พีระมิดอียิปต์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กลุ่มพีระมิดแห่งกีซา

พีระมิดในประเทศอียิปต์ เป็นหนึ่งในพีระมิดที่เป็นที่รู้จักโดยมีหลายแห่งในประเทศอียิปต์ เป็นสิ่งก่อสร้างของชาวอียิปต์โบราณสมัยก่อนยุคเหล็ก โดยเฉพาะ พีระมิดคูฟู ใน หมู่พีระมิดแห่งกิซ่า นับเป็นสิ่งก่อสร้าง ขนาดใหญ่ที่สุด ที่มนุษย์เคยสร้างขึ้นมา ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าทางวิทยาการ ที่น่าอัศจรรย์ของอียิปต์โบราณ

พีระมิดโจเซอร์ (Djoser's Pyramid)[แก้]

พีระมิดขั้นบันไดของฟาโรห์โซเซอร์ที่เมืองซักคารา

พีระมิดโจเซอร์ (Djoser's Pyramid) หรือ พีระมิดแห่งซักการา (The Pyramid of Saqqara) นับเป็นพีระมิดแห่งแรกของอียิปต์ ที่ฟาโรห์โจเซอร์ (Djoser หรือ Zoser) แห่งราชวงศ์ที่ 3 เป็นผู้สร้างขึ้น โดยมี อิมโฮเทป (Imhotep) ที่ปรึกษาประจำองค์ฟาโรห์เป็นสถาปนิกผู้ออกแบบ ลักษณะที่สำคัญคือเป็น พีระมิดขั้นบันได (Step Pyramid) ซ้อนกันรวม 6 ชั้น เปรียบเสมือนบันไดไปสู่สวรรค์ ส่วนพีระมิดรุ่นหลังที่เป็นแบบมหาพีระมิดที่แต่ละด้านของพีระมิดลาดเอียงลงประมาณ 51 องศามีความชันน้อยกว่าและไม่เป็นขั้นบันได ก็ถือว่าเป็นการลาดของลำแสงดวงอาทิตย์เช่นกัน ในขณะที่พีระมิดยุคต่อมาจะไม่มีลักษณะของขั้นบันไดให้เห็น ก่อนหน้านี้สุสานของฟาโรห์จะสร้างอยู่ใต้ดินโดยปิดทับด้วยสิ่งก่อสร้างที่ไม่สูงมากนักเรียกว่า มัสตาบา (Mastaba)

พีระมิดไมดุม (Meidum Pyramid)[แก้]

พีระมิดไมดุม สร้างโดยฟาโรห์สนอฟรู (Snofru) หรืออีกพระนามหนึ่งคือ สเนฟรู (Sneferu) ผู้ก่อตั้งราชวงศ์ที่ 4 ของอียิปต์โบราณ เป็นพีระมิดที่พยายามพัฒนารูปแบบต่อจากพีระมิดขั้นบันไดของฟาโรห์โซเซอร์ โดยตั้งใจจะก่อสร้างให้มีรูปร่างเป็นพีระมิดที่สมบูรณ์ แต่เกิดปัญหาพังทลายลงระหว่างการก่อสร้างเนื่องจากพื้นทรายด้านล่างรองรับน้ำหนักพีระมิดไม่ไหว นักประวัติศาสตร์ส่วนหนึ่งเชื่อว่า ฟาโรห์สนอฟรูสร้างพีระมิดไมดุมนี้ให้กับ ฟาโรห์ฮูนิ (Huni) ฟาโรห์องค์สุดท้ายของราชวงศ์ที่ 3 ผู้เป็นพระราชบิดาของพระองค์

พีระมิดหักงอ (Bent Pyramid)[แก้]

พีระมิดหักมุม ที่เมือง Dahshur

พีระมิดหักงอ (Bent Pyramid) หรือบางครั้งเรียกกันสั้นๆ ว่า พีระมิดเบี้ยว สร้างขึ้นโดย ฟาโรห์สนอฟรู (Snofru) หลังจากการก่อสร้างพีระมิดไมดุมประสบความล้มเหลว เดิมมีเป้าหมายจะสร้างให้มีรูปร่างเป็นแบบพีระมิดที่สมบูรณ์ แต่เกิดปัญหาในระหว่างการก่อสร้างเนื่องจากแต่ละด้านของพีระมิดทำมุมชันมากเกินไปคือชันถึง 54 องศาทำให้ต้องเปลี่ยนแบบการก่อสร้างกลางคัน กลายเป็นพีระมิดที่แต่ละด้านหักมุมเปลี่ยนความชันที่ประมาณระหว่างกลางความสูงของพีระมิดเหลือความชัน 43 องศา นับเป็นพีระมิดที่มีชื่อเสียงอีกแห่งหนึ่งเนื่องจากรูปร่างที่แปลกตาอย่างเห็นได้ชัดและแสดงถึงความสามารถของผู้สร้างที่สามารถแก้ไขปัญหาการก่อสร้างที่เกิดขึ้นเมื่อกว่า 4,600 ปีมาแล้ว

ประสบการณ์จากพีระมิดหักมุมนี้เอง ทำให้การก่อสร้างพีระมิดแห่งต่อมาประสบความสำเร็จ และส่งผลให้มีการสร้าง มหาพีระมิดแห่งกิซ่า ที่กลายเป็นหนึ่งเดียวของ เจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลก ที่ยังคงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน

พีระมิดแดง (Red Pyramid)[แก้]

พีระมิดแดงของฟาโรห์สเนเฟรู

พีระมิดแดง (Red Pyramid) สร้างโดยฟาโรห์สนอฟรู หลังจากพีระมิดเมดุม และพีระมิดหักงอ นับเป็นพีระมิดที่มีรูปร่างสมบูรณ์แบบแห่งแรกของโลก ด้านทั้ง 4 ของพีระมิดแดงทำมุมเอียง 43 องศาเท่ากับมุมเอียงในส่วนบนของพีระมิดหักงอ ซึ่งเท่ากับมีการนำบทเรียนจากการสร้างพีระมิดครั้งก่อนมาใช้นั่นเอง

พีระมิดแดงมีความสูงถึง 104 เมตร (341 ฟุต) หรือประมาณอาคารสูง 30 ชั้น (เมื่อคิดความสูงที่ชั้นละ 3.5 เมตร) ฐานพีระมิดแต่ละด้านยาว 220 เมตร (722 ฟุต) หรือมีขนาดฐานเกือบเท่ากับมหาพีระมิดคูฟูแห่งกิซ่า นับเป็นพีระมิดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในพีระมิด 3 แห่งที่เมืองดาชูร์ (Dahshur) และในยุคสมัยที่ก่อสร้างแล้วเสร็จยังนับเป็นสิ่งก่อสร้างสูงที่สุดในโลกในขณะนั้นอีกด้วย และเนื่องจากพีระมิดนี้สร้างโดยปิดผิวนอกด้วยหินแกรนิตสีแดงทำให้ได้ชื่อว่าพีระมิดแดงจากสีหินแกรนิตนั่นเอง

อ้างอิง[แก้]

ดูเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

พิกัดภูมิศาสตร์: 29°58′45.25″N 31°08′03.75″E / 29.9792361°N 31.1343750°E / 29.9792361; 31.1343750