ลิลิต
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
ฉันทลักษณ์ไทย |
---|
กลวิธีประพันธ์ |
ลิลิต หมายถึง หนังสือที่แต่งด้วยคำประพันธ์ประเภทโคลงและร่าย สลับกันเป็นช่วง ๆ ตามธรรมเนียมแล้ว มักจะใช้โคลงและร่ายในแบบเดียวกัน กล่าวคือ โคลงดั้น สลับกับร่ายดั้น, โคลงสุภาพ สลับกับร่ายสุภาพ อย่างนี้เป็นต้น โคลงและร่ายที่สลับกันนั้น มักจะร้อยสัมผัสด้วยกัน เรียกว่า "เข้าลิลิต"
วรรณคดีที่แต่งตามแบบแผนลิลิต มักจะใช้ร่ายและโคลงสลับกันเป็นช่วง ๆ ตามจังหวะ ลีลา และท่วงทำนอง และความเหมาะสมของเนื้อหาในช่วงนั้น ๆ
ลิลิตที่ได้รับการยกย่องจากวรรณคดีสโมสรว่า เป็นยอดของโคลงลิลิต คือ ลิลิตพระลอ
ประวัติ
[แก้]ความเป็นมาของลิลิต ไม่ปรากฏแน่ชัด โดยสืบค้นได้เก่าสุดถึงสมัยอยุธยา ได้แก่ ลิลิตยวนพ่าย และลิลิตพระลอ (สำหรับอายุของลิลิตพระลอยังเป็นที่ถกเถียง ยังไม่ยุติ) แต่ถ้าจะนับอย่างธรรมเนียมลิลิตแล้ว น่าจะมีเพียงลิลิตพระลอ เพียงเรื่องเดียวเท่านั้น เนื่องจากในยวนพ่ายนั้น มีร่ายนำ 1 บท แล้วมีร่ายแทรกตอนปลาย ๆ (ไม่ใช่ท้ายเรื่อง)กลางเรื่องอีก 1 บทเท่านั้น ส่วนลิลิตพระลอนั้น แต่งด้วยร่ายสุภาพและโคลงสุภาพอย่างหลากหลาย สลับเป็นช่วง ๆ (โปรดอ่านรายละเอียดในหัวข้อ ลิลิตพระลอ) มีทั้งโคลงสองสุภาพ โคลงสามสุภาพ และโคลงสี่สุภาพ นอกจากนี้ยังมีร่ายสอดสร้อยอีกด้วย
สำหรับโองการแช่งน้ำ แม้จะเคยเรียกกันว่า ลิลิตโองการแช่งน้ำ มาก่อน แต่ในภายหลัง นักวรรณคดีส่วนใหญ่สมัครใจที่จะเรียกชื่อโดยไม่มีคำว่าลิลิต ทั้ง ๆ ที่ในโองการแช่งน้ำ ก็แต่งด้วยร่ายสลับโคลง ทว่าเป็นร่ายโบราณ สลับกับโคลงห้า ซึ่งไม่ปรากฏแบบแผนที่ไหนมาก่อน
เป็นที่น่าสังเกตว่า นิราศคำโคลง หรือที่เรียกชื่อขึ้นต้นด้วย "โคลงนิราศ" ในสมัยส่วนใหญ่ จะขึ้นต้นด้วยร่ายนำ 1 บทเสมอ เช่น นิราศนรินทร์ นิราศพระยาตรังโคลงทวาทศมาส แต่มิได้เรียกว่าลิลิตแต่อย่างใด
วรรณคดีที่เรียกว่าลิลิตจำนวนหนึ่ง จึงเป็นเพียงวรรณกรรม คำโคลง ที่มีร่ายนำเท่านั้น นอกจากลิลิตยวนพ่ายแล้ว ยังมีลิลิตพยุหยาตราเพชรพวง มีร่ายนำเพียงหนึ่งบท
ลิลิตเป็นแบบแผนคำประพันธ์ที่มีผู้นิยมแต่งเสมอมา แม้จนปัจจุบัน เนื่องจากสามารถเปลี่ยนลีลาอารมณ์ของบทร้อยกรองได้ อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันการส่งสัมผัสระหว่างบท หรือ "เข้าลิลิต" นั้นไม่ถือเคร่งครัดนัก
ลิลิตในสมัยต่าง ๆ
[แก้]- สมัยกรุงศรีอยุธยา
- สมัยกรุงธนบุรี
- ลิลิตเพชรมงกุฎ - เจ้าพระยาพระคลัง (หน) เมื่อครั้งเป็นหลวงสรวิชิต
- สมัยกรุงรัตนโกสินทร์
- ลิลิตพยุหยาตราเพชรพวง - เจ้าพระยาพระคลัง (หน)
- ลิลิตศรีวิชัยชาดก - เจ้าพระยาพระคลัง (หน)
- ลิลิตตะเลงพ่าย - สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
- ลิลิตกระบวนแห่พยุหยาตราทางชลมารคและสถลมารค - สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
- ลิลิตกระบวนแห่พระกฐินพยุหยาตรา ทั้งทางสถลมารค และชลมารค - สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
- ลิลิตยอพระเกียรติ และ โคลงพระนามพระเจ้าลูกเธอในรัชกาลที่ 4 - พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
- ลิลิตนิทราชาคริต - พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
- ลิลิตพระฦๅ - พระราชครูพิเชต (กลัด)
- ลิลิตพงศาวดารเหนือ - สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์
- ลิลิตตำรานพรัตน์ - หลวงนรินทราภรณ์
- ลิลิตทักษาพยากรณ์ - สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรี
- ลิลิตนารายณ์สิบปาง - พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
- ลิลิตพายัพ - พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
- ลิลิตหิโตปเทศ - พระยาอิศรพันธุ์โสภณ (หนู อิศรางกูร ณ กรุงเทพ)
- ลิลิตรามเกียรติ์ ตอนนางลอย - ฟุ้ง ฤทธาคนี
- ลิลิตอิหร่านราชธรรม - มนตรี ตราโมท
- ลิลิตหล้ากำสรวล - กานติ ณ ศรัทธา
- ลิลิตวสุวิเศษ - วันเพ็ญ เซ็นตระกูล ,และ ฯลฯ