ข้ามไปเนื้อหา

การรื้อถอนรั้วพรมแดนด้านที่ติดกับออสเตรียของฮังการี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ด่านพรมแดนระหว่างออสเตรียกับฮังการีในอดีตที่ถูกทิ้งร้าง

การรื้อถอนรั้วพรมแดนด้านที่ติดกับออสเตรียของฮังการี ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1989 ถือเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ของช่วงสงครามเย็นและเป็นเหตุการณ์เริ่มแรกของระลอกการปฏิวัติในทวีปยุโรปซึ่งเป็นที่รู้จักทั่วไปว่า ฤดูใบไม้ร่วงของประชาชาติ

ประวัติศาสตร์

[แก้]

เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม ค.ศ. 1989 สาธารณรัฐประชาชนฮังการีเริ่มดำเนินการรื้อถอนรั้วซึ่งกั้นพรมแดนด้านที่ติดกับออสเตรียระยะทางกว่า 240-กิโลเมตร (150-ไมล์) ส่งผลให้เกิดรูโหว่ในแนวม่านเหล็กขึ้นเป็นครั้งแรก[1] และจากการเปิดพรมแดนที่เชื่อมต่อกับโลกตะวันตกในครั้งนี้ เปิดโอกาสให้ชาวเยอรมันตะวันออกหลายร้อยคนที่พักผ่อนในช่วงวันหยุดในฮังการีสามารถหลบหนีไปยังออสเตรียและเดินทางต่อไปยังเยอรมนีตะวันตกได้อย่างปลอดภัย

การเปิดแนวพรมแดนของฮังการีในครั้งนี้สร้างความขุ่นเคืองให้กับรัฐบาลฝ่ายโซเวียตหลายแห่ง เนื่องจากพวกเขากลัวว่าสถานการณ์จะหวนกลับไปสู่ช่วงก่อนสร้างกำแพงเบอร์ลินที่ซึ่งชาวเยอรมันตะวันออกหลายพันคนต่างพากันหลบหนีไปยังเบอร์ลินตะวันตกทุกวัน ถึงแม้จะกังวลใจแต่สหภาพโซเวียตกลับไม่ใช้มาตรการตอบโต้ที่รุนแรงต่อฮังการี และเลือกที่จะใช้มาตรการไม่ยุ่งเกี่ยวกับกิจการภายในของรัฐอื่นแทน

นอกจากนี้การเปิดแนวพรมแดนยังหมายความว่าชาวฮังการีจะสามารถเดินทางข้ามไปยังออสเตรียเพื่อเลือกซื้อสินค้าหรือบริการได้ง่ายขึ้นอีกด้วย ส่งผลให้ชาวฮังการีจำนวนมากเดินทางข้ามไปยังออสเตรียเพื่อจับจ่ายใช้สอยและซื้อหาสินค้าอุปโภคบริโภคซึ่งไม่มีจำหน่ายหรือขาดแคลน โดยเหตุการณ์นี้ปรากฏเด่นชัดอย่างมากในช่วงสัปดาห์แรกของการเปิดพรมแดน ที่ซึ่งสามารถพบเห็นรถยนต์จำนวนมากผูกติดเครื่องซักผ้า (ที่เพิ่งซื้อมาใหม่) ไว้กับตัวถัง แล่นอยู่บนถนนในเขตเมืองของออสเตรียหลายแห่ง เช่น ในเมืองกราซ[ต้องการอ้างอิง]

การทะลักข้ามพรมแดนมายังฝั่งตะวันตกที่โด่งดังที่สุดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 19 สิงหาคมในปีเดียวกัน เมื่อมีการจัดงาน ปิกนิกสันถวไมตรี (friendship picnic) ที่เปิดให้ชาวออสเตรียและชาวฮังการีมารับประทานอาหารกลางแจ้งร่วมกันบริเวณชายแดนของทั้งสองประเทศ และมีชาวเยอรมันตะวันออกมากกว่า 900 คน เร่งรีบข้ามพรมแดนและหนีมายังออสเตรีย[2]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Stokes, G (1993), The Walls Came Tumbling Down, Oxford University Press, p. 131
  2. Woodard, Colin (10 September 2009), "How a picnic led to the fall of the Berlin Wall", Christian Science Monitor.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]