เทียนวรรณ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เทียนวรรณ
เกิด1[1] หรือ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2385[2]
คลองบางขุนเทียน[2]
เสียชีวิตพ.ศ. 2457[2] หรือ 2458[3] (73 ปี)[2]
เวิ้งนาครเขษม[4]
อาชีพพ่อค้า ทนายความ นักวารสารศาสตร์
คู่สมรส(อย่างน้อย) 3 คน[5]
บุตร16 คน[5]
บุพการี
  • เรือง[1] (บิดา)
  • โอลิต[1] (มารดา)

เทียนวรรณ (1[1] หรือ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2385[2] – พ.ศ. 2457[2] หรือ 2458[3]) ชื่อจริงว่า เทียน[2] และนามปากกาว่า ต.ว.ส. วัณณาโภ[2] (เขียนแบบเดิมว่า ต, ว, ส, วัณณาโภ)[2] เป็นพ่อค้า ทนายความ และนักวารสารศาสตร์ชาวสยาม ได้รับยกย่องว่า เป็นปัญญาชนคนสำคัญ[2]

เทียนวรรณมีชื่อเสียงจากการวิพากษ์วิจารณ์บ้านเมือง และเรียกร้องให้ปฏิรูปการปกครองและขนบธรรมเนียมต่าง ๆ ของบ้านเมือง โดยเสนอให้ปรับปรุงกฎหมาย ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เลิกทาส เลิกการพนัน เลิกฝิ่น จัดตั้งโรงเรียนสตรี จัดตั้งธนาคาร รวมถึงเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบบรัฐสภา[2]

ชื่อ[แก้]

เทียนวรรณมีชื่อจริงว่า "เทียน" และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) พระราชทานชื่อให้ว่า "วรรณ" ผู้คนนิยมนำมาเรียกรวมกันเป็น "เทียนวรรณ" จึงเป็นที่รู้จักด้วยชื่อ "เทียนวรรณ"[2] บางแหล่งว่า ชื่อ "วรรณ" นี้พระราชทานเมื่อเทียนวรรณบวชที่วัดบวรนิเวศวิหาร[1] และบางแหล่งว่า เทียนแกล้งเสียสติในคราวบวช จะได้ไม่ต้องจำพรรษา ณ วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามตามรับสั่งของรัชกาลที่ 4 รัชกาลที่ 4 จึงทรงให้เปลี่ยนชื่อจาก "เทียน" เป็น "วรรณ" ตามความเชื่อโบราณที่จะให้หายเสียสติ[6]

บางแหล่งว่า ชื่อ "เทียนวรรณ" ไม่ได้มาจากรัชกาลที่ 4 แต่เป็นการมอบให้จากสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ สมเด็จพระสังฆราช ในคราวที่เทียนวรรณบวช ณ วัดบวรนิเวศวิหาร[7]

ส่วนนามปากกา "ต.ว.ส. วัณณาโภ" นั้น มีที่มาจาก "วัณณาโภ" ฉายาทางธรรมที่เทียนวรรณได้รับขณะเป็นภิกษุ[2]

การเกิด[แก้]

เทียนวรรณเกิดเมื่อปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2385[2] เป็นชาวธนบุรี ย่านคลองบางขุนเทียน (ปัจจุบันคลองสิ้นสภาพแล้ว)[2] บางแหล่งว่า เทียนวรรณเกิดในรัชกาลที่ 3 เมื่อวันแรม 7 ค่ำ เดือน 8 ปีขาล จ.ศ. 1204 ตรงกับวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2385 ณ "บ้านสวนหลวง บางขุนเทียน เขตธนบุรี กรุงเทพฯ"[1]

ครอบครัว[แก้]

ต้นตระกูลของเทียนวรรณ คือ ขุนเทียนวิเชียรหงษ์ ขุนนางผู้รักษาป่ามังคุดในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยา ทำให้ป่าดังกล่าวได้ชื่อในภายหลังว่า "บางขุนเทียน"[8] บางแหล่งระบุว่า ขุนเทียนวิเชียรหงษ์ผู้นี้เป็นทวดของเทียนวรรณ และมีภริยาเป็นธิดาของเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ (อู่) สมุหพระกลาโหมแห่งกรุงศรีอยุธยา[1]

เทียนวรรณเป็นบุตรคนที่ 7 จากบุตรทั้งหมด 9 คนของบิดาและมารดา[5]

บิดาของเทียนวรรณชื่อ "เรือง" คนส่วนใหญ่เรียก "เรืองสิงห์" เนื่องจากเรืองเป็นคนดุ[1] มีเชื้อสายมอญ[9] มารดาของเทียนวรรณชื่อ "โอลิต"[1] สันนิษฐานว่าอาจเป็นชาวไทยเชื้อสายโปรตุเกส[9] บิดาและมารดาของเทียนวรรณแยกทางกันตั้งแต่เทียนวรรณยังเล็ก[8] บิดาของเทียนวรรณเสียชีวิตเมื่อเทียนวรรณอายุ 13 ปี[1] บางแหล่งว่า บิดาของเทียนวรรณเสียชีวิตจากการไปรบที่เชียงตุง[1] จากนั้น มารดาของเทียนวรรณสมรสใหม่[8] กับชายชื่อ "เผือก"[1]

พระสาสนโสภณ (สา) ซึ่งภายหลังได้เป็นสมเด็จพระสังฆราชนั้น เป็นลุงของเทียนวรรณ[2][8]

การศึกษา[แก้]

เมื่อเทียนวรรณอายุ 5 ปี มารดาส่งเทียนวรรณไปอยู่กับป้าและลุงเขยผู้สอนมวยปล้ำและสอนเขียนอ่านภาษาไทยเบื้องต้นให้แก่เทียนวรรณ[8] ครั้นเทียนวรรณอายุ 8 ปี เทียนวรรณไปศึกษาภาษาไทยและภาษาขอมกับภิกษุชื่อ "มหาพุ่ม" ในสำนักของพระราชมุนี (เอี่ยม) วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม สำนักเดียวกับที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ ศึกษาอยู่ เทียนวรรณเรียนที่นั่นจนชำนาญ[8] ส่วนมหาพุ่มนั้นสึกออกเป็นฆราวาสเมื่อเทียนวรรณอายุ 10 ปี แต่ยังคงให้เทียนวรรณพำนักอยู่กับตน และพาเทียนวรรณติดตามเข้าไปในพระบรมมหาราชวังเสมอ[8]

ต่อมา เทียนวรรณย้ายไปอยู่วัดใหม่บางขุนเทียนเพื่อเรียนมวยและไสยศาสตร์ ชีวิตช่วงนี้ของเทียนวรรณดำเนินไปอย่างไม่มีจุดหมายใด ๆ[8] จนมารดาสมรสใหม่กับชายชื่อ "เผือก" ซึ่งช่วยอบรมสั่งสอนสิ่งที่ดีให้แก่เทียนวรรณ[8] และมีอิทธิพลต่อแนวคิดต่าง ๆ ในชีวิตวัยรุ่นของเทียนวรรณมาโดยตลอด[1]

ครั้นเทียนวรรณอายุ 16 ปี เทียนวรรณย้ายไปอยู่กับลุงคนหนึ่งซึ่งเป็นญาติฝ่ายมารดา จนเทียนวรรณอายุ 17 ปี รัชกาลที่ 4 โปรดให้พระสาสนโสภณ (สา) ลุงอีกคนหนึ่งของเทียนวรรณ บวชเทียนวรรณเป็นสามเณรอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร เทียนวรรณบวชได้ 13 เดือนก็ลาสิกขาบทกลับไปอยู่กับมารดาและบิดาเลี้ยง[8]

เมื่อเทียนวรรณอายุ 19 ปี เทียนวรรณออกท่องเที่ยวไปทางเหนือนาน 15 เดือน แล้วกลับมาบวชเป็นภิกษุที่วัดบวรนิเวศวิหาร มีสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ สมเด็จพระสังฆราช เป็นพระอุปัชฌาย์ และมีพระสาสนโสภณ (สา) กับพระจันทโคจรคุณ (ยิ้ม) เป็นคู่สวด[8] ในการบวชนี้ เทียนวรรณบันทึกว่า เดิมรัชกาลที่ 4 รับสั่งให้ไปจำพรรษาที่วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม แต่เทียนวรรณไม่ประสงค์จะไป จึงแกล้งเสียสติ และได้อยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหารแทน[10] สาเหตุที่เทียนวรรณไม่ต้องการไปวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามนั้นไม่ชัดเจน แต่ดำริห์ โปรเทียรณ์ หลานของเทียนวรรณ อ้างว่า ได้ฟังมาจากภริยาของเทียนวรรณว่า เป็นเพราะเทียนวรรณไม่ต้องการอยู่วัดที่ใกล้พระบรมมหาราชวัง อันเป็นเขตที่มากด้วยหญิงสาวชาววัง[10]

ใน พ.ศ. 2411 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) เสด็จขึ้นเสวยราชย์ เทียนวรรณก็เดินทางออกจากประเทศสยามไปกับเรือฝรั่ง[8] บางแหล่งว่า สาเหตุที่ออกจากประเทศ คือ "ถูกคนในวังไม่ชอบหน้า"[7] ในการเดินทางนี้ เทียนวรรณลาสิกขาบทแล้ว[7] หลังออกนอกประเทศ เทียนวรรณได้ท่องเที่ยวไปในเอเชียและหมู่เกาะแปซิฟิกหลายปี ได้เห็นความเป็นไปในดินแดนต่าง ๆ และพยายามทำความเข้าใจกับสภาพสังคมในดินแดนเหล่านั้น โดยอาศัยการอ่านหนังสือและประสบการณ์[8]

การเป็นพ่อค้าและทนายความ[แก้]

หลังจากท่องเที่ยวและกลับเข้ามาในประเทศสยามแล้ว เทียนวรรณไปขายของป่าอยู่ที่เมืองจันทบุรี[8] ช่วงที่ค้าขาย เทียนวรรณแต่งกายอย่างฝรั่งเพื่อแสดงออกว่า พ่อค้าซึ่งเป็นสามัญชนก็แต่งกายอย่างชนชั้นสูงได้ และการเป็นพ่อค้านี้ทำให้เทียนวรรณได้พบเห็นการฉ้อราษฎร์บังหลวงในวงราชการ และได้รู้จักบุคคลสำคัญหลายคน ซึ่งรวมถึง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์, เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต), และขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)[8]

ภายหลัง เทียนวรรณย้ายเข้ามาในกรุงเทพฯ และเปิดสำนักงานทนายความแห่งแรกของประเทศขึ้นที่แยกคอกวัว ชื่อว่า "ออฟฟิศอรรศนานุกูล" โดยให้บริการว่าความแก่ประชาชนทั่วไป แต่ไม่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงวัง จึงถูกดำเนินคดีและจำคุกฐาน "หมิ่นตราพระราชสีห์"[8] บางแหล่งว่า เทียนวรรณถูกจำคุกฐาน "หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" เนื่องจากเทียนวรรณวิพากษ์วิจารณ์บ้านเมืองในระบบทาส ปราศจากความเป็นธรรมทางเพศ และเทียนวรรณนำเสนอแนวคิดให้ประชาชนมีเสรีภาพกับรัฐสภา[11] และบางแหล่งว่า เทียนวรรณถูกจำคุก เนื่องจากรับเขียนฎีการ้องทุกข์ให้ราษฎรผู้หนึ่งโดยไม่ขออนุญาตจากกระทรวงวังก่อน จึงมีความผิดฐานหมิ่นตราพระราชสีห์[8] บางแหล่งว่า ราษฎรที่เทียนวรรณรับเขียนฎีกาให้นั้นชื่อว่า "นายช้าง" และนายช้างผู้นี้เป็นเครื่องมือของขุนนางผู้ใหญ่ซึ่งไม่พอใจเทียนวรรณที่เรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงในสังคม เห็นได้จากที่การพิจารณาคดีเทียนวรรณนั้นดำเนินไปอย่างรวดเร็ว ไม่ให้โอกาสเทียนวรรณสู้คดี และไม่เอาผิดนายช้างด้วย[12]

เทียนวรรณถูกจำคุกถึง 16 ปีเศษ[2] บางแหล่งว่า 16 ปี 7 เดือน[12] บางแหล่งว่า 17 ปี[11] ระหว่างอยู่ในคุก เทียนวรรณใช้เวลาว่างเขียนหนังสือ[8]

เทียนวรรณได้รับการปล่อยตัวเนื่องจากพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม เสด็จตรวจคุกและพบเทียนวรรณเข้า ทรงไต่ถามจนได้ความว่า ถูกกลั่นแกล้ง จึงรับสั่งให้ปล่อยทันที[9] เทียนวรรณได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม ร.ศ. 126 (พ.ศ. 2441)[13]

งานด้านวารสารศาสตร์[แก้]

เมื่อพ้นคุกแล้ว เทียนวรรณออกวารสารรายปักษ์[8] ชื่อ ตุละวิภาคพจนกิจ โดยให้คำแปลว่า "หนังสือพิมพ์นี้เสนอข่าวสารตรงไปตรงมาดุจตราชั่ง" เพื่อเผยแพร่ความคิดเห็นของตนในลักษณะวิพากษ์วิจารณ์เหตุบ้านการเมือง โดยเสนอให้ปรับปรุงกฎหมาย ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เลิกทาส เลิกการพนัน เลิกฝิ่น จัดตั้งโรงเรียนสตรี จัดตั้งธนาคาร รวมถึงเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบรัฐสภา[14]

วารสารนี้มีสำนักงานอยู่ที่ถนนตะนาว ย่านสี่กั๊กเสาชิงช้า[11] ออกเผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ร.ศ. 119 (พ.ศ. 2443) ในรัชกาลที่ 5 ออกได้ 6 ปีก็เลิกไป เพราะขาดทุน[14] แต่บางแหล่งว่า ออกในระหว่าง พ.ศ. 2446–2449[8]

เทียนวรรณเคยขอให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์ ทรงนำวารสาร ตุละวิภาคพจนกิจ พร้อมกับหนังสือที่ตนเขียนด้วยลายมือตนเองขอให้ตนได้เข้ารับราชการ ขึ้นถวายรัชกาลที่ 5 แต่ไม่ปรากฏการตอบรับจากรัชกาลที่ 5[8]

ต่อมา เทียนวรรณออกวารสารชื่อ บำรุงนารี ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ร.ศ. 125 (พ.ศ. 2449) มีเนื้อหาเกี่ยวกับสตรี เช่น การทะนุบำรุงสตรี การวางตัวของสตรี การบำรุงครรภ์ และการเลี้ยงดูบุตร วารสารนี้ออกได้ 4 เล่มก็เลิกไป[4] ใน พ.ศ. 2451 เทียนวรรณยังออกวารสารรายเดือนชื่อ ศิริพจนภาค โดยมีจุดประสงค์จะให้คนรุ่นหลังทราบว่า เทียนวรรณได้ต่อสู้เรียกร้องความยุติธรรมให้แก่ชาวสยามอย่างไรบ้าง[8] แต่บางแหล่งว่า ศิริพจนภาค ออกตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน ร.ศ. 126 (พ.ศ. 2450)[4]

ชีวิตบั้นปลาย[แก้]

ปรีดี พนมยงค์ บันทึกว่า ตนเองได้พบเทียนวรรณในวัยชราครั้งที่ตนเรียนมัธยมศึกษาเบื้องต้น โดยเขียนว่า "ท่านผู้นี้มีคติประชาธิปไตยมาก ขณะนั้นท่านหนวดขาวแล้ว ประมาณว่าขณะนั้นมีอายุเกือบ 70 ปี ข้าพเจ้าพบที่ตึกแถวใกล้วัดบวรนิเวศน์" ทั้งระบุว่า ได้สนทนากับเทียนวรรณในเรื่องทัศนะที่มีต่อระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์[15] อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ เห็นว่า การพบกันนั้นน่าจะเกิดในช่วง พ.ศ. 2454–2455[15]

เทียนวรรณเสียชีวิตใน ร.ศ. 133 (พ.ศ. 2457) ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) รวมอายุได้ 73 ปี[2] แต่บางแหล่งว่า เสียชีวิตใน พ.ศ. 2458[3]

สถานที่เสียชีวิต คือ บ้านของตนเองที่เวิ้งนาครเขษม[4] สาเหตุแห่งการเสียชีวิต คือ โรคเบาหวานและต้อกระจก[4] ศพได้รับการฌาปนะที่วัดตึก (ปัจจุบันคือวัดชัยชนะสงคราม)[4]

การสมรส[แก้]

เทียนวรรณสมรสครั้งแรกเมื่อใดไม่ปรากฏ แต่บันทึกไว้เองว่า เมื่ออายุ 29 ปี ได้ภริยาคนที่ 3 ที่เมืองตราด ชื่อ "เปี๊ยก"[5] และบันทึกไว้คร่าว ๆ ว่า ภริยาคนแรกเป็นญาติกัน อยู่ด้วยกันไม่นานก็เลิกร้าง มีบุตรด้วยกัน 1 คน ภริยาคนที่ 2 มีบุตรด้วยกัน 4 คน[5] เทียนวรรณมีบุตร 11 คนกับภริยาคนที่ 3 นี้[5] เทียนวรรณจึงมีบุตรทั้งสิ้น 16 คน[5]

เทียนวรรณกล่าวด้วยว่า บุตรบางคนไม่ได้ดีดังใจ เพราะเทียนวรรณต้องโทษจำคุก ทำให้ไม่มีเวลาอบรมสั่งสอนบุตร ส่วนภริยาก็ต้องใช้เวลาไปกับการทำมาหาเลี้ยงครอบครัวแทนเทียนวรรณ[5]

เทียนวรรณเป็นต้นสกุล "โปรเทียรณ์"[2] บ้างเขียน "โปรเฑียรณ์"[4] ผู้ตั้งนามสกุลนี้ให้แก่ลูกหลานของเทียนวรรณ คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์[4]

ผลงาน[แก้]

ผลงานของเทียนวรรณไม่ได้รับการเผยแพร่มากนัก และส่วนใหญ่เก็บรักษาไว้ในรูปแบบไมโครฟิล์ม ทำให้หาอ่านยาก[16] บางส่วนมีต้นฉบับและจัดแสดงอยู่ที่หอสมุดดำรงราชานุภาพ กรมศิลปากร[14]

ในบรรดาผลงานของเทียนวรรณ มี

  • วารสาร
    • ตุละวิภาคพจนกิจ (มี 6 เล่ม,[17] พ.ศ. 2443[14] หรือ 2446 จนถึง 2449)[8]
    • บำรุงนารี (มี 4 เล่ม,[18] ตั้งแต่ พ.ศ. 2449)[4]
    • ศิริพจนภาค (มี 2 เล่ม,[19] ตั้งแต่ พ.ศ. 2450[4] หรือ 2451)[8]
  • งานที่เป็นบรรณาธิการ
  • งานอื่น ๆ
    • สุภาษิตเทียนวรรณ (ไม่ปรากฏปี)[18]

แนวคิด[แก้]

ในงานเขียนของตน เทียนวรรณนำเสนอการมีคู่ครองคนเดียว โดยกล่าวว่า "การที่มีเมียมาก ส่อให้เห็นความฉิบหาย" เนื่องจากก่อให้เกิดปัญหาหลายด้าน เช่น ด้านเศรษฐกิจที่ทำให้มีรายจ่ายมาก และทำให้สตรีเสียเปรียบ และด้านสังคมที่ต้องเผชิญความระหองระแหงในหมู่ภรรยาคนต่าง ๆ ของชายอยู่เสมอ จึงเสนอให้เลิกความนิยมแบบ "ผัวเดียวหลายเมีย" แต่ก็กล่าวว่า คงเป็นไปได้ยาก เพราะการมีหลายเมียนั้นฝักรากมานานจน "เป็นที่คุ้นเคยพอใจแล้ว พวกเราไทย ๆ ชอบด้วยกันมากเป็นพื้นประเพณี"[21]

อนึ่ง เทียนวรรณยังนำเสนอเรื่องราษฎรเป็นใหญ่ โดยเปรียบราษฎรเป็นสายโลหิตของแผ่นดิน และกล่าวว่า ตนมีความฝันว่า สักวันต้องมีการเปลี่ยนแปลงขนบธรรมเนียมประเพณีของบ้านเมือง โดย "ตั้งปาลิเมนต์ [รัฐสภา] อนุญาตให้มีหัวหน้าราษฎรมาพูดธุระชี้แจงของตนแก่รัฐบาลได้ในข้อที่มีคุณแลมีโทษทางความเจริญแลไม่เจริญนั้น ๆ ได้ตามเวลาที่กำหนดอนุญาตไว้ ในความฝันที่เราฝันมานี้ ในชั้นต้นจะโวด [โหวต] เลือกผู้มีสะติปัญญาเปนชั้นแรกคราวแรกที่เริ่มจัด ให้ประจำการในกระทรวงทุกอย่างไปก่อนกว่าจะได้ดำเนินให้เปนปรกติเรียบร้อยได้"[22] ที่เทียนวรรณเรียกร้องให้มีรัฐสภานั้น สืบเนื่องมาจากเทียนวรรณไม่พอใจที่กระบวนการยุติธรรมให้ศาลมีอำนาจมากเกินในการพิจารณาคดีโดยไม่มีการตรวจสอบและถ่วงดุล[11]

แนวคิดข้างต้นทำให้เทียนวรรณถูกชนชั้นนำสยามประณามว่า "เป็นพวกชอบชิงสุกก่อนห่าม" และ "อย่าเพิ่งฝันถึง 'ปาลิเมนต์' เลย ตราบที่ประเทศนี้ราษฎรยังขาดการศึกษาและยังยากจนอยู่"[11] แต่ก็ทำให้เทียนวรรณได้รับยกย่องจากวงวิชาการว่า เป็นปัญญาชนคนสำคัญ[2] และการที่เทียนวรรณคอยช่วยเหลือประชาชนผู้ไม่ได้รับความยุติธรรมทางกฎหมาย ทำให้กุหลาบ สายประดิษฐ์ ยกย่องเทียนวรรณว่า เป็น "บุรุษรัตน์ของสามัญชน"[9]

นิธิ นิธิวีรกุล เห็นว่า แนวคิดของเทียนวรรณมีอิทธิพลให้เกิดกบฏ ร.ศ. 130[22]

อย่างไรก็ดี ชัยอนันต์ สมุทวณิช ตั้งข้อสังเกตว่า เทียนวรรณไม่เคยกล่าวถึงการจัดให้มีกฎหมายสูงสุดเพื่อจำกัดอำนาจผู้ปกครองและกำหนดแนวทางปกครองประเทศ ดังที่สมัยใหม่เรียกว่า รัฐธรรมนูญ[22]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.00 1.01 1.02 1.03 1.04 1.05 1.06 1.07 1.08 1.09 1.10 1.11 1.12 สุมาลี แก่นการ (2005, p. 10)
  2. 2.00 2.01 2.02 2.03 2.04 2.05 2.06 2.07 2.08 2.09 2.10 2.11 2.12 2.13 2.14 2.15 2.16 2.17 2.18 2.19 2.20 กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม (2021)
  3. 3.0 3.1 3.2 พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย (2022)
  4. 4.00 4.01 4.02 4.03 4.04 4.05 4.06 4.07 4.08 4.09 สุมาลี แก่นการ (2005, p. 13)
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 5.4 5.5 5.6 5.7 สุมาลี แก่นการ (2005, p. 11)
  6. สุมาลี แก่นการ (2005, p. 14)
  7. 7.0 7.1 7.2 นิธิ นิธิวีรกุล (2020)
  8. 8.00 8.01 8.02 8.03 8.04 8.05 8.06 8.07 8.08 8.09 8.10 8.11 8.12 8.13 8.14 8.15 8.16 8.17 8.18 8.19 8.20 8.21 8.22 8.23 ยุพร แสงทักษิณ (2015)
  9. 9.0 9.1 9.2 9.3 โรม บุนนาค (2017)
  10. 10.0 10.1 สุมาลี แก่นการ (2005, p. 15)
  11. 11.0 11.1 11.2 11.3 11.4 เพ็ญสุภา สุขคตะ (2017)
  12. 12.0 12.1 สุมาลี แก่นการ (2005, p. 12)
  13. สุมาลี แก่นการ (2005, p. 12–13)
  14. 14.0 14.1 14.2 14.3 รวิวรรณ พุฒซ้อน (n.d.)
  15. 15.0 15.1 อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ (2022)
  16. สุมาลี แก่นการ (2005, p. 25)
  17. สุมาลี แก่นการ (2005, p. 25–29)
  18. 18.0 18.1 สุมาลี แก่นการ (2005, p. 31)
  19. สุมาลี แก่นการ (2005, p. 28–31)
  20. 20.0 20.1 ดำรงราชานุภาพ, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ (1928, p. 18)
  21. สุรเชษ์ฐ สุขลาภกิจ (2021)
  22. 22.0 22.1 22.2 ศิรินภา โปรเทียรณ์ (2021)

บรรณานุกรม[แก้]

อ่านเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]