มหาดเล็ก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

มหาดเล็ก หมายถึง ข้าราชการในพระราชสำนัก โดยพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ให้ความหมายไว้ว่า “...... มีหน้าที่รับใช้พระเจ้าแผ่นดิน, ผู้รับใช้ประจำเจ้านาย หรือผู้ที่ถวายตัวเป็นผู้รับใช้เจ้านาย, เรียกทหารที่มีหน้าที่รักษาพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชวงศ์ว่า ทหารมหาดเล็ก, เรียกเต็มว่า ทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์” และให้ความหมายของคำว่า “มหาดเล็กรายงาน” ว่าเป็นคำโบราณ หมายถึง “.... มหาดเล็กซึ่งมีหน้าที่รายงานการสร้างวัดหรือคนเจ็บป่วยเป็นต้น” และยังใช้หมายถึง “....ข้าราชการชั้นฝึกหัดในหัวเมือง” อีกด้วย นอกจากนี้ยังให้ความหมายของ “มหาดเล็กหลวง” ว่าหมายถึง “....ข้าราชการในราชสำนักมีหน้าที่รับใช้พระมหากษัตริย์

การแบ่งประเภท[แก้]

สารานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถานให้คำอธิบายเกี่ยวกับมหาดเล็กไว้ว่า มหาดเล็กได้มีมาแต่โบราณ โดยได้ตราขึ้นในรัชสมัย ของพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ. 1991พ.ศ. 2031) ซึ่งได้กำหนดศักดินามหาดเล็กไว้ด้วย เช่น

นายศักดิ์ นายฤทธิ นายสิท และนายเดช มีศักดินา 800

นายจ่าเรศ นายจ่ายง นายจ่ารง และนายจ่ายวด มีศักดินา 600

พระราชบัญญัติกรมมหาดเล็ก” ซึ่งตราขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม ร.ศ. 112 ได้แบ่งมหาดเล็กเป็น 4 จำพวก ได้แก่ “......

  1. มหาดเล็กบรรดาศักดิ์ ได้แก่ บรรดามหาดเล็ก ที่ได้รับพระราชทานสัญญาบัตร ไม่ว่าจะเข้าเวรรับราชการหรือมิได้เข้าเวรรับราชการก็ตาม
  2. มหาดเล็กวิเศษ ได้แก่ บรรดาบุตรข้าราชการที่ถวายตัวเป็นมหาดเล็ก
  3. มหาดเล็กคงกรม ได้แก่ บรรดามหาดเล็กจำพวกต่างๆ คือ หม่อมราชวงศ์ ยามค่ำเดือนหมาย ห้องเครื่อง หอศาสตราคม อินทร์พรหม เกณฑ์จ่าย ช่าง ต่างภาษา พิณพาทย์ และ คนจำพวกที่จางวางหัวหมื่นและนายเวรจัดขึ้นรับราชการ และ บรรดาคนที่ไม่ได้ถวายตัว
  4. มหาดเล็กยาม ได้แก่มหาดเล็กที่จางวางคัดเลือกจากมหาดเล็กวิเศษ หรือมหาดเล็กคงกรมที่มีคุณวุฒิสมควรเข้ารับราชการได้ ยกขึ้นเป็นมหาดเล็กประจำการเข้าเวรรับราชการที่ได้รับพระราชทานเงินเดือน...”

สำหรับ “มหาดเล็กไล่กา” ไม่จัดเข้าประเภทดังข้างต้น แต่เป็นทหารเด็กที่แต่เดิมเป็นเด็กผู้ชายที่เข้าไปอยู่ในวังกับญาติตั้งแต่ยังเล็ก ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงมีลายพระหัตถ์ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2485 ทูลสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ดังปรากฏในหนังสือ “สาส์นสมเด็จ” สรุปความได้ว่ามีมาแต่สมัยรัชกาลที่ 3 ที่โปรดให้เด็กเล็กดังกล่าวเป็นพนักงานไล่กา ณ ที่ทรงบาตร จึงเรียกกันว่า “มหาดเล็กไล่กา” ต่อมาสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเมื่อแรกเสวยราชย์ ได้โปรดให้รื้อฟื้นมาใช้ในราชสำนักอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากเสด็จลงทรงบาตรทุกวัน และต่อมาได้โปรดให้เด็กที่ทำหน้าที่ไล่กาแต่งเครื่องแบบและฝึกทหารรวมจำนวนกันได้ประมาณ 30 คน และว่าอาจเป็นการเริ่มแรกที่จะมีทหารมหาดเล็กด้วย ต่อมาถึง พ.ศ. 2413 เมื่อมีการแห่โสกันต์พระเจ้าน้องนางเธอฝ่ายใน ได้โปรดให้ทหารมหาดเล็กไล่กาเดินนำกระบวนแห่

หน้าที่[แก้]

พระราชบัญญัติฉบับเดียวกันได้กำหนดหน้าที่ของมหาดเล็กไว้ในมาตรา 10 ไว้ว่าให้ “....มหาดเล็กผลัดเปลี่ยนกันประจำราชการ โดยแบ่งตามกำหนดวันข้างขึ้นข้างแรมทุกเดือนไป

  • ข้างขึ้น เวรศักดิ์ เวรฤทธิ์ 2 เวร
  • ข้างแรม เวรสิทธิ์ เวรเดช 2 เวร...”

โดยกำหนดให้ประจำเวร เวรละ 12 ชั่วโมง และให้ผลัดเวรเวลา 4 โมงเช้าครั้งหนึ่ง เวลา 4 ทุ่มครั้งหนึ่ง และให้สลับผลัดกลางวัน – กลางคืนกันในเวรเดือนใหม่

ลำดับศักดิ์[แก้]

สารานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถานอธิบายว่า “มหาดเล็กบรรดาศักดิ์" เป็นมหาดเล็กที่สูงสุดเพราะได้รับพระราชทานสัญญาบัตร ส่วน “มหาดเล็กวิเศษ" หมายถึงบุตรข้าราชการที่ถวายตัวซึ่งค่อนข้างเป็นผู้ดี “มหาดเล็กจงกรม” มีความหมายกว้าง ส่วน “มหาดเล็กยาม” หมายถึงมหาดเล็กที่จางวางคัดตัวจากมหาดเล็กวิเศษและมหาดเล็กจงกรมที่มีคุณวุฒิยกเป็นมหาดเล็กประการรับราชการได้ และได้รับพระราชทานเงินเดือน และว่ามหาดเล็กที่มีคุณภาพจริงๆ คือ “มหาดเล็กบรรดาศักดิ์” และ “มหาดเล็กยาม” ตำแหน่งต่างๆ ในกรมมหาดเล็กมี 7 ชั้น ดังนี้

  1. ผู้บัญชาการกรมมหาดเล็ก
  2. จางวาง หัวหมื่น
  3. นายเวร
  4. จ่า
  5. หุ้มแพร
  6. นายรอง
  7. มหาดเล็กวิเศษ

สำหรับ “สารวัตรมหาดเล็ก” และ “มหาดเล็กยาม” ไม่ได้นับเข้าไว้ในลำดับข้างต้น

ตำแหน่ง[แก้]

ธรรมเนียมเดิมจัดตำแหน่งเป็น 4 เวร คือ เวรศักดิ์ เวรสิทธิ์ เวรฤทธิ์ และ เวรเดช หน้าที่ราชการของตำแหน่งทั้ง 4 นี้เหมือนกัน เพียงแต่ผลัดเวรเป็นข้างขึ้นข้างแรมดังกล่าวมาแล้ว และมีเวลาผลัดเวรกันเป็น 4 เวร จึงเรียกว่า เวร” มหาดเล็กชั้นหัวหมื่นลงมาถือเป็นตำแหน่งประจำเวร และมีชื่อเรียกตำแหน่งดังนี้

  • เวรศักดิ์
เจ้าหมื่นสรรพเพธภักดี
หลวงศักดิ์นายเวร
นายจ่ายง
นายฉัน หุ้มแพรต้นเชือก
นายสนิท หุ้มแพร
นายชัยขรรค์ หุ้มแพร
นายสนองราชบรรหาร หุ้มแพร
นายพินัยราชกิจ หุ้มแพร
นายรอง 5 คน ตรงกับหุ้มแพร
  • เวรสิทธิ์
เจ้าหมื่นเสมอใจราช
หลวงสิทธิ์นายเวร
นายจ่ายวด
นายชิด หุ้มแพรต้นเชือก
นายสุจินดา หุ้มแพร
นายพลพ่าย หุ้มแพร
นายเสนองานประพาส หุ้มแพร
นายพินิจราชการ หุ้มแพร
นายรอง 5 ตรงกับหุ้มแพร
  • เวรฤทธิ์
เจ้าหมื่นไวยวรนารถ
หลวงฤทธิ์นายเวร
นายจ่าเรศ
นายกวดหุ้มแพรต้นเชือก
นายเลห์อาวุธ หุ้มแพร
นายพลพัน หุ้มแพร
นายบำเรอบรมบาท หุ้มแพร
นายพิจิตรสรรพการ หุ้มแพร
นายรอง 5 คน ตรงกับหุ้มแพร
  • เวรเดช
เจ้าหมื่นศรีสรรักษ์
หลวงเดชนายเวร
นายจ่ารง
นายขันหุ้มแพรต้นเชือก
นายเสน่ห์ หุ้มแพร
นายสรรพวิชัย หุ้มแพร
นายบำรุงราชบทมาลย์ หุ้มแพร
นายพิจารณ์สรรพกิจ หุ้มแพร
นายรอง 5 คน ตรงกับหุ้มแพร

ตำแหน่งสูงสุดคือ ผู้บัญชาการกรมมหาดเล็กนั้น เป็นตำแหน่งสูงสุดในกรมมหาดเล็ก นับแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ยังมิได้เคยโปรดเกล้าฯ ตั้งผู้ใด นอกจากพระราชโอรสซึ่งเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยให้เป็นผู้บัญชาการ ตำแหน่งนี้มีหน้าที่สำหรับบังคับบัญชาการในกรมมหาดเล็กทั่วไป ผู้ทรงดำรงตำแหน่งนี้เป็นพระองค์สุดท้ายในรัชกาลที่ ๕ คือ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าสมมติวงศ์วโรทัย กรมขุนศรีธรรมราชธำรงฤทธิ์ สิ้นพระชนม์พระชันษาเพียง ๑๗ พรรษา หลังจากทรงดำรงตำแหน่งนี้เพียงไม่ถึง ๒ ปี พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง จึงไม่โปรดฯ ตั้งพระราชโอรสพระองค์ใดเป็นผู้บัญชาการกรมมหาดเล็กอีก ว่ากันว่าทรงมีพระราชปรารภถึง สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ว่าเมื่อโปรดเกล้าฯ ให้ทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกรมทหารมหาดเล็กได้ไม่นานก็สวรรคต พระชันษาเพียง ๑๗ ครั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมขุนศรีธรรมราชธำรงฤทธิ์ได้ไม่ทันไรก็สิ้นพระชนม์อีก ทำให้ทรงพระราชดำริว่า ตำแหน่งนี้อาจมีอาถรรพ์ จึงไม่โปรดฯ ตั้งพระราชโอรสพระองค์ใดอีก คงว่างอยู่ตลอดรัชกาล สมัยรัชกาลที่ 6 ผู้บัญชาการได้แก่ พลเอก จางวางเอก มหาเสวกเอก เจ้าพระยารามราฆพ (ม.ล. เฟื้อ พึ่งบุญ) ตำแหน่งอื่นนอกจากนี้ได้มีการจำแนกตำแหน่งอื่นๆ เช่นจางวางหัวหมื่น นายเวร นายจ่าหุ้มแพรและรองหุ้มแพรออกเป็นหลายชั้น

ยศ[แก้]

ยศมหาดเล็กเมื่อเทียบยศทหารจะได้ดังนี้

จางวางเอก เทียบเท่า พลเอก
จางวางโท เทียบเท่า พลโท
จางวางตรี เทียบเท่า พลตรี
หัวหมื่น เทียบเท่า พันเอก
รองหัวหมื่น เทียบเท่า พันโท
จ่า เทียบเท่า พันตรี
หุ้มแพร เทียบเท่า ร้อยเอก
รองหุ้มแพร เทียบเท่า ร้อยโท
มหาดเล็กวิเศษ เทียบเท่า ร้อยตรี
มหาดเล็กสำรอง เทียบเท่า ว่าที่ร้อยตรี
พันจ่าเด็กชา เทียบเท่า จ่านายสิบ
พันเด็กชาเอก เทียบเท่า สิบเอก
พันเด็กชาโท เทียบเท่า สิบโท
พันเด็กชาตรี เทียบเท่า สิบตรี
เด็กชา เทียบเท่า พลทหาร

มหาดเล็กหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง[แก้]

เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติได้โปรดเกล้าฯ ให้ยุบตำแหน่งมหาดเล็กบางตำแหน่ง แต่เมื่อภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475 คณะราษฎรได้ลดฐานะกรมมหาดเล็กลงมาเป็นเพียง “กองมหาดเล็ก” สังกัดสำนักพระราชวัง และให้ข้าราชการมหาดเล็กมีฐานะเป็นข้าราชการพลเรือน ให้มีเลขาธิการและรองเลขาธิการสำนักพระราชวังเป็นผู้บังคับบัญชา

กระทั่ง พ.ศ. 2560 ได้มีการยกฐานะกองมหาดเล็กขึ้นเป็น กรมมหาดเล็ก ในสังกัดสำนักพระราชวังมีอธิบดีกรมมหาดเล็กเป็นผู้บังคับบัญชาและให้มหาดเล็กมีฐานะเป็น ข้าราชการพลเรือนในพระองค์

อ้างอิง[แก้]