ราชอาณาจักรแฟรงก์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ราชอาณาจักรแฟรงก์

Imperium Francorum
L'Empire des Francs
ค.ศ. 481–ค.ศ. 843
อาณาเขตขอกราชอาณาจักรแฟรงก์ที่แผ่ไพศาลที่สุด
อาณาเขตขอกราชอาณาจักรแฟรงก์ที่แผ่ไพศาลที่สุด
วิวัฒนาการอาณาเขตของราชอาณาจักรแฟรงก์
วิวัฒนาการอาณาเขตของราชอาณาจักรแฟรงก์
เมืองหลวงตูร์แน (431–508)
ปารีส (508–768)
อาเคิน (795–843)
ภาษาทั่วไปแฟรงก์โบราณ
ศาสนา
ศาสนาคริสต์
การปกครองราชาธิปไตย
พระมหากษัตริย์ 
• ราว ค.ศ. 509–511
โคลวิสที่ 1
• ค.ศ. 768–814
ชาร์เลอมาญ[1][2]
• ค.ศ. 814–840
หลุยส์ผู้ศรัทธา
ยุคประวัติศาสตร์ยุคกลาง
ค.ศ. 481
• ชาร์เลอมาญรับราชาภิเษกเป็นจักรพรรดิโรมัน
25 ธันวาคม ค.ศ. 800
ค.ศ. 843
ก่อนหน้า
ถัดไป
จักรวรรดิโรมันตะวันตก
ราชอาณาจักรแฟรงก์ตะวันตก
ราชอาณาจักรแฟรงก์กลาง
ราชอาณาจักรแฟรงก์ตะวันออก

ราชอาณาจักรแฟรงก์[3] (อังกฤษ: Frankish Kingdom) หรือ แฟรนเซีย (อังกฤษ: Francia) เป็นดินแดนที่ตั้งถิ่นฐานและปกครองโดยชาวแฟรงก์ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 3 ถึงคริสต์ศตวรรษที่ 10 อาณาบริเวณเกิดจากการรณรงค์ที่ต่อเนื่องกันตั้งแต่ชาร์ล มาร์แตล (Charles Martel) พระเจ้าเปแป็งพระวรกายเตี้ย[4] และชาร์เลอมาญ-- พ่อ, ลูก, และหลาน--มามั่นคงเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 9

ธรรมเนียมของการแบ่งดินแดนของพ่อระหว่างลูกชายหมายความว่าดินแดนแฟรงก์ปกครองเป็นอย่างหลวม ๆ เป็นจักรวรรดิที่แบ่งย่อยเป็นส่วนย่อย ๆ (ราชอาณาจักร หรือ อนุราชอาณาจักร) ที่ตั้งและจำนวนอนุราชอาณาจักรก็ต่างกันไปตามเวลา แต่ฟรังเกียโดยทั่วไปมาหมายถึงบริเวณหนึ่งที่เรียกว่าออสเตรเชีย ที่มีศูนย์กลางอยู่ในบริเวณแม่น้ำไรน์ และแม่น้ำเมิซ (Meuse) ทางตอนเหนือของยุโรป แต่กระนั้นบางครั้งก็จะครอบคลุมไปถึงนิวสเตรีย (Neustria) ทางเหนือของแม่น้ำลัวร์ และทางตะวันตกของแม่น้ำแซนในที่สุดบริเวณนี้ก็เคลื่อนมาทางปารีส และมาสิ้นสุดลงในบริเวณลุ่มแม่น้ำแซนรอบ ๆ ปารีส ที่ยังใช้ชื่ออีล-เดอ-ฟร็องส์ และเป็นชื่อในที่สุดก็กลายเป็นชื่อของราชอาณาจักรฝรั่งเศสทั้งราชอาณาจักร

ประวัติศาสตร์[แก้]

ชาวแฟรงก์ในยุคโรมัน[แก้]

ชาวแฟรงก์โดยดั้งเดิมแล้วคือสมาพันธ์ชนเผ่าเจอร์มานิกทางตะวันออกของแม่น้ำไรน์ที่ตั้งแต่ปี ค.ศ. 257 เริ่มรุกรานอาณาเขตของโรมัน พวกเขาเป็นเพียงหนึ่งในสมาพันธ์ชนเผ่าเจอร์มานิกที่มีอยู่มากมายที่สร้างความเสียหายให้กับจักรวรรดิโรมันมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 3 และสร้างความลำบากให้กับจักรพรรดิโรมันในการรับมือกับการโจมตี ทะเลไม่ได้ปลอดภัยจากการโจมตีของชาวแฟรงก์เนื่องจากพวกเขาเป็นโจรสลัดที่มีความสามารถด้วยเช่นกัน แต่ชาวแฟรงก์ยังมีอิทธิพลในทางบวกต่อโรมจากการผลิตทหารให้กับกองทัพโรมัน และในปี ค.ศ. 358 ชาวซาเลียนแฟรงก์ได้รับอนุญาตจากจักรพรรดิจูเลียนให้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในอาณาเขตของโรมันที่อยู่ระหว่างแม่น้ำสเกลด์กับแม่น้ำเมิซได้ในฐานะฟอยเดราติ (พันธมิตร) ชาวแฟรงก์ตอบแทนด้วยการให้ความช่วยเหลือจักรวรรดิโรมันด้วยการให้กองทหารแลกกับเอกราชอย่างเด็ดขาดในพื้นที่ที่พวกเขาอาศัยอยู่

การขึ้นมาของชาวเมรอแว็งเฌียง[แก้]

ชาวซาเลียนแฟรงก์ไม่ใช่ชนชาวแฟรงก์กลุ่มเดียวที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในอาณาเขตของโรมัน ในราวปี ค.ศ. 430 ชาวแฟรงก์อีกกลุ่มได้รับอนุญาตให้ตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ทางตะวันตกของอาณาเขตของชาวซาเลียนแฟรงก์ ชาวแฟรงก์กลุ่มดังกล่าวมาจากทางตะวันออกของแม่น้ำไรน์และถูกเรียกว่าชาวริปูอาเรียนแฟรงก์ ครองพื้นที่ระหว่างแม่น้ำเมิซกับแม่น้ำไรน์ ชาวแฟรงก์กลุ่มที่ยังคงอยู่ในอาณาเขตดั้งเดิมของชาวแฟรงก์ทางตะวันอออกของแม่น้ำไรน์ ถูกเรียกว่าชาวแฟรงก์ตะวันออก ชนชั้นผู้นำของชาวแฟรงก์คือชาวซาเลียนแฟรงก์ กษัตริย์ของพวกเขารวมชาวแฟรงก์ทั้งหมดเข้าด้วยกันในช่วงครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 5 กษัตริย์เหล่านี้เรียกตัวเองว่า ราชวงศ์เมรอแว็งเฌียง เพราะพวกเขาสืบเชื้อสายมาจากเมรอเวช ที่ชาวแฟรงก์เชื่อกันว่าเป็นบุตรชายของสิ่งมีชีวิตจากสวรรค์

กษัตริย์เมรอแว็งเฌียงที่มีชื่อเสียงที่สุดคือโคลวิสที่ขึ้นครองบัลลังก์ในราวปี ค.ศ. 482 พระองค์ถูกบีบตั้งแต่ช่วงต้นรัชสมัยให้ต่อสู้กับผู้นำชาวแฟรงก์คู่แข่งที่ถูกพระองค์สังหารอย่างโหดเหี้ยม เศษสุดท้ายของจักรวรรดิโรมันตะวันตกถูกพิชิตในปี ค.ศ. 486 เมื่อโคลวิสปราบซีอากริอุสที่เคยปกครองกอลตอนเหนือ พื้นที่ส่วนนั้นของราชอาณาจักรของชาวแฟรงก์ถูกเรียกว่าเนอุสเตรีย (ดินแดนใหม่) ตรงข้ามกับออสตราเชีย (ดินแดนตะวันออก) ที่เป็นอาณาเขตใจกลางดั้งเดิมของชาวแฟรงก์ ทว่าการพิชิตของโคลวิสไปไกลกว่านั้นมาก พระองค์โจมตีและปราบสมาพันธ์ชนเผ่าเจอร์มานิกอาเลมันนิในราวปี ค.ศ. 496 เพิ่มอาณาเขตขนาดใหญ่ให้กับอาณาจักรของตน อิทธิพลจากพระราชินีชาวเบอร์กันเดียน โคลทิลดา โน้มน้าวพระองค์ให้เปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์หลังทำสมรภูมิกับชาวอาเลมันนิ การตัดสินใจเข้าร่วมศาสนจักรคาทอลิกแทนที่จะเป็นนิกายอาเรียนของศาสนาคริสต์เหมือนกับชนชาวเจอร์มานิกคนอื่น ๆ มีความสำคัญต่อโคลวิสอย่างมาก เนื่องจากทำให้พระองค์ได้รับการสนับสนุนจากประชากรในราชอาณาจักรเพื่อนบ้านที่มองว่าชาวอาเรียนเป็นพวกนอกรีต

ทว่าการต่อสู้กับชาวอาเลอมันนิไม่จบลงจนถึงปี ค.ศ. 502 เมื่ออาณาเขตทั้งหมดของพวกเขาถูกพิชิตโดยชาวแฟรงก์ ยกเว้นพื้นที่เล็ก ๆ ที่ได้รับการคุ้มกันจากชาวออสโทรกอธ ก่อนหน้านั้นบริตทานีถูกบีบให้สวามิภักดิ์แม้พวกเขาจะได้เอกราชที่สำคัญมาก็ตาม การพิชิตครั้งสุดท้ายของโคลวิสคืออากีแตนที่ได้มาจากชาววิซิกอธในปี ค.ศ. 507 การแทรกแซงจากชาวออสโทรกอธขัดขวางไม่ให้พิชิตราชอาณาจักรของชาววิซิกอธได้อย่างสมบูรณ์ การสู้รบยังส่งผลให้โคลวิสได้รับแต่งตั้งเป็นกงสุลโรมันโดยจักรพรรดิโรมันตะวันออก ซึ่งยิ่งเพิ่มความเกรียงไกรให้กับราชอาณาจักรของชาวแฟรงก์และทำให้การอ้างสิทธิ์ในการเป็นทายาทของจักรวรรดิโรมันของพวกเขาได้รับความน่าเชื่อถือมากขึ้น

เมื่อโคลวิสสิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 511 ราชอาณาจักรถูกแบ่งให้กับพระโอรสทั้งสี่ของพระองค์ รูปแบบดังกล่าวนี้จะเกิดขึ้นซ้ำในช่วงศตวรรษต่อมาและทำให้ราชอาณาจักรแฟรงก์เป็นหนึ่งเดียวกันเพียงช่วงสั้น ๆ ทว่ากษัตริย์เมรอแว็งเฌียงชอบการรบราฆ่าฟันและหลายคนสิ้นพระชนม์ก่อนที่จะมีพระโอรสจึงทำให้ราชอาณาจักรไม่แตกออกจากกันอย่างถาวร แต่ผลที่ตามมาหลังการแบ่งคือกษัตริย์เมรอแว็งเฌียงเริ่มต่อสู้กันเองมากกว่าจะต่อสู้กับศัตรูภายนอก ยกเว้นช่วงปี ค.ศ. 531 – 537 ที่ราชอาณาจักรแฟรงก์พิชิตอาณาเขตอันกว้างใหญ่ไพศาลได้อีกครั้ง ราชอาณาจักรของชาวธูรินเจียนถูกทำลายและส่วนหนึ่งถูกพิชิตในปี ค.ศ. 531 ราชอาณาจักรของชาวเบอร์กันเดียนถูกพิชิตในปี ค.ศ. 532 – 534 และผลของการทำสงครามกับชาวออสโทรกอธของจักรพรรดิโรมันตะวันออกทำให้ชาวออสโทรกอธถูกบีบให้ยกส่วนที่เหลืออยู่ของอาเลมันนิกับโพรวองซ์ให้ราชอาณาจักรของชาวแฟรงก์ในปี ค.ศ. 536 – 537 แลกกับการเป็นกลางของชาวแฟรงก์ ในเวลาเดียวกันบาวาเรียถูกบีบให้ยอมรับอำนาจที่เหนือกว่าของชาวแฟรงก์และราชอาณาจักรของชาวแฟรงก์สร้างความแข็งแกร่งในการควบคุมอากีแตนได้มากขึ้น

การตกต่ำของชาวเมรอแว็งเฌียงและขึ้นมาของชาวการอแล็งเฌียง[แก้]

การแบ่งราชอาณาจักรที่ดำเนินต่อไปในหมู่ชาวเมรอแว็งเฌียงส่งผลให้ราชอาณาจักรของชาวแฟรงก์แตกออกเป็นสามส่วน นูเอสเตรียทางตะวันตก, ออสตราเชียทางตะวันออก และเบอร์กันดีทางใต้ พื้นที่รอบนอกอย่างบริตทาเนีย, อากีแตน, อาเลมันนิ, ธูรินเจีย และบาวาเรียมักพยายามกอบกู้เอกราชและการต่อสู้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าระหว่างชาวเมรอแว็งเฌียงทำให้พวกเขามีโอกาสทำแบบนั้นได้มากขึ้น ชาวธูรินเจียนได้รับเอกราชหลังการสิ้นพระชนม์ของดาโกแบร์ต์ที่ 1 ในปี ค.ศ. 639 อากีแตนปฏิเสธที่จะยอมรับการปกครองของเมริวินเจียนหลังการฆาตกรรมชิลเดริกที่ 2 ในปี ค.ศ. 675 รัฐที่เป็นเอกราชอยู่แล้วอย่างบริตทานีกับบาวาเรียปลดปล่อยตนเองจากชาวแฟรงก์ในช่วงครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 7 สุดท้ายอาเลมันนิหาทางจนได้เอกราชมาในปี ค.ศ. 709 – 712 การพิชิตที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันเทียบไม่ได้กับส่วนที่สูญเสียไป พื้นที่เล็ก ๆ ในเทือกเขาแอลป์ถูกพิชิตมาจากชาวลอมบาร์ดในปี ค.ศ. 575 และฟรีสแลนด์ตะวันตกถูกพิชิตในปี ค.ศ. 689 แต่ชาวฟรีเชียนก็ทำเหมือนกับพื้นที่ที่อยู่รอบนอกแห่งอื่น ๆ พยายามกอบกู้อิสรภาพกลับคืนมาหลายครั้ง

กษัตริย์เมรอแว็งเฌียงไม่ได้เสียแค่อาณาเขตในช่วงยุคนี้ อำนาจของพวกเขาในพื้นที่ที่เหลืออยู่ของราชอาณาจักรของชาวแฟรงก์ก็ถูกลดลงเช่นกัน เป็นผลมาจากการมีกษัตริย์ที่อายุต่ำกว่าเกณฑ์ ตำแหน่งสมุหราชมนเทียรถูกตั้งขึ้นมาเพื่อดูแลราชอาณาจักรจนกว่าพวกเขาจะถึงวัยที่สมควร แต่เมื่อมันกลายเป็นตำแหน่งถาวรและสืบทอดทางสายเลือด ผู้ครองตำแหน่งเหล่านี้ก็กลายเป็นผู้ปกครองที่แท้จริงของราชอาณาจักรของชาวแฟรงก์แม้แต่ในตอนที่มีกษัตริย์เป็นผู้ใหญ่ ในสมรภูมิที่เตอร์ตรีในปี ค.ศ. 687 สมุหราชมนเทียรแห่งนูเอสเตรียกับเบอร์กันดีถูกปราบโดยผู้ที่มีตำแหน่งเดียวกันในออสตราเชีย เปแปงแห่งเฮริสตันที่ภายหลังปกครองราชอาณาจักรแฟรงก์ทั้งหมด

เมื่อเปแปงแห่งเฮริสตันตายในปี ค.ศ. 714 หลานชายวัย 6 ปีของเขา เธอโดลด์ กลายเป็นสมุหราชมนเทียรคนใหม่ ตำแหน่งที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อดูแลราชอาณาจักรในยามที่กษัตริย์เป็นผู้เยาว์บัดนี้เติบโตขึ้นมามีอำนาจมากจนตัวเองสามารถถูกสืบทอดได้โดยคนที่ยังเป็นผู้เยาว์ แต่บุตรชายนอกกฎหมายของเปแปง ชาร์ลส์ มาร์แตล ไม่ยอมรับการถ่ายโอนอำนาจครั้งนี้และประกาศตนเป็นสมุหราชมนเทียรและกลายเป็นผู้ปกครองคนแรกของราชวงศ์การอแล็งเฌียงที่ริบอำนาจของชาวเมรอแว็งเฌียงมาได้ หลายทศวรรษต่อมาสงครามเกิดขึ้นไม่ขาดเมื่อชาวการอแล็งเฌียงพยายามพิชิตอาณาเขตที่เสียไปกลับคืนมาและรับมือกับการโจมตีจากชาวอาหรับ ที่การรุกรานของพวกเขาในปี ค.ศ. 732 ถูกขับไล่ออกไปในสมรภูมิที่ปัวติเยร์ส์ การต่อสู้เพื่อสร้างความเป็นหนึ่งเดียวให้กับราชอาณาจักรนั้นยากลำบากแต่ก็ประสบความสำเร็จ ธูรินเจีย, อาเลมันนิ และบาวาเรียสุดท้ายก็ถูกปราบในปี ค.ศ. 744 บาวาเรียกรักษาเอกราชเก่าแก่ของตนไว้ได้แต่ยกพื้นที่ที่อยู่ตอนเหนือของแม่น้ำดานูบทั้งหมดให้ ชาวแฟรงก์ยึดอำนาจเหนือเกาะบาเลียริกในปี ค.ศ. 754 และพิชิตเซปติมาเนียมาจากชาวอาหรับในปี ค.ศ. 759 อากีแตนถูกพิชิตอีกครั้งในปี ค.ศ. 768 การสานสัมพันธไมตรีกับพระสันตะปาปานำไปสู่การสู้รบสองครั้งกับชาวลอมบาร์ดที่ประสบความสำเร็จในปี ค.ศ. 754 และ 756 ในเวลาเดียวกันชาวการอแล็งเฌียงเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับอำนาจของตนภายในราชอาณาจักของชาวแฟรงก์ และเปแปงผู้ตัวเตี้ยถอดกษัตริย์เมรอแว็งเฌียงคนสุดท้ายออกจากตำแหน่งในปี ค.ศ. 751 และทำให้ตนเองได้รับเลือกเป็นกษัตริย์

จักรวรรดิการอแล็งเฌียง[แก้]

เปแปงผู้ตัวเตี้ยสิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 768 และทิ้งราชอาณาจักรที่แข็งแกร่งที่สุดของยุโรปตะวันตกไว้ให้พระโอรสสองคน ชาร์เลอมาญกับแกร์โลมอง แกร์โลมองสิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 771 และชาร์เลอมาญใช้แหล่งทรัพยากรที่มีอยู่ของราชอาณาจักรที่เป็นหนึ่งเดียวกันขยายอาณาเขตออกไปทุกทิศทุกทาง เมื่อชาวลอมบอร์ดคุกคามพระสันตะปาปาอีกครั้ง ชาร์เลอมาญบุกอิตาลีและตั้งตนเองเป็นกษัตริย์ของชาวลอมบาร์ดในปี ค.ศ. 774 ทว่าราชรัฐชั้นเจ้าชายเบเนเวนโตของชาวลอมบาร์ดในอิตาลียอมรับการเป็นใหญ่เหนือกว่าของชาร์เลอมาญเพียงช่วงสั้น ๆ แตกต่างกับการพิชิตอาณาจักรของชาวลอมบาร์ดที่ทำได้อย่างรวดเร็ว การปราบชาวแซ็กซันทางตะวันออกเฉียงเหนือ (ค.ศ. 772 – 804) นั้นยาวนานและนองเลือด เพื่อทำลายความคิดที่จะต่อต้านของชาวแซ็กซัน ชาร์เลอมาญสังหารหมู่พวกเขาเป็นพัน ๆ คนและเนรเทศชาวแซ็กซันออกจากพื้นที่ ทำให้ชาวแฟรงก์กับชาวสลาฟเข้ามาแทนที่ แคว้นจึงสงบลงในท้ายที่สุด บาวาเรียที่มักเป็นข้าราชบริพารที่ไว้ใจไม่ได้ถูกผนวกเข้ากับราชอาณาจักรของชาวแฟรงก์ในปี ค.ศ. 788 หลังดยุคของรัฐสมคบคิดกับชาวลอมบาร์ดและชาวอาวาร์ จักรวรรดิของชาวอาวาร์ที่มีศูนย์กลางอยู่ในฮังการีถูกบดขยี้ในปี ค.ศ. 791 – 796 ทำให้พื้นที่ของชาวสลาฟในยุโรปกลางยอมรับความเป็นใหญ่เหนือกว่าของชาร์เลอมาญ ฟรีสแลนด์ตะวันออกถูกพิชิตในปี ค.ศ. 784 – 785 และบริตทานียอมรับอำนาจที่เหนือกว่าของชาวแฟรงก์ในปี ค.ศ. 799 การสู้รบกับชาวอาหรับไม่ค่อยประสบความสำเร็จแต่ชาร์เลอมาญก็หาทางขยายอิทธิพลไปจนถึงแม่น้ำเอโบรได้ในปี ค.ศ. 812 แม้ชาวอาหรับจะเอาคืนด้วยการยึดเกาะบาเลียริกในปี ค.ศ. 798

การพิชิตของชาร์เลอมาญนั้นใหญ่มากจนผู้คนมองว่าพระองค์ได้ฟื้นฟูจักรวรรดิโรมันตะวันตกกลับคืนมา หลังจากนั้นชาร์เลอมาญได้รับการราชาภิเษกเป็นจักรพรรดิโดยพระสันตะปาปาในปี ค.ศ. 800 แต่ธรรมเนียมการแบ่งราชอาณาจักรกันในหมู่พระโอรสของกษัตริย์ของชาวแฟรงก์ทำให้ความเป็นหนึ่งเดียวคงอยู่เพียงชั่วคราว ราชอาณาจักรของชาวแฟรงก์ยังเป็นรัฐศักดินาร่วมกับการทำสงครามหาผลประโยชน์ด้วยการปล้นประเทศเพื่อนบ้าน เมือราชอาณาจักรขยายอาณาเขตออกไป การปล้นหาผลประโยชน์ก็ลดลงพอ ๆ กับความจงรักภักดีของขุนนางในยามที่มองไม่เห็นโอกาสที่จะได้รางวัลมากมายจากการรับใช้ จึงทำให้จักรวรรดิของชาวแฟรงก์หลังการสิ้นพระชนม์ของชาร์เลอมาญในปี ค.ศ. 814 พังครืนภายใต้แรงกดดันทั้งจากภายในและภายนอก จนทำให้แตกออกเป็นรัฐศักดินาเล็ก ๆ จำนวนมากมาย

อ้างอิง[แก้]

  1. Chronique.com: Charlemagne the King[1]
  2. CATHOLIC ENCYCLOPEDIA: Charlemagne[2]
  3. ราชบัณฑิตยสถาน, สารานุกรมประเทศในทวีปยุโรป ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, ราชบัณฑิตยสถาน, 2550, หน้า 41
  4. CATHOLIC ENCYCLOPEDIA: Pepin the Short[3]

แหล่งข้อมูล[แก้]

http://www.tacitus.nu/historical-atlas/francia.htm