ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ประเทศไทย)
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เป็นภาษีทางตรงซึ่งที่จัดเก็บตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายรัษฎากร จัดเก็บจากเงินได้ทุกประเภท ตามหลักเกณฑ์เงินสด หากเงินได้ประเภทใดที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีนั้น จะต้องบัญญัติไว้โดยกฎหมายว่าเงินได้ประเภทนั้นได้รับการยกเว้น หน่วยงานรัฐบาลที่มีหน้าที่จัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คือ กรมสรรพากร [1]
หลักแหล่งเงินได้และหลักถิ่นที่อยู่
[แก้]ประเทศไทยจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามหลักแหล่งเงินได้และหลักถิ่นที่อยู่
ตามหลักแหล่งเงินได้นั้น ไม่สำคัญว่าบุคคลนั้นจะมีสัญชาติใด และไม่สำคัญว่าเงินได้พึงประเมินนั้นจะจ่ายจากหรือจ่ายในประเทศไทย หากมีเงินได้พึงประเมินในปีปฏิทินที่ผ่านมา จากหน้าที่งานหรือกิจการที่ทำในประเทศไทย หรือเนื่องจากกิจการของนายจ้างในประเทศไทย หรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย บุคคลนั้น ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จากเงินได้พึงประเมินที่ได้รับตามบทบัญญัติในประมวลรัษฎากร
ในส่วนของหลักถิ่นที่อยู่ ผู้ที่อยู่ในประเทศไทยอย่างน้อย 180 วันในหนึ่งปีปฏิทินนั้น ถือว่าเป็นผู้อยู่ในประเทศไทย เมื่อมีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว จากหน้าที่งานหรือกิจการที่ทำในต่างประเทศ หรือ เนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศ ต้องเสียภาษีตามบทบัญญัติในประมวลรัษฎากร เมื่อนำเงินได้นั้นเข้ามาในประเทศไทย ในปีปฏิทินเดียวกันกับที่ได้รับเงินได้พึงประเมินนั้น
ประเภทของเงินได้พึงประเมิน
[แก้]ประมวลรัษฎากรบัญญัติประเภทของเงินได้พึงประเมินไว้ใน มาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร โดยแบ่งออกเป็น 8 ประเภท ดังนี้
- เงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน
- เงินได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ
- เงินได้จากค่าสิทธิ
- เงินได้จากการลงทุนในทรัพย์สิน (Capital Gains)
- เงินได้จากการให้เช่า
- เงินได้จากวิชาชีพอิสระ
- เงินได้จากการรับเหมาที่ผู้รับเหมาต้องลงทุน ด้วยการจัดหาสัมภาระในส่วนสำคัญนอกจากเครื่องมือ
- เงินได้จากการธุรกิจ หรือเงินได้อื่นๆ นอกจากกล่าวไว้ข้างต้น
เงินได้พึงประเมินที่ได้รับการยกเว้น
[แก้]เงินได้พึงประเมินที่ได้รับการยกเว้น ไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้น บัญญัติไว้ในมาตรา 42 แห่งประมวลรัษฎากร และกฎกระทรวงฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ซึ่งได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมอีกหลายครั้ง โดยกฎกระทรวงที่ออกมาในภายหลัง เงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นที่สำคัญๆนั้น สามารถยกตัวอย่างได้ดังต่อไปนี้
- ค่าเบี้ยเลี้ยงหรือค่าพาหนะ ซึ่งลูกจ้างได้จ่ายไปโดยสุจริต ตามความจำเป็นเฉพาะในการที่ต้องปฏิบัติตามหน้าที่ของตน และได้จ่ายทั้งหมดในการนั้น
- ค่าพาหนะและเบี้ยเลี้ยงเดินทาง ตามอัตราที่รัฐบาลกำหนดไว้ โดยพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยอัตราค่าพาหนะและค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทาง
- เงินค่าเดินทางซึ่งนายจ้างจ่ายให้ลูกจ้าง เฉพาะส่วนที่ลูกจ้างได้จ่ายทั้งหมด โดยจำเป็นเพื่อการเดินทางจากต่างถิ่นในการเข้ารับงานเป็นครั้งแรก หรือในการกลับถิ่นเดิมเมื่อการจ้างได้สิ้นสุดลงแล้ว แต่ข้อยกเว้นนี้ มิให้รวมถึงเงินค่าเดินทางที่ลูกจ้างได้รับในการกลับถิ่นเดิม และในการเข้ารับงานของนายจ้างเดิมภายในสามร้อยหกสิบห้าวัน นับแต่วันที่การจ้างครั้งก่อนได้สิ้นสุดลง
- การขายสังหาริมทรัพย์อันเป็นมรดก หรือสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไร แต่ไม่รวมถึงเรือกำปั่น เรือที่มีระวางตั้งแต่หกตันขึ้นไป เรือกลไฟ หรือเรือยนต์ที่มีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป หรือแพ
- เงินได้ที่ได้รับจากการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยา เงินได้ที่ได้รับจากการรับมรดก หรือจากการให้โดยเสน่หา เนื่องในพิธีหรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี
- เงินส่วนแบ่งของกำไรจากห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ซึ่งต้องเสียภาษีตามบทบัญญัติในส่วนนี้ แต่ไม่รวมถึงเงินส่วนแบ่งของกำไรจากกองทุนรวม
- เงินได้จากการโอนกรรมสิทธิ์ หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ ให้แก่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของตนโดยไม่มีค่าตอบแทน บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวไม่รวมถึงบุตรบุญธรรมด้วย
- เงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ อันเป็นมรดกหรือสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับจากการให้โดยเสน่หา ที่ตั้งอยู่นอกเขตกรุงเทพมหานคร เทศบาล สุขาภิบาล หรือเมืองพัทยา หรือการปกครองท้องถิ่นอื่นที่มีกฎหมายจัดตั้งขึ้นโดยเฉพาะ ทั้งนี้ เฉพาะเงินได้จากการขายในส่วนที่ไม่เกิน 200,000 บาท ตลอดปีภาษีนั้น
- เงินได้ เท่าที่ลูกจ้างจ่ายเป็นเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในอัตราไม่เกินร้อยละ 15 ของค่าจ้างเฉพาะส่วนที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 290,000 บาท สำหรับปีภาษีนั้น
- เงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่ลูกจ้างได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เมื่อลูกจ้างออกจากงานเพราะเกษียณอายุทุพพลภาพ หรือตาย ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไขและวิธีการที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด
เป็นต้น
ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
[แก้]ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ได้แก่
- บุคคลธรรมดา
- ห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล
- ผู้ถึงแก่ความตายระหว่างปีปฏิทิน
- กองมรดกที่ยังมิได้แบ่ง
ในส่วนของคู่สามีภริยาที่ความเป็นสามีภรรยาคงอยู่ตลอดปีภาษีนั้น ให้ต่างฝ่ายต่างมีหน้าที่ยื่นรายการและเสียภาษี[2] ต่างมีหน้าที่ยื่นรายการและเสียภาษีต่างหากจากกัน และแบ่งเงินได้พึงประเมินที่สามีและภริยาทำร่วมกัน หรือสามีและภริยาจะตกลงเลือกยื่นรายการและเสียภาษีรวมกันก็ได้
กรณีเงินได้พึงประเมินที่ไม่อาจแยกได้อย่างชัดแจ้งว่าเป็นของสามี หรือภริยาฝ่ายละจำนวนเท่าใดตามมาตรา 40(2) - 40(8) ให้แบ่งสัดส่วนคนละ 50% ของเงินได้ประเภทนั้น เฉพาะเงินได้ตามมาตรา 40 (8) จากการขายสินค้า การพาณิชย์ การขนส่ง ฯลฯ ให้สามีภรรยาเลือกแบ่งเป็นของแต่ละฝ่ายตามส่วนที่ตกลงกันก็ได้ แต่รวมกันต้องไม่น้อยกว่าเงินได้พึงประเมินที่ได้รับ ถ้าตกลงกันไม่ได้ให้แบ่งกันฝ่ายละกึ่ง ส่วนสิทธิประโยชน์ที่สามีภริยาได้รับเพิ่ม กรณีการหักค่าลดหย่อน มี 3 รายการ คือ ค่าลดหย่อนบุตรได้คนละ 15,000 บาท ค่าลดหย่อนการศึกษาบุตรได้คนละ 2,000 บาท และค่าลดหย่อนดอกเบี้ยกู้ยืมซื้อที่อยู่อาศัย สามีและภริยาต่างฝ่ายต่างกู้ยืม มีเงินได้ทั้ง 2 ฝ่าย ต่างฝ่ายหักได้คนละ 100,000 บาท [3]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-10-23. สืบค้นเมื่อ 2006-11-07.
- ↑ "ยื่นภาษีออนไลน์ 2566 สำหรับบุคคลธรรมดามือใหม่ใช้เสียภาษีเอง". เพื่อนแท้เงินด่วน. 2023-06-03.
- ↑ http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1359113043&grpid=&catid=05&subcatid=0501
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรมสรรพากร เก็บถาวร 2010-11-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน