ข้ามไปเนื้อหา

กบฏบู๊ขิวเขียมและบุนขิม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กบฏบู๊ขิวเขียมและบุนขิม
ส่วนหนึ่งของ กบฏสามครั้งในฉิวฉุน
วันที่5 กุมภาพันธ์ – 11 มีนาคม ค.ศ. 255[a]
สถานที่
ฉิวฉุน (ปัจจุบันคืออำเภอโช่ว มณฑลอานฮุย ประเทศจีน)
ผล วุยก๊กชนะ บู๊ขิวเขียมถูกสังหาร บุนขิมและครอบครัวหนีไปง่อก๊ก
คู่สงคราม
วุยก๊ก บู๊ขิวเขียม
บุนขิม
ง่อก๊ก
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
สุมาสู
เตงงาย
จูกัดเอี๋ยน
บู๊ขิวเขียม 
บุนขิม
ซุนจุ๋น
กำลัง
อย่างน้อย 4,000 นาย
ใต้บังคับบัญชาของเจียวปั้น

กบฏบู๊ขิวเขียมและบุนขิม (จีน: 毌丘俭文钦之乱) หรือ กบฏครั้งที่สองในฉิวฉุน (จีน: 寿春二叛) เป็นการก่อการกำเริบเชิงลงโทษในปี ค.ศ. 255 นำโดยบู๊ขิวเขียมและบุนขิม ขุนพลสองคนของรัฐวุยก๊ก เพื่อต่อต้านผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์สุมาสูและตระกูล เป็นการก่อกบฏครั้งที่สองในชุดกบฏสามครั้งที่เกิดขึ้นในฉิวฉุน (壽春 โช่วชุน; ปัจจุบันคืออำเภอโช่ว นครลู่อาน มณฑลอานฮุย) ในช่วงทศวรรษ 250 ในยุคสามก๊กในประวัติศาสตร์จีน

ภูมิหลัง

[แก้]

ในปี ค.ศ. 249 สุมาอี้ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แห่งวุยก๊กยึดอำนาจจากโจซองผู้สำเร็จราขการร่วมในอุบัติการณ์สุสานโกเบงเหลงและควบคุมราชสำนักวุยก๊กอย่างเบ็ดเสร็จ สุมาสูบุตรชายคนโตของสุมาสูผู้สืบทอดอำนาจต่อจากบิดาได้ปลดจักรพรรดิโจฮองจากตำแหน่งในปี ค.ศ. 254 และตั้งโจมอขึ้นเป็นจักรพรรดิแทน หลังจากที่สุมาสูล่วงรู้แผนการของโจฮองที่จะช่วงชิงพระราชอำนาจคืนกลับราชวงศ์[2] ขุนพลบู๊ขิวเขียมและบุนขิมซึ่งประจำการอยู่ที่ฉิวฉุนรู้สึกไม่พอใจตระกูลสุมาและตัดสินใจก่อกบฏในเวลาไม่กี่เดือนหลังการขึ้นครองราขย์ของโจมอ[3]

การวางแผน

[แก้]

เมื่อบู๊ขิวเขียมและบุนขิมก่อกบฏ ทั้งคู่ตัดสินใจลอบรับกำลังทหารจำนวนมากโดยไม่เผยให้เป็นที่รับรู้ว่าพวกตนมีเจตนาจะก่อกบฏ บู๊ขิวเขียมและบุนขิมส่งคนนำสารไปพบจูกัดเอี๋ยนเพื่อขอให้ระดมพลและเรียกพบภาษีจำนวนมากจากมณฑลอิจิ๋ว จูกัดเอี๋ยนเห็นว่าคำขอนี้ไม่มีเหตุผล จึงอนุมานได้ว่าบู๊ขิวเขียมและบุนขิมวางแผนก่อกบฏ จูกัดเอี๋ยนจึงสั่งให้นำตัวคนนำสารไปประหารชีวิต

กบฏ

[แก้]

ข่าวการก่อกบฏรู้ไปถึงง่อก๊กที่เป็นรัฐอริของวุยก๊กอย่างรวดเร็ว ง่อก๊กต้องการอำเภอฉิวฉุนมาเป็นเวลานานแล้ว ซุนเหลียงจักรพรรดิง่อก๊กจึงทรงส่งกำลังทหารไปช่วยสนับสนุนบู๊ขิวเขียมและบุนขิมเพื่อทำให้ทัพวุยก๊กอ่อนกำลังลง ซุนจุ๋นนำกองกำลังสนับสนุนพร้อมด้วยเล่าเบาและลิกี๋ ส่วนทางด้านทัพวุยก๊ก สุมาสู, อ้าวจุ๋น, เตงงาย และจูกัดเอี๋ยนได้รวมกำลังทหารยกไปปราบกบฏ

อองกี๋ข้าหลวงมณฑลเกงจิ๋วต้องการจะเข้ายึดลำเต๋ง (南頓 หนานตุ้น) ก่อนที่บู๊ขิวเขียมและบุนขิมจะยึดได้ สุมาสูต้องการคอยจนกว่ากองกำลังของวุยก๊กที่ระดมกำลังมาทั้งหมดจะยกมาถึงก่อนจะเข้าโจมตีฉิวฉุน จึงปฏิเสธไม่ให้อองกี๋โจมตีก่อน อองกี๋เห็นว่านี่ไม่ใช่การดำเนินการที่ดี จึงนำกองกำลังของตนเข้าโจมตีลำเต๋ง ไม่นานหลังจากอองกี๋ยึดพื้นที่ได้ กองกำลังที่นำโดยบู๊ขิวเขียมก็มาถึง แต่เมื่อเห็นว่าอองกี๋มาตั้งมั่นอยู่แล้ว บู๊ขิวเขียมจึงล่าถอยอย่างรวดเร็ว ทุกคนเห็นว่าอองกี๋ทำได้ถูกต้อง จึงไม่มีการลงโทษใด ๆ กับอองกี๋ที่ฝ่าฝืนคำสั่ง

จากนั้นทัพวุยก๊กก็หยุดเพื่อระดมกำลัง สร้างความหวาดกลัวให้ฝ่ายกบฏเป็นผลสำเร็จ ท้ายที่สุดฝ่ายกบฏก็ยุติการก่อจลาจล ภูมิภาคทางเหนือของแม่น้ำห้วย (淮河 หฺวายเหอ) เป็นที่ที่ครอบครัวของฝ่ายกบฏอาศัยอยู่ ซึ่งทำให้ขวัญกำลังใจของฝ่ายกบฏลดลง หลายกองกำลังต่างละทิ้งบู๊ขิวเขียมและบุนขิม สุมาสูเห็นดังนั้นจึงสั่งให้เตงงายนำกำลังทหารจำนวนน้อยไปยังป้อมปราการงักแกเสีย (樂嘉 เยฺว่เจีย) แล้วลวงให้บุนขิมเข้าโจมตีโดยบุนขิมคิดว่าที่ป้อมมีกำลังทหารจำนวนน้อย คืนนั้นสุมาสูสามารถนำทัพหลักมาเสริมงักแกเสียผ่านสะพานลอยน้ำโดยที่บุนขิมไม่รู้ ด้านบุนขิมส่งบุนเอ๋งบุตรชายเข้าโจมตีงักแกเสียในคืนนั้น บุนเอ๋งจึงเผชิญหน้ากับกำลังทหารจำนวนมากกว่า 100,000 นายและยึดงักแกเสียไม่สำเร็จ ครั้นเวลาเช้า บุนขิวเห็นว่าจู่ ๆ ทหารข้าศึกก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นกะทันหันจึงสั่งให้ล่าถอย แต่ในที่สุดก็ถูกซือหม่า ปาน (司馬班) นำกำลังมาสกัดทางไว้ ทำให้ราษฎรของฉิวฉุนจำนวนมากหนีไปง่อก๊กด้วยความเกรงกลัวว่าพวกตนจะถูกสังหารหมู่ กลุ่มกบฏที่เหลือก็สลายตัวไป บู๊ขิวเขียมถูกสังหารในอำเภอซิมก๋วน (慎縣 เชิ่นเซี่ยน) ด้วยฝีมือของจาง ฉู่ (張屬) ส่วนบุนขิมรีบหนีไปเข้าด้วยง่อก๊ก ในช่วงที่บุนขิมเดินทางมาถึงอำเภอเซี่ยง (項縣 เซี่ยงเซี่ยน) ภูมิภาคแม่น้ำห้วยที่เหลือก็ถูกยึดโดยจูกัดเอี๋ยน เวลานั้นทัพง่อก๊กที่ยกมาช่วยฝ่ายกบฏยังไปไม่ถึงฉิวฉุน จึงมีคำสั่งให้ล่าถอยจากตังหิน (東興 ตงซิง) จูกัดเอี๋ยนส่งกำลังทหารเข้าโจมตีกองกำลังของง่อก๊ก สังหารเล่าเบาและทหารอีกจำนวนมาก

ผลสืบเนื่อง

[แก้]

บุนขิมและครอบครัวหนีไปยังง่อก๊กได้สำเร็จ แต่ก็ถูกจูกัดเอี๋ยนสังหารในช่วงที่จูกัดเอี๋ยนก่อกบฏต่อวุยก๊กในอีกไม่กี่ปีต่อมา สุมาสูเสียชีวิตขณะอายุไม่มากและไม่มีทายาท อำนาจการสำเร็จราชการแผ่นดินจึงสืบต่อไปยังสุมาเจียวที่เป็นน้องชาย สุมาเจียวปราบปรามกบฏในฉิวฉุนครั้งที่ 3 ที่นำโดยจูกัดเอี๋ยนในอีกไม่กี่ปีต่อมา และภายหลังก็ส่งทัพเข้าพิชิตจ๊กก๊กในอีกไม่กี่ปีต่อมา ภายหลังจากสุมาเจียวเสียชีวิต อำนาจการสำเร็จราชการสืบต่อไปยังสุมาเอี๋ยนบุตรชาย สุมาเอี๋ยนบังคับจักรพรรดิโจฮวนให้สละราชบัลลังก์ให้ตน สุมาเอี๋ยนก่อตั้งราชวงศ์จิ้น ในปี ค.ศ. 280 ง่อก๊กตกเป็นของราชวงศ์จิ้นและยุคสามก๊กก็สิ้นสุดลง

บุคคลในยุทธการ

[แก้]

ทัพบู๊ขิวเขียมและบุนขิม

ทัพง่อก๊ก

ทัพวุยก๊ก

ในวัฒนธรรมประชานิยม

[แก้]

เหตุการณ์กบฏบู๊ขิวเขียมและบุนขิมร่วมด้วยเหตุการณ์กบฏในฉิวฉุนอีก 2 ครั้งเป็นด่านที่เล่นได้ในโหมดเนื้อเรื่องของราชวงศ์จิ้นในซีรีส์วิดีโอเกมไดนาสตีวอริเออร์ โดยปรากฏครั้งแรกในภาค 7

ดูเพิ่ม

[แก้]

หมายเหตุ

[แก้]
  1. พระราชประวัติโจมอในจดหมายเหตุสามก๊กบันทึกว่าบู๊ขิวเขียมและบุนขิมประกาศก่อกบฏในวันอี๋โฉ่ว (乙丑) ในเดือน 1 ศักราชเจงหงวน (正元 เจิ้ง-ยฺเหวียน) ปีที่ 2 ในรัชสมัยของโจมอ กบฏถูกปราบปราในวันจี่ไฮ่ (己亥) ของเดือนอธิกมาสในปีนั้น[1] วันที่ทั้งสองนี้เทียบได้กับวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 255 และ 11 มีนาคม ค.ศ. 255 ในปฏิทินกริโกเรียน

อ้างอิง

[แก้]
  1. ([正元]二年春正月乙丑,鎮東將軍毌丘儉、楊州刺史文欽反。戊寅,大將軍司馬景王征之。癸未,車騎將軍郭淮薨。閏月己亥,破欽於樂嘉。欽遁走,遂奔吳。甲辰,安風津都尉斬儉,傳首京都。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 4.
  2. Declercq, Dominik (1998). Writing Against the State: Political Rhetorics in Third and Fourth Century China. Leiden ; New York ; Köln Brill. p. 175. The previous sovereign, Cao Fang, had been deposed when the regent, Sima Shi, discovered his involvement in a plot aimed at reversing the Simas' grip on power; the chief conspirators had been killed and their families exterminated to third degree of kinship.
  3. Declercq, Dominik (1998). Writing Against the State: Political Rhetorics in Third and Fourth Century China. Leiden ; New York ; Köln Brill. p. 175. In 255, only months after the accession of Cao Mao to the throne, Guanqiu Jian and Wen Qin took up arms against Sima Shi.

บรรณานุกรม

[แก้]