ฟาโรห์เซนุสเรตที่ 3

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

คาเคาเร เซนุสเรตที่ 3 (หรือเขียนได้อีกว่า เซนวอสเรตที่ 3 หรือในรูปแบบที่แปรมาเป็นภาษากรีก เซโซสทริสที่ 3) เป็นฟาโรห์แห่งอียิปต์โบราณที่ปกครองในช่วงเวลาแห่งอำนาจอันยิ่งใหญ่และความมั่งคั่งจาก 1878 ถึง 1839 ปีก่อนคริสตกาล[1] และเป็นฟาโรห์พระองค์ที่ห้าของราชวงศ์ที่สิบสองแห่งราชอาณาจักรกลาง พระองค์เป็นฟาโรห์ที่ยิ่งใหญ่ในราชวงศ์สิบสองและถือได้ว่าเป็นผู้ปกครองอียิปต์ที่มีอำนาจมากที่สุดในราชวงศ์ ดังนั้นพระองค์ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในแหล่งที่มาของตำนานเซโซสทริส (Sesostris) การดำเนินการทางทหารของพระองค์ก่อให้เกิดยุคแห่งสันติภาพและความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจที่ลดอำนาจของผู้ปกครองในระดับท้องถิ่นและนำไปสู่การฟื้นฟูในงานหัตถกรรมการค้าและการพัฒนาเมือง[2] ฟาโรห์เซนุสเรตที่ 3 เป็นฟาโรห์แห่งอียิปต์เพียงไม่กี่พระองค์ที่ถูกยกเป็นเทพเจ้าและได้รับการยกย่องโดยลัทธิบูชาในช่วงพระชนม์ชีพของพระองค์[3]

พระราชวงศ์[แก้]

ฟาโรห์เซนุสเรตที่ 3 เป็นพระราชโอรสของฟาโรห์เซนุสเรตที่ 2 กับพระนางเคเนเมตเนเฟอร์เฮดเจตที่ 1 หรือที่เรียกว่า เคเนเมตเนเฟอร์เฮดเจตที่ 1 เวเรต (ผู้อาวุโส) พระมเหสีที่เป็นที่ทราบอย่างแน่ชัดทั้งสามของพระองค์ คือ พระนางอิตาคายต์, พระนางเคเนเมตเนเฟอร์เฮดเจตที่ 2 และพระนางเนเฟิร์ตเฮนุท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นที่ทราบจากสถานที่ฝังพระศพที่อยู่ถัดจากพีระมิดของพระสวามีที่ดาห์ชูร์ มีพระราชธิดาหลายพระองค์ที่เป็นที่ทราบ แม้ว่าจะได้มียืนยันเพียงแค่การฝังพระศพไว้รอบพีระมิดของฟาโรห์เซนุสเรตที่ 3 เท่านั้นและความสัมพันธ์ที่แน่ชัดระหว่างเหล่าเจ้าหญิงกับฟาโรห์ก็ยังคงเป็นที่ถกเถียงกัน นอกจากนี้รวมถึง เจ้าหญิงซิตฮาธอร์, เจ้าหญิงเมเนต, เจ้าหญิงเซเนตเซเนบติซิ และเจ้าหญิงเมเรต ฟาโรห์อเมเนมเฮตที่ 3 มีความเป็นไปได้มากที่สุดที่จะเป็นพระราชโอรสของพระองค์ ส่วนพระราชโอรสพระองค์อื่นยังไม่เป็นที่ทราบ[4]

พระราชกรณียกิจ[แก้]

ฟาโรห์เซนุสเรตที่ 3 ทรงโปรดให้ตัดคลองเดินเรือผ่านแก่งน้ำตกแรกของแม่น้ำไนล์[5] (ซึ่งแตกต่างจากคลองของฟาโรห์พระองค์อื่น ๆ ซึ่งเห็นได้ชัดว่าฟาโรห์เซนุสเรตที่ 3 ก็ทรงพยายามสร้างเช่นกัน) นอกจากนี้ พระองค์ยังผลักดันการขยายพระราชอาณาจักรของเขาไปสู่นิวเบียอย่างไม่ลดละ (ช่วงตั้งแต่ 2409 ถึง 2406 ก่อนคริสตกาล) ซึ่งพระองค์ได้ทรงโปรดให้สร้างป้อมปราการแม่น้ำขนาดใหญ่รวมถึงในบูเฮน, เซมนา, ชาลแฟก และทอชกาที่อูโรนาร์ติ

พระองค์ทรงดำเนินการทางทหารสำคัญอย่างน้อยสี่ครั้งในนิวเบียในปีที่ 8, 10, 16 และ 19 แห่งการครองราชย์ของพระองค์[6] ในปีที่ 8 ของพระองค์ จารึกที่เซมนาได้บันทึกการมีชัยของพระองค์เหนือชาวนิวเบีย ซึ่งสันนิษฐานว่าพระองค์จะทำให้ชายแดนทางใต้นั้นปลอดภัยและป้องกันการบุกรุกเข้าไปในดินแดนอียิปต์ต่อไป[7] และจารึกอีกชิ้นจากเซมนาเช่นกันได้บันทึกไว้ว่า ในเดือนที่ 3 ของปีที่ 16 ในรัชสมัยของพระองค์ ได้มีดำเนินการทางทหารของพระองค์ต่อนิวเบียและคานาอัน ในนั้นพระองค์ทรงได้ตักเตือนผู้สืบทอดพระราชบัลลังก์ในอนาคตให้รักษาพรมแดนใหม่ที่พระองค์ได้ทรงสร้างขึ้น:

ปีที่ 16 เดือนที่ 3 แห่งเหมันตฤดู พระองค์ทรงสร้างเขตแดนใต้ที่เฮห์ ข้าได้ขยายเขตแดนของข้าไว้ไกลกว่าผู้ปกครองก่อนหน้าของข้า ข้าได้เพิ่มสิ่งที่ได้รับพินัยกรรมข้า (...) ส่วนบุตรชายคนใด (เช่น ผู้สืบตำแหน่ง) ของจ้าที่จะรักษาเขตแดนนี้ซึ่งข้าได้สร้างไว้ เขาเป็นบุตรของข้าที่เกิดในร่มพระมหาเศวตฉัตร บุตรที่แท้จริงคือผู้ที่ปกป้องบิดาของตน ผู้พิทักษ์ชายแดนของผู้ให้กำเนิด แต่เขา [ผู้] ละทิ้งมัน ผู้ล้มเหลวในการต่อสู้เพื่อมัน มันผู้นั้นไม่ใช่บุตรของข้า มันไม่ได้เกิดมาเพื่อข้า ข้าได้สร้างรูปเคารพของข้า ณ พรมแดนซึ่งข้าได้สร้างไว้ เพื่อรักษาไว้ เพื่อจะต่อสู้เพื่อมัน[8]

จารึกแห่งโซเบค-คู ซึ่งสร้างขึ้นในรัชสมัยของฟาโรห์เซนุสเรตที่ 3 (ช่วงระหว่าง 1878 - 1839 ปีก่อนคริสตกาล) ได้บันทึกการดำเนินการทางทหารที่เก่าแก่ที่สุดของอียิปต์ในบริเวณเลวานไทน์ โดยบันทึกข้อความว่า "ทรงเสด็จขึ้นเหนือเพื่อโค่นล้มพวกเอเซีย เสด็จถึงแคว้นต่างแดนนามว่าเสกเมม (...) แล้วเสกเมมก็ล้มพังพินาศพร้อมกับ เรเตนู ผู้น่าสงสาร" ซึ่งคาดว่าเมืองเซกเมม (s-k-m-m) น่าจะเป็นเมืองเชเคมในปัจจุบัน และ "เรเตนู" หรือ "เรทเจนู" มีความเกี่ยวข้องกับอาณาจักรซีเรียโบราณ[9]

การดำเนินการทางทหารครั้งสุดท้ายของพระองค์ ซึ่งอยู่ในปีที่ 19 ของพระองค์ แต่กลับปราชัย เนื่องจากกองกำลังของพระองค์ถูกจับ โดยที่แม่น้ำไนล์ลดต่ำกว่าปกติและจำเป็นต้องล่าถอยและละทิ้งการดำเนินการทางทหารเพื่อหลีกเลี่ยงการติดอยู่ในดินแดนนิวเบียที่เป็นศัตรู[10]

นั่นคือลักษณะที่มีความทรงพลังและอิทธิพลอันยิ่งใหญ่ของฟาโรห์เซนุสเรตที่ 3 ที่พระองค์ได้รับการบูชาเป็นเทพเจ้าในเซมนา โดยประชาชนรุ่นหลัง ๆ[11] แฌ็ค มอร์แกงในปี ค.ศ. 1894 ได้ค้นพบจารึกหินใกล้เกาะเซเฮล ซึ่งได้บันทึกการขุดคลองของพระองค์ และฟาโรห์เซนุสเรตที่ 3 ได้ทรงโปรดให้สร้างวิหารและเมืองในอไบดอส และวิหารอีกแห่งในเมดามุด[12]

ราชสำนักของพระองค์ประกอบไปด้วย ราชมนตรีเนบิต คนุมโฮเทป และอิเคอร์โนเฟรต มีหน้าที่เป็นผู้ดูแลพระคลังมหาสมบัติของฟาโรห์ที่อไบดอส และโซเบคเคมฮัต ก็ยังเป็นผู้ดูแลพระคลังด้วยเช่นกันและถูกฝังที่ดาห์ชูร์ เซนอังค์ เป็นผู้ดูแลการตัดคลองที่เซเฮล และฮอร์เคอร์ติเป็นพระสหายของพระองค์

ระยะเวลาการครองราชย์[แก้]

ศิลาจารึกชายแดนปีที่ 16 ของฟาโรห์เซนุสเรตที่ 3 (พิพิธภัณฑ์อัลเตส), เบอร์ลิน
รูปสลักหินแกรนิตของฟาโรห์เซนวอสเรตที่ 3 - พระองค์ทรงสวมผ้าโพกพระศีรษะนีมพร้อมรูปงูเห่าวัดเจตที่ด้านหน้า กระโปรงเซนดิตจีบและหางของวัว มองเห็นได้ระหว่างพระเพลาของพระองค์ ใต้พระบาทของพระองค์มีคันธนูเก้าคัน เป็นสัญลักษณ์ของศัตรูดั้งเดิมของอียิปต์ภายใต้อำนาจของพระองค์ พระองค์มีดวงพระเนตรที่ปิดสนิท พระปรางค์ที่เรียงรายและซีดเผือดไม่เหมือนกับผู้ปกครองก่อนหน้าหลายพระองค์ ซึ่งมีพระพักตร์ที่สิริโฉมงดงาม และมีริมฝีพระโอษฐ์ที่คล้ำ ไม่ทราบสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงรูปแบบสำนวนนี้ แต่การเลียนแบบคุณลักษณะของพระองค์โดยฟาโรห์ในภายหลังและบุคคลส่วนตัวแนะนำว่าคุณลักษณะของฟาโรห์เซนวอสเรตมีจุดมุ่งหมายเพื่อถ่ายทอดคุณสมบัติที่มีคุณธรรมของพระองค์ พิพิธภัณฑ์บรูคลิน

บันทึกปาปิรัสสองช่วงรัชสมัยที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์เบอร์ลินได้แสดงปีที่ 20 แห่งการครองราชย์ของพระองค์ ถัดจากปีที่ 1 แห่งการครองราชย์ของฟาโรห์อเมเนมเฮตที่ 3 พระราชโอรส ซึ่งโดยทั่วไปสันนิษฐานว่านี่เป็นการยืนยันถึงการสำเร็จราขการร่วมกับพระราชโอรสของพระองค์ ซึ่งน่าจะเริ่มได้ในปีนี้ ตามข้อมูลของโยเซฟ ดับเบิลยู. เวกเนอร์ บันทึกอักษรเฮียราติกที่เกี่ยวข้องกับการควบคุม ซึ่งบันทึกขึ้นในปีที่ 39 และถูกค้นพบบนบล็อกหินปูนสีขาวจาก:

...ซากอาคารที่สร้างขึ้นจากอาคารของวิหารฝังพระศพของฟาโรห์เซนวอสเรตที่ 3 ที่กำหนดไว้อย่างชัดเจน เศษชิ้นส่วนนั้นเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่เหลืออยู่ของการก่อสร้างวิหาร ซากอาคารนี้เป็นหลักฐานสำหรับฃ่วงเวลาสร้างวิหารฝังพระศพของฟาโรห์เซนวอสเรตที่ 3 ที่อไบดอส[13]

เวกเนอร์ได้เน้นว่า ไม่น่าเป็นไปได้ที่ฟาโรห์อเมเนมเฮตที่ 3 ผู้เป็นพระราชโอรสและผู้สืบทอดพระราชบัลลังก์ของพระองค์ จะยังคงสร้างในวิหารของพระราชบิดาในเวลาเกือบสี่ทศวรรษในรัชกาลของพระองค์เอง เขาตั้งข้อสังเกตว่า คำอธิบายที่เป็นไปได้เพียงอย่างเดียวสำหรับการมีอยู่ของบล็อกในแผนการก่อสร้าง คือ ฟาโรห์เซนุสเรตที่ 3 มีระยะเวลาแห่งปกครองเป็นเวลา 39 ปี โดย 20 ปีสุดท้ายได้สำเร็จราชการร่วมกับพระราชโอรส เนื่องจากแผนการก่อสร้างนี้เกี่ยวข้องกับแผนฯ ของฟาโรห์เซนุสเรตที่ 3 รัชสมัยแห่งการครองราชย์ของพระองค์จึงถูกใช้เพื่อให้ระบุเวลาของบล็อกหินแทนที่จะเป็นปีที่ 20 แห่งการครองราชย์ของฟาโรห์อเมเนมเฮตที่ 3 และเวกเนอร์ได้ตีความสิ่งนี้เป็นนัยว่าฟาโรห์เซนุสเรตที่ 3 ยังมีทรงมีพระชนม์ชีพอยู่ในช่วงสองทศวรรษแรกของการครองราชย์ของพระราชโอรสของพระองค์

ข้อสมมติฐานของเวกเนอร์ได้ถูกปฏิเสธโดยนักวิชาการบางคน เช่น ปิแอร์ ทัลเลต์ และอาร์โก วิลเลมส์ ซึ่งโต้แย้งว่า มีความเป็นไปได้มากกว่าที่การสำเร็จราชการร่วมดังกล่าวไม่เคยเกิดขึ้น และบันทึกการควบคุมปีที่ 39 ยังอาจหมายถึง ฟาโรห์อเมเนมเฮตที่ 3 ซึ่งอาจทรงสั่งให้เพิ่มอนุสาวรีย์ของฟาโรห์เซนุสเรตที่ 3 บางส่วน[14][15]

พีระมิดและสถานที่ฝังพระศพ[แก้]

แผนผังพีระมิดที่ดาห์ชูร์

พีระมิดแห่งเซนุสเรตที่ 3 ได้ถูกสร้างขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของพีระมิดแดงแห่งดาห์ชูร์[16] ซึ่งมันมีความล้ำหน้ากว่าพีระมิดในช่วงราชวงศ์ที่สิบสองตอนต้นในด้านขนาด ความยิ่งใหญ่ และแนวความคิดทางศาสนาที่เป็นรากฐาน

มีการคาดเดากันว่า ฟาโรห์เซนุสเรตที่ 3 ไม่ได้ถูกฝังอยู่ที่นั่น แต่พระองค์ถูกฝังในสถานที่ฝังพระศพอันซับซ้อนของพระองค์ในอไบดอส และพีระมิดของพระองค์น่าจะเป็นเพียงอนุสาวรีย์[2]

พีระมิดแห่งเซนุสเรตที่ 3 มีพื้นที่ขนาด 105 ตารางเมตร และมีความสูง 78 เมตร ปริมาตรรวมประมาณ 288,000 ลูกบาศก์เมตร พีระมิดถูสร้างจากแกนอิฐโคลน พวกเขาไม่ได้ทำขนาดที่สอดคล้องกัน ซึ่งบ่งบอกว่าไม่ได้ใช้แม่พิมพ์มาตรฐาน ห้องฝังพระศพปูด้วยหินแกรนิต เหนือห้องฝังพระศพที่มีหลังคาโค้งมีห้องบันทึกจารึกห้องที่สองซึ่งมุงด้วยคานหินปูนห้าคู่ซึ่งแต่ละห้องมีน้ำหนัก 30 ตัน ด้านบนนี้เป็นห้องเก็บของอิฐโคลนที่สาม

พีระมิดแห่งเซนุสเรตที่ 3 ประกอบด้วยวิหารฝังพระศพขนาดเล็กและพีระมิดขนาดเล็กเจ็ดหลังสำหรับพระมเหสีของพระองค๋ นอกจากนี้ยังมีห้องใต้ดินที่มีการฝังพระศพเพิ่มเติมสำหรับเจ้านายสตรีในราชวงศ์ พบสมบัติของเจ้าหญิงซิตฮาธอร์และพระราชินีเมเรเรตที่นี่ นอกจากนี้ยังมีวิหารทางใต้พีระมิดด้วย อย่างไรก็ตาม วิหารแห่งนี้ได้ถูกทำลายไปแล้ว[17]

พระบรมราชานุสาวรีย์[แก้]

ฟาโรห์เซนุสเรตที่ 3 เป็นที่ทราบกันดีในเรื่องรูปสลักที่โดดเด่นของพระองค์ ซึ่งแทบจะทราบได้ทันทีว่าเป็นรูปสลักของพระองค์ ฟาโรห์เซนุสเรตที่ 3 มีรูปสลักในวัยต่าง ๆ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัยผู้สูงอายุ พระองค์ทรงแสดงสีหน้าเคร่งขรึมอย่างน่าทึ่ง: ดวงตายื่นออกมาจากเบ้าตากลวงที่มีถุงและเส้นใต้ตา ปากและริมฝีปากมีหน้าตาบูดบึ้งของความขมขื่น และหูมีขนาดใหญ่และยื่นออกมาข้างหน้า ตรงกันข้ามกับความสมจริงของศีรษะที่เกินจริง และไม่ว่าพระชนมายุของพระองค์จะเป็นอย่างไร ส่วนที่เหลือของร่างกายก็ถูกทำให้เป็นอุดมคติที่อ่อนเยาว์และมีกล้ามเนื้อตลอดไปในแบบฟาโรห์นิยมมากกว่า[18][19]

นักวิชาการทำได้เพียงตั้งข้อสมมติฐานเกี่ยวกับเหตุผลที่ว่าทำไมฟาโรห์เซนุสเรตที่ 3 ถึงเลือกที่จะแสดงภาพลักษณ์ตัวพระองค์เองในลักษณะที่ไม่เหมือนใคร และแยกขั้วในสองความคิดเห็นที่แตกต่างกัน[18] บางคนโต้แย้งว่า พระองค์ต้องการเป็นตัวแทนของผู้ปกครองที่โดดเดี่ยวและไม่แยแส มนุษย์มีอยู่ก่อนพระเจ้า ถูกครอบงำด้วยความกังวลและความรับผิดชอบของพระองค์[20][21][22] ในทางตรงกันข้าม นักวิชาการคนอื่น ๆ เสนอความเห็นว่าเดิมทีรูปสลักจะสื่อถึงความคิดที่ว่าทรราชผู้น่าสะพรึงกลัวที่สามารถมองเห็นและได้ยินทุกอย่างภายใต้การควบคุมที่เข้มงวดของพระองค์[23]

ไม่นานมานี้ มีข้อเสนอความเห็นที่ว่า จุดประสงค์ของสลักรูปอันแปลกประหลาดเช่นนี้ไม่ใช่เพื่อแสดงถึงความสมจริง แต่เป็นการเผยให้เห็นถึงลักษณะการรับรู้ของอำนาจภายในราชสำนักในรัชสมัยของฟาโรห์เซนุสเรตที่ 3[24]

รูปสลักของฟาโรห์เซนุสเรตที่ 3 ที่พิพิธภัณฑ์บริติช แสดงลักษณะเฉพาะของฟาโรห์พระองค์นี้

ชุดภาพ[แก้]

เพิ่มเติม[แก้]

ฟาโรห์เซนุสเรตที่ 3 เป็นตัวละครหลักในนิยายอิงประวัติศาสตร์ของคริสเตียน แจ็ค ในเรื่อง The Mysteries of Osiris[25]

นักวิชาการพระคัมภีร์หัวโบราณหลายคนมองว่า ฟาโรห์เซนุสเรตที่ 3 เป็นฟาโรห์ที่กล่าวถึงในปฐมกาล 39-47 ผู้ซึ่งยกโยเซฟขึ้นเป็นตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง[26]

อ้างอิง[แก้]

  1. Kim S. B. Ryholt, The Political Situation in Egypt during the Second Intermediate Period, c.1800-1550 B.C., Museum Tusculanum Press, Carsten Niebuhr Institute Publications 20, 1997. p.185
  2. 2.0 2.1 "The Pyramids: Their Archeology and History", Miroslav Verner, Translated by Steven Rendall,p386-387 & p416-421, Atlantic, ISBN 1-84354-171-8
  3. "The Oxford Guide: Essential Guide to Egyptian Mythology", Edited by Donald B. Redford, p. 85, Berkley, 2003, ISBN 0-425-19096-X
  4. Pierre Tallet: Sesostris III et la fin de la XIIe dynastie, Paris 2005, ISBN 2-85704-851-3, p. 14-30
  5. J. H. Breasted, Ancient Records of Egypt, Part One, Chicago 1906, §§642-648
  6. J. H. Breasted, Ancient Records of Egypt, Part One, Chicago 1906, §§640-673
  7. J.H. Breasted, §652
  8. Miriam Lichtheim, Ancient Egyptian literature: a Book of Readings, Berkeley CA, University of California Press, 1973. pp.119–120
  9. Pritchard, James B. (2016). Ancient Near Eastern Texts Relating to the Old Testament with Supplement (ภาษาอังกฤษ). Princeton University Press. p. 230. ISBN 978-1-4008-8276-2.
  10. Ian Shaw, The Oxford History of Ancient Egypt, Oxford University Press 2003, p.155
  11. Peter Clayton, Chronicle of the Pharaohs, Thames & Hudson Ltd, (1994),p.86
  12. "Senusret (III) Khakhaure". Petrie.ucl.ac.uk. สืบค้นเมื่อ 2013-12-03.
  13. Josef Wegner, The Nature and Chronology of the Senwosret III–Amenemhat III Regnal Succession: Some Considerations based on new evidence from the Mortuary Temple of Senwosret III at Abydos, JNES 55, Vol.4, (1996), p. 251
  14. Tallet, Pierre (2005). Sésostris III et la fin de la XIIe Dynastie. Paris. pp. 28–29.
  15. Willems, Harco (2010). "The First Intermediate Period and the Middle Kingdom". ใน Lloyd, Alan B. (บ.ก.). A companion to Ancient Egypt, volume 1. Wiley-Blackwell. p. 93.
  16. Katheryn A. Bard, Encyclopedia of the Archaeology of Ancient Egypt, Routledge 1999, p.107
  17. Lehner, Mark The Complete Pyramids, London: Thames and Hudson (1997)p.177-9 ISBN 0-500-05084-8.
  18. 18.0 18.1 Robins, Gay (1997). The Art of Ancient Egypt. London: British Museum Press. p. 113. ISBN 0714109886.
  19. Freed, Rita E. (2010). "Sculpture of the Middle Kingdom". ใน Lloyd, Alan B. (บ.ก.). A companion to Ancient Egypt, volume 2. Wiley-Blackwell. pp. 900–902. ISBN 9781405155984.
  20. Bothmer, Bernard (1974). Brief Guide to the Department of Egyptian and Classical Art. Brooklyn, NY: The Brooklyn Museum. p. 39.
  21. Morkot, Robert G. (2005). The Egyptians: An Introduction. Routledge. p. 14.
  22. Cimmino, Franco (2003). Dizionario delle dinastie faraoniche (ภาษาอิตาลี). Milano: Bompiani. p. 158. ISBN 88-452-5531-X.
  23. Wilkinson, Toby (2010). The Rise and Fall of Ancient Egypt. London: Bloomsbury. p. 179. ISBN 9781408810026.
  24. Laboury, Dimitri, Senwosret III and the Issue of Portraiture in Ancient Egyptian Art, in Andreu-Lanoë, Guillemette & Morfoisse, Fleur (eds.), Sésostris III et la fin du Moyen Empire. Actes du colloque des 12-13 décembre 2014, Louvre-Lens et Palais des Beaux-Arts de Lille. CRIPEL 31 (2016-2017), pp. 71–84.
  25. "The Tree of Life (Mysteries of Osiris, book 1) by Christian Jacq". Fantasticfiction.co.uk. สืบค้นเมื่อ 2013-12-03.
  26. Andrew E. Hill and John H. Walton, A Survey of the Old Testament (3rd edition), Grand Rapids: Zondervan, 2009, p. 187.

บรรณานุกรม[แก้]

  • W. Grajetzki, The Middle Kingdom of Ancient Egypt: History,Archaeology and Society, Duckworth, London 2006 ISBN 0-7156-3435-6, 51-58
  • Josef Wegner, The Nature and Chronology of the Senwosret III–Amenemhat III Regnal Succession: Some Considerations based on new evidence from the Mortuary Temple of Senwosret III at Abydos, JNES 55, Vol.4, (1996), pp. 249–279
  • Jordanes (1915). "VI chapters". The Gothic History.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]