ข้ามไปเนื้อหา

ประเทศฮังการี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ฮังการี

Magyarország (ฮังการี)
เพลงชาติ"ฮิมนุส" (ฮังการี)[1]
(แปลว่า "เพลงสดุดี")
ที่ตั้งของ ประเทศฮังการี  (เขียวเข้ม) – ในยุโรป  (เขียว & เทาอ่อน) – ในสหภาพยุโรป  (เขียว)  —  [คำอธิบายสัญลักษณ์]
ที่ตั้งของ ประเทศฮังการี  (เขียวเข้ม)

– ในยุโรป  (เขียว & เทาอ่อน)
– ในสหภาพยุโรป  (เขียว)  —  [คำอธิบายสัญลักษณ์]

เมืองหลวง
และเมืองใหญ่สุด
บูดาเปสต์
47°26′N 19°15′E / 47.433°N 19.250°E / 47.433; 19.250
ภาษาราชการฮังการี[2]
กลุ่มชาติพันธุ์
(การสำมะโนจุลภาค ค.ศ. 2016)
ศาสนา
(การสำมะโนประชากร ค.ศ. 2011)[4]
เดมะนิมชาวฮังการี
การปกครองสาธารณรัฐรัฐสภา ระบอบรัฐสภาแบบรัฐเดี่ยว
ตอมาช ชุโยก
วิกโตร์ โอร์บาน
ลาสโล่ เกอเวร์
สภานิติบัญญัติสมัชชาแห่งชาติ
ก่อตั้ง
ค.ศ. 895[5]
25 ธันวาคม ค.ศ. 1000[6]
24 เมษายน ค.ศ. 1222
29 สิงหาคม ค.ศ. 1526
2 กันยายน ค.ศ. 1686
15 มีนาคม ค.ศ. 1848
30 มีนาคม ค.ศ. 1867
4 มิถุนายน ค.ศ. 1920
23 ตุลาคม ค.ศ. 1989
1 พฤษภาคม ค.ศ. 2004
1 มกราคม ค.ศ. 2012
พื้นที่
• รวม
93,030[7] ตารางกิโลเมตร (35,920 ตารางไมล์) (อันดับที่ 108)
3.7[8]
ประชากร
• 2024 ประมาณ
9,584,627[9] (อันดับที่ 96)
105 ต่อตารางกิโลเมตร (271.9 ต่อตารางไมล์) (อันดับที่ 78)
จีดีพี (อำนาจซื้อ) 2021 (ประมาณ)
• รวม
เพิ่มขึ้น 359.901 ล้านดอลลาร์[10] (อันดับที่ 53)
เพิ่มขึ้น 36,848 ดอลลาร์[10] (อันดับที่ 41)
จีดีพี (ราคาตลาด) 2021 (ประมาณ)
• รวม
เพิ่มขึ้น 180.959 ล้านดอลลาร์[10] (อันดับที่ 53)
เพิ่มขึ้น 18,527 ดอลลาร์สหรัฐ [10] (อันดับที่ 45)
จีนี (2020)Negative increase 28.3[11]
ต่ำ
เอชดีไอ (2019)เพิ่มขึ้น 0.854[12]
สูงมาก · อันดับที่ 40
สกุลเงินโฟรินต์ (HUF)
เขตเวลาUTC+1 (CET)
• ฤดูร้อน (เวลาออมแสง)
UTC+2 (CEST)
รูปแบบวันที่ปปปป/ดด/วว
ขับรถด้านขวา
รหัสโทรศัพท์+36
โดเมนบนสุด.hu[a]
  1. ^ .eu ยังถูกใช้ เนื่องจากได้มีการใช้โดเมนนี้ ร่วมกับรัฐสมาชิกอื่น ๆ ของสหภาพยุโรป

ฮังการี (อังกฤษ: Hungary, ฮังการี: Magyarország [ˈmɒɟɒrorsaːɡ] ( ฟังเสียง) มอดยอโรรฺซาก) เป็นประเทศในภูมิภาคยุโรปกลางที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล[2] มีอาณาเขตทิศเหนือจรดประเทศสโลวาเกีย ทิศตะวันออกจรดประเทศโรมาเนียและประเทศยูเครน ทิศใต้จรดประเทศเซอร์เบียและประเทศโครเอเชีย ทิศตะวันตกเฉียงใต้จรดประเทศสโลวีเนียและทิศตะวันตกจรดประเทศออสเตรีย ชื่อประเทศฮังการีในภาษาฮังการี แปลว่า "ประเทศของชาวม็อจยอร์" (Country of the Magyars) ประเทศฮังการีมีพื้นที่ 93,030 ตารางกิโลเมตร ซึ่งมีอาณาเขตเพียงร้อยละ 28 ของพื้นที่ราชอาณาจักรฮังการีเดิมก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง โดยพื้นที่ปัจจุบันนับเป็นอันดับที่ 110 ของโลก[13] โดยมีลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่ราบในที่ราบพันโนเนีย และมีประชากร 9,919,128 คน นับเป็นอันดับที่ 90 ของโลก[14] ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวม็อจยอร์ ใช้ภาษาฮังการีเป็นภาษาราชการซึ่งเป็นหนึ่งในภาษาทางการไม่กี่ภาษาของสหภาพยุโรป ที่ไม่ได้มีต้นกำเนิดเป็นกลุ่มภาษาอินโด-ยูโรเปียน ร่วมกับภาษาเอสโตเนีย ภาษาฟินแลนด์ และภาษามอลตา เมืองที่ใหญ่ที่สุดและเป็นเมืองหลวงของประเทศคือบูดาเปสต์ เมืองสำคัญอื่น ๆ ได้แก่ แดแบร็ตแซ็น แซแก็ด มิชโกลส์ เปช และ เยอร์

ดินแดนของฮังการีในปัจจุบันมีผู้เข้ามาอาศัยอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายศตวรรษ รวมถึงชาวเคลต์, โรมัน, เจอร์แมนิก, ฮัน, สลาฟตะวันตก และอาวาร์ รากฐานของรัฐฮังการีได้รับการสถาปนาขึ้นในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 9 โดยอาร์ปาด เจ้าชายหัวหน้าเผ่าฮังการี หลังจากการพิชิตที่ราบพันโนเนีย[15][16] พระเจ้าอิชต์วานที่ 1 เหลนของเขาได้ขึ้นครองราชย์ใน ค.ศ. 1000 พระองค์เปลี่ยนอาณาจักรของพระองค์เป็นอาณาจักรคริสเตียน เมื่อถึงคริสต์ศตวรรษที่ 12 ฮังการีกลายเป็นมหาอำนาจในภูมิภาค และเข้าสู่ยุครุ่งเรืองทางวัฒนธรรมและการเมืองในคริสต์ศตวรรษที่ 15[17] หลังจากยุทธการที่โมฮัชจ์ใน ค.ศ. 1526 บางส่วนของฮังการีถูกยึดครองโดยจักรวรรดิออตโตมัน (ค.ศ. 1541–1699) ต่อมาก็อยู่ภายใต้การปกครองของราชวงศ์ฮาพส์บวร์คในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 และต่อมาได้ร่วมกับออสเตรียก่อตั้งจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีซึ่งเป็นมหาอำนาจของยุโรป[18]

จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีล่มสลายหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และสนธิสัญญาทรียานงได้กำหนดเขตแดนของฮังการีตามที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ส่งผลให้สูญเสียดินแดนร้อยละ 71, ประชากรร้อยละ 58 และกลุ่มชาติพันธุ์ฮังการีร้อยละ 32[19][20][21] หลังจากสมัยระหว่างสงครามที่วุ่นวาย ฮังการีเข้าร่วมกับฝ่ายอักษะในสงครามโลกครั้งที่สอง โดยได้รับความเสียหายมีผู้ล้มตายจำนวนมาก[22][23] ฮังการีกลายเป็นรัฐบริวารของสหภาพโซเวียตซึ่งมีส่วนทำให้เกิดการสถาปนาสาธารณรัฐสังคมนิยมซึ่งดำรงอยู่ถึงสี่ทศวรรษ (ค.ศ. 1949[24]–1989[25]) ประเทศนี้ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางในระดับสากลอันเป็นผลมาจากการปฏิวัติใน ค.ศ. 1956 และการเปิดพรมแดนด้านที่ติดกับออสเตรียใน ค.ศ. 1989 ซึ่งเร่งการล่มสลายของกลุ่มตะวันออก[26][27] และในวันที่ 23 ตุลาคม ค.ศ. 1989 ฮังการีได้กลายเป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตยระบบรัฐสภา[28]

ในคริสต์ศตวรรษที่ 21 ฮังการีเป็นประเทศอำนาจปานกลาง และมีเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลกอันดับ 57 จากการจัดอันดับราคาตลาดตามผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ และมีเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดตามภาวะเสมอภาคของอำนาจซื้อเป็นอันดับที่ 58 จาก 191 ประเทศ ซึ่งวัดโดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ในฐานะผู้ดำเนินการที่สำคัญในภาคอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีต่าง ๆ[29] ฮังการีเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดในโลกเป็นอันดับที่ 35 และผู้นำเข้าสินค้ารายใหญ่ที่สุดเป็นอันดับที่ 34 ฮังการีเป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่มีรายได้สูงพร้อมกับมาตรฐานการครองชีพที่สูงมาก[30][31] มีระบบหลักประกันสังคมและหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยโดยไม่เสียค่าเล่าเรียน[32][33] ฮังการีมีผลการดำเนินงานที่ดีในระดับสากล โดยติดอันดับที่ 20 ในด้านคุณภาพชีวิต, อันดับที่ 24 ในดัชนีประเทศที่ดี, อันดับที่ 28 ของดัชนีการพัฒนามนุษย์ซึ่งปรับตัวเลขความไม่เท่าเทียมกันในสังคมแล้ว, อันดับที่ 32 ในดัชนีความก้าวหน้าทางสังคม, อันดับที่ 33 ในดัชนีนวัตกรรมระดับโลก และติดอันดับประเทศที่ปลอดภัยที่สุดเป็นอันดับที่ 15 ของโลก

ประเทศฮังการีเข้าร่วมสหภาพยุโรปใน ค.ศ. 2004 และเป็นส่วนหนึ่งของเขตเชงเกนตั้งแต่ ค.ศ. 2007[34] ฮังการีเป็นสมาชิกของสหประชาชาติ องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ องค์การการค้าโลก ธนาคารโลก ธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย สภายุโรป กลุ่มวิแชกราด และอื่น ๆ[35] ฮังการีเป็นที่รู้จักกันดีจากประวัติศาสตร์เชิงวัฒนธรรมอันยาวนาน โดยมีส่วนสำคัญในด้านศิลปะ ดนตรี วรรณคดี กีฬา วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี[36][37][38][39] ฮังการีเป็นประเทศที่ได้รับความนิยมมากที่สุดเป็นอันดับที่ 11 ในฐานะแหล่งท่องเที่ยวในยุโรป โดยดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ 24.5 ล้านคนใน ค.ศ. 2019[40] และฮังการียังเป็นที่ตั้งของระบบถ้ำบ่อน้ำร้อนที่ใหญ่ที่สุดและทะเลสาบน้ำร้อนที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก ทะเลสาบที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปกลาง และทุ่งหญ้าธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป[41][42]

มงกุฎนักบุญสตีเฟน (ฮังการี: Szent Korona) สัญลักษณ์ประจำชาติของประเทศฮังการี

นิรุกติศาสตร์

[แก้]

ในภาษาไทย คำว่า "ฮังการี" มีที่มาจากภาษาอังกฤษ (Hungary) ซึ่งมีที่มาจากภาษาละตินว่า "ฮุงการเรีย" Hungaria[43] อักษร "ฮ" ในชื่อของประเทศฮังการี (Hungary) คาดว่าเกิดจากการชื่อเรียก ชาวฮัน ซึ่งตั้งรกรากอยู่ในแถบที่ราบพันโนเนียช่วงก่อนการล่มสลายของจักรวรรดิโรมันตะวันตก ก่อนการรุกรานของเผ่าอาวาร์ ส่วนที่เหลือของคำ มาจาคำภาษากรีกของจักรวรรดิโรมันตะวันออกว่า Oungroi (Οὔγγροι) ชื่อภาษากรีกถูกยืมมาจากคำภาษาบัลแกเรียโบราณคำว่า  ągrinŭ ซึ่งยืมมาจากคำภาษาภาษาโอกูร์ (Oghur) (ในกลุ่มภาษาเตอร์กิก) คำว่า Onogur (10 เผ่าโอกูร์) Onogur เป็นชื่อเรียกรวมของชนเผ่าที่เข้าร่วมกับสมาพันธ์ชนเผ่าบัลแกเรีย ซึ่งปกครองส่วนตะวันออกของที่ราบพันโนเนีย หลังจากการรุกรานของเผ่าอาวาร์[44]

คำว่า "ประเทศฮังการี" ในภาษาฮังการี เรียกว่า Magyarország (อ่านว่า ม็อดยอโรร์สาก) ประกอบด้วย "ม็อจยอร์" (magyar: ชาวม็อจยอร์ หรือ ชาวฮังการี) และ "โอรสาก" (ország: ประเทศ/แผ่นดิน) ชื่อ "ม็อจยอร์" ซึ่งหมายถึงผู้คนในประเทศนั้น คำว่า magyar นำมาจากชื่อของหนึ่งในเจ็ดชนเผ่าฮังการีกึ่งเร่ร่อนที่สำคัญ คือ เผ่าม็อดแยริ (magyeri) ซึ่ง คำว่า "magy" น่าจะมาจากคำภาษาโปรโตอูกริก ว่า "mäńć" แปลว่า "คน" ซึ่งคำนี้สามารถพบได้ในชื่อเรียกตนเองของชาวแมนซี (mansi: mäńćī, mańśi, måńś) ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่พูดภาษากลุ่มฟินโน-อูกริกในแถบเทือกเขาอูรัลของประเทศรัสเซีย (ถิ่นอาศัยเดิมของบรรพบุรุษชาวฮังการี) องค์ประกอบที่สอง  "eri " แปลว่า ผู้ชาย หรือ เชื้อสาย ซึ่งคำนี้ยังมีหลงเหลืออยู่ในภาษาฮังการีปัจจุบัน คือคำว่า 'สามี' férj ชาวฮังการี และเหลือในคำภาษามาริ (Mari) คำว่า erge 'ลูกชาย' และคำภาษาฟินแลนด์โบราณ yrkä 'ชายหนุ่ม'

ชื่อประเทศอย่างเป็นทางการ
ช่วงเวลา (ค.ศ. ) ประเทศ หมายเหตุ
895–1000 ราชรัฐฮังการี ยุคกลาง หลังการพิชิตที่ราบพันโนเนียของชาวฮังการี
1000–1301 ราชอาณาจักรฮังการี ยุคกลาง
1301–1526 ราชอาณาจักรฮังการี ยุคกลาง
1526–1867 ราชอาณาจักรฮังการี เมืองขึ้นของจักรวรรดิออสเตรีย
1867–1918 ดินแดนแห่งมงกุฏของนักบุญสตีเฟน ส่วนหนึ่งของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี
1918–1919 สาธารณรัฐประชาชนฮังการี สาธารณรัฐฮังการีที่ 1
1919 สาธารณรัฐโซเวียตฮังการี
1919–1920 สาธารณรัฐฮังการี
1920–1946 ราชอาณาจักรฮังการี รัฐบาลหุ่นเชิดของนาซีเยอรมนี ระหว่าง ปี ค.ศ. 1944 ถึง1945.
1946–1949 สาธารณรัฐฮังการี สาธารณรัฐฮังการีที่ 2
1949–1989 สาธารณรัฐประชาชนฮังการี รัฐบริวารของสหภาพโซเวียต
1989–2012 สาธารณรัฐฮังการี สาธารณรัฐฮังการีที่ 3
2012- ปัจจุบัน ฮังการี

ประวัติศาสตร์

[แก้]

แคว้นพันโนเนีย ก่อนปี ค.ศ. 895

[แก้]
ซากปรักหักพังของเมืองอาควินคุม (Aquincum) เมืองโบราณที่ตั้งโดยจักรวรรดิโรมันเมื่อ 2 พันปีก่อน ปัจจุบันอยู่ที่เขตโอบูดอ (Óbuda) ของกรุงบูดาเปสต์

ก่อนการพิชิตที่ราบพันโนเนียของชาวฮังการี จักรวรรดิโรมันได้ทำการพิชิตดินแดนทางตะวันตกของแม่น้ำดานูบ ระหว่าง 35 ถึง 9 ปีก่อนคริสตกาล โดยตั้งแต่ 9 ปีก่อนคริสตกาลจนถึงปลายศตวรรษที่ 4 แคว้นพันโนเนีย (Pannonia) ทางตะวันตกของที่ราบพันโนเนีย มีสถานะเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิโรมัน โดยมีการตั้งเมืองขึ้นในที่ราบพันโนเนียหลายเมือง เช่น เมืองซาวาเรีย (Savaria ปัจจุบันคือ เมืองโซมบ็อตแฮลย์ Szombathely ทางตะวันตกของฮังการี) และเมืองอาควินคุม (Aquincum ปัจจุบันคือ เมืองโอบูดอ Óbuda ฝั่งตะวันตกตอนเหนือในอาณาเขตของกรุงบูดาเปสต์) หลังจากการล่มสลายของจักรวรรดิโรมันตะวันตกจากปัญหาภายในและการรุกรานของอนารยชน ในคริสต์ศตวรรษที่ 5 มีชนเผ่าจากยุโรปตะวันออกจำนวนมากเข้ามาในยุโรปกลางโดยเริ่มต้นด้วยกลุ่มชาวฮัน ได้ทำการโจมตียึดครองยุโรปตะวันออก ตั้งเป็นอาณาจักรฮันนิก ผู้ปกครองที่มีอำนาจที่สุดของอาณาจักรฮันนิก คือ อัตติลาเดอะฮัน (ค.ศ. 434–453) ซึ่งต่อมาได้มีการสลายตัวไป หลังจากการสลายตัวของอาณาจักรฮันนิก ชาวเกปิดส์ (Gepids) ซึ่งเป็นชนเผ่าเยอรมันดั้งเดิมทางตะวันออกซึ่งถูกพวกฮันส์ยึดครองได้ก่อตั้งอาณาจักรของตนเองขึ้นในที่ราบพันโนเนีย กลุ่มอื่น ๆ ที่มาถึงแอ่งคาร์เพเทียนในช่วงการอพยพ ได้แก่ ชาวก็อธ แวนดัล ลอมบาร์ด และ ชาวสลาฟ ในช่วงทศวรรษที่ 560 ชาวอาวาร์ได้ก่อตั้งจักรวรรดิข่านอาวาร์ ซึ่งเป็นรัฐที่รักษาอำนาจสูงสุดในภูมิภาคนี้มานานกว่าสองศตวรรษ ชาวแฟรงค์ภายใต้กษัตริย์ชาร์เลอมาญเอาชนะเผ่าอาวาร์ลงได้ในสมรภูมิรบ ช่วงทศวรรษที่ 790 ทำให้เผ่าอาวาร์ถอนตัวออกจากยุโรปกลาง ในช่วงกลางศตวรรษที่ 9 อาณาเขตของทะเลสาบบอลอโตนได้รับการจัดตั้งขึ้นเป็น  อาณาจักรชายแดนพันโนเนียของอาณาจักรแฟรงค์ (Frankish March of Pannonia) ส่วนด้านตะวันออกของแม่น้ำดานูบถูกยึดครองโดยจักรวรรดิบัลแกเรียแห่งแรก โดยพวกบัลแกเรียเข้ายึดการปกครองของชนเผ่าสลาฟในท้องถิ่นและเผ่าอาวาร์ที่หลงเหลืออยู่

การบุกทวีปยุโรป และการพิชิตที่ราบพันโนเนียของชาวฮังการี ค.ศ. 895 - ค.ศ. 972

[แก้]
การอพยพของชาวม็อจยอร์จากเทืองเขายูราล มาที่แลเวเดีย แอแต็ลเกิซ และ แอ่งคาร์เพเทีย
เส้นทางการโจมตีเมืองในทวีปยุโรป และ การพิชิตที่ราบพันโนเนีย โดยหัวหน้าเผ่าอาร์พาด

ชาวฮังการี หรือ ชาวม็อจยอร์ ที่รวมเป็นหนึ่งเดียว ภายใต้การนำของหัวหน้าเผ่า นามว่า อาร์พาด (Árpád) ผู้สืบเชื้อสายตามประเพณีของอัตติลาเดอะฮัน (Attila) ได้ทำการพิชิตที่ราบพันโนเนีย (Honfoglalás ฮงโฟ้กลอลาช) ตั้งรกรากอยู่ในที่ราบพันโนเนีย เริ่มตั้งแต่ปี 895 ในรูปแบบสหพันธ์ชนเผ่าที่เป็นปึกแผ่น (Törzsszövetség)

ตามทฤษฎี Finno-Ugrian เผ่าฮังการีมีต้นกำเนิดมาจากประชากรที่พูดภาษาฟินโน-อูราลิก (Finnugor nyelv)โบราณซึ่งเดิมเคยอาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าระหว่างแม่น้ำโวลก้าและเทือกเขาอูราลตอนใต้ ในแถบไซบีเรีย (ปัจจุบันอยู่ในประเทศรัสเซีย) โดยในปี ค.ศ. 830 ชาวม็อจยอร์ได้ตั้งถิ่นฐานอยู่แถบตอนเหนือของทะเลดำ

ก่อนชาวม็อจยอร์จะอพยพเข้ามาในในยุโรปตะวันออก ชาวม็อจยอร์มีวิถีชีวิตคล้ายกับชนเร่ร่อนในที่ราบยูเรเชียเช่นกลุ่มชนเตอร์กิกและชาวฮันที่เคยพิชิตที่ราบพันโนเนีย ทำให้ชาวมอจยอร์และชนยุโรปร่วมสมัยเข้าใจผิดว่าชาวม็อจยอร์สืบเชี้ยสายมาจากชาวฮัน ซึ่งช่วยเพิ่มความหวาดกลัวต่อกลุ่มคนเร่ร่อนในหมู่ประเทศที่ชาวม็อจยอร์กำลังบุกโจมตี ในพื้นที่รอบๆที่ราบพันโนเนียในยุโรป ความเข้าใจที่ผิดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของชาวฮันและชาวม็อจยอร์ได้อยู่มานานหลายศตวรรต โดยมีหลักฐานปรากฏว่าชาวม็อจยอร์ส่วนใหญ่เชื่อว่าราชวงศ์อารปาด ซึ่งปกครองฮังการีในฐานะเจ้าชาย (Grand Prince of the Hungarians, Nagyfejedelem) และต่อมาในฐานะกษัตริย์ (King of the Hungarians, Kiraly) สืบเชื้อสายโดยตรงมาจากอัตติลาเดอะฮัน (Attila) ตั้งแต่คริสต์ศตวรรตที่ 13 (Gesta Hungarorum, c. 1200) จนถึงศตวรรตที่ 19 (Himnusz) และในปัจจุบัน ชื่อผู้ชาย "Atilla" (อ็อตติลลอ ในภาษาฮังกาเรียน) ยังคงได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่ชาวฮังกาเรียน

ราชรัฐฮังการี (Principality of Hungary, Magyar Nagyfejedelemség) ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 895 ประมาณ 50 ปีหลังจากการแบ่งจักรวรรดิแคโรลิงเกียนตามสนธิสัญญาแวร์ดุนในปี ค.ศ. 843 ก่อนการรวมอาณาจักรแองโกล - แซกซอน ในขั้นต้นราชรัฐฮังการี (หรือที่เรียกว่า "Western Tourkia" ในแหล่งข้อมูลกรีกยุคกลาง) เป็นรัฐที่สร้างขึ้นโดยเผ่าเร่ร่อน มีการปกครองที่มีประสิทธิภาพและมีอำนาจทางทหารที่สูง ทำให้ชาวฮังการีประสบความสำเร็จในการรบอย่างดุเดือดโดยชาวฮังการีทำการบุกเมืองในยุโรปตั้งแต่กรุงคอนสแตนติโนเปิลทางตะวันออก ไปจนถึง แถบคาบสมุทรสเปนในปัจจุบัน ชาวฮังการีเอาชนะกองทัพจักรวรรดิแฟรงกิชตะวันออกที่สำคัญไม่น้อยกว่าสามกองทัพ ระหว่างปี ค.ศ. 907 ถึง 910 แต่ก็ได้หยุดการรุกรานเกือบทั้งหมด หลังความพ่ายแพ้ของกองทัพฮังการี ต่อกองทัพของจักรวรรดิแฟรงก์ตะวันออก (ราชอาณาจักรเยอรมัน) ในสมรภูมิเลชเฟลด์ (Battle of Lechfeld) ในปี ค.ศ. 955 และทำการตั้งถิ่นฐานในที่ราบพันโนเนีย ล้อมรอบไปด้วยภูเขาคาร์เพเทียในแอ่งคาร์เพเทียน

ยุคของราชวงศ์อาร์พาด ค.ศ. 972-ค.ศ. 1308

[แก้]
รูปปั้นพระเจ้าอิชต์วานที่ 1 แห่งฮังการี (I. Szent István király)

พระเจ้าอิชต์วานที่ 1 แห่งฮังการี หรือ กษัตริย์เซนต์สตีเฟน (I. István király) กษัตริย์องค์แรกของฮังการี เปลี่ยนให้เผ่าฮังการีมานับถือศาสนาคริสต์ และ สถานปนาตนเองเป็นกษัตร์ย์ (király) ของฮังการี

ปี ค.ศ. 972 เป็นปีที่แกรนด์พรินซ์ (ฮังการี: fejedelem) เกซอ (Géza fejedelem) แห่งราชวงศ์อาร์พาด เริ่มเปลี่ยนศาสนาของเผ่าฮังการีให้เข้ากับยุโรปตะวันตกที่นับถือศาสนาคริสต์ เซนต์สตีเฟน (พระเจ้าอิชต์วานที่ 1 แห่งฮังการี) บุตรชายคนแรกของเขากลายเป็นกษัตริย์องค์แรกของฮังการี หลังเอาชนะหัวหน้าเผ่าโคปปาญ (Koppány vezér) ลุงของอิชน์วานผู้นับถือลัทธิเพเกิน (Pogány) ฮังการีซึ่งอ้างสิทธิ์ในบัลลังก์ด้วย

ภายใต้พระเจ้าอิชต์วานที่ 1 แห่งฮังการี ประเทศฮังการีได้รับการยอมรับว่าเป็นอาณาจักรคริสเตียน หลังเข้าพบกับสมเด็จพระสันตะปาปาซิลเวสเตอร์ที่ 2 พระเจ้าอิชต์วานที่ 1 แห่งฮังการีได้รับการสถาปนาเป็นกษัตริย์คนแรกของชาวม็อจยอร์ในปี ค.ศ. 1000 โดยพระสันตะปาปา ซึ่งได้เปลี่ยนสถานะของรัฐม็อจยอร์ จากราชรัฐที่ปกครองโดยเจ้าชาย เป็นราชอาณาจักรคาทอลิคที่มีกษัตริย์ และนอกจากการสถาปนากษัตริย์แล้ว ชาวม็อจยอร์ยังได้รับมอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูง (ซึ่งอาจรวมถึง มงกุฎเซนต์สตีเฟน ซึ่งปัจจุบันเก็บไว้ในรัฐสภาฮังการี) จากพระสันตะปาปา

ใน ค.ศ. 1006 พระเจ้าอิชต์วานที่ 1 แห่งฮังการีได้รวมอำนาจและเริ่มการปฏิรูปอย่างกว้างขวางเพื่อเปลี่ยนฮังการีให้เป็นรัฐศักดินาแบบตะวันตก ประเทศฮังการีเปลี่ยนมาใช้ภาษาละติน และ จนถึงปลายปี ค.ศ. 1844 ภาษาละตินยังคงเป็นภาษาราชการของฮังการี ในช่วงเวลานี้ฮังการีเริ่มกลายเป็นอาณาจักรที่มีอำนาจในยุโรปตะวันออก

รูปภาพพระเจ้าลาสโล่ที่ 1 แห่งฮังการี (I. Szent László király)

ลาสโล่ที่ 1 (I. László király) ขยายพรมแดนของฮังการีไปจนสุดเขตทรานซิลเวเนียและบุกโครเอเชียในปี ค.ศ. 1091 การบุกโครเอเชียสิ้นสุดลงในสมรภูมิภูเขากะวอซด์ (Battle of Gvozd Mountain) ในปี ค.ศ. 1097 และเป็นสหภาพส่วนบุคคลของโครเอเชียและฮังการีในปี 1102 ซึ่งปกครองโดย กษัตริย์คาลมานแห่งฮังการี (หรือ คาลมานผู้รักการอ่าน "Könyves Kálmán") กษัตริย์ที่ทรงอำนาจและมั่งคั่งที่สุดของราชวงศ์อาร์พาด คือ เบลอที่ 3 (III. Béla király) ซึ่งใช้จ่ายด้วยแร่เงินบริสุทธิ์ 23 ตันต่อปี ซึ่งมากกว่าการใช้จ่ายของกษัตริย์ฝรั่งเศส (ประมาณ 17 ตัน) และเป็นสองเท่าของรายวงศ์อังกฤษ

กษัตริย์แอนดรูที่ 2 (II. András király) ได้ออกตราสาร Diploma Andreanum ซึ่งรับรองสิทธิพิเศษของเขตอยู่อาศัยของนิคมชาวเยอรมันแซ็กซันในเขตทรานซิลเวเนีย ถือเป็นกฎหมายเอกราชฉบับแรกของโลก และเป็นผู้นำสงครามครูเสดครั้งที่ห้าไปยังดินแดนศักดิ์สิทธิ์ในปี ค.ศ. 1217 โดยตั้งกองทัพหลวงที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์สงครามครูเสด ตราสารกระทิงทอง ปี ค.ศ. 1222 ของเขาเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกในภาคพื้นทวีปยุโรป ซึ่งทำให้เหล่าขุนนางเริ่มแสดงความคับข้องใจแก่แอนดรูว์ที่ 2 ซึ่งเป็นรากฐานที่นำไปสู่สถาบันรัฐสภา (parlamentum publicum)

การปิดล้อมเมืองแอสเตอร์โกม ปี ค.ศ. 1241 โดยโกลเดนฮอร์ด

ในปีค. ศ. 1241–1242 อาณาจักรได้รับความเสียหายครั้งใหญ่จากการรุกรานของชาวมองโกล (โกลเดนฮอร์ด) มากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากร 2 ล้านคนในฮังการีในขณะนั้นเสียชีวิตจากการรุกราน กษัตริย์เบลอที่ 4 (IV. Béla király) ปล่อยให้ชาวคูมัน (Cuman) และชาวยาสสิก (Jassic) เข้ามาในประเทศซึ่งกำลังหลบหนีชาวมองโกล และต่อมาชนชาติเหล่านี้ก็ได้ถูกกลืนเข้าไปเป็นประชากรฮังการี โดยหลังจากมองโกลล่าถอย กษัตริย์เบลอได้สั่งให้สร้างปราสาทหินและป้อมปราการหลายร้อยแห่งเพื่อป้องกันการรุกรานของชาวมองโกลครั้งที่สองที่อาจเกิดขึ้นได้ ชาวมองโกลกลับมาที่ฮังการีในปี ค.ศ. 1285 แต่ระบบปราสาทหินที่สร้างขึ้นใหม่และยุทธวิธีใหม่ (โดยใช้อัศวินติดอาวุธในสัดส่วนที่สูงกว่า) หยุดยั้งพวกมองโกลไว้ได้ ทำให้กองทัพมองโกลที่รุกรานพ่ายแพ้ ใกล้กับเมืองแป็ชต์ (ปัจจุบันคือบูดาเปสต์ฝั่งขวา) โดยกองทัพของลาสโล่ที่ 4 แห่งฮังการี (IV. László király) การรุกรานในภายหลังทัพมองโกลถูกขับไล่อย่างรวดเร็ว ชาวมองโกลสูญเสียกำลังรุกรานไปมาก และไม่สามารถผนวกฮังการีไว้ในดินแดนของจักรวรรดิมองโกล

หลังจากชาวคูมันเข้ามาลี้ภัยในฮังการี ชาวคูมันได้ช่วยฮังการีรบกับมองโกล และได้รับดินแดนทางตอนใต้ของฮังการีเป็นการตอบแทน พื้นที่เหล่านี้แบ่งได้เป็น 3 ส่วนด้วยกันคือ Cumania (Kunság), Greater Cumania (Nagykunság), และ Little Cumania (Kiskunság) ดินแดนเหล่านี้ยังคงทิ้งชื่อไว้ในชื่อสถานที่ในประเทศฮังการีปัจจุบัน เช่นจังหวัด Bács-Kiskun และ Kiskunhalas ซึ่งอยู่ในพื้นที่ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็น Little Cumania (Kiskunság)

ถึงแม้ความสัมพันธ์คูมัน-ม็อจยอร์จะไม่ได้ราบรื่นตลอดหลังจากการให้ดินแดน แต่ชาวคูมันถูกมองว่าเป็นกองกำลังสำคัญสำหรับฮังการีในการต่อต้านมองโกล ในยามที่ไร้สงคราม การเข้ามาตั้งรกรากของชาวคูมัน ทำให้ชนชั้นสูงและประชาชนชาวม็อจยอร์ไม่พอใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังพระเจ้าลาซโลว์ที่ 4 แห่งฮังการี (Ladislaus IV) ซึ่งเป็นลูกครึ่งคูมันทางมารดา ได้มีปัญหากับคริสตจักร และโดนคว่ำบาทโดยฟิลิป บิชอปแห่งเฟอร์โม เนื่องจากไม่สามารถหยุดวิถีชีวิตแบบเร่ร่อนและการประกอบพิธีศาสนาแพเกินของชาวคูมันในฮังการีได้ หลังจากถูกคว่ำบาตร พระเจ้าลาซโลว์ที่ 4 เริ่มสูญสิ้นอำนาจ ทำให้ในช่วงสุดท้ายของชีวิตต้องเร่ร่อนไปทั่วราชอาณาจักร และสุดท้ายก็โดนปลงพระชนม์โดยชาวคูมัน 3 คน ณ เมือง Körösszeg (ปัจจุบันคือ Toboliu ประเทศโรมาเนีย) ในที่สุด

เมืองหลวงหลักของราชวงศ์อาร์พาดมีอยู่ 2 แห่ง คือ แอสแตร์โกม (Esztergom) และ เซแก็ชแฟเฮร์วาร์ (Székesfehérvár)

ราชวงศ์อาร์พาด (Árpád-ház) หมดสิ้นทายาทฝ่ายชายในปี ค.ศ. 1301 ทำให้กษัตริย์ชาร์ลส์ โรแบร์ต (Károly Róbert) ทายาทสายเลือดอาร์พาดทางฝ่ายหญิง ซึ่งเป็นลูกของกษัตริย์เมืองนาโปลี แห่งคาบสมุทรอิตาลี (ราชวงศ์อ็องฌู) ขึ้นเป็นกษัตริย์ฮังการีแทนในปีนั้นเอง

ยุคของราชวงศ์อ็องฌูและฮุนยอดิ ค.ศ. 1308-ค.ศ. 1526

[แก้]
กษัตริย์คาโรย โรแบร์ตแห่งฮังการี กษัตริย์องค์แรกของฮังการีที่ไม่ได้มากจากราชวงศ์อาร์พาด

หลังจากผู้ปกครองคนสุดท้ายของราชวงศ์อาร์พาดเสียชีวิตในปี 1301 การต่อสู้แย่งชิงอำนาจทำให้ประเทศอ่อนแอลงเป็นหลายปี ในที่สุดราชวงศ์อ็องฌู (Anjou-ház) ซึ่งเป็นญาติของราชวงศ์อาร์พาดก็ได้รับอำนาจตลอดทั้งศตวรรษที่ 14 กษัตริย์ชาร์ลส์ โรแบรต์ (Charles Robert) กษัตริย์องค์แรกของราชวงศ์อ็องฌู ได้รวมศูนย์อำนาจ ในรัชสมัยลูกชายของเขา หลุยส์ที่ 1 แห่งฮังการีประเทศฮังการีมีเขตแดนที่กว้างที่ใหญ่ที่สุด เลยไปถึงเขตประเทศโปแลนด์ ตะวันออกของประเทศออสเตรีย และบางส่วนของแคว้นโบฮีเมียในปัจจุบัน มีรัฐบริวารหลายร้อยรัฐอยู่ใต้ราชอำนาจของประเทศฮังการี หนึ่งในเมืองศูนย์กลางที่สำคัญที่สุดของกษัตริย์ราชวงศ์อ็องฌู (ถัดจากเมืองเซแก็ชแฟเฮร์วาร์และเมืองบูดา) คือเมืองวิแชกราด (Visegrád) ในศตวรรษที่ 15 ราชอาณาจักรฮังการีเป็นมหาอำนาจที่สำคัญในยุโรป ในช่วงรัชสมัยของจักรพรรดิซีกิสมุนท์แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (Luxemburgi Zsigmond)

ยาโนช ฮุนยอดิ (Hunyadi János) บิดาของกษัตริย์มาชยาช ฮุนยอดิ

ในตอนต้นของศตวรรษที่ 15 เนื่องจากการขยายตัวอย่างรวดเร็วของจักรวรรดิออตโตมันโดยสุลต่านตุรกี จึงมีการต่อสู้เกิดขึ้นบ่อยขึ้นที่ทางภาคใต้ของฮังการี ในปี ค.ศ. 1456 แม่ทัพยาโนช ฮุนยอดิ (Hunyadi János) แห่งตระกูลฮุนยอดิ (แคว้นฮุนยอด, ปัจจุบันคือ เทศมณฑลฮุนเนโดรา ประเทศโรมาเนีย) กลายเป็นหนึ่งในผู้บัญชาการทหารที่เก่งที่สุดในยุโรปที่ยุทธการการปิดล้อมเมืองนานโดร์แฟเฮร์วาร์ (Nándorfehérvár ปัจจุบันคือ กรุงเบลเกรด, ประเทศเซอร์เบีย) และ หยุดการพยายามพิชิตฮังการีของชาวตุรกีเป็นเวลา 100 ปี (ทุกวันนี้คริสตจักรหลายแห่งในโลก ใช้ระฆังด้านทิศใต้ในการระลึกถึงการสู้รบของชาวยุโรปที่เมืองนานโดร์แฟเฮร์วาร์)

มาทยาช ฮุนยอดิ (Hunyadi Mátyás หรือ มัทธีอัส คอร์วินุส Matthias Corvinus) ลูกชายคนเล็กของยาโนช ฮุนยอดิ ได้รับเลือกให้เป็นกษัตริย์ในปี ค.ศ. 1458 และปกครองจนถึงปี ค.ศ. 1490 ทำให้หลังจากการสูญพันธุ์ของราชวงศ์อาร์พาด มาทยาช ฮุนยอดิ เป็นกษัตริย์ของฮังการีองค์แรก รัชสมัยของพระองค์ถือเป็นหนึ่งในยุครุ่งโรจน์ที่สุดของชาวฮังการี ทรงเป็นกษัตริย์ที่เข้มแข็งและเฉลียวฉลาด

ภาพวาดกษัตริย์มาทยาช ฮุนยอดิ (Mátyás király)
แผนที่การยึดครองใน สงครามของกษัตริย์แมเธียส คอร์นิวุส แห่งฮังการี (ค.ศ. 1458-1490)
ปราสาทคอร์วิน (Corvin castle) หรือ ปราสาทวอยดอฮุนยอดิ (Vajdahunyadi vár) หรือ ปราสาทฮุนเน่โดอาร่า (Hunedoara castle) สร้างขึ้นในรัชสมัยของกษัตริย์มาชยาช ในเมืองวอยดอฮุนยอด หรือ Hunedoara, ประเทศโรมาเนียในปัจจุบัน

ในรัชสมัยของกษัตริย์มาทยาช ฮุนยอดิ ประเทศฮังการีได้มีพัฒนาการทางวัฒนธรรมที่เจริญที่สุด ศูนย์กลางหลักของประเทศกลายเป็นเมืองบูดา พร้อมด้วยราชสำนักยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาที่มีชื่อเสียงของกษัตริย์แมเธียส ฮังการีเป็นประเทศแรกที่ได้รับวัฒนธรรมเรเนซองส์นอกประเทศอิตาลีในยุคนี้ ยุคนี้ฮังการีส่งออกโลหะมีค่า เช่น ทองแดง เครื่องหนัง ผลิตภัณฑ์จากสัตว์

มีตำนานพื้นบ้านที่บอกไว้ว่า กษัตริย์มาทยาชปลอมตัวเป็นคนธรรมดาเพื่อไปดูความเป็นอยู่ของประชาชน และ ดูแลคนยากจน

กษัตริย์แมทเธียส คอร์วินุสได้ปกป้องพรมแดนด้านตะวันออกจากจักรวรรดิออตโตมัน และได้โจมตีดินแตนทางด้านตะวันตก ด้วยกองทัพของพระองค์ที่มีชื่อว่า "กองทัพดำ (Fekete Sereg)" ไกลจนถึงแคว้นโบฮีเมีย และ กรุงเวียนนา รวมถึงป้องกันการรุกรานจากพวกออตโตมันในทางตะวันออกได้ (ยุคนี้คือยุคเดียวกันกับวลาด ดรากูลา ซึ่งเป็นหนึ่งในด่านหน้าในการป้องกันการรุกรานของออตโตมันในวาลาเคียและทรานซิลเวเนียของฮังการี)

สงครามชิงบัลลังก์หลังการสวรรคตของกษัตริย์มาทยาช (Mátyás király) ระหว่าง ค.ศ. 1490 - 1494

กษัตริย์มาทยาช สวรรคตโดยไร้ซึ่งทายาทผู้ชอบธรรม และเกิดศึกการแย่งชิงบัลลังก์โดยลูกชายนอกสมรสของมาทยาช ชื่อว่า ยาโนช ฮุนยอดิ (János Hunyadi) และกษัตริย์โปแลนด์ที่เคยทำสงครามกับมาชยาชที่โบฮีเมีย ชื่อว่า อูลาสโล่ที่ 2 ซึ่งเป็นฝ่ายชนะสงครามชิงบัลลังก์ บัลลังก์แห่งฮังการีได้รับการสืบทอดโดย พระเจ้าววาดือสวัฟที่ 2 ยากีลโลแห่งโปแลนด์ หรือ อูลาสโล่ที่ 2 (II. Úlászló király) กษัตริย์แห่งราชวงศ์ยากีลโล (ค.ศ. 1490-1516) ซึ่งทำให้ราชสำนักฮังการีเกิดความอ่อนแอ และ เกิดความสั่นคลอนทางอำนาจภายในราชอาณาจักร

ในปี ค.ศ. 1514 ภายใต้การนำทัพของ โดจอ เจิร์จย์ (Dózsa György) ขุนนางทรานซิลเวเนียผู้สูงศักดิ์ ได้รวมเหล่าไพร่จากทรานซิลเวเนียประมาณ 40,000 คน และอื่น ๆ จากทั่วประเทศ บุกเข้ายึดเมืองต่าง ๆ เพื่อยุติการกดขี่ของเหล่าขุนนางของกษัตริย์อูลาสโล่ที่ 2 จากทรานซิลเวเนีย การจลาจลถูกยับยั้งอย่างไร้ความปราณีโดยขุนนาง และ โดจอ เจิร์จย์ถูกประหารชีวิตโดยการนั่งบนบัลลังก์ร้อนและสวมมงกุฎร้อน เพื่อเย้ยหยันความพยายามที่จะตั้งตัวเองเป็นกษัตริย์ และ บังคับให้ผู้สมรู้ร่วมคิดกินเนื้อร้อนของโดจอ เจิร์จย์ เหตุการณ์ในครั้งนี้เรียกว่า "สงครามไพร่ฮังการี (magyar parasztháború)" และทำให้ฮังการีที่เสถียรภาพต่ำอยู่แล้ว เกิดการแบ่งฝักฝ่าย และ เป็นสาเหตุที่ทำให้ชาวฮังการีไม่สามารถรวมกันต่อสู้ออตโตมันได้เหมือนสมัยกษัตริย์มาทยาช

ท้ายที่สุด ประเทศฮังการีเกือบทั้งหมดได้ตกไปอยู่ในการครอบครองของจักรวรรดิออตโตมัน หลังจากสงครามออตโตมัน ที่ฮังการีกับออตโตมันได้ทำการรบมานานกว่า 150 ปี

ในยุคนี้ เมืองหลวงของราชอาณาจักรฮังการี คือ บูดอ แตแมชวาร์ วิแชกราด และ เวียนนา (ภายใต้การยึดครองของกษัตริย์แมทเธียส คอร์วินุสเป็นระยะเวลาชั่วคราว)

ยุคสงครามออตโตมัน ค.ศ. 1526 - 1699

[แก้]
ภาพวาดยุทธการที่โมฮาช (Mohácsi csata) โดยโมร์ ตาน (Than Mór)

ในตอนต้นของคริสต์ทศวรรษ 1520 จักรวรรดิออตโตมานได้โจมตีป้อมปราการชายแดนฮังการีทางตอนใต้อย่างต่อเนื่อง หลังจากสงครามกับชาวฮังการีและรัฐอื่น ๆ ราว 150 ปี การล่มสลายของเมืองนานโดร์แฟเฮร์วาร์ (Nándorfehérvár) (หรือ กรุงเบลเกรด ประเทศเซอร์เบียในปัจจุบัน) ซึ่งเป็นประตูสำคัญทางใต้ของอาณาจักรฮังการีในยุคกลาง เป็นปัจจัยใหญ่ที่ทำให้ทัพจักรวรรดิออตโตมันเคลื่อนทัพสู่ที่ราบพันโนเนียได้ การโจมตีเมืองนานโดร์แฟเฮร์วาร์ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม ค.ศ. 1521 ตามมาด้วยการโจมตีพื้นที่ด้านในของประเทศ จักรวรรดิออตโตมันได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาดเหนือกองทัพฮังการีในยุทธการที่โมฮาช ในปี ค.ศ. 1526 ซึ่งพระเจ้าหลุยส์ที่ 2 แห่งฮังการี สิ้นพระชนม์ขณะหลบหนี ท่ามกลางความสับสนวุ่นวายทางการเมืองนั้น ขุนนางฮังการีที่แตกแยกได้เลือกกษัตริย์สองพระองค์ให้ปกครองราชอาณาจักรฮังการีพร้อมกัน คือ พระเจ้ายาโนชที่ 1 แห่งฮังการี (John Zápolya) และ จักรพรรดิแฟร์ดีนันท์ที่ 1 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (Ferdinand I) แห่งราชวงศ์ฮาพส์บวร์ค

มัสยิดปาชา กาซิม ในเมืองเป็ช ประเทศฮังการี สร้างในคริสต์ศตวรรษที่ 16-17 ในช่วงการพิชิตราชอาณาจักรฮังการีของจักรวรรดิออตโตมัน

ทัพของจักรวรรดิออตโตมันทำการโจมตีจักรวรรดิโรมันอันศักดิสิทธ์อย่างต่อเนื่อง โดยทำการปิดล้อมกรุงเวียนนาในปี ค.ศ. 1529 แต่ไม่สามารถยึดได้สำเร็จ หลังการยึดครองกรุงบูดาโดยชาวเติร์กในปี ค.ศ. 1541 ฮังการีได้ถูกแบ่งออกเป็นสามส่วนและยังคงอยู่จนถึงสิ้นศตวรรษที่ 17 ทางตะวันตกเฉียงเหนือถูกผนวกโดยราชวงศ์ฮาพส์บวร์ค ซึ่งปกครองในฐานะกษัตริย์แห่งฮังการี เรียกส่วนนี้ว่า ราชอาณาจักรฮังการี (Magyar királyság) เมืองหลวงอยู่ที่เมืองโปโจญ (Pozsony ปัจจุบันคือ กรุงบราติสลาวา ประเทศสโลวาเกีย) แผ่นดินส่วนตะวันออกของราชอาณาจักรกลายเป็นเอกราชในฐานะราชรัฐทรานซิลเวเนีย (Erdélyi fejedelemség) ภายใต้การปกครองของราชวงศ์ซาโปยอ (Zápolya) และกษัตริย์องค์อื่น ๆ จากการเลือกสรร รวมไปถึงโดยจักรวรรดิออตโตมัน และต่อมาโดยราชวงศ์ฮาพส์บวร์ค

แผนที่ฮังการีในยุคนี้ แบ่งได้เป็นสามส่วนคือ 1) ราชอาณาจักรฮังการีทางตอนเหนือ 2) ราชรัฐทรานซิลเวเนียทางตะวันออก และ 3) ส่วนที่ถูกครองโดยจักรวรรดิออตโตมัน

พื้นที่ศูนย์กลางที่เหลืออยู่รวมถึงเมืองหลวงบูดาเป็นที่รู้จักกันในชื่อ ปาชาลิกแห่งบูดา (Pashalik of Buda) เป็นพื้นที่ใต้การปกครองของจักรวรรดิออตโตมัน (Törög hódoltság) ทหารออตโตมัน 17,000-19,000 คน ประจำการอยู่ในป้อมปราการออตโตมันในดินแดนของฮังการี โดยเป็นชาวเติร์กออร์โธดอกซ์และชาวมุสลิมบอลข่านสลาฟ มากกว่าชาวตุรกี นอกจากนั้นยังมีเจ้าหน้าที่จากกลุ่มชนสลาฟออร์ธอด็อกซ์ใต้ที่ทำหน้าที่เป็น ทหารราบอาคินยิ (akinji) และกองกำลังอื่น ๆ ที่มีไว้สำหรับการปล้นสะดมในดินแดนของฮังการีในปัจจุบัน[45] ในปี ค.ศ. 1686 กองทัพของโฮลีลีก (Holy League) ซึ่งมีทหารกว่า 74,000 คนจากชาติต่าง ๆ ได้ยึดคืนกรุงบูดาจากออตโตมันเติร์ก หลังจากความพ่ายแพ้อย่างย่อยยับของออตโตมานในอีกไม่กี่ปีต่อมา ราชอาณาจักรฮังการีทั้งหมดก็ถูกปลดออกจากการปกครองของออตโตมันในปี ค.ศ. 1718 การบุกเข้าไปในฮังการีครั้งสุดท้ายโดยข้าราชบริพารชาวเติร์กตาตาร์จากไครเมียเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1717

หลังพ้นจากการครอบครองของจักรวรรดิออตโตมัน จักรวรรดิออสเตรียของราชวงศ์ฮาร์พบวร์ก ได้ทำการยึดครอง และ ปกครองอาณาเขตทั้งหมดของราชอาณาจักรฮังการี ราชวงศ์ฮาร์พบวร์กได้ทำการปฏิรูปศาสนาและการปกครองในอาณาเขตราชอาณาจักรฮังการี ในศตวรรษที่ 17 ทำให้อาณาจักรส่วนใหญ่หันมานับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก แทนที่นิกายโปรแตสแตนท์ องค์ประกอบทางชาติพันธุ์ของฮังการีได้รับการเปลี่ยนแปลงโดยพื้นฐานอันเป็นผลมาจากสงครามที่ยืดเยื้อกับจักรวรรดิออตโตมัน พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศได้รับความเสียหาย การเติบโตของประชากรถูกทำให้ชงัก และเมืองขนาดเล็กจำนวนมาก ถูกทำลายราบคาบ รัฐบาลออสเตรียภายใต้จักรวรรดิออสเตรีย ได้ทำการตั้งถิ่นฐานชาวเซิร์บและชาวสลาฟอื่น ๆ ไว้ทางตอนใต้ที่ประชากรถูกกำจัดเกือบหมด และ ตั้งรกรากชาวเยอรมัน (เรียกว่า ดานูบสวาเบียน) ในหลายพื้นที่ แต่ชาวฮังการีไม่ได้รับอนุญาตให้ตั้งถิ่นฐานหรือตั้งถิ่นฐานใหม่ทางตอนใต้ของที่ราบฮังการีใหญ่ คงไว้เฉพาะตอนกลางและตอนเหนือเท่านั้น[46]

ฮังการีภายใต้จักรวรรดิออสเตรีย ค.ศ. 1669 - ค.ศ. 1867

[แก้]

สงครามอิสรภาพของราโกตซี ค.ศ. 1703 - 1711

[แก้]
ภาพวาดของจอร์จ ฟิลลิป รูเกินดาส แสดงการต่อสู้บนหลังม้าของกองทัพคุรุซของฮังการี และ กองทัพทหารม้าจักรวรรดิออสเตรีย

ระหว่างปี 1703 ถึงปี 1711 ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิออสเตรีย มีการลุกฮือครั้งใหญ่ที่นำโดยเจ้าชายราโกตซี แฟแร็นตส์ที่ 2 ซึ่งหลังจากการอ่อนกำลังลงของราชวงศ์ฮาพส์บวร์ก จากการต่อสู้ภายใน (สงครามสืบราชบัลลังก์สเปน) ทำให้ในปี ค.ศ. 1707 ณ สภาไดเอตแห่งโอโน็ต (Diet of Ónod) ราโกตซีได้เข้ามามีอำนาจชั่วคราวในฐานะเจ้าชายปกครองฮังการีในช่วงสงคราม แต่ปฏิเสธการขึ้นเป็นกษัตริย์ฮังการี และกลายเป็นสงครามเพื่อปลดแอกจากราชวงศ์ฮาร์พบวร์ก เรียกว่า สงครามอิสรภาพของราโกตซี โดยมีการรวมตัวเป็นกองทัพต่อต้านราชวงศ์ฮาพส์บวร์กโดยชาวฮังการี เรียกว่า กองทัพคุรุตซ์ (Kuruc) แม้ว่ากองทัพคุรุตซ์จะเข้ายึดครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศได้ แต่แพ้การสู้รบหลักที่แทร็นเชน (Trencsén) (ปัจจุบันคือเมือนเตรนซีน ประเทศสโลวาเกีย) ซึ่งส่งผลให้ใน ค.ศ. 1708 มา กองกำลังคุรุตซ์ ได้ทำการจำนน เนื่องจากการความพ่ายแพ้ต่อออสเตรียและขวัญกำลังใจที่ตกต่ำ ในทางกฎหมาย สงครามอิสรภาพจบลงในวันที่ 29 เมษายน ค.ศ. 1711 ด้วยสนธิสัญญาซ็อตมาร์ (Treaty of Szatmár)

แฟแร็นซ์ ราโกตซี ที่ 2 ภาพวาดโดย Ádám Mányoki

ในช่วงระหว่างและหลังจากสงครามนโปเลียน สภาไดเอ็ทของฮังการีไม่ได้มีการจัดประชุมกันมาหลายทศวรรษ ในช่วงทศวรรษที่ 1820 จักรพรรดิแห่งออสเตรียถูกบังคับให้จัดประชุมสภาไดเอ็ท ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของยุคปฏิรูป (1825–1848, ฮังการี: reformkor) เคานต์ อิชต์วาน เซแช็นยี (Count István Széchenyi) หนึ่งในรัฐบุรุษที่โดดเด่นที่สุดของประเทศฮังการี ตระหนักถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการปรับปรุงฮังการีให้ทันสมัย การรณรงค์ของเขานั้นทำให้เกิดการบูรณะรัฐสภาฮังการีขี้นใหม่ในปี ค.ศ. 1825 และการริ่เริ่มสร้างสิ่งต่าง ๆ เช่น สะพานโซ่ (Lánchíd) และการทำให้แม่น้ำดานูบสามารถใช้เรือผ่านได้ หรือ การก่อตั้งสถาบันวิทยาศาตร์ฮังการี

ในช่วงเวลานี้ได้มีการกำเนิดพรรคเสรีนิยมเกิดขึ้นและมุ่งเน้นไปที่นโยบายเพื่อชนชั้นล่าง ลอโย็ช โค็ชชูต (Kossuth Lajos) นักเขียนข่าวที่มีชื่อเสียงในเวลานั้น กลายเป็นผู้นำของสภาล่างในรัฐสภา การเปลี่ยนแปลงมุ่งเน้นไปที่ความทันสมัย แม้ว่าราชวงศ์ฮาพส์บวร์กจะทำการขัดขวางกฎหมายเสรีนิยมที่สำคัญทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับสิทธิพลเมือง การเมือง และ การปฏิรูปเศรษฐกิจ อีกทั้งยังมีการคุมขังนักปฏิรูปหลายคน เช่น ลอโย็ช โค็ชชูต (Kossuth Lajos) และ มิฮาย ตานชิช (Táncsics Mihály) โดยทางการ เนื่องจากการพยายามปฏิรูประบอบการเมืองการปกครองใหม่

การปฏิวัติฮังการี ค.ศ. 1848 - 1849

[แก้]
กองทัพฮังการียึดปราสาทบูดาจากจักรพรรดิออสเตรียกลับคืนมา ภาพวาดโดย ต็อน โมร์ (Than Mór)
เคานต์ ลอโยช บ็อททยานี แห่ง เนแม็ตอูยวาร์ (gróf németújvári Batthyány Lajos) นายกรัฐมนตรีคนแรกของฮังการี ภาพวาดโดย Barabás Miklós

การปฏิวัติในปี 1848 คือการปฏิวัติที่ปะทุขึ้นในจักรวรรดิออสเตรีย เมื่อวันที่ 15 มีนาคม ค.ศ. 1848 การปฏิวัติปะทุขึ้นในเมือง Pest ภายใต้การนำของคนหนุ่มสาวในเดือนมีนาคม (รวมทั้ง Sándor Petőfi และ Mór Jókai) ข้อเรียกร้องที่สำคัญที่สุดของประเทศถูกกำหนดไว้ใน Tizenkét pont ซึ่งพิมพ์และเผยแพร่โดยหลีกเลี่ยงการเซ็นเซอร์ของรัฐออสเตรีย (หนังสือ หนังสือพิมพ์ และสิ่งพิมพ์ทั้งหมดสามารถตีพิมพ์ได้ในเวลานี้ต้องได้รับอนุญาตจากทางการ) ภายใต้แรงกดดันของการปฏิวัติ รัฐบาลฮังการีที่รับผิดชอบกลุ่มแรก ได้รับการแต่งตั้งภายใต้การนำของเคานต์ลอโยช บอททยานี (Gróf Battyány Lajos) ระบบทาสติดที่ดินถูกยกเลิก ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1848 ศาลเวียนนาได้เปิดฉากโจมตีรัฐบาลฮังการีด้วยอาวุธ นี่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามอิสรภาพ ประชาชนถูกระดมกำลังภายใต้การนำของลอโย็ช โค็ชชูต โดยไม่คำนึงถึงสัญชาติ ประชาชนที่อาศัยอยู่ในประเทศก็มีส่วนร่วมในการต่อสู้โดยไม่คำนึงถึงสัญชาติของพวกเขา เช่น ชาวโครเอเชีย ชาวโรมาเนีย และชนชาติอื่น ๆ ด้วย โดยผู้นำกองทัพเป็นตัวแทนของประเทศต่าง ๆ

การประหารชีวิต 13 แม่ทัพ ณ เมืองออร็อด (Arad) ผลงานของโตร์มอ ยาโนช (Thorma János)

ภายในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1849 ฮังการีได้รับอิสรภาพจากการกดขี่ของออสเตรีย ด้วยความสำเร็จทางทหาร รัฐสภาจึงประกาศเอกราช และการถอดถอนราชวงศ์ฮับส์บวร์กออกจากการเป็นผู้ปกครองฮังการี จักรพรรดิออสเตรียจึงขอความช่วยเหลือจากรัสเซีย ในฤดูร้อนปี ค.ศ. 1849 ทหารรัสเซีย 200,000 นายเดินทัพเข้าฮังการี เอาชนะกองทหารฮังการีที่สู้รบสามครั้ง ความต่อเนื่องของสงครามอิสรภาพกลายเป็นความสิ้นหวัง ดังนั้น นายพลออร์ตูร์ เกอร์แกย์ (Görgey Artúr) ผู้ชนะการต่อสู้หลายครั้ง จึงวางอาวุธของเขาอย่างไม่มีเงื่อนไขที่วิลากอส (Világos, Romania) เพื่อหลีกเลี่ยงการนองเลือดต่อไป หลังจากวางอาวุธ การตอบโต้อย่างนองเลือดก็เริ่มต้นขึ้น นักโทษหลายพันคนถูกคุมขังโดยราชวงศ์ฮับส์บูร์ก จำนวนการประหารชีวิตประมาณร้อยราย เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม ค.ศ. 1849 ณ เมืองออร็อด (Arad ปัจจุบันอยู่ในประเทศโรมาเนีย) นายพล 13 นายถูกประหารชีวิตพร้อมกัน เพื่อเป็นการเตือนและให้การ: ชาวฮังการี, เซิร์บ, เยอรมัน และชาติอื่น ๆ ที่ร่วมกันสู้เพื่ออิสรภาพ ในวันเดียวกันนั้น นายกรัฐมนตรีลอโยช บอททยานี (Batthyány Lajos) ถูกประหารชีวิตโดยการยิงเป้าที่เมือง Pest ราชวงศ์ฮับส์บูร์กรวมประเทศฮังการีเข้ากับกับออสเตรีย และตั้งแต่นั้นมาจากประเทศราชของออสเตรีย ฮังการีก็กลายเป็นจังหวัดของจักรวรรดิออสเตรีย และถูกปกครองโดยกองกำลังทหารออสเตรีย (แต่เปลี่ยนเป็นการปกครองแบบพลเรือนเมื่อเวลาผ่านไป) และ ภาษาราชการมีเพียงภาษาเยอรมันภาษาเดียว

จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 (ค.ศ. 1867-ค.ศ. 1914)

[แก้]

การประนีประนอม ค.ศ. 1867

[แก้]
แฟแร็นซ์ แดอาค (Deák Ferenc) ผู้เป็นแกนนำในการประนีประนอมของฮังการีและออสเตรีย เพื่อก่อตั้งจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี

หลังจากการล่มสลายของสงครามอิสรภาพ ชาวออสเตรียได้จัดการสงบเรียบร้อยในฮังการีผ่านการจัดกองทหารรักษาการณ์และการบริหารดินแดนแบบใหม่ ภาษาในการศึกษาและการบริหารกลายเป็นภาษาเยอรมัน ประชาชนไม่ได้มีส่วนในกิจการของรัฐ ไม่เข้ารับตำแหน่ง แต่หลังจากกองทัพออสเตรียพ่ายแพ้ในสงครามออสเตรีย-ปรัสเซียในปี ค.ศ. 1866 ทำให้จักรวรรดิออสเตรียเสียอำนาจที่มีเหมือนแต่เดิม ทั้งด้านกำลังทหาร และ การเงิน

ราชวงศ์ฮับส์บวร์กจึงสนใจที่จะคืนดีกับชาวฮังการี การเจรจาประนีประนอมมีแกนนำสำคัญคือ แฟแร็นซ์ แดอาค (Deák Ferenc) ฝ่ายฮังการี และ จักรพรรดิฟรันซ์ โยเซฟ ฝ่ายจักรวรรดิออสเตรีย ให้มั่นใจและรับรองต่อระบอบการปกครองของพระองค์ ในที่สุด ชาวฮังการีก็ยอมรับพระองค์เป็นประมุขในฐานะสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งฮังการี โดยฮังการีได้ก่อตั้งรัฐสภาเป็นของตนเอง ณ กรุงบูดาเปสต์

จักรพรรดิฟรานซ์โยเซฟที่ 1 แห่งออสเตรีย-ฮังการี

การประนีประนอมของออสเตรียและฮังการี ในปี ค.ศ. 1867 (kiegyezés) ทำให้มีการก่อตั้งราชวงศ์ออสเตรีย-ฮังการี (Osztrák-Magyar Monarchia) ผู้ปกครองของรัฐใหม่คือ ราชวงศ์ฮับส์บวร์ก และกิจการของรัฐบางส่วน (การต่างประเทศ การทหาร และการเงินบางส่วน) ได้รับการจัดการร่วมกันโดยประเทศสมาชิกทั้งสอง ฮังการีถูกบังคับให้มีส่วนสำคัญในการชำระหนี้ต่างประเทศของออสเตรีย การประนีประนอมเป็นประโยชน์ต่อฮังการี แม้ว่าจะถูกบังคับให้เป็นสหพันธรัฐ แต่ก็ได้รับการยอมรับจากราชวงศ์ฮับส์บูร์กว่าเป็นรัฐอิสระ เศรษฐกิจฮังการีเริ่มพัฒนาอย่างรวดเร็วในทศวรรษที่สงบสุขหลังจากการประนีประนอมของทั้งสองชนชาติ ฮังการีขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเกษตรกรรม และการผลิตเมล็ดพืช ขุนนางเจ้าของที่ดินปรับปรุงฟาร์มของพวกเขาให้ทันสมัย ​​ใช้เครื่องจักร และตั้งฟาร์ม รวมถึงการผลิตก็พัฒนาขึ้นเช่นกัน เป็นผลมาจากนโยบายอุตสาหกรรมของออสเตรีย อุตสาหกรรมการเกษตรส่วนใหญ่ (การสี การกลั่น การผลิตน้ำตาล ฯลฯ) เพิ่มขึ้นอย่างมากในฮังการี การพัฒนาโครงข่ายรถไฟมีการพัฒนาอย่างมาก ทำให้สามารถนำผลผลิตทางการเกษตรออกสู่ตลาดได้ ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ฮังการีมีความก้าวหน้าอย่างมากทางอารยธรรม กฎหมายอยู่ในอำนาจของรัฐสภาฮังการี เช่น การจ่ายภาษี อุตสาหกรรม สาธารณะ การบริหาร ฯลฯ มีการแนะนำการศึกษาพื้นฐานภาคบังคับ อย่างไรก็ตามมีเพียงประชากรหนึ่งในสิบที่มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง การลงคะแนนเสียงเกิดขึ้นในระบบเปิด ซึ่งทำให้การเปลี่ยนแปลงอำนาจทางการเมืองเป็นไปได้ยาก

ระบบเมืองมีความทันสมัยและพัฒนา บูดาเปสต์ได้กลายเป็นเมืองหลวงของประเทศ มีการรวมเมืองเปสต์ บูดา และโอบูดาเข้าด้วยกัน ในช่วงเปลี่ยนศตวรรษ มีสัญญาณความขัดแย้งที่ซ่อนอยู่ในสังคมออสเตรีย-ฮังการีเพิ่มมากขึ้น หนึ่งในสิ่งเหล่านี้ที่ร้ายแรงที่สุด คือ เรื่องเชื้อชาติ เนื่องจากมีชนชาติจำนวนมากอยู่ในออสเตรีย-ฮังการี เช่น ชาวอิตาลี, โปแลนด์, ยูเครน, สโลวัก ฯลฯ แต่มีเพียงชาวออสเตรีย และ ชาวฮังการีที่มีสิทธิมากที่สุดในจักรวรรดิ และเป็นชนวนสำคัญที่ทำให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1

แผนที่เขตปกครอง 18 แห่งของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี จักรวรรดิออสเตรีย: 1. โบฮีเมีย (Bohemia), 2. บูโควีนา (Bukovina), 3. คารินเทีย (Carinthia), 4. คาร์นิโอลา (Carniola), 5. ดัลเมเชีย (Dalmatia), 6. กัลลิเซีย (Galicia), 7. คึสเทินลันด์ (Küstenland), 8. ออสเตรียล่าง (Lower Austria), 9. โมราเวีย (Moravia), 10. ชาลซ์บูร์ก (Salzburg), 11. ซิเลเซีย (Silesia), 12. สตีเรีย (Styria), 13. ไทโรล (Tyrol), 14. ออสเตรียบน (Upper Austria), 15. โวราร์ลแบร์ก (Vorarlberg); ราชอาณาจักรฮังการี: 16. ฮังการี (Hungary) 17. โครเอเชีย-สลาโวเนีย (Croatia-Slavonia); ดินแดนปกครองร่วมกัน: 18.  บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา (Bosnia and Herzegovina)

สงครามโลกครั้งที่ 1 (ค.ศ. 1914-ค.ศ. 1918)

[แก้]
การลอบสังหารอาร์คดยุกฟรานซ์ เฟอร์ดินาน โดยกาฟริโล่ พริซิป (Gavrilo Princip) ชาวเซียร์เบีย ในกรุงซาราเยโว จักรวรรดิออสเตรียฮังการี เป็นชนวนการเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1

ในฤดูร้อนปี 1914 สงครามโลกครั้งที่ 1 ได้ปะทุขึ้นในยุโรปเนื่องจากการลอบสังหารรัชทายาทออสเตรีย-ฮังการี ผู้ครองบัลลังก์ Ferenc Ferdinand โดยชาวเซอร์เบีย-บอสเนีย ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า รัฐในยุโรปและทวีปอื่น ๆ ประเทศต่าง ๆ เข้าสู่สงคราม และกระจายไปทั่วโลก อีกด้านหนึ่ง เราสามารถพบเยอรมนี ออสเตรีย-ฮังการี อิตาลี (พันธมิตรสามประเทศ) และรัฐที่สนับสนุนพวกเขา อีกด้านหนึ่งประกอบด้วยฝ่ายสัมพันธมิตร (Entente) ได้แก่ บริเตนใหญ่ รัสเซีย ฝรั่งเศส และรัฐต่าง ๆ ที่เข้าร่วมกับพวกเขา

ชาวฮังกาเรียนเข้าร่วมในสงครามในฐานะทหารของกองทัพออสเตรียฮังการีร่วม หลายแสนคนเสียชีวิตในการต่อสู้อันทำลายล้างที่เกิดขึ้นมานานหลายปี ในปี ค.ศ. 1917 สหรัฐฯ เข้าสู่สงครามพร้อมกับฝ่ายสัมพันธมิตร และตัดสินผลลัพธ์ของสงครม สงครามโลกครั้งที่หนึ่งจบลงด้วยชัยชนะของความตกลงร่วมกัน ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1918 ราชวงศ์และเยอรมนีก็สรุปการหยุดยิงด้วย การปฏิวัติเกิดขึ้นในฮังการีในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1918 ซึ่งตามคำร้องขอของผู้ประท้วง จักรพรรดิได้แต่งตั้งคาโรยิ มิฮาย (Mihály Károlyi) เป็นนายกรัฐมนตรี และได้เซ็นสัญญาสันติภาพกับฝ่ายพันธมิตร มีการปฏิรูปที่ดิน การลงคะแนนเสียง และเสรีภาพของสื่อมวลชน อย่างไรก็ตาม เขาไม่สามารถเอาชนะปัญหาทางเศรษฐกิจและสภาวะภายนอกที่ไม่เอื้ออำนวยได้จากสงครามได้ เขาพยายามรักษาบูรณภาพแห่งดินแดนของประเทศอย่างสันติในระหว่างการเจรจากับฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งไม่ได้นำไปสู่ผลลัพธ์ใด ๆ

ในเดือนพฤศจิกายน สภาแห่งชาติได้ลงมติเกี่ยวกับความเป็นอิสระของประเทศและกลายเป็นสาธารณรัฐฮังการี ปัจจัยชี้ขาดในการพัฒนาสถานการณ์ต่อมาคือฮังการีเป็นประเทศที่พ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและมีข้อเรียกร้องต่าง ๆ มาจากฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งรัฐบาลประชาธิปไตยไม่ปฏิบัติตามข้อเรียกร้องลาออกได้

สาธาณรัฐโซเวียตฮังการี ค.ศ. 1919

ทำให้รัฐบาลสังคมนิยมประชาธิปไตย-คอมมิวนิสต์ฮังการีขึ้นสู่อำนาจ และประกาศตั้งสาธารณรัฐโซเวียตฮังการีขึ้น ปกครองด้วยเผด็จการชนชั้นกรรมาชีพ ในฤดูใบไม้ผลิปี ค.ศ. 1919 ซึ่งกินเวลาเพียง 3 เดือน รัฐบาลของสาธารณรัฐโซเวียตได้จัดทำบทบัญญัติเพื่อปรับปรุงสถานการณ์ แต่ในขณะเดียวกันก็พยายามเปลี่ยนประเทศให้เป็นแบบจำลองโซเวียตรัสเซีย ด้วยมาตรการเผด็จการต่าง ๆ ในขณะเดียวกัน กองทหารของรัฐเชโกสโลวาเกียและโรมาเนียที่เข้าร่วมฝ่ายพันธมิตรได้เข้ามาบุกฮังการี เมื่อสิ้นสุดสงคราม กองทัพสองประเทศได้เข้ายึดครองดินแดนจากฮังการีมากขึ้นเรื่อย ๆ รัฐบาลของสาธารณรัฐโซเวียตจัดกลุ่มต่อต้านขึ้น แต่พ้ายแพ้ลงไป และ เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ประเทศฮังการีเสียดินแดนไปจำนวนมาก จากสนธิสัญญาทรียานง

การประชุมสันติภาพปารีสของฝ่ายสัมพันธมิตร ได้สัญญาชาวฮังการีว่าหากการต่อต้านด้วยอาวุธสิ้นสุดลง ทหารโรมาเนียจะอพยพออกจากดินแดนที่ถูกยึดครอง ชาวฮังการีได้หยุดการต่อต้าน แต่การประชุมสันติภาพไม่รักษาสัญญา และกองทัพโรมาเนียได้ทำการยึดครองบูดาเปสต์ต่อ การเจรจาสันติภาพในปารีสเมื่อสิ้นสุดลง มีผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อฮังการี ตามสนธิสัญญาสันติภาพทรียานง ที่ลงนามเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน ค.ศ. 1920 ฮังการีสูญเสียอาณาเขตสองในสาม โดยถูกผนวกเข้ากับอาณาเขตของประเทศโดยรอบ พื้นที่ที่ถูกตัดไปมีชาวฮังการีอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก (พื้นที่ดังกล่าว เช่น Szeklerland) รัฐฮังการีมีหน้าที่ชดเชยความสูญเสียทางวัตถุทั้งหมดที่ประเทศรอบข้างสูญเสียไปในช่วงสงคราม กองทัพถูกรื้อถอน และอาวุธยุทโธปกรณ์ก็ถูกห้ามการใช้งาน หลังจากการล่มสลายของสาธารณรัฐโซเวียตฮังการี ฮังการีก็กลายเป็นราชอาณาจักรฮังการี โดยเป็นราชอาณาจักรที่ไม่มีกษัตริย์ ประเทศถูกปกครองโดยผู้ว่าราชการที่ได้รับเลือกจากรัฐสภา ชื่อว่า มิกโลช โฮร์ตี (Horthy Miklós) การปกครองของโฮร์ตีดำเนินไปจนถึงปี ค.ศ. 1944

สนธิสัญญาทรียานง (ค.ศ. 1920) และการเสียดินแดนของราชอาณาจักรฮังการี

[แก้]
ความแตกต่างระหว่างพรมแดนเดิมกับพรมแดนใหม่ของอาณาจักรฮังการีในจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี และราชอาณาจักรฮังการีอิสระ หลังการเสียดินแดนตามสนธิสัญญาทรียานง จากสำมะโนประชากรเชื้อชาติของราชอาณาจักรฮังการี ปี ค.ศ. 1910 สีเขียวแทนพื้นที่ราชอาณาจักรฮังการี และสีเทาแทนพื้นที่เขตปกครองตนเองโครเอเชีย-สลาโวเนีย (autonomous region of Croatia-Slavonia)

สนธิสัญญาทรียานง (ฝรั่งเศส: Traité de Trianon; ฮังการี: Trianoni békeszerződés; อังกฤษ: Treaty of Trianon) เป็นหนึ่งในห้าสนธิสัญญาสันติภาพสำคัญ ที่เตรียมไว้ในการประชุมสันติภาพปารีสและลงนามในพระราชวังกร็องทรียานง (Grand Trianon Palace) ในเมืองแวร์ซาย ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน ค.ศ. 1920 ระหว่างชาติฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง กับราชอาณาจักรฮังการี หลังเป็นหนึ่งในรัฐผู้สืบทอดของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี หลังการแพ้สงครามโลกครั้งที่ 1[47] ของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี โดยมีเนื้อหาในการทำให้อาณาจักรฮังการีกลายเป็นราชอาณาจักรฮังการี และแบ่งแยกดินแดนเดิมของอาณาจักรฮังการีแก่ประเทศเพื่อนบ้าน[48][49]

ผู้ลงนามในสนธิสัญญา 2 คนจากจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี นายอาโกชต์ แบนาร์ด (Ágost Benárd) และนายอัลเฟรด ดราชเช-ลาซาร์ (Alfréd Drasche-Lázár) ในวันที่ 4 มิถุนายน ค.ศ. 1920 ณ พระราชวังกร็องทรียานง เมืองแวร์ซาย ประเทศฝรั่งเศส

สนธิสัญญาทรียานงร่างขึ้นจากคำร้องขอสงบศึกของ อดีตจักรพรรดิและรัฐบาลขุนนางจักรวรรดิออสเตรีย- ฮังการี หัวหน้าฝ่ายพันธมิตรและผู้มีอำนาจเกี่ยวข้องได้ยอมรับคำขอสงบศึกของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี ในวันที่ 3 พฤศจิกายน ค.ศ. 1918[50] โดยฝ่ายสัมพันธมิตรได้กำหนดให้ฮังการีเป็นรัฐอิสระและกำหนดเขตแดนเสียใหม่ การแบ่งดินแดนทำให้ประเทศฮังการีกลายเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล มีพื้นที่ 93,073 ตารางกิโลเมตร (35,936 ตารางไมล์) เป็นปริมาณเพียง 28% จากพื้นที่เดิมของฮังการีเมื่อยังเป็นจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี ซึ่งเคยมีพื้นที่อยู่ 325,411 ตารางกิโลเมตร (125,642 ตารางไมล์) มีประชากร 7.6 ล้านคน ซึ่งนับเป็นเพียง 36% ของจำนวนประชากรในฮังการีก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ที่มีประชากรอยู่ 20.9 ล้านคน[51] พื้นที่ที่ฝ่ายสัมพันธมิตรจัดสรรให้กับประเทศเพื่อนบ้านทั้งหมด ส่วนใหญ่ประชากรไม่ใช่ชาวฮังการี แต่ 31% ของชาวฮังการี (3.3 ล้านคน) ถูกทิ้งไว้นอกเขตแดนของประเทศฮังการี[52] ห้าในสิบเมืองที่ใหญ่ที่สุดในอาณาจักรก่อนสงครามตกไปอยู่ในการครอบครองของประเทศอื่น ๆ เช่น เมืองโปโจญ (Pozsony: ปัจจุบันคือ กรุงบราติสลาวา, เมืองหลวงของประเทศสโลวาเกีย), เมืองโคโลจวาร์ (Kolozsvár: ปัจจุบันคือ เมืองคลูช-นาโปกา, ประเทศโรมาเนีย), เมืองซาเกร็บ (Zágráb: ปัจจุบันคือ กรุงซาเกร็บ, ประเทศโครเอเชีย), เมืองน็อจวาร็อด (Nagyvárad, ปัจจุบันคือ เมืองออราเดีย, ประเทศโรมาเนีย) เป็นต้น[53] สนธิสัญญาทรียานงจำกัดขนาดกองทัพของฮังการีให้มีทหารเพียง 35,000 คน และกองทัพเรือออสเตรีย-ฮังการีถูกยุบลงไป[54]

อนุสรณ์สถานการเสียดินแดนจากสนธิสัญญาทรียานง ในเมืองเบเกชชอบอ ประเทศฮังการี

ประเทศที่ได้ครองดินแดนของอาณาจักรฮังการีที่เสียไป ประกอบด้วยราชอาณาจักรโรมาเนีย, สาธารณรัฐเชโกสโลวัก, ราชอาณาจักรยูโกสลาเวีย และสาธารณรัฐออสเตรีย หนึ่งในองค์ประกอบหลักของสนธิสัญญาคือแนวคิด "การตัดสินใจโดยประชาชน" เป็นความพยายามที่จะทำให้คนที่ไม่ใช่ชาวฮังการี มีรัฐชาติและความเป็นเอกราชของตนเอง[55] นอกจากนี้ฮังการีจะต้องจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามให้กับประเทศเพื่อนบ้านด้วย สนธิสัญญาดังกล่าวถูกกำหนดโดยฝ่ายสัมพันธมิตรมากกว่าการเจรจาร่วมกับชาวฮังการี และชาวฮังการีไม่มีทางเลือกนอกจากต้องยอมรับเงื่อนไขสนธิสัญญา คณะผู้แทนชาวฮังการีได้ลงนามในสนธิสัญญาทรียานง (พร้อมกับการเขียนประท้วงสนธิสัญญาแนบร่วม)[56] เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน ค.ศ. 1920 ที่พระราชวังกร็องทรียานง ในเมืองแวร์ซาย ประเทศฝรั่งเศส สนธิสัญญาดังกล่าวได้รับการจดทะเบียนในชุดสนธิสัญญาของสันนิบาตชาติเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม ค.ศ. 1921[57] อาณาเขตของประเทศสาธารณรัฐฮังการีในปัจจุบันมียังมีขนาดคงเดิมตามสนธิสัญญาทรียานง มีการแก้ไขเล็กน้อยจนถึงปี ค.ศ. 1924 เกี่ยวกับชายแดนฮังการีและออสเตรีย (รัฐบูร์เกนลันด์)[58] รวมไปถึงหมู่บ้านสามแห่งที่กลายเป็นดินแดนของประเทศเชโกสโลวาเกียในปี ค.ศ. 1947[59] หลังสงครามโลกครั้งที่ 2

สนธิสัญญาทรียานง เป็นเหตุการณ์สูญเสียทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญที่สุดของประเทศฮังการี เป็นสาเหตุที่ทำให้มีชนกลุ่มน้อยฮังการีกระจัดกระจายอยู่ทั่ว 7 ประเทศที่ได้ดินแดนไปในฮังการี วันที่ 4 มิถุนายน ของทุก ๆ ปี คือ วันรวมเป็นหนึ่งแห่งชาติ (A nemzeti összetartózás napja) เพื่อชาวฮังการีที่อยู่ทั่วโลก ให้มารวมกันอีกครั้ง หลังการถูกแยกกันจากสนธิสัญญาทรียานง

ระหว่างสงครามโลก (ค.ศ. 1918-ค.ศ. 1938)

[แก้]
ผู้ว่าการมิกโลช โฮร์ตี (Horthy Miklós kormányzó)

หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง วิเตซ[60] มิกโลช โฮร์ตี แห่งน็อจบาญอ (ฮังการี: nagybányai Horthy Miklós) พลเรือเอกชาวฮังการี ที่ได้กลายเป็นผู้สำเร็จราชการแห่งราชอาณาจักรฮังการี ซึ่งมิกโลช โฮร์ตี ได้ทำหน้าที่เป็นผู้สำเร็จราชการแห่งอาณาจักรฮังการีในสมัยระหว่างสงคราม และเกือบตลอดช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม ค.ศ. 1920 ถึง 15 ตุลาคม ค.ศ. 1944 เขาได้ถูกขนามนามว่า "ฮิสเซอรีนไฮเนส ผู้สำเร็จราชการแห่งอาณาจักรฮังการี"(ฮังการี: Ő Főméltósága a Magyar Királyság Kormányzója) เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดแห่งกองทัพเรือออสเตรีย-ฮังการีในช่วงท้ายปีของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เขาได้รับการเลื่อนยศตำแหน่งเป็นพลเรือโทและผู้บัญชาการกองเรือ เมื่อพลเรือเอกก่อนหน้านี้ได้ถูกขับออกจากตำแหน่งโดยจักรพรรดิคาร์ลที่ได้ให้การสนับสนุนการก่อกบฏ ในปี ค.ศ. 1919 ตามมาด้วยส่วนหนึ่งของการปฏิวัติและการเข้าแทรกแซงจากภายนอกในฮังการี ตั้งแต่โรมาเนีย เชโกสโลวาเกีย และยูโกสลาเวีย โฮร์ตีได้เดินทางกลับบูดาเปสต์พร้อมกับกองทัพแห่งชาติและต่อมาก็ได้รับเชิญให้เป็นผู้สำเร็จราชการจากรัฐสภาฮังการี โฮร์ตีได้นำรัฐบาลชาติอนุรักษนิยม[61]ตลอดช่วงสมัยระหว่างสงคราม และได้ประกาศให้พรรคคอมมิวนิสต์ฮังการีและพรรคแอร์โรว์ครอสส์ เป็นพรรคการเมืองผิดกฎหมาย และดำเนินนโยบายต่างประเทศที่มุ่งเน้นการเรียกร้องดินแดนที่เสียไปในสนธิสัญญาทรียานงคืน เขาเป็นผู้ทำให้ความพยายามคืนสู่บัลลังก์ของ สมเด็จพระเจ้าคาร์ลที่ 4 ทั้งสองครั้งในปี ค.ศ. 1921 ต้องล้มเหลว รัฐบาลฮังการีตกอยู่ใต้ภัยคุกคามจากฝ่ายสัมพันธมิตรที่อาจจะประกาศสงครามถ้าหากมีการฟื้นฟูราชวงศ์ฮาพส์บวร์คขึ้นมา สมเด็จพระเจ้าคาร์ลที่ 4 จึงทรงถูกพาออกไปจากฮังการีโดยเรือรบของสหราชอาณาจักรในสถานะผู้ลี้ภัย

สงครามโลกครั้งที่ 2 (ค.ศ. 1938-ค.ศ. 1944)

[แก้]
ดินแดนที่ฮังการีได้รับกลับคืนมาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

การฟื้นฟูสังคมและเศรษฐกิจของฮังการีชเป็นเรื่องยากหลังจากสนธิสัญญาทรียานง การไหลเข้าของเงินทุนต่างประเทศ การกู้ยืม การปฏิรูปที่ดิน และการพัฒนาวัฒนธรรมภายในประเทศมีส่วนทำให้เกิดการควบรวมกิจการรัฐและประชาชน ในช่วงทศวรรษที่ 1930 ฮังการีได้กระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับเยอรมนี ภายใต้อิทธิพลของเยอรมัน กฎหมายต่อต้านชาวยิวได้ผ่านการอนุมัติในฮังการี จากการเสริมสร้างอิทธิพลของเยอรมัน ทำให้ขบวนการขวาจัดเสริมความแข็งแกร่งในฮังการีเช่นกัน แม้ว่าเขาจะไม่ไว้วางใจฮิตเลอร์และพยายามผ่อนคลายความสัมพันธ์ของเขากับเยอรมนี แต่ความพยายามนี้ไม่ได้ผลลัพธ์ที่มีนัยสำคัญใด ๆ การที่ฮังการีเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สองนั้นส่วนใหญ่เกิดจากสนธิสัญญาทรียานง การขึ้นสู่อำนาจของฮิตเลอร์ในเยอรมนีทำให้เกิดความหวังในการเมืองของฮังการีว่าจะได้รับพื้นที่ที่ถูกแยกไป เมื่อกองทัพเยอรมันบุกเชโกสโลวาเกียในปี ค.ศ. 1938 พื้นที่ด้านใต้ของเชโกสโลวาเกียและดินแดนทรานส์คาร์เพเทีย (ปัจจุบันคือ แคว้นซาการ์ปัจจา ประเทศยูเครน) บางส่วนก็ถูกส่งกลับไปยังฮังการี ฮิตเลอร์เข้ายึดครองโปแลนด์ในปี ค.ศ. 1939 ดังนั้นมหาอำนาจยุโรปจึงประกาศสงครามกับเยอรมนี สงครามโลกครั้งที่สองเกิดขึ้น โดยฮังการีไม่ได้เข้าสู่สงครามในขณะนั้น ภายใต้การนำของโฮร์ตีฮังการีได้ให้การสนับสนุนผู้ลี้ภัยชาวโปแลนด์ในปี ค.ศ. 1939

มิกโลชโฮร์ตี และ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ค.ศ. 1938

เพื่อที่จะเอาฮังการีเข้ามาร่วมสงคราม ผู้นำกองทัพเยอรมันและอิตาลีได้บรรลุผลให้ฮังการียึดพื้นที่ทางตอนเหนือของทรานซิลเวเนียคืนในปี ค.ศ. 1940 เพื่อป้องกันให้ฮังการีเข้าสงคราม ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1940 นายกรัฐมนตรีปาล แตแลกิ (Teleki Pál) ได้ลงนามในสนธิสัญญามิตรภาพถาวรกับยูโกสลาเวียเพื่อบรรเทาอิทธิพลฝ่ายเดียวของเยอรมนี ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1941 เยอรมนีตัดสินใจบุกยูโกสลาเวียโดยมีส่วนร่วมของชาวฮังกาเรียน นายกฯ แตแลกิเห็นว่าฮังการีกำลังเข้าสู่สงครามและกำลังจะกลายเป็นโศกนาฏกรรมในการปฏิบัติตามคำขอของเยอรมัน ดังนั้นเขาจึงฆ่าตัวตาย เมื่อวันที่ 3 เมษายน ค.ศ. 1941 เขาเตือนโฮร์ตีถึงอันตรายของการเข้าร่วมสงครามในจดหมายอำลา โฮร์ตีได้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ และฮังการีได้โจมตียูโกสลาเวีย ฮังการีได้คืนดินแดนทางใต้บางส่วนกลับคืนมา ในปี ค.ศ. 1941 ฮิตเลอร์บุกสหภาพโซเวียตในปฏิบัติการบาร์บาร็อสซา และฮังการีเข้าสู่สงครามและทำสงครามกับสหภาพโซเวียต ฮังการีได้ไปสู่ความพ่ายแพ้พร้อมกับชาวเยอรมัน กองทัพฮังการีที่ 2 จำนวน 200,000 คนถูกส่งไปยังแนวรบโซเวียตในปี ค.ศ. 1942 กองทหารฮังการีเข้ายึดตำแหน่งป้องกันที่ริมฝั่งแม่น้ำดอนใกล้เมืองโวโรเนจ การโจมตีของสหภาพโซเวียตซึ่งเริ่มขึ้นในเดือนมกราคม ค.ศ. 1943 ได้บดขยี้กองกำลังฮังการีที่มีอุปกรณ์ครบครันภายในเวลาไม่กี่วัน จำนวนผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ และเชลยศึกมีมหาศาล ผู้นำฮังการีพยายามซ่อนสิ่งที่เกิดขึ้น เมื่อเห็นเหตุการณ์

ความไม่เต็มใจของโฮร์ตีที่จะมีส่วนร่วมในความพยายามทำสงครามของเยอรมันและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวในฮังการี รวมทั้งได้ปฏิเสธที่จะส่งมอบชาวยิวเชื้อสายฮังการีมากกว่า 600,000 คนจาก 825,000 คนให้แก่เจ้าหน้าที่เยอรมัน รวมถึงการที่รัฐบาลฮังการีได้ทำการการเจรจาลับกับฝ่ายสัมพันธมิตร เมื่อฮิตเลอร์ตระหนักถึงการเจรจาลับนั้น ทำให้ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1944 กองทัพเยอรมันได้บุกเข้ายึดครองฮังการีในในปฏิบัติการมาร์กาเรต ประเทศฮังการีถูกปล้น และทำให้สินค้าทางเศรษฐกิจ (อาหาร ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม) ถูกส่งไปยังเยอรมนีโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และมิกโลช โฮร์ตีได้ถูกบังคับให้ลาออกและถูกจับกุมโดยนาซีเยอรมันไปยังแคว้นบาวาเรีย[62]ผลที่น่าเศร้าของการยึดครองของชาวเยอรมันคือการเนรเทศและกำจัดชาวยิวฮังการีไปยังค่ายกักกันจำนวนมาก ชาวเยอรมันต่อสู้ในหลายแนวรบในสงคราม ความสูญเสียของพวกเขาเพิ่มขึ้น และเห็นได้ชัดว่าฝ่ายอักษะกำลังแพ้สงครม รัฐบาลฮังการีประกาศถอนตัวจากสงครามในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1944 แต่การประกาศดังกล่าวเกินกำหนด ภายใต้แรงกดดันของเยอรมัน เยอรมันเริ่มปล้นสะดมในฮังการีมากขึ้น ในขณะเดียวกันกองทัพแดงของสหภาพโซเวียต ได้เข้ายึดครองบางส่วนของฮังการี ในฤดูใบไม้ผลิปี ค.ศ. 1945 นาซีเยอรมันขอจบการสู้รบ และสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง และทำให้ฮังการีสูญเสียดินแดนที่ถูกยึดคืนอีกครั้งและ พวกเขาได้รับคำสั่งให้จ่ายเงินชดเชยหลายร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐ

ตราประจำชาติของคอมมิวนิสต์ฮังการี (ค.ศ. 1957)

คอมมิวนิสต์ฮังการี (ค.ศ. 1945-ค.ศ. 1989)

[แก้]

สมัยของราโกชิ

[แก้]

หลังจากความพ่ายแพ้ของนาซีเยอรมนี ประเทศฮังการีกลายเป็นรัฐบริวารของสหภาพโซเวียต ผู้นำโซเวียตได้เลือก นายมาตยาช ราโกชิ (Mátyás Rákosi) ให้เป็นผู้นำในการเปลี่ยนระบบของประเทศฮังการีให้เป็นแบบคอมมิวนิสต์แบบโซเวียต ราโกชิได้ปกครองฮังการีตั้งแต่ปี ค.ศ. 1949 ถึง ค.ศ. 1956 นโยบายของรัฐบาลในด้านการทหาร, การทำอุตสาหกรรม, การรวมกลุ่ม และ การชดเชยจากสงครามทำให้คุณภาพชีวิตในประเทศฮังการีลดลงอย่างรุนแรง ในการเลียนแบบตำรวจลับ KGB ของโจเซฟ สตาลิน รัฐบาลของราโกชิได้จัดตั้งตำรวจลับ ÁVH เพื่อบังคับใช้ระบอบการปกครองใหม่ โดยได้ทำการกวาดล้างเจ้าหน้าที่และปัญญาชนประมาณ 350,000 คน ซึ่งถูกจำคุกหรือประหารชีวิตตั้งแต่ปี ค.ศ. 1948 ถึง 1956 นักคิดอิสระ, นักประชาธิปไตย และ บุคคลสำคัญในสมัยผู้สำเร็จราชการมิกโลช โฮร์ตีหลายคนถูกจับอย่างลับ ๆ และถูกวิสามัญฆาตกรรมในค่ายกักกันแรงงานกูลากทั้งในและต่างประเทศ ชาวฮังการีราว 600,000 คนถูกเนรเทศไปยังค่ายแรงงานโซเวียตซึ่งมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 200,000 คน

หลังจากการเสียชีวิตของสตาลินในปี ค.ศ. 1953 สหภาพโซเวียตได้ดำเนินโครงการกดขี่ประชาชนแบบราโคซีหลายแบบ ซึ่งนำไปสู่การปลดมาตยาช ราโกชิ ออกจากตำแหน่ง และนายอิมแร น็อจย์ (Imre Nagy) ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน ในช่วงนี้ได้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองมากขึ้นจากนักศึกษาและปัญญาชน อิมแร น็อจย์สัญญาว่าจะเปิดการค้าเสรีและการเปิดกว้างในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ในขณะที่นายราโกชิคัดค้านทั้งสองอย่างจริงจัง ในที่สุดราโกชิก็สามารถทำลายชื่อเสียงของอิมเร น็อจย์ และแทนที่เขาด้วยนายแอร์เนอ แกเรอ (Ernő Gerő) ที่แข็งกร้าวกว่า ประเทศฮังการีเข้าร่วมสนธิสัญญาวอร์ซอ ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1955 เนื่องจากความไม่พอใจของสังคมต่อระบอบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ที่เพิ่มขึ้นในรัฐบริวารของโซเวียตรัสเซีย

การปฏิวัติฮังการี ค.ศ. 1956

[แก้]

หลังจากการยิงผู้ประท้วงอย่างสันติโดยกองกำลังทหารโซเวียตและตำรวจลับ ได้มีการชุมนุมทั่วประเทศเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม ค.ศ. 1956 ผู้ประท้วงพากันรวมตัวทั่วท้องถนนในกรุงบูดาเปสต์และเริ่มการปฏิวัติรัฐบาล เรียกว่า การปฏิวัติฮังการี ค.ศ. 1956 เพื่อที่จะระงับความวุ่นวาย นายอิมแร น็อจย์ได้กลับมาดำรงตำแหน่งในฐานะนายกรัฐมนตรี และสัญญาว่าจะมีการเลือกตั้งโดยเสรีและนำฮังการีออกจากสนธิสัญญาวอร์ซอ

รถถังโซเวียตที่ถูกทำลายโดยกองกำลังปลดแอกฮังการีในเดือนตุลาคม ปี ค.ศ. 1956 (ถ่าย ณ จัตุรัสมอริตซ์ จิกโมนด์, กรุงบูดาเปสต์)

อย่างไรก็ตาม ความรุนแรงยังคงดำเนินต่อไปในขณะที่กองกำลังปฏิวัติลุกขึ้นต่อสู้กับกองทัพโซเวียตและตำรวจลับ ÁVH กองกำลังประชาชนติดอาวุธประมาณ 3,000 คน ได้ต่อสู้กับรถถังโซเวียตโดยใช้ค็อกเทลโมโลตอฟและปืนพก แม้ว่าโซเวียตจะมีกองกำลังที่แข็งแกร่งกว่ามาก แต่กองทัพโซเวียตก็ประสบกับความสูญเสียอย่างหนัก และเมื่อถึงวันที่ 30 ตุลาคม ค.ศ. 1956  กองทัพโซเวียตส่วนใหญ่ได้ถอนกำลังจากกรุงบูดาเปสต์ไปรักษาการณ์ในชนบท ในช่วงเวลาหนึ่งผู้นำโซเวียตไม่แน่ใจว่าจะตอบสนองต่อการต่อต้านในฮังการีอย่างไร แต่ในที่สุดก็ตัดสินใจที่จะเข้าแทรกแซงเพื่อป้องกันไม่ให้อำนาจของสหภาพโซเวียตในยุโรปตะวันออกสั่นคลอน ในวันที่ 4 พฤศจิกายน ค.ศ. 1956 มีการเสริมกำลังทหารมากกว่า 150,000 นายและรถถัง 2,500 คันเข้าประเทศฮังการีจากสหภาพโซเวียต ชาวฮังการีเกือบ 20,000 คนถูกสังหารในการต่อต้านการแทรกแซง ขณะที่อีก 21,600 คนถูกจำคุกหลังจากนั้นด้วยเหตุผลทางการเมือง ประมาณ 13,000 คนถูกคุมขัง และ 230 คนถูกนำตัวไปประหารชีวิต นายอิมแร น็อจย์ถูกตัดสินทางการเมืองอย่างลับ ๆ โดยถูกตัดสินว่ามีความผิด และถูกตัดสินประหารชีวิต เขาถูกประหารชีวิตโดยการแขวนคอในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1958 เนื่องจากพรมแดนของประเทศฮังการีถูกเปิดออกเป็นระยะเวลาสั้น ๆ ผู้คนเกือบ 250,000 คนได้หนีออกจากประเทศ ก่อนที่การปฏิวัติของอิมแร น็อจย์จะถูกระงับลง

สมัยของกาดาร์

[แก้]
ยาโนช กาดาร์ (János Kádár) เลขาธิการพรรคแรงงานสังคมนิยมฮังการี ระหว่าง ค.ศ. 1956 - 1988 (ถ่ายในปี ค.ศ. 1962)

หลังช่วงเวลาแห่งการยึดครองทางทหารของโซเวียตไม่นานนัก นายยาโนช กาดาร์ (János Kádár) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอิมแร น็อจย์ ได้รับเลือกจากผู้นำโซเวียตให้เป็นหัวหน้ารัฐบาลใหม่และเป็นประธานพรรคสังคมนิยมแรงงาน (MSzMP) ที่ปกครองใหม่ กาดาร์ทำให้สถานการณ์เป็นปกติอย่างรวดเร็ว ในปี ค.ศ. 1963 รัฐบาลได้ให้นิรโทษกรรมทั่วไปและปล่อยตัวผู้ที่ถูกคุมขังส่วนใหญ่การลุกฮือใน ค.ศ. 1956 กาดาร์ประกาศแนวนโยบายใหม่ตามที่ประชาชนไม่ถูกบังคับให้แสดงความภักดีต่อพรรคอีกต่อไปหากพวกเขายอมรับระบอบสังคมนิยมโดยปริยายว่าเป็นความจริงของชีวิต ในสุนทรพจน์หลายครั้งเขาอธิบายว่า "คนที่ไม่ต่อต้านเราอยู่กับเรา" ยาโนช กาดาร์นำเสนอลำดับความสำคัญของการวางแผนใหม่ในระบบเศรษฐกิจ เช่น การอนุญาตให้เกษตรกรมีที่ดินส่วนตัวจำนวนมากภายใต้ระบบฟาร์มรวม (háztájigazdálkodás ฮาซตายิกอสดาลโกดาช) มาตรฐานการครองชีพในฮังการีสูงขึ้นเนื่องจากสินค้าอุปโภคบริโภคและการผลิตอาหารมีความสำคัญเหนือกว่าการผลิตยุทโธปกรณ์ทางทหาร ซึ่งมีอัตราลดลงเหลือหนึ่งในสิบเมื่อเทียบกับก่อนการปฏิวัติใน ค.ศ. 1956

ในปี ค.ศ. 1968 กลไกเศรษฐกิจใหม่ (NEM) ได้นำองค์ประกอบของตลาดเสรีเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม จากทศวรรษที่ 1960 ถึงปลายทศวรรษที่ 1980 ประเทศฮังการีมักถูกเรียกว่าเป็น "ค่ายทหารที่มีความสุขที่สุด" ในกลุ่มยุโรปตะวันออก ในช่วงหลังสงครามเย็น GDP ต่อหัวของฮังการีเป็นอันดับสี่รองจากเยอรมนีตะวันออก เชโกสโลวาเกีย และ สหภาพโซเวียต อันเป็นผลมาจากมาตรฐานการครองชีพที่ค่อนข้างสูงนี้ เศรษฐกิจที่เปิดเสรีมากขึ้น การกดขี่จากภาครัฐที่น้อยลง และสิทธิในการเดินทางที่ถูกจำกัดน้อยลง ฮังการีจึงถูกมองว่าเป็นหนึ่งในประเทศคอมมิวนิสต์ที่มีความเป็นเสรีนิยมที่สุดในช่วงคอมมิวนิสต์ อย่างไรก็ตามในช่วงทศวรรษที่ 1980 มาตรฐานการครองชีพลดลงอย่างมากอีกครั้งเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก ซึ่งประเทศคอมมิวนิสต์ไม่สามารถที่จะแก้ไขวิกฤตได้ เมื่อกาดาร์เสียชีวิตในปี 1989 สหภาพโซเวียตประสบกับภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจอย่างมาก (ซึ่งนำไปสู่การล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี ค.ศ. 1991) และนักปฏิรูปรุ่นใหม่เห็นว่าการเปิดประเทศให้เสรีจะเป็นการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งการเคลื่อนไหวทางการเมืองนี้ จะเป็นสาเหตุหลักของการเปลี่ยนแปลงของประเทศฮังการีเข้าสู่การเป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตยในที่สุด

หลังการล่มสลายของระบอบคอมมิวนิสต์จนถึงปัจจุบัน (ค.ศ. 1989-ปัจจุบัน)

[แก้]

การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ค.ศ. 1990

[แก้]

ใน ปี ค.ศ. 1989 มีเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงระบบการเมือง (ฮังการี: rendszerváltás) เนื่องจากการร่วมสลายของระบอบคอมมิวนิสต์ในสหภาพโซเวียตและกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออก โดยมีการก่อตั้งสาธารณรัฐฮังการีที่ 3 (Harmadik Magyar Köztársaság) ขึ้นมา ในวันที่ 23 ตุลาคม ค.ศ. 1989 แทนที่สาธารณรัฐประชาชนฮังการี ซึ่งมีระบบการปกครองเป็นแบบคอมมิวนิสต์ และในปีถัดมา ค.ศ. 1990 ประเทศฮังการีได้มีการจัดตั้งรัฐสภา, รัฐบาล และ ประธานาธิบดีสาธารณรัฐขึ้น ถึงแม้จะมีการจัดตั้งรัฐบาลประชาธิปไตยขึ้นมา แต่ก็ไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจหลังการเปลี่ยนแปลงระบบการเมืองดีขึ้นมา หลังจากนั้น ก็ได้มีการจัดตั้งสถาบันอื่น ๆ ที่สำคัญในประเทศต่อมาในภายหลัง หลังปี ค.ศ. 1990

ในช่วงทศวรรศที่ 1990 ประเทศฮังการีมีความพยายามสร้างร่วมมือกับประเทศยุโรปตะวันตก ประเทศฮังการีกลายเป็นสมาชิกนาโต้ในปี ค.ศ. 1999 และหลังจากการเป็นสมาชิกนาโต้ 2 สัปดาห์ ก็ได้มีส่วนร่วมในสงครามกลางเมืองยูโกสลาเวีย โดยมีประเทศเซอร์เบียและมอนเตเนโกรเป็นคู่กรณี ทหารฮังการีมีส่วนร่วมในปฏิบัติการของนาโต้ในอัฟกานิสถานเกือบตั้งแต่แรกเริ่ม โดยเป็นหน่วยงานด้านการแพทย์ หลังจากนั้น ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2003 มีการส่งหน่วยทหารฮังการีเข้าไปรบในประเทศอัฟกานิสถาน โดยงานของกองกำลังฮังการีในอัฟการนิสถานนั้น ส่วนใหญ่ประกอบด้วยหน่วยงานลาดตระเวนคุ้มกันและหน่วยงานสังคมสงเคราะห์

ฮังการีเข้าร่วมสหภาพยุโรป เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม ค.ศ. 2007 และเป็นสมาชิกพื้นที่เชงเก้นของสหภาพยุโรป ซึ่งทำให้การควบคุมพรมแดนถาวรที่พรมแดนฮังการี - ออสเตรีย, ฮังการี - สโลวีเนีย และฮังการี - สโลวาเกีย ถูกยกเลิก แต่สกุลเงินอย่างเป็นทางการของประเทศยังคงเป็นเงินสกุลฮังกาเรียนโฟรินต์ ไม่ได้ใช้เงินยูโร

ชื่ออย่างเป็นทางการของประเทศเปลี่ยนจากสาธารณรัฐฮังการี เป็นประเทศฮังการี (Magyarország) ตามกฎหมายพื้นฐาน (Alaptörvény) ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 2012

ฮังการีในวิกฤตการณ์ผู้ลี้ภัยยุโรป ค.ศ. 2015

[แก้]
แผนที่วิกฤตการณ์ผู้ลี้ภัยยุโรป ค.ศ. 2015

ประเทศฮังการีได้ประสบกับวิกฤตการณ์ผู้ลี้ภัยยุโรป ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2014 ถึง 2019 แต่มีจุดวิกฤตในปี ค.ศ. 2015 เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นการย้านถิ่นฐานของมนุษย์ที่มีจำนวนมากที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 จากการที่ผู้ลี้ภัยและผู้ย้ายถิ่นทางเศรษฐกิจได้ทำการอพยพจำนวนมากจากพื้นที่ตะวันออกกลาง เอเชียใต้ ทวีปแอฟริกา และคาบสมุทรบอลข่านตะวันตก หลั่งไหลสู่สหภาพยุโรปข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและยุโรปตะวันออกเฉียงใต้ โดยผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่มาจากประเทศซีเรีย อัฟกานิสถานและเอริเตรีย ซึ่งประเทศฮังการีซึ่งเป็นประเทศหน้าด่านระหว่างสหภาพยุโรปและบอลข่านก็ได้ทำหน้าที่เป็นประเทศแรกที่ทำการรับรองผู้อพยพก่อนเดินทางต่อไปยังประเทศยุโรปตะวันตก อาทิ ประเทศเยอรมนี แต่ฮังการีคือหนึ่งในประเทศที่ไม่ยอมรับการรับผู้อพยพ และเกิดนโยบายกั้นรั้วพรมแดนด้านใต้ของประเทศที่ติดกับประเทศเซอร์เบีย นโยบายที่นำโดยนายวิกโตร์ โอร์บาน นายกรัฐมนตรีฮังการีจากพรรค FIDESZ

เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน ค.ศ. 2015 รัฐบาลฮังการีได้ประกาศการก่อสร้างรั้วสูง 4 เมตร ยาว 175 กิโลเมตร ตามแนวชายแดนทางใต้ของประเทศเซอร์เบีย โดยได้ทำการสร้างเสร็จสิ้นในขั้นตอนที่หนึ่งเมื่อปลายเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2015 ตามข้อมูลของกระทรวงกลาโหมฮังการี รั้วประกอบด้วยลวดมีดโกนของนาโต้สามเส้นยาว 175 กิโลเมตร และรั้วอีกชั้นหนึ่งเป็นรั้วลวดหนามสูงประมาณ 4 เมตร โดยรั้วชั้นที่สองได้ทำการสร้างเสร็จในปลายปี ค.ศ. 2015 นายยาโนช ลาซาร์ (János Lázár) รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีอธิบายว่า "ฮังการีถูกปิดล้อมจากผู้ค้ามนุษย์" และประกาศว่ารัฐบาลจะ "ปกป้องพรมแดนที่ขยาย [ของพวกเขา] นี้ด้วยกำลัง" ประเทศฮังการีได้ทำการจัดกำลังตำรวจ 9,000 นายเพื่อกันผู้อพยพที่ไม่มีเอกสารจากการเข้าประเทศฮังการี โดยคณะกรรมาธิการยุโรปเตือนสมาชิกประเทศฮังการีเกี่ยวกับขั้นตอนที่ขัดต่อพันธกรณีของสหภาพยุโรปและเรียกร้องให้สมาชิกอย่างฮังการีหาวิธีอื่นในการรับมือกับการอพยพเข้ามาอย่างผิดกฎหมาย

ผู้อพยพชาวตะวันออกกลางทำการประท้วงรัฐบาลฮังการีด้วยการอดอาหารหน้าสถานีรถไฟตะวันออก (Keleti pályaudvar) สถานีรถไฟระหว่างประเทศหลักประจำกรุงบูดาเปสต์ ในวันที่ 3 กันยายน ค.ศ. 2015

เมื่อวันที่ 3 กันยายน ค.ศ. 2015 นายวิกโตร์ โอร์บานได้ปกป้องการจัดการของประเทศเกี่ยวกับสถานการณ์ผู้อพยพภายใน แม้ว่าจะมีความวุ่นวายเนื่องจากการประท้วงของผู้อพยพโดยการอดอาหาร (hunger strike) หน้าสถานีรถไฟหลักระหว่างประเทศของบูดาเปสต์ (สถานีรถไฟตะวันออก: Keleti pályaudvar) พร้อมกับวิจารณ์การจัดการของประเทศเยอรมนีและสหภาพยุโรปโดยรวมที่ไม่ห้ามผู้อพยพเข้าสู่ยุโรป ในวันเดียวกันนั้นตำรวจฮังการีอนุญาตให้ผู้อพยพขึ้นรถไฟในบูดาเปสต์มุ่งหน้าไปทางตะวันตกก่อนจะหยุดที่เมืองบิชแก (Bicske) โดยตำรวจพยายามขนส่งผู้อพยพไปยังค่ายทะเบียนที่เมืองบิชแก เพื่อลงข้อมูลของผู้อพยพก่อนที่จะเดินทางต่อด้วยรถไฟอีกขบวนหนึ่งไปยังกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย แต่ผู้อพยพปฏิเสธที่จะให้ความร่วมมือและประท้วงขัดขืนโดยการอยู่ในรถไฟซึ่งไม่ได้เดินทางไปยังกรุงเวียนนาต่อไป

และเมื่อวันที่ 4 กันยายน ค.ศ. 2015 ผู้อพยพประมาณหนึ่งพันคนที่สถานีรถไฟตะวันออก (Keleti Pályaudvar) ออกเดินทางโดยการเดินเท้าไปยังออสเตรียและเยอรมนี ในคืนวันเดียวกันรัฐบาลฮังการีตัดสินใจส่งรถประจำทางเพื่อขนส่งผู้อพยพผิดกฎหมายไปยังเมืองแฮ็จแย็ชฮอโลม (Hegyeshalom) ที่ติดกับชายแดนประเทศออสเตรีย

เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2015 มีรายงานว่าตำรวจฮังการีได้ปิดกั้นเส้นทางจากเซอร์เบียและจัดการจุดเข้าออกประจำที่มีเจ้าหน้าที่ทหารและเฮลิคอปเตอร์อย่างเข้มงวด พวกเขาปิดผนึกพรมแดนด้วยลวดมีดโกนและกักขังผู้อพยพข้ามพรมแดนอย่างผิดกฎหมาย ด้วยการขู่ว่าจะถูกจับกุมและถูกตั้งข้อหาทางอาญา เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2015 ฮังการีได้ปิดผนึกพรมแดนกับเซอร์เบีย ผู้อพยพหลายร้อยคนพังรั้วกั้นระหว่างฮังการีและเซอร์เบียสองครั้งในวันพุธที่ 16 กันยายน 2015 และโยนเศษคอนกรีตและขวดน้ำข้ามรั้ว ตำรวจฮังการีตอบโต้ด้วยแก๊สน้ำตาและปืนใหญ่น้ำที่จุดผ่านแดนโฮร์โกช 2 (Horgoš 2) โดยรัฐบาลเซอร์เบีย ณ กรุงเบลเกรดประท้วงการกระทำเหล่านี้ของประเทศฮังการี ผู้ลี้ภัยชาวอิรักวัย 20 ปีถูกตัดสินให้เนรเทศและถูกห้ามเข้าประเทศฮังการีเป็นเวลา 1 ปีรวมถึงค่าธรรมเนียมศาล 80 ยูโรตามกฎหมายใหม่ที่บังคับใช้เมื่อไม่กี่วันก่อน เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2015 ประเทศฮังการีเริ่มสร้างรั้วอีกแห่งตามแนวชายแดนกับโครเอเชียซึ่งเป็นชาติสมาชิกสหภาพยุโรป แต่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของเขตเชงเก้น ภายในสองสัปดาห์ผู้ลี้ภัยหลายหมื่นคนข้ามจากโครเอเชียไปยังฮังการีซึ่งส่วนใหญ่ไปชายแดนออสเตรีย

เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2015 ฮังการีประกาศว่าจะปิดพรมแดนสีเขียวกับโครเอเชียสำหรับผู้อพยพ และตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคมเป็นต้นไป ผู้อพยพหลายพันคนเปลี่ยนจุดหมายไปยังประเทศสโลวีเนียแทน และเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2016 ฮังการีได้ประกาศภาวะฉุกเฉินสำหรับทั้งประเทศและส่งทหาร 1,500 นายไปยังพรมแดนทางใต้ ในเดือนสิงหาคม 2016 ภาวะฉุกเฉินได้ขยายไปถึงเดือนมีนาคม 2018 ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้นับตั้งแต่ ปลายปี ค.ศ. 2015 จวบจนปัจจุบัน ประเทศฮังการีไม่ได้ประสบกับปัญหาที่ตามมาจากวิกฤตการณ์ผู้ลี้ภัยยุโรปอีกเลย

ประเทศฮังการีในการระบาดของไวรัสโควิด-19 ค.ศ. 2020-2023

[แก้]
คนขับรถไฟใส่หน้ากากอนามัยขณะกำลังทำงาน (ถ่ายเมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ. 2020) การใส่หน้ากากอนามัยบนขนส่งสาธารณะ เช่น รถราง และ รถไฟ เป็นมาตรการที่บังคับใช้ช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19

ประเทศฮังการีได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 (SARS-CoV-2) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิกฤตการณ์การระบาดทั่วของโควิด-19 ฮังการีรายงานผู้ติดเชื้อรายแรกเมื่อวันที่ 4 มีนาคม ค.ศ. 2020 และในวันที่ 18 มีนาคม ค.ศ. 2020 มีการยืนยันว่าพบไวรัสในทุกเทศมณฑลของประเทศ[63] การระบาดนำไปสู่มาตรการต่าง ๆ ที่เข้มงวด ตั้งแต่การล็อกดาวน์ การบังคับสวมหน้ากากในที่สาธารณะ และการจำกัดการเดินทาง ซึ่งบังคับใช้ตั้งแต่กลางปี ค.ศ. 2020

จำนวนเคสที่ตรวจพบทั้งหมด 2,230,232
จำนวนผู้ที่กำลังรักษาตัวอยู่ 29,029
จำนวนผู้ที่หายแล้ว 2,152,155
จำนวนผู้เสียชีวิต 49,048
ล่าสุด : 13 เมษายน, 2024 01:00 GMT[64]

แม้ว่าการระบาดจะส่งผลกระทบอย่างหนักต่อระบบสาธารณสุขและเศรษฐกิจของประเทศ แต่ด้วยการแจกจ่ายวัคซีนที่รวดเร็ว ฮังการีเป็นหนึ่งในประเทศที่เริ่มฉีดวัคซีนได้อย่างครอบคลุมภายในปี ค.ศ. 2021 ซึ่งนำไปสู่การลดลงของอัตราการติดเชื้อและการเสียชีวิต

ในปี ค.ศ. 2022 สถานการณ์โควิด-19 ในฮังการีเริ่มคลี่คลายลงหลังจากการฉีดวัคซีนแพร่หลาย และรัฐบาลเริ่มผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ เช่น การยกเลิกข้อบังคับสวมหน้ากากในพื้นที่สาธารณะและยกเลิกข้อจำกัดการเดินทางในปี ค.ศ. 2022 การกลับมาดำเนินชีวิตตามปกติทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ในระดับหนึ่ง[65]

ในปี ค.ศ. 2023 องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศสิ้นสุดภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขจากการระบาดทั่วของโควิด-19 และฮังการีก็ได้รับผลกระทบลดลงอย่างต่อเนื่องตามแนวโน้มทั่วโลก[66] ปัจจุบัน ฮังการีได้กลับเข้าสู่สภาพปกติเหมือนก่อนมีการระบาดทั่วของโควิด-19

วันหยุดประจำชาติ

[แก้]
ภาพพลุที่ยิงทั่วกรุงบูดาเปสต์ เนื่องในวันนักบุญอิชต์วาน วันหยุดราชการประจำชาติของฮังการี

กฎหมายพื้นฐาน (Alaptörvény) ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฮังการี กำหนดให้มีวันหยุดประจำชาติ (Nemzeti ünnep)[67] ด้วยกัน 3 วัน ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ของประเทศฮังการี

1) วันที่ 15 มีนาคม วันรำลึกถึงการปฏิวัติฮังการี ค.ศ. 1848-49 และสงครามอิสรภาพ

2) วันที่ 20 สิงหาคม วันรำลึกถึงการก่อตั้งรัฐฮังการีและผู้ก่อตั้งพระเจ้าอิชต์วานที่ 1 (Szent István)

3) วันที่ 23 ตุลาคม วันรำลึกถึงการปฏิวัติฮังการี ค.ศ. 1956 และสงครามอิสรภาพ


กฎหมายพื้นฐานกำหนดให้วันหยุดราชการประจำรัฐฮังการี (Állami ünnep) คือวันที่ 20 สิงหาคม

ภูมิศาสตร์

[แก้]

ฮังการีตั้งอยู่ในยุโรปกลาง ในที่ราบพันโนเนีย (Pannonia Basin) หรือ เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า แอ่งคาร์เพเทียน (Carpathian Basin) ระหว่างลองจิจูด 16 °ถึง 23 °ของซีกโลกตะวันออก และ ระหว่างละติจูด 45 °ถึง 49 °ของซีกโลกเหนือ เป็นประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล รูปร่างประเทศฮังการีคล้ายรูปไต มีพื้นที่ทั้งหมด 93,030 ตารางกิโลเมตร (ขนาดเล็กกว่าภาคเหนือของประเทศไทยเล็กน้อย) เป็นประเทศขนาดอันดับที่ 108 ของโลก

แผนที่ประเทศฮังการี และ ประเทศเพื่อนบ้านทั้ง 7 ประเทศ

ฮังการีมีพรมแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน 7 ประเทศ คือ โรมาเนีย ออสเตรีย สโลวาเกีย ยูเครน เซอร์เบีย โครเอเชีย และสโลวีเนีย ความยาวของพรมแดนประเทศคือ 2215.3 กิโลเมตร ติดกับประเทศสโลวาเกีย 654.7 กิโลเมตร ยูเครน 136.7 กิโลเมตร โรมาเนีย 447.7 กิโลเมตร เซอร์เบีย 174.4 กิโลเมตร โครเอเชีย 344.8 กิโลเมตร สโลวีเนีย 102.0 กิโลเมตร และ ออสเตรีย 355.0 กิโลเมตร[68]

พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศฮังการีเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำ เรียกว่า ที่ราบฮังการีใหญ่ (ฮังการี: Nagyalföld) ตั้งอยู่ทางตะวันออกและตอนกลางของประเทศ ทางตะวันออกเฉียงเหนือที่ติดกับประเทศสโลวักเกียเป็นแถบที่มีแนวเทือกเขาอยู่ โดยมีแนวเทือกเขาที่สูงที่สุด ชื่อว่า เคแคชแตเตอ (ฮังการี: Kékes-tető) เป็นจุดที่สูงที่สุดในประเทศ อยู่ที่ 1,015 เมตร จากระดับน้ำทะเล ด้านตะวันตกเป็นพื้นที่ราบสูง และ ภูเขา เรียกว่า เทือกเขาทรานส์ดานูเบีย สลับกับที่ราบลุ่ม เรียกว่า ที่ราบฮังการีเล็ก (ฮังการี: Kisalföld)

การแบ่งเขตทางภูมิศาสตร์ของประเทศฮังการีคร่าว ๆ นั้น นิยมใช้แม่น้ำขนาดใหญ่สองสายที่ไหลผ่านใจกลางประเทศเป็นตัวแบ่ง คือ แม่น้ำดานูบ และ แม่น้ำติซอ ซึ่งจะสามารถแบ่งแยกประเทศออกได้เป็นสามส่วน ดังนี้

  1. เขตเลยแม่น้ำดานูบ หรือ ทรานส์ดานูเบีย (ฮังการี: Dunántúl, อังกฤษ: Transdanubia) ทางตะวันตกของประเทศฮังการี เป็นที่ตั้งของที่ราบฮังการีเล็ก และ เทือกเขาทรานส์ดานูเบีย
  2. เขตระหว่างแม่น้ำดานูบและแม่น้ำติซอ (ฮังการี: Duna-Tisza köze)
  3. เขตเลยแม่น้ำติซอ (ฮังการี: Tiszántúl) เป็นที่ตั้งของที่ราบฮังการีใหญ่
ภาพแม่น้ำดานูบ ณ เมืองแอสเตอร์โกม ประเทศฮังการี แม่น้ำสายหลักที่ไหลผ่านประเทศฮังการีเหนือจรดใต้

ฮังการีมีทะเลสาบหลายแห่ง แต่ทะเลสาบที่มีชื่อเสียงและใหญ่ที่สุด คือ ทะเลสาบบอลอโตน (Balaton)

แผนที่แสดงที่ราบพันโนเนีย หรือ แอ่งคาร์เพเทียน

ภูมิประเทศ

[แก้]

ดินแดนส่วนใหญ่ของประเทศตั้งอยู่ที่ระดับความสูงน้อยกว่า 200 เมตรจากระดับน้ำทะเล แม้ว่าจะมีภูเขาอยู่บ้างบางส่วน แต่ภูเขาที่สูงเกิน 300 เมตรนั้น มีพื้นที่น้อยกว่า 2% ของดินแดนทั้งหมด จุดสูงสุดคือ Kékes tető ที่ระดับความสูง 1,014 เมตรจากระดับน้ำทะเล และจุดต่ำสุดอยู่ทางใต้ของเมืองแซแก็ด ทางฝั่งขวาของแม่น้ำทิสซา เรียกจุดนั้นว่า Gyálarét Lúdvár ที่ระดับความสูง 75.8 เมตรจากระดับน้ำทะเล สมบัติทางธรรมชาติที่สำคัญที่สุดของประเทศ คือ ดิน 70% ของฮังการีเหมาะสำหรับใช้ในการกสิกรรม และภายในสัดส่วนดังกล่าวนี้ 72% เป็นพื้นที่ที่มีการเพาะปลูก

ศูนย์กลางของประเทศอยู่ในเขตเทศบาลเมืองปุสตอว็อช (ฮังการี: Pusztavacs) จุดเหนือสุดอยู่ในหมู่บ้านฟึเซร์ (ฮังการี: Füzér) จุดทางใต้สุดอยู่ในหมู่บ้านแบแรแม็นด์ (ฮังการี: Beremend) จุดทางตะวันออกสุดอยู่ในหมู่บ้านกอร์โบลซ์ (ฮังการี: Garbolc) และจุดทางตะวันตกสุดอยู่ในหมู่บ้านแฟลเชอเซิลเนิค (ฮังการี: Felsőszölnök)

ภูมิประเทศของประเทศฮังการีส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่มน้ำ มีแม่น้ำสองสาย ไหลผ่านเหนือจรดใต้ ประกอบด้วย แม่น้ำดานูบ และ แม่น้ำติซอ และมี แม่น้ำดราวา เป็นแม่น้ำกั้นพรมแดนระหว่างฮังการีกับโครเอเชียทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ ตามการแบ่งทางภูมิศาสตร์นั้น สามารถแบ่งประเทศฮังการีได้ออกเป็น 6 เขตทางภูมิศาสตร์ใหญ่ ซึ่งแบ่งได้อีกเป็น 35 พื้นที่ขนาดกลาง และ 227 พื้นที่ขนาดเล็ก ประกอบด้วย

  1. เขตที่ราบฮังการีใหญ่ (ภาษาอังกฤษ: Great Hungarian Plain, ภาษาฮังการี: Alföld หรือ Nagyalföld) เป็นที่ราบตอนกลาง และ ตะวันออก ที่แทบจะไม่มีความสูงแตกต่างกันเลย เมืองที่มีประชากรมากที่สุดคือ เมืองแดแบร็ตแซ็น
  2. เขตเทือกเขาฮังการีเหนือ (ภาษาอังกฤษ: North Hungarian Mountains, ภาษาฮังการี: Északi-középhegység) ทอดยาวจากเมืองวิแชกราด จนถึงเมืองโบโดร็ก ติดกับพรมแดนประเทศสโลวาเกีย มีภูเขามาตรอ (Mátra) เป็นจุดที่สูงที่สุด โดยจุดที่สูงที่สุดในประเทศฮังการี มีชื่อว่า Kékes tető (เกแกชแตเตอ) มีความสูง 1014 เมตรจากระดับน้ำทะเล
    เคแคชแตเตอ (Kékes tető) จุดที่สูงที่สุดในประเทศฮังการี บนหุบเขามาตรอ (Mátra) 1014 เมตร จากระดับน้ำทะเล
  3. เขตเทือกเขาทรานส์ดานูเบีย (ภาษาอังกฤษ: Transdanubian Mountains, ภาษาฮังการี: Dunántúli-középhegység) มีความยาวคู่ขนานไปกับทะเลสาบบอลอโตน มีทิศทางจากตะวันออกเฉียงเหนือไปยังตะวันตกเฉียงใต้ ขนาบข้างกับแม่น้ำดานูบ มีแถบภูเขาบอโคญ (Bakony) แถบดินแดนเหนือทะเลสาบบอลอโตน (พื้นที่ปลูกไวน์ตั้งแต่ยุคโบราณ) เทือกเขาแวแลนแซ (Velencei-hegység) เทือกเขาแวร์เตช (Vertés) และ เทือกเขาดูนอซุก (Dunazug-hegyvidék)
  4. เขตเนินเขาทรานส์ดานูเบีย (ภาษาอังกฤษ: Transdanubian Hills, ภาษาฮังการี: Dunántúli-dombság) เป็นเขตเนินเขาทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศฮังการี ใต้ทะเลสาบบอลอโตน เมืองที่ใหญ่ที่สุดคือเมืองเปช ในแถบนี้ประกอบไปด้วย เนินเขาซอลอ (Zalai-dombság) เนินเขาโชโม็ดย์ (Somogyi-dombság) เนินเขาโตลนอย (Tolnai-hegyhát) เนินเขาบอรอญอ (Baranyai-dombság) และ 2 เทือกเขา ประกอบด้วย เทือกเขาแมแชค (Mecsek-hegység) มีจุดที่สูงที่สูดเรียกว่า แซงเกอ (Zengő) ณ ความสูงที่สุด 682 เมตร จากระดับน้ำทะเล และเทือกเขาวิลลาญ (Villányi-hegység)
  5. เขตที่ราบฮังการีเล็ก (ภาษาอังกฤษ: Little Hungarian Plain, ภาษาฮังการี: Kisalföld) เป็นที่ราบทางตะวันตกเฉียงเหนือ ประกอบด้วย ที่ราบระหว่างแม่น้ำ Szigetköz Rábaköz และ แอ่งมอร์ตซอล (Marcal-medence) เมืองที่มีประชากรมากที่สุด คือ เมืองจเยอร์
  6. เขตชายแดนฮังการีตะวันตก (ภาษาอังกฤษ: West-Hungarian Borderland, ภาษาฮังการี: Nyugat-magyarországi peremvidék) หรือ เขตตีนเทือกเขาแอลป์ (ภาษาฮังการี: Alpokalja) คือ ส่วนที่ติดกับเทือกเขาแอลป์ ในรัฐบูร์กันแลนด์ ประเทศออสเตรีย เป็นส่วนที่อยู่ด้านตะวันตกที่สุดของประเทศ จุดที่สูงที่สุดอยู่ที่ เทือกเขาเคอแซก (Kőszeg) และ เทือกเขาโชโปรน (Sopron) เมืองที่มีประชากรมากที่สุดคือ โซมบ็อตแฮย์

แหล่งน้ำ

[แก้]

ที่ราบพันโนเนียเป็นแหล่งกักเก็บน้ำเกือบทั้งหมดจากแม่น้ำดานูบ นอกจากนี้ประเทศฮังการียังมีแหล่งน้ำร้อนใต้พิภพเป็นจำนวนมาก โดยมีแหล่งน้ำร้อนใต้พิภพมากที่สุดในทวีบยุโรป อุณหภูมิของน้ำแร่ร้อนอาจสูงเกิน 70 °C แกนหลักของทรัพยากรน้ำในประเทศฮังการี คือ แม่น้ำดานูบ ที่มีความยาวจากแหล่งกำเนิดจนถึงปากแม่น้ำถึง 2,850 กิโลเมตร โดยมีความยาวอยู่ที่ 417 กิโลเมตรในพรมแดนประเทศฮังการี อย่างไรก็ดี แม่น้ำสายใหญ่ที่สุดในประเทศฮังการี คือ แม่น้ำทิสซอ (Tisza) ซึ่งมีความยาวทั้งหมด 962 กิโลเมตร โดยมีความยาวในพรมแดนฮังการี 584.9 กิโลเมตร ซึ่งมีแควสาขากระจายออกไปทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังมีแม่น้ำดราวา (Dráva) ทางใต้ติดพรมแดนโครเอเชีย และมีแม่น้ำสายน้อยอีกหลายสาย ประกอบด้วย แม่น้ำตูร์ (Túr), แม่น้ำซอโมช (Szamos), แม่น้ำครอสนอ (Kraszna) แม่น้ำเกอเริช (Körös) และ แม่น้ำมอโรช (Maros)[69]

ทะเลสาบบอลอโตน ทะเลสาบที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปกลาง (ถ่ายภาพ ณ เมืองติฮอนย์)

ทะเลสาบที่ใหญ่ที่สุดในฮังการีและในยุโรปกลาง คือ ทะเลสาบบอลอโตน (Balaton-tó) พื้นที่ 594 ตารางกิโลเมตร ตามมาด้วยทะเลสาบติซอ (Tisza-tó) ทะเลสาบเทียมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศฮังการี ขนาด 127 ตารางกิโลเมตร ทะเลสาบน็อยซีเดิล (ภาษาฮังการี เรียกว่า ทะเลสาบแฟร์แตอ Fertő-tó) ตั้งอยู่ระหว่างพรมแดนประเทศฮังการี และ ประเทศออสเตรีย มีพื้นที่ในพรมแดนฮังการี 75 ตารางกิโลเมตร และทะเลสาบแวแลนแซ (Velence-tó) ซึ่งมีพื้นที่ 10.1 ตารางกิโลเมตร

เขตภูมิศาสตร์ 6 เขตของประเทศฮังการี ประกอบด้วย 1.เขตที่ราบฮังการีใหญ่ (Great Hungarian Plain) 2. เขตเทือกเขาฮังการีเหนือ (North Hungarian Mountains) 3. เขตเทือกเขาทรานส์ดานูเบีย (Transdanubian Mountains) 4. เขตเนินเขาทรานส์ดานูเบีย (Transdanubian Hills) 5. เขตที่ราบฮังการีเล็ก (Little Hungarian Plain) 6.เขตชายแดนฮังการีตะวันตก (West-Hungarian Borderland)

พื้นดิน

[แก้]

ประเทศฮังการีมีลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่หลากหลาย โดยพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่มและที่ราบสูงต่ำ ซึ่งเหมาะสมกับการเกษตร พื้นที่ที่มีความสำคัญมากที่สุดคือที่ราบใหญ่ฮังการี (ฮังการี: Alföld) ที่ครอบคลุมพื้นที่ทางตะวันออกของประเทศ พื้นที่นี้มีความสำคัญทางเกษตรกรรมและการเพาะปลูกพืชหลายชนิด[70]

สวนองุ่นในเมืองบอลอโตนฟือแร็ด (Balatonfüred) ประเทศฮังการี

ดินในฮังการีมีความอุดมสมบูรณ์โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ราบใหญ่ พื้นทีส่วนใหญ่ของฮังการี ประมาณ 70% ทำการเกษตร ดินของฮังการีเหมาะสมสำหรับการปลูกพืชทางการเกษตร เช่น ข้าวสาลี ข้าวโพด และเมล็ดทานตะวัน นอกจากนี้ พื้นที่บริเวณใกล้แม่น้ำดานูบและแม่น้ำทิสซอยังมีดินที่เหมาะสมสำหรับการทำสวนผลไม้และการปลูกองุ่น ซึ่งเป็นแหล่งสำคัญของการผลิตไวน์ในฮังการี[71]

อย่างไรก็ตาม ปัญหาทางสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับดินในประเทศฮังการีก็มีอยู่เช่นกัน โดยเฉพาะการพังทลายของดินในบางพื้นที่ ซึ่งเป็นผลจากการทำเกษตรกรรมอย่างเข้มข้นและการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ รัฐบาลฮังการีได้พยายามแก้ไขปัญหานี้ผ่านโครงการอนุรักษ์ดินและการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อปกป้องพื้นที่เกษตรกรรมและทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ[72]

พืชและสัตว์

[แก้]
ฝูงโคพันธุ์ฮังกาเรียนเกรย์ สัตว์ประจำชาติของประเทศฮังการี ในเมืองซินแปตริ (Szinpetri)

พื้นที่ 20 เปอร์เซ็นต์ของประเทศถูกปกคลุมไปด้วยป่าไม้ เป็นป่าทึบ ได้แก่ ป่าโอ๊ก และ ป่าบีช สัตว์ท้องถิ่นที่พบทั่วไป เช่น กระต่ายป่า กวาง หมี นาก สัตว์ป่าหายาก เช่น แมวป่า ค้างคาวทะเล สัตว์พื้นเมืองที่มีมากที่สุด คือ นกชนิดต่าง ๆ โดยเฉพาะนกน้ำที่ชอบพื้นที่ชื้นแฉะแถบที่ลุ่มตามทะเลสาบ ประเทศฮังการีมีอุทยานแห่งชาติ 10 แห่ง เขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า 145 แห่ง และ พื้นที่คุ้มครอง 35 แห่งในประเทศฮังการี สัตว์เลื้อยคลาน และ สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกทุกชนิดได้รับการคุ้มครอง ยกเว้นเพียงอย่างเดียวคือ เต่าแก้มแดง เนื่องจากเป็นสัตว์ต่างถิ่น

ฮังการีเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความหลากหลายของสัตว์มากที่สุดในยุโรป เพื่อปกป้องพืชและสัตว์ให้ใช้ชีวิตอยู่ในระบบนิเวศน์แบบดั้งเดิม รัฐบาลฮังการีจึงจัดตั้งอุทยานแห่งชาติ 10 แห่ง พื้นที่คุ้มครองภูมิทัศน์ 35 แห่ง พื้นที่อนุรักษ์ธรรมชาติแห่งชาติ 142 แห่ง อนุสรณ์สถานธรรมชาติ และพื้นที่ธรรมชาติ 1125 แห่ง ซึ่งพื้นที่เหล่านี้จะได้รับการคุ้มครองโดยรัฐบาลท้องถิ่น นับเป็นพื้นที่ทั้งหมด 8160 ตารางกิโลเมตร คุณค่าทางธรรมชาติที่ได้รับการคุ้มครองจากรัฐบาล ได้แก่ ป่าไม้ ภูเขา ทะเลสาบ แม่น้ำ พื้นที่ชุ่มน้ำ และ ถ้ำ โดยแหล่งอนุรักษ์ที่สำคัญที่สุดตามภูมิภาค มีดังนี้

กรุงบูดาเปสต์ ประกอบด้วย เกาะมากาเร็ต (Margit-sziget) Gellért Hill Sas Hill และระบบถ้ำปาล-เวิลจ์ยิ (Pál-völgyi)

ในแถบทรานส์ดานูเบีย ประกอบด้วย ทะเลสาบแฟร์เตอ (Fertő-tó) อันเป็นมรดกโลก ทะเลสาบน้ำร้อนเฮวีซ (Hévíz) ระบบถ้ำใต้ดินเมืองตอโปลต์ซอ (Tapolca-tavas) ทะเลสาบเออแรก (Öreg-tó) ทะเลสาบแวแล็นต์แซ (Velence-tó) และพื้นที่เดินป่าทะเลสาบแบลเชอ เมืองติฮอนย์ (Tihanyi Belső-tó) และเส้นทางศึกษาธรณีวิทยาถ้ำออบอลิแก็ต (Abaligeti barlang) เขตอนุรักษ์ธรรมชาติซาร์โชมโย่ (Szársomlyó természetvédelmi terület), เหมืองแฟร์เตอราโกช (Fertőrákosi kőfejtő), โค้งน้ำดานูบ ตลอดจนป่าขนาดใหญ่ในภูมิภาคปิลิช (Pilis), เทือกเขาทรานส์ดานูเบีย (Bakony, Vértes, Visegrádi-hegység), ป่าแกแม็นตซ์ (Gemenci erdő), เขตเทือกเขาอ็อลโปกอ็อลยอ (Alpokalja)[73] เมืองวิลลาญ (Villány) และเทือกเขาแมแช็ก (Mecsek)

ทางตอนเหนือของฮังการีมีป่าไม้และคุณค่าทางธรรมชาติอันงดงามของเทือกเขาฮังการีเหนือ ซึ่งมีโอกาสเดินป่ามากมาย อาทิ เทือกเขาเบอร์เซิญ (Börzsöny)[74], ภูเขามาตรอ (Mátra), อุทยานแห่งชาติบึกก์ (Bükki Nemzeti Park) ระบบถ้ำลิลลอฟือแร็ด (Lillafüred) อุทยานแห่งชาติออกแตแล็ค (Aggteleki Nemzeti Park)

ในที่ราบฮังการีใหญ่มีอุทยานแห่งชาติฮอร์โตบาจ (Hortobágyi Nemzeti Park) ซึ่งเป็นแหล่งมรดกโลก หมู่บ้านบุกอตซ์ (Bugac) หมู่บ้านมาร์เตย (Mártély) และ สถานที่เดินป่าหมู่บ้านกุนฮอลโมก (Kunhalmok)

ทิวทัศน์เทือกเขาบึกก์ (Bükk) จากหุบเขาโฮร์​ (Hór) เมืองโอโดร์วาร์ (Odorvár) สถานที่เดินป่าที่เป็นที่นิยมทางตอนเหนือของประเทศฮังการี

ในประเทศฮังการีมีสวนรุกขชาติสำหรับแสดงพันธุ์ไม้หลายแห่ง ได้แก่ Vácrátó, Zirc, Badacsonytomaj, Kám, Kőszeg, Kámon, Vép, Szeleste และ Szarvas สถานที่สาธิตสัตว์พิเศษ ได้แก่ สวนเกมโชชโต (Sóstó)ในเมืองญีแร็จฮาซอ (Nyíregyháza) ฟาร์มเลี้ยงสัตว์แบบดั้งเดิมในเมืองกอร์โดชกูต (Kardoskút) ฟาร์มม้าของรัฐในเมืองแมเซอแฮดแยช (Mezőhegyes) และ บาโบลนอ (Bábolna) เขตอนุรักษ์เดวอวาญอ (Dévaványa) ศูนย์กลางทางชีววิทยาทะเลสาบติซอ​ (Lake Tisza Ecocenter) เมืองโปโรซโล (Poroszló) และ บ้านหมีในเมืองแวแรแชดย์ฮาซอ (Veresegyháza)

รายชื่ออุทยานแห่งชาติ

[แก้]

อุทยานแห่งชาติในประเทศฮังการีมีอยู่ทั้งหมด 10 แห่ง โดยที่ใหญ่ที่สุดคือ อุทยานแห่งชาติฮอร์โตบาจ (Hortobágyi Nemzeti Park) ซึ่งเป็นทุ่งหญ้าธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป

อันดับที่ อุทยานแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติ (ภาษาฮังการี) เมือง (ภาษาฮังการี) พื้นที่ (ตร.กม.) ก่อตั้ง (พ.ศ.)
1 ฮอร์โตบาจย์ Hortobágyi แดแบรตแซน Debrecen 820 1973
2 กิชกุนชาก Kiskunsági แกชแกเมต Kecskemét 530 1975
3 บึกก์ Bükki แอแกร์ Eger 402 1976
4 อ็อกแตแลค Aggteleki โยชวอเฟอ Jósvafő 201.7 1985
5 แฟร์เตอ-ฮ็อนชาก Fertő–Hanság ชอร์โรด Sarród 237.31 1991
6 ดูนอ-ดราวอ Duna–Dráva เปช Pécs 500 1996
7 ดูนอ-อิโปย Duna–Ipoly บูดาเปสต์ Budapest 603 1997
8 บอลอโตน-

แฟลวิเดกิ

Balaton-felvidéki โชปอก Csopak 570 1997
9 เกอเริช-มอโรช Körös–Maros ซอร์วอช Szarvas 501 1997
10 เออร์เชกิ Őrségi เออริแซนต์เปแตร์Őriszentpéter 439.27 2002

ภูมิอากาศ

[แก้]
ฤดูหนาวในฮังการีมีอากาศเย็น และมีหิมะตก (ถ่าย ณ เมืองชอโรชปอต็อก ประเทศฮังการี)

ประเทศฮังการีอยู่ในเขตอบอุ่น มี 4 ฤดู ประกอบด้วย ฤดูใบไม้ผลิ (มีนาคม-พฤษภาคม) ฤดูร้อน (มิถุนายน-สิงหาคม) ฤดูใบไม้ร่วง (กันยายน-พฤศจิกายน) และ ฤดูหนาว (ธันวาคม-กุมภาพันธ์)

ประเทศฮังการจัดอยู่ในเขตภาคพื้นทวีปที่มีฤดูร้อนอบอุ่น โดยมีฤดูร้อนที่อบอุ่น ความชื้นต่ำ มีฝนตกประปราย และ ฤดูหนาวที่ชื้น มีหิมะตกในฤดูหนาว อุณภูมิเฉลี่ยต่อปี อยู่ที่ 9.7 °C อุณหภูมิสูงที่สุดอยู่ที่ 41.9 °C ในฤดูร้อน (ในวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2550 ณ เมืองคิชคุนฮอลอช) และ ต่ำที่สุด −35 °C ในฤดูหนาว (ในวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2483 ณ เมืองมิชโกลซ์ตอโปลซอ) อุณหภูมิในฤดูร้อน อยู่ที่ 23 - 28 °C และ ในฤดูหนาวอยู่ที่ −3 ถึง −7 °C มีฝนตกเฉลี่ย 600 มิลลิเมตร ต่อปี

ประเทศฮังการีอยู่ในอันดับที่ 6 ของดัชนีการปกป้องสิ่งแวดล้อมซึ่งจัดอันดับโดย GW/CAN

การท่องเที่ยวและสถานที่ท่องเที่ยว

[แก้]
โค้งน้ำดานูบ ถ่ายจากภูเขาโดโบโก้เคอ (Dobogó-kő) ซึ่งตั้งอยู่ในหุบเขาวิเชกราด โค้งน้ำนี้อยู่ทางเหนือของประเทศฮังการีไปทางเหนือจากกรุงบูดาเปสต์

สถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญที่สุดสามแห่งของประเทศฮังการี ที่มีนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศไปเที่ยวมากที่สุด ประกอบด้วย กรุงบูดาเปสต์ (Budapest) ทะเลสาบบอลอโตน (Balaton) และ โค้งน้ำดานูบ (Dunakanyar) ใกล้กับเมืองวิเชกราด ในปี ค.ศ. 2009 มีนักท่องเที่ยวประมาณ 12.7 ล้านคนที่มาเที่ยว ณ ประเทศฮังการี[75] ในมุมมองแบบอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เราจะสามารถแบ่งเขตประเทศฮังการีได้เป็น 9 เขต:

9 เขตการท่องเที่ยวของประเทศฮังการี

1. กรุงบูดาเปสต์และแม่น้ำดานูบกลาง (Budapest–Közép-Duna-vidék)

2. เขตทรานส์ดานูเบียกลาง (Közép-Dunántúl)

3. เขตทรานส์ดานูเบียตะวันตก (Nyugat-Dunántúl)

4. ทะเลสาบบอลอโตน (Balaton)

5. เขตทรานส์ดานูเบียใต้ (Dél-Dunántúl)

6. เขตฮังการีเหนือ (Észak-Magyarország)

7. เขตที่ราบใหญ่เหนือ (Észak-Alföld)

8. เขตที่ราบใหญ่ใต้ (Dél-Alföld)

9. ทะเลสาบติซอ (Tisza-tó)

ในประเทศฮังการี นอกจากกรุงบูดาเปสต์ (Budapest) แล้ว ยังมีเมืองที่เป็นแหล่งศิลปวัฒนธรรมอื่น ๆ อยู่ในประเทศ ประกอบด้วย เซแก็ชแฟเฮร์วาร์ (Székesfehérvár), แดแบร็ตแซน (Debrecen), โชโปรน (Sopron), เจอร์ (Győr), โซ็มบ็อทแฮย์ (Szombathely), เคอแซ็ก (Kőszeg), เปช (Pécs), คอโป็ชวาร์ (Kaposvár), แอสแตร์โกม (Esztergom), แว็สเปรม (Veszprém), ปาปอ (Pápa), วาร์ปอโลตอ (Várpalota), แอแกร์ (Eger), มิชโกลซ์ (Miskolc), และเมืองแซแก็ด (Szeged) ส่วนเมืองที่มีมรดกโลกอยู่นั้น มีเมืองโตคอย (Tokaj), ฮอร์โตบาจ (Hortobágy), ญีแร็จฮาซอ (Nyíregyháza), ญีร์บาโตร์ (Nyírbátor), ชาโรชปอต็อก (Sárospatak), ปาซโต (Pásztó), แค็ชแคเมต (Kecskemét), คอโลชอ (Kalocsa), แซนแตช (Szentes), โฮดแมเซอวาชาร์แฮย์ (Hódmezővásárhely), บอยอ (Baja) และ แซ็นแต็นแดร (Szentendre)[76]

ในประเทศฮังการีมีโบสถ์สมัยยุคกลางจำนวนมาก (Ják, Lébény, Ócsa, tihanyi altemplom, Csaroda เป็นต้น) ปราสาทแสนโรแมนติก (Visegrád, Nagyvázsony, Sümeg, Szigliget, Szigetvár, Siklós, Pécsvárad, Magyaregregy, Sárvár, tatai vár, cseszneki vár, Drégely vára, Hollókő, boldogkői vár, diósgyőri vár, füzéri vár, Sárospatak, Szerencs, Szécsény, Gyula) พิพิธภัณฑ์ในราชวังเก่า (Fertőd, Nagycenk, Keszthely, Gödöllő, Martonvásár, Ráckeve เป็นต้น) สถานที่ท่องเที่ยวมรดกโลกที่นักท่องเที่ยวไปในประเทศฮังการี ประกอบด้วยหมู่บ้านโบราณโฮโล่เคอ (hollókő), ราชวังพันโนฮอลมิแบนเซ็ช (Pannonhalmi Bencés Főapátság), กำแพงป้องกันเมืองโคมาโรม (komáromi erődrendszer), โบราณสถานกอร์ซิวมีในเมืองตาทซ์ (gorsium), แหล่งโครงกระดูกมนุษย์โบราณเมืองเวร์แต็ซเซอเลอ (vértesszőlősi ősemberleletek), และเขตเมืองเก่าเมืองมอยค์ (majki műemlékegyüttes)

มรดกโลก

[แก้]

องค์การยูเนสโก (UNESCO) ได้จัดให้ 9 สถานที่ในประเทศฮังการีให้เป็นมรดกโลก ดังนี้:

  1. กรุงบูดาเปสต์: ทิวทัศน์รอบแม่น้ำดานูบ และเขตหุบเขาปราสาทฝั่งบูดอ (Budai Várnegyed)
  2. หมู่บ้านโฮโล่เคอ (Hollókő) หมู่บ้านเก่าที่ยังรักษาสถาปัตยกรรมและวิถีชีวิตของชาติพันธุ์ฮังการีไว้ (เมืองโฮโล่เคอ)
  3. ระบบถ้ำอ็อกก์แตแล็ก-กอร์สต์และสโลวัก-กอร์สต์ (Aggteleki-karszt és a Szlovák-karszt barlangjai) (มรดกโลกร่วมกับประเทศสโลวาเกีย)
  4. อารามปอนโนนฮอลมอ (Pannonhalmi Bencés Főapátság) อารามเก่าแก่อายุพันปี และทิวทัศน์รอบอาราม (เมืองปอนโนนฮอลมอ)
  5. อุทยานแห่งชาติโฮร์โตบาจย์ (Hortobágyi Nemzeti Park) – ทุ่งหญ้าธรรมชาติขนาดใหญ่ที่สุดในยุโรปกลาง
  6. สุสานคริสเตียนโบราณเมืองเปช (Pécsi ókeresztény sírkamrák)
  7. ชนบทรอบทะเลสาบแฟร์เตอ (Fertő-táj) (มรดกโลกร่วมกับประเทศออสเตรีย)
  8. เขตชนบทโตกอยิ (Tokaji Történelmi Borvidék) สถานที่ทำไวน์ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์
  9. กรุงบูดาเปสต์: ถนนอ็อนดราชชี (Andrássy út)

การสันทนาการ

[แก้]

ประเทศฮังการีมีการสันทนาการที่หลากหลายและน่าสนใจทั้งในเมืองและชนบท กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการสันทนาการในฮังการีมีตั้งแต่การพักผ่อนกลางแจ้ง การเล่นกีฬา การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และกิจกรรมทางน้ำ ประเทศฮังการีมีวัฒนธรรมการเล่นกีฬาเป็นประจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กีฬาทางน้ำ

บ่อน้ำพุร้อนเซเชนี (Széchenyi Thermal Bath)ในกรุงบูดาเปสต์ยามค่ำคืน

การอาบน้ำแร่หรือการแช่น้ำพุร้อนเป็นกิจกรรมสันทนาการที่มีชื่อเสียงในฮังการี ประเทศฮังการีมีบ่อน้ำพุร้อนธรรมชาติหลายแห่ง เช่น บ่อน้ำพุร้อนเซเชนี (Széchenyi Thermal Bath)[77] ในกรุงบูดาเปสต์ บ่อน้ำพุร้อนเหล่านี้เป็นสถานที่ที่นิยมมากสำหรับทั้งชาวฮังการีและนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก โดยการอาบน้ำแร่มีประโยชน์ต่อสุขภาพและการผ่อนคลาย

ฮังการีมีสถานที่ท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติหลายแห่ง เช่น ทะเลสาบบอลอโตน (Balaton) ซึ่งเป็นทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปกลาง นักท่องเที่ยวสามารถทำกิจกรรมทางน้ำ เช่น ว่ายน้ำ ล่องเรือ และตกปลา นอกจากนี้ยังมีการเดินป่าที่ได้รับความนิยมในพื้นที่ภูเขาอย่าง เทือกเขามาตรอ (Mátra) และ เทือกเขาบึกก์ (Bükk) ที่มีเส้นทางเดินป่าที่สวยงามเหมาะแก่การสำรวจธรรมชาติ[78]

วันเพลงฮังการีซิแกต (Sziget Magyar Dal Napja) ในเทศกาลซิแกตเฟสติวัล (Sziget Festival)

ฮังการีเป็นที่รู้จักในด้านงานเทศกาลและการสันทนาการทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะในกรุงบูดาเปสต์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรมของประเทศ ในกรุงบูดาเปสต์มีเทศกาลดนตรีและศิลปะมากมาย เช่น เทศกาลดนตรีซิแก็ตเฟสติวัน (Sziget Fesztivál)[79] ซึ่งเป็นเทศกาลดนตรีที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป เทศกาลฤดูใบไม้ผลิ (Tavaszi Fesztivál), บูดาเปสต์พาเรด (Budapest Parádé) นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมสันทนาการทางวัฒนธรรมอื่น ๆ เช่น การเข้าชมพิพิธภัณฑ์และการแสดงดนตรีคลาสสิก

ส่วนในเขตทะเลสาบบอลอโตน จะมีเทศกาลดนตรีบอลอโตนซาวนด์ (Balaton Sound) ที่มีศิลปินจากทั่วโลกมา และเทศกาลหุบเขาศิลปะ (Művészetek Völgye) ในที่ราบใหญ่ฮังการี มีเทศกาลแข่งม้าเมืองฮอร์โตบาจ (Hortobágyi Lovasnapok és Hídivásár), เทศกาลคาร์นิวัลดอกไม้เมืองแดแบร็ตแซ็น (Debreceni virágkarnevál) และเทศกาลซอบอดเตริยาเตกโก็ก/เทศกาลเพลงกลางแจ้งจตุรัสเสรีภาพเมืองแซแก็ด (Szegedi Szabadtéri Játékok)

ทางตอนเหนือของประเทศ มีเทศกาลโอเปร่านานาชาติเมืองมิชโกลซ์ (Miskolci Nemzetközi Operafesztivál) ในเมืองมิชโกลซ์​ (Miskolc) และในเมืองโชโปรน (Sopron) ทางตะวันตกของประเทศ มีเทศกาลโวล์ต (VOLT Fesztivál) ซึ่งตอนนี้ยกเลิกการจัดงานไปแล้วตั้งแต่ปี ค.ศ. 2022

การบริหารจัดการภายใน

[แก้]

การเมือง

[แก้]
ตอมาช ชุโยก
ประธานาธิบดีของประเทศฮังการี ตั้งแต่ ค.ศ. 2024
วิกโตร์ โอร์บาน
นายกรัฐมนตรีของประเทศฮังการี ตั้งแต่ ค.ศ. 2010

ประเทศฮังการี ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ซึ่งเป็นระบบสภาเดียว โดยมีประธานาธิบดีซึ่งมาจากการเลือกตั้ง ทำหน้าที่เป็นประมุขของประเทศอยู่ในตำแหน่งวาระละ 5 ปี ดำรงตำแหน่งได้เพียง 2 วาระ แต่มีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้บริหารรัฐบาลที่มีอำนาจอย่างแท้จริงในการบริหาร ปัจจุบัน ประธานาธิบดี คือ ตอมาช ชุโยก (Tamás Sulyok) และ นายกรัฐมนตรี คือ วิกโตร์ โอร์บาน (Viktor Orbán)

ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐ (köztársaságielnök) ทำหน้าที่เป็นประมุขและได้รับการเลือกตั้งจากรัฐสภาทุก ๆ ห้าปี ประธานาธิบดีมีหน้าที่และอำนาจที่เป็นตัวแทน: รับตำแหน่งประมุขต่างประเทศ เสนอชื่อนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการตามคำแนะนำของรัฐสภา และ ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองกำลัง ที่สำคัญประธานาธิบดียังมีอำนาจในการยับยั้ง (วีโต้) ตัวบทกฎหมาย และ อาจส่งต่อร่างกฎหมายไปยังศาลรัฐธรรมนูญ 15 คน เพื่อพิจารณาความเหมาะสมของกฎหมายซ้ำ ตำแหน่งทางราชการที่สำคัญที่สุดอันดับสามในฮังการี คือประธานรัฐสภา ซึ่งได้รับเลือกจากรัฐสภาและรับผิดชอบดูแลการประชุมประจำวันของสภา

นายกรัฐมนตรี (miniszterelnök) ได้รับเลือกจากรัฐสภาโดยทำหน้าที่เป็นหัวหน้ารัฐบาลและใช้อำนาจบริหาร ในสถานการณ์ปรกติ นายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าของพรรคที่ใหญ่ที่สุดในรัฐสภา นายกรัฐมนตรีเป็นผู้เลือกรัฐมนตรีและมีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการปลดรัฐมนตรี กระนั้นก็มีข้อแม้ว่า ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นคณะรัฐมนตรี จะต้องปรากฏตัวในการพิจารณาอย่างเปิดเผย เพื่อให้คณะกรรมการรัฐสภาลงคะแนนเสียงในรัฐสภา และ ได้รับการอนุมัติอย่างเป็นทางการจากประธานาธิบดี

ในปี ค.ศ. 2009 ฮังการีประสบปัญหาทางเศรษฐกิจที่รุนแรงต้องขอความช่วยเหลือจาก IMF เป็นเงินประมาณ 9 พันล้านยูโร อัตราส่วนหนี้สินต่อ GDP ของฮังการีมีจุดสูงสุดในปี ค.ศ. 2011 ที่ 83% และลดลงตั้งแต่นั้นมา จากข้อมูลของ Eurostat หนี้ขั้นต้นของรัฐบาลฮังการีมีจำนวน 25.119 พันล้าน HUF หรือ 74.1% ของ GDP ในปี ค.ศ. 2016 รัฐบาลขาดดุลงบประมาณ 1.9% ของ GDP ในปี ค.ศ. 2015 อันดับเครดิตของฮังการีโดยสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Standard & Poor's, Moody's และ Fitch Ratings อยู่ในระดับ Investment Grade BBB โดยมีแนวโน้มที่มั่นคงในปี ค.ศ. 2016

ดัชนีการรับรู้คอร์รัปชันประจำปี ค.ศ. 2019 ขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติของฮังการี ได้ลดลงจากคะแนน 51 ในปี ค.ศ. 2015 เป็น 44 ในปี ค.ศ. 2019 ทำให้ประเทศฮังการีเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปที่มีการทุจริตมากที่สุดเป็นอันดับ 2 คู่กับโรมาเนีย และ ตามหลังประเทศบัลแกเรีย

หลังจากทศวรรษแห่งการปกครองประเทศฮังการีของพรรคฟิแด็ซ-KDNP (Fidesz-KDNP) นำโดย นายวิกโตร์ ออร์บาน (Viktor Orbán) รายงานของ Freedom House in Transit 2020 ได้จัดประเภทฮังการีใหม่จากระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบการปกครองแบบเปลี่ยนผ่านหรือแบบผสม นอกจากนี้ รัฐบาลฮังการี ยังมีการจำกัดและกำกับดูแลของรัฐสภา สื่ออิสระ องค์กรพัฒนาเอกชน และ นักวิชาการ ในขณะที่รวมอำนาจไว้ที่รัฐบาลกลาง

โลโก้พรรค Fidesz พรรคที่ใหญ่ที่สุดในฮังการี

โดยทั่วไปมีสองกลุ่มหลักในระบบการเมืองของฮังการี ได้แก่ แนวร่วม Fidesz-KDNP ฝ่ายขวาและฝ่ายกลางจากขวาถึงฝ่ายซ้ายของ United for Hungary ซึ่งประกอบด้วยฝ่ายต่าง ๆ ต่อไปนี้: DK, MSZP, Jobbik, Dialogue, LMP-Greens, Momentum นอกจากนี้ยังมีภาคีและขบวนการเช่น ÚVNP, Liberals, New Start, การเคลื่อนไหว MMM, การเคลื่อนไหว 99M นอกจากนี้ยังมีพรรคย่อยบางพรรคที่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของพันธมิตรทั้งสองนี้ เช่น ขบวนการบ้านเกิดของเรา พรรคขวาจัด และพรรคตลกที่เรียกว่า พรรคสุนัขสองหางฮังการี คริสตจักรฮังการีส่วนใหญ่อยู่ในการเมืองด้วย ซึ่งค่อนข้างน่าสนใจ เนื่องจากระบอบประชาธิปไตยส่วนใหญ่เป็นระบบที่ไม่นำศาสนาเข้ามายุ่งกับการเมือง

การแบ่งเขตการปกครอง

[แก้]
เทศมณฑลของประเทศฮังการี

ฮังการีเป็นรัฐเดี่ยว แบ่งออกเป็น 19 เทศมณฑล (vármegye) และ 1 เมืองหลวง (főváros) โดยกรุงบูดาเปสต์เป็นเขตปกครองแยกออกไป และแบ่งย่อยได้อีกเป็น 174 เขต (járás) ณ วันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 2013 เขตต่าง ๆ จะถูกแบ่งออกเป็นเมืองและหมู่บ้าน โดยมี 25 เมืองที่กำหนดให้มีสิทธิเขตพิเศษ เป็น "เมืองหลัก" (megyei jogú város) ทำหน้าที่เป็นจุดศูนย์กลางทางอำนาจปกครองในแต่ละมณฑล[80] (คล้ายกับอำเภอเมืองของประเทศไทย) บทบาทขององค์การบริหารส่วนเทศมณฑลโดยพื้นฐานแล้วจะมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาเชิงกลยุทธ์ ในขณะที่เทศบาลเมืองจะเน้นการดูแลและพัฒนาโรงเรียนอนุบาล สาธารณูปโภค การกำจัดขยะ และ การดูแลผู้สูงอายุ

ภูมิภาคทางการปกครอง 7 แห่ง ของประเทศฮังการี

ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1996 เทศมณฑลและกรุงบูดาเปสต์ได้ถูกแบ่งออกเป็น 7 ภูมิภาคเพื่อวัตถุประสงค์ทางสถิติและการพัฒนา ได้แก่ ฮังการีตอนกลาง (Közép-Magyarország), ทรานส์ดานูเบียตอนกลาง (Közép-Dunántúl), ที่ราบใหญ่ทางตอนเหนือ (Észak-Alföld), ฮังการีตอนเหนือ (Észak-Magyaroszág), ทรานส์ดานูเบียตอนใต้ (Dél-Dunántúl), ที่ราบทางตอนใต้ (Dél-Alföld) และ ทรานส์ดานูเบียตะวันตก (Nyugat-Dunántúl)

เทศมลฑล
(megye)
เมืองศูนย์กลาง ประชากร ภูมิภาค
บาช-กิชกุน แก็ชแกเมต 524,841 ที่ราบทางตอนใต้
บอรอญอ เปช 391,455 ทรานส์ดานูเบียตอนใต้
เบเกช เบเกชชอบอ 361,802 ที่ราบทางตอนใต้
โบร์โชด-ออบออูย-แซ็มเปลน มิชโกลส์ 684,793 ฮังการีตอนเหนือ
บูดาเปสต์ บูดาเปสต์ 1,744,665 ฮังการีตอนกลาง
โชงกราด-ชอนาด แซแก็ด 421,827 ที่ราบทางตอนใต้
แฟเยร์ เซแก็ชแฟเฮร์วาร์ 426,120 ทรานส์ดานูเบียตอนกลาง
จเยอร์-โมโชน-โชโปรน จเยอร์ 449,967 ทรานส์ดานูเบียตะวันตก
ฮ็อยดู-บิฮอร์ แดแบร็ตแซ็น 565,674 ที่ราบใหญ่ทางตอนเหนือ
แฮแว็ช แอแกร์ 307,985 ฮังการีตอนเหนือ
ยาส-น็อจกุน-โซลโนก โซลโนก 386,752 ที่ราบใหญ่ทางตอนเหนือ
โกมาโรม-แอ็สแตร์โกม ตอตอบาญอ 311,411 ทรานส์ดานูเบียตอนกลาง
โนกราด ช็อลโกตอร์ยาน 201,919 ฮังการีตอนเหนือ
แป็ชต์ บูดาเปสต์ 1,237,561 ฮังการีตอนกลาง
โซโมจ กอโปชวาร์ 317,947 ทรานส์ดานูเบียตอนใต้
ซอโบลช์-ซ็อดมาร์-แบแร็ก ญีแร็จฮาซอ 552,000 ที่ราบใหญ่ทางตอนเหนือ
โตลนา แซ็กซาร์ด 231,183 ทรานส์ดานูเบียตอนใต้
ว็อช โซมบ็อตแฮย์ 257,688 ทรานส์ดานูเบียตะวันตก
แว็สเปรม แว็สเปรม 353,068 ทรานส์ดานูเบียตอนกลาง
ซอลอ ซอลอแอแกร์แซ็ก 287,043 ทรานส์ดานูเบียตะวันตก

การรักษาความปลอดภัยในประเทศ และ การทหาร

[แก้]
รถทหารฮังการี จัดแสดง ณ เมืองบอลอโตนโบกลาร์ (Balatonboglár)

กองกำลังฮังการี (Magyar Honvédség: MH) ดำเนินการป้องกันทางทหารในฮังการี และการป้องกันประเทศอื่น ๆ ที่เกิดจากสนธิสัญญาระหว่างประเทศ (เช่น NATO) มีส่วนช่วยป้องกันภัยพิบัติ และการจัดการช่วยเหลือหลังเกิดภัยพิบัติ ประธานาธิบดีฮังการีถือเป็นจอมทัพฮังการี กองกำลังฮังการีอยู๋ใต้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (Benkő Tibor คือ รัฐมนตรีขณะนี้)[81] ฮังการีไม่มีการเกณฑ์ทหาร[82] ฮังการีมีกำลังทหาร 37,650 นาย ที่อยู่ในหน้าที่ ณ ปัจจุบัน มีงบกองกำลังฮังการีที่ 778 พันล้านฮังการีโฟรินต์ คิดเป็น 1.66% ของ GDP ในปี ค.ศ. 2021 ฮังการีเป็นประเทศใน NATO และปัจจุบันมีโครงการ Zrínyi 2026 ที่พยายามจะทำให้กองทัพฮังการีทันสมัยมากขึ้น[83]

ตำรวจฮังการี และ รถตำรวจฮังการี มีคำว่า "Rendőrség" แปลว่า ตำรวจ อยู่ที่ข้างตัวรถ

งานพื้นฐานของตำรวจ คือ การป้องกันอาชญากรรม ปกป้องความปลอดภัยสาธารณะ และความสงบเรียบร้อยของประชาชน ตำรวจรักษาชายแดนของรัฐและรักษาความสงบเรียบร้อยที่จุดผ่านแดน

งานพื้นฐานของบริการด้านความมั่นคงแห่งชาติ (A nemzetibiztonsági szolgálatok) มีหน้าที่ปกป้องความเป็นอิสระของฮังการีและหลักนิติธรรม และเพื่อบังคับใช้กฎหมายเพื่อมั่นคงของประเทศ

กฎระเบียบเกี่ยวกับหน้าที่และการดำเนินงานของกองทัพบก ตำรวจ และบริการด้านความมั่นคงแห่งชาตินั้นกำหนดไว้ในกฎหมาย

มีหน่วยงานของรัฐอีกหลายแห่งในฮังการี ที่มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยของประชาชน ตัวอย่างเช่น สำนักงานภาษีและศุลกากรแห่งชาติ (Nemzeti Adó- és Vámhivatal) ดำเนินการกำกับดูแลด้านศุลกากรและการเงิน ดำเนินการควบคุมทางศุลกากรในการเคลื่อนย้ายสินค้าและผู้โดยสารข้ามพรมแดนศุลกากร รับรองการจัดเก็บภาษีศุลกากร และปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยผลิตภัณฑ์ที่ต้องเสียภาษี (เช่น ยาสูบ สุรา เชื้อเพลิง)

หน่วยงานป้องกันภัยพลเรือนและหน่วยดับเพลิง มีหน้าที่ในการป้องกัน จัดการกับผลที่ตามมาของภัยพิบัติ การป้องกันอัคคีภัย และการช่วยเหลือทางเทคนิค

เรือนจำรับรองการดำเนินการตามคำพิพากษาและมาตรการของศาล (การกักขังนักโทษที่ต้องรับโทษ ฯลฯ) กิจกรรมขององค์กรเหล่านี้ยังถูกควบคุมโดยกฎหมายพื้นฐาน[84]

นโยบายต่างประเทศ

[แก้]
งานประชุมของกลุ่มวิแชกราด + เยอรมนี และ ฝรั่งเศส ในปี พ.ศ. 2556 สาธารณรัฐเช็ก

นโยบายต่างประเทศของฮังการีตั้งอยู่บนพื้นฐานของพันธะสัญญา 4 ประการ ได้แก่ 1.เพื่อความร่วมมือในมหาสมุทรแอตแลนติก 2.เพื่อการรวมยุโรป 3.เพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ และ 4.เพื่อกฎหมายระหว่างประเทศ เศรษฐกิจของฮังการีค่อนข้างเปิดกว้าง และ การค้าระหว่างประเทศมีความสัมพันธ์อย่างมากกับเศรษฐกิจของประเทศฮังการี

ฮังการีเป็นสมาชิกขององค์การสหประชาชาติตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. 2498 และเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป NATO OECD กลุ่มวิแชกราด องค์การการค้าโลก ธนาคารโลก AIIB และ IMF ฮังการีเข้ารับตำแหน่งประธานคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปเป็นเวลาครึ่งปีในปี พ.ศ. 2554 และครั้งต่อไปจะเป็นปี พ.ศ. 2567 ในปี พ.ศ. 2558 ฮังการีเป็นผู้บริจาคเงินช่วยเหลือเพื่อการพัฒนา OECD Non-DAC รายใหญ่อันดับ 5 ของโลกซึ่งคิดเป็น 0.13% ของรายได้รวมประชาชาติของประเทศฮังการี

บูดาเปสต์เมืองหลวงของฮังการีเป็นที่ตั้งของสถานทูตมากกว่า 100 ชาติ ฮังการีเป็นเจ้าภาพที่ตั้งสำนักงานใหญ่หลักและระดับภูมิภาคขององค์กรระหว่างประเทศหลายแห่งเช่น European Institute of Innovation and Technology, European Police College, สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ, องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ, ศูนย์ระหว่างประเทศเพื่อการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตย, สถาบันการศึกษาระหว่างประเทศ, องค์การแรงงานระหว่างประเทศ, องค์การระหว่างประเทศเพื่อการย้ายถิ่น, กาชาดระหว่างประเทศ, ศูนย์สิ่งแวดล้อมในภูมิภาคสำหรับยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก, คณะกรรมาธิการดานูบ และอื่น ๆ[85]

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 หลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียด และการเปลี่ยนผ่านเป็นประชาธิปไตยของประเทศฮังการี เป้าหมายด้านนโยบายต่างประเทศอันดับต้น ๆ ของฮังการี คือ การรวมเข้าเป็นองค์กรทางเศรษฐกิจและความมั่นคงของตะวันตก ฮังการีเข้าร่วมโครงการ Partnership for Peace ในปี พ.ศ. 2538 และได้สนับสนุนภารกิจ IFOR และ SFOR ในบอสเนีย ประเทศฮังการีหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียดได้ปรับปรุงความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านที่ไม่เป็นมิตร โดยการลงนามในสนธิสัญญาพื้นฐานกับโรมาเนีย สโลวาเกีย และ ยูเครน สิ่งเหล่านี้ละทิ้งการอ้างสิทธิเหนือดินแดนที่หายไปจากสนธิสัญญาทรียานงทั้งหมด และ วางรากฐานสำหรับความสัมพันธ์ที่สร้างสรรค์ อย่างไรก็ตามปัญหาสิทธิของชนกลุ่มน้อยชาวฮังการีในโรมาเนีย สโลวาเกีย และ เซอร์เบีย ทำให้ความตึงเครียดระดับทวิภาคีปะทุขึ้นเป็นระยะ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 ความสัมพันธ์กับยูเครนแย่ลงอย่างรวดเร็วเนื่องจากปัญหาของชนกลุ่มน้อยฮังการีในยูเครน ประเทศฮังการีได้ลงนามในเอกสาร OSCE และดำรงตำแหน่งประธานในสำนักงานของ OSCE ในปี พ.ศ. 2540

เศรษฐกิจ

[แก้]
ประเทศฮังการีเป็นสมาชิกประเทศตลาดร่วมยุโรป และ เขตแชงเก้น

ฮังการีเป็นประเทศเศรษฐกิจผสมที่มีรายได้สูงในสหภาพยุโรป และ กลุ่มประเทศ OECD ซึ่งมีดัชนีการพัฒนามนุษย์และกำลังแรงงานที่มีทักษะสูงมาก ฮังการีมีความไม่เท่าเทียมกันด้านรายได้ต่ำที่สุดเป็นอันดับที่ 16 ของโลก[86] นอกจากนี้ยังเป็นเศรษฐกิจที่ซับซ้อนที่สุดอันดับ 9 ตามดัชนีความซับซ้อนทางเศรษฐกิจ[87] ฮังการีเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 57 ของโลก (จาก 188 ประเทศที่วัดโดย IMF) มีผลผลิตทางเศรษฐกิจ 265.037 พันล้านดอลลาร์ [88] และอยู่ในอันดับที่ 49 ของโลกในแง่ของ GDP ต่อหัววัดโดยความเท่าเทียมกันของกำลังซื้อ ฮังการีเป็นเศรษฐกิจตลาดที่เน้นการส่งออกโดยให้ความสำคัญอย่างมากกับการค้าต่างประเทศ โดยเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจการส่งออกที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 36 ของโลก ประเทศนี้มีการส่งออกมากกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2558 โดยเกินดุลการค้าสูงถึง 9.003 พันล้านดอลลาร์ โดย 79% ส่งออกภายในสหภาพยุโรปและ 21% เป็นการส่งออกนอกสหภาพยุโรป[89] ฮังการีมีเศรษฐกิจที่เป็นของเอกชนมากกว่า 80% โดยมีการเก็บภาษีโดยรวม 39.1% อันเป็นรากฐานสำคัญสำหรับเศรษฐกิจสวัสดิการของประเทศ การบริโภคในครัวเรือนนับเป็นองค์ประกอบหลักของ GDP มีสัดส่วนถึง 50 เปอร์เซ็นต์ของของ GDP การลงทุนของเอกชนอยู่ที่ 22 เปอร์เซ็นต์และรายจ่ายของรัฐบาลที่ 20 เปอร์เซ็นต์[90] ฮังการียังคงเป็นหนึ่งในประเทศชั้นนำในการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก FDI ภายในประเทศอยู่ที่ 119.8 พันล้านดอลลาร์ในปี 2558 ในขณะที่ฮังการีลงทุนในต่างประเทศมากกว่า 50 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2558 คู่ค้าที่สำคัญของฮังการี ได้แก่ เยอรมนี ออสเตรีย โรมาเนีย สโลวาเกีย ฝรั่งเศส อิตาลี โปแลนด์ และ สาธารณรัฐเช็ก

อุตสาหกรรมหลักของประเทศฮังการี ได้แก่ การแปรรูปอาหาร ยายานยนต์ เทคโนโลยีสารสนเทศ เคมีภัณฑ์ โลหะ เครื่องจักร เครื่องใช้ไฟฟ้า และ การท่องเที่ยว (ในปี 2014 ฮังการีต้อนรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ 12.1 ล้านคน) ฮังการีเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ที่สุดในยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก การผลิตและการวิจัยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนนวัตกรรมและการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาฮังการีได้เติบโตขึ้นเป็นศูนย์กลางหลักด้านเทคโนโลยีมือถือ ความปลอดภัยของข้อมูล และ การวิจัยฮาร์ดแวร์ที่เกี่ยวข้อง [91] อัตราการจ้างงานในระบบเศรษฐกิจอยู่ที่ 68.3% ในปี พ.ศ. 2560 ในด้านโครงสร้างการจ้างงาน 63.2% ของแรงงานที่มีงานทำ ทำงานในภาคบริการ ภาคอุตสาหกรรมมีสัดส่วน 29.7% ในขณะที่เกษตรกรรมมีอยู่ 7.1% โดยมีอัตราการว่างงานอยู่ที่ 4.1% ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2560 [92] โดยลดลงจาก 11% ในช่วงวิกฤติสินเชื่อซับไพรม์ ฮังการีเป็นส่วนหนึ่งของตลาดสหภาพยุโรป ซึ่งมีผู้บริโภคมากกว่า 508 ล้านคน นโยบายการค้าภายในประเทศหลายประการถูกกำหนดโดยข้อตกลงระหว่างสมาชิกสหภาพยุโรป และ ตามกฎหมายของสหภาพยุโรป

บริษัทมหาชนในประเทศฮังการี จะอยู่ในตลาดหลักทรัพย์กรุงบูดาเปสต์ หรือ BUX (Budapest Stock Exchange) บริษัทในตลาด BUX อาทิ บริษัท 500 แห่งที่ทำกำไรสูงที่สุด MOL Group OTP Bank, Gedeon Richter Plc., Magyar Telekom, CIG Pannonia, FHB Bank, Zwack Unicum เป็นต้น นอกจากนี้ประเทศฮังการีมีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมจำนวนมาก อาทิ บริษัทซับพลายเออร์ชิ้นส่วนยานยนต์ และ บริษัทสตาร์ทอัพเทคโนโลยีหลายแห่ง

กรุงบูดาเปสต์เป็นศูนย์กลางทางการเงิน และ ศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนา (R&D) ชั้นนำ ของยุโรปกลาง

กรุงบูดาเปสต์เป็นศูนย์กลางทางการเงินและธุรกิจของประเทศฮังการี เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยจัดมีการจัดกรุงบูดาเปสต์เป็นเมืองระดับอัลฟ่าของโลก ในการศึกษาโดยเครือข่ายการวิจัยโลกาภิวัตน์และเมืองโลก เป็นเมืองที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจในเมืองเร็วที่สุดเป็นอันดับสองในยุโรปเนื่องจาก GDP ต่อหัวในเมือง เพิ่มขึ้น 2.4 เปอร์เซ็นต์ และการจ้างงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.7 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าในปี พ.ศ. 2557 ในระดับประเทศบูดาเปสต์เป็นเมืองเอกของฮังการีเกี่ยวกับธุรกิจและเศรษฐกิจคิดเป็น 39% ของรายได้ประชาชาติ เมืองนี้มีผลิตภัณฑ์มวลรวมในเขตเมืองมากกว่า 1 แสนล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ในปี ค.ศ. 2558 ทำให้กรุงบูดาเปสต์เป็นหนึ่งในเศูนย์กลางทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคที่ใหญ่ที่สุดในสหภาพยุโรป บูดาเปสต์ยังเป็นหนึ่งในเมืองที่มี GDP สูงเป็น 100 อันดับแรกของโลกซึ่งวัดโดย PricewaterhouseCoopers และในการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของเมืองทั่วโลกโดย EIU บูดาเปสต์มีขีดการแข่งขันอยู่เหนือ กรุงเทลอาวีฟ กรุงลิสบอน กรุงมอสโกว์ และ กรุงโยฮันเนสเบิร์ก นอกจากนี้อัตราภาษีนิติบุคคลของฮังการีมีเพียง 9% ซึ่งค่อนข้างต่ำสำหรับประเทศในสหภาพยุโรป ทำให้บริษัทมีอัตราการเจริญเติบโตที่สูง

ประเทศฮังการีใช้ค่าเงิน โฟรินต์ฮังการี (HUF) แทนการใช้เงินยูโร (EUR) ถึงแม้ว่าจะมีมูลค่าหนี้สาธารณะต่ำพอที่จะเปลี่ยนค่าเงินได้ แต่ก็ยังถือว่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในสหภาพยุโรป ที่ 73.5% ใน ปี พ.ศ. 2558 ในปัจจุบัน ค่าเงินของประเทศฮังการีมีการควบคุมดูแลโดยธนาคารแห่งชาติประเทศฮังการี (Hungarian National Bank) ตั้งใน พ.ศ. 2467 หลังการล่มสลายของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี โดยมีเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อ 3% ต่อปี

ธนบัตรโฟรินต์ฮังการี

[แก้]

ธนบัตรทุกฉบับ มีขนาด 154 × 70 มิลลิเมตร (ภาพของธนบัตรในตารางนี้คือฉบับเก่าซึ่งมีรูปแบบแตกต่างจากฉบับใหม่เล็กน้อย)

แบบปัจจุปัน
จำนวน ภาพ สีหลัก แบบธนบัตร แบบแรก แบบล่าสุด
ด้านหน้า ด้านหลัง ด้านหน้า ด้านหลัง
500 โฟรินต์ ส้ม และ น้ำตาล เจ้าชายราโกตซี แฟแร็นตส์ที่ 2 (Francis II Rákóczi) ผู้นำกองทัพคุรุตซ์ในการต่อต้านราชวงศ์ฮาพส์บวร์กของจักรวรรดิออสเตรีย ปราสาทชาโรชปอต็อก (Sárospataki vár) แบบปี 1998 แบบปี 2013
1000 โฟรินต์ ฟ้า กษัตริย์แมทเธียส คอร์วินุส (Matthias Corvinus) กษัตริย์ราชวงศ์ฮุนยอดิ ผู้นำประเทศฮังการีเข้าสู่ยุคความรุ่งเรืองทางวัฒนธรรมในยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยา น้ำพุเฮอร์คิวลิส ณ ปราสาทวิแชกราด (Visegrádi vár) แบบปี 1998 แบบปี 2015
2000 โฟรินต์ น้ำตาล กาโบร์ แบ็ตแล็น (Gábor Bethlen) เจ้าชายแห่งแคว้นทรานซิลเวเนีย ผู้ต่อต้านราชวงศ์ฮาพส์บวร์ก ภาพวาดโดยวิคโตร์ มอดอราส (Viktor Madarász) ภาพของกาโบร์ แบ็ตแล็นกับที่ปรึกษาผู้ทรงภูมิ แบบปี 1998 แบบปี 2013
5000 โฟรินต์ เหลือง โกรฟ อิชต์วาน เซแชญี (István Széchenyi) รัฐบุรุษของประเทศฮังการี ในช่วงปฏิรูปประเทศ และ ผู้สร้างสะพานโซ่เซแชญีที่โด่งดังของกรุงบูดาเปสตต์ ได้ชื่อว่า "ชาวฮังการีผู้ยิ่งใหญ่ที่สุด" คฤหาสน์เซแชญี (Széchenyi-kastély) ในเมืองน็อจแซ็งค์ (Nagycenk) แบบปี 1999 แบบปี 2009
10000 โฟรินต์ แดง และ ฟ้า พระเจ้าอิชต์วานที่ 1 แห่งฮังการี (Stephen I) กษัตริย์องค์แรกของฮังการี ผู้เปลี่ยนชาวฮังการีให้นับถือศาสนาคริสต์คาทอลิก แทนลัทธิเพแกนแบบฮังการีโบราณ ทิวทัศน์ของเมืองแอ็สแตร์โกม (Esztergom) แบบปี 1997 แบบปี 2014
20,000 โฟรินต์ เทา และ เหลืองอมแดง แฟแร็นตส์ แดอาค (Ferenc Deák) รัฐบุรุษของประเทศฮังการี ในช่วงปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎรเก่าในเมืองแป็ชต์ (ปัจจุบันคือ กรุงบูดาเปสต์ฝั่งตะวันออก) แบบปี 2001 แบบปี 2015
ตัวเลขทางเศรษฐกิจ
GDP (nominal) 161 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ (2019) [93]
อัตราการเพิ่มขึ้นของ GDP 2.2% (2020 ไตรมาสที่ 1) [94]
GDP ต่อหัว (PPP) 33,979 ดอลลาร์ (2019) [95]
หนี้สาธารณะ 31,157 พันล้านโฟรินต์ฮังการี (พฤษภาคม 2020) [96]
อัตราการเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะ 66.3% (2019) [97]
อัตราเงินเฟ้อ 2.9% (2020. június) [98]
อัตราส่วนการจ้างงานต่อประชากร 59.4% (เมษายน 2020) [99]
อัตราการว่างงาน 4.1% (พฤษภาคม 2020) [100]
ค่าจ้างขั้นต่ำ 161,000 โฟรินต์ฮังการี (2020) [101]
อัตราการเติบโตของค่าจ้าง 7.8% (เมษายน 2020) [102]
อัตราดอกเบี้ย 0.6% (กรกฎาคม 2020) [103]
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 15% (2020) [103]
ภาษีมูลค่าเพิ่ม 27% (2020) [104]
ภาษีเงินได้นิติบุคคล 9% (2020) [103]

เกษตรกรรม

[แก้]
พริกปาปริก้า[105] ซึ่งประเทศฮังการีมีกำลังการผลิตจำนวนมาก และนิยมใส่แกงฮังการีทุกชนิด (ภาพจากเมืองแซแก็ด)

ในประเทศฮังการีมีการกสิกรรมยาวนานหลายศตวรรษ สามารถผลิตผลิตผลทางการเกษตรสำหรับการส่งออกและการบริโภคในประเทศได้ สินค้าทางการเกษตรที่สำคัญ ประกอบด้วย วัวเนื้อ ข้าวสาลี ปาปริก้า และ ไวน์ ตลาดส่วนใหญ่คือยุโรปกลาง และ ยุโรปตะวันออก (เป็นตลาดดั้งเดิมนับตั้งแต่ยุคกลาง) แต่หลังการเปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นประชาธิปไตย ก็มีปริมาณผลผลิตทางการเกษตรที่ลดลง เนื่องจากประเทศโฟกัสที่ภาคการบริการ และ ภาคอุตสาหกรรม มากกว่า

70% ของพื้นที่ประเทศฮังการี มีความเหมาะสมกับการเกษตรกรรม และมีพื้นที่ป่า 22.5% มีดินที่แร่ธาตุสูง มีแสงแดดเกือบตลอดปี (ยกเว้นหน้าหนาวที่มีเมฆมาก) มีแม่น้ำไหลผ่านกลางประเทศ ทำให้ผลิตธัญพืช อาทิ ข้าวสาลี ข้าวบาเลย์ ได้จำนวนมาก และมีผักผลไม้คุณภาพดี[106] การเกษตรคิดเป็น 3.5% ของ GDP และพลเมืองฮังการี 7% ทำงานในภาคเกษตรกรรม ในปี ค.ศ. 2016[107]

การพัฒนาผลิตภัณฑ์

[แก้]

การพัฒนาผลิตภัณฑ์ในประเทศฮังการีได้รับการส่งเสริมอย่างมากจากนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งเน้นการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ และการสนับสนุนอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ได้รับการช่วยเหลือผ่านโครงการของรัฐและการสนับสนุนทางการเงินจากสหภาพยุโรป (EU)[108] โดยโครงการสำคัญเช่น Széchényi 2020 ซึ่งเป็นโครงการที่จัดตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและนวัตกรรมในฮังการีอย่างยั่งยืน[109]

ฮังการีเป็นหนึ่งในศูนย์กลางด้านการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงในยุโรปกลาง โดยมีการลงทุนในด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) อย่างต่อเนื่อง[110] นอกจากนี้ ฮังการียังมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และการเกษตร

หนึ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมที่สำคัญคือการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) และซอฟต์แวร์ ซึ่งบริษัทจากทั่วโลกได้เลือกฮังการีเป็นศูนย์กลางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะด้าน AI และการสร้างซอฟต์แวร์สำหรับการจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data)

อีกทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในด้านการเกษตรก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ฮังการีมีการพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ (AgriTech) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร เช่น การนำระบบอัตโนมัติมาใช้ในกระบวนการเพาะปลูก การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากพืชผลในประเทศเพื่อการส่งออก และการนำเทคโนโลยีชีวภาพมาใช้เพื่อปรับปรุงพันธุ์พืชและสัตว์ในประเทศ[111]

การครอบครองที่ดิน

[แก้]

หลังจากการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบเศรษฐกิจตลาดเสรีในปี ค.ศ. 1989 ฮังการีได้ดำเนินการปฏิรูปที่ดินครั้งใหญ่ โดยในปี ค.ศ. 1994 มีการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปที่ดิน (Act IV of 1994)[112] เพื่อแจกจ่ายที่ดินให้กับเกษตรกรรายย่อยและครัวเรือน นโยบายนี้มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตทางการเกษตรและส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน

การครอบครองที่ดินในประเทศฮังการีถูกควบคุมโดยกฎหมายที่เข้มงวด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับชาวต่างชาติ การถือครองที่ดินในฮังการีมีการแบ่งออกเป็นสองประเภทหลัก คือ ที่ดินสำหรับการเกษตรและที่ดินเพื่อการก่อสร้าง โดยมีกฎเกณฑ์ที่แตกต่างกันไปสำหรับผู้ที่ต้องการถือครองที่ดินในแต่ละประเภท

ตามกฎหมายฮังการี การครอบครองที่ดินเกษตรกรรมโดยชาวต่างชาติถูกจำกัดอย่างเข้มงวด ภายใต้กฎหมายว่าด้วยที่ดินเกษตรกรรม (Act CXXII of 2013) ชาวต่างชาติไม่สามารถซื้อที่ดินเกษตรกรรมได้ ยกเว้นในบางกรณีที่ได้รับอนุมัติจากหน่วยงานรัฐ โดยผู้มีถิ่นพำนักในสหภาพยุโรปบางรายอาจได้รับสิทธิ์ในการถือครองที่ดินเกษตรกรรมตามข้อตกลงในระดับยุโรป[113] กฎหมายการครอบครองที่ดินในฮังการีมีเป้าหมายเพื่อป้องกันการถือครองที่ดินโดยชาวต่างชาติที่ไม่ได้รับการควบคุม และเพื่อปกป้องเกษตรกรรายย่อย โดยกฎหมายระบุว่าที่ดินเกษตรกรรมต้องถูกใช้เพื่อการเกษตรจริง ไม่ใช่เพื่อการลงทุนเชิงพาณิชย์โดยไม่มีการผลิตจริง นอกจากนี้ ยังมีกฎเกณฑ์ที่กำหนดให้ผู้ซื้อที่ดินต้องเป็นผู้ที่มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับการทำเกษตร เช่น เกษตรกรที่มีการผลิตจริง[114]

ชาวต่างชาติสามารถซื้อที่ดินเพื่อการก่อสร้างในฮังการีได้ แต่ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของกฎหมายการถือครองที่ดินของชาวต่างชาติ (Act LXXVI of 2010) และต้องได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานผู้แทนท้องถิ่นในภูมิภาคที่ตั้งของที่ดิน โดยผู้ซื้อที่ดินจำเป็นต้องแสดงแผนการใช้ที่ดินตามที่กฎหมายกำหนด[115]

อุตสาหกรรม

[แก้]
สำนักงานใหญ่ของ MOL ในกรุงบูดาเปสต์

ภาคอุตสาหกรรมหลักของประเทศฮังการีประกอบด้วยอุตสาหกรรมหนัก (เช่น การทำเหมืองแร่ การถลุงโลหะ การผลิตเครื่องจักรและเหล็กกล้า) การผลิตพลังงาน วิศวกรรมเครื่องกล อุตสาหกรรมเคมี อุตสาหกรรมอาหาร และการผลิตรถยนต์ อุตสาหกรรมในประเทศฮังการีเน้นไปที่อุตสาหกรรมแปรรูปเป็นหลัก และในปี พ.ศ. 2551 อุตสาหกรรม (รวมถึงการก่อสร้าง) คิดเป็น 29.32% ของ GDP ของประเทศ[116]

เนื่องจากทรัพยากรพลังงานและวัตถุดิบมีน้อย ฮังการีจำเป็นต้องนำเข้าทรัพยากรเหล่านี้ส่วนใหญ่เพื่อตอบสนองความต้องการในภาคอุตสาหกรรม หลังจากที่เปลี่ยนเป็นเศรษฐกิจตลาดเสรี อุตสาหกรรมได้ผ่านการปรับโครงสร้างและได้รับการพัฒนาให้ทันสมัยอย่างมาก อุตสาหกรรมหลักได้แก่การผลิตเครื่องจักร ตามด้วยอุตสาหกรรมเคมี (เช่น การผลิตพลาสติกและเภสัชกรรม) ในขณะที่การทำเหมืองแร่ การถลุงโลหะ และอุตสาหกรรมสิ่งทอมีความสำคัญลดลงในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา แม้ว่าอุตสาหกรรมอาหารจะมีการลดลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา แต่ยังคงมีสัดส่วนถึง 14% ของการผลิตอุตสาหกรรมทั้งหมดและคิดเป็น 7–8% ของการส่งออกของประเทศ[117]

การบริโภคพลังงานเกือบ 50% ขึ้นอยู่กับการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ ก๊าซและน้ำมันที่ฮังการีใช้นั้นถูกขนส่งผ่านท่อจากประเทศรัสเซีย ซึ่งคิดเป็น 72% ของโครงสร้างพลังงาน ในขณะที่พลังงานนิวเคลียร์ที่ผลิตจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ป็อกช์ (Paks) คิดเป็น 53.6% ของพลังงานทั้งหมดที่ใช้ในประเทศ

ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับต่างประเทศ

[แก้]

ในปี ค.ศ. 2024 ประเทศฮังการีได้ขยายความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีความร่วมมือทางการค้ากับหลายภูมิภาคทั่วโลก ซึ่งครอบคลุมทั้งสหรัฐอเมริกา ยุโรป ตุรกี รัสเซีย จีน เอเชียตะวันออก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ตึกของบริษัท IBM ในเขต Infopark กรุงบูดาเปสต์ ประเทศฮังการี

ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับสหรัฐอเมริกายังคงแข็งแกร่ง โดยฮังการีมีการส่งออกสินค้าหลายประเภท เช่น ยานยนต์ เครื่องจักร และเทคโนโลยีไปยังสหรัฐฯ นอกจากนี้ การลงทุนของบริษัทเทคโนโลยีจากสหรัฐฯ ในฮังการี เช่น IBM และ Microsoft ได้รับการส่งเสริมจากรัฐบาลฮังการี ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพด้านนวัตกรรมของประเทศ[118]

ฮังการีเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป (EU) และการค้าภายในกลุ่ม EU ยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของเศรษฐกิจฮังการี โดยประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เยอรมนี ออสเตรีย และโปแลนด์เป็นคู่ค้าที่สำคัญ ฮังการีได้รับเงินทุนสนับสนุนจาก EU ผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น Szechényi Terv Plusz ซึ่งส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมและโครงสร้างพื้นฐานในประเทศ[119]

ฮังการีมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับตุรกีผ่านการเป็นผู้สังเกตการณ์ใน Organization of Turkic States และการทำงานร่วมกันทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในด้านการก่อสร้าง พลังงาน และการผลิต ฮังการีและตุรกียังได้สร้างความร่วมมือทางการค้าด้วยการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและโครงการพลังงานที่สำคัญ[120]

แม้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียและฮังการีจะได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์ในยูเครนและการคว่ำบาตรจากสหภาพยุโรป แต่ฮังการียังคงพยายามรักษาความร่วมมือในด้านพลังงาน โดยเฉพาะการนำเข้าก๊าซธรรมชาติและน้ำมันจากรัสเซีย ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของโครงสร้างพลังงานของประเทศ[121]

ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับจีนยังคงขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยฮังการีเป็นศูนย์กลางการลงทุนของจีนในยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก ผ่านโครงการ Belt and Road Initiative (BRI) จีนได้ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานหลายแห่งในฮังการี[122] ฮังการีได้ขยายความสัมพันธ์ทางการค้ากับประเทศในเอเชียตะวันออก เช่น ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์และเทคโนโลยี ฮังการีเป็นแหล่งการผลิตรถยนต์ของบริษัทยักษ์ใหญ่ เช่น Suzuki และ Hyundai ซึ่งใช้ประเทศนี้เป็นศูนย์กลางการผลิตเพื่อส่งออกไปทั่วโลก

ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เติบโตขึ้นอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะกับประเทศไทย ซึ่งเป็นคู่ค้าที่สำคัญของฮังการีในภูมิภาคนี้ ฮังการีและประเทศไทยได้ขยายความร่วมมือในด้านการค้าและการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในด้านเกษตรกรรมและอาหาร หนึ่งในตัวอย่างที่สำคัญคือ การลงทุนตั้งโรงงานผลิตภัณฑ์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมาม่าของไทย ณ เมืองแอสแตร์โกม (Esztergom)[123] นอกจากนี้ ฮังการีและประเทศไทยยังได้ร่วมกันส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น การพัฒนานวัตกรรมในภาคพลังงานสะอาดและการเกษตรสมัยใหม่ ซึ่งทั้งสองประเทศได้ประโยชน์จากความร่วมมือนี้เป็นอย่างมาก[124]

ระบบขนส่งสาธารณะ

[แก้]

ระบบการศึกษา

[แก้]
มหาวิทยาลัยเอิตเวิช โลรานด์ หรือ ELTE มหาวิทยาลัยที่ใหญ่ที่สุดในประเทศฮังการี

ในฮังการีโรงเรียนอนุบาลส่วนใหญ่เป็นของเทศบาล แต่โรงเรียนประถมและมัธยมส่วนใหญ่เป็นของรัฐ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2556 แต่ก็ยังมีกลุ่มคริสตจักร กลุ่มชาติพันธุ์ และ เอกชน ที่เป็นเจ้าของโรงเรียนด้วย แม้ว่าการศึกษาสาธารณะของฮังการีจะมีโลกทัศน์ที่เป็นกลาง แต่สถาบันการศึกษาของคริสตจักรมักจะได้รับเงินอุดหนุนหลายครั้งจากรัฐบาล

เด็กฮังการีจะต้องเข้าโรงเรียนอนุบาลตั้งแต่อายุสามขวบ โดยเริ่มโรงเรียนประถมศึกษาในปีที่เขาอายุครบหกขวบ ก่อนวันที่ 1 กันยายนของปีนั้น ๆ โรงเรียนประถมฮังการีมักจะใช้เวลาแปดปี หลังจากนั้นนักเรียนสามารถเข้าเรียนในโรงเรียนมัธยมสายอาชีพ หรือ โรงเรียนมัธยมสายสามัญเพื่อศึกษาต่อได้ โรงเรียนมัธยมสายอาชีพส่วนใหญ่มักจะใช้เวลาเรียน 4 ปี แต่โรงเรียนมัธยมสายสามัญมักจะใช้เวลา 6-8 ปี ซึ่งเด็กสามารถเข้าเรียนต่อในระดับมัธยม เมื่อเรียนจบเกรด 4 หรือ 6 ได้ตามลำดับ แล้วแต่ว่าเรียนต่อสายใด ตั้งแต่ปีการศึกษาที่ 1997/1998 โรงเรียนมัธยมศึกษามักจะเริ่มการสอนตั้งแต่เกรด 5 7 หรือ 9 พระราชบัญญัติการศึกษาสาธารณะกำหนดให้มีการศึกษาภาคบังคับในฮังการี เด็กทุกคนต้องเรียนหนังสือ

หลังจากสอบสำเร็จการศึกษาแล้วนักเรียนสามารถศึกษาต่อในวิทยาลัยหรือมหาวิทยาลัยได้ อาทิ มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์เอิตเวิช โลรานด์ (ELTE), มหาวิทยาลัยแดแบร็ตแซ็น (University of Debrecen), มหาวิทยาลัยแชมแมลไวช์ (Semmelweis University), มหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และวิศวกรรมบูดาเปสต์ (BME), มหาวิทยาลัยคอร์วินุส (Corvinus University) ฯลฯ ด้วยการสอบเข้า และ/หรือ ด้วยคะแนนที่คำนวณจากผลการศึกษา ในปัจจุบันรัฐให้ทุนการศึกษาของรัฐหากนักเรียนตกลงที่จะทำงานในฮังการีเป็นระยะเวลา 20 ปี หลังจากสำเร็จการศึกษาหรือ ชดใช้ค่าใช้จ่ายทั้งหมดของการฝึกอบรมหลังจากนั้น มิฉะนั้นนักเรียนจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมเองเต็มจำนวน ประเทศฮังการีเปลี่ยนมาใช้ระบบการศึกษาแบบโบโลญญาในปี ค.ศ. 2005 ซึ่งมีการแนะนำหลักสูตรปริญญาตรีและหลักสูตรปริญญาโท โดยมี ปริญญาตรี 3 ปี และ ปริญญาโท 2 ปี อันเป็นผลมาจากกระบวนการโบโลญญาหลังจากได้รับปริญญาตรีแล้วนักเรียนอาจศึกษาต่อปริญญาตรีในสาขาอื่น หรือ ศึกษาระดับปริญญาโทต่อ จากการสำรวจของ OECD การศึกษาของฮังการีอยู่ในอันดับที่ 21 ของโลกในแง่ของคุณภาพโดยรวม การใช้จ่ายด้านการศึกษาคิดเป็น 4.85% ของ GDP อัตราส่วนครูต่อนักเรียนคือ 1:11 สัดส่วนของบัณฑิตที่อาศัยอยู่ในประเทศเพิ่มขึ้นสามเท่าระหว่างปี ค.ศ. 1980 ถึง 2010 สัดส่วนของบัณฑิตที่อาศัยอยู่ในฮังการีคือ 19% จากประชากรผู้ใหญ่ ที่มีอายุ 25 ปีขึ้นไป

ในปี ค.ศ. 2020 ตามการเรียงลำดับคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัยในประเทศฮังการีแล้ว[125] มหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในประเทศฮังการี คือ มหาวิทยาลัยเอิตเวิช โลรานด์ (Eötvös Loránd Tudományegyetem, ELTE) ตามมาด้วยอันดับที่ 2 มหาวิทยาลัยแซแก็ด (SZTE), อันดับที่ 3 มหาวิทยาลัยวิศวกรรมและเศรษฐศาสตร์บูดาเปสต์ (BME), อันดับที่ 4 มหาวิทยาลัยคาทอลิกเปแตร์ ปาสมาญ (PPKE), อันดับที่ 5 มหาวิทยาลัยแดแบร็ตแซ็น (DE), อันดับที่ 6 มหาวิทยาลัยแชมเมลไวช์ (SE), อันดับที่ 7 มหาวิทยาลัยเปช, อันดับที่ 8 มหาวิทยาลัยคอร์วินุสบูดาเปสต์ (ฺBCE), อันดับที่ 9 มหาวิทยาลัยพันนอน (PE) และอันดับที่ 10 มีสองมหาวิทยาลัยร่วมกัน คือ มหาวิทยาลัยคริสตจักรปฏิรูปกาโรลิ กาชปาร์ (KRE) และมหาวิทยาลัยการบริการสาธาณะแห่งชาติ (NKE) ตามลำดับ มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งของฮังการีมักจะมีจุดเด่นที่แตกต่างกัน อาทิ มหาวิทยาลัยเอิตเวิช โลรานด์ เน้นวิทยาการคอมพิวเตอร์ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และมนุษยศาสตร์, มหาวิทยาลัยแซแก็ดเน้นการแพทย์และเภสัชกรรม, มหาวิทยาลัยวิศวกรรมและเศรษฐศาสตร์บูดาเปสต์เน้นวิศวกรรมและเศรษฐศาสตร์ เป็นต้น

อันดับ สถาบัน ชื่อย่อ อันดับตามผู้สอน อันดับตามผู้เรียน
1. มหาวิทยาลัยเอิตเวิช โลรานด์

(Eötvös Loránd Tudományegyetem)

ELTE 1. 1.
2. มหาวิทยาลัยแซแก็ด

(Szegedi Tudományegyetem)

SZTE 2. 5.
3. มหาวิทยาลัยวิศวกรรมและเศรษฐศาสตร์บูดาเปสต์

(Budapesti Műszaki és Gazdaságtudományi Egyetem)

BME 7. 2.
4. มหาวิทยาลัยคาทอลิกเปแตร์ ปาสมาญ

(Pázmány Péter Katolikus Egyetem)

PPKE 6. 6.
5. มหาวิทยาลัยแดแบร็ตแซ็น

(Debreceni Egyetem)

DE 4. 9.
6. มหาวิทยาลัยแชมเมลไวช์

(Semmelweis Egyetem)

SE 9. 4.
7. มหาวิทยาลัยเปช

(Pécsi Tudományegyetem)

PTE 4. 10.
8. มหาวิทยาลัยคอร์วินุสบูดาเปสต์

(Budapesti Corvinus Egyetem)

BCE 15. 2.
9. มหาวิทยาลัยพันนอน

(Pannon Egyetem)

PE 3. 16.
10. มหาวิทยาลัยคริสตจักรปฏิรูปกาโรลิ กาชปาร์

(Károli Gáspár Református Egyetem)

KRE 10. 12.
10. มหาวิทยาลัยการบริการสาธาณะแห่งชาติ

(Nemzeti Közszolgálati Egyetem)

NKE 16. 6.

ประชากรศาสตร์

[แก้]
ประชากรฮังการี ระหว่าง ปี พ.ศ. 2503 – 2558 โดยมีปริมาณลดลงอย่างต่อเนื่อง

ในปี พ.ศ. 2562 ประเทศฮังการีมีประชากรจำนวน 9,772,756 คน ความหนาแน่นของประชากรอยู่ที่ 105.1 คน /ตารางกิโลเมตร[126] การเติบโตของประชากรคือ -0.1% สาเหตุหลักที่ทำให้ประชากรลดลง คือ อัตราการเสียชีวิตที่สูง มีผู้เสียชีวิต 12.9 ต่อ 1,000 คน (สถิติปี พ.ศ. 2554)[127] ซึ่งเป็นผลมาจากสุขภาพที่ไม่ดีของประชากรและจำนวนการเกิดต่ำ (อัตราการตายของทารกต่ำ 5 ใน 1000)[128] การย้ายถิ่นฐานตามธรรมชาติ ออกจากประเทศ ประมาณ 35,000-40,000 คน / ปี และมีผู้เข้ามาอาศัยเพิ่ม 10,000-15,000 คนต่อปี อายุขัยเฉลี่ยอยู่ที่ 71.5 ปีสำหรับผู้ชาย และ 79.19 ปีสำหรับผู้หญิง ประชากรฮังการีมีสัดส่วนของคนหนุ่มสาวกำลังลดลงมากขึ้นเรื่อย ๆ และประชากรผู้สูงอายุมากขึ้นเรื่อย ๆ ประชากรอายุ 0-14 ปีคิดเป็น 14.8% ของประเทศ ประชากรอายุ 15-64 ปีคิดเป็น 67.7% และผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปีคิดเป็น 17.5% ของประชากรทั้งประเทศ[129] การใช้จ่ายด้านสุขภาพคิดเป็น 7.75% ของ GDP[130]

ชาติพันธุ์

[แก้]

ประเทศฮังการีมีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวม็อจยอร์ (หรือ ชาวฮังการี) มากกว่า 80% และมากกว่า 90% ของพลเมืองทั้งหมด สื่อสารโดยใช้ภาษาฮังการี ประเทศฮังการียอมรับชนกลุ่มน้อยขนาดใหญ่ 2 กลุ่มซึ่งถูกกำหนดให้เป็น "ชนกลุ่มน้อยแห่งชาติ" เนื่องจากบรรพบุรุษของพวกเขาอาศัยอยู่ในภูมิภาคของตนมานานหลายศตวรรษในพรมแดนฮังการี ประกอบด้วย ชุมชนชาวเยอรมันประมาณ 130,000 คนที่อาศัยอยู่ทั่วประเทศ และ ชนกลุ่มน้อยชาวยิปซีจำนวนประมาณ 300,000 คนซึ่งส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในทางตอนเหนือของประเทศ การศึกษาบางชิ้นระบุว่าชาวยิปซีในฮังการีมีจำนวนมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ (876,000 คน - ประมาณ 9% ของประชากร) จากการสำรวจสำมะโนประชากรปี 2554 ประเทศฮังการี มีชาวฮังการี 8,314,029 (83.7%) ชาวยิปซี 308,957 คน (3.1%) ชาวเยอรมัน 131,951 คน (1.3%) ชาวสโลวัก 29,647 คน (0.3%) ชาวโรมาเนีย 26,345 คน (0.3%) และ ชาวโครเอเชีย 23,561 คน (0.2%) โดยมีอยู่ 1,455,883 คน (14.7% ของประชากรทั้งหมด) ที่ไม่ได้ประกาศชาติพันธุ์ของตน ดังนั้นชาวฮังกาเรียนจึงประกอบด้วยคนมากกว่า 90% ที่ประกาศชาติพันธุ์ของตน ในฮังการีผู้คนสามารถประกาศชาติพันธุ์ได้มากกว่าหนึ่งชาติพันธุ์ดังนั้นจำนวนชาติพันธุ์จึงสูงกว่าจำนวนประชากรทั้งหมด

ปัจจุบันมีชาวฮังการีพลัดถิ่น 5 ล้านคนที่อาศัยอยู่นอกประเทศฮังการี โดยเฉพาะในโรมาเนีย และ สโลวาเกีย เนื่องจากสนธิสัญญาทรียานง ซึ่งแบ่งแยกประเทศฮังการีหลังสงครามโลกครั้งที่ 1

ภาษา

[แก้]
ภูมิภาคยุโรปกลางและยุโรปตะวันออกที่มีผู้พูดภาษาฮังการีอาศัยอยู่ในปัจจุบัน

ภาษาฮังการี เป็นภาษาทางการและเป็นภาษาพูดหลักของประชากร ภาษาฮังการีเป็นภาษาแม่ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายเป็นอันดับที่ 13 ของยุโรป โดยมีเจ้าของภาษาประมาณ 13 ล้านคน และเป็นหนึ่งใน 24 ภาษาทางการและภาษาทำงานของสหภาพยุโรป[131] นอกประเทศฮังการี มีการใช้ภาษานี้ในประเทศเพื่อนบ้านและชุมชนชาวฮังการีพลัดถิ่นทั่วโลก จากการสำรวจสำมะโนประชากรปี ค.ศ. 2011 มีประชากร 9,896,333 คน (99.6%) พูดภาษาฮังการีในประเทศโดย 9,827,875 คน (99%) พูดเป็นภาษาแม่ ในขณะที่ประชากร 68,458 คน (0.7%) พูดเป็นภาษาที่สอง[4] ผู้พูดภาษาอังกฤษ 1,589,180 คน (คิดเป็น 16.0%) และผู้พูดภาษาเยอรมัน 1,111,997 คน (คิดเป็น 11.2%) ทั้งสองภาษาเป็นภาษาต่างประเทศที่พูดกันแพร่หลายมากที่สุด และมีผู้พูดภาษาชนกลุ่มน้อยหลายภาษาในฮังการี (ภาษาอาร์มีเนีย, ภาษาบัลแกเรีย, ภาษาโครเอเชีย, ภาษาเยอรมัน, ภาษากรีก, ภาษาโรมาเนีย, ภาษาโรมานี, ภาษารูซึน, ภาษาเซอร์เบีย, ภาษาสโลวัก, ภาษาสโลวีเนีย, และภาษายูเครน)[132]

ภาษาฮังการีเป็นสมาชิกของตระกูลภาษายูรัล ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับภาษาใกล้เคียงใด ๆ และมีความเกี่ยวข้องอย่างห่าง ๆ กับภาษาฟินแลนด์ และภาษาเอสโตเนีย โดยภาษาฮังการีมีจำนวนผู้พูดมากที่สุดในตระกูลภาษาและเป็นภาษาเดียวที่พูดในยุโรปกลาง มีประชากรจำนวนมากที่พูดภาษาฮังการีในโรมาเนีย สาธารณรัฐเช็ก สโลวาเกีย อดีตยูโกสลาเวีย ยูเครน อิสราเอล และสหรัฐ ยังมีกลุ่มผู้พูดภาษาฮังการีกลุ่มเล็ก ๆ อาศัยอยู่ในแคนาดา สโลวีเนีย และออสเตรีย รวมถึงในออสเตรเลีย บราซิล อาร์เจนตินา เม็กซิโก เวเนซุเอลา และชิลี ภาษาฮังการีมาตรฐานยึดภาษาถิ่นบูดาเปสต์เป็นหลัก แม้ว่าจะมีการบังคับใช้ภาษาถิ่นมาตรฐาน แต่ภาษาฮังการีก็มีภาษาถิ่นในเมือง และในชนบทหลายแห่ง

ศาสนา

[แก้]
มหาวิหารแอสแตร์โกม (Esztergomi bazilika) โบสถ์คาทอลิกประจำเมืองแอสแตร์โกม (Esztergom)

ในอดีต ศาสนาในฮังการีคือศาสนาคริสต์ตั้งแต่การก่อตั้งรัฐและการเปลี่ยนประเทศจากศาสนาฮังการีโบราณ มาเป็นศาสนาคริสต์โดยพระเจ้าอิชต์วานที่ 1 ในศตวรรษที่ 11 ฮังการี ณ ปัจจุบันไม่มีศาสนาประจำชาติ แต่รัฐธรรมนูญฮังการียอมรับบทบาทการสร้างชาติของศาสนาคริสต์ และรับประกันเสรีภาพในการนับถือศาสนา ให้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน[133]

จากการสำรวจตัวอย่าง 2% สัมภาษณ์ชาวฮังการี 1,027 คน ใน ค.ศ. 2019 โดย Eurobarometer: 62% ของชาวฮังการีเป็นคาทอลิก, 20% ไม่มีศาสนา 5%, เป็นโปรเตสแตนท์, 8% เป็นคริสเตียนนิกายอื่น, 1% เป็นชาวยิว, 2 % เป็นอย่างอื่น และ 2% ไม่บอก

เขตเมือง

[แก้]






กรุงบูดาเปสต์

อันดับ ชื่อเมือง เทศมลฑล ประชากร (พ.ศ. 2562) อันดับ ชื่อเมือง เทศมลฑล ประชากร (พ.ศ. 2562)





แดแบร็ตแซ็น

1. บูดาเปสต์

Budapest

บูดาเปสต์ 1 752 286 11. โซลโนก

Szolnok

ยาส-น็อจกุน-โซลโนก 71 285
2. แดแบร็ตแซ็น

Debrecen

ฮ็อยดู-บิฮอร์ 201 432 12. เอรด์

Érd

แป็ชต์ 68 211
3. แซแก็ด

Szeged

โชงกราด 160 766 13. ตอตอบาญอTatabánya โกมาโรม-แอ็สแตร์โกม 65 845
4. มิชโกลส์

Miskolc

โบร์โชด-ออบออูย-แซ็มเปลน 154 521 14. โชโปรน

Sopron

เยอร์-โมโชน-โชโปรน 62 671
5. เปช

Pécs

บอรอญอ 142 873 15. กอโปสวาร์

Kaposvár

โซโมจ 61 441
6. เยอร์

Győr

เยอร์-โมโชน-โชโปรน 132 038 16. แว็สเปรม

Veszprém

แว็สเปรม 59 738
7. ญีแร็จฮาซอ

Nyíregyháza

ซอโบลช์-ซ็อดมาร์-แบแร็ก 116 799 17. เบเกชชอบอ

Békéscsaba

เบเกช 58 996
8. แก็ชแกเมต

Kecskemét

บาช-กิชกุน 110 687 18. ซอลอแอแกร์แซ็ก

Zalaegerszeg

ซอลอ 57 403
9. เซแก็ชแฟเฮร์วาร์

Székesfehérvár

แฟเยร์ 96 940 19. แอแกร์

Eger

แฮแว็ช 52 898
10. โซมบ็อตแฮย์

Szombathely

ว็อช 78 407 20. น็อจคอนิจอ

Nagykanizsa

ซอลอ 46 649

วัฒนธรรม

[แก้]

วิทยาศาสตร์

[แก้]

สถาบันวิทยาศาสตร์ฮังการี (Magyar Tudományos Akadémia (ตัวย่อ: MTA)) ก่อตั้งขึ้นในวันที่ 3 พฤศจิกายน ค.ศ. 1825 ณ เมืองโปโจญ (Pozsony เมืองหลวงของราชอาณาจักรฮังการีในยุคนั้น ปัจจุบันเมืองโปโจญคือกรุงบราติสลาวา เมืองหลวงของประเทศสโลวาเกีย) เป็นหนึ่งในสถาบันที่ตั้งขึ้นในยุคปฏิรูปของประเทศฮังการี (Magyar reformkor) โดยโกรฟ อิชต์วาน เซแชนยี (Széchenyi István) รัฐบุรุษฮังการี ได้ให้รายได้ทั้งหมดที่เขาได้รับในหนึ่งปี ในการก่อตั้งสมาพันธ์นักวิทยาศาสตร์ฮังการี (ซึ่งต่อมากลายเป็น MTA) ขึ้นในปีนั้น (Magyar Tudós Társaság) พร้อมกับได้รับเงินช่วยเหลือจากขุนนางคนอื่น ๆ ด้วย [134] จวบจนถึงทุกวันนี้ MTA เป็นหน่วยงานทางวิทยาศาสตร์ของรัฐฮังการีอันมีหน้าที่หลักในการปลูกฝังความคิดทางวิทยาศาสตร์ เผยแพร่ผลงานวิทยาศาสตร์ และเป็นตัวแทนนักวิทยาศาสตร์ฮังการี โดยมีภารกิจสำคัญในการสนับสนุนเงินทุนและความช่วยเหลือในการวิจัยทางวิทยาศาสตร์

อัลแบรต์ เซนท์-จเยอร์จยี นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลชาวฮังการีผู้ค้นพบวิตามินซี

รายชื่อนักวิทยาศาสตร์และกวีชาวฮังการีผู้ได้รับรางวัลโนเบล (เรียงจากล่าสุดไปเก่าที่สุด):[135]

ชื่อ ค.ศ. ที่ได้รับรางวัล งานวิจัย ประเภทรางวัล
อิมแร แกร์เตส

Kertész Imre

2002 งานประพันธ์ วรรณกรรม
จเยอร์จ โอลาฮ์

Oláh György

1994 คาร์โบเคชั่น เคมี
ยาโนช ฮอร์ชาญิ

Harsányi János

1994 ทฤษฎีเกม เศรษฐศาสตร์
เดนนิส กาบอร์

Gábor Dénes

1971 การคิดค้นภาพโฮโลแกรม ฟิสิกส์
แยเนอ วิกแนร์

Wigner Jenő

1963 ทฤษฎีนิวเคลียสและอนุภาคมูลฐาน ฟิสิกส์
เบเกชี จเยอร์จ

Békésy György

1961 การศึกษากลไกทางกายภาพของการกระตุ้นหูชั้นใน การแพทย์
จเยอร์จ แฮแวชี

Hevesy György

1943 การใช้ไอโซโทปกัมมันตภาพรังสีในการศึกษากระบวนการทางเคมีต่าง ๆ เช่น การเมทาบอลิซึมในสัตว์ เคมี
อัลแบรต์ เซนท์-จเยอร์จยี

Szent-Györgyi Albert

1937 การค้นพบวิตามินซีและวิตามินพี การแพทย์
ริชาร์ด จิกโมนดี

Zsigmondy Richárd

1925 การศึกษาลักษณะที่แตกต่างกันของสารละลายและวิธีการคอลลอยด์ที่จำเป็นในเคมีคอลลอยด์สมัยใหม่ เคมี
โรแบร์ต บาราญ

Bárány Róbert

1914 คุณสมบัติระบบการทรงตัวในหูมนุษย์ การแพทย์
ฟึเลิป เลนาร์ด

Lénárd Fülöp

1905 การวิจัยเรื่องคุณสมบัติของรังสีแคโทด ฟิสิกส์

ศิลปะ

[แก้]
เสื้อคลุมพิธีราชาภิเษกของกษัตริย์สตีเฟนที่ 1 แห่งฮังการี

ศิลปะในประเทศฮังการีมีพัฒนาการที่ลุ่มลึกและยาวนานตั้งแต่การพิชิตฮังการีของชาวฮังการีในศตวรรษที่ 9 ในช่วงยุคกลาง ศิลปะมีการผสมผสานระหว่างอิทธิพลจากศิลปะยุโรปตะวันตก เช่น สไตล์โรมาเนสก์ และ กอทิก ซึ่งเห็นได้จากโบสถ์และสถาปัตยกรรมในหมู่บ้านต่าง ๆ เช่น โบสถ์แชมแปสโกปาช (Csempeszkopács) และ โบสถ์น็อจย์โตตล็อก (Nagytótlak) งานฝีมือในยุคแรก ๆ ของฮังการีมักตกแต่งด้วยลายปาล์มเมตต์ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์สำคัญของศิลปะฮังการีในยุคนั้น

ในช่วงศตวรรษที่ 14 ศิลปะโกธิกได้แผ่ขยายเข้ามาในฮังการี โดยปรากฏเด่นชัดในโบสถ์และงานประติมากรรม เช่น โบสถ์ Saint Elizabeth ที่เมืองโคชิทเซ Košice (Kassa) ปัจจุบันอยู่ในประเทศสโลวาเกีย นอกจากนี้ยังมีประติมากรรมหินของนักบุญจอร์จที่โดดเด่นอย่างมากในยุคนี้ ผลงานเหล่านี้เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของศิลปะโกธิกในฮังการี

ในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา (Renaissance) กษัตริย์มัทธีอัส คอร์วินุส (Matthias Corvinus) มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอิตาลี ส่งผลให้ศิลปะและสถาปัตยกรรมได้รับอิทธิพลจากศิลปะอิตาลีอย่างมาก ปราสาทบูดอ และ ปราสาทวิเชกราด (Visegrad) ถูกสร้างขึ้นใหม่ในสไตล์เรอเนสซองส์ รวมทั้งยังมีการสร้างห้องสมุดขนาดใหญ่ที่สุดในยุโรปช่วงเวลานั้น ซึ่งเรียกว่า "Bibliotheca Corvina" หลังจากการรุกรานของจักรวรรดิออตโตมันในศตวรรษที่ 16 ศิลปะในฮังการีได้รับการฟื้นฟูในสมัยบาโรก โดยการสร้างโบสถ์และวังใหม่ในสไตล์นี้ เช่น วัง Fertőd และโบสถ์ต่าง ๆ ในเมืองแซแก็ด (Szeged) และ แอแกร์ (Eger) สิ่งก่อสร้างเหล่านี้สะท้อนถึงความรุ่งเรืองของศิลปะบาโรกที่ผสมผสานกับเอกลักษณ์เฉพาะของฮังการี

ในช่วงหลังจากยุคบาโรก ศิลปะในฮังการียังคงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยในยุคนีโอคลาสสิก (Neo-classicism) สถาปัตยกรรมได้รับอิทธิพลจากสไตล์กรีกโบราณ ซึ่งเห็นได้จากการสร้างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติฮังการี (Hungarian National Museum) ในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 และต้นศตวรรษที่ 19 ต่อมาในช่วงยุคอาร์ตนูโว (Art Nouveau) ในยุโรป มีสถาปนิกชื่อดังอย่าง เออเดิน แลคแนร์ (Ödön Lechner) ที่ออกแบบอาคารสำคัญหลายแห่ง เช่น พิพิธภัณฑ์ธรณีวิทยาในกรุงบูดาเปสต์

พิพิธภัณฑ์ธรณีวิทยา บูดาเปสต์ ออกแบบโดย เออเดิน แลคแนร์
ผลงานชื่อ "ความอิจฉา" โดย ลาสโล่ โมโฮย-น็อจย์ ค.ศ. 1927 ณ พิพิธภัณฑ์จอร์จ อีสแมน (George Eastman museum) นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา

เมื่อเข้าสู่ศตวรรษที่ 20 ศิลปะฮังการีเริ่มเข้ากับกระแสศิลปะสมัยใหม่ เช่น ผลงานของลาสโล่ โมโฮย-น็อจย์ (László Moholy-Nagy) ที่มีส่วนร่วมในการก่อตั้งกลุ่มศิลปะ Bauhaus และกลายเป็นผู้นำในการพัฒนาศิลปะร่วมสมัยทั่วโลก ศิลปินในยุคนี้เน้นการใช้เทคโนโลยีและสื่อใหม่ ๆ เพื่อสร้างผลงานนวัตกรรมที่มีความทันสมัย

ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ฮังการีอยู่ภายใต้การปกครองของระบอบคอมมิวนิสต์ ซึ่งมีการควบคุมด้านศิลปะโดยเน้นการใช้ศิลปะแนวเหมือนจริง (Socialist Realism) เป็นเครื่องมือในการส่งเสริมอุดมการณ์ทางการเมืองของรัฐ อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ฮังการีได้รับอิสรภาพในปี ค.ศ. 1989 ศิลปินจึงสามารถแสดงออกได้อย่างอิสระมากขึ้น และมีการกลับไปสู่รูปแบบศิลปะที่หลากหลาย

ในศตวรรษที่ 21 ฮังการียังคงเป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรมในยุโรปตะวันออกกลาง โดยมีศิลปินร่วมสมัยที่สร้างสรรค์ผลงานในหลากหลายสื่อ ตั้งแต่งานภาพวาด สถาปัตยกรรม จนถึงงานศิลปะดิจิทัลและงานจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ระดับนานาชาติ บูดาเปสต์ยังคงเป็นเมืองสำคัญที่มีการจัดนิทรรศการศิลปะร่วมสมัยอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีงานศิลปะสาธารณะที่โดดเด่นอีกด้วย

สถาปัตยกรรม

[แก้]
อาคารรัฐสภาฮังการี อาคารรัฐสภาซึ่งได้ชื่อว่างดงามที่สุดในโลก

ประเทศฮังการีเป็นที่ตั้งของโบสถ์ยิวที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป ซึ่งสร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1859 ในสไตล์มูริชรีไววอล ซึ่งจุคนได้ถึง 3,000 คน รวมถึงเป็นที่ตั้งของโรงอาบน้ำสปายาที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป (โรงอาบน้ำเซแชญี) สร้างเสร็จในปี 1913 ในสไตล์โมเดิร์นเรเนซองส์ และตั้งอยู่ในสวนสาธารณะในเมืองบูดาเปสต์ ส่วนอาคารที่ใหญ่ที่สุดในฮังการีมีความยาว 268 เมตร ซึ่งก็คืออาคารรัฐสภาฮังการี (Országház) และประเทศฮังการียังเป็นที่ตั้งของมหาวิหารแอสแตร์โกม หนึ่งในมหาวิหารที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป (Esztergomi Bazilika) และอารามศาสนาคริสต์ซึ่งมีขนาดอาณาเขตที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก ชื่อว่า อารามปอนโนนฮอลมอ (Pannonhalma Archabbey) และสุสานคริสเตียนยุคแรกที่ใหญ่ที่สุดนอกประเทศอิตาลี ณ เมืองเปช (Pécs) ทางตอนใต้ของประเทศฮังการี

อารามปอนโนนฮอลมอ ณ เมืองปอนโนนฮอลมอ เป็นอารามศาสนาคริสต์ที่ใหญ่ที่สุดอันดับที่สองของโลก

รูปแบบสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นในฮังการี ประกอบด้วยสถาปัตยกรรมรูปแบบฮิสตอริซิสม์ (Historicism) และสถาปัตยกรรมแบบอาร์ตนูโว (Art Nouveau) อาร์ตนูโวของฮังการีมีพื้นฐานมาจากลักษณะสถาปัตยกรรมประจำชาติ มีต้นกำเนิดจากทางตะวันออกที่ชาวฮังการีอพยพมาเมื่อ 1 พันปีก่อน เออเดิน แลคแนร์ (Ödön Lechner (1845–1914)) ศิลปินที่สำคัญที่สุดในศิลปะแบบอาร์ตนูโวของฮังการี โดยเริ่มแรกเขาได้รับแรงบันดาลใจจากสถาปัตยกรรมอินเดียและซีเรีย และต่อมาจากการออกแบบตกแต่งแบบฮังการีดั้งเดิม ด้วยวิธีนี้เขาสร้างการสังเคราะห์รูปแบบสถาปัตยกรรมดั้งเดิม ด้วยการนำองค์ประกอบเหล่านี้ไปใช้กับองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมสามมิติ เขาได้ผลิตอาคารรูปแบบศิลปะอาร์ตนูโวที่มีลักษณะเฉพาะตัวแบบฮังการี กลุ่ม "คนรุ่นใหม่" (Fiatalok) ซึ่งมีสถาปนิกรุ่นใหม่จำนวนหนึ่งที่มีชื่อเสียง อาทิ กาโรย โกช (Károly Kós) และ แดเจอ ซรุมแมชกี (Dezsö Zrumeczky) ได้ใช้โครงสร้างลักษณะและรูปแบบของสถาปัตยกรรมฮังการีแบบดั้งเดิม เพื่อการสร้างสถาปัตยกรรมขึ้นในยุคต่อมา (ศตวรรษที่ 20)

พิพิธภัณฑ์ศิลปะประยุกต์อาคารสไตล์อาร์ตนูโวออกแบบโดย เออเดิน แลคแนร์ (Ödön Lechner)

นอกจากสองรูปแบบหลักแล้ว กรุงบูดาเปสต์เมืองหลวงของประเทศฮังการี มีสถาปัตยกรรมจำนวนมากที่มีต้นกำเนิดจากประเทศในยุโรปอื่น ๆ เซเซชชัน (Sezession) จากกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ยุงเงนสติล (Jugendstil) แบบเยอรมนี อาร์ตนูโวจากเบลเยียมและฝรั่งเศส ร่วมกับอิทธิพลของสถาปัตยกรรมอังกฤษและฟินแลนด์ อิทธิพลทางศิลปะนี้สะท้อนให้เห็นในอาคารที่สร้างขึ้นในช่วงเปลี่ยนศตวรรษที่ 20 โดยเริ่มแรก เบลอ ลอยตอ (Béla Lajta) นำสไตล์ของ Lechner มาใช้ ต่อมาได้รับแรงบันดาลใจจากเทรนด์สถาปัตยกรรมแบบอังกฤษและฟินแลนด์ หลังจากพัฒนาความสนใจในสไตล์อียิปต์ในที่สุดเขาก็มาถึงสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ ออลอดาร์ อาร์กอย (Aladár Árkay) ใช้เส้นทางเกือบเดียวกัน อิชต์วาน แมดจยอซอย (István Medgyaszay) ได้พัฒนาสไตล์ของตัวเองซึ่งแตกต่างจาก Lechner โดยใช้ลวดลายแบบดั้งเดิมที่มีสไตล์เพื่อสร้างการออกแบบตกแต่งในคอนกรีต ในแวดวงศิลปะประยุกต์ผู้ที่รับผิดชอบส่วนใหญ่ในการส่งเสริมการแพร่กระจายของอาร์ตนูโวคือ โรงเรียนและพิพิธภัณฑ์มัณฑนศิลป์ ซึ่งเปิดในปี ค.ศ. 1896

อาคารต่าง ๆ ในย่านใจกลางเมืองบูดาเปสต์เกือบทั้งหมดมีอายุมากกว่าหนึ่งร้อยปี มีกำแพงหนาเพดานสูงและลวดลายที่ผนังด้านหน้า และมีความซับซ้อนทางสถาปัตยกรรม

เพลง

[แก้]

ดนตรีพื้นบ้านของชาวม็อจยอร์ (Magyar Népzene) มีรากฐานมากจากตะวันออก เรารู้จักท่วงทำนองเพลงประมาณสองร้อยเพลงที่ย้อนไปถึงช่วงเวลาที่คนฮังการีอพยพมายังทวีปยุโรป เพลงพื้นบ้านแพร่กระจายโดยการบอกต่อ ๆ กันมานานหลายศตวรรษ โดยเริ่มมีการรวบรวมในช่วงปลายทศวรรษ 1800 เพื่อจดบันทึกเพลงเหล่านั้น

นักประพันธ์เพลงยอดเยี่ยมของฮังการี คือ เบลอ บอร์โตก (Bartók Béla) และ โกดาย โซลตาน (Kodály Zoltán) ซึ่งมีท่วงทำนองเกือบหนึ่งหมื่นเพลง (1933) ได้รับการเสริมแต่งเพิ่มเติมโดยนักวิจัยเพลงพื้นบ้าน เสียงอันเป็นเอกลักษณ์ของสมบัติอันไพเราะขอเพลงฮังการีทำให้เสียงนี้แตกต่างจากดนตรีของชาวยุโรปอื่นๆ

รูปแบบดนตรีเต้นรำของฮังการีที่เกิดขึ้นในช่วงที่สามของศตวรรษที่ 18 คือ Verbunkos ดนตรีบรรเลงพร้อมเสียงพิเศษ โดดเด่นด้วยการสลับท่อนช้าและเร็ว Verbunkos ต่อมาก็สไตล์เพลงนี้เข้าสู่ดนตรีคลาสสิกของฮังการีเช่นกัน

Verbunkos ถูกใช้ในการสร้างโอเปร่าฮังการี (ดูโอเปร่าของ Erkel Ferenc) Verbunkos ปรากฏในเนื้อหาดนตรีของงานไพเราะไม่เพียง แต่ที่บ้าน แต่ยังในต่างประเทศในเพลงของนักแต่งเพลงคนอื่น (เช่น Hungarian Dance No.5 ของโยฮันเนส บรามส์)

ในบรรดานักประพันธ์เพลงและนักดนตรีชาวฮังการี มีนักดนตรี 4 คนหลัก ๆ ที่มีผลงานไปไกลทั่วโลก ไกลเกินขอบเขตของฮังการี:

ภาพ Erkel Ferenc ผู้แต่งโอเปร่า Bánk Bán, Hunyadi László และทำนองเพลงชาติฮังการี Himnusz วาดโดย Barabás Miklós ในปี ค.ศ. 1845

แฟแร็นซ์ แอร์แคล (Erkel Ferenc 1810-1893) เป็นนักแต่งเพลงและวาทยากร ผู้จัดงานดนตรีชีวิตฮังการี การสร้างสรรค์งานอุปรากรของชาติถือเป็นบุญคุณอันโดดเด่น เขาดึงธีมของโอเปร่าของเขา Hunyadi László และ Bánk bán จากเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ฮังการี และเป็นผู้แต่งเพลง Himnusz เพลงชาติของฮังการี

Liszt Ferenc หรือ ฟรานซ์ ลิสต์ นักแต่งเพลงชื่อดังของฮังการี

แฟแร็นซ์ ลิสต์ (Liszt Ferenc 1811-1886) เป็นนักแต่งเพลงโรแมนติกผู้ยิ่งใหญ่แห่งศตวรรษที่ 19 นักเปียโนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล ต้นกำเนิดของครอบครัวฮังการียังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ แต่ลิสต์เองเป็นคนฮังการีมาตลอดชีวิตทั้งการพูดและการเขียน เขาได้แต่งบทเพลงสำหรับเล่นเปียโน บทกวีไพเราะ และผลงานที่แต่งขึ้นสำหรับเครื่องออร์แกนของเขาเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก เช่น ฮังกาเรียนแร็ปโซดีส์ (Magyar rapszódiák) และ เพลงมิซาพิธีราชาภิเษก (Koronázási mise)

เบลอ บอร์โตก (Bartók Béla 1881-1945) เป็นนักแต่งเพลง นักเปียโน และนักวิจัยดนตรีพื้นบ้าน งานของเขาในฐานะนักแต่งเพลงได้ฟื้นฟูดนตรีแห่งศตวรรษที่ 20 ผลงานของเขามีอยู่ในวงออเคสตราสำคัญๆ ทั่วโลก เช่นเดียวกับละครเพลงของเขาเรื่อง ปราสาทของเจ้าชายเคราน้ำเงิน (The Castle of the Bluebeard: A kékszkállú herceg vára) และ การเต้นของเจ้าชายไม้ (The Dance of the Wood-Carved Prince: A fából faragott királyfi című táncjátéka) บนเวทีของโรงอุปรากร

โซลตาน กอดาย (Kodály Zoltán 1882-1967) เป็นนักแต่งเพลงและนักวิจัยด้านดนตรีพื้นบ้าน นอกเหนือจากงานเปียโนและงานดนตรีของเขา (เช่น Psalmus Hungaricus - แปล: สดุดีฮังการี) การเล่นเพลงของเขา (Háry János) วิธีการของเขาในการฟื้นฟูการศึกษาด้านดนตรีตั้งแต่รากเหง้ามีความสำคัญ ซึ่งปัจจุบันเรียกและใช้ทั่วโลกในฐานะ "วิธีของ Kodály".

การนำเสนอดนตรีและบทเพลงฮังการีจะไม่สมบูรณ์หากไม่กล่าวถึงโอเปร่า (นักร้อง การเต้นแสดงตลก) และนักแต่งเพลงโอเปร่าชื่อดังระดับโลกสองคน แฟแร็นซ์ แลฮาร์ (Lehár Ferenc 1870-1948) และ อิมแร คาลมาน (Kálmán Imre 1882-1953)

วรรณกรรม

[แก้]

วรรณกรรมโบราณ (ก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 10)

[แก้]
ภาพการล่ากวางมหัศจรรย์โดยมอโกร์และฮุนโนร์ เขียนใน Képes Krónika ในปี ค.ศ. 1358 โดยผู้เขียนไม่ทราบชื่อ (Anonymus)

ชาวฮังการีมีอักษรเขียนก่อนการพิชิตที่ราบพันโนเนีย (การเขียนอักษรรูน: rovásírás) แต่แทบไม่ได้ใช้ในการบันทึกข้อความยาว ๆ รูปแบบของวรรณคดีในเวลานั้นเป็นแบบปากเปล่า และงานกวี (โคลงสั้น: lírikus) และการเล่าเรื่อง (มหากาพย์: epikus) ทำให้กวีนิพนธ์โบราณที่เป็นลายลักษณ์อักษรของฮังการีนั้นไม่เหลืออยู่เลย

เรื่องราวของการอพยพหลายศตวรรษและการเผชิญหน้าของชาวม็อจยอร์กับชนชาติอื่นสามารถพบได้ในนวนิยายและตำนานฮังการี ช่วงเวลาแห่งชัยชนะและศาสนาคริสต์ในยุคแรกนั้นถูกเล่าขานโดยศิลปินในยุคต่อมา (เช่น Anonymus: Gesta Hungarorum ต้นทศวรรษ 1200; ใน Krónika, ค.ศ. 1358)

ตามตำนานกวางมหัศจรรย์ (Csodaszarvas) ที่เขียนโดย ชิโมน เกซอย (Kézai Simon)i เกี่ยวกับต้นกำเนิดของชาวฮังการี มีกวางมหัศจรรย์ตัวหนึ่ง สีขาวสวยงาม มันล่อใจลูกชายสองคนของหัวหน้าเผ่าเมนโร่ ยักษ์ในตำนาน ลูกชายทั้งสองชื่อว่า ฮุโนร์ และ มอโกร์ พวกชายหนุ่มตามกวางตัวนั้นเป็นเวลาหลายวัน จนกระทั่งมันพาพวกเขาเข้าไปในที่ลุ่ม และที่นั่นกวางตัวนั้นก็หายไปจากสายตาของพวกเขา ชายหนุ่มสองคนพบทะเลสาบ ธิดาที่สวยงามสองคนของกษัตริย์ดูลกำลังอาบน้ำอยู่ในทะเลสาบนั้น ฮุโนร์ตกหลุมรักผู้หญิงคนหนึ่ง ส่วนมอโกร์กลับตกหลุมรักอีกคนหนึ่ง ชนชาติฮันเป็นลูกหลานของฮุโนร์ และ ชนชาติม็อจยอร์ (ฮังการี) เป็นลูกหลานของมอโกร์ ซึ่งทั้งสองชนชาติก็มุ่งหน้าสู่ตะวันตก แรกเริ่มโดยชาวฮัน และ ต่อมาโดยชาวฮังการี

วรรณกรรมยุคกลาง (ศตวรรษที่ 10–15)

[แก้]
ประโยคแรกที่มีการเขียนภาษาฮังการีลงไปเป็นภาษาละติน จากเศษชิ้นส่วนที่เรียกว่า Tihanyi Apátság Alapítólevele

ในช่วงเวลานี้งานเขียนจะเป็นภาษาละติน การตัดสินของพระเจ้าอิชติวานที่ 1 ในการยอมรับศาสนาคริสต์ และการยอมรับการรู้หนังสือในภาษาละตินมีความสำคัญอย่างยิ่ง ที่ทำให้ชาวฮังการีกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมที่รวมกันเป็นหนึ่งเดียวของยุโรปยุคกลาง ในยุคนี้การรู้หนังสือแพร่กระจายช้ามาก น้อยคนที่จะรู้วิธีเขียน มีเฉพาะนักบวชชั้นสูงและมีการศึกษาเท่านั้นที่เข้าใจการอ่านเขียนภาษาละติน codices ถูกเขียนด้วยมือ ประดับด้วยรูปภาพขนาดเล็ก (miniatures) ที่ประดิษฐ์ขึ้นอย่างพิถีพิถันและชื่อย่อที่หรูหรา (initials) ที่ประกอบขึ้นเป็นรูปภาพ วรรณกรรมของยุคกลางตอนต้นมีสีสันหลากหลาย ตำนานเป็นประเภทงานเขียนที่โดดเด่น ตำนานบอกเล่าเรื่องราวชีวิตและการกระทำอันอัศจรรย์ของนักบุญ และเรื่องราวเหล่านี้เป็นอุปมาด้านศีลธรรมสำหรับผู้อ่าน ที่รู้จักกันดีที่สุดคือ ตำนานนักบุญอิชต์วาน นักบุญแกลเลิร์ต นักบุญลาสโล่ และ นักบุญมอร์กิต

วรรณกรรมยุคเรเนซ็องส์ (ศตวรรษที่ 15–17)

[แก้]
รูปปั้นของยานุส พันโนนิอัส

Janus Pannonius (1434-1472) ยานุส พันโนนิอัส ชื่อเดิมของเขาคือ ยาโนช แชสมิตแซย (Csezmicei János) บิชอปแห่งเมืองเปช และนักเขียนแนวมนุษยนิยม เขาเป็นนักเขียนยุคเรเนซ็องส์ฮังการีคนสำคัญที่สุด งานของเขาถือเป็นวรรณกรรมคลาสสิกเรื่องแรกของฮังการี เขาเขียนบทกวีเป็นภาษาละติน ส่วนใหญ่เป็น epigrams และ elegy (Búcsú Váradtól (อำลาจากเมืองวาร็อด ปัจจุบันคือ ออราเดีย ประเทศโรมาเนีย), Midőn beteg volt a táborban (เมื่อเขาป่วยในค่าย), Pannónia dicsérete (สรรเสริญพันโนเนีย)) ภายหลังการตายของยานุส งานของยานุสถูกรวบรวมโดยกษัตริย์มาทยาช และจัดเก็บไว้ในห้องสมุดที่มีชื่อเสียงของพระองค์ ชื่อว่า Bibliotheca Corvina ณ เมืองบูดอ และในต่างประเทศเช่นในนครรัฐวาติกัน

ภาพวาดบาลินต์ บอลอชชี

Balassi Bálint (1554-1594) บาลินต์ บอลอชชี เป็นนักแต่งกลอนฮังการีที่สำคัญที่สุดในยุคเรเนซ็องส์ และเป็นกวีคนแรกที่ใช้ภาษาฮังการีในการเขียน เขารวบรวมบทกวีนวนิยายที่แต่งขึ้น (Balassa Codex) เขาเขียนบทกวีของเขา เป็นเนื้อร้องให้เข้ากับเพลงสมัยนั้นที่เป็นที่รู้จักกันดี บทกวีสำคัญสามชั้นของเขาคือบทกวีรัก (ซึ่งส่วนใหญ่เขาเขียนถึง Losonczi Anna ซึ่งเขาเรียกว่า Julia ในงานของเขา เช่น Hogy Júliára talála így köszöne neki) เพลงสร้างความฮึกเหิม (เช่น Egy katonaének, Áldott szép Pünkösdnek gyönörű ideje) และบทกวีสรรเสริญพระเจ้า (เช่น Adj már csendességet [136]) บทละครที่ยังหลงเหลืออยู่ของเขา คือ Szép magyar komédia (คอมเมดีฮังการีที่สวยงาม) ซึ่งเป็นบทละครที่สร้างแรงบันดาลใจสำหรับกวีในยุคหลัง (เช่น Ady Endre)

วรรณกรรมยุคบารอก และ ยุคแสงสว่างทางปัญญา (ศตวรรษที่ 17–18)

[แก้]

นักเขียนเหล่านี้เป็นกวีที่โดดเด่นที่เขียนวรรณกรรมแบบบารอก ตามยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาและยุคการปฏิรูป

รูปปั้นมิกโลช ซรินยี ณ เมืองซิแก็ตวาร์ ประเทศฮังการี

Zrínyi Miklós (1620-1664) มิโคลส ซรินยี เขาเขียนมหากาพย์ Szigeti veszedelem ซึ่งรำลึกถึงการปิดล้อมเมืองซิแก็ตวาร์ (Szigetvár) ใน ค.ศ. 1566 มหากาพย์เกี่ยวกับปู่ทวดของเขา ผู้ซึ่งปกป้องปราสาทจากกองทัพตุรกีที่ปิดล้อมเมืองอยู่ จนกระทั่งเขาเสียชีวิต นอกจากบทกวีแล้ว เขายังเขียนงานวิทยาศาสตร์ และการทหารอีกด้วย

Bessenyei György (1746-1811) เจิร์จย์ แบชแชนแยย เป็นนักเขียนที่มีต้นกำเนิดจากตระกูลสูงศักดิ์ นักวางแผนและผู้นำยุคแสงสว่างทางปัญญาของฮังการี และเป็นองครักษ์ของพระราชินีมาเรีย เทเรซาแห่งฮังการีที่กรุงเวียนนา เราพิจารณาการปฏิรูปภาษา (คำพูดที่โด่งดังของแบชแชนแยย: "ทุกประเทศกลายเป็นนักวิทยาศาสตร์ ในภาษาของตนเอง") และการก่อตั้ง Academia งานของเขา "โศกนาฏกรรมของอากิส (Agis tragédiája) ว่าถือเป็นจุดเริ่มต้นของยุคแสงสว่างทางปัญญาของฮังการี งานที่สำคัญอื่น ๆ ของเขาคือ A filozófus (นักปราชญ์ เป็นวรรณกรรมตลก), Tariménes utazása (การเดินทางของตอริเมแนช เป็นนิยายสอนใจ ให้ข้อคิดทางการเมือง), a Bihari remete (ฤๅษีแห่งบิฮอร์)

Kazinczy Ferenc (1759-1831) แฟแร็นซ์ คอซินต์ซี เป็นผู้นำวรรณกรรมร่วมสมัย กวีคลาสสิก นักแปล และผู้นำของขบวนการปฏิรูปภาษา เขาเป็นผู้สร้างและบรรณาธิการวารสารภาษาฮังการีฉบับแรก (Magyar Museum, ค.ศ. 1788) คอลเล็กชั่นบทกวีของเขา ชื่อ Tövisek és virágok (หนามและดอกไม้)เป็นผลงานที่เป็นการบูรณะภาษาฮังการีและรสนิยมใหม่ ในการพิจารณาคดีขบวนการล้มล้างกษัตริย์ของอิกนาตซ์ มอร์ติโนวิช (Martinovich Ignác) คอซินต์ซีที่มีส่วนในขบวนการนี้ ถูกตัดสินว่ามีความผิด (ค.ศ. 1795) ในช่วงระยะเวลาหกปีครึ่งที่เขาถูกจำคุก เขาเขียนบันทึกประจำวัน ชื่อว่า "การถูกขังของฉัน (Fogságom)"

Csokonai Vitéz Mihály (1773-1805) เป็นบุคคลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของการตรัสรู้ของฮังการี กวีและนักภาษาศาสตร์ที่มีการศึกษา ในบทกวีของเขา ผู้อ่านจะพบเทรนด์สไตล์ทั้งหมดในยุคนั้น (คลาสสิก, โรโกโก, อารมณ์อ่อนไหว, ความนิยม) บทกวีที่สำคัญของเขา: Konstantinápoly (คอนสแตนติโนเปิล), Az estve (ยามเย็น), A reményhez (สู่ความหวัง), A magánossághoz (สู่ความเหงา), Jövendölés az első oskoláról Somogyban (คำทำนายโรงเรียนแรกแห่งแคว้นโชโมจย์) บทละครของเขา: A méla Tempefői (เมลอ แตมแปเฟิย), Dorottya (โดโรททยอ), Az özvegy Karnyóné és a két szeleburdiak (นางคอร์โตเนแม่หม้าย และสายลมทั้งสอง)

โมร์ โยค็อย
อ็อตติลอ โยแจ็ฟ ภาพถ่ายใน ค.ศ. 1924

วรรณกรรมศตวรรษที่ 19 วรรณกรรมโรแมนติก

[แก้]

Katona József (1791-1830) โยแจ็ฟ กอโตนอ

Kölcsey Ferenc (1790-1838) แฟแร็นตซ์ เกิลแชย

Vörösmarty Mihály (1800-1855) มิฮาย เวอเริชมอร์ตี

Petőfi Sándor (1823-1849) ชานโดร์ แปเตอฟิ

Arany János (1817-1882) ยาโนช ออร็อญ

Jókai Mór (1825-1904) โมร์ โยค็อย

Madách Imre (1823-1864) อิมแร มอดาช

Mikszáth Kálmán (1847-1910) คาลมาน มิคซาต

วรรณกรรมศตวรรษที่ 20

[แก้]

Ady Endre (1877-1919) แอนแดร์ ออดี

Móricz Zsigmond (1879-1942) จิกโมนด์ โมริตซ์

József Attila (1905-1937) อ็อตติลอ โยแจ็ฟ

Kertész Imre (1929-2016) อิมแร แกร์เตส

อาหาร

[แก้]
ซุปกูยาช เสิร์ฟพร้อมขนมปังและน้ำมะนาว

ชาวฮังการีทานขนมปังเป็นหลัก รวมไปถึงผลิตภัณฑ์จากนม (เช่น ชีส ตูโร ครีมเปรี้ยว) แป้งพาสต้า เกี๊ยว หรือ มันฝรั่ง โดยอาหารฮังการีมักมีความข้น มีเครื่องเทศจำพวกพริกไทยและพริกปาปริก้าแดงอยู่จำนวนมาก[240] เป็นเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมอาหารฮังการี อาหารฮังการีมักผสมชีสและครีมเปรี้ยวลงไป และมักใช้เนื้อสัตว์อย่างเช่น วัว หมู หรือ แกะ และมักไม่ค่อยจะมีผักใบเขียว โดยยกตัวอย่างซุปกูยาช (Gulyás) ที่เป็นอาหารประจำชาติของฮังการีที่ เป็นตัวอย่างเมนูที่ดีที่แสดงคุณสมบัติต่าง ๆ ที่มีอยู่เด่นชัดในอาหารฮังการี ซุปกูยาชมีการปรุงรสด้วยปาปริก้า (พริกแดงบด) มันฝรั่ง เนื้อสัตว์ ครีมข้น และ แครอทลงไป และบางครั้งก็มีการใส่ครีมเปรี้ยวแบบฮังการีชนิดข้นที่เรียกว่า แตยเฟิล (Telföl) ลงไป เพื่อทำให้อาหารมีรสชาติเปรี้ยวและทำให้รสชาติอาหารอ่อนลง

ลางโกช ปาท่องโก๋ยักษ์ ราดด้วยชีส ครีมเปรี้ยว และ น้ำมันกระเทียมเจียว

มีอาหารฮังการีอื่น ๆ ที่มีชื่อเสียงพอ ๆ กับซุปกูยาช ดังนี้

  1. ซุปชาวประมง (Halászlé - ฮอลาสเล) ซึ่งเป็นซุปปลาแม่น้ำอุ่น ๆ ของฮังการีที่มีชื่อเสียง เรียกว่า "ซุปของชาวประมง หรือ ฮอลาซเลมักจะมีส่วนผสมของปลาลวกหลายชนิด ผสมกับเครื่องเทศฮังการีต่าง ๆ [241]
  2. สตูว์เนื้อเปอร์เกิลต์ (Pörkölt - เปอร์เกิลต์) สตูว์เนื้อสัตว์คั่วกับเครื่องเทศ มักทานกับพาสต้าโนแคดลิ (nokedli) หรือ ขนมปัง
  3. ลางโกช (Lángos) แป้งปาท่องโก๋ขนาดยักษ์ทอดน้ำมัน ใส่ชีส ครีมเปรี้ยว และ น้ำมันกระเทียมเจียว
  4. ไก่ราดปาปริก้า (Csirkepaprikás: ชิร์แกะปอปริกาช) ไก่ราดพริกปาปริก้า ราดด้วยครีมปาปริก้าเข้มข้น ทานกับเกี๊ยวแป้งขนาดเล็ก เรียกว่า โนแคดลิ (nokedli)
  5. แพนเค้กฮอร์โตบาจ (Hortobágyi palacsinta) เป็นเครปเปรี้ยวสอดไส้เนื้อลูกวัว
Hortobágyi palacsinta แพนเค้กปอลอชินตอฮอร์โตบาจ เป็นเครปเปรี้ยวสอดไส้เนื้อลูกวัว

อาหารฮังการีมีความเป็นมาจากยุโรปกลาง มีองค์ประกอบวัตถุดิบอาหารบางส่วนแบบยุโรปตะวันออก  เช่น การใช้งาดำ และ การใช้ผลิตภัณฑ์จากนมวัวแบบเป็นก้อน (kefir และ quark) อาหารฮังการีปรุงอาหารโดยใช้พริกปาปริก้า เครื่องเทศ และ พริกไทย อาหารฮังกาเรียนทั่วไปมีนม ชีส และเนื้อสัตว์ คล้ายกับอาหารเช็กเกีย โปแลนด์ และ สโลวาเกียที่อยู่ใกล้เคียง โดยส่วนมากใช้เนื้อไก่ เนื้อหมู และเนื้อวัวในการปรุง แต่ก็ใช้เนื้อไก่งวง, เป็ด, เนื้อแกะ, ปลาและเนื้อสัตว์ป่าในโอกาสพิเศษ

อาหารฮังการีอื่น ๆ มี ซุป, อาหารตุ๋น ขนมหวาน ขนมอบ และ แพนเค้กแบบยุโรปตะวันออก (palacsinta) อาหารฮังการีมีความแตกต่างกันค่อนข้างมากในแต่ละภูมิภาคในเมนูเดียวกัน อาทิเช่น ฮอลาซเล (halászlé) ซุปปลาร้อนฮังการี มีการปรุงที่แตกต่างกันระหว่าง2 ริมฝั่งแม่น้ำสายสำคัญของฮังการี ได้แก่ แม่น้ำดานูบและแม่น้ำติซอ palacsinta (แพนเค้กเสิร์ฟพร้อมซอสช็อคโกแลตเข้ม ราดด้วยวอลนัทป่น) และ dobos cake (เค้กฟองน้ำชั้น ราดด้วยช็อคโกแลตบัตเตอร์ครีม และผงคาราเมล)

อาหารฮังกาเรียนใช้ชีสหลากหลายชนิด แต่ที่พบบ่อยที่สุดคือ túró (เนยแข็งควาร์กชนิดหนึ่ง), ครีมชีส, ชีส picante ewe (juhturó) ชีสฮังการีที่พบมากที่สุดคือ ชีส Karaván, Pannonia, Pálpusztai, Emmentaler และ Edam

ไส้กรอกชอบอ (ชอบ็อย โคลบาส Csabai kolbász)

ชาวฮังการีบริโภคผลิตภัณฑ์หมูรมควันมากมายหลายแบบ เป็นส่วนสำคัญของอาหารฮังการี อาหารหลายเมนูมีรสชาติเอกลักษณ์ของกลิ่นควันของเนื้อหมูรมควัน ชาวฮังการีทานไส้กรอกฮังการีรมควัน, แฮมรมควัน และ มันหมูรมควัน โดยไม่จำเป็นต้องทำการปรุงอาหารเพิ่มเติม ทานกับขนมปังและผักสด เมนูแบบนี้เรียกว่า 'อาหารเย็นแบบเย็น' มักทานเป็นอาหารเช้า หรือ อาหารเย็น แต่บางครั้งก็เป็นอาหารเรียกน้ำย่อยในร้านอาหาร ประเทศฮังการีมีชื่อเสียงในด้านการแปรรูปซาลามี่และไส้กรอกที่คุณภาพสูงและราคาไม่แพง โดยผลิตจากเนื้อหมูเป็นหลัก แต่ก็มีเนื้อสัตว์ปีก เนื้อวัว และ อื่น ๆ เป็นส่วนน้อย

ผลิตภัณฑ์ผักดอง มักใช้ปรุงอาหารฮังการี อาทิเช่น กระหล่ำปลีดองเปรี้ยว, พริกหยวกเปรี้ยว, แตงกวาดอง, ดอกกะหล่ำ, มะเขือเทศสีเขียว, แตงโมอ่อน, และผักอื่น ๆ โดยเมนูแบบนี้มักทานในฤดูหนาว และเป็นแหล่งหลักของวิตามินซีตลอดฤดูหนาวที่หนาวเย็น ร้านอาหารฮังการีคลาสสิกมักเสิร์ฟผักดองเป็นเครื่องเคียงเพื่อเพิ่มความสดชื่นสำหรับอาหารจานหนัก

อาหารฮังการีใช้เครื่องเทศที่คัดสรรมาอย่างดีเพื่อเพิ่มรสชาติ อาหารฮังการีส่วนใหญ่จะไม่มีพริกเผ็ดร้อนผสมอยู่ แม้ว่าพริกปาปริก้าจะเป็นจุดเด่นของประเทศฮังการีก็ตาม พริกเผ็ดร้อนในปัจจุบันนั้น มักใช้เพื่อปรุงแต่งในอาหารฮังการีแบบดั้งเดิมเท่านั้น หรืออาจให้พริกไว้ข้างจานในเมนูอื่น ๆ เพื่อเพิ่มความเผ็ดสำหรับแต่ละคน ซึ่งแตกต่างกับประเทศเขตร้อนอื่น ๆ ที่ปรุงอาหารด้วยพริก เช่น เม็กซิโก และ ไทย ซึ่งใช้พริกเผ็ดร้อนบ่อยกว่าและมักใช้เป็นเครื่องปรุงหลักเพื่อเพิ่มรสชาติ ในประเทศฮังการีพริกปาปริก้าหวาน (พริกหยวก) เป็นอาหารที่พบได้ทั่วไปมากกว่าพริกเผ็ดร้อน ใช้สร้างสีสันในอาหารส่วนใหญ่ การใช้ซาวครีมข้นที่เรียกว่า แทยเฟิล (tejföl) เป็นที่นิยมอย่างมากในการปรุงอาหารฮังการี

นอกเหนือจากพริกหยวกและหัวหอม เครื่องปรุงสำหรับปรุงอาหารทั่วไปอื่น ๆ ได้แก่ ผักชีลาว ใบกระวาน พริกไทยดำ ยี่หร่า ผักชี อบเชย กระเทียม มะรุม มะนาว มาร์จอแรม มัสตาร์ด ทาร์รากอน ออริกาโน ผักชีฝรั่ง น้ำส้มสายชู เมล็ดงาดำ และ วานิลลา โดยเครื่องเทศที่ใช้น้อย ได้แก่ โป๊ยกั๊ก ใบโหระพา เชอร์วิล กุ้ยช่าย กานพลู จูนิเปอร์เบอร์รี่ โกฐเชียง จันทน์เทศ โรสแมรี่ ซาวอรี่ ไทม์ ไทม์ป่า และ พริกไทยขาว

เครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ที่ฮังการีก็เป็นอีกสิ่งที่น่าลอง ในฮังการี คนฮังการีดื่มแอลกอฮอลล์แทบทุกชนิด ตั้งแต่เบียร์ ไวน์ ปาลิงกอ (เหล้าผลไม้) เหล้าบรั่นดี วอดก้า และอื่น ๆ โดยเหล้าปาลิงกอ (Pálinka) เป็นเหล้าผลไม้ที่กลั่นจากผลไม้ที่ปลูกในสวนผลไม้ที่ตั้งอยู่บนที่ราบฮังการีใหญ่ (ทางตะวันออกของฮังการี) เป็นสุราที่มีถิ่นกำเนิดในฮังการีและมีหลากหลายรสชาติเช่นแอปริคอท และเชอร์รี่ อย่างไรก็ตาม ปาลิงกอรสพลัม เป็นรสชาติที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เบียร์เข้ากันได้ดีกับอาหารฮังการีแบบดั้งเดิมมากมาย เบียร์ฮังการีห้ายี่ห้อหลัก ได้แก่ Borsodi, Soproni, Arany Ászok, Kõbányaiและ Dreher[243] โดยในฮังการี คนทั่วไปจะไม่ชนแก้วเมื่อดื่มเบียร์ มีตำนานเมืองในวัฒนธรรมฮังการีกล่าวว่านายพลชาวออสเตรียเคาะแก้วเบียร์เพื่อเฉลิมฉลองการประหารชีวิต 13 ผู้กล้าแห่งเมืองอารัด (13 Martyrs of Arad) ในปี  ค.ศ. 1849 (เหตุการณ์การปฏิวัติฮังการี ค.ศ. 1848) คนมีอายุหลายคนยังคงปฏิบัติตามประเพณี แต่ว่าคนรุ่นใหม่มักจะไม่ทำตามประเพณีนี้แล้ว คนอายุน้อยมักจะปฏิเสธก็ตามโดยอ้างว่าคำปฏิญาณมีไว้เพื่อ 150 ปีที่แล้ว[244]

ไวน์โตคอยิ ยี่ห้อ"ออซู"

ไวน์ Tokaji (ไวน์โตคอยิ) ที่มีชื่อเสียง ถูกเรียกว่า "Vinum Regum, Rex Vinorum" ("ปีกของราชา ราชาแห่งไวน์") โดยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส

ไวน์: ดังที่ ฮิวจ์ จอห์นสัน (Hugh Johnson) กล่าวไว้ใน "The History of Wine" ดินแดนของฮังการีเหมาะอย่างยิ่งสำหรับการทำไวน์ และประเทศนี้สามารถแบ่งออกเป็นภูมิภาคไวน์ได้ 6 แห่ง ได้แก่ ทรานส์ดานูเบียเหนือ, ทะเลสาบบอลอโตน, ที่ราบพันโนเนียใต้, ที่ราบใหญ่ฮังการี, ฮังการีตอนบน และ เขตปลูกไวน์โตคอยในเขตตะวันออกเฉียงเหนือ (Tokaj-Hegyalja)[245] ชาวโรมันนำเถาวัลย์มาสู่แอ่งคาร์เพเทียน และเมื่อถึงศตวรรษที่ 5 ได้มีบันทึกเกี่ยวกับไร่องุ่นที่กว้างขวางในประเทศฮังการี ชาวฮังกาเรียนนำความรู้ด้านการทำไวน์มาจากตะวันออก ตามที่ อิบัน รัสตาห์ ได้เขียนไว้นั้น ชนเผ่าฮังการีคุ้นเคยกับการทำไวน์มานานก่อนที่ฮังการีจะพิชิตแอ่งคาร์เพเทียน[246]

แหล่งผลิตไวน์ของฮังการีมีรูปแบบที่หลากหลาย: ผลิตภัณฑ์หลักของประเทศคือ ไวน์ขาวแห้งที่หรูหราและมีความเป็นกรดที่ดีแม้ว่าไวน์ขาวหวาน (Tokaj/โตคอย), ไวน์อลีเกนต์ (Eger/แอแกร์) และและไวน์แดงเข้ม (Villány/วิลลาญ และ Szekszárd/แซ็กซาร์ด). พันธุ์หลัก ได้แก่ : Olaszrizling, Hárslevelű, Furmint, Pinot gris หรือ Szürkebarát, Chardonnay (ขาว), Kékfrankos (หรือ Blaufrankisch ในภาษาเยอรมัน), Kadarka, Portugieser, Zweigelt, Cabernet sauvignon, Cabernet franc และ Merlot โดยไวน์ที่มีชื่อเสียงที่สุดจากฮังการี ได้แก่ Tokaji Aszú และ Egri Bikavér[247][248] คำว่า Tokaji/โตคอยิ หมายถึง "มาจากเมืองโตคอย" ในภาษาฮังการีใช้ในการติดฉลากไวน์จากภูมิภาคไวน์ "Tokaj-Hegyalja" ไวน์โตคอยิได้รับความนิยมดื่มจากนักเขียนและนักประพันธ์เพลงยอดเยี่ยมมากมายเช่น Beethoven, Liszt, Schubert และ Goethe; ไวน์โปรดของ Joseph Haydn คือ Tokaji [249] พระเจ้าหลุยส์ที่ 15 และเฟรดเดอริคมหาราชพยายามเอาชนะซึ่งกันและกันเมื่อพวกเขาให้ความบันเทิงแก่แขกด้วยไวน์โตคอยิ นโปเลียนที่ 3 จักรพรรดิองค์สุดท้ายของฝรั่งเศส สั่งซื้อโทคาจิ 30–40 บาร์เรลให้มาส่งที่ราชสำนักฝรั่งเศสทุกปี กุสตาฟที่ 3 กษัตริย์แห่งสวีเดนรักไวน์โตคอยิ[249] ในจักรวรรดิรัสเซีย มีลูกค้ารวมถึงปีเตอร์มหาราชและจักรพรรดินีเอลิซาเบ็ธ ในขณะที่แคทเธอรีนมหาราชก่อตั้งกองทหารรัสเซียในเมืองโตคอยิโดยมีจุดประสงค์เพื่อให้แน่ใจว่ามีการส่งไวน์ไปยังเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กเป็นประจำ[249]เป็นเวลากว่า 150 ปีที่มีการใช้สมุนไพรฮังการีสี่สิบชนิดเพื่อสร้างเหล้าอูนิคุม (Unicum) Unicum เป็นเหล้าที่มีรสขมและมีสีเข้มซึ่งสามารถดื่มหลังอาหารเพื่อช่วยย่อยอาหารได้[250]

เครื่องลายคราม

[แก้]
แจกันลายคราม Herendi

เครื่องลายคราม (ฮังการี: Porcelán) เป็นงานหัตถศิลป์ที่ได้รับความนิยมและมีชื่อเสียงในฮังการี หนึ่งในแหล่งผลิตเครื่องลายครามที่สำคัญที่สุดของประเทศคือ เครื่องลายครามแฮแร็นด์ (Herendi Porcelán) ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1826 ที่หมู่บ้านแฮแร็นด์ (Herend)[137] เครื่องลายครามของที่นี่มีลวดลายละเอียดที่โดดเด่น และได้รับความนิยมในกลุ่มชนชั้นสูงของทวีปยุโรปในศตวรรษที่ 19 ปัจจุบัน เครื่องลายคราม Herend ยังคงผลิตเครื่องลายครามที่มีความประณีต และกลายเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของฮังการี[138]

จานลายครามแบบ Zsolnay ในคอลเล็กชั่นเครื่องลายครามของอาร์มิน ไคล์น (KLEIN Ármin 1852-1940)

อีกหนึ่งโรงงานเครื่องลายครามที่มีชื่อเสียงคือ เครื่องลายครามโฌลน็อย (Zsolnay Porcelain) ซึ่งก่อตั้งในปี ค.ศ. 1853 ที่เมืองเปช (Pécs) เครื่องลายคราม Zsolnay มีเอกลักษณ์ในเรื่องการใช้เทคนิคการเคลือบแบบพิเศษที่เรียกว่า อิโอซิน (Eosin) ซึ่งทำให้เครื่องลายครามมีสีสันสวยงามและเงางาม งานฝีมือเหล่านี้ยังคงสืบทอดและเป็นที่นิยมในฮังการีจนถึงปัจจุบัน[139]

นอกจากนี้ เครื่องลายครามโฮลโล่ฮาซ (Hollóházi Porcelán) ซึ่งตั้งอยู่ที่หมู่บ้านโฮลโล่ฮาซอ (Hollóháza) เป็นอีกหนึ่งผู้ผลิตเครื่องลายครามที่สำคัญของฮังการี โรงงานนี้ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1777 และได้พัฒนาเป็นหนึ่งในผู้ผลิตเครื่องลายครามที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศ เครื่องลายคราม Hollóházi มีความโดดเด่นในเรื่องการออกแบบที่เน้นลวดลายดั้งเดิมแบบฮังการี และได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติว่าเป็นผลิตภัณฑ์งานศิลปะที่มีคุณภาพ[140]

ประเทศฮังการี ถือเป็นหนึ่งในประเทศยุโรปที่มีชื่อเสียงด้านการผลิตเครื่องลายคราม งานศิลป์เหล่านี้ไม่เพียงแต่เป็นสินค้าสำคัญที่ส่งออกไปยังต่างประเทศ แต่ยังสะท้อนถึงวัฒนธรรมและประเพณีอันยาวนานของฮังการี[141]

แฟแรนตส์ ปุชกาช นักฟุตบอลชื่อดังผู้เป็นตำนานของประเทศฮังการี

กีฬา

[แก้]

ฮังการีมีวัฒนธรรมในการเล่นกีฬาเป็นประจำ ทำให้มีนักกีฬาฮังการีที่มีชื่อเสียงระดับโลกเป็นจำนวนมาก ประเทศฮังการีมีชื่อเสียงในด้านการกีฬาในระดับนานาชาติ ทั้งฟุตบอล กีฬาฟันดาบ กีฬายิงปืน เป็นกีฬาที่ชาวฮังการีประสบความสำเร็จในเวทีโอลิมปิก[142] และกีฬาทางน้ำเช่น โปโล่นน้ำ และ การแข่งขันพายเรือคายัก

ทีมโปโลน้ำชายฮังการี ถือเป็นทีมโปโลน้ำที่ดีที่สุดในโลก มีสถิติเหรียญทองโอลิมปิก และ เหรียญโอลิมปิกรวมสูงที่สุดในโลก

นักกีฬาฮังการีมีความสำเร็จในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนเป็นอย่างมาก โดยฮังการีอยู่ในอันดับที่ 9 ในการจัดอันดับเหรียญรางวัลรวมตลอดกาลของโอลิมปิกฤดูร้อน ด้วยจำนวนเหรียญ 511 เหรียญ ฮังการียังมีจำนวนเหรียญโอลิมปิกต่อประชากรสูงเป็นอันดับสามของโลก และมีจำนวนเหรียญทองต่อประชากรสูงเป็นอันดับสองของโลก ฮังการีประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในกีฬาทางน้ำ โดยเฉพาะโปโลน้ำ ซึ่งทีมชายของฮังการีเป็นทีมที่ชนะเหรียญรางวัลมากที่สุดอย่างทิ้งห่าง และกีฬาว่ายน้ำที่ทั้งทีมชายและหญิงต่างอยู่ในอันดับที่ 5 ของโลก ฮังการีครองอันดับหนึ่งในการแข่งขันพายเรือแคนูและพายเรือคายัค ในปี 2018 ฮังการีได้รับเหรียญทองเหรียญแรกจากกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว ในกีฬาสปีดสเก็ตระยะสั้น ประเภททีมชาย[143]

นอกจากนี้ ฮังการียังเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาระดับโลกมากมาย เช่น การแข่งขันแชมป์โลกกีฬามวยสากลสมัครเล่น ปี 1997, แชมป์โลกฟันดาบ ปี 2000 และแชมป์โลกยูโด ปี 2017 อีกทั้งยังมีการเป็นเจ้าภาพการแข่งขันยูฟ่า ยูโร 2020 ซึ่งจัดในสนามปุสกัส อารีนา (Puskás Aréna) ที่รองรับผู้ชมได้ถึง 67,889 ที่นั่ง[144]

ฮังการียังจัดการแข่งขันฟอร์มูล่าวัน (Formula One) ที่สนาม Hungaroring นอกเมืองบูดาเปสต์มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1986 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการแข่งขันชิงแชมป์ฟอร์มูล่าวัน[145]

ในฟุตบอล ฮังการีเคยคว้าเหรียญทองจากกีฬาโอลิมปิกถึง 3 ครั้ง และยังเป็นผู้วางรากฐานทางเทคนิคของระบบการเล่นแบบ "โททัลฟุตบอล" ทีม "อารานีชะปัต" (Aranycsapat) หรือ "ทีมทองคำ" เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก โดยมีเฟเรนซ์ ปุสกัส ผู้ทำประตูสูงสุดในศตวรรษที่ 20 รวมอยู่ด้วย FIFA ได้ตั้งรางวัล "Puskás Award" ขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่เขา ทีมในยุคนั้นยังครองสถิติไม่แพ้ใครยาวนานถึง 31 นัดติดต่อกันเป็นเวลา 4 ปี[146]

สมาพันธ์ฟุตบอลฮังการี ก่อตั้งในปี ค.ศ. 1901 ในจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี ฮังการีเคยเป็นชาติที่มีประวัติยิ่งใหญ่ในวงการฟุตบอลระดับโลก โดยเป็นถึงรองแชมป์โลก 2 ครั้ง ในฟุตบอลโลก 1938 และฟุตบอลโลก 1954 และได้ที่ 3 ในฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 1964 รวมถึงได้เหรียญทอง, เหรียญเงิน และเหรียญทองแดง ในฟุตบอลชายของโอลิมปิกหลายต่อหลายครั้ง โดยมีแฟแร็นตส์ ปุชกาช เป็นผู้เล่นที่โดดเด่นมีชื่อเสียงมากในระดับโลก อาจถือได้เป็นระดับตำนานคนหนึ่งเทียบเท่ากับเปเล่ นักฟุตบอลชื่อดังจากประเทศบราซิล

ในฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 2016 ฮังการีได้ผ่านเข้ามาในรอบสุดท้ายได้สำเร็จ นับว่าเป็นครั้งแรกในรอบ 44 ปี สำหรับการแข่งขันในระดับโลก นับตั้งแต่ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 1972 โดยเข้ารอบสุดท้ายได้ด้วยการคัดเลือกเอาชนะนอร์เวย์ไป 2–1 (รวมผล 2 นัด ชนะ 3–1) โดยฮังการีอยู่ในกลุ่มเอฟร่วมกับโปรตุเกส, ออสเตรีย และไอซ์แลนด์ และผลการแข่งขันนัดแรก ฮังการีสามารถเอาชนะออสเตรียไปได้ 0–2

หมายเหตุ

[แก้]
  1. ในประเทศฮังการี ประชาชนสามารถเปิดเผยอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ได้หลายรูปแบบ ดังนั้นยอดรวมจะมากกว่า 100%

อ้างอิง

[แก้]
  1. "The Story Behind the Hungarian National Anthem". Jules S. Vállay. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 10 October 2017. สืบค้นเมื่อ 8 May 2017.
  2. 2.0 2.1 "The Fundamental Law of Hungary" (PDF). Hungarian State. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 29 มิถุนายน 2014. สืบค้นเมื่อ 8 พฤษภาคม 2017.
  3. Vukovich, Gabriella (2018). Mikrocenzus 2016 – 12. Nemzetiségi adatok [2016 microcensus – 12. Ethnic data] (PDF). Hungarian Central Statistical Office (ภาษาฮังการี). Budapest. ISBN 978-963-235-542-9. สืบค้นเมื่อ 10 January 2019.
  4. 4.0 4.1 "Hungarian census 2011 / Országos adatok (National data) / 1.1.4.2. A népesség nyelvismeret és nemek szerint (population by spoken language), 1.1.6.1 A népesség anyanyelv, nemzetiség és nemek szerint (population by mother tongue and ethnicity), 2.1.7.1 A népesség vallás, felekezet, és fontosabb demográfiai ismérvek szerint (population by religion, denomination and main demographical indicators) (Hungarian)". Ksh.hu. สืบค้นเมื่อ 30 กันยายน 2014.
  5. Encyclopedia Americana: Heart to India. Vol. 1. Scholastic Library Pub. 2006. p. 581. ISBN 978-0-7172-0139-6.
  6. University of British Columbia. Committee for Medieval Studies, Studies in medieval and renaissance history, Committee for Medieval Studies, University of British Columbia, 1980, p. 159
  7. "Hungary". CIA The World Factbook. สืบค้นเมื่อ 27 March 2014.
  8. "CIA World Factbook weboldal". สืบค้นเมื่อ 3 June 2009.
  9. "STADAT – 1.1. Népesség, népmozgalom (1941–)". www.ksh.hu. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 20 June 2019. สืบค้นเมื่อ 12 June 2019.
  10. 10.0 10.1 10.2 10.3 "Report for Selected Countries and Subjects". IMF (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 26 October 2021.
  11. "Gini coefficient of equivalised disposable income – EU-SILC survey". ec.europa.eu. Eurostat. สืบค้นเมื่อ 9 August 2021.
  12. "Human Development Report 2020" (PDF) (ภาษาอังกฤษ). United Nations Development Programme. 15 December 2020. สืบค้นเมื่อ 15 December 2020.
  13. "COUNTRY COMPARISON :: AREA". CIA. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-02-09. สืบค้นเมื่อ 10 April 2014. {{cite web}}: ระบุ |archivedate= และ |archive-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archiveurl= และ |archive-url= มากกว่าหนึ่งรายการ (help)
  14. "COUNTRY COMPARISON :: POPULATION". CIA. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-09-27. สืบค้นเมื่อ 10 April 2014. {{cite web}}: ระบุ |archivedate= และ |archive-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archiveurl= และ |archive-url= มากกว่าหนึ่งรายการ (help)
  15. "Hungary in the Carpathian Basin" (PDF). Lajos Gubcsi, PhD. 6 June 2017. สืบค้นเมื่อ 6 June 2017.
  16. Acta Orientalia Academiae Scientiarum Hungaricae. Vol. 36. Magyar Tudományos Akadémia (Hungarian Academy of Sciences). 1982. p. 419.
  17. Kristó Gyula – Barta János – Gergely Jenő: Magyarország története előidőktől 2000-ig (History of Hungary from the prehistory to 2000), Pannonica Kiadó, Budapest, 2002, ISBN 963-9252-56-5, p. 687, pp. 37, pp. 113 ("Magyarország a 12. század második felére jelentős európai tényezővé, középhatalommá vált"/"By the 12th century Hungary became an important European constituent, became a middle power", "A Nyugat részévé vált Magyarország ... /Hungary became part of the West"), pp. 616–644
  18. "Austria-Hungary, HISTORICAL EMPIRE, EUROPE". Encyclopædia Britannica. 6 June 2017. สืบค้นเมื่อ 6 June 2017.
  19. Richard C. Frucht (31 December 2004). Eastern Europe: An Introduction to the People, Lands, and Culture. ABC-CLIO. p. 360. ISBN 978-1-57607-800-6.
  20. "Trianon, Treaty of". The Columbia Encyclopedia. 2009.
  21. "Text of the Treaty, Treaty of Peace Between The Allied and Associated Powers and Hungary And Protocol and Declaration, Signed at Trianon June 4, 1920". สืบค้นเมื่อ 10 June 2009.
  22. John F. Montgomery (2002) [1947]. Hungary: The Unwilling Satellite. Devin-Adair Company, New York (Reprint ed.). Simon Publications. ISBN 978-1-931313-57-5. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 16 February 2007.
  23. Thomas, The Royal Hungarian Army in World War II, pg. 11
  24. "1949. évi XX. törvény. A Magyar Népköztársaság Alkotmánya" [Act XX of 1949. The Constitution of the Hungarian People's Republic]. Magyar Közlöny (Hungarian Bulletin) (ภาษาฮังการี). Budapest: Állami Lapkiadó Nemzeti Vállalat. 4 (174): 1361. 20 August 1949.
  25. "1989. évi XXXI. törvény az Alkotmány módosításáról" [Act XXXI of 1989 on the Amendment of the Constitution]. Magyar Közlöny (Hungarian Bulletin) (ภาษาฮังการี). Budapest: Pallas Lap- és Könyvkiadó Vállalat. 44 (74): 1219. 23 October 1989.
  26. Hanrahan, Brian (9 May 2009). "Hungary's Role in the 1989 Revolutions". BBC News.
  27. Kamm, Henry (17 June 1989). "Hungarian Who Led '56 Revolt Is Buried as a Hero". The New York Times.
  28. "1989. évi XXXI. törvény az Alkotmány módosításáról" [Act XXXI of 1989 on the Amendment of the Constitution]. Magyar Közlöny (ภาษาฮังการี). Budapest: Pallas Lap- és Könyvkiadó Vállalat. 44 (74): 1219. 23 October 1989.
  29. "Hungary: Emerging Economic Power In Central And Eastern Europe". Thomas White International. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-10-10. สืบค้นเมื่อ 18 June 2017.
  30. Country and Lending Groups. World Bank. Accessed on July 1, 2016.
  31. "List of OECD Member countries – Ratification of the Convention on the OECD". Oecd.org. สืบค้นเมื่อ 2011-11-04.
  32. OECD (June 27, 2013). "OECD Health Data: Social protection". OECD Health Statistics (database). doi:10.1787/data-00544-en. สืบค้นเมื่อ 2013-07-14.
  33. Eurydice. "Compulsory Education in Europe 2013/2014" (PDF). European commission. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 6 พฤศจิกายน 2013. สืบค้นเมื่อ 19 พฤษภาคม 2014.
  34. "Benefits of EU Membership". Hungarian Chamber of Commerce and Industry. 6 June 2017. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-06-08. สืบค้นเมื่อ 6 June 2017. {{cite web}}: ระบุ |archivedate= และ |archive-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archiveurl= และ |archive-url= มากกว่าหนึ่งรายการ (help)
  35. "International organizations in Hungary". Ministry of Foreign Affairs. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 13 มีนาคม 2016. สืบค้นเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2016. {{cite web}}: ระบุ |accessdate= และ |access-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archivedate= และ |archive-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archiveurl= และ |archive-url= มากกว่าหนึ่งรายการ (help)
  36. "Hungary's Nobel Prize Winners, 13 Hungarian win Nobel Prize yet". Hungarian Academy of Sciences.
  37. "Population per Gold Medal. Hungary has the second highest gold medal per capita in the world. All together it has 175 gold medal until 2016". medalspercapita.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-07-30. สืบค้นเมื่อ 2019-02-28.
  38. "Hungarian literature – "Popular poetry is the only real poetry was the opinion of Sándor Petőfi, one of the greatest Hungarian poets, whose best poems rank among the masterpieces of world literature"". Encyclopædia Britannica (2012 ed.).
  39. Szalipszki, pg.12
    Refers to the country as "widely considered" to be a "home of music".
  40. "STADAT – 4.5.3. The number of inbound trips to Hungary and the related expenditures by motivation (2009–)". www.ksh.hu.
  41. "Search – Global Edition – The New York Times". International Herald Tribune. 29 March 2009. สืบค้นเมื่อ 20 September 2009.
  42. "Lake Balaton". Encyclopædia Britannica. สืบค้นเมื่อ 2008-03-20.
  43. http://www.hungarianhistory.com/lib/transy/transy05.htm
  44. Tomasz Kamusella (2008). The Politics of Language and Nationalism in Modern Central Europe. Springer. p. 646. ISBN 978-0-230-58347-4.
  45. Inalcik Halil: "The Ottoman Empire"
  46. "Ch7 A Short Demographic History of Hungary" (PDF). Archived from the original (PDF) on 4 February 2011. Retrieved 20 September 2009.
  47. The United States ended the war with the U.S.–Hungarian Peace Treaty (1921)
  48. Craig, G. A. (1966). Europe since 1914. New York: Holt, Rinehart and Winston.
  49. Lichtheim, G. (1974). Europe in the Twentieth Century. New York: Praeger.
  50. "MILITARY ARRANGEMENTS WITH HUNGARY" (PDF). Library of Congress. US Congress. Retrieved 5 May 2020.
  51. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-01-03. สืบค้นเมื่อ 2020-10-07.
  52. Macartney, C. A. (1937). Hungary and her successors: The Treaty of Trianon and Its Consequences 1919–1937. Oxford University Press.
  53. Macartney, C. A. (1937). Hungary and her successors: The Treaty of Trianon and Its Consequences 1919–1937. Oxford University Press.
  54. https://en.wikipedia.org/wiki/Austro-Hungarian_Navy
  55. Martin P. van den Heuvel,Jan Geert Siccama: The Disintegration of Yugoslavia, Yearbook of European Studies, 1992 [1]
  56. "Trianon, Treaty of". The Columbia Encyclopedia. 2009.
  57. League of Nations Treaty Series, vol. 6, p. 188.
  58. Botlik, József (มิถุนายน 2008). "AZ ŐRVIDÉKI (BURGENLANDI) MAGYARSÁG SORSA". vasiszemle.hu. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 กันยายน 2020.
  59. Lexikonok - A (cseh)szlovákiai magyarok lexikona Csehszlovákia megalakulásától napjainkig / Történelem[ลิงก์เสีย]. Szlovákiai Magyar Adatbank.
  60. "วิเตซ" (Vitéz) หมายถึงระดับชั้นอัศวินระดับหนึ่งที่มิกโลช โฮร์ตี ตั้งขึ้น; "วิเตซ" มีความหมายตามตัวอักษรว่า "อัศวิน" หรือ "กล้าหาญ"
  61. John Laughland: A History of Political Trials: From Charles I to Saddam Hussein, Peter Lang Ltd, 2008 [1]
  62. von Papen, Franz, Memoirs, London, 1952, pps:541-23, 546.
  63. "Az egész országban jelen van a koronavírus". index.hu. 2020-03-18. สืบค้นเมื่อ 2020-03-18.
  64. "Worldometers". www.worldometers.info (ภาษาอังกฤษ).
  65. "COVID-19 pandemic - Hungary". Glomal-Monitoring. 2022-03-03. สืบค้นเมื่อ 29 September 2024.
  66. "WHO chief declares end to COVID-19 as a global health emergency". WHO. 2023-05-05. สืบค้นเมื่อ 29 September 2024.
  67. "The Constitutional Court of Hungary | Fundamental law". Alkotmánybíróság (ภาษาฮังการี). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-02-03. สืบค้นเมื่อ 2022-02-02. {{cite web}}: ระบุ |accessdate= และ |access-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archivedate= และ |archive-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archiveurl= และ |archive-url= มากกว่าหนึ่งรายการ (help)
  68. Földmérési és Távérzékelési Intézet, Államhatárügyi Osztály
  69. "Magyarország legnagyobb folyóinak vízgyűjtő területe | Tények Könyve | Kézikönyvtár". www.arcanum.com (ภาษาฮังการี).
  70. Soil Management in Hungary
  71. FAO in Hungary - Soil and Agriculture
  72. Saving Hungary's Soil: Strategies for Sustainability
  73. "Alpokalja - Minden, amit tudni kell: Térkép, városok, látnivalók". Trekhunt (ภาษาฮังการี). 2021-01-13.
  74. "Fedezd fel a Börzsöny hegység kincseit!". Börzsönyi Kirándulás (ภาษาฮังการี).
  75. "Jelentés a turizmus 2009. évi teljesítményéről" (PDF) (ภาษาฮังการี). Központi Statisztikai Hivatal. สืบค้นเมื่อ 24 มกราคม 2023.
  76. "Látnivalók adatbázisa". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-01-12. สืบค้นเมื่อ 2017-01-18.
  77. Széchenyi Thermal Bath, [2]
  78. Hungary Travel Guide, National Parks, [3]
  79. Sziget Festival, [4]
  80. Magyar Közlönyhttps://www.kozlonyok.hu/nkonline/MKPDF/hiteles/MK14170.pdf
  81. Honvédelem.hu (honvedelem.hu)
  82. Katonai alapismeretek (PDF). Budapest: Zrínyi Kiadó. 2010. p. 5. ISBN 978-963-327-490-3. จากไฟล์ต้นฉบับ (PDF) วันที่ 17 ธันวาคม ค.ศ. 2011
  83. About Hungary - PM Orbán: Importance should be placed on integrating Balkan countries into NATO
  84. Ugróczky Mária. Alkotmányos Alapismeretek (2018). SL és Társa Bt, Budapest, Hungary. ISBN 978-963-89208-0-5. (ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ)
  85. "International organizations in Hungary". Ministry of Foreign Affairs. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 13 มีนาคม 2016. สืบค้นเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2016. {{cite web}}: ระบุ |accessdate= และ |access-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archivedate= และ |archive-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archiveurl= และ |archive-url= มากกว่าหนึ่งรายการ (help)
  86. "World Bank Country Classification". Archived from the original on 24 May 2008. Retrieved 30 September 2014.
  87. "The Atlas of Economic Complexity by @HarvardGrwthLab". atlas.cid.harvard.edu. 2018.
  88. "Hungary". International Monetary Fund. Retrieved 29 April 2017.
  89. "External trade surplus was EUR 604 million in December". Hungarian Central Statistical Office. 10 March 2016. Retrieved 10 March 2016.
  90. "GDP – composition, by end use". CIA World Factbook. 2016. Retrieved 11 March 2016.
  91. "Electronics". HIPA. Archived from the original on 23 October 2015. Retrieved 11 March 2016.
  92. "Unemployment rate decreased to 4.1%". Hungarian Central Statistical Office. Retrieved 26 October 2017.
  93. "Archivált másolat". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-03-14. สืบค้นเมื่อ 2019-12-07.
  94. "Archivált másolat". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-12-07. สืบค้นเมื่อ 2019-12-07.
  95. "GDP per capita, PPP (current international $) - Hungary". World Bank Group.
  96. "Archivált másolat". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-12-07. สืบค้นเมื่อ 2019-12-07.
  97. "Archivált másolat". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-12-07. สืบค้นเมื่อ 2019-12-07.
  98. "Archivált másolat". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-12-07. สืบค้นเมื่อ 2019-12-07.
  99. "Archivált másolat". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-12-07. สืบค้นเมื่อ 2019-12-07.
  100. "Archivált másolat". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-11-29. สืบค้นเมื่อ 2019-12-07.
  101. "Archivált másolat". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-12-07. สืบค้นเมื่อ 2019-12-07.
  102. "Archivált másolat". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-12-31. สืบค้นเมื่อ 2019-12-07.
  103. 103.0 103.1 103.2 "Archivált másolat". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-12-07. สืบค้นเมื่อ 2019-12-07.
  104. "Archivált másolat". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-12-07. สืบค้นเมื่อ 2019-12-08.
  105. A Magyar Nyelv Történeti-Etimológiai Szótára [The Historical-Etymological Dictionary of the Hungarian Language]. Vol. 3. Budapest: Akadémiai Kiadó. 1976. p. 93.
  106. "Magyarország talajai". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-08-04. สืบค้นเมื่อ 2017-08-03.
  107. "Archivált másolat". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-06-10. สืบค้นเมื่อ 2009-06-03.
  108. Hungary's Product Development Driving Technological Advancement
  109. "Széchényi 2020 - EU Regional Policy". European Commission. สืบค้นเมื่อ 25 กันยายน 2024.
  110. "EU Funds Boost Product Development in Hungary". Hungarian Government Portal. สืบค้นเมื่อ 25 กันยายน 2024.
  111. AgriTech and Product Innovation in Hungarian Agriculture
  112. Stephen Wegren, บ.ก. (2003). Land Reform in Central and Eastern Europe after 1989. Routledge. ISBN 9781135790527. {{cite book}}: ตรวจสอบค่า |isbn=: checksum (help)
  113. "Land Registers in Hungary". European e-Justice Portal. สืบค้นเมื่อ 25 กันยายน 2024.
  114. "Rules for Foreigners Buying Farmland in Hungary". Budapest Business Journal. 28 ตุลาคม 2020. สืบค้นเมื่อ 25 กันยายน 2024.
  115. "Land Ownership Rules in Hungary". Hungarian Government Portal. สืบค้นเมื่อ 25 กันยายน 2024.
  116. "Elemzői reakciók az ipari termelési adatra (Analysts' Reaction on Industrial Production Data)" (ภาษาฮังการี). 7 April 2009. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 February 2012. สืบค้นเมื่อ 18 January 2010.
  117. "Food Industry". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 13 July 2011. สืบค้นเมื่อ 18 January 2010.
  118. "U.S.-Hungary Relations". U.S. Department of State. สืบค้นเมื่อ 25 กันยายน 2024.
  119. "Pályázat". Széchényi Terv Plusz. สืบค้นเมื่อ 25 กันยายน 2024.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  120. "Relations between Türkiye and Hungary". Republic of Türkiye Ministry of Foreign Affairs. สืบค้นเมื่อ 25 กันยายน 2024.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  121. "Hungary and Russia: Economic Relations in 2024". Budapest Business Journal. สืบค้นเมื่อ 25 กันยายน 2024.
  122. "Trade opportunities grow under BRI". China Daily. 9 พฤษภาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 25 กันยายน 2024.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  123. "Number one Thai instant noodle manufacturer scales up Esztergom base to expand in Europe". Hungarian Investment Promotion Agency (HIPA). สืบค้นเมื่อ 25 กันยายน 2024.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  124. "Thailand seeks economic collaboration with Hungary". Pattaya Mail. 15 มกราคม 2024. สืบค้นเมื่อ 25 กันยายน 2024.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  125. Zrt, HVG Kiadó (2019-11-22). "Itt a HVG 2020-as felsőoktatási toplistája: ezek a legjobb hazai egyetemek, főiskolák". eduline.hu (ภาษาฮังการี).
  126. "Népesség a település jellege szerint, január 1. (1980–)". Központi Statisztikai Hivatal. สืบค้นเมื่อ 7 เมษายน 2020.
  127. "Eurostat". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-11-24. สืบค้นเมื่อ 2011-06-24.
  128. "Human Development Indicators, Hungary". Human Development Reports, United Nations Development Programme. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 กรกฎาคม 2019.
  129. "The World Factbook". www.cia.gov. 31 ตุลาคม 2013. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 15 มกราคม 2014. สืบค้นเมื่อ 12 ธันวาคม 2013. {{cite web}}: ระบุ |accessdate= และ |access-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archivedate= และ |archive-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archiveurl= และ |archive-url= มากกว่าหนึ่งรายการ (help)
  130. "Archivált másolat". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 กรกฎาคม 2019. สืบค้นเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2014.
  131. European Commission. "Official Languages". สืบค้นเมื่อ 29 กรกฎาคม 2014.
  132. "2011 Hungary Census Report" (PDF). ksh.hu.
  133. "Magyarország Alaptörvénye" (PDF). Parlament.hu. Hungarian Parliament. สืบค้นเมื่อ 2 August 2014.
  134. Lásd: 1827. évi XI. törvénycikk a hazai nyelv müvelésére fölállitandó tudós társaságról vagy magyar akadémiáról | 1827. évi XII. törvénycikk azoknak nevei, a kik a tudós társaság fölállitására, vagy a hazai nyelv terjesztésére is ajánlatokat tettek, az utókor emlékezete végett törvénybe iktattatnak | 1840. évi XLII. törvénycikk a magyar tudós társaságra folytatva tett adakozásokról
  135. "Archivált másolat". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-02-08. สืบค้นเมื่อ 2017-01-17.
  136. "[BALASSI BLINT] Adj mr csendessget..." magyar-irodalom.elte.hu.
  137. https://herend.com/tortenet
  138. Herend Porcelain, official site, [5]
  139. Zsolnay Porcelain, [6]
  140. Hollóházi Porcelán, official site, [7]
  141. Porcelain in Hungary, [8]
  142. Hungarian Olympic Committee, [9]
  143. "Hungarian Art - Wikipedia".
  144. "Hungarian Sports Events". Hungarian Government. สืบค้นเมื่อ 25 กันยายน 2024.
  145. "Hungarian Grand Prix". Formula 1. สืบค้นเมื่อ 25 กันยายน 2024.
  146. "Hungarian Football History". UEFA. สืบค้นเมื่อ 25 กันยายน 2024.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]