พระสุนทรโวหาร (ภู่)
พระสุนทรโวหาร (ภู่) | |
---|---|
รูปปั้นสุนทรภู่ ที่วัดเทพธิดารามวรวิหาร กรุงเทพมหานคร | |
เกิด | ภู่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2329 เมืองธนบุรี อาณาจักรรัตนโกสินทร์ (ปัจจุบัน กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย) |
เสียชีวิต | พ.ศ. 2398 (69 ปี) เมืองธนบุรี ประเทศสยาม (ปัจจุบัน กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย) |
สัญชาติ | สยาม |
อาชีพ | อาลักษณ์[1] |
ตำแหน่ง | เจ้ากรมอาลักษณ์ฝ่ายพระราชวังบวร |
คู่สมรส | จัน นิ่ม ม่วง |
บุตร | 4 คน |
อาชีพนักเขียน | |
ช่วงเวลา | ต้นรัตนโกสินทร์ |
แนว | จินตนิมิต, อิงประวัติศาสตร์ |
หัวข้อ | กวีนิพนธ์ |
ผลงานที่สำคัญ | พระอภัยมณี โคบุตร |
พระสุนทรโวหาร นามเดิม ภู่ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า สุนทรภู่ (26 มิถุนายน พ.ศ. 2329 – พ.ศ. 2398) เป็นอาลักษณ์ชาวไทยที่มีชื่อเสียงเชิงกวี เขาได้รับยกย่องเป็น เชกสเปียร์แห่งประเทศไทย[2] เกิดหลังจากตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ได้ 4 ปี และได้เข้ารับราชการเป็นอาลักษณ์ราชสำนักในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อสิ้นรัชกาลได้ออกบวชเป็นเวลาร่วม 20 ปี ก่อนจะกลับเข้ารับราชการอีกครั้งในปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยเป็นอาลักษณ์ในสมเด็จเจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้เลื่อนตำแหน่งเป็น พระสุนทรโวหาร เจ้ากรมอาลักษณ์ฝ่ายพระราชวังบวร ซึ่งเป็นตำแหน่งราชการสุดท้ายก่อนสิ้นชีวิต
สุนทรภู่เป็นกวีที่มีความชำนาญทางด้านกลอน ได้สร้างขนบการประพันธ์กลอนนิทานและกลอนนิราศขึ้นใหม่จนกลายเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางสืบเนื่องมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ผลงานที่มีชื่อเสียงของสุนทรภู่มีมากมายหลายเรื่อง เช่น นิราศภูเขาทอง นิราศสุพรรณ เพลงยาวถวายโอวาท กาพย์พระไชยสุริยา และ พระอภัยมณี เป็นต้น โดยเฉพาะเรื่อง พระอภัยมณี ได้รับยกย่องจากวรรณคดีสโมสรว่าเป็นยอดของวรรณคดีประเภทกลอนนิทาน และเป็นผลงานที่แสดงถึงทักษะ ความรู้ และทัศนะของสุนทรภู่อย่างมากที่สุด งานประพันธ์หลายชิ้นของสุนทรภู่ได้รับเลือกให้เป็นส่วนหนึ่งในหลักสูตรการเรียนการสอนนับแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน เช่น กาพย์พระไชยสุริยา นิราศพระบาท และอีกหลาย ๆ เรื่อง
ปี พ.ศ. 2529 ในโอกาสครบรอบ 200 ปีชาตกาล สุนทรภู่ได้รับยกย่องจากองค์การยูเนสโกให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกด้านงานวรรณกรรม ผลงานของสุนทรภู่ยังเป็นที่นิยมในสังคมไทยอย่างต่อเนื่องตลอดมาไม่ขาดสาย และมีการนำไปดัดแปลงเป็นสื่อต่าง ๆ เช่น หนังสือการ์ตูน ภาพยนตร์ เพลง รวมถึงละคร มีการก่อสร้างอนุสาวรีย์สุนทรภู่ไว้ที่ตำบลกร่ำ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง บ้านเกิดของบิดาของสุนทรภู่ และเป็นที่กำเนิดผลงานนิราศเรื่องแรกของท่านคือ นิราศเมืองแกลง นอกจากนี้ยังมีอนุสาวรีย์แห่งอื่น ๆ อีก เช่น ที่วัดศรีสุดาราม ที่จังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดนครปฐม วันเกิดของสุนทรภู่คือวันที่ 26 มิถุนายนของทุกปี ถือเป็น วันสุนทรภู่ ซึ่งเป็นวันสำคัญด้านวรรณกรรมของไทย มีการจัดกิจกรรมเชิดชูเกียรติคุณและส่งเสริมศิลปะการประพันธ์บทกวีจากองค์กรต่าง ๆ โดยทั่วไป
ประวัติ
ต้นตระกูล
บันทึกส่วนใหญ่มักระบุถึงต้นตระกูลของสุนทรภู่เพียงว่า บิดาเป็นชาวบ้านกร่ำ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง มารดาเป็นชาวเมืองอื่น ทั้งนี้เนื่องจากเชื่อถือตามพระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เรื่อง ชีวิตและงานของสุนทรภู่ ต่อมาในภายหลัง เมื่อมีการค้นพบข้อมูลต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น ก็มีแนวคิดเกี่ยวกับต้นตระกูลของสุนทรภู่แตกต่างกันออกไป นักวิชาการส่วนใหญ่เห็นพ้องกันว่า ฝ่ายบิดาเป็นชาวบ้านกร่ำ เมืองแกลง จริง เนื่องจากมีปรากฏเนื้อความอยู่ใน นิราศเมืองแกลง ถึงวงศ์วานว่านเครือของสุนทรภู่ ทั้งนี้บิดาของสุนทรภู่อาจมีเชื้อสายชองซึ่งเป็นชนพื้นเมืองในพื้นที่ ดังปรากฏว่า "...ล้วนวงศ์วานว่านเครือเป็นเชื้อชอง ไม่เห็นน้องนึกน่าน้ำตากระเด็น..."[3] แต่เรื่องดังกล่าวก็ไม่มีหลักฐานใดสนับสนุนเพียงพอ บ้างก็ว่าอาจเป็นการเข้าใจผิด[4]
แต่ความเห็นเกี่ยวกับตระกูลฝ่ายมารดานี้แตกออกเป็นหลายส่วน ส่วนหนึ่งว่าไม่ทราบที่มาแน่ชัด ส่วนหนึ่งว่าเป็นชาวฉะเชิงเทรา และส่วนหนึ่งว่าเป็นชาวเมืองเพชรบุรี ก.ศ.ร. กุหลาบ เคยเขียนไว้ในหนังสือ สยามประเภท ว่า บิดาของสุนทรภู่เป็นข้าราชการแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ชื่อขุนศรีสังหาร (พลับ)[5] ข้อมูลนี้สอดคล้องกับบทกวีไม่ทราบชื่อผู้แต่ง ซึ่งปราโมทย์ ทัศนาสุวรรณ พบที่อนุสาวรีย์สุนทรภู่ จังหวัดระยอง ว่า บิดาของสุนทรภู่เป็นชาวบ้านกร่ำ ชื่อพ่อพลับ ส่วนมารดาเป็นชาวเมืองฉะเชิงเทรา ชื่อแม่ช้อย[6] ทว่าแนวคิดที่ได้รับการยอมรับกันค่อนข้างกว้างขวางคือ ตระกูลฝ่ายมารดาของสุนทรภู่เป็นชาวเมืองเพชรบุรี สืบเนื่องจากเนื้อความใน นิราศเมืองเพชร ฉบับค้นพบเพิ่มเติมโดยล้อม เพ็งแก้ว เมื่อ พ.ศ. 2529[7]
วัยเยาว์
สุนทรภู่ มีชื่อเดิมว่า ภู่ เกิดในสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อวันจันทร์ เดือน 8 ขึ้น 1 ค่ำ ปีมะเมีย จุลศักราช 1148 เวลาเช้า 2 โมง (ตรงกับวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2329) ณ บริเวณด้านเหนือของพระราชวังหลัง ซึ่งเป็นบริเวณสถานีรถไฟบางกอกน้อยปัจจุบันนี้ เชื่อว่าหลังจากสุนทรภู่เกิดได้ไม่นาน บิดามารดาก็หย่าร้างกัน บิดาออกไปบวชอยู่ที่วัดป่ากร่ำอันเป็นภูมิลำเนาเดิม ส่วนมารดาได้เข้าไปอยู่ในพระราชวังหลัง ถวายตัวเป็นนางนมของพระองค์เจ้าหญิงจงกล พระธิดาในเจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ ดังนั้นสุนทรภู่จึงได้อยู่ในพระราชวังหลังกับมารดา และได้ถวายตัวเป็นข้าในกรมพระราชวังหลัง สุนทรภู่ยังมีน้องสาวต่างบิดาอีกสองคน ชื่อฉิมและนิ่ม
เชื่อกันว่า ในวัยเด็กสุนทรภู่ได้ร่ำเรียนหนังสือกับพระในสำนักวัดชีปะขาว (ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานนามในรัชกาลที่ 4 ว่า วัดศรีสุดาราม อยู่ริมคลองบางกอกน้อย) ตามเนื้อความส่วนหนึ่งที่ปรากฏใน นิราศสุพรรณ[8] ต่อมาได้เข้ารับราชการเป็นเสมียนนายระวางกรมพระคลังสวน ในกรมพระคลังสวน[9] แต่ไม่ชอบทำงานอื่นนอกจากแต่งบทกลอน ซึ่งสามารถแต่งได้ดีตั้งแต่ยังรุ่นหนุ่ม จากสำนวนกลอนของสุนทรภู่ เชื่อว่าผลงานที่มีการประพันธ์ขึ้นก่อนสุนทรภู่อายุได้ 20 ปี (คือก่อน นิราศเมืองแกลง) เห็นจะได้แก่กลอนนิทานเรื่อง โคบุตร[10]
สุนทรภู่ลอบรักกับนางข้าหลวงในวังหลังคนหนึ่ง ชื่อแม่จัน ชะรอยว่าหล่อนจะเป็นบุตรหลานผู้มีตระกูล จึงถูกกรมพระราชวังหลังกริ้วจนถึงให้โบยและจำคุกคนทั้งสอง แต่เมื่อกรมพระราชวังหลังเสด็จทิวงคตในปี พ.ศ. 2349 จึงมีการอภัยโทษแก่ผู้ถูกลงโทษทั้งหมดถวายเป็นพระราชกุศล หลังจากสุนทรภู่ออกจากคุกก็เดินทางไปหาบิดาที่เมืองแกลง จังหวัดระยอง การเดินทางครั้งนี้สุนทรภู่ได้แต่ง นิราศเมืองแกลง พรรณนาสภาพการเดินทางต่าง ๆ เอาไว้โดยละเอียด และลงท้ายเรื่องว่า แต่งมาให้แก่แม่จัน "เป็นขันหมากมิ่งมิตรพิสมัย"[11] ในนิราศได้บันทึกสมณศักดิ์ของบิดาของสุนทรภู่ไว้ด้วยว่า เป็น "พระครูธรรมรังษี" เจ้าอาวาสวัดป่ากร่ำ กลับจากเมืองแกลงคราวนี้ สุนทรภู่จึงได้แม่จันเป็นภรรยา
แต่กลับจากเมืองแกลงเพียงไม่นาน สุนทรภู่ต้องติดตามพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ในฐานะมหาดเล็กตามเสด็จไปในงานพิธีมาฆบูชาที่พระพุทธบาท (เขตจังหวัดสระบุรีในปัจจุบัน) เมื่อปี พ.ศ. 2350 สุนทรภู่ได้แต่ง นิราศพระบาท พรรณนาเหตุการณ์ในการเดินทางคราวนี้ด้วย
สุนทรภู่กับแม่จันมีบุตรด้วยกัน 1 คน ชื่อหนูพัด ได้อยู่ในความอุปการะของเจ้าครอกทองอยู่ ส่วนหนุ่มสาวทั้งสองมีเรื่องระหองระแหงกันเสมอ จนภายหลังก็เลิกรากันไป
หลังจาก นิราศพระบาท ที่สุนทรภู่แต่งในปี พ.ศ. 2350 ไม่ปรากฏผลงานใด ๆ ของสุนทรภู่อีกเลยจนกระทั่งเข้ารับราชการในปี พ.ศ. 2359
ตำแหน่งอาลักษณ์
สุนทรภู่ได้เข้ารับราชการในกรมพระอาลักษณ์เมื่อ พ.ศ. 2359 ในรัชสมัยรัชกาลที่ 2 มูลเหตุในการได้เข้ารับราชการนี้ ไม่ปรากฏแน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าอาจแต่งโคลงกลอนได้เป็นที่พอพระทัย ทราบถึงพระเนตรพระกรรณจึงทรงเรียกเข้ารับราชการ แนวคิดหนึ่งว่าสุนทรภู่เป็นผู้แต่งกลอนในบัตรสนเท่ห์ ซึ่งปรากฏชุกชุมอยู่ในเวลานั้น[12] อีกแนวคิดหนึ่งสืบเนื่องจาก "ช่วงเวลาที่หายไป" ของสุนทรภู่ ซึ่งน่าจะใช้วิชากลอนทำมาหากินเป็นที่รู้จักเลื่องชื่ออยู่ ชะรอยจะเป็นเหตุให้ถูกเรียกเข้ารับราชการก็ได้[6]
เมื่อแรกสุนทรภู่รับราชการเป็นอาลักษณ์ปลายแถว มีหน้าที่เฝ้าเวลาทรงพระอักษรเพื่อคอยรับใช้ แต่มีเหตุให้ได้แสดงฝีมือกลอนของตัว เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงแต่งกลอนบทละครในเรื่อง "รามเกียรติ์" ติดขัดไม่มีผู้ใดต่อกลอนได้ต้องพระราชหฤทัย จึงโปรดให้สุนทรภู่ทดลองแต่ง ปรากฏว่าแต่งได้ดีเป็นที่พอพระทัย จึงทรงพระกรุณาฯ เลื่อนให้เป็น ขุนสุนทรโวหาร การต่อกลอนของสุนทรภู่คราวนี้เป็นที่รู้จักทั่วไป เนื่องจากปรากฏรายละเอียดอยู่ในพระนิพนธ์ ชีวิตและงานของสุนทรภู่ ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ บทกลอนในรามเกียรติ์ที่สุนทรภู่ได้แต่งในคราวนั้นคือ ตอนนางสีดาผูกคอตาย และตอนศึกสิบขุนสิบรถ ฉากบรรยายรถศึกของทศกัณฐ์[12] สุนทรภู่ได้เลื่อนยศเป็น หลวงสุนทรโวหาร ในเวลาต่อมา[13] ได้รับพระราชทานบ้านหลวงอยู่ที่ท่าช้าง ใกล้กับวังท่าพระ และมีตำแหน่งเข้าเฝ้าเป็นประจำ คอยถวายความเห็นเกี่ยวกับพระราชนิพนธ์และพระนิพนธ์วรรณคดีเรื่องต่าง ๆ รวมถึงได้ร่วมในกิจการฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ โดยเป็นหนึ่งในคณะร่วมแต่ง ขุนช้างขุนแผน ขึ้นใหม่
ระหว่างรับราชการ สุนทรภู่ต้องโทษจำคุกเพราะถูกอุทธรณ์ว่าเมาสุราทำร้ายญาติผู้ใหญ่ แต่จำคุกได้ไม่นานก็โปรดพระราชทานอภัยโทษ เล่ากันว่าเนื่องจากพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงติดขัดบทพระราชนิพนธ์เรื่องสังข์ทอง ไม่มีใครแต่งได้ต้องพระทัย[14] ภายหลังพ้นโทษ สุนทรภู่ได้เป็นพระอาจารย์ถวายอักษรสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอาภรณ์ พระราชโอรสในรัชกาลที่ 2 เชื่อว่าสุนทรภู่แต่งเรื่อง สวัสดิรักษา ในระหว่างเวลานี้
ในระหว่างรับราชการอยู่นี้ สุนทรภู่แต่งงานใหม่กับแม่นิ่ม มีบุตรด้วยกันหนึ่งคน ชื่อพ่อตาบ
ออกบวช
สุนทรภู่รับราชการอยู่เพียง 8 ปี เมื่อถึงปี พ.ศ. 2367 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จสวรรคต หลังจากนั้นสุนทรภู่ก็ออกบวช แต่จะได้ลาออกจากราชการก่อนออกบวชหรือไม่ยังไม่ปรากฏแน่ชัด แม้จะไม่ปรากฏโดยตรงว่าสุนทรภู่ได้รับพระบรมราชูปถัมภ์จากราชสำนักใหม่ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ก็ได้รับพระอุปถัมภ์จากพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์อื่นอยู่เสมอ เช่น ปี พ.ศ. 2372 สุนทรภู่ได้เป็นพระอาจารย์ถวายอักษรเจ้าฟ้ากลางและเจ้าฟ้าปิ๋ว พระโอรสในเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี ปรากฏความอยู่ใน เพลงยาวถวายโอวาท นอกจากนั้นยังได้อยู่ในพระอุปถัมภ์ของพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ และกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ซึ่งปรากฏเนื้อความในงานเขียนของสุนทรภู่บางเรื่องว่า สุนทรภู่แต่งเรื่อง พระอภัยมณี และ สิงหไตรภพ ถวาย
สุนทรภู่บวชอยู่เป็นเวลา 18 ปี ระหว่างนั้นได้ย้ายไปอยู่วัดต่าง ๆ หลายแห่ง เท่าที่พบระบุในงานเขียนของท่านได้แก่ วัดเลียบ วัดแจ้ง วัดโพธิ์ วัดมหาธาตุ และวัดเทพธิดาราม งานเขียนบางชิ้นสื่อให้ทราบว่า ในบางปี ภิกษุภู่เคยต้องเร่ร่อนไม่มีที่จำพรรษาบ้างเหมือนกัน ผลจากการที่ภิกษุภู่เดินทางธุดงค์ไปที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ปรากฏผลงานเป็นนิราศเรื่องต่าง ๆ มากมาย และเชื่อว่าน่าจะยังมีนิราศที่ค้นไม่พบอีกเป็นจำนวนมาก
งานเขียนชิ้นสุดท้ายที่ภิกษุภู่แต่งไว้ก่อนลาสิกขาบท คือ รำพันพิลาป โดยแต่งขณะจำพรรษาอยู่ที่วัดเทพธิดาราม พ.ศ. 2385
ช่วงปลายของชีวิต
ปี พ.ศ. 2385 ภิกษุภู่จำพรรษาอยู่ที่วัดเทพธิดาราม ที่มีกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพทรงอุปถัมภ์[1] คืนหนึ่งหลับฝันเห็นเทพยดาจะมารับตัวไป เมื่อตื่นขึ้นคิดว่าตนถึงฆาตจะต้องตายแล้ว จึงประพันธ์เรื่อง รำพันพิลาป พรรณนาถึงความฝันและเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ที่ได้ประสบมาในชีวิต หลังจากนั้นก็ลาสิกขาบทเพื่อเตรียมตัวจะตาย ขณะนั้นสุนทรภู่มีอายุได้ 56 ปี
หลังจากลาสิกขาบท สุนทรภู่ได้รับพระอุปถัมภ์จากเจ้าฟ้าน้อย หรือสมเด็จเจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ รับราชการสนองพระเดชพระคุณทางด้านงานวรรณคดี สุนทรภู่แต่ง เสภาพระราชพงศาวดาร บทเห่กล่อมพระบรรทม และบทละครเรื่อง อภัยนุราช ถวาย รวมถึงยังแต่งเรื่อง พระอภัยมณี ถวายให้กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพด้วย เมื่อถึงปี พ.ศ. 2394 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต เจ้าฟ้ามงกุฎเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงสถาปนาเจ้าฟ้าน้อยขึ้นเป็น พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว สุนทรภู่จึงได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้ากรมอาลักษณ์ฝ่ายพระราชวังบวร มีบรรดาศักดิ์เป็น พระสุนทรโวหาร ช่วงระหว่างเวลานี้สุนทรภู่ได้แต่งนิราศเพิ่มอีก 2 เรื่อง คือ นิราศพระประธม และ นิราศเมืองเพชร
สุนทรภู่พำนักอยู่ในเขตพระราชวังเดิม ใกล้หอนั่งของพระยามนเทียรบาล (บัว) มีห้องส่วนตัวเป็นห้องพักกั้นเฟี้ยมที่เรียกชื่อกันว่า "ห้องสุนทรภู่" เชื่อว่าสุนทรภู่พำนักอยู่ที่นี่ตราบจนถึงแก่อนิจกรรม[15] เมื่อปี พ.ศ. 2398 สิริรวมอายุได้ 69 ปี
ทายาท
สุนทรภู่มีบุตรชายสามคน คือพ่อพัด เกิดจากภรรยาคนแรกคือแม่จัน พ่อตาบ เกิดจากภรรยาคนที่สองคือแม่นิ่ม และพ่อนิล เกิดจากภรรยาที่ชื่อแม่ม่วง นอกจากนี้ปรากฏชื่อบุตรบุญธรรมอีกสองคน ชื่อพ่อกลั่น และพ่อชุบ
พ่อพัดนี้เป็นลูกรัก ได้ติดสอยห้อยตามสุนทรภู่อยู่เสมอ เมื่อครั้งสุนทรภู่ออกบวช พ่อพัดก็ออกบวชด้วย[16] เมื่อสุนทรภู่ได้มารับราชการกับเจ้าฟ้าน้อย พ่อพัดก็มาพำนักอยู่ด้วยเช่นกัน[15] ส่วนพ่อตาบนั้นปรากฏว่าได้เป็นกวีมีชื่ออยู่พอสมควร[12] เมื่อถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตราพระราชบัญญัตินามสกุลขึ้น ตระกูลของสุนทรภู่ได้ใช้นามสกุลต่อมาว่า ภู่เรือหงส์ (บางสายสกุลอาจเป็น ภู่ระหงษ์)[17] ซึ่งตั้งขึ้นเองจากชื่อสุนทรภู่ซึ่งเป็นปู่ (สุนทรภู่เคยอยู่บนเรือหงส์) สืบลงมาทางหลานของพัด ภู่เรือหงส์[18]: 43–44
เรื่องนามสกุลของสุนทรภู่นี้ ก.ศ.ร. กุหลาบ เคยเขียนไว้ในหนังสือสยามประเภท อ้างถึงผู้ถือนามสกุล ภู่เรือหงส์ ที่ได้รับบำเหน็จจากหมอสมิทเป็นค่าพิมพ์หนังสือเรื่อง พระอภัยมณี[6][19] แต่หนังสือของ ก.ศ.ร. กุหลาบ ไม่เป็นที่ยอมรับของราชสำนัก ด้วยปรากฏอยู่บ่อยครั้งว่ามักเขียนเรื่องกุ เรื่องนามสกุลของสุนทรภู่จึงพลอยไม่ได้รับการเชื่อถือไปด้วย จนกระทั่ง ศ.ผะอบ โปษะกฤษณะ ยืนยันความข้อนี้เนื่องจากเคยได้พบกับหลานปู่ของพ่อพัดมาด้วยตนเอง[19]
อุปนิสัยและทัศนคติ
อุปนิสัย
ตำราโหราศาสตร์ผูกดวงชะตาวันเกิดของสุนทรภู่ไว้เป็นดวงประเทียบ พร้อมคำอธิบายข้างใต้ดวงชะตาว่า "สุนทรภู่ อาลักษณ์ขี้เมา"[12] เหตุนี้จึงเป็นที่กล่าวขานกันเสมอมาว่า สุนทรภู่นี้ขี้เหล้านัก ในงานเขียนของสุนทรภู่เองก็ปรากฏบรรยายถึงความมึนเมาอยู่หลายครั้ง แม้จะดูเหมือนว่า สุนทรภู่เองก็รู้ว่าการมึนเมาสุราเป็นสิ่งไม่ดี ได้เขียนตักเตือนผู้อ่านอยู่ในงานเขียนเสมอ[20] การดื่มสุราของสุนทรภู่อาจเป็นการดื่มเพื่อสังสรรค์และเพื่อสร้างอารมณ์ศิลปิน ด้วยปรากฏว่าเรือนสุนทรภู่มักเป็นที่ครึกครื้นรื่นเริงกับหมู่เพื่อนฝูงอยู่เสมอ[6] นอกจากนี้ยังเล่ากันว่า เวลาที่สุนทรภู่กรึ่ม ๆ แล้วอาจสามารถบอกกลอนให้เสมียนถึงสองคนจดตามแทบไม่ทัน[12] เมื่อออกบวช สุนทรภู่เห็นจะต้องพยายามเอาชนะใจตัวเองให้ได้ ซึ่งในท้ายที่สุดก็สามารถทำได้ดี ขณะที่รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล มองว่า เรื่องที่ว่าสุนทรภู่ขี้เมานั้นไม่มีการบันทึกอย่างเป็นกิจจะลักษณะ ทั้งสุนทรภู่มีผลงานเขียนอยู่มาก หากเป็นคนลุ่มหลงในสุราคงไม่มีเวลาไปเขียนหนังสือเป็นแน่[1]
สุนทรภู่มักเปรียบการเมาเหล้ากับการเมารัก ชีวิตรักของสุนทรภู่ดูจะไม่สมหวังเท่าที่ควร หลังจากแยกทางกับแม่จัน สุนทรภู่ได้ภรรยาคนที่สองชื่อแม่นิ่ม นอกจากนี้แล้วยังปรากฏชื่อหญิงสาวมากหน้าหลายตาที่สุนทรภู่พรรณนาถึง เมื่อเดินทางไปถึงหย่อมย่านมีชื่อเสียงคล้องจองกับหญิงสาวเหล่านั้น นักวิจารณ์หลายคนจึงบรรยายลักษณะนิสัยของสุนทรภู่ว่าเป็นคนเจ้าชู้ และบ้างยังว่าความเจ้าชู้นี้เองที่ทำให้ต้องหย่าร้างกับแม่จัน ความข้อนี้เป็นจริงเพียงไรไม่ปรากฏ ขุนวิจิตรมาตราเคยค้นชื่อสตรีที่เข้ามาเกี่ยวพันกับสุนทรภู่ในงานประพันธ์ต่าง ๆ ของท่าน ได้ชื่อออกมากว่า 12 ชื่อ คือ จัน พลับ แช่ม แก้ว นิ่ม ม่วง น้อย นกน้อย กลิ่น งิ้ว สุข ลูกจันทน์ และอื่น ๆ อีก[5] ทว่าสุนทรภู่เองเคยปรารภถึงการพรรณนาถึงหญิงสาวในบทประพันธ์ของตนว่า เป็นไปเพื่อให้ได้อรรถรสในงานประพันธ์เท่านั้น จะถือเป็นจริงเป็นจังมิได้[21] อย่างไรก็ดี การบรรยายความโศกเศร้าและอาภัพในความรักของสุนทรภู่ปรากฏอยู่ในงานเขียนนิราศของท่านแทบทุกเรื่อง สตรีในดวงใจที่ท่านรำพันถึงอยู่เสมอก็คือแม่จัน ซึ่งเป็นรักครั้งแรกที่คงไม่อาจลืมเลือนได้ แต่น่าจะมีความรักใคร่กับหญิงอื่นอยู่บ้างประปราย และคงไม่มีจุดจบที่ดีนัก ใน นิราศพระประธม ซึ่งท่านประพันธ์ไว้เมื่อมีอายุกว่า 60 ปีแล้ว สุนทรภู่ได้อธิษฐานไม่ขอพบกับหญิงทิ้งสัตย์อีกต่อไป[22]
อุปนิสัยสำคัญอีกประการหนึ่งของสุนทรภู่คือ มีความอหังการ์และมั่นใจในความสามารถของตนเป็นอย่างสูง ลักษณะนิสัยข้อนี้ทำให้นักวิจารณ์ใช้ในการพิจารณางานประพันธ์ซึ่งยังเป็นที่เคลือบแคลงอยู่ว่า เป็นผลงานของสุนทรภู่หรือไม่ ความอหังการ์ของสุนทรภู่แสดงออกมาอย่างชัดเจนอยู่ในงานเขียนหลายชุด และถือเป็นวรรคทองของสุนทรภู่ด้วย เช่น
อย่างหม่อมฉันอันที่ดีและชั่ว | ถึงลับตัวแต่ก็ชื่อเขาลือฉาว | |
เป็นอาลักษณ์นักเลงทำเพลงยาว | เขมรลาวลือเลื่องถึงเมืองนคร[23] |
หรืออีกบทหนึ่งคือ
หนึ่งขอฝากปากคำทำหนังสือ | ให้สืบชื่อชั่วฟ้าสุธาสถาน | |
สุนทราอาลักษณ์เจ้าจักรพาฬ | พระทรงสารศรีเศวตเกศกุญชร[24] |
เรื่องความอหังการ์ของสุนทรภู่นี้ เล่ากันว่าในบางคราวสุนทรภู่ขอแก้บทพระนิพนธ์ของกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ต่อหน้าพระที่นั่งโดยไม่มีการไว้หน้า ด้วยถือว่าตนเป็นกวีที่ปรึกษา กล้าแม้กระทั่งต่อกลอนหยอกล้อกับพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โดยที่ไม่ทรงถือโกรธ แต่กลับมีทิฐิของกวีที่จะเอาชนะสุนทรภู่ให้ได้[12] การแก้กลอนหน้าพระที่นั่งนี้อาจเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้สุนทรภู่ล่วงเกินต่อกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์โดยไม่ได้ตั้งใจ และอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สุนทรภู่ตัดสินใจออกบวชหลังสิ้นแผ่นดินรัชกาลที่ 2 แล้วก็เป็นได้[12]
ทัศนคติ
สุนทรภู่ให้ความสำคัญกับการศึกษาอย่างมาก และตอกย้ำเรื่องการศึกษาในวรรณคดีหลาย ๆ เรื่อง เช่น ขุนแผนสอนพลายงามว่า "ลูกผู้ชายลายมือนั้นคือยศ เจ้าจงอตส่าห์ทำสม่ำเสมียน"[25] หรือที่พระฤๅษีสอนสุดสาครว่า "รู้สิ่งไรไม่สู้รู้วิชา รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี"[26] โดยที่สุนทรภู่เองก็เป็นผู้สนใจใฝ่ศึกษาหาความรู้ และมีความรู้กว้างขวางอย่างยิ่ง เชื่อว่าสุนทรภู่น่าจะร่วมอยู่ในกลุ่มข้าราชการหัวก้าวหน้าในยุคสมัยนั้น ที่นิยมวิชาความรู้แบบตะวันตก ภาษาอังกฤษ ตลอดกระทั่งแนวคิดยุคใหม่ที่ให้ความสำคัญกับสตรีมากขึ้นกว่าเดิม สิ่งที่สะท้อนแนวความคิดของสุนทรภู่ออกมามากที่สุดคืองานเขียนเรื่อง พระอภัยมณี ซึ่งโครงเรื่องมีความเป็นสากลมากยิ่งกว่าวรรณคดีไทยเรื่องอื่น ๆ ตัวละครมีความหลากหลายทางเชื้อชาติ ตัวละครเอกเช่นพระอภัยมณีกับสินสมุทรยังสามารถพูดภาษาต่างประเทศได้หลายภาษา นอกจากนี้ยังเป็นวรรณคดีที่ตัวละครฝ่ายหญิงมีบทบาททางการเมืองอย่างสูง เช่นนางสุวรรณมาลีและนางละเวงวัณฬาที่สามารถเป็นเจ้าครองเมืองได้เอง นางวาลีที่เป็นถึงที่ปรึกษากองทัพ และนางเสาวคนธ์ที่กล้าหาญถึงกับหนีงานวิวาห์ที่ตนไม่ปรารถนา อันผิดจากนางในวรรณคดีไทยตามประเพณีที่เคยมีมา[27]
ลักษณะความคิดแบบหัวก้าวหน้าเช่นนี้ทำให้ นิธิ เอียวศรีวงศ์ เรียกสมญาสุนทรภู่ว่าเป็น "มหากวีกระฎุมพี"[27] ซึ่งแสดงถึงชนชั้นใหม่ที่เกิดขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ เมื่อทรัพย์สินเงินทองเริ่มมีความสำคัญมากขึ้นนอกเหนือไปจากยศถาบรรดาศักดิ์ งานเขียนเชิงนิราศของสุนทรภู่หลายเรื่องสะท้อนแนวคิดด้านเศรษฐกิจ รวมถึงวิจารณ์การทำงานของข้าราชการที่ทุจริตคิดสินบน ทั้งยังมีแนวคิดเกี่ยวกับบทบาทความสำคัญของสตรีมากยิ่งขึ้นด้วย[27] ไมเคิล ไรท์[note 1] เห็นว่างานเขียนเรื่อง พระอภัยมณี ของสุนทรภู่ เป็นการคว่ำคติความเชื่อและค่านิยมในมหากาพย์โดยสิ้นเชิง โดยที่ตัวละครเอกไม่ได้มีความเป็น "วีรบุรุษ" อย่างสมบูรณ์แบบ ทว่าในตัวละครทุก ๆ ตัวกลับมีความดีและความเลวในแง่มุมต่าง ๆ ปะปนกันไป[28]
อย่างไรก็ดี ในท่ามกลางงานประพันธ์อันแหวกแนวล้ำยุคล้ำสมัยของสุนทรภู่ ความจงรักภักดีของสุนทรภู่ต่อพระราชวงศ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ก็ยังสูงล้ำเป็นล้นพ้นอย่างไม่มีวันจางหายไปแม้ในวาระสุดท้าย สุนทรภู่รำพันถึงพระมหากรุณาธิคุณหลายครั้งในงานเขียนเรื่องต่าง ๆ ของท่าน ในงานประพันธ์เรื่อง นิราศพระประธม ซึ่งสุนทรภู่ประพันธ์หลังจากลาสิกขาบท และมีอายุกว่า 60 ปีแล้ว สุนทรภู่เรียกตนเองว่าเป็น "สุนทราอาลักษณ์เจ้าจักรพาฬ พระทรงสารศรีเศวตเกศกุญชร" กล่าวคือเป็นอาลักษณ์ของ "พระเจ้าช้างเผือก" อันเป็นพระสมัญญานามของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย[29] สุนทรภู่ได้แสดงจิตเจตนาในความจงรักภักดีอย่างไม่เสื่อมคลาย ปรากฏใน นิราศภูเขาทอง ความว่า "จะสร้างพรตอตส่าห์ส่งบุญถวาย ประพฤติฝ่ายสมถะทั้งวสา เป็นสิ่งของฉลองคุณมุลิกา ขอเป็นข้าเคียงพระบาททุกชาติไป"[16]
ความรู้และทักษะ
เมื่อพิจารณาจากผลงานต่าง ๆ ของสุนทรภู่ ไม่ว่าจะเป็นงานเขียนนิราศหรือกลอนนิยาย สุนทรภู่มักแทรกสุภาษิต คำพังเพย คำเปรียบเทียบต่าง ๆ ทำให้ทราบว่าสุนทรภู่นี้ได้อ่านหนังสือมามาก จนสามารถนำเรื่องราวต่าง ๆ ที่ตนทราบมาแทรกเข้าไปในผลงานได้อย่างแนบเนียน เนื้อหาหลายส่วนในงานเขียนเรื่อง พระอภัยมณี ทำให้ทราบว่า สุนทรภู่มีความรอบรู้แตกฉานในสมุดภาพไตรภูมิ ทั้งเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่นำมาดัดแปลงประดิษฐ์เข้าไว้ในท้องเรื่อง เช่น การเรียกชื่อปลาทะเลแปลก ๆ และการกล่าวถึงตราพระราหู[30] นอกจากนี้ยังมีความรอบรู้ในวรรณคดีประเทศต่าง ๆ เช่น จีน อาหรับ แขก ไทย ชวา เป็นต้น[31] นักวิชาการโดยมากเห็นพ้องกันว่า สุนทรภู่ได้รับอิทธิพลจากวรรณคดีจีนเรื่อง ไซ่ฮั่น สามก๊ก วรรณคดีอาหรับ เช่น อาหรับราตรี รวมถึงเกร็ดคัมภีร์ไบเบิล เรื่องของหมอสอนศาสนา ตำนานเมืองแอตแลนติส ซึ่งสะท้อนให้เห็นอิทธิพลเหล่านี้อยู่ในผลงานเรื่อง พระอภัยมณี มากที่สุด[30]
สุนทรภู่ยังมีความรู้ด้านดาราศาสตร์ หรือการดูดาว โดยที่สัมพันธ์กับความรู้ด้านโหราศาสตร์ ด้วยปรากฏว่าสุนทรภู่เอ่ยถึงชื่อดวงดาวต่าง ๆ ด้วยภาษาโหร เช่น ดาวเรือไชยหรือดาวสำเภาทอง ดาวธง ดาวโลง ดาวกา ดาวหามผี ทั้งยังบรรยายถึงคำทำนายโบร่ำโบราณ[32] เช่น "แม้นดาวกามาใกล้ในมนุษย์ จะม้วยมุดมรณาเป็นห่าโหง"[33] ดังนี้เป็นต้น
การที่สุนทรภู่มีความรอบรู้มากมายและรอบด้านเช่นนี้ สันนิษฐานว่าสุนทรภู่น่าจะสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลด้านเอกสารสำคัญซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนค่อนข้างน้อยเนื่องจากเป็นช่วงหลังการเสียกรุงศรีอยุธยาไม่นาน ทั้งนี้เนื่องมาจากตำแหน่งหน้าที่การงานของสุนทรภู่นั่นเอง นอกจากนี้การที่สุนทรภู่มีแนวคิดสมัยใหม่แบบตะวันตก จนได้สมญาว่าเป็น "มหากวีกระฎุมพี"[27] ย่อมมีความเป็นไปได้ที่สุนทรภู่ซึ่งมีพื้นอุปนิสัยใจคอกว้างขวางชอบคบคนมาก น่าจะได้รู้จักมักจี่กับชาวต่างประเทศและพ่อค้าชาวตะวันตก ปราโมทย์ ทัศนาสุวรรณ เห็นว่าบางทีสุนทรภู่อาจจะพูดภาษาอังกฤษได้ก็เป็นได้[6] อันเป็นที่มาของการที่พระอภัยมณีและสินสมุทรสามารถพูดภาษาต่างประเทศได้หลายภาษา รวมถึงเรื่องราวโพ้นทะเลและชื่อดินแดนต่าง ๆ ที่เหล่านักเดินเรือน่าจะเล่าให้สุนทรภู่ฟัง[34]
แต่ไม่ว่าสุนทรภู่จะได้รับข้อมูลโพ้นทะเลจากเหล่าสหายของเขาหรือไม่ สุนทรภู่ก็ยังพรรณนาถึงเรื่องล้ำยุคล้ำสมัยมากมายที่แสดงถึงจินตนาการของเขาเอง อันเป็นสิ่งที่ยังไม่ได้ปรากฏหรือสำเร็จขึ้นในยุคสมัยนั้น เช่น ในผลงานเรื่อง พระอภัยมณี มีเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่ที่สามารถปลูกตึกปลูกสวนไว้บนเรือได้ นางละเวงมีหีบเสียงที่เล่นได้เอง (ด้วยไฟฟ้า) หรือเรือสะเทินน้ำสะเทินบกของพราหมณ์โมรา สุนทรภู่ได้รับยกย่องว่าเป็นจินตกวีที่มีชื่อเสียงผู้หนึ่งแห่งยุคสมัย ปรากฏเนื้อความยืนยันอยู่ในหนังสือ ประวัติสุนทรภู่ ของพระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาละลักษมณ์) ความว่า "...ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยนั้น ฝ่ายจินตกวีมีชื่อคือหมายเอาสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวเป็นประธานแล้ว มีท่านที่ได้รู้เรื่องราวในทางนี้กล่าวว่าพระองค์มีเอตทัคคสาวกในการสโมสรกาพย์กลอนโคลงฉัณท์อยู่ ๖ นาย คือ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ๑ ท่านสุนทรภู่ ๑ นายทรงใจภักดิ์ ๑ พระยาพจนาพิมล (วันรัตทองอยู่) ๑ กรมขุนศรีสุนทร ๑ พระนายไวย ๑ ภายหลังเป็นพระยากรุง (ชื่อเผือก) ๑ ในหกท่านนี้แล ได้รับต้นประชันแข่งขันกันอยู่เสมอ..."[35]
ทักษะอีกประการหนึ่งของสุนทรภู่ได้แก่ ความเชี่ยวชำนาญในการเลือกใช้ถ้อยคำอย่างเหมาะสมเพื่อใช้พรรณนาเนื้อความในกวีนิพนธ์ของตน โดยเฉพาะในงานประพันธ์ประเภทนิราศ ทำให้ผู้อ่านแลเห็นภาพหรือได้ยินเสียงราวกับได้ร่วมเดินทางไปกับผู้ประพันธ์ด้วย สุนทรภู่ยังมีไหวพริบปฏิภาณในการประพันธ์ กล่าวได้ว่าไม่เคยจนถ้อยคำที่จะใช้ เล่าว่าครั้งหนึ่งเมื่อภิกษุภู่ออกจาริกจอดเรืออยู่ มีชาวบ้านนำภัตตาหารจะมาถวาย แต่ว่าคำถวายไม่เป็น ภิกษุภู่จึงสอนชาวบ้านให้ว่าคำถวายเป็นกลอนตามสิ่งของที่จะถวายว่า "อิมัสมิงริมฝั่ง อิมังปลาร้า กุ้งแห้งแตงกวา อีกปลาดุกย่าง ช่อมะกอกดอกมะปราง เนื้อย่างยำมะดัน ข้าวสุกค่อนขัน น้ำมันขวดหนึ่ง น้ำผึ้งครึ่งโถ ส้มโอแช่อิ่ม ทับทิมสองผล เป็นยอดกุศล สังฆัสสะ เทมิ"[12]
อันว่า "กวี" นั้นแบ่งได้เป็น 4 จำพวก[36] คือ จินตกวี ผู้แต่งโดยความคิดของตน สุตกวี ผู้แต่งตามที่ได้ยินได้ฟังมา อรรถกวี ผู้แต่งตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง และ ปฏิภาณกวี ผู้มีความสามารถใช้ปฏิภาณแต่งกลอนสด เมื่อพิจารณาจากความรู้และทักษะทั้งปวงของสุนทรภู่ อาจลงความเห็นได้ว่า สุนทรภู่เป็นมหากวีเอกที่มีความสามารถครบทั้ง 4 ประการอย่างแท้จริง
การสร้างวรรณกรรม
งานประพันธ์วรรณคดีในยุคก่อนหน้าสุนทรภู่ คือยุคอยุธยาตอนปลาย ยังเป็นวรรณกรรมสำหรับชนชั้นสูง ได้แก่ราชสำนักและขุนนาง เป็นวรรณกรรมที่สร้างขึ้นเพื่อการอ่านและเพื่อความรู้หรือพิธีการ เช่น กาพย์มหาชาติ หรือ พระมาลัยคำหลวง[27] ทว่างานของสุนทรภู่เป็นการปฏิวัติการสร้างวรรณกรรมแห่งยุครัตนโกสินทร์ คือเป็นวรรณกรรมสำหรับคนทั่วไป เป็นวรรณกรรมสำหรับการฟังและความบันเทิง[27][37] เห็นได้จากงานเขียนนิราศเรื่องแรกคือ นิราศเมืองแกลง มีที่ระบุไว้ในตอนท้ายของนิราศว่า แต่งมาฝากแม่จัน รวมถึงใน นิราศพระบาท และ นิราศภูเขาทอง ซึ่งมีถ้อยคำสื่อสารกับผู้อ่านอย่างชัดเจน วรรณกรรมเหล่านี้ไม่ใช่วรรณกรรมสำหรับการศึกษา และไม่ใช่สำหรับพิธีการ
สำหรับวรรณกรรมที่สร้างขึ้นโดยหน้าที่ตามที่ได้รับพระบรมราชโองการ มีปรากฏถึงปัจจุบันได้แก่ เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอน กำเนิดพลายงาม ในสมัยรัชกาลที่ 2 และ เสภาพระราชพงศาวดาร ในสมัยรัชกาลที่ 4 ส่วนที่แต่งขึ้นเพื่อถวายแด่องค์อุปถัมภ์ ได้แก่ สิงหไตรภพ เพลงยาวถวายโอวาท สวัสดิรักษา บทเห่กล่อมพระบรรทม และ บทละครเรื่อง อภัยนุราช
งานประพันธ์ของสุนทรภู่เกือบทั้งหมดเป็นกลอนสุภาพ ยกเว้น พระไชยสุริยา ที่ประพันธ์เป็นกาพย์ และ นิราศสุพรรณ ที่ประพันธ์เป็นโคลง ผลงานส่วนใหญ่ของสุนทรภู่เกิดขึ้นในขณะตกยาก คือเมื่อออกบวชเป็นภิกษุและเดินทางจาริกไปทั่วประเทศ สุนทรภู่น่าจะได้บันทึกการเดินทางของตนเอาไว้เป็นนิราศต่าง ๆ จำนวนมาก แต่หลงเหลือปรากฏมาถึงปัจจุบันเพียง 9 เรื่องเท่านั้น เพราะงานเขียนส่วนใหญ่ของสุนทรภู่ถูกปลวกทำลายไปเสียเกือบหมดเมื่อครั้งจำพรรษาอยู่ที่วัดเทพธิดาราม[38]
แนวทางการประพันธ์
สุนทรภู่ชำนาญงานประพันธ์ประเภทกลอนสุภาพอย่างวิเศษ ได้ริเริ่มการใช้กลอนสุภาพมาแต่งกลอนนิทาน โดยมี โคบุตร เป็นเรื่องแรก ซึ่งแต่เดิมมากลอนนิทานเท่าที่ปรากฏมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาล้วนแต่เป็นกลอนกาพย์ทั้งสิ้น[12] นายเจือ สตะเวทิน ได้กล่าวยกย่องสุนทรภู่ในการริเริ่มใช้กลอนสุภาพบรรยายเรื่องราวเป็นนิทานว่า "ท่านสุนทรภู่ ได้เริ่มศักราชใหม่แห่งการกวีของเมืองไทย โดยสร้างโคบุตรขึ้นด้วยกลอนสุภาพ นับตั้งแต่เดิมมา เรื่องนิทานมักเขียนเป็นลิลิต ฉันท์ หรือกาพย์ สุนทรภู่เป็นคนแรกที่เสนอศิลปะของกลอนสุภาพ ในการสร้างนิทานประโลมโลก และก็เป็นผลสำเร็จ โคบุตรกลายเป็นวรรณกรรมแบบฉบับที่นักแต่งกลอนทั้งหลายถือเป็นครู นับได้ว่า โคบุตรมีส่วนสำคัญยิ่งในประวัติวรรณคดีของชาติไทย"[39]
สุนทรภู่ยังได้ปฏิวัติขนบการประพันธ์นิราศด้วย ด้วยแต่เดิมมาขนบการเขียนนิราศยังนิยมเขียนเป็นโคลง ลักษณะการประพันธ์แบบเพลงยาว (คือการประพันธ์กลอน) ยังไม่เรียกว่า นิราศ แม้นิราศรบพม่าที่ท่าดินแดง เดิมก็เรียกว่าเป็นเพลงยาวจดหมายเหตุ มาเปลี่ยนการเรียกเป็นนิราศในชั้นหลัง สุนทรภู่เป็นผู้ริเริ่มการแต่งกลอนนิราศเป็นคนแรกและทำให้กลอนนิราศเป็นที่นิยมแพร่หลาย[40] โดยการนำรูปแบบของเพลงยาวจดหมายเหตุมาผสมกับคำประพันธ์ประเภทกำสรวล[27] กลวิธีการประพันธ์ที่พรรณนาความระหว่างเส้นการเดินทางกับประสบการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตก็เป็นลักษณะเฉพาะของสุนทรภู่ ซึ่งผู้อื่นจะประพันธ์ในแนวทางเดียวกันนี้ให้ได้ใจความไพเราะและจับใจเท่าสุนทรภู่ก็ยังยาก มิใช่แต่เพียงฝีมือกลอนเท่านั้น ทว่าประสบการณ์ของผู้ประพันธ์จะเทียบกับสุนทรภู่ก็มิได้[40] ด้วยเหตุนี้กลอนนิราศของสุนทรภู่จึงโดดเด่นเป็นที่รู้จักยิ่งกว่ากลอนนิราศของผู้ใด และเป็นต้นแบบของการแต่งนิราศในเวลาต่อมา[12]
อย่างไรก็ดี นอกเหนือจากงานกลอน สุนทรภู่ก็มีงานประพันธ์ในรูปแบบอื่นอีก เช่น พระไชยสุริยา ที่ประพันธ์เป็นกาพย์ทั้งหมด ประกอบด้วยกาพย์ยานี กาพย์ฉบัง และกาพย์สุรางคนางค์ ส่วน นิราศสุพรรณ เป็นนิราศเพียงเรื่องเดียวที่แต่งเป็นโคลง ชะรอยจะแต่งเพื่อลบคำสบประมาทว่าแต่งได้แต่เพียงกลอน แต่การแต่งโคลงคงจะไม่ถนัด เพราะไม่ปรากฏว่าสุนทรภู่แต่งกวีนิพนธ์เรื่องอื่นใดด้วยโคลงอีก
วรรณกรรมอันเป็นที่เคลือบแคลง
ในอดีตเคยมีความเข้าใจกันว่า สุนทรภู่เป็นผู้แต่ง นิราศพระแท่นดงรัง[12] แต่ต่อมา ธนิต อยู่โพธิ์ ผู้เชี่ยวชาญวรรณคดีไทยและอดีตอธิบดีกรมศิลปากร ได้แสดงหลักฐานวิเคราะห์ว่าสำนวนการแต่งนิราศพระแท่นดงรัง ไม่น่าจะใช่ของสุนทรภู่ เมื่อพิจารณาประกอบกับเนื้อความ เปรียบเทียบกับเหตุการณ์ในชีวิตของสุนทรภู่ และกระบวนสำนวนกลอนแล้ว จึงสรุปได้ว่า ผู้แต่งนิราศพระแท่นดงรัง คือ นายมี หรือ เสมียนมี หมื่นพรหมสมพักสร ผู้แต่งนิราศถลาง[41]
วรรณกรรมอีกชิ้นหนึ่งที่คาดว่าไม่ใช่ฝีมือแต่งของสุนทรภู่ คือ สุภาษิตสอนหญิง แต่น่าจะเป็นผลงานของนายภู่ จุลละภมร ซึ่งเป็นศิษย์[13] เนื่องจากงานเขียนของสุนทรภู่ฉบับอื่น ๆ ไม่เคยขึ้นต้นด้วยการไหว้ครู ซึ่งแตกต่างจากสุภาษิตสอนหญิงฉบับนี้
นอกจากนี้ยังมีวรรณกรรมอื่น ๆ ที่สงสัยว่าอาจจะเป็นผลงานของสุนทรภู่ ได้แก่ เพลงยาวสุภาษิตโลกนิติ ตำรายาอัฐกาล (ตำราบอกฤกษ์ยามเดินทาง) สุบินนิมิตคำกลอน และตำราเศษนารี[13]
การตีพิมพ์ เผยแพร่ และดัดแปลงผลงาน
ในยุคสมัยของสุนทรภู่ การเผยแพร่งานเขียนจะเป็นไปได้โดยการคัดลอกสมุดไทย ซึ่งผู้คัดลอกจ่ายค่าเรื่องให้แก่ผู้ประพันธ์ ดังที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้สันนิษฐานไว้ว่า สุนทรภู่แต่งเรื่อง พระอภัยมณี ขายเพื่อเลี้ยงชีพ[12] ดังนี้จึงปรากฏงานเขียนของสุนทรภู่ที่เป็นฉบับคัดลอกปรากฏตามที่ต่าง ๆ หลายแห่ง จนกระทั่งถึงช่วงวัยชราของสุนทรภู่ การพิมพ์จึงเริ่มเข้ามายังประเทศไทย โดยมีสมเด็จฯ เจ้าฟ้ามงกุฎทรงให้การสนับสนุน โรงพิมพ์ในยุคแรกเป็นโรงพิมพ์หลวง ตีพิมพ์หนังสือราชการเท่านั้น ส่วนโรงพิมพ์ที่พิมพ์หนังสือทั่วไปเริ่มขึ้นในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 25 (ตั้งแต่ พ.ศ. 2401 เป็นต้นไป)[42]
โรงพิมพ์ของหมอสมิทที่บางคอแหลม เป็นผู้นำผลงานของสุนทรภู่ไปตีพิมพ์เป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2413 คือเรื่อง พระอภัยมณี ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างสูง ขายดีมากจนหมอสมิทสามารถทำรายได้สูงขนาดสร้างตึกเป็นของตัวเองได้ หลังจากนั้นหมอสมิทและเจ้าของโรงพิมพ์อื่น ๆ ก็พากันหาผลงานเรื่องอื่นของสุนทรภู่มาตีพิมพ์จำหน่ายซ้ำอีกหลายครั้ง[12] ผลงานของสุนทรภู่ได้ตีพิมพ์ในสมัยรัชกาลที่ 5 จนหมดทุกเรื่อง[12] แสดงถึงความนิยมเป็นอย่างมาก สำหรับเสภาเรื่อง พระราชพงศาวดาร กับ เพลงยาวถวายโอวาท ได้ตีพิมพ์เท่าที่จำกันได้ เพราะต้นฉบับสูญหาย จนกระทั่งต่อมาได้ต้นฉบับครบบริบูรณ์จึงพิมพ์ใหม่ตลอดเรื่องในสมัยรัชกาลที่ 6[12]
การแปลผลงานเป็นภาษาอื่น
ผลงานของสุนทรภู่ได้รับการแปลเป็นภาษาต่าง ๆ ดังนี้
- ภาษาไทยถิ่นเหนือ : พญาพรหมโวหาร กวีเอกของล้านนาแปล พระอภัยมณีคำกลอน เป็นค่าวซอตามความประสงค์ของเจ้าแม่ทิพเกสร แต่ไม่จบเรื่อง ถึงแค่ตอนที่ศรีสุวรรณอภิเษกกับนางเกษรา[43]
- ภาษาเขมร : ผลงานของสุนทรภู่ที่แปลเป็นภาษาเขมรมีสามเรื่องคือ[43]
- พระอภัยมณี ไม่ปรากฏชื่อผู้แปล แปลถึงแค่ตอนที่นางผีเสื้อสมุทรลักพระอภัยมณีไปไว้ในถ้ำเท่านั้น
- ลักษณวงศ์ แปลโดย ออกญาปัญญาธิบดี (แยม)
- สุภาษิตสอนหญิง หรือสุภาษิตฉบับสตรี แปลโดยออกญาสุตตันตปรีชา (อินทร์)
- ภาษาอังกฤษ : ผลงานของสุนทรภู่ที่แปลเป็นภาษาอังกฤษได้แก่
- พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเปรมบุรฉัตร ทรงแปลเรื่อง พระอภัยมณี เป็นภาษาอังกฤษทั้งเรื่อง เมื่อปี พ.ศ. 2495[44]
- นิราศเมืองเพชร ฉบับไทย-อังกฤษ เป็นหนังสือฉบับพกพาสองภาษา ไทย-อังกฤษ แปลเป็นภาษาอังกฤษโดยเสาวณีย์ นิวาศะบุตร พิมพ์ครั้งแรกในเดือน มิถุนายน พ.ศ. 2556 จัดจำหน่ายโดยบริษัทเคล็ดไทย จำกัด[45]
งานดัดแปลง
ละคร
มีการนำกลอนนิทานเรื่อง สิงหไตรภพ มาดัดแปลงเป็นละครหลายครั้ง โดยมากมักเปลี่ยนชื่อเป็น สิงหไกรภพ โดยเป็นละครโทรทัศน์แนวจักร ๆ วงศ์ ๆ และละครเพลงร่วมสมัยโดยภัทราวดีเธียเตอร์[46] นอกจากนี้มีเรื่อง ลักษณวงศ์ และพระอภัยมณี ที่มีการนำเนื้อหาบางส่วนมาดัดแปลง ตอนที่นิยมนำมาดัดแปลงมากที่สุดคือ เรื่องของสุดสาคร
ลักษณวงศ์ ยังได้นำไปแสดงเป็นละครนอก โดยศูนย์ศิลปวัฒนธรรมแห่งชาติภาคตะวันตก จังหวัดสุพรรณบุรี ในปี พ.ศ. 2552 มีกำหนดการแสดงหลายรอบในเดือนพฤศจิกายน[47]
ภาพยนตร์
- พ.ศ. 2509 ภาพยนตร์ พระอภัยมณี ฉบับของ ครูรังสี ทัศนพยัคฆ์ นำแสดงโดย มิตร ชัยบัญชา - เพชรา เชาวราษฎร์
- พ.ศ. 2522 ภาพยนตร์การ์ตูน "สุดสาคร" ผลงานสร้างของ ปยุต เงากระจ่าง
- พ.ศ. 2545 ภาพยนตร์ พระอภัยมณี ผลิตโดย ซอฟต์แวร์ ซัพพลายส์ อินเตอร์เนชั่ลแนล กำกับโดย ชลัท ศรีวรรณา จับความตั้งแต่เริ่มเรื่อง ไปจนถึงตอน นางเงือกพาพระอภัยมณีหนีจากนางผีเสื้อสมุทร และพระอภัยมณีเป่าปี่สังหารนาง
- พ.ศ. 2549 โมโนฟิล์ม ได้สร้างภาพยนตร์จากเรื่อง พระอภัยมณี เรื่อง สุดสาคร โดยจับความตั้งแต่กำเนิดสุดสาคร จนสิ้นสุดที่การเดินทางออกจากเมืองการะเวกเพื่อติดตามหาพระอภัยมณี
- พ.ศ. 2549 ภาพยนตร์การ์ตูน เรื่อง สิงหไกรภพ ความยาว 40 นาที
เพลง
บทประพันธ์จากเรื่อง พระอภัยมณี ตอน พระอภัยมณีเกี้ยวนางละเวง ได้นำไปดัดแปลงเล็กน้อยกลายเป็นเพลง "คำมั่นสัญญา" ประพันธ์ทำนองโดย สุรพล แสงเอก บันทึกเสียงครั้งแรกโดย ปรีชา บุญยเกียรติ ใจความดังนี้
ถึงม้วยดินสิ้นฟ้ามหาสมุทร | ไม่สิ้นสุดความรักสมัครสมาน | |
แม้อยู่ในใต้หล้าสุธาธาร | ขอพบพานพิศวาสไม่คลาดคลา | |
แม้เนื้อเย็นเป็นห้วงมหรรณพ | พี่ขอพบศรีสวัสดิ์เป็นมัจฉา | |
แม้เป็นบัวตัวพี่เป็นภุมรา | เชยผกาโกสุมปทุมทอง | |
แม้เป็นถ้ำอำไพใคร่เป็นหงส์ | จะร่อนลงสิงสู่เป็นคู่สอง[note 2] | |
ขอติดตามทรามสงวนนวลละออง | เป็นคู่ครองพิศวาสทุกชาติไป... |
อีกเพลงหนึ่งคือเพลง "รสตาล" ของครูเอื้อ สุนทรสนาน คำร้องโดยสุรพล โทณะวนิก ซึ่งใช้นามปากกาว่า วังสันต์[48] ได้แรงบันดาลใจจากบทกลอนของสุนทรภู่ เรื่อง นิราศพระบาท[49] เนื้อหาดังนี้
เจ้าของตาลรักหวานขึ้นปีนต้น | เพราะดั้นด้นอยากลิ้มชิมรสหวาน | |
ครั้นได้รสสดสาวจากจาวตาล | ย่อมซาบซ่านหวานซึ้งตรึงถึงทรวง | |
ไหนจะยอมให้เจ้าหล่นลงเจ็บอก | เพราะอยากวกขึ้นลิ้นชิมของหวง | |
อันรสตาลหวานละม้ายคล้ายพุ่มพวง | พี่เจ็บทรวงช้ำอกเหมือนตกตาล... |
หนังสือและการ์ตูน
งานเขียนของสุนทรภู่โดยเฉพาะกลอนนิทานเรื่องพระอภัยมณี จะถูกนำมาเรียบเรียงเขียนใหม่โดยนักเขียนจำนวนมาก เช่น พระอภัยมณีฉบับร้อยแก้ว ของเปรมเสรี หรือหนังสือการ์ตูน อภัยมณีซาก้า อีกเรื่องหนึ่งที่มีการนำมาสร้างใหม่เป็นหนังสือการ์ตูนคือ สิงหไตรภพ ในหนังสือ ศึกอัศจรรย์สิงหไกรภพ ที่เขียนใหม่เป็นการ์ตูนแนวมังงะ
ชื่อเสียงและคำวิจารณ์
สุนทรภู่นับเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการสร้างวรรณคดีประเภทร้อยกรอง หรือ "กลอน" ให้เป็นที่นิยมแพร่หลาย ทั้งยังวางจังหวะวิธีในการประพันธ์แบบใหม่ให้แก่การแต่งกลอนสุภาพด้วย เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ กวีรัตนโกสินทร์ ยกย่องความสามารถของสุนทรภู่ว่า "พระคุณครูศักดิ์สิทธิ์คิดสร้างสรรค์ ครูสร้างคำแปดคำให้สำคัญ"[10]
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์ไว้ในหนังสือ "ประวัติสุนทรภู่" ว่าด้วยเกียรติคุณของสุนทรภู่ว่า "ถ้าจะลองให้เลือกกวีไทยบรรดาที่มีชื่อเสียงปรากฏมาในพงศาวดารคัดเอาแต่ที่วิเศษสุดเพียง 5 คน ใคร ๆ เลือกก็เห็นจะเอาชื่อสุนทรภู่ไว้ในกวีห้าคนนั้นด้วย"[12] เปลื้อง ณ นคร ได้รวบรวมประวัติวรรณคดีไทยในยุคสมัยต่าง ๆ นับแต่สมัยสุโขทัยไปจนถึงสมัยรัฐธรรมนูญ (คือสมัยปัจจุบันในเวลาที่ประพันธ์) โดยได้ยกย่องว่า "สมัยพุทธเลิศหล้าเป็นจุดยอดแห่งวรรณคดีประเภทกาพย์กลอน ต่อจากสมัยนี้ระดับแห่งกาพย์กลอนก็ต่ำลงทุกที จนอาจกล่าวได้ว่า เราไม่มีหวังอีกแล้วที่จะได้คำกลอนอย่างเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน และเรื่องพระอภัยมณี"[50] โดยที่ในสมัยดังกล่าวมีสุนทรภู่เป็น "บรมครูทางกลอนแปดและกวีเอก"[50] ซึ่งสร้างผลงานอันเป็นที่รู้จักและนิยมแพร่หลายในหมู่ประชาชน ทั้งนี้เนื่องจากกวีนิพนธ์ในยุคก่อนมักเป็นคำฉันท์หรือลิลิตซึ่งประชาชนเข้าไม่ถึง สุนทรภู่ได้ปฏิวัติงานกวีนิพนธ์และสร้างขนบการแต่งกลอนแบบใหม่ขึ้นมา จนเป็นที่เรียกกันทั่วไปว่า "กลอนตลาด" เพราะเป็นที่นิยมอย่างมากในหมู่ชาวบ้านนั่นเอง[50]
เทียนวรรณ ได้รวบรวมงานเขียน หนึ่งในนั้นคืองานที่ท่านเคยวิจารณ์วรรณคดีเรื่อง “พระอภัยมณี” ของสุนทรภู่ เป็นการวิจารณ์ว่าคืองานเขียนที่ดีแฝงไปด้วยสุภาษิต และเป็นงานเขียนที่แปลกไปกว่าวรรณคดีที่แต่งในช่วงนั้นๆ[51]
นิธิ เอียวศรีวงศ์ เห็นว่า สุนทรภู่น่าจะเป็นผู้มีอิทธิพลอย่างมากในสังคมกระฎุมพีช่วงต้นรัตนโกสินทร์ กระฎุมพีเหล่านี้ล้วนเป็นผู้เสพผลงานของสุนทรภู่ และเห็นสาเหตุหนึ่งที่ผลงานของสุนทรภู่ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีเพราะสอดคล้องกับความคิดความเชื่อของผู้อ่านนั่นเอง[27]
นอกเหนือจากความนิยมในหมู่ประชาชนชาวสยาม ชื่อเสียงของสุนทรภู่ยังแพร่ไปไกลยิ่งกว่ากวีใด ๆ ใน เพลงยาวถวายโอวาท สุนทรภู่กล่าวถึงตัวเองว่า
"อย่างหม่อมฉันอันที่ดีและชั่ว ถึงลับตัวแต่ก็ชื่อเขาลือฉาว เป็นอาลักษณ์นักเลงทำเพลงยาว เขมรลาวลือเลื่องถึงเมืองนคร"[23]
ข้อความนี้ทำให้ทราบว่า ชื่อเสียงของสุนทรภู่เลื่องลือไปไกลนอกเขตราชอาณาจักรไทย แต่ไปถึงอาณาจักรเขมรและเมืองนครศรีธรรมราชทีเดียว
คุณวิเศษแห่งความเป็นกวีของสุนทรภู่จึงอยู่ในระดับกวีเอกของชาติ ศ.เจือ สตะเวทิน เอ่ยถึงสุนทรภู่โดยเปรียบเทียบกับกวีเอกของประเทศต่าง ๆ ว่า "สุนทรภู่มีศิลปะไม่แพ้ลามาตีน ฮูโก หรือบัลซัคแห่งฝรั่งเศส... มีจิตใจและวิญญาณสูง อาจจะเท่าเฮเนเลนอ แห่งเยอรมนี หรือลิโอปารดี และมันโซนีแห่งอิตาลี"[10] สุนทรภู่ยังได้รับยกย่องว่าเป็น "เชกสเปียร์แห่งประเทศไทย"[2][52]: 60 งานวิจัยทุนฟุลไบรท์-เฮย์ส ของคาเรน แอนน์ แฮมิลตัน ได้เปรียบเทียบสุนทรภู่เสมือนหนึ่งเชกสเปียร์หรือชอเซอร์แห่งวงการวรรณกรรมไทย[53]
เกียรติคุณและอนุสรณ์
บุคคลสำคัญของโลก (ด้านวรรณกรรม)
ปี พ.ศ. 2529 ในโอกาสครบรอบวันเกิด 200 ปีของสุนทรภู่ องค์การยูเนสโกได้ประกาศให้สุนทรภู่เป็นบุคคลสำคัญของโลกทางด้านวรรณกรรม นับเป็นชาวไทยคนที่ 5 และเป็นสามัญชนชาวไทยคนแรกที่ได้รับเกียรตินี้ ในปีนั้น สมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์จึงได้จัดพิมพ์เผยแพร่หนังสือ "อนุสรณ์สุนทรภู่ 200 ปี" และมีการจัดตั้งสถาบันสุนทรภู่ขึ้นเพื่อส่งเสริมกิจกรรมเกี่ยวกับการเผยแพร่ชีวิตและผลงานของสุนทรภู่ให้เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น
อนุสาวรีย์และหุ่นปั้น
อนุสาวรีย์สุนทรภู่แห่งแรก สร้างขึ้นที่ ต.กร่ำ อ.แกลง จ.ระยอง ซึ่งเป็นบ้านเกิดของท่านบิดาของสุนทรภู่ โดยวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2498 อันเป็นปีที่ครบรอบ 100 ปีการถึงแก่อนิจกรรมของสุนทรภู่ และมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2513 ภายในอนุสาวรีย์มีหุ่นปั้นของสุนทรภู่ และตัวละครในวรรณคดีเรื่องเอกของท่านคือ พระอภัยมณี ที่ด้านหน้าอนุสาวรีย์มีหมุดกวี หมุดที่ 24 ปักอยู่
ยังมีอนุสาวรีย์สุนทรภู่ที่จังหวัดอื่น ๆ อีก ได้แก่ ที่ท่าน้ำหลังวัดพลับพลาชัย ตำบลคลองกระแชง อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นจุดที่สุนทรภู่ได้เคยมาตามนิราศเมืองเพชร อันเป็นนิราศเรื่องสุดท้ายของท่าน และเชื่อว่าเพชรบุรีเป็นบ้านเกิดของมารดาของท่านด้วย[54] อนุสาวรีย์อีกแห่งหนึ่งตั้งอยู่ที่วัดศรีสุดาราม เนื่องจากเป็นสถานที่ที่เชื่อว่าท่านได้เล่าเรียนเขียนอ่านเมื่อวัยเยาว์ที่นี่ นอกจากนี้มีรูปปั้นหุ่นขี้ผึ้งสุนทรภู่ ตลอดจนหุ่นขี้ผึ้งในวรรณคดีเรื่อง พระอภัยมณี จัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย จังหวัดนครปฐม
พิพิธภัณฑ์
กุฏิสุนทรภู่ หรือพิพิธภัณฑ์สุนทรภู่ ตั้งอยู่ที่วัดเทพธิดาราม ถ.มหาไชย กรุงเทพมหานคร เป็นอาคารซึ่งปรับปรุงจากกุฏิที่สุนทรภู่เคยอาศัยอยู่เมื่อครั้งจำพรรษาอยู่ที่นี่ [55] ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของสมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทย และมีการจัดกิจกรรมวันสุนทรภู่เป็นประจำทุกปี
วันสุนทรภู่
หลังจากองค์การยูเนสโกได้ประกาศยกย่องให้สุนทรภู่เป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางวรรณกรรมระดับโลกเมื่อปี พ.ศ. 2529 ต่อมาในปี พ.ศ. 2530 นายเสวตร เปี่ยมพงศ์สานต์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ได้จัดตั้งสถาบันสุนทรภู่ขึ้น และกำหนดให้วันที่ 26 มิถุนายนของทุกปี เป็น วันสุนทรภู่[56] นับแต่นั้นทุก ๆ ปีเมื่อถึงวันสุนทรภู่ จะมีการจัดงานรำลึกถึงสุนทรภู่ตามสถานที่ต่าง ๆ เช่น ที่พิพิธภัณฑ์สุนทรภู่ วัดเทพธิดาราม และที่จังหวัดระยอง (ซึ่งมักจัดพร้อมงานเทศกาลผลไม้จังหวัดระยอง) รวมถึงการประกวดแต่งกลอน ประกวดคำขวัญ และการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับสุนทรภู่ในโรงเรียนต่าง ๆ ทั่วประเทศ
รายชื่อผลงาน
งานประพันธ์ของสุนทรภู่เท่าที่มีการค้นพบในปัจจุบันมีปรากฏอยู่เพียงจำนวนหนึ่ง และสูญหายไปอีกเป็นจำนวนมาก ถึงกระนั้นตามจำนวนเท่าที่ค้นพบก็ถือว่ามีปริมาณค่อนข้างมาก เรียกได้ว่า สุนทรภู่เป็น "นักแต่งกลอน" ที่สามารถแต่งกลอนได้รวดเร็วหาตัวจับยาก ผลงานของสุนทรภู่เท่าที่ค้นพบในปัจจุบันมีดังต่อไปนี้
นิราศ
- นิราศเมืองแกลง (พ.ศ. 2349) - แต่งเมื่อหลังพ้นโทษจากคุก และเดินทางไปหาพ่อที่เมืองแกลง
- นิราศพระบาท (พ.ศ. 2350) - แต่งหลังจากกลับจากเมืองแกลง และต้องตามเสด็จพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ไปนมัสการรอยพระพุทธบาทที่จังหวัดสระบุรีในวันมาฆบูชา
- นิราศภูเขาทอง (ประมาณ พ.ศ. 2371) - แต่งโดยสมมุติว่า เณรหนูพัด เป็นผู้แต่ง ไปนมัสการพระเจดีย์ภูเขาทองที่จังหวัดอยุธยา
- นิราศสุพรรณ (ประมาณ พ.ศ. 2374) - แต่งเมื่อครั้งยังบวชอยู่ และไปค้นหายาอายุวัฒนะที่จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นผลงานเรื่องเดียวของสุนทรภู่ที่แต่งเป็นโคลง
- นิราศวัดเจ้าฟ้า (ประมาณ พ.ศ. 2375) - แต่งเมื่อครั้งยังบวชอยู่ และไปค้นหายาอายุวัฒนะตามลายแทงที่วัดเจ้าฟ้าอากาศ (ไม่ปรากฏว่าที่จริงคือวัดใด) ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เทพ สุนทรศารทูลเสนอว่า นิราศดังกล่าวเป็นผลงานของพัด ภู่เรือหงส์ บุตรของสุนทรภู่[57]
- นิราศอิเหนา (ไม่ปรากฏ, คาดว่าเป็นสมัยรัชกาลที่ 3) - แต่งเป็นเนื้อเรื่องอิเหนารำพันถึงนางบุษบา เทพ สุนทรศารทูลเสนอว่า นิราศดังกล่าวเป็นผลงานของกรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์[57]
- รำพันพิลาป (พ.ศ. 2385) - แต่งเมื่อครั้งจำพรรษาอยู่ที่วัดเทพธิดาราม แล้วเกิดฝันร้ายว่าชะตาขาด จึงบันทึกความฝันพร้อมรำพันความอาภัพของตัวไว้เป็น "รำพันพิลาป" จากนั้นจึงลาสิกขาบท
- นิราศพระประธม (พ.ศ. 2385) - เชื่อว่าแต่งเมื่อหลังจากลาสิกขาบทและเข้ารับราชการในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ไปนมัสการพระประธมเจดีย์ (หรือพระปฐมเจดีย์) ที่เมืองนครชัยศรี
- นิราศเมืองเพชร (พ.ศ. 2388) - แต่งเมื่อเข้ารับราชการในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เชื่อว่าไปธุระราชการอย่างใดอย่างหนึ่ง นิราศเรื่องนี้มีฉบับค้นพบเนื้อหาเพิ่มเติมซึ่ง อ.ล้อม เพ็งแก้ว เชื่อว่า บรรพบุรุษฝ่ายมารดาของสุนทรภู่เป็นชาวเมืองเพชรบุรี
นิทาน
- โคบุตร : เชื่อว่าเป็นงานประพันธ์ชิ้นแรกของสุนทรภู่[12] เป็นเรื่องราวของ "โคบุตร" ซึ่งเป็นโอรสของพระอาทิตย์กับนางอัปสร แต่เติบโตขึ้นมาด้วยการเลี้ยงดูของนางราชสีห์
- พระอภัยมณี : คาดว่าเริ่มประพันธ์ในสมัยรัชกาลที่ 2 และแต่ง ๆ หยุด ๆ เรื่อยมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นผลงานชิ้นเอกของสุนทรภู่ ได้รับยกย่องจากวรรณคดีสโมสรให้เป็นสุดยอดวรรณคดีไทยประเภทกลอนนิทาน
- พระไชยสุริยา : เป็นนิทานที่สุนทรภู่แต่งด้วยฉันทลักษณ์ประเภทกาพย์หลายชนิด ได้แก่ กาพย์ยานี 11 กาพย์ฉบัง 16 และกาพย์สุรางคนางค์ 28 เป็นนิทานสำหรับสอนอ่าน เนื้อหาเรียงลำดับความง่ายไปยาก จากแม่ ก กา แม่กน กง กก กด กบ กม และเกย เชื่อว่าแต่งขึ้นประมาณ พ.ศ. 2383 - 2385
- ลักษณวงศ์ : เป็นนิทานแนวจักร ๆ วงศ์ ๆ ที่นำโครงเรื่องมาจากนิทานพื้นบ้าน แต่มีตอนจบที่แตกต่างไปจากนิทานทั่วไปเพราะไม่ได้จบด้วยความสุข แต่จบด้วยงานสมโภชศพนางทิพเกสร ชายาของลักษณวงศ์ที่สิ้นชีวิตด้วยการสั่งประหารของลักษณวงศ์เอง
- สิงหไกรภพ : เชื่อว่าเริ่มประพันธ์เมื่อครั้งถวายอักษรแด่เจ้าฟ้าอาภรณ์ ภายหลังจึงแต่งถวายกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ และน่าจะหยุดแต่งหลังจากกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพสิ้นพระชนม์ สิงหไตรภพเป็นตัวละครเอกที่แตกต่างจากตัวพระในเรื่องอื่น ๆ เนื่องจากเป็นคนรักเดียวใจเดียว
สุภาษิต
- สวัสดิรักษา : คาดว่าประพันธ์ในสมัยรัชกาลที่ 2 ขณะเป็นพระอาจารย์ถวายอักษรแด่เจ้าฟ้าอาภรณ์
- เพลงยาวถวายโอวาท : คาดว่าประพันธ์ในสมัยรัชกาลที่ 3 ขณะเป็นพระอาจารย์ถวายอักษรแด่เจ้าฟ้ากลางและเจ้าฟ้าปิ๋ว
- สุภาษิตสอนหญิง : เป็นหนึ่งในผลงานซึ่งยังเป็นที่เคลือบแคลงว่า สุนทรภู่เป็นผู้ประพันธ์จริงหรือไม่ เทพ สุนทรศารทูลเสนอว่าน่าจะเป็นผลงานของภู่ จุลละภมร ศิษย์ของสุนทรภู่เอง[57]
บทละคร
มีการประพันธ์ไว้เพียงเรื่องเดียวคือ อภัยนุราช ซึ่งเขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 เพื่อถวายพระองค์เจ้าดวงประภา พระธิดาในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
บทเสภา
- ขุนช้างขุนแผนตอนกำเนิดพลายงาม
- เสภาพระราชพงศาวดาร
บทเห่กล่อมพระบรรทม
น่าจะแต่งขึ้นสำหรับใช้ขับกล่อมหม่อมเจ้าในพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ กับพระเจ้าลูกยาเธอในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว[10] เท่าที่พบมี 4 เรื่องคือ
- เห่เรื่องพระอภัยมณี
- เห่เรื่องโคบุตร
- เห่เรื่องจับระบำ
- เห่เรื่องกากี
ในวัฒนธรรมสมัยนิยม
- ภาพยนตร์ไทยแนวย้อนยุค เรื่อง บุพเพสันนิวาส 2 ที่ออกฉายในปี พ.ศ. 2565 มีตัวละครหนึ่งชื่อ "สุนทรภู่" หรือ "อาภู่" รับบทโดย นิมิตร ลักษมีพงศ์[58][59][60][61]
- ละครไทยแนวย้อนยุค เรื่อง บุษบาลุยไฟ (ช่องไทยพีบีเอส) มีตัวละครชื่อ “สุนทรภู่” รับบทโดย ทอม จักรกฤกษ์[62]
เชิงอรรถ
- ↑ ไมเคิล ไรท์ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอุษาคเนย์ศึกษา และนักเขียนประจำของนิตยสาร "ศิลปวัฒนธรรม" ซึ่งชำนาญด้านประวัติศาสตร์และภาษาศาสตร์ เป็นผู้เสนอทฤษฎีเกี่ยวกับศิลาจารึกหลักที่หนึ่งว่าไม่ใช่มรดกจากยุคสุโขทัย
- ↑ ต้นฉบับของสุนทรภู่ บาทนี้กล่าวว่า แม้นเป็นถ้ำอำไพขอให้พี่ เป็นราชสีห์สมสู่เป็นคู่สอง
อ้างอิง
- ↑ 1.0 1.1 1.2 พันธุ์ทิพย์ ธีระเนตร (2015-06-26). "เปิดเรื่องจริง ′สุนทรภู่′ ที่ครูไม่เคยสอน". มติชนออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 2,kfk,015-06-27.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ 2.0 2.1 Kenneth Champeo. (2003). Thailand's Shakespeare? Sunthorn Phu. (อังกฤษ)
- ↑ องค์ บรรจุน. สยามหลากเผ่าหลายพันธุ์. กรุงเทพฯ:มติชน. 2553, หน้า 129
- ↑ องค์ บรรจุน. สยามหลากเผ่าหลายพันธุ์. กรุงเทพฯ:มติชน. 2553, หน้า 135
- ↑ 5.0 5.1 เปลื้อง ณ นคร. สุนทรภู่ครูกวี. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ข้าวฟ่าง. มิถุนายน 2542
- ↑ 6.0 6.1 6.2 6.3 6.4 ปราโมทย์ ทัศนาสุวรรณ. เที่ยวไปกับสุนทรภู่. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ดอกหญ้า. มีนาคม 2540.
- ↑ ล้อม เพ็งแก้ว. โคตรญาติสุนทรภู่ จาก นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับพิเศษ มีนาคม 2529. พิมพ์รวมเล่มใน สุนทรภู่ - อาลักษณ์เจ้าจักรวาล โดยสำนักพิมพ์มติชน พ.ศ. 2547
- ↑ "วัดปะขาวคราวรุ่นรู้ เรียนเขียน", สุนทรภู่, นิราศสุพรรณ, กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร
- ↑ "ทำสูตรสอนเสมียน สมุดน้อย เดินระวางระวังเวียน หว่างวัด ปะขาวนา เคยชื่นกลืนกลิ่นสร้อย สวาทห้างกลางสวนฯ", สุนทรภู่, นิราศสุพรรณ, กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร
- ↑ 10.0 10.1 10.2 10.3 สมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์, อนุสรณ์สุนทรภู่ ๒๐๐ ปี, กรุงเทพฯ: 2529
- ↑ สุนทรภู่, นิราศเมืองแกลง, กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร
- ↑ 12.00 12.01 12.02 12.03 12.04 12.05 12.06 12.07 12.08 12.09 12.10 12.11 12.12 12.13 12.14 12.15 12.16 สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, ชีวิตและงานของสุนทรภู่, กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร พ.ศ. 2518
- ↑ 13.0 13.1 13.2 “สุนทรภู่” กวีเอกของไทย และเรื่องจริงที่ควรรู้[ลิงก์เสีย], เรียบเรียงจากงานวิจัยเรื่อง “ชีวประวัติของพระสุนทรโวหาร (ภู่ ภู่เรือหงส์) ” โดย เทพ สุนทรศารทูล (2533). ข่าวกระทรวงศึกษาธิการ. มิถุนายน 2548.
- ↑ ปราโมทย์ ทัศนาสุวรรณ. เที่ยวไปกับสุนทรภู่, อ้างเนื้อความจากหนังสือ สุนทรภู่แนวใหม่ ของ ดำรง เฉลิมวงศ์. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ดอกหญ้า. มีนาคม 2540.
- ↑ 15.0 15.1 เปลื้อง ณ นคร. สุนทรภู่ครูกวี, อ้างถึงพระนิพนธ์ของกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ในหนังสือ สามกรุง. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ข้าวฟ่าง. มิถุนายน 2542
- ↑ 16.0 16.1 สุนทรภู่. นิราศภูเขาทอง. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร
- ↑ คนเก่าเล่าความหลัง เรื่องโดย : ประยอม ซองทอง นิตยสาร FORMULA ฉบับเดือน ตุลาคม ปี 2549 คอลัมน์ : ชีวิตคือความรื่นรมย์
- ↑ เทพ สุนทรศารทูล. (2533). ชีวประวัติพระสุนทรโวหาร (ภู่ ภู่เรือหงส์). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย. 225 หน้า. ISBN 978-9-745-75133-0
- ↑ 19.0 19.1 ผะอบ โปษะกฤษณะ, อนุสรณ์สุนทรภู่ ๒๐๐ ปี คำนำ. กรุงเทพฯ: อมรินทร์การพิมพ์. 2529
- ↑ ถึงสุราพารอดไม่วอดวาย ไม่ใกล้กรายแกล้งเมินก็เกินไป. สุนทรภู่. นิราศภูเขาทอง. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร
- ↑ อันพริกไทยใบผักชีเหมือนสีกา ต้องโรยหน้าเสียสักหน่อยอร่อยใจ จงทราบความตามจริงทุกสิ่งสิ้น อย่านึกนินทาแกล้งแหนงไฉน. สุนทรภู่. นิราศภูเขาทอง. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร
- ↑ อนึ่งหญิงทิ้งสัตย์เราตัดขาด ถึงเนื้อน้ำธรรมชาติไม่ปรารถนา. สุนทรภู่. นิราศพระประธม. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร
- ↑ 23.0 23.1 สุนทรภู่. เพลงยาวถวายโอวาท. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร
- ↑ สุนทรภู่. นิราศพระประธม. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร
- ↑ สุนทรภู่. ขุนช้างขุนแผน ตอน กำเนิดพลายงาม, ขุนแผนสอนพลายงาม. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร
- ↑ สุนทรภู่. พระอภัยมณี, พระฤๅษีสอนสุดสาคร. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร
- ↑ 27.0 27.1 27.2 27.3 27.4 27.5 27.6 27.7 นิธิ เอียวศรีวงศ์. สุนทรภู่: มหากวีกระฎุมพี. เอกสารประกอบสัมมนา ประวัติศาสตร์สังคมสมัยต้นกรุงเทพฯ ชมรมประวัติศาสตร์ศึกษา 19 มกราคม 2524. พิมพ์รวมเล่มใน "สุนทรภู่: มหากวีกระฎุมพี", ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน. กรกฎาคม 2545
- ↑ ไมเคิล ไรท์. พระอภัยมณี วรรณกรรมบ่อนทำลายเพื่อสร้างสรรค์ จาก "สุนทรภู่: มหากวีกระฎุมพี", ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน. กรกฎาคม 2545
- ↑ "รัชกาลที่ 2 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-02-24. สืบค้นเมื่อ 2008-10-18.
- ↑ 30.0 30.1 ทศพร วงศ์รัตน์, พระอภัยมณีมาจากไหน, กรุงเทพฯ: คอนฟอร์ม, 2550. น.12-18.
- ↑ ประจักษ์ ประภาพิทยากร. เบื้องหลังการแต่งพระอภัยมณี. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์. 2513.
- ↑ ฉันทิชย์ กระแสสินธุ์, อนุสรณ์สุนทรภู่ 200 ปี : สุนทรภู่ดูดาว, สมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย, กรุงเทพฯ: 2529
- ↑ สุนทรภู่, พระอภัยมณี ตอนที่ 18 พระอภัยมณีโดยสารเรืออุศเรน, กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร.
- ↑ สุจิตต์ วงศ์เทศ, พระอภัยมณี มีฉากอยู่ทะเลอันดามัน อ่างเบงกอล และมหาสมุทรอินเดีย จากหนังสือ เศรษฐกิจ-การเมือง เรื่องสุนทรภู่ มหากวีกระฎุมพี, กรุงเทพฯ: มติชน, 2545. น.225
- ↑ พระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาละลักษมณ์), ประวัติสุนทรภู่ จาก หนังสืออนุสรณ์ในงานฌาปนกิจ นางจันทร์ ตาละลักษมณ์ ๒๕๓๓, พิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2533, อ้างถึงต้นฉบับลายมือ พ.ศ. 2456[1]
- ↑ กวี 4 จำพวก จาก Lexitron Dictionary
- ↑ "ใครไม่ไปก็จงจำคำแถลง ทั้งคนฟังคนอ่านสารแสดง" สุนทรภู่. นิราศพระบาท กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร
- ↑ คิดขัดขวางอย่างจะพาเลือดตากระเด็น บันดาลเป็นปลวกปล่องขึ้นห้องนอน กัดเสื่อสาดขาดปรุทะลุสมุด เสียดายสุดแสนรักเรื่องอักษร. สุนทรภู่. รำพันพิลาป. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร
- ↑ เจือ สตะเวทิน, สุนทรภู่, กรุงเทพฯ: สุทธิสารการพิมพ์, 2516. น.39. อ้างจาก อนุสรณ์สุนทรภู่ 200 ปี, กรุงเทพฯ: สมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย, 2529. น.202
- ↑ 40.0 40.1 ภิญโญ ศรีจำลอง. ความยิ่งใหญ่แห่งวรรณคดีรัตนโกสินทร์ กรุงเทพฯ: กราฟิกเซ็นเตอร์, 2548.
- ↑ ธนิต อยู่โพธิ์, บันทึกเรื่องผู้แต่งนิราศดงรัง จากบทนำในหนังสือ ชีวิตและงานของสุนทรภู่, กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร พ.ศ. 2518
- ↑ "ประวัติการพิมพ์ไทย" เก็บถาวร 2007-12-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จาก สารานุกรมสำหรับเยาวชนฯ เล่ม 18
- ↑ 43.0 43.1 ศานติ ภักดีคำ. "เป็นอาลักษณ์นักเลงทำเพลงยาว เขมรลาวลือเลื่องถึงเมืองนคร" ความสัมพันธ์วรรณกรรมสุนทรภู่กับวรรณกรรมเขมร ใน สุนทรภู่ในประวัติศาสตร์สังคมรัตนโกสินทร์มุมมองใหม่: ชีวิตและผลงาน. กทม. มติชน. 2550.
- ↑ พระอภัยมณี ฉบับแปลภาษาอังกฤษ โดยพระองค์เจ้าเปรมบุรฉัตร บนเว็บไซต์อเมซอนดอตคอม
- ↑ นิราศเมืองเพชร โดย สุนทรภู่ ฉบับไทย-อังกฤษ เก็บถาวร 2021-07-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Journey to Petchburi A Poem by Suthorn Phu
- ↑ "ผลงานละครต่าง ๆ ของภัทราวดีเธียเตอร์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-12-15. สืบค้นเมื่อ 2008-12-31.
- ↑ แผนการแสดงปี 2552 โรงละครแห่งชาติภาคตะวันตก จ.สุพรรณบุรี[ลิงก์เสีย]
- ↑ "รสตาล" จากเว็บไซต์ บ้านคนรักสุนทราภรณ์
- ↑ เจ้าของตาลรักหวานขึ้นปีนต้น ระวังตนตีนมือระมัดมั่น เหมือนคบคนคำหวานรำคาญครัน ถ้าพลั้งพลันเจ็บอกเหมือนตกตาล. สุนทรภู่. นิราศพระบาท. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร
- ↑ 50.0 50.1 50.2 เปลื้อง ณ นคร, ประวัติวรรณคดีไทย, กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช, 2543.
- ↑ “เทียนวรรณ” วิจารณ์งานสุนทรภู่ กำเนิด “พระอภัยมณี” ที่มาจาก “แหวนทองคำประดับเพ็ชร์”?“ ศิลปวัฒนธรรม สืบค้นเมื่อ 6 กรกฎาคม 2562
- ↑ ขนิษฐา บัวงาม. (2557). พระมหาธีราชเจ้าและโฮเต็ลวังพญาไท. กรุงเทพฯ: นานมีบุ๊กส์. 148 หน้า. ISBN 978-6-160-42003-2
- ↑ Karen Ann Hamilton, Sunthorn Phu (1786-1855) : the People’s Poet of Thailand เก็บถาวร 2007-04-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (PDF), Fulbright-Hays Curriculum Project/Thailand & Laos 2003. (อังกฤษ)
- ↑ ล้อม เพ็งแก้ว. โคตรญาติสุนทรภู่ จาก นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับพิเศษ มีนาคม 2529. พิมพ์รวมเล่มใน สุนทรภู่ - อาลักษณ์เจ้าจักรวาล โดยสำนักพิมพ์มติชน พ.ศ. 2547
- ↑ "วรรณศิลป์สโมสร วัดเทพธิดาราม (กุฏิสุนทรภู่)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-06-09. สืบค้นเมื่อ 2008-10-12.
- ↑ วันสุนทรภู่ เก็บถาวร 2009-01-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. ชุมนุมครุศาสตร์อาสา สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
- ↑ 57.0 57.1 57.2 "เรื่องที่ค้นพบใหม่เกี่ยวกับ "สุนทรภู่"". กระทรวงวัฒนธรรม. 2013-08-22. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-04-15. สืบค้นเมื่อ 2014-02-27.
- ↑ บุพเพสันนิวาส 2
- ↑ "จากคุณรุจน์ สู่ ป้ารุจี ต่อด้วย ยามรุจน์ มาล่าสุด สุนทรภู่ กวีแห่งยุคใน "บุพเพพสันนิวาส ๒"". trueid.net.
- ↑ เผยโฉมเหล่าบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ ปรากฏให้เห็นกันแล้วใน "บุพเพสันนิวาส ๒"
- ↑ ย้อนรอย 4 บุคคลในประวัติศาสตร์ “บุพเพสันนิวาส 2” เล่ายังไงให้สนุก กรุงเทพธุรกิจ สืบค้นเมื่อ 2 สิงหาคม 2565
- ↑ "บุษบาลุยไฟ | Thai PBS รายการไทยพีบีเอส". Thai PBS.
แหล่งข้อมูลอื่น
- ประวัติพระสุนทรโวหาร
- ประวัติสุนทรภู่และเรื่องเล่าพระอภัยมณีเป็นภาษาอังกฤษ แปลโดยพระองค์เจ้าเปรมบุรฉัตร
- ประวัติสุนทรภู่
- Sunthorn Phu - Thailand's Greatest Poet ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (เก็บถาวร ตุลาคม 27, 2009) (ในภาษาไทย)
- อนุสาวรีย์สุนทรภู่ ในจังหวัดระยอง