: Penguin Books. ISBN 9-780-1419-2831-9.
- Rosenfeld, Gavriel D. (2015). Hi Hitler! How the Nazi Past is Being Normalized in Contemporary Culture (ภาษาอังกฤษ). Cambridge University Press. ISBN 978-1-107-07399-9.
- Sarfatti, Michele (2006). The Jews in Mussolini's Italy: From Equality to Persecution. Madison, WI: The University of Wisconsin Press. ISBN 978-0-299-21734-1.
- Schelvis, Jules (2014) [2008]. Sobibor: A History of a Nazi Death Camp. London and New York: Bloomsbury Publishing. ISBN 978-1-84520-418-1.
- Schneider, Gertrude (2015) [1993]. "The Two Ghettos in Riga, Latvia, 1941–1943". ใน Dobroszycki, Lucjan; Gurock, Jeffery S. (บ.ก.). The Holocaust in the Soviet Union: Studies and Sources on the Destruction of the Jews in the Nazi-occupied Territories of the USSR, 1941–45. Abingdon and New York: Routledge. pp. 181–194. ISBN 978-1-56324-173-4.
- Snyder, Timothy (2010). Bloodlands: Europe Between Hitler and Stalin. New York: Basic Books. ISBN 978-0-465-00239-9.
- ——— (2012). "The Causes of the Holocaust". Contemporary European History. 21 (2): 149–168. doi:10.1017/S0960777312000094. S2CID 144399366.
- ——— (2015). Black Earth: The Holocaust as History and Warning. New York: Tim Duggan Books. ISBN 978-1-101-90347-6.
- Spector, Shmuel (1 January 1990). "Aktion 1005—Effacing the murder of millions". Holocaust and Genocide Studies. 5 (2): 157–173. doi:10.1093/hgs/5.2.157.
- Stackelberg, Roderick; Winkle, Sally A. (2002). The Nazi Germany Sourcebook: An Anthology of Texts. London and New York: Routledge. ISBN 0-415-22213-3.
- Stone, Dan (2010). Histories of the Holocaust. New York: Oxford University Press. ISBN 978-0-19-956679-2.
- ——— (2015). The Liberation of the Camps: The End of the Holocaust and Its Aftermath. New Haven and London: Yale University Press. ISBN 978-0-300-20457-5.
- Strous, Rael D. (2007). "Psychiatry during the Nazi Era: Ethical Lessons for the Modern Professional". Annals of General Psychiatry. 6 (8): 8. doi:10.1186/1744-859X-6-8. PMC 1828151. PMID 17326822.
- Strzelecka, Irena; Setkiewicz, Piotr (2000). "The Construction, Expansion and Development of the Camp and its Branches". ใน Długoborski, Wacław; Piper, Franciszek (บ.ก.). Auschwitz, 1940–1945. Central Issues in the History of the Camp. Vol. I: The Establishment and Organization of the Camp. Oświęcim: Auschwitz-Birkenau State Museum. pp. 63–138. ISBN 978-83-85047-87-2. OCLC 874340863.
- Strzelecki, Andrzej (2000). "The Liquidation of the Camp". ใน Długoborski, Wacław; Piper, Franciszek (บ.ก.). Auschwitz, 1940–1945. Central Issues in the History of the Camp. Vol. V: Epilogue. Oświęcim: Auschwitz-Birkenau State Museum. pp. 9–85. ISBN 978-83-85047-87-2. OCLC 929235229.
- Tanner, M.; Press, Y.U. (2001). Croatia: A Nation Forged in War. Yale Nota bene. Yale Nota Bene. ISBN 978-0-300-09125-0. สืบค้นเมื่อ 2021-06-16.
- Tec, Nechama (2001). "Resistance in Eastern Europe". ใน Laqueur, Walter; Baumel, Judith Tydor (บ.ก.). The Holocaust Encyclopedia. New Haven, CT: Yale University Press. pp. 543–550. ISBN 0-300-08432-3.
- Tomasevich, Jozo (2002). War and Revolution in Yugoslavia, 1941–1945: Occupation and Collaboration. Stanford University Press. ISBN 978-0-80477-924-1.
- Wachsmann, Nikolaus (2015). KL: A History of the Nazi Concentration Camps. New York: Farrar, Straus and Giroux. ISBN 978-0-374-11825-9.
- Wette, Wolfram (2006). The Wehrmacht: History, Myth, Reality. Cambridge, MA, and London: Harvard University Press. ISBN 978-0-674-02213-3.
- Wyman, David S. (2007) [1984]. The Abandonment of the Jews: America and the Holocaust 1941–1945. The New Press. ISBN 978-1595581747.
- Wyman, David S.; Rosenzveig, Charlges (1996). The World Reacts to the Holocaust. Johns Hopkins University Press. ISBN 0-8018-4969-1.
- Yahil, Leni (1990). The Holocaust: The Fate of European Jewry, 1932–1945. New York: Oxford University Press. ISBN 978-0-19-504523-9.
- Zimmerman, Joshua D. (2015). The Polish Underground and the Jews, 1939–1945. New York: Cambridge University Press. ISBN 978-1-1070-1426-8.
- Zuccotti, Susan (1993). The Holocaust, the French, and the Jews. New York: Basic Books. ISBN 0-465-03034-3.
- Zweig, Ronald (2001). "Reparations, German". ใน Laqueur, Walter; Baumel, Judith Tydor (บ.ก.). The Holocaust Encyclopedia. New Haven, CT: Yale University Press. pp. 530–532. ISBN 0-300-08432-3.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- Global Directory of Holocaust Museums.
- H-Holocaust, H-Net discussion list for librarians, scholars and advanced students.
- "Common Questions about the Holocaust" เก็บถาวร 2019-04-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, United States Holocaust Memorial Museum
- "Auschwitz: Drone video of Nazi concentration camp". BBC News, 27 January 2015.
- "Human laboratory animals". Life magazine, 22(8), 24 February 1947, pp. 81–84.
- Cesarani, David (25 September 2009). "An insult to Kiev's massacred Jews". The Guardian. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 12 June 2019.
- "The Dark Continent: Hitler's European Holocaust Helpers". Der Spiegel. 20 May 2009. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 January 2015.