ข้ามไปเนื้อหา

ฟาโรห์อเมเนมเฮตที่ 3

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

อเมเนมเฮตที่ 3 (อียิปต์โบราณ: Ỉmn-m-hꜣt) หรือที่รู้จักในพระนาม อเมเนมฮัตที่ 3 เป็นฟาโรห์แห่งอียิปต์โบราณพระองค์ที่หกจากราชวงศ์ที่สิบสองในช่วงสมัยราชอาณาจักรกลาง โดยฟาโรห์เซนุสเรตที่ 3 ซึ่งเป็นพระราชบิดาของพระองค์ ได้ครองพระราชบัลลังก์ในฐานะผู้สำเร็จราชการร่วมกับพระองค์เป็นระยะเวลายี่สิบปี ในรัชสมัยของพระองค์ พระราชอาณาจักรอียิปต์ได้รุ่งเรืองถึงจุดสูงสุดทางด้านวัฒนธรรมและเศรษฐกิจในช่วงสมัยราชอาณาจักรกลาง

รูปสลักจากพิพิธภัณฑ์ของสะสมอียิปต์โบราณเฮอร์มิเทจ

พระราโชบายทางการทหารและการภายในพระราชอาณาจักรที่ที่เข้มงวดรุนแรงของฟาโรห์เซนุสเรตที่ 3 ซึ่งได้ปราบปรามในดินแดนนิวเบียอีกครั้งและแย่งชิงอำนาจจากบรรดาผู้ปกครองท้องถิ่น ซึ่งส่งต่อให้ฟาโรห์อเมเนมเฮตที่ 3 ขึ้นปกครองอียิปต์ในช่วงที่มีเสถียรภาพและสงบสุข พระองค์ได้ทรงนำความพยายามของพระองค์ไปสู่แผนการก่อสร้างที่ยิ่งใหญ่ โดยเน้นที่โอเอซิสแห่งไฟยุมโดยเฉพาะ ที่นี่พระองค์ได้ทรงอุทิศวิหารแด่กับเทพโซเบค และวิหารน้อยถวายแด่เทพีเรเนนูเทต ทรงโปรดให้สร้างรูปสลักขนาดมหึมาสองรูปของพระองค์ในเบียห์มู และทรงมีส่วนสนับสนุนในการขุดทะเลสาบโมเอริส พระองค์โปรดให้สร้างสร้างพีระมิดสองแห่งของพระองค์ที่ดาห์ชูร์และฮาวารา พระองค์จึงกลายเป็นฟาโรห์พระองค์แรกตั้งแต่รัชสมัยฟาโรห์สเนฟรูจากราชวงศ์ที่สี่ที่ได้ทรงโปรดให้สร้างพีระมิดมากกว่าหนึ่งแห่ง ใกล้กับพีระมิดในฮาวาราของพระองค์คือ พีระมิดแห่งเนเฟรูพทาห์ ซึ่งเป็นพระราชธิดาของพระองค์ และการได้มาซึ่งทรัพยากรสำหรับแผนการก่อสร้าง พระองค์ได้ใช้ประโยชน์จากเหมืองหินในอียิปต์ อัญมณีเทอร์ควอยซ์และแร่ทองแดงจากคาบสมุทรไซนาย เหมืองที่ยังใช้ประโยชน์อื่น ๆ รวมถึงเหมืองหินชีสต์ที่วาดิ ฮัมมามัต แร่อเมทิสต์จากเหมืองในวาดิ เอล-ฮูดิ หินปูนชั้นดีจากเหมืองในทูรา หินอลาบาสเตอร์จากเหมืองในฮัตนุบ หินแกรนิตสีแดงจากเหมืองในอัสวาน และหินไดโอไรต์จากเหมืองในนิวเบีย คลังจารึกขนาดใหญ่เป็นหลักฐานยืนยันถึงการทำกิจกรรมที่สถานที่เหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เซราบิต เอล-คาดิม มีหลักฐานการเคลื่อนไหวทางทหารเพียงเล็กน้อยในรัชสมัยของพระองค์ แม้ว่าจะมีหลักฐานเพียงเล็กน้อยที่คุมมาในปีที่ 9 ของพระองค์ พระองค์ยังส่งคณะเดินทางไปยังดินแดนพุนต์อีกจำนวนหนึ่ง

โดยสรุปแล้ว ฟาโรห์อเมเนมเฮตที่ 3 ทรงครองราชย์เป็นเวลาอย่างน้อย 45 ปี ถึงแม้ว่าบันทึกปาปิรุสที่กล่าวถึงปีที่ 46 ก็น่าจะเป็นของรัชสมัยของพระองค์เช่นกัน ในช่วงสิ้นรัชสมัยของพระองค์ พระองค์ทรงแต่งตั้งฟาโรห์อเมเนมเฮตที่ 4 ขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการร่วม ตามที่บันทึกไว้ในจารึกจากเซมนาในนิวเบีย ซึ่งปีที่ 1 ของฟาโรห์อเมเนมเฮตที่ 4 เท่ากับปีที่ 44 หรือปีที่ 46–48 ของฟาโรห์อเมเนมเฮตที่ 3 เวลาต่อมาฟาโรห์โซเบคเนเฟรูได้ทรงสืบทอดพระราชบัลลังก์ต่อจากฟาโรห์อเมนเนมเฮตที่ 4 ในฐานะผู้ปกครองพระองค์สุดท้ายของราชวงศ์ที่สิบสองแห่งอียิปต์

พระราชวงศ์

[แก้]
สร้อยประดับพระอุราของฟาโรห์อเมเนมเฮตที่ 3 จากสุสานของเจ้าหญิงเมเรเรต หนึ่งในพระภคินีหรือพระขนิษฐา

ฟาโรห์อเมเนมเฮตที่ 3 เป็นพระราชโอรสของฟาโรห์เซนุสเรตที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ปกครองก่อนหน้าพระองค์[4] พระองค์มีพระภคินีและพระขนิษฐาหลายพระองค์คือ เจ้าหญิงเมเนต, เจ้าหญิงเมเรเรต, เจ้าหญิงเซเนตเซเนบติซิ, เจ้าหญิงซิตฮาธอร์ และเจ้าหญิงคเนเมต-[5] ที่ทราบพระนามเพียงบางส่วน พระองค์มีพระมเหสีสองพระองค์ที่เป็นที่ทราบ คือ พระนางอาอัต และพระนางเคเนเมตเฟอร์เฮดเจต ซึ่งทั้งสองพระองค์ถูกฝังอยู่ในพีระมิดแห่งอเมเนมเฮตที่ 3 ที่ดาห์ชูร์[6][7] เฮเทปติ ซึ่งเป็นพระราชมารดาของฟาโรห์อเมเนมเฮตที่ 4 ซึ่งอาจจะเป็นพระมเหสีอีกหนึ่งพระองค์[8] พระองค์มีพระราชธิดาหนึ่งพระองค์พระนามว่า เนเฟรูพทาห์ ซึ่งดูเหมือนจะทรงถูกเตรียมพร้อมเป็นอย่างดีในฐานะองค์รัชทายาท เนื่องจากพระนามของพระองค์ถูกใส่ไว้ในคาร์ทูช เดิมทีพระองค์ถูกฝังอยู่ที่พีระมิดแห่งที่สองของฟาโรห์อเมเนมเฮตที่ 3 ในฮาวารา แต่ในที่สุดก็พระศพก็ถูกย้ายไปที่พีระมิดของพระองค์เอง[9] พระราชโอรส-ธิดาทั้งสองพระองค์ในฟาโรห์อเมเนมเฮตที่ 3 ซึ่งก็ทรงได้ขึ้นครองราชย์เป็นฟาโรห์ คือ ฟาโรห์อเมเนมเฮตที่ 4 ผู้เป็นพระราชโอรส และฟาโรห์โซเบคเนเฟรู[10] ผู้เป็นพระราชธิดา แต่ก็มีความเห็นที่ว่า ฟาโรห์อเมเนมเฮตที่ 4 อาจจะเป็นพระราชนัดดาแทน[11] หลักฐานการฝังพระศพของเจ้าหญิงอีกสามพระองค์คือ เจ้าหญิงฮาธอร์โฮเทป, เจ้าหญิงนับโฮเทป และเจ้าหญิงซิตฮาธอร์ ที่ในพีระมิดแห่งดาห์ชูร์ แต่ไม่แน่ชัดว่าเจ้าหญิงเหล่านี้เป็นพระราชธิดาในฟาโรห์อเมเนมเฮตที่ 3 หรือไม่ เนื่องจากพีระมิดแห่งนี้ใช้สำหรับฝังพระศพของเชื้อพระวงศ์ตลอดราชวงศ์ที่สิบสามแห่งอียิปต์[12]

รัชสมัย

[แก้]
สฟิงซ์นอนราบของฟาโรห์อเมเนมเฮตที่ 3 ซึ่งเป็นหนึ่งในสิ่งที่เรียกว่า "lสฟิงซ์ฮิกซอส"

ในปีที่ 20 แห่งการครองราชย์ของฟาโรห์เซนุสเรตที่ 3 พระองค์ทรงได้แต่งตั้งฟาโรห์อเมเนมเฮตที่ 3 ผู้เป็นพระราชโอรส ขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการร่วม[13] และดูเหมือนว่าการสำเร็จราชการร่วมครั้งนี้จะมีขึ้นจากตัวชี้วัดหลายประการ ถึงแม้ว่านักวิชาการบางคนจะไม่เห็นด้วยและบางคน กลับโต้แย้งในการครองราชย์เพียงพระองค์เดียวสำหรับฟาโรห์ทั้งสองพระองค์[14] ในอีกยี่สิบปีต่อมา ฟาโรห์เซนุสเรตที่ 3 และฟาโรห์อเมเนมเฮตที่ 3 ได้ครองพระราชบัลลังก์ร่วมกัน โดยฟาโรห์อเมเนมเฮตที่ 3 ได้ขึ้นเป็นกษัตริย์เช่นกัน[15][4][16] ซึ่งสันนิษฐานได้ว่า ฟาโรห์อเมเนมเฮตที่ 3 เข้ามามีบทบาทหลักในปีที่ 19 ของฟาโรห์เซนุสเรตที่ 3 และเป็นปีที่ 1 ของ พระองค์[16][15] การครองราชย์ของพระองค์เป็นเวลาอย่างน้อย 45 ปี แม้ว่าจะมีเศษบันทึกปาปิรัสจากเอล-ลาฮูนที่กล่าวถึง 'ปีที่ 46 เดือน 1 แห่งอาเคต วันที่ 22' ซึ่งน่าจะเป็นวันที่พระองค์ยังปกครองอยู่เช่นกัน[15][17] และภายในชามจากเกาะแอลเลเฟนไทน์ที่ได้บันทึกว่า ปีที่ 46 เดือนสามแห่งเพเรต ซึ่งเป็นระยะเวลาสูงสุดเท่าที่ทราบ คอร์เนลิอุส ฟอน พิลกริม นักไอยคุปต์วิทยาได้สนับสนุน แต่ถูกปฏิเสธโดยนักไอยคุปย์วิทยา โวลแฟรม กราเจ็ตสกี ซึ่งจัดให้อยู่ช่วงสมัยราชอาณาจักรกลางตอนต้น[18] ในรัชสมัยที่ 30 ของพระองค์ พระองค์ทรงเฉลิมฉลองเทศกาลเซดตามที่กล่าวไว้ในจารึกหลายฉบับ[19] รัชสมัยของพระองค์ได้สิ้นสุดลงหลังจากการสำเร็จราชการร่วมกับฟาโรห์อเมเนมเฮตที่ 4 ผู้เป็นพระราชโอรสเพียงระยะเวลาสั้น ๆ[15][20] มีหลักฐานสนับสนุนในส่วนนี้มาจากจารึกที่เซมนา ซึ่งปีที่ 1 แห่งการครองราชย์ของฟาโรห์อเมเนมเฮตที่ 4 เท่ากับปีที่ 44 หรือบางทีอาจจะปีที่ 46–48 ของฟาโรห์อเมเนมเฮตที่ 3[15][21][22]

ฟาโรห์ทั้งพระองค์ได้ทรงปกครองอียิปต์ในช่วงเวลายุคทองของสมัยราชอาณาจักรกลาง ฟาโรห์เซนุสเรตที่ 3 ได้ทรงดำเนินการปฏิบัติการทางทหารเชิงรุก เพื่อยับยั้งการบุกรุกจากชนเผ่าในนิวเบีย[4][23] การดำเนินการทางทหารนี้ดำเนินมาเป็นเวลาหลายปีและสร้างความรุนแรงต่อชนพื้นเมือง รวมถึงการสังหารบุรุษ การกดขี่สตรีและเด็ก และการเผาไร่นา[24] นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงส่งคณะเดินทางทางทหารไปยังซีเรีย-ปาเลสไตน์ ซึ่งเป็นศัตรูของอียิปต์ตั้งแต่รัชสมัยของฟาโรห์เซนุสเรตที่ 1[23][25] พระราโชบายภายในของพระองค์มุ่งเป้าไปที่การเพิ่มอำนาจของผู้ปกครองระดับท้องถิ่น โดยถ่ายโอนอำนาจกลับไปยังฟาโรห์[26][4] และเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่า พระองค์รงรื้อระบบการปกครองแบบมีผู้ปกครองท้องถิ่นหรือไม่[25] นอกจากนี้ พระองค์ยังเป็นต้นแบบของตัวละครในตำนาน เซซอสทริส ที่รจนาขึ้นโดย มาเนโท และเฮโรโดตัส[27][24] จากผลของพระราโชบายการบริหารและการทหารของฟาโรห์เซนุสเรตที่ 3 ส่งผลให้ฟาโรห์อเมเนมเฮตที่ 3 ทรงได้ขึ้นปกครองพระราชอาณาจักรอียิปต์ที่สงบสุขและมั่นคง[4]

พระราชอาณาจักรกลางได้เจริญรุ่งเรืองที่ขีดสุดทางด้านวัฒนธรรมและเศรษฐกิจภายใต้ปกครองของฟาโรห์อเมเนมเฮตที่ 3 [20][28][29] การใช้ประโยชน์จากเหมืองหินในอียิปต์และอัญมณีเทอร์ควอยซ์และแร่ทองแดงในคาบสมุทรไซนายถึงจุดสูงสุดในช่วงรัชสมัยของพระองค์[20] จารึกข้อความมากกว่า 50 ฉบับถูกจารึกไว้ที่เซราบิต เอล-คาดิม, วาดิ มักฮารา และวาดิ นาสบ์[20][30] ซึ่งได้มีการตั้งถิ่นฐานใกล้ถาวรก่อตัวขึ้นรอบตัวเหมืองหินเหล่านั้น[20][31] เหมืองหินที่วาดิ ฮัมมามัต (หินซีสต์), วาดิ เอล-ฮูดิ (แร่อเมทิสต์), ทูรา (หินปูน), ฮัตนุบ (หินอลาบาสเตอร์), อัสวาน (หินแกรนิตสีแดง) และนิวเบีย (หินไดโอไรต์) ทั้งหมดก็ได้ถูกประโยชน์เช่นกัน[20][32][33] ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นถึงการมีแผนการก่อสร้างที่ยิ่งใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการพัฒนาในไฟยุม[20][31] แผนการก่อสร้างของพระองค์รวมถึงพระบรมราชานุเสาวรีย์ในคาตานา, เทล เอล-ยาฮูดัยยา, บูบาสติส[4] การขยายวิหารแห่งเทพีฮาธอร์ที่เซราบิต เอล-คาดิม และวิหารแห่งเทพพทาห์ในเมมฟิส การก่อสร้างวิหารในกูบัน (Quban) และการเสริมกำลังป้อมปราการที่เซมนา[20][28] จากเกาะแอลเลเฟนไทน์มีชิ้นส่วนของจารึกอาคารซึ่งมีอายุย้อนไปถึงถึงปีที่ 44 แห่งการครองราชย์ของพระองค์ พบจารึกที่คล้ายกันที่เมืองเอลกับ การค้นพบอีกอย่างหนึ่งที่เกาะแอลเลเฟนไทน์คือทับหลังประตูจากราชวงศ์ที่สิบเอ็ดแห่งอียิปต์ ซึ่งที่นั่นฟาโรห์อเมเนมเฮตที่ 3 ได้เพิ่มคำจารึกลงช่วงปีที่ 34[34] แห่งการครองราชย์ของพระองค์ อย่างไรก็ตาม ไม่มีพื้นที่ใดที่ได้รับความสนใจมากเท่ากับโอเอซิสแห่งไฟยุม ซึ่งฟาโรห์อเมเนมเฮตที่ 3 มีความเกี่ยวข้องมากที่สุด[20][4]

ในโอเอซิสแห่งไฟยุม พระองค์ได้ทรงโปรดให้สร้างวิหารขนาดใหญ่ที่อุทิศให้แด่เทพโซเบคที่คิมาน-ฟาราส[28][29] พระองค์โปรดให้สร้างวิหารน้อยเพื่ออุทิศให้แด่เทพีเรเนนูเทตที่เมดิเนต มาดิ[20] ในเบียห์มู พระองค์ทรงโปรดให้สร้างสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ด้วยรูปสลักพระองค์หินควอตซ์ขนาดมหึมาสูง 12 ม. (39 ฟุต) สองรูป[35][31][4] และทะเลสาบโมเอริส ซึ่งพระองค์ได้รับยืนยันว่าพระองค์เป็นผู้ทรงโปรดให้ขุดขึ้น ถึงแม้ว่าฟาโรห์เซนุสเรตที่ 3 จะทรงเป็นผู้ดำเนินการการก่อสร้างนี้มากน้อยเพียงใดนั้นยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด[31][4] แต่ฟาโรห์เซนุสเรตที่ 3 ได้ทรงเฝ้าจับตาดูระดับน้ำท่วมของแม่น้ำไนล์อย่างใกล้ชิด ดังแสดงให้เห็นโดยจารึกที่คุมมาและเซมนา โดยระดับแม่น้ำไนล์สูงสุดอยู่ในปีที่ 30 แห่งการครองราชย์ของพระองค์ที่ 5.1 ม. (17 ฟุต) แต่ตามมาด้วยการลดลงอย่างมากจนวัดได้ 0.5 ม. (1.6 ฟุต) ในปีที่ 40 แห่งการครองราชย์ของพระองค์[32] ผลงานที่ยืนยงที่สุดของพระองค์คือ พีระมิดสองแห่งที่พระองค์โปรดให้สร้างขึ้นสำหรับพระองค์เอง[20] ซึ่งเป็นฟาโรห์พระองค์ตั้งแต่รัชสมัยฟาโรห์สเนฟรูจากราชวงศ์ที่สี่ที่สร้างพีระมิดมากกว่าหนึ่งแห่ง[36] พีระมิดของพระองค์ตั้งอยู่ที่ดาห์ชูร์และฮาวารา[20][37]

พีระมิด

[แก้]

พีระมิดแห่งดาห์ชูร์

[แก้]
พีระมิดดำแห่งอเมเนมเฮตที่ 3

งานก่อสร้างพีระมิดที่ดาห์ชูร์ หรือ 'พีระมิดดำ' (อียิปต์โบราณ: Sḫm Ỉmn-m-hꜣt 'อเมเนมเฮต ผู้ทรงแข็งแกร่ง'[38] หรือ Nfr Ỉmn-m-hꜣt 'อเมเนมเฮต ผู้ทรงสิริโฉม'[39]/'สมบูรณ์พร้อมแห่งอเมเนมเฮต'[40]) ได้เริ่มขึ้นในปีแรกแห่งรัชสมัยฟาโรห์อเมเนมเฮตที่ 3[38][41] แกนพีระมิดสร้างด้วยอิฐโคลนทั้งหมดและทำให้มั่นคงแข็งแรงผ่านการสร้างแกนขั้นบันไดแทนที่จะเป็นโครงหิน[42][41] โครงสร้างดังกล่าวถูกหุ้มด้วยหินปูนจากทูราสีขาวละเอียดหนา 5 ม. (16 ฟุต; 9.5 ลูกบาศก์) โดยยึดเข้าด้วยกันด้วยหมุดไม้[42] พีระมิดมีความยาวฐาน 105 เมตร (344 ฟุต; 200 ลูกบาศก์) ซึ่งเอียงไปทางยอดที่ระหว่าง 54°30′ ถึง 57°15′50″ ถึงความสูง 75 เมตร (246 ฟุต; 143 ลูกบาศก์) มีปริมาตรรวม 274,625 ลบ.ม. (9,698,300 ลบ.ฟุต)[43][44] จุดสุดยอดของโครงสร้างได้รับการสวมมงกุฎพีระมิดด้วยหินแกรนิตสีเทาสูง 1.3 ม. (4.3 ฟุต)[45] ปัจจุบันนี้อยู่ในพิพิธภัณฑ์อียิปต์ในกรุงไคโร หมายเลข เจอี 35133[46] พีระมิดมีแถบข้อความอักษรอียิปต์โบราณอยู่ทั้งสี่ด้าน[47] การที่พระนามของเทพอามุนถูกลบออกไปแล้วนั้นเป็นผลจากฟาโรห์อาเคนอาเตน เมื่อครั้งตอนที่พระองค์ทรงปฏิรูปศาสนาอียิปต์โบราณ[46]

มงกุฎพีระมิดของพีระมิดดำ

ด้านหน้าของพีระมิดมีวิหารฝังพระศพที่มีการออกแบบเรียบง่ายประกอบด้วยโถงถวายและลานเสาแบบเปิด รอบ ๆ มีกำแพงอิฐโคลนสองด้านล้อมรอบ จากวัดฝังพระศพมีทางเดินเปิดที่มีกำแพงอิฐโคลนนำไปสู่วิหารอีกแห่งหนึ่ง[48] ด้านล่างพีระมิดได้มีกาีสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีทางเดินและห้องต่างๆ ที่สลับซับซ้อน โดยมีห้องฝังพระศพสำหรับฟาโรห์และพระราชินีสองพระองค์[49][46] พระราชินีทั้งสองพระองค์คือ พระนางอาอัต และพระราชินีไม่ทราบพระนามถูกฝังไว้ที่นี่ และส่วนที่เหลือก็ถูกนำออกจากห้องฝังพระศพแล้ว[50][47] แต่พระศพฟาโรห์ไม่ได้ถูกฝังที่นี่[51] ไม่นานหลังจากที่โครงสร้างเสริมพีระมิดสร้างเสร็จราวปีที่ 15 ของรัชสมัยฟาโรห์อเมเนมเฮตที่ 3 โครงสร้างพื้นฐานเริ่มที่จะหักโดยมีรอยแตกปรากฏขึ้นภายใน อันเป็นผลมาจากการซึมของน้ำใต้ดิน[51][52] มีความพยายามอย่างเร่งด่วนเพื่อป้องกันการพังทลายของโครงสร้าง ซึ่งประสบความสำเร็จ แต่ในขณะที่ฟาโรห์สเนเฟรูตัดสินใจที่จะโปรดให้สร้างพีระมิดโค้งงอของพระองค์ ฟาโรห์อเมเนมเฮตที่ 3 ก็ทรงเลือกที่จะโปรดให้สร้างพีระมิดหลังใหม่เช่นกัน[52]

พีระมิดแห่งฮาวารา

[แก้]
พีระมิดแห่งอเมเนมเฮตที่ 3 ในฮาวารา

พีระมิดแห่งที่สองตั้งอยู่ฮาวารา (อียิปต์โบราณ: ไม่แน่ชัด, อาจจะเป็น ꜥnḫ Ỉmn-m-hꜣt 'อเมเนมเฮต ผู้ทรงมีพระชนม์ชีพ')[52] ในโอเอซิสแห่งไฟยุม[53] พีระมิดมีแกนที่สร้างด้วยอิฐโคลนทั้งหมดหุ้มด้วยหินปูนจากทูราสีขาวละเอียด[54][52] พีระมิดมีความยาวฐานระหว่าง 102 ม. (335 ฟุต; 195 ลูกบาศก์) และ 105 ม. (344 ฟุต; 200 ลูกบาศก์) โดยมีความเอียงที่ตื้นกว่าระหว่าง 48° ถึง 52° จนถึงความสูงสูงสุด 58 ม. (190 ฟุต; 111 ลูกบาศก์) มีปริมาตรรวม 200,158 ลบ.ม. (7,068,500 ลูกบาศก์ฟุต)[43][44] มุมเอียงที่ตื้นขึ้นเป็นขั้นตอนหนึ่งเพื่อป้องกันการถล่มและหลีกเลี่ยงการเกิดความล้มเหลวซ้ำเหมือนที่ดาห์ชูร์[52] ภายในโครงสร้างย่อย ช่างก่อสร้างได้ใช้มาตรการป้องกันเพิ่มเติม เช่น ปูหลุมในห้องด้วยหินปูน[55] ห้องฝังพระศพถูกสกัดจากบล็อกหินควอตซ์บล็อกเดียวขนาด 7 ม. (23 ฟุต) x 2.5 ม. (8.2 ฟุต) x 1.83 ม. (6.0 ฟุต) และหนักกว่า 100 ตัน (ราว 110 ตัน)[55][52]

ก่อนที่พีระมิดจะวางวิหารฝังพระศพ ซึ่งได้รับการระบุว่าเป็น 'เขาวงกต' ซึ่งนักเดินทาง อย่างเช่น เฮโรโดตัสและสตราโบ ได้กล่าวถึงและเป็นรากฐานสำหรับ 'เขาวงกตแห่งไมนอส' [56][52] วิหารได้ถูกทำลายในสมัยโบราณและสามารถสร้างขึ้นใหม่ได้เพียงบางส่วนเท่านั้น[56][52] แผนผังอาคารครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 28,000 ตร.ม. (300,000 ตารางฟุต) ตามบันทึกของสตราโบ วิหารนี้มีห้องมากเท่ากับเขตปกครองในอียิปต์[57] ขณะที่เฮโรโดตัสเขียนเกี่ยวกับการนำ 'จากลานสนามไปสู่ห้องต่างๆ[52] รูปสลักหินปูนของเททพโซเบคและเทพีฮาธอร์อีกรูปก็ถูกค้นพบที่นี่[57] เช่นเดียวกับศาลเทพเจ้าที่ทำจากหินแกรนิตสองแห่งซึ่งแต่ละแห่งมีรูปสลักของฟาโรห์อเมเนมเฮตที่ 3 จำนวนสองรูป[52] กำแพงล้อมรอบทิศเหนือ-ทิศใต้ล้อมรอบพื้นที่ทั้งหมด[57] ซึ่งวัดได้ 385 ม. (1,263 ฟุต) x 158 ม. (518 ฟุต)[52] ทางเดินหลวงได้รับการระบุอยู่ใกล้กับมุมตะวันตกเฉียงใต้ของพีระมิด แต่ยังไม่ได้มีการตรวจสอบทั้งวิหารและทางเดินหลวง[58]

เนเฟรูพทาห์

[แก้]

พีระมิดแห่งเนเฟรูพทาห์ถูกสร้างขึ้น 2 กม. (1.2 ไมล์) ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของพีระมิดแห่งฮาวาราของฟาโรห์อเมเนมเฮตที่ 3 พีระมิดแห่งนี้ถูกขุดค้นโดยนากิบ ฟารัก และซากี อิสกันเดอร์ ในปี ค.ศ. 1956[59] โครงสร้างส่วนบนของพีระมิดใกล้จะสูญหายไปโดยสิ้นเชิง และพบว่าโครงสร้างพื้นฐานเต็มไปด้วยน้ำใต้ดิน แต่การฝังพระศพของพระองค์ก็ไม่ถูกรื้อค้น รวมทั้งโลงพระศพและอุปกรณ์ในพิธีพระศพของพระองค์[60]

การจัดคณะเดินทางไปต่างแดน

[แก้]
A map of expedition sites
เหมืองไซนาย
เหมืองไซนาย
ทูรา
ทูรา
เกเบล เซอิต
เกเบล เซอิต
ฮัตนุบ
ฮัตนุบ
วาดิ ฮัมมามัติ
วาดิ ฮัมมามัติ
อัสวาน
อัสวาน
วาดิ เอล-ฮูดิ
วาดิ เอล-ฮูดิ
เกเบล เอล-อัสร์
เกเบล เอล-อัสร์
เหมืองขุดในรัชสมัยของฟาโรห์อเมเนมเฮตที่ 3

คณะเดินทางทางทหาร

[แก้]

มีหลักฐานน้อยมากที่เกี่ยวข้องการเดินทางทางทหารในช่วงรัชสมัยของฟาโรห์อเมเนมเฮตที่ 3 จารึกชิ้นหนึ่งได้บันทึกภารกิจเล็ก ๆ ในช่วงที่ 9 มันถูกพบในนิวเบียใกล้กับป้อมปราการคุมมา ซึ่งปรากฏข้อความขนาดสั้นรายงานว่า ภารกิจทางทหารได้รับชี้แนะจากปากของเนเคน ซามอนต์ ซึ่งระบุว่าเขาได้ออกเดินทางไปทางเหนือพร้อมกับกองทหารเล็ก ๆ และไม่มีใครเสียชีวิต เมื่อกลับมาทางใต้[61]

คาบสมุทรไซนาย

[แก้]

กิจกรรมของฟาโรห์อเมเนมเฮตที่ 3 ในคาบสมุทรซีนายได้รับการยืนยันอย่างแน่ชัดว่า[20][30] ได้มีการออกเดินทางไปยังวาดิ มักฮารา ในปีที่ 2, 30 และ 41–43 โดยมีการเดินทางเพิ่มอีกหนึ่งครั้งในปีที่ 20 + x ที่ยังไม่ทราบ[62] วิหารแห่งเทพฮาธอร์ได้รับการตกแต่งระหว่างการเดินทางในปีที่ 2 ซึ่งเป็นการเดินทางเดียวที่มีการขุดทองแดง[63] จารึกที่เกี่ยวข้องซึ่งพบในอายน์ ซุคนา ชี้ให้เห็นว่า การเดินทางนี้เริ่มขึ้นที่เมืองเมมฟิสและอาจจะข้ามทะเลแดงไปยังคาบสมุทรไซนายโดยทางเรือ[64] การเดินทางครั้งเดียวในวาดิ นาสบ์ ได้รับการยืนยันในปีที่ 20 แห่งการครองราชย์ของพระองค์[65] ได้มีการเดินทางไปยังเซราบิต เอล-คาดิมมากถึง 18 ถึง 20 ครั้ง ซึ่งได้รับการยืนยันในรัชสมัยของฟาโรห์อเมเนมเฮตที่ 3[66] คือ ในปีที่ 2, 4–8, 13, 15, 20, 23, 25, 27, 30, 38, 40, 44, และอาจเป็นไปได้ในปีที่ 18, 29 และ 45 ปี ควบคู่ไปกับ 10 + x และ x + 17 ปี และมีจารึกมากมายที่ไม่สามารถระบุช่วงเวลาได้[67]

อียิปต์

[แก้]

จารึกหนึ่งฉบับที่บันทึกขึ้นในปีที่ 43 แห่งรัชสมัยของฟาโรห์อเมเนมเฮตที่ 3 มาจากทูรา และหมายถึงการขุดหินปูนที่นั่นเพื่อสร้างวัดฝังพระศพ ไม่ว่าจะที่ดาห์ชูร์หรือฮาวารา[68] และจารึกมาจากเทือกเขาเกเบล เซอิต ซึ่งอยู่ห่างจากราส กาเรบไปทางทิศใต้ราว 50 กม. (31 ไมล์) บนชายฝั่งทะเลแดงแสดงกิจกรรมที่เหมืองกาเลนาที่นั่น จารึกที่ระบุเวลาเพียงบางส่วนที่บอกว่ามันถูกจารึกไว้ช่วงหลังปีที่ 10 แห่งการครองราชย์[69][70]

มีการบันทึกการเดินทางหลายครั้งไปยังวาดิ ฮัมมามัต ซึ่งเป็นแหล่งที่ขุดเจาะหิน[20][71] ช่วงเวลาดังกล่าวย้อนไปจนถึงปีที่ 2, 3, 19, 20 และ 33[71] จารึกสามชิ้นจากปีที่ 19 ได้บันทึกเกี่ยวกับทาสกรรมกรและทหารที่จ้างงาน และผลของความพยายามส่งผลให้มีการสร้างรูปสลักฟาโรห์อิริยาบถประทับนั่งสูง 2.6 ม. (8.5 ฟุต) จำนวน 10 รูป รูปสลักถูกส่งไปยังเขาวงกตที่ฮาวารา[68][72] มีการเดินทางไปยังวาดิ เอล-ฮูดิเพียงไม่กี่ครั้ง ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของอัสวานที่ชายแดนทางใต้ของอียิปต์ซึ่งเป็นแหล่งขุดแร่อเมทิสต์ จารึกนี้มีอายุย้อนไปจนถึงปีที่ 1, 11, 20 และ 28[73][74][75] มีการเดินทางไปยังวาดิ อาบู อะกัก ซึ่งใกล้กับอัสวานในปีที่ 13[76]

นิวเบีย

[แก้]

ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอาบู ซิมเบล และทางตะวันตกของทะเลสาบนาสเซอร์ เป็นที่ตั้งของเหมืองหินเกเบล เอล-เอสร์ ในนิวเบียล่าง ซึงเป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นแหล่งของหินไดออไรต์สำหรับรูปสลักอิริยาบถประทับนั่งของฟาโรห์คาเฟรจำนวนหกรูป สถานที่ดังกล่าวยังเป็นแหล่งของหินไนส์และแร่รัตนชาติแคลเซโดนีในช่วงสมัยราชอาณาจักรกลางอีกด้วย[77] แหล่งขุดแร่แคลเซโดนี ยังเป็นที่รู้จักกันในนาม 'สันเขาจารึก' เนื่องจากเป็นสถานที่ซึ่งที่มีจารึกและการถวายเครื่องบูชาตามคำปฏิญาณ[78] จารึกเก้าชิ้นเหล่านี้มีอายุย้อนไปถึงรัชสมัยฟาโรห์อเมเนมเฮตที่ 3 โดยเฉพาะช่วงปีที่ 2 และ 4[79]

พุนต์

[แก้]

จารึกถูกค้นพบที่เมอร์ซา ซึ่งอยู่บนชายฝั่งทะเลแดงโดยโรซานนา พิเรลลี ในปี ค.ศ. 2005 ซึ่งมีรายละเอียดเกี่ยวกับการเดินทางไปยังพุนต์ ในรัชสมัยของฟาโรห์อเมเนมเฮตที่ 3 ได้มีการจัดคณะเดินทางโดยเซเนเบฟ เจ้าพนักงานราชสำนักชั้นในช่วงรัชสมัยของพระองค์ ซึ่งแบ่งออกเป็นสองคณะเดินทาง ซึ่งคณะเดินทางแรกนำโดยอเมนโฮเทป และได้มุ่งหน้าไปยังพุนต์ เพื่อหาซื้อเครื่องหอม และคณะเดินทางที่สองนำโดยเบเนสุ ซึ่งเดินทางไปยังเหมืองที่เรียกว่า เบีย-พุนต์ เพื่อจัดหาโลหะที่แปลกใหม่[80][81] มีการเดินทางทั้งหมดระหว่างสองถึงห้าครั้ง ซึ่งจัดขึ้นระหว่างรัชสมัยของฟาโรห์อเมเนมเฮตที่ 3[82] มีการค้นพบจารึกสองชิ้นจากเหมืองดังกล่าวมีการระบุช่วงเวลาและกิจกรรมที่นั่นในปีที่ 23 และ 41 แห่งการครองราชย์ของพระองค์[83]

การพัฒนาชลประทานในไฟยุม

[แก้]

ในช่วงรัชสมัยของฟาโรห์อเมเนมเฮตที่ 3 พระองค์ยังคงดำเนินแผนพัฒนาที่ริเริ่มโดยฟาโรห์เซนุสเรตที่ 2 เพื่อเชื่อมโยงโอเอซิสแห่งไฟยุม กับบาห์ร ยูสเซฟ[84] แผนพัฒนานี้ได้มีการเวนคืนที่ดินบริเวณปลายน้ำริมทะเลสาบโมเอริส เพื่อพัฒนาพื้นที่ทางการเกษตร[85] หุบเขาที่ก่อตัวขึ้นตามธรรมชาติยาว 16 กม. (9.9 ไมล์) และกว้าง 1.5 กม. (0.93 ไมล์) ถูกตัดเป็นคลองเพื่อเชื่อมที่ราบลุ่มกับบาห์ร ยูสเซฟ คลองที่ถูกตัดนั้นมีความลึก 5 ม. (16 ฟุต) และให้ตลิ่งชันในอัตราส่วน 1:10 และความเอียงเฉลี่ย 0.01° ตลอดความยาวของคลอง[86] เป็นที่รู้จักกันในนามว่า เมอร์-เวอร์ หรือ คลองขนาดใหญ่[87] พื้นที่นี้ยังคงใช้งานต่อไปจนกระทั่งถึง 230 ปีก่อนคริสตกาล เมื่อแม่น้ำไนล์สาขาย่อยในบริเวณลาฮูนได้เหือดแห้งไป[88]

ประติมากรรม

[แก้]

ฟาโรห์อเมเนมเฮตที่ 3 และฟาโรห์เซนุสเรตที่ 3 เป็นที่มีหลักฐานที่ดีที่สุดในช่วงสมัยราชอาณาจักรกลางด้วยจำนวนของรูปสลัก โดยมีรูปสลักประมาณ 80 รูปที่สามารถกำหนดผู้สร้างได้ ประติมากรรมของฟาโรห์อเมเนมเฮตที่ 3 ผู้เป็นผู้สืบทอดพระราชบัลลังก์จากฟาโรห์เซนุสเรตที่ 3[89] รูปสลักของพระองค์มีลักษณะที่เป็นธรรมชาติมากขึ้น ในขณะที่ยังคงรักษาภาพลักษณ์ในอุดมคติ[90] มีการใช้หินหลากหลายรูปแบบสำหรับประติมากรรมของฟาโรห์[91] มากกว่าที่ฟาโรห์พระองค์ใดมาก่อน นอกจากนี้ พระองค์ก่อเกิดประติมากรรมประเภทใหม่และการตีความใหม่ ซึ่งหลายชิ้นได้รับแรงบันดาลใจจากผลงานที่เก่ากว่ามาก[89] ลักษณะพระพักตร์กว้างสองประเภทสามารถระบุถึงฟาโรห์อเมเนมเฮตที่ 3 ได้:[92]

  • รูปแบบการแสดงออก: พระพักตร์ของฟาโรห์แสดงให้เห็นกล้ามเนื้อ โครงสร้างกระดูก และร่องที่ใบหน้าชัดเจน เห็นได้ชัดว่ารูปแบบนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากรูปปั้นของฟาโรห์เซนุสเรตที่ 3
  • รูปแบบที่ทำให้เป็นมนุษย์: พระพักตร์ถูกทำให้เรียบง่ายขึ้นโดยไม่มีการริ้วและร่องหรือมีเพียงเล็กน้อย และมีไม่การเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนระหว่างคุณสมบัติต่างๆ โดยทั่วไปแล้วสิ่งเหล่านี้มีการแสดงออกที่นุ่มนวลและดูอ่อนเยาว์กว่า[92]

ข้าราชบริพารในรัชสมัย

[แก้]

ราชมนตรีนามว่า เคติ (H̱ty) ซึ่งขึ้นมาทำหน้าที่ประมาณปีที่ 29 ในรัชสมัยของฟาโรห์อเมเนมเฮตที่ 3[93] ได้ปรากฏบนบันทึกกระดาษปาปิรุสจากเอล-ลาฮูน[94] ซึ่งเป็นบันทึกเอกสารทางธุรกิจที่เขียนโดยราชมนตรีในราชสำนัก เพื่อหารือเกี่ยวกับการจ่ายเงินของพี่น้องสองคนชื่อว่า ไอย์-เซเนบ (Ỉhy-snb) สำหรับการทำงานของพวกเขา[95] สมัยนั้น พี่ชายคนหนึ่งของไอย์-เซเนบนามว่า อังค์-เรน (ꜥnḫ-rn) ซึ่งเป็น 'ผู้ช่วยฝ่ายพระคลัง' แต่ต่อมาก็มีบันทึกปาปิรุสที่มีพินัยกรรมของเขาลงช่วงเวลาในปีที่ 44 ในรัชสมัยของฟาโรห์อเมเนมเฮตที่ 3 เขาได้กลายมาเป็น ' หัวหน้าฝ่ายงาน[96][97] บันทึกปาปรุสอย่างหลังนี้ได้ระบุไว้สองช่วงเวลาคือ ปีที่ 44, เดือนที่ 2 แห่งเชมู, วันที่ 13 และปีที่ 2, เดือนที่ 2 แห่งอาเคต, วันที่ 18[98] ช่วงเวลาหลังนั้นหมายถึงการครองราชย์ของฟาโรห์อเมเนมเฮตที่ 4 หรือฟาโรห์โซเบคเนเฟรู[99] ยังมีบันทึกอักษรเฮียราติกอีกชิ้นหนึ่งและรายการหินปูนที่ไอย์-เซเนบ และอังค์-เรน ปรากฏอยู่[100] พี่ชายอีกคนนามว่า ไอย์-เซเนบ วาห์ (Wꜣḥ) เป็นนักบวชแห่งวาบและเป็น 'หัวหน้าคณะนักบวชแห่งเซปดู เจ้าแห่งตะวันออก'[94][101]

คนุมโฮเทป (H̱nmw-ḥtp) เป็นข้าราชการที่ดำรงตำแหน่งอย่างน้อยสามทศวรรษตั้งแต่ปีที่ 1 แห่งรัชสมัยของฟาโรห์เซนุสเรตที่ 2 จนถึงรัชสมัยของฟาโรห์อเมเนมเฮตที่ 3[102] ในช่วงต้นรัชสมัยฟาโรห์เซนุสเรตที่ 2 เขามีตำแหน่งเป็นมหาดเล็ก แต่ในช่วงบั้นปลายของชีวิต เขามีตำแหน่งเป็นราชมนตรีและเจ้าพนักงานราชสำนักชั้นสูง[103] หลุมฝังศพของเขาในดาห์ชูร์ที่ยังเป็นหลักฐานยืนยันถึงตำแหน่งอื่นๆ อีกหลายตำแหน่ง รวมทั้ง "ข้าราชการระดับสูง" "ผู้ถือตราพระราชลัญจกร" "หัวหน้าคณะนักบวช" "เจ้าแห่งความลับ" และ "ผู้ดูแลนคร"[104][105]

ราชมนตรีอีกคนหนึ่งที่สามารถสืบทราบได้ในรัชสมัยคือ อเมนิ (Ỉmny)[106] อเมนิได้ปรากฏบนจารึกสองชิ้นจากอัสวาน[107] พบชิ้นแรกโดยฟลินเดอร์ส เพทรี บนถนนระหว่างฟิเลและ อัสวาน[108] และชิ้นที่สองพบโดยแฌ็ค เดอ มอร์แกง บนฝั่งขวาของแม่น้ำไนล์ระหว่างบาร์และอัสวาน[109] จารึกมีชื่อของสมาชิกในครอบครัวของเขา[110] รวมทั้งภรรยาของเขานามว่า เซโฮเทปอิบเร เนฮิ (Sḥtp-ỉb-rꜥ Nḥy) ผู้ที่ปรากฏบนจารึกในพิพิธภัณฑ์แห่งชาติโคเปนเฮเกนด้วย[111]

ผู้ดูแลพระคลังมหาสมบัตินามว่า อิเคอร์โนเฟรต (Y-ẖr-nfrt) ซึ่งขึ้นมาทำหน้าที่ในช่วงปีแรก ๆ ของรัชสมัยของฟาโรห์อเมเนมเฮตที่ 3[112] จากจารึกพิธีศพในพิพิธภัณฑ์อียิปต์ในกรุงไคโร[113] ข้าราชการคนนี้เป็นหนึ่งในผู้มีหลักฐานยืนยันที่ดีที่สุดในช่วงสมัยราชอาณาจักรกลาง แม้ว่าจะไม่ทราบเกี่ยวกับครอบครัวของเขาก็ตาม[112] จารึกพิธีศพของเขามีอายุย้อนไปถึงปีแรกของรัชสมัยของฟาโรห์อเมเนมเฮตที่ 3 และมีชื่อของเขาพร้อมกับชื่อตำแหน่งสามตำแหน่ง คือ 'ผู้ถือตราพระราชลัญจกรแห่งกษัตริย์อียิปต์ล่าง', 'พระสหายคนเดียวแห่งกษัตริย์' และ 'ผู้ดูแลพระคลังมหาสมบัติ'[114][115] ข่าวถูกกล่าวถึงในจารึกพิธีศพของ อเมนิ (Ỉmny) ผู้มีตำแหน่งเป็น 'เสนาธิการสำนักราชมนตรี' ส่วนหลังของจารึกเล่าถึงการเข้างานของอิเกอร์โนเฟรต และซาเซเทต (Sꜣ-sṯt) ในงานเลี้ยงฉลองที่อไบดอสตามพระราชโองการของฟาโรห์เซนุสเรตที่ 3 หลังจากการเดินการทางทหารต่อนิวเบียในปีที่ 19[116][117] และอเมนิยังถูกกล่าวถึงใน 'จารึกแห่งซาเซเทต' ซึ่งบันทึกช่วงเวลาปีแรกของรัชสมัยของฟาโรห์อเมเนมเฮตที่ 3 ซึ่งเขายังคงดำรงตำแหน่งเดิม[118][119] ซึ่งได้ระบุว่าซาเซเทตมีตำแหน่งเป็น 'เสนาธิการสำนักดูแลพระคลังฯ' บนจารึกนั้น[118]

สิ่งประดิษฐ์คิดค้น

[แก้]

บันทึกปาปิรัสทางคณิตศาสตร์แห่งไรนด์ คิดว่าเขียนขึ้นในช่วงรัชสมัยของฟาโรห์อเมเนมเฮตที่ 3[120]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Schneider 2006, pp. 173–174.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 Leprohon 2013, p. 59.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 von Beckerath 1984, p. 199.
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 4.5 4.6 4.7 4.8 Leprohon 2001, p. 69
  5. Dodson & Hilton 2004, pp. 93 & 96–98.
  6. Dodson & Hilton 2004, p. 93, 95–96 & 99.
  7. Roth 2001, p. 440
  8. Grajetzki 2006, p. 58
  9. Dodson & Hilton 2004, p. 95.
  10. Dodson & Hilton 2004, pp. 93 & 95.
  11. Callender 2003, p. 158
  12. Dodson & Hilton 2004, pp. 92 & 95–98.
  13. Schneider 2006, pp. 172–173.
  14. Saladino Haney 2020, pp. 39–97.
  15. 15.0 15.1 15.2 15.3 15.4 Schneider 2006, p. 173.
  16. 16.0 16.1 Simpson 2001, p. 455.
  17. Griffith 1897, p. 40; Griffith 1898, p. Pl. XIV.
  18. Grajetzki 2006, p. 180.
  19. Grajetzki 2006, p. 60.
  20. 20.00 20.01 20.02 20.03 20.04 20.05 20.06 20.07 20.08 20.09 20.10 20.11 20.12 20.13 Grimal 1992, p. 170.
  21. Ryholt 1997, p. 212.
  22. Murnane 1977, pp. 12–13 & footnote. 55.
  23. 23.0 23.1 Grimal 1992, p. 168.
  24. 24.0 24.1 Callender 2003, p. 154.
  25. 25.0 25.1 Callender 2003, p. 155.
  26. Grimal 1992, p. 167.
  27. Grimal 1992, p. 166.
  28. 28.0 28.1 28.2 Callender 2003, p. 156.
  29. 29.0 29.1 Clayton 1994, p. 87.
  30. 30.0 30.1 Clayton 1994, pp. 87–88.
  31. 31.0 31.1 31.2 31.3 Callender 2003, pp. 156–157.
  32. 32.0 32.1 Callender 2003, p. 157.
  33. Leprohon 1999, p. 54.
  34. Grajetzki 2006, p. 59.
  35. Zecchi 2010, p. 38.
  36. Clayton 1994, p. 88.
  37. Callender 2003, pp. 157–158.
  38. 38.0 38.1 Verner 2001, p. 421
  39. Lehner 2008, p. 16.
  40. Allen 2008, p. 31.
  41. 41.0 41.1 Lehner 2008, p. 179.
  42. 42.0 42.1 Verner 2001, p. 422.
  43. 43.0 43.1 Verner 2001, p. 465.
  44. 44.0 44.1 Lehner 2008, p. 17.
  45. Verner 2001, pp. 422–423.
  46. 46.0 46.1 46.2 Verner 2001, p. 423.
  47. 47.0 47.1 Lehner 2008, p. 180.
  48. Verner 2001, pp. 424–426.
  49. Lehner 2008, pp. 179–180.
  50. Verner 2001, p. 424.
  51. 51.0 51.1 Verner 2001, p. 427.
  52. 52.00 52.01 52.02 52.03 52.04 52.05 52.06 52.07 52.08 52.09 52.10 Lehner 2008, p. 181.
  53. Verner 2001, pp. 427–428.
  54. Verner 2001, p. 428.
  55. 55.0 55.1 Verner 2001, p. 428.
  56. 56.0 56.1 Verner 2001, p. 430.
  57. 57.0 57.1 57.2 Verner 2001, p. 431.
  58. Verner 2001, pp. 431–432.
  59. Farag & Iskander 1971.
  60. Hölzl 1999, p. 437.
  61. Hintze & Reineke 1989, pp. 145–147.
  62. Gardiner, Peet & Černý 1955, pp. 66–71.
  63. Tallet 2002, pp. 371–372.
  64. Tallet 2002, p. 372.
  65. Gardiner, Peet & Černý 1955, p. 76.
  66. Mumford 1999, p. 882.
  67. Gardiner, Peet & Černý 1955, pp. 78–81, 90–121, 133–134, 141–143.
  68. 68.0 68.1 Uphill 2010, p. 46.
  69. Castel & Soukiassian 1985, pp. 285 & 288.
  70. Mahfouz 2008, p. 275, footnote 130.
  71. 71.0 71.1 Seyfried 1981, pp. 254–256.
  72. Couyat & Montet 1912, pp. 40–41 & 51.
  73. Shaw & Jameson 1993, p. 97.
  74. Seyfried 1981, pp. 105–116.
  75. Sadek 1980, pp. 41–43.
  76. Rothe, Miller & Rapp 2008, pp. 382–385 & 499.
  77. Shaw et al. 2010, pp. 293–294.
  78. Darnell & Manassa 2013, pp. 56–57.
  79. Darnell & Manassa 2013, p. 58.
  80. Mahfouz 2008, pp. 253, 259–261.
  81. Bard, Fattovich & Manzo 2013, p. 539.
  82. Bard, Fattovich & Manzo 2013, p. 537.
  83. Mahfouz 2008, pp. 253–255 & 273–274.
  84. Callender 2003, pp. 152–153 & 157.
  85. Callender 2003, p. 152.
  86. Chanson 2004, p. 544.
  87. Gorzo 1999, p. 429.
  88. Chanson 2004, pp. 545.
  89. 89.0 89.1 Connor 2015, p. 58.
  90. Connor 2015, pp. 58 & 60.
  91. Connor 2015, p. 59.
  92. 92.0 92.1 Connor 2015, pp. 60–62.
  93. Grajetzki 2009, p. 34.
  94. 94.0 94.1 Griffith 1897, p. 35.
  95. Griffith 1897, pp. 35–36.
  96. Griffith 1897, pp. 31 & 35.
  97. JGU n.d., Person PD 189.
  98. Griffith 1897, pp. 31–35; Griffith 1898, p. Plate XII
  99. Griffith 1897, p. 34.
  100. JGU n.d., Person PD 189.
  101. JGU n.d., Person wꜥb; ḥrj-sꜣ n spdw nb jꜣbtt jḥjj-snb/wꜣḥ.
  102. Allen 2008, pp. 29–31.
  103. Allen 2008, p. 29.
  104. Allen 2008, pp. 32.
  105. JGU n.d., Person DAE 161.
  106. de Meulenaere 1981, p. 78–79.
  107. JGU n.d., Person PD 116.
  108. Petrie 1888, p. Pl. VI, no. 137.
  109. de Morgan et al. 1894, pp. 29–31, no. 10.
  110. JGU n.d., Person PD 116.
  111. Thirion 1995, p. 174.
  112. 112.0 112.1 Tolba 2016, p. 135.
  113. Universität zu Köln 2021.
  114. Tolba 2016, pp. 138–139.
  115. JGU n.d., Person PD 27.
  116. MAH 2021.
  117. JGU n.d., Person PD 551.
  118. 118.0 118.1 Louvre 2021.
  119. JGU n.d., Person PD 94.
  120. Clagett 1989, p. 113.

ที่มา

[แก้]
  • "136780: Stele". Arachne. Universität zu Köln. 2021. สืบค้นเมื่อ September 13, 2021.
  • Bard, Kathryn; Fattovich, Rodolfo; Manzo, Andrea (2013). "The ancient harbor at Mersa/Wadi Gawasis and how to get there: New evidence of Pharaonic seafaring expeditions in the Red Sea". ใน Förster, Frank; Riemer, Heiko (บ.ก.). Desert Road Archaeology in Ancient Egypt and Beyond. Cologne: Heinrich-Barth-Institut. pp. 533–557. ISBN 9783927688414.
  • Callender, Gae (2003). "The Middle Kingdom Renaissance (c. 2055–1650 BC)". ใน Shaw, Ian (บ.ก.). The Oxford History of Ancient Egypt. Oxford: Oxford University Press. pp. 137–171. ISBN 978-0-19-815034-3.
  • Chanson, Hubert (2004). Hydraulics of Open Channel Flow. Amsterdam: Elsevier/Butterworth-Heinemann. ISBN 9780750659789.* Clagett, Marshall (1989). Ancient Egyptian Science: A Source Book. Philadelphia: American Philosophical Society. ISBN 9780871691842.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]