ข้ามไปเนื้อหา

หอบรรพบุรุษ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
แท่นบูชาพร้อมป้ายบรรพบุรุษใน ฮ่องกง
ประตูเสาคิว ฮั่นตะวันออก (25-220 AD) หินแกะสลักแบบจีน ในฉงชิ่ง ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นของ วัดที่สร้างอุทิศให้กับขุนพล Ba Manzi ในยุค สงครามรัฐ

หอบรรพบุรุษ หรือ ศาลบรรพชน (จีน: 祠堂 หรือ 宗祠; พินอิน: Cítáng หรือ Zōngcí; สือถัง หรือ จงสือ ตามสำเนียงจีนกลาง; เวียดนาม Nhà thờ họ) เป็นอาคารที่สร้างขึ้นเพื่ออุทิศให้กับบรรพชน และใช้เคารพในพิธีไหว้บรรพบุรุษในประเพณีจีน หอบรรพบุรุษยังเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับปรัชญาในลัทธิขงจื้อ ซึ่งเน้นความกตัญญูกตเวที

องค์ประกอบสำคัญและการใช้งาน

[แก้]

องค์ประกอบสำคัญทั่วไปของหอบรรพบุรุษคือ "ป้ายบรรพบุรุษ" ซึ่งเป็นที่เก็บรวบรวมวิญญาณบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว[1] โดยทั่วไปป้ายบรรพบุรุษจะจัดเรียงตามลำดับอาวุโสของบรรพบุรุษ แท่นบูชา และวัตถุที่ใช้ในพิธีกรรมต่าง ๆ เช่น กระถางธูป รูปปั้นบรรพบุรุษ และรูปปั้นเทพเจ้าเพื่อแสดงความเคารพในบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว

หอบรรพบุรุษนอกจากจะใช้สำหรับพิธีเคารพบรรพบุรุษและงานรวมญาติเพื่อฉลองร่วมกันเพื่อเป็นเกียรติแก่บรรพบุรุษแล้ว[1] ในหลายชุมชนยังใช้เป็นสถานที่กลางสำหรับงานพิธีอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับครอบครัวและชุมชน เช่น งานแต่งงาน และงานศพ บางชุมชนยังใช้เป็นสถานที่ในการชุมนุมต่าง ๆ เช่น การประชุมหมู่บ้าน และการเลือกตั้งท้องถิ่น

ในพิธีแต่งงานแบบประเพณีจีนดั้งเดิม โถงประชุมของหอบรรพบุรุษยังทำหน้าที่ในเชิงสัญลักษณ์ที่สำคัญของ การแต่งงานเข้าครอบครัวสามีของฝ่ายหญิง โดยในระหว่างพิธีแต่งงานคู่บ่าวสาวจะสักการะศาลบรรพบุรุษของเจ้าบ่าวโดยโค้งคำนับดังนี้:

  1. คำนับแรก - สวรรค์และโลก
  2. คำนับที่สอง - บรรพบุรุษ
  3. คำนับที่สาม - มารดาบิดาและผู้อุปการะเลี้ยงดู
  4. คำนับที่สี่ - คู่สมรส

สามเดือนหลังจากแต่งงาน ภรรยาทำพิธีสักการะที่ศาลบรรพบุรุษของฝ่ายสามีในพิธีที่เรียกว่า เมี่ยวเจี้ยน (จีนตัวย่อ: 庙见; จีนตัวเต็ม: 廟見)

ในจีนแผ่นดินใหญ่ หอบรรพบุรุษและรวมถึงวัดต่าง ๆ มักถูกแปรสภาพเพื่อใช้งานในทางฆราวาส เช่น ใช้เป็นโรงเรียนประจำหมู่บ้าน หรือ ยุ้งฉางในช่วงการปฏิรูปที่ดินในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1950 และในช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรม ซึ่งหอบรรพบุรุษหลายแห่งสามารถฟื้นฟูกลับมาใช้ตามวัตถุประสงค์ดั้งเดิม นับตั้งแต่การเปิดเสรีทางเศรษฐกิจในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1980[1] โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฟื้นฟูหอบรรพบุรุษอย่างเข้มแข็งในภาคใต้ของจีนที่ซึ่งสมาคมตระกูลและเชื้อสายมีรากฐานที่แข็งแกร่งในวัฒนธรรมท้องถิ่น และมีสมาชิกตระกูลที่อาศัยอยู่ในโพ้นทะเลซึ่งให้การสนับสนุนการสร้างหอบรรพบุรุษขึ้นใหม่

หอบรรพบุรุษในเขตบริหารพิเศษฮ่องกง และประเทศอื่น ๆ

[แก้]

ฮ่องกง

[แก้]

หอบรรพบุรุษที่มีชื่อเสียงในเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ได้แก่ :

  • หอบรรพบุรุษเติ้งซ่งหลิง (鄧松嶺祠堂 Tang Chung Ling Ancestral Hall) หอบรรพบุรุษที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในฮ่องกง สร้างขึ้นในปี 1525 เพื่อรำลึกถึงบรรพบุรุษผู้ก่อตั้ง (เติ้งซ่งหลิง)
  • หอบรรพบุรุษตระกูลเติ้ง (鄧氏宗祠 Tang Ancestral Hall) และ หอบรรพบุรุษยู่เชี่ยวเอ้อกง (愈喬二公祠 Yu Kiu Ancestral Hall) ตามเส้นทางมรดกทางวัฒนธรรมผิงชาน (Ping Shan Heritage Trail)
  • คิงลอว์กะจุ๊

ไทย

[แก้]

ในประเทศไทย หอบรรพบุรุษ หรือ ศาลบรรพชน มักถูกเรียกว่า ศาลเจ้าบรรพบุรุษ เนื่องจากชุมชนจีนในประเทศไทยไม่ได้อาศัยเป็นหมู่บ้านประจำตระกูล แต่รวมกันเป็นชุมชนจีนกลางเมือง (China Town; ย่านชาวจีน) หอบรรพบุรุษเหล่านี้มักมีการสร้างรูปปั้นเทพเจ้าและรูปเคารพต่าง ๆ เพื่อความสะดวกในการใช้ประกอบศาสนพิธีอื่น ๆ เป็นส่วนหนึ่งในการเป็นศาสนสถานร่วมของชุมชน รูปปั้นเทพเจ้าจึงเป็นที่มาของการเรียกชื่อรวมกัน ศาลเจ้าบรรพบุรุษ (ศาลเจ้า-ศาลบรรพบุรุษ) ซึ่งในชื่อภาษาจีนยังคงเรียกตามความหมายเดิม (ศาลบรรพบุรุษ) เช่น ในจังหวัดภูเก็ต

เวียดนาม

[แก้]

หอบรรพบุรุษในเวียดนามเรียกว่า nhà thờ họ หรือ nhà thờ tộc ซึ่งทุกปีจะใช้ในการจัดพิธีวันครบรอบการเสียชีวิตของบรรพบุรุษ และโดยปกติแล้วพิธีครบรอบนี้จะใช้เป็นโอกาสในการต่ออายุความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในเครือตระกูล

ในศาสนาและวัฒนธรรมอื่น ๆ

[แก้]

หอบรรพบุรุษหรือแนวคิดที่คล้ายคลึงกันยังมีอยู่ทั่วไปในศาสนาและวัฒนธรรมอื่น ๆ ไม่เพียงแต่ในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้น ยังพบในศาสนาแอฟริกันดั้งเดิม ซึ่งมีศาลบรรพบุรุษ หรือ สุสานบรรพบุรุษ การบูชาบรรพบุรุษเป็นพิธีกรรมที่สำคัญและยังคงปฏิบัติอยู่ทั่วไปโดยสาวกของศาสนาพื้นเมืองของแอฟริกา รวมถึงชาวแอฟริกาที่นับถือศาสนาคริสต์และมุสลิมด้วย

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 Edward L. Davis (Editor), Encyclopedia of Contemporary Chinese Culture, Routledge, 2004