สฺวิน อี่
สฺวิน อี่ | |
---|---|
荀顗 | |
ราชครูประจำองค์รัชทายาท (太子太傅 ไท่จื่อไท่ฟู่) (รักษาการ) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. 266 – ค.ศ. 274 | |
กษัตริย์ | สุมาเอี๋ยน |
เสนาบดีกลาโหม (太尉 ไท่เว่ย์) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. 266 – ค.ศ. 274 | |
กษัตริย์ | สุมาเอี๋ยน |
เสนาบดีมหาดไทย (司徒 ซือถู) | |
ดำรงตำแหน่ง 266 | |
กษัตริย์ | สุมาเอี๋ยน |
เสนาบดีโยธาธิการ (司空 ซือคง) | |
ดำรงตำแหน่ง 30 มิถุนายน ค.ศ. ค.ศ. 264 – ค.ศ. 265 | |
กษัตริย์ | โจฮวน |
ก่อนหน้า | หวาง เสียง |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | ต้นคริสต์ทศวรรษ 200[a] |
เสียชีวิต | 19 มิถุนายน ค.ศ. 274[1] |
คู่สมรส | ไม่ทราบ |
บุพการี |
|
อาชีพ | ขุนนาง |
ชื่อรอง | จิ่งเชี่ยน (景倩) |
สมัญญานาม | คางกง (康公) |
บรรดาศักดิ์ | หลินหฺวายกง (臨淮公) |
สฺวิน อี่ (จีน: 荀顗; พินอิน: Xún Yǐ; ต้นคริสต์ทศวรรษ 200 - 19 มิถุนายน ค.ศ. 274[b]) ชื่อรอง จิ่งเชี่ยน (จีน: 景倩; พินอิน: Jǐngqiàn) เป็นขุนนางของรัฐวุยก๊กในยุคสามก๊กของจีน หลังการล่มสลายของวุยก๊ก สฺวิน อี่ยังคงรับราชการต่อไปกับราชวงศ์จิ้นซึ่งแทนที่วุยก๊กในปี ค.ศ. 266 สฺวิน อี่เป็นบุตรชายคนที่ 6 ของซุนฮก (荀彧 สฺวิน ยฺวี่)[1]
ภูมิหลังครอบครัวและประวัติช่วงต้น
[แก้]บ้านเกิดตามบรรพบุรุษของสฺวิน อี่คือในเมืองเองฉวน (穎川郡 อิ่งชฺวานจฺวิ้น; อยู่บริเวณนครสฺวี่ชาง มณฑลเหอหนานในปัจจุบัน) สฺวิน อี่เกิดในตระกูลตระกูลซุน (荀 สฺวิน) ซึ่งเป็นตระกูลทรงอิทธิพล โดยสฺวิน อี่เป็นบุตรชายคนที่ 6 ของซุนฮก (荀彧 สฺวิน ยฺวี่) รัฐบุรุษที่มีชื่อเสียงในช่วงปลายยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันออกและเป็นที่ปรึกษาของขุนศึกโจโฉ เมื่อสฺวิน อี่อยู่ในวัยเยาว์ ตันกุ๋นผู้เป็นพี่เขย (ตันกุ๋นสมรสกับพี่สาวของสฺวิน อี่) ชื่นชมสฺวิน อี่อย่างมาก ก่อนสฺวิน อี่เข้าสู่วัยรุ่น ก็มีชื่อเสียงในเรื่องความกตัญญู ความรอบรู้ ความมองการณ์ไกล และความละเอียดรอบคอบ[3]
รับราชการในวุยก๊ก
[แก้]เนื่องจากความดีความชอบในอดีตของบิดา สฺวิน อี่จึงได้รับการแต่งตั้งเป็นนายทหารมหาดเล็ก (中郎 จงหลาง) ในรัฐวุยก๊ก เมื่อสุมาอี้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แห่งวุยก๊ก สุมาอี้เห็นว่าสฺวิน อี่เป็นผู้มีความสามารถที่หาได้ยากและครั้งหนึ่งเคยกล่าวว่า "บุตรชายของท่านหัวหน้าซุนเทียบได้กับยฺเหวียน ข่าน (袁侃) บุตรชายของเย่าชิง (曜卿)[c]"[4] ภายหลังสฺวิน อี่ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นเจ้าพนักงานทหารม้ามหาดเล็ก (散騎侍郎 ซ่านฉีชื่อหลาง) จากนั้นได้เป็นขุนนางมหาดเล็ก (侍中 ชื่อจง)[5]
สฺวิน อี่เป็นพระอาจารย์ของโจฮองจักรพรรดิวุยก๊กลำดับที่ 3 สฺวิน อี่ยังได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกองทหารม้า (騎都尉 ฉีตูเว่ย์) และได้รับบรรดาศักดิ์ระดับกวนไล่เหา (關內侯 กวานเน่ย์โหว) สฺวิน อี่ศึกษาตำราอี้จิงกับจงโฮย และถกประเด็นทางปรัชญากับซือหม่า จฺวิ้น (司馬駿) ในเรื่องค่านิยมเหริน (仁; มนุษยธรรม) และเซี่ยว (孝; ความกตัญญู) ในลัทธิขงจื๊อ[6]
ในช่วงที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์โจซองกุมอำนาจตั้งแต่ ค.ศ. 239 ถึง ค.ศ. 249[7] ขุนนางโฮอั๋นและคนอื่น ๆ ต้องการทำร้ายเปาต้าน แต่สฺวิน อี่ช่วยเปาต้านไว้ หลังผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์สุมาสูปลดโจฮองและตั้งโจมอเป็นจักรพรรดิแห่งวุยก๊กในปี ค.ศ. 254[8] สฺวิน อี่แนะนำสุมาสูให้ใช้โอกาสนี้ในการประกาศการตั้งจักรพรรดิองค์ใหม่และคอยดูการตอบสนองของคู่แข่งทางการเมืองที่สำคัญ ในปีเดียวกันนั้น[8] ขุนพลบู๊ขิวเขียมและบุนขิมต่อต้านการเปลี่ยนจักรพรดิของสุมาสู และเริ่มก่อกบฏในอำเภอฉิวฉุน (壽春 โช่วชุน; อยู่บริเวณอำเภอโช่ว มณฑลอานฮุยในปัจจุบัน) สฺวิน อี่ช่วยเหลือสุมาสูในการปราบปรามกบฏ จากความดีความชอบนี้ สฺวิน อี่จึงได้รับบรรดาศักดิ์เป็นว่านซุ่ยถิงโหว (萬歲亭侯) และมีศักดินา 400 ครัวเรือน[9]
หลังการเสียชีวิตของสุมาสูในปี ค.ศ. 255 สุมาเจียวน้องชายของสุมาสูขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์คนใหม่[8] สฺวิน อี่ได้เลื่อนขึ้นเป็นราชเลขาธิการ (尚書 ช่างชู) ระหว่าง ค.ศ. 257 และ ค.ศ. 258[10] ในช่วงที่สุมาเจียวทำศึกปราบกบฏที่นำโดยจูกัดเอี๋ยน สุมาเจียวมอบหมายให้สฺวิน อี่อยู่รักษานครหลวงลกเอี๋ยง (洛陽 ลั่วหยาง) ระหว่างที่ตัวสุมาเจียวไม่อยู่ ในปี ค.ศ. 260[10] หลังต้านท่ายที่เป็นหลานน้าของสฺวิน อี่เสียชีวิต สฺวิน อี่ขึ้นสืบทอดตำแหน่งรองราชเลขาธิการ (僕射 ผูเช่อ) และรับผิดชอบกำกับกรมบุคคลากร หลังจากสฺวิน อี่รับช่วงกำกับกรม ก็ได้นำแนวทางที่เข้มงวดขึ้นมาใช้เพื่อให้มั่นใจว่ามีการคัดเลือกและแต่งตั้งขุนนางเข้ารับราชการอย่างรอบคอบ ในช่วงศักราชเสียนซี (咸熙; ค.ศ. 264-265) ในรัชสมัยของโจฮวนจักรพรรดิลำดับสุดท้ายของวุยก๊ก สฺวิน อี่ดำรงตำแหน่งเป็นเสนาบดีโยธาธิการ (司空 ซือคง) และได้เลื่อนบรรดาศักดิ์จากโหวระดับหมู่บ้านเป็นโหวระดับตำบล[11]
สฺวิน อี่มีชื่อเสียงในเรื่องความกตัญญู ซึ่งยังคงรักษาคุณธรรมข้อนี้ไว้แม้จะมีอายุในวัยหกสิบปีแล้ว เมื่อมารดาของสฺวิน อี่เสียชีวิต สฺวิน อี่ลาออกจาตำแหน่งเพื่อไว้ทุกข์และแสดงความโศกเศร้าอย่างลึกซึ้งต่อการเสียชีวิตของมารดา สฺวิน อี่จึงได้รับการยกย่องจากคนร่วมสมัยจากเรื่องกตัญญู สุมาเจียวยังจัดหาทหารมาคุ้มกันในสฺวิน อี่เมื่อสฺวิน อี่เดินทางไปที่ไหน ๆ ในปี ค.ศ. 265[12] หลังรัฐวุยก๊กพิชิตจ๊กก๊กอันเป็นรัฐอริรัฐหนึ่งลงได้ วุยก๊กต้องการฟื้นฟูระบบบรรดาศักดิ์ห้าขั้น สฺวิน อี่จึงได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบกระบวนการดังกล่าว สฺวิน อี่เสนอต่อราชสำนักให้มอบหมายเอียวเก๋า, เริ่น ข่าย (任愷), เกิง จฺวิ้น (庚峻), อิง เจิน (應貞) และข่ง เฮ่า (孔顥) มาช่วยเหลือตน ทั้งหมดร่วมกันร่างชุดระเบียบและธรรมเนียมในการปกครอง สฺวิน อี่ยังได้เลือนบรรดาศักดิ์จากโหวระดับตำบลเป็นโหวระดับอำเภอในชื่อบรรดาศักดิ์ว่า "หลินหฺวายโหว" (臨淮侯)[13]
รับราชการกับราชวงศ์จิ้น
[แก้]สฺวิน อี่รับราชการต่อไปกับราชสำนักราชวงศ์จิ้นซึ่งขึ้นมาแทนที่รัฐวุยก๊กในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 266[12] หลังจากสุมาเอี๋ยน (จักรพรรดิจิ้นอู่ตี้) ขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิลำดับแรกของราชวงศ์จิ้น พระองค์เลื่อนบรรดาศักดิ์ให้สฺวิน อี่จากโหวระดับอำเภอเป็นก๋ง (公 กง) ในชื่อบรรดาศักดิ์ว่า "หลินหฺวายกง" (臨淮公) มีศักดินา 1,800 ครัวเรือน สุมาเอี๋ยนยังทรงแต่งตั้งให้สฺวิน อี่เป็นเสนาบดีมหาดไทย (司徒 ซือถู) ภายหลังสฺวิน อี่ได้รับการแต่งตั้งเป็นขุนนางมหาดเล็ก (侍中 ชื่อจง) และเลื่อนขึ้นเป็นเสนาบดีกลาโหม (太尉 ไท่เว่ย์) รับผิดชอบดูแลการทหารและบังคับบัญชาทหารราชองครักษ์ 100 นาย ไม่นานหลังจากนั้นสฺวิน อี่ได้รับการแต่งตั้งเพิ่มเติมเป็นรักษาการราชครูของราชทายาท (太子太傅 ไท่จื่อไท่ฟู่)[14]
สฺวิน อี่เสียชีวิตในปี ค.ศ. 274[15] ในช่วงศักราชไท่ฉื่อ (泰始; ค.ศ. 265–274) ในรัชสมัยของสุมาเอี๋ยน ก่อนที่สวิน อี่จะเสียชีวิต สวิน อี่ได้รับมอบหมายให้ประพันธ์ดนดรีสำหรับการเต้นรำ 2 บทเพลงคือ เจิ้งเต๋อ (正德) และ ต้า-ยฺวี่ (大豫) จักรพรรดิสุมาเอี๋ยนทรงจัดงานศพให้สฺวิน อี่อย่างยิ่งใหญ่ และมีรับสั่งให้รัชทายาทสุมาซอง (司馬衷 ซือหม่า จง) เสด็จไปเซ่นไหว้ในงานศพ พระองค์ยังพระราชทานสมัญญานามแก่สฺวิน อี่ว่า "คาง" (康) สฺวิน อี่จึงได้รับการเรียกอย่างเป็นทางการว่า "หลินหฺวายคางกง" (臨淮康公) สมาชิกในครอบครัวของสฺวิน อี่ได้รับเหรียญเงินสองล้านเหรียญเพื่อใช้สร้างบ้านเพราะสฺวิน อี่และครอบครัวไม่มีที่อยู่ถาวรขณะสฺวิน อี่ยังมีชีวิตอยู่ ในช่วงต้นศักราชเสียนหนิง (咸寧; ค.ศ. 275-280) ในรัชสมัยของสุมาเอี๋ยน จักรพรรดิสุมาเอี๋ยนทรงออกพระราชโองการเชิดชูเกียรติขุนนางผู้มีคุณงามความดีในการปฏิบัติราชการ สฺวิน อี่เป็นหนึ่งในขุนนางที่ได้รับการระบุชื่อในพระราชโองการ และได้รับการตั้งรูปเคารพในศาลบรรพกษัตริย์[16]
สฺวิน อี่มีความคุ้นเคยกับกฎเกณฑ์ของมารยาทและความเหมาะสมเป็นอย่างดี ได้อ่านและเข้าใจเนื้อหาของหนังสือเช่น อี๋หลี่ (儀禮; "มารยาทและพิธีกรรม"), หลี่จี้ (禮記; "คัมภีร์พิธีกรรม") และโจวหลี่ ( 周禮; "พิธีกรรมราชวงศ์โจว") แม้ว่าอุปนิสัยทางศีลธรรมของสฺวิน อี่โดยทั่วไปถือว่าดี แต่อุปนิสัยก็มัวหมองไปเนื่องจากพฤติกรรมที่ประจบสอพลอ และการข้องเกี่ยวกับกาอุ้น (賈充 เจี่ยชง) และซุนโจย (荀勗 สฺวิน ซฺวี่) เมื่อรัชทายาทสุมาซองถึงวัยที่ควรสมรส สฺวิน อี่เสนอชื่อเจี่ย หนานเฟิง (賈南風) บุตรสาวของกาอุ้นให้เป็นพระชายาของรัชทายาท สฺวิน อี่จึงถูกคนอื่นดูถูกเพราะเรื่องนี้[17]
การสืบทอด
[แก้]สฺวิน อี่เมื่อเสียชีวิตนั้นไม่มีบุตรชายจึงไม่มีใครสืบทอดบรรดาศักดิ์ถัดจากสฺวิน อี่ ในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 380 สฺวิน ซฺวี่ (荀序) เหลนของหลานอาของสฺวินอี่ได้สืบทอดบรรดาศักดิ์ "หลินหฺวายกง" หลังสฺวิน ซฺวี่เสียชีวิต จักรพรรดิจิ้นเซี่ยวอู่ (ครองราชย์ ค.ศ. 372–396) ทรงแต่งตั้งให้สฺวิน เหิง (荀恆) บุตรชายของสฺวิน ซฺวี่เป็นหลินหฺวายกงคนใหม่ ภายหลังบรรดาศักดิ์สืบทอดไปถึงสฺวิน หลงฝู (荀龍符) บุตรชายของสฺวิน เหิง และสุดท้ายบรรดาศักดิ์ถูกยกเลิกในปี ค.ศ. 420[18] เมื่อหลิว ยฺวี่ (劉裕) โค่นล้มราชวงศ์จิ้นและก่อตั้งราชวงศ์หลิวซ่ง[19]
ดูเพิ่ม
[แก้]หมายเหตุ
[แก้]- ↑ แม้ไม่มีการบันทึกปีเกิดของสฺวิน อี่ ในบทชีวประวัติของสฺวิน อี่ในจิ้นชูระบุว่าสฺวิน อี่มีอายุมากกว่า 60 ปีในช่วงเวลาที่มารดาของสฺวินอี่ เสียชีวิต ตามลำดับเหตุการณ์ของชีวประวัติแล้ว เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นภายหลังการล่มสลายของจ๊กก๊ก (ปลาย ค.ศ. 263) ดังนั้นปีเกิดของสฺวิน อี่จะควรอยู่ในช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 200 เจินเก้า (真誥) เล่มที่ 16 ระบุว่าสฺวิน อี่เสียชีวิตขณะอายุ 70 ปี (ตามการนับอายุแบบเอเชียตะวันออก) หากข้อมูลนี้ถูกต้อง ปีเกิดของสฺวิน อี่ควรเป็น ค.ศ. 205
- ↑ บทพระราชประวัติของสุมาเอี๋ยนในจิ้นชูระบุว่าสฺวินอี่เสียชีวิตในวันจี่เว่ย์ (己未) ของเดือน 4 ในศักราชไท่ฉื่อ (泰始) ปีที่ 10 ในรัชสมัยของสุมาเอี๋ยน เทียบได้กับวันที่ 19 มิถุนายน ค.ศ. 274 ในปฏิทินจูเลียน[2]
- ↑ เย่าชิง (曜卿) เป็นชื่อรองของยฺเหวียน ฮฺว่าน (袁渙)
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 de Crespigny (2007), p. 928.
- ↑ [(泰始十年)夏四月己未,太尉、临淮公荀𫖮薨。 ] จิ้นชู เล่มที่ 3
- ↑ (荀顗,字景倩,潁川人,魏太尉彧之第六子也。幼為姊婿陳群所賞。性至孝,總角知名,博學洽聞,理思周密。) จิ้นชู เล่มที่ 39.
- ↑ (晉陽秋曰: ... 司馬宣王見顗,奇之,曰:「荀令君之子也。近見袁偘,亦曜卿之子也。」) อรรถาธิบายจากจิ้นหยางชิวในสามก๊กจี่ เล่มที่ 10.
- ↑ (魏時以父勳除中郎。宣帝輔政,見顗奇之,曰:「荀令君之子也。」擢拜散騎侍郎,累遷侍中。) จิ้นชู เล่มที่ 39.
- ↑ (為魏少帝執經,拜騎都尉,賜爵關內侯。難鐘會《易》無互體,又與扶風王駿論仁孝孰先,見稱於世。) จิ้นชู เล่มที่ 39.
- ↑ Sima (1084), vols. 74–75.
- ↑ 8.0 8.1 8.2 Sima (1084), vol. 76.
- ↑ (時曹爽專權,何晏等欲害太常傅嘏,顗營救得免。及高貴鄉公立,顗言於景帝曰:「今上踐阼,權道非常,宜速遣使宣德四方,且察外志。」毌丘儉、文欽果不服,舉兵反。顗預討儉等有功,進爵萬歲亭侯,邑四百戶。) จิ้นชู เล่มที่ 39.
- ↑ 10.0 10.1 Sima (1084), vol. 77.
- ↑ (文帝輔政,遷尚書。帝征諸葛誕,留顗鎮守。顗甥陳泰卒,顗代泰為僕射,領吏部,四辭而後就職。顗承泰後,加之淑慎,綜核名實,風俗澄正。咸熙中,遷司空,進爵鄉侯。) จิ้นชู เล่มที่ 39.
- ↑ 12.0 12.1 Sima (1084), vol. 79.
- ↑ (顗年逾耳順,孝養蒸蒸,以母憂去職,毀幾滅性,海內稱之。文帝奏,宜依漢太傅胡廣喪母故事,給司空吉凶導從。及蜀平,興復五等,命顗定禮儀。顗上請羊祜、任愷、庚峻、應貞、孔顥共刪改舊文,撰定晉禮。咸熙初,封臨淮侯。) จิ้นชู เล่มที่ 39.
- ↑ (武帝踐阼,進爵為公,食邑一千八百戶。又詔曰:「昔禹命九官,契敷五教,所以弘崇王化,示人軌儀也。朕承洪業,昧於大道,思訓五品,以康四海。侍中、司空顗,明允篤誠,思心通遠,翼亮先皇,遂輔朕躬,實有佐命弼導之勳。宜掌教典,以隆時雍。其以顗為司徒。」尋加侍中,遷太尉、都督城外牙門諸軍事,置司馬親兵百人。頃之,又詔曰:「侍中、太尉顗,溫恭忠允,至行純備,博古洽聞,耆艾不殆。其以公行太子太傅,侍中、太尉如故。」) จิ้นชู เล่มที่ 39.
- ↑ Sima (1084), vol. 80.
- ↑ (時以《正德》、《大豫》雅頌未合,命顗定樂。事未終,以泰始十年薨。帝為舉哀,皇太子臨喪,二宮賻贈,禮秩有加。詔曰:「侍中、太尉、行太子太傅、臨淮公顗,清純體道,忠允立朝,曆司外內,茂績既崇,訓傅東宮,徽猷弘著,可謂行歸於周,有始有卒者矣。不幸薨殂,朕甚痛之。其賜溫明秘器、朝服一具,衣一襲。諡曰康。」又詔曰:「太尉不恤私門,居無館宇,素絲之志,沒而彌顯。其賜家錢二百萬,使立宅舍。」咸甯初,詔論次功臣,將配饗宗廟。所司奏顗等十二人銘功太常,配饗清廟。) จิ้นชู เล่มที่ 39.
- ↑ (顗明《三禮》,知朝廷大儀,而無質直之操,唯阿意苟合於荀勖、賈充之間。初,皇太子將納妃,顗上言賈充女姿德淑茂,可以參選,以此獲譏於世。) จิ้นชู เล่มที่ 39.
- ↑ Sima (1084), vol. 119.
- ↑ (顗無子,以從孫徽嗣。中興初,以顗兄玄孫序為顗後,封臨淮公。序卒,又絕,孝武帝又封序子恆繼顗後。恆卒,子龍符嗣。宋受禪,國除。) จิ้นชู เล่มที่ 39.
บรรณานุกรม
[แก้]- เผย์ ซงจือ (คริสต์ศตวรรษที่ 5). อรรถาธิบายสามก๊กจี่ (ซานกั๋วจื้อจู้).
- ฝาน เสฺวียนหลิง (648). จิ้นชู.
- ซือหม่า กวาง (1084). จือจื้อทงเจี้ยน.
- de Crespigny, Rafe (2007). A Biographical Dictionary of Later Han to the Three Kingdoms 23-220 AD. Leiden: Brill. ISBN 9789004156050.