สารัชถ์ รัตนาวะดี
สารัชถ์ รัตนาวะดี | |
---|---|
เกิด | 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2508 |
สัญชาติ | ไทย |
อาชีพ | นักธุรกิจ |
คู่สมรส | นลินี รัตนาวะดี |
บุตร | สาริศ รัตนาวะดี สิตมน รัตนาวะดี |
บิดามารดา | ถาวร รัตนาวะดี (บิดา) ประทุม รัตนาวะดี (มารดา) |
ญาติ | สาณิต รัตนาวะดี (พี่ชาย) สฤษดิ์ รัตนาวะดี (น้องชาย) |
สารัชถ์ รัตนาวะดี (ชื่อเล่น กลาง) เกิดเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2508 เป็นนักธุรกิจชาวไทย เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) รองประธานกรรมการ ไทยคม (บริษัท)
ครอบครัวและการศึกษา
[แก้]สารัชถ์เป็นบุตรของพลเอกถาวร รัตนาวะดี อดีตหัวหน้านายทหารฝ่ายเสนาธิการ กองบัญชาการทหารสูงสุด กับนางประทุม รัตนาวะดี น้องสาวของนายวาริน พูนศิริวงศ์ นักธุรกิจและเจ้าของหนังสือพิมพ์แนวหน้า โดยสารัชถ์เป็นลูกคนกลาง โดยมีพี่ชายชื่อ สาณิต และน้องชายชื่อ สฤษดิ์
สารัชถ์แต่งงานกับ นลินี ตันติสุนทร ลูกสาวของนายรักษ์ ตันติสุนทร คหบดีชาวจีนในจังหวัดตาก มีบุตรด้วยกันสองคนคือสาริศและสิตมน
สารัชถ์ศึกษาที่โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย โดยเพื่อนร่วมรุ่นเรียกเขาว่า "แย้ม" ศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโท ด้านการบริหารจัดการวิศวกรรม จากมหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา[1]
การงาน
[แก้]เมื่อศึกษาจบได้ก่อตั้ง บริษัท กัลฟ์ อิเล็คตริก จำกัด ซึ่งประกอบธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้า ในปี พ.ศ. 2537 ขณะอายุเพียง 29 ปี โดยสารัชถ์ดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการใหญ่ จากนั้นได้จัดตั้งบริษัทอีกจำนวนหนึ่งที่ใช้คำนำหน้าว่า "กัลฟ์" เช่น บริษัท กัลฟ์ เพาเวอร์ เจเนอเรชั่น จำกัด (ก่อตั้ง พ.ศ. 2539) บริษัท กัลฟ์ โคเจนเนอเรชั่น จำกัด (ก่อตั้ง พ.ศ. 2539) บริษัท กัลฟ์ ยะลา กรีน จำกัด (ก่อตั้ง พ.ศ. 2540) และ บริษัท กัลฟ์ ไอพีพี จำกัด (ก่อตั้ง พ.ศ. 2547) เป็นต้น[2] รวมถึงบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ผลิตกระแสไฟฟ้าของเอกชนรายใหญ่ที่สุดของไทยในแง่มูลค่าตามราคาตลาด เข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. 2560 ทำให้สารัชถ์ปรากฏอยู่ในทำเนียบมหาเศรษฐีไทยของนิตยสาร ฟอบส์ ในปี 2561[3]
ในปี พ.ศ. 2562 สารัชถ์ถือสินทรัพย์ที่เป็นหุ้นไทยที่มีมูลค่ามากที่สุดเป็นปีแรก[3] จากนั้นครองอันดับ 1 ผู้มีหุ้นมากที่สุดเป็นสามปีซ้อน[4] จากข้อมูลของนิตยสาร ฟอบส์ ณ วันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2565 นายสารัชถ์ มีความมั่งคั่งสุทธิอยู่ที่ประมาณ 421,260 ล้านบาท (11,800 ล้านเหรียญสหรัฐ) ขึ้นเป็นอันดับ 1 แซงหน้าเจริญ สิริวัฒนภักดี[5]
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
[แก้]- พ.ศ. 2567 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ชั้นที่ 1 ปฐมดิเรกคุณาภรณ์ (ป.ภ.)[6]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "ประวัติ สารัชถ์ รัตนาวะดี ซีอีโอ กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์". ประชาชาติธุรกิจ.
- ↑ "สารัชถ์ รัตนาวะดี แม่ทัพกัลฟ์ ผู้กว้างขวางในธุรกิจพลังงาน และมหาเศรษฐีอันดับ 5 ของไทย". บีบีซีไทย.
- ↑ 3.0 3.1 "ผ่าแนวคิด 'สารัชถ์ รัตนาวะดี' ลุยดิจิทัลเต็มรูปแบบ". ฐานเศรษฐกิจ.
- ↑ ศนิชา ละครพล. "10 อันดับ 'เศรษฐีหุ้นไทย' ปี 2564 'สารัชถ์ รัตนาวะดี' แชมป์ 3 สมัย". เดอะสแตนดาร์ด.
- ↑ "สารัชถ์ ขึ้นแท่นอันดับ 1 มหาเศรษฐีไทย แทนเจ้าสัว 'เจริญ-ธนินทร์'". มติชน.
- ↑ ประกาศ เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ประจําปี ๒๕๖๗