ข้ามไปเนื้อหา

อันชลุส

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ตำรวจชายแดนเยอรมัน-ออสเตรียกำลังรื้อถอนที่กั้นชายแดนในเหตุการณ์อันชลุส ปี 1938.

อันชลุส (เยอรมัน: Anschluss, Anschluß, ท. การผนวก หรือ การเชื่อมโยง) เป็นคำโฆษณาชวนเชื่อนาซีสำหรับการบุกครองและการรวมประเทศออสเตรียเข้ากับเยอรมนีในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1938[1]

ออสเตรีย (ประเทศเพื่อนบ้านของเยอรมนี) ถูกเยอรมันเข้าบุกครองเมื่อวันที่ 12 มีนาคม ค.ศ. 1938[2] มีแรงกดดันหลายปีจากผู้สนับสนุนทั้งในออสเตรียและเยอรมนี (ทั้งนาซีและมิใช่นาซี) สำหรับขบวนการ "ไฮม์อินส์ไรช์" ก่อนหน้านี้ นาซีเยอรมนีให้การสนับสนุนพรรคสังคมนิยมแห่งชาติออสเตรีย (พรรคนาซีออสเตรีย) ในความพยายามยึดอำนาจจากรัฐบาลแนวร่วมปิตุภูมิของออสเตรีย

เมื่อเผชิญกับการจลาจลโดยพรรคนาซีออสเตรียขนาดเล็กแต่รุนแรง และข้อเรียกร้องของเยอรมันที่มากกว่าเดิม นายกรัฐมนตรีคูร์ท ชุชนิกก์ จึงจัดการลงประชามติในประเด็นดังกล่าว โดยทราบว่าชาวออสเตรียส่วนใหญ่จะออกเสียงลงคะแนนสนับสนุนการธำรงเอกราชของออสเตรีย แต่ก่อนการลงประชามติ ฮิตเลอร์ขู่บุกครอง และเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีฟอน ชุชนิกก์ ลาออก และแต่งตั้งอาร์ทูร์ ไซสส์-อินควาร์ท จากพรรคสังคมนิยมแห่งชาติแทน ฮิตเลอร์ที่เบื่อจะรอ สั่งการบุกครองให้ดำเนินการในเช้าวันที่ 12 มีนาคม[3] เมื่อไซสส์-อินควาร์ทส่งโทรเลขของเขาได้ ก็ค่อนข้างชัดเจนต่อชาวโลกว่าคำขอนั้นเป็นละคร และโดยธรรมชาติ การลงประชามติของชุชนิกก์ถูกนาซีที่เพิ่งตั้งยกเลิก

ฮิตเลอร์ประกาศอันชลุสที่เฮลเดินแพลตซ์ เวียนนา เมื่อวันที่ 15 มีนาคม ค.ศ. 1938

นาซีที่เพิ่งตั้งโอนอำนาจให้เยอรมนีภายในสองวัน และกำลังเวร์มัคท์เข้าออสเตรียเพื่อบังคับอันชลุส นาซีจัดการลงประชามติในดินแดนในบังคับของไรช์ทั้งหมดในเดือนต่อมา โดยถามประชาชนว่าให้สัตยาบันเรื่องที่ยุติแล้ว และอ้างว่าร้อยละ 99.7561 ของคะแนนเสียงในประเทศออสเตรียสนับสนุน[4][5] พลเมืองออสเตรียเชื้อสายยิวถูกห้ามลงประชามติ

แม้ฝ่ายสัมพันธมิตรถูกผูกมัดให้รักษาเงื่อนไขของสนธิสัญญาแวร์ซายและสนธิสัญญาแซ็ง-แฌร์แม็ง ซึ่งเจาะจงห้ามสหภาพออสเตรียและเยอรมนี แต่ปฏิกิริยาของชาติเหล่านั้นมีเพียงคำพูดและเป็นสายกลางเท่านั้น ไม่มีการเผชิญหน้าทางทหาร แม้แต่ผู้คัดค้านการผนวกที่แข็งกร้าวที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งอิตาลีฟาสซิสต์ ฝรั่งเศส และบริเตน ("แนวสเตรซา") ยังสงบอยู่

อันชลุสเป็นก้าวสำคัญแรก ๆ ในการสร้างไรช์เยอรมันใหญ่ของฮิตเลอร์เพื่อให้รวมชาติพันธุ์เยอรมันทั้งหมดและที่ดินและดินแดนทั้งหมดที่จักรวรรดิเยอรมันเสียในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง แม้ออสเตรียไม่เคยเป็นส่วนหนึ่งของประเทศเยอรมนีคริสต์ศตวรรษที่ 20 (การสร้างเอกภาพเยอรมนีในคริสต์ศตวรรษที่ 19 สร้างรัฐชาติที่ปรัสเซียครอบงำใน ค.ศ. 1871 เหลือออสเตรียนอก "เลสเซอร์เยอรมนี") แต่ออสเตรียเป็นเป้าหมายถัดไปตามเหตุผล ก่อนหน้าการบุกครองออสเตรียใน ค.ศ. 1938 ไรช์ที่สามส่งทหารกลับเข้าประจำไรน์แลนด์ และเขตซาร์ถูกคืนให้เยอรมนีหลังการยึดครอง 15 ปีโดยการลงประชามติ หลังอันชลุส ฮิตเลอร์มุ่งเป้าไปเชโกสโลวาเกีย ทำให้เกิดวิกฤตการณ์ระหว่างประเทศซึ่งนำไปสู่ความตกลงมิวนิกในเดือนกันยายน ค.ศ. 1938 ทำให้ไรช์ที่สามควบคุมซูเดเทินลันด์ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมและมีประชากรชาติพันธุ์เยอรมันครอบงำอยู่ ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1939 จากนั้นฮิตเลอร์รื้อถอนเชโกสโลวาเกียโดยรับรองเอกราชของสโลวาเกียแล้วทำให้ชาติส่วนที่เหลือเป็นรัฐในอารักขา ในปีเดียวกัน ลิทัวเนียคืนเมเมิลลันด์ให้เยอรมนี

ด้วยอันชลุส สาธารณรัฐออสเตรียที่พูดภาษาเยอรมันไม่เป็นรัฐเอกราชอีกต่อไป เมื่อสงครามโลกครั้งที่สอง พวกอนุรักษนิยม ประชาธิปไตยสังคม และคอมมิวนิสต์ตั้งรัฐบาลออสเตรียชั่วคราวภายใต้การนำของคาร์ล เรนเนอร์เมื่อวันที่ 27 เมษายน ค.ศ. 1945 (เมื่อเวียนนาถูกกองทัพแดงยึดครองแล้ว) รัฐบาลยกเลิกอันชลุสในวันเดียวกันและฝ่ายสัมพันธมิตรรับรองตามกฎหมายในหลายเดือนถัดมา ใน ค.ศ. 1955 สนธิสัญญารัฐออสเตรียสถาปนาออสเตรียเป็นรัฐเอกราชอีกครั้ง

อ้างอิง

[แก้]
  1. "Anschluss". Britannica. Retrieved 2014-21-05.
  2. CBS World Roundup Broadcast 13 March 1938 Columbia Broadcasting System retrieved from http://otr.com/ra/news/CBS_Roundup_3-13-1938.mp3 เก็บถาวร 2016-03-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  3. Nazis Take Austria, The History Place, retrieved from http://www.historyplace.com/worldwar2/triumph/tr-austria.htm
  4. Austria: A Country Study. Select link on left for The Anschluss and World War II. Eric Solsten, ed. (Washington, D. C.: Federal Research Division of the Library of Congress, 1993).
  5. Emil Müller-Sturmheim 99.7%: a plebiscite under Nazi rule Austrian Democratic Union London, England 1942