ภาษาไทย
ลิงก์ข้ามภาษาในบทความนี้ มีไว้ให้ผู้อ่านและผู้ร่วมแก้ไขบทความศึกษาเพิ่มเติมโดยสะดวก เนื่องจากวิกิพีเดียภาษาไทยยังไม่มีบทความดังกล่าว กระนั้น ควรรีบสร้างเป็นบทความโดยเร็วที่สุด |
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
บทความนี้อาจขยายความได้โดยการแปลบทความที่ตรงกันในภาษาอังกฤษ คลิกที่ [ขยาย] เพื่อศึกษาแนวทางการแปล
|
ภาษาไทย | |
---|---|
ภาษาไทยกลาง | |
ออกเสียง | /pʰāːsǎːtʰāj/ |
ภูมิภาค | |
ชาติพันธุ์ | ชาวไทย, จีน, มลายู |
จำนวนผู้พูด | 70 ล้านคน (2566)[1] ผู้พูดภาษาที่สอง 20 ล้านคน ซึ่งรวมคำเมือง, อีสาน, ไทยถิ่นใต้, เขมรเหนือ[1] |
ตระกูลภาษา | ขร้า-ไท
|
ระบบการเขียน |
|
สถานภาพทางการ | |
ภาษาทางการ | ไทย
อาเซียน[2] |
ภาษาชนกลุ่มน้อยที่รับรองใน | กัมพูชา (เกาะกง) มาเลเซีย (รัฐเกอดะฮ์, รัฐปะลิส, รัฐกลันตัน และอำเภอฮูลูเปรัก) พม่า (ตะนาวศรี) |
ผู้วางระเบียบ | สำนักงานราชบัณฑิตยสภา |
รหัสภาษา | |
ISO 639-1 | th |
ISO 639-2 | tha |
ISO 639-3 | tha |
Linguasphere | 47-AAA-b |
ภาษาไทย หรือ ภาษาไทยกลาง เป็นภาษาในกลุ่มภาษาไท สาขาย่อยเชียงแสน ซึ่งเป็นกลุ่มย่อยของตระกูลภาษาขร้า-ไท และเป็นภาษาราชการ และภาษาประจำชาติของประเทศไทย[3][4] มีการสันนิษฐานว่าภาษาในตระกูลนี้มีถิ่นกำเนิดจากทางตอนใต้ของประเทศจีน และนักภาษาศาสตร์บางส่วนเสนอว่า ภาษาไทยน่าจะมีความเชื่อมโยงกับตระกูลภาษาออสโตร-เอเชียติก ตระกูลภาษาออสโตรนีเซียน และตระกูลภาษาจีน-ทิเบต
ภาษาไทยเป็นภาษาที่มีระดับเสียงของคำแน่นอนหรือวรรณยุกต์เช่นเดียวกับภาษาจีน และออกเสียงแยกคำต่อคำ
ภาษาไทยปรากฏครั้งแรกในพุทธศักราช 1826 โดยพ่อขุนรามคำแหง และปรากฏอย่างสากลและใช้ในงานของราชการ เมื่อวันที่ 31 มีนาคม พุทธศักราช 2476 ด้วยการก่อตั้งสำนักงานราชบัณฑิตยสภาขึ้น และปฏิรูปภาษาไทย พุทธศักราช 2485
การจำแนก
ขร้า-ไท |
| |||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
ประวัติ
มีการเสนอว่า บทความนี้หรือส่วนนี้ควรแยกเป็นบทความใหม่ชื่อ ประวัติศาสตร์ภาษาไทย (อภิปราย) |
ภาษาไทยจัดอยู่ในกลุ่มภาษาไท (Tai languages) ภาษาหนึ่ง ซึ่งเป็นสาขาย่อยของตระกูลภาษาขร้า-ไท ภาษาไทยมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับภาษาในกลุ่มภาษาไทตะวันตกเฉียงใต้ภาษาอื่น ๆ เช่น ภาษาลาว ภาษาผู้ไท ภาษาคำเมือง ภาษาไทใหญ่ เป็นต้น รวมถึงภาษาตระกูลไทอื่น ๆ เช่น ภาษาจ้วง ภาษาเหมาหนาน ภาษาปู้อี ภาษาไหล ที่พูดโดยชนพื้นเมืองบริเวณไหหนาน กวางสี กวางตุ้ง กุ้ยโจว ตลอดจนยูนนาน ไปจนถึงเวียดนามตอนเหนือ ซึ่งสันนิษฐานว่าจุดกำเนิดของภาษาไทยน่าจะมาจากบริเวณดังกล่าว
ราวพุทธศตวรรษที่ 13-15 ได้มีการอพยพของผู้พูดภาษากลุ่มไทลงมาจากจีนตอนใต้ มายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยนำพาภาษากลุ่มไทลงมาด้วย ภาษาที่ชนกลุ่มไทกลุ่มนี้พูดได้รับการสืบสร้างเป็นภาษาไทตะวันตกเฉียงใต้ดั้งเดิม ซึ่งในเวลาต่อมาได้รับอิทธิพลจากภาษาตระกูลออสโตรเอเชียติก ที่พูดโดยชาวออสโตรเอเชียติก และอยู่อาศัยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่เดิม รวมถึงได้รับอิทธิพลจากภาษาทางวรรณกรรม คือ ภาษาสันสกฤต และ ภาษาบาลี จนพัฒนามาเป็นภาษาไทยในปัจจุบัน
ภาษาไทยเก่า
ส่วนนี้ไม่มีการอ้างอิงจากเอกสารอ้างอิงหรือแหล่งข้อมูล โปรดช่วยพัฒนาส่วนนี้โดยเพิ่มแหล่งข้อมูลน่าเชื่อถือ เนื้อหาที่ไม่มีการอ้างอิงอาจถูกคัดค้านหรือนำออก |
ภาษาไทยในอดีตมีระบบเสียงที่แตกต่างไปจากภาษาไทยปัจจุบันอย่างชัดเจน ซึ่งมีประเด็นสำคัญต่อไปนี้[5]
- มีการแบ่งแยกระหว่างเสียงก้องและเสียงไม่ก้องในแทบทุกฐานกรณ์ และทุก ๆ ลักษณะการเกิดเสียง (manner of articulation) นั่นคือ มีเสียงพยัญชนะ /b d d͡ʑ g/ ซึ่งแบ่งแยกจาก /p t t͡ɕ k/ อย่างชัดเจน รวมถึงมีการแบ่งแยกระหว่างเสียงนาสิกแบบก้องและแบบไม่ก้องด้วย (/m̥ n̥ ɲ̊ ŋ̊/ หรือ /ʰm ʰn ʰɲ ʰŋ/ กับ /m n ɲ ŋ/ → ตัวอย่าง 1) รวมถึงเสียงเปิด (/ʍ l̥/ กับ /w l/) ซึ่งลักษณะดังกล่าวนี้ได้สูญหายไปในภาษาไทยปัจจุบัน
ไท-กะไดเก่า | ไทยเก่า | ไทยปัจจุบัน | ลาวปัจจุบัน | จ้วงใต้ปัจจุบัน | จ้วงเหนือปัจจุบัน |
---|---|---|---|---|---|
ʰma: | ʰma: | หมา /ma:/ | ໝາ /ma:/ | ma /ma:/ | ma /ma:/ |
ʰmi: | ʰmi: | หมี /mi:/ | ໝີ /mi:/ | mi /mi:/ | mwi /mɯi/ |
ʰmu: | ʰmu: | หมู /mu:/ | ໝູ /mu:/ | mu /mu:/ | mou /mou/ |
ʰnu: | ʰnu: | หนู /nu:/ | ໜູ /nu:/ | nu /nu:/ | nou /nou/ |
ʰna: | ʰna: | หนา /na:/ | ໜາ /na:/ | na /na:/ | na /na:/ |
- มีเสียงกักเส้นเสียงนำมาก่อน (pre-glottalized) หรือเสียงกักเส้นเสียงลมเข้า (implosive) ได้แก่ /ʔb/, /ʔd/,/ʔj/ → ตัวอย่าง 2
ไท-กะไดเก่า | ไทยเก่า | ไทยปัจจุบัน | ลาวปัจจุบัน | จ้วงใต้ปัจจุบัน | จ้วงเหนือปัจจุบัน |
---|---|---|---|---|---|
ʔba: | ʔba: | บ่า /ba:/ | ບ່າ /ba:/ | mbaj /ba:/ | mbaj /ʔba:/ |
ʔbɯ:a | ʔbɯ:a | เบื่อ /bɯ:a/ | ເບື່ອ /bɯ:a/ | mbwaq /bɯ:a/ | mbwq /ʔbɯ:/ |
ʔbaɯ | ʔbaɯ | ใบ /bai/ | ໃບ /bai/ | mbaw /baɯ/ | mbaw /ʔbaɯ/ |
ʔbau | ʔbau | เบา /bau/ | ເບົາ /bau/ | mbau /bau/ | mbau /ʔbau/ |
ʔba:n | ʔba:n | บ้าน /ba:n/ | ບ້ານ /ba:n/ | mbanj /ba:n/ | mbanj /ʔba:n/ |
ʔda: | ʔda: | ด่า /da:/ | ດ່າ /da:/ | ndaq /da:/ | ndaq /ʔda:/ |
ʔdai | ʔdai | ได้ /dai/ | ໄດ້ /dai/ | ndaej /dai/ | ndaej /ʔdai/ |
- มีเสียงเสียดแทรกเพดานอ่อน (ฃ /x/ และ ฅ /ɣ/) ซึ่งต่างจากเสียงกักเพดานอ่อนอย่างชัดเจน (ข /kʰ/ และ ค /g/) → ตัวอย่าง 3
ไท-กะไดเก่า | ไทยเก่า | ไทยปัจจุบัน | ลาวปัจจุบัน | จ้วงใต้ปัจจุบัน | จ้วงเหนือปัจจุบัน |
---|---|---|---|---|---|
xo:n | ฆ้อน /xo:n/ | ค้อน /kho:n/ | ຄ້ອນ /kho:n/ | *honj /ho:n/ | *ronj /ɣo:n/ |
xa: | ฆ่า /xa:/ | ฆ่า /kha:/ | ຂ້າ /kha:/ | kaj /kha/ | haj /ha:/ |
ɣon | ฅน /ɣon/ | คน /khon/ | ຄົນ /khon/ | koenz /khən//khon/ | vunz /wun/ |
ɣwa:m | ฅวาม /ɣwa:m/ | ความ /khwa:m/ | ຄວາມ /khwa:m/ | vamz /wa:m/ | vamz /wa:m/ |
ɣam | ฅำ /ɣam/ | คำ /kham/ | ຄຳ /kham/ | kaemz /kham/ | *gaemz /kam/ |
ɣa: | ฅา /ɣa:/ | หญ้าคา /kha/ | ຄາ /kha/ | haz /ha:/ | raz /ɣa:/ |
ɣlam | ฅ่ำ /ɣam/ | ค่ำ /kham/ | ຄ່ຳ /kham/ | hamq /ham/ | hamq /ham/ |
ɣɯn | ฅืน /ɣɯn/ | คืน /khɯn/ | ຄືນ /khɯn/ | hwn /hən/ | hwn /hən/ |
- มีเสียงพยัญชนะ /ɲ/ ซึ่งเขียนแทนด้วย ญ เสียงพยัญชนะนี้ได้สูญหายไปจากภาษาไทยปัจจุบัน โดยกลายเป็นเสียง [j] ซึ่งเป็นเสียงเดียวกันกับ ย → ตัวอย่าง 4
ไท-กะไดเก่า | ไทยเก่า | ไทยปัจจุบัน | ลาวปัจจุบัน | จ้วงใต้ปัจจุบัน | จ้วงเหนือปัจจุบัน |
---|---|---|---|---|---|
ɲi: | ɲi:ญี่ (สอง) | ญี่ /ji:/ (โบราณ), ยี่ | ɲi: ຍີ່ | yih /ji:/ (สอง) | nyeih /ɲei/ (ngeih) |
ʰɲa: | ɲa: | หญ้า /ja:/ | ຫຍ້າ /ɲa:/ | yaj /่ja:/ | nywj /ɲa:/ |
ʰɲaɯ | ɲaɯ | ใหญ่ /jai/ | ໃຫຍ່ /ɲai/ | yawq /่jaɯ/ | - |
ʰɲiŋ | ɲiŋ | หญิง /jiŋ/ | ຍິງ /ɲiŋ/ | *ying /jiŋ/ | nyingz /ɲiŋ/ |
ɲin | ɲin | ยิน /jin/ | ຍິນ /ɲin/ | yinz /jin/ | nyi /ɲi/ |
ɲo:t | ɲo:t | ยอด /jo:t/ | ຍອດ /ɲo:t/ | yod /jo:t/ | nyod /ɲo:t/ |
- มีวรรณยุกต์เพียงสามเสียงเท่านั้น ได้แก่ เสียงสามัญ เสียงเอก และเสียงโท (หรือเขียนแทนด้วย *A, *B และ *C ตามลำดับ) ในพยางค์เป็น (unchecked syllable) จะมีเสียงวรรณยุกต์ที่เป็นไปได้ 3 เสียง ส่วนพยางค์ตาย (checked syllable) มีเสียงวรรณยุกต์ที่เป็นไปได้เพียงเสียงเดียว คือเสียงเอก
- นอกจากอักษรควบกล้ำทั่วไป (อย่าง กร-ฅร-ขร-คร-ตร-ปร-พร/กล-ฅล-ขล-คล-ปล-พล/กว-คว-ฅว) แล้วยังมีอักษรควบกล้ำพิเศษอีก 4 ตัว ก็คือ (*bd บด, *pt ผต, *mr/ml มร/มล, *thr ถร) ตามผลการวิจัยของนักภาษาศาสตร์ภาษาไทกะได เช่น André-Georges Haudricourt และ Li Fang-Kuei ปัจจุบันสามารถหาหลักฐาน จากภาษาไทกะไดต่าง ๆ ได้ → ตัวอย่าง 5
ไท-กะไดเก่า | ไทยปัจจุบัน | ภาษาแสก | ลาวปัจจุบัน | จ้วงใต้ปัจจุบัน | จ้วงเหนือปัจจุบัน |
---|---|---|---|---|---|
*bdi: บดี | /di:/ ดี | /di:/ | /di:/ | /bi:/ | |
*bdo:k บดอก | /do:k/ ดอก | /do:k/ | /bjo:k/ | */bjo:k/ | |
*bdɯ:an เบดือน | /dɯ:an/ เดือน | /dɯ:an/ | /bɯ:an/ | /dɯ:an/ | |
*pta:k ผตาก | /ta:k/ ตาก | /pra:k/ | /ta:k/ | /phja:k/ | /ta:k/ |
*pte:ŋ แผตง | /te:ŋ/ แตง | /preŋ/ | /te:ŋ/ | /phe:ŋ/ | /te:ŋ/ |
*pte:n แผตน | /te:n/ แตน | /pren/ | /te:n/ | /phe:n/ | /te:n/ |
*pte:k แผตก | /te:k/ แตก | /prek/ | /te:k/ | /phe:k/ | /te:k/ |
*pto:k ผตอก | /to:k/ ตอก | /pruk/ | /to:k/ | /phjo:k/ | /to:k/ |
*ptak ผตัก | /tak/ ตั๊ก | /prak/ | /tak/ | /rak/ | /tak/ |
*pta: ผตา | /ta:/ ตา | /pra/ | /ta:/ | /tha:/ | /ta:/ |
*pta:i ผตาย | /ta:i/ ตาย | /prai/ | /ta:i/ | /tha:i/ | /ta:i/ |
- มีเสียงสระประสม /aɰ/ ซึ่งเขียนแทนด้วยไม้ม้วน (ใ) เสียงสระนี้ได้สูญหายไปจากภาษาไทยปัจจุบัน โดยกลายเป็นเสียง [aj] สำหรับสระอื่น ๆ โดยหลัก ๆ ไม่มีความแตกต่างจากภาษาไทยปัจจุบัน → ตัวอย่าง 6
ไท-กะไดเก่า | ไทยเก่า | ไทยปัจจุบัน | ลาวปัจจุบัน | จ้วงใต้ปัจจุบัน | จ้วงเหนือปัจจุบัน |
---|---|---|---|---|---|
klaɯ | klaɯ | ใกล้ /klai/ | ໄກ້, ໃກ້ /kai/ | gyawj (cawj) /kjaɯ//tsaɯ/ | gyawj /kjaɯ/ |
glaɯ | khlaɯ | ใคร /khrai/ | ไม่มี | kaw /kaɯ/ (ใคร/ไหน) | lawz /laɯ/ |
graɯ | khraɯ | ใคร่ /khrai/ | ໃຄ່ /khai/ | - | - |
gaɯ | *khaɯ | *ใค่ /khai/(บวม) | ໃຄ່ (บวม) /khai/ | kawq /khaɯ/ | gawq /kaɯ/ |
gaɯ | *khaɯ | *ใค่ /khai/ (แห้ง) | ໃຄ່ (แห้ง) /khai/ | kawh /khaɯ/ | gawh /kaɯ/ |
tɕaɯ | tsaɯ | ใจ /tsai/ | ໃຈ /tsai/ | *jaw /tsaɯ/ | *cawz /saɯ/ |
dʑaɯ | tshaɯ | ใช่ /tshai/ | ໃຊ່ /sai/ | cwh /sɯ/ | cawh /saɯ/ |
สามารถสรุประบบเสียงพยัญชนะภาษาไทยเก่าได้ดังนี้
ริมฝีปาก | ปุ่มเหงือก | เพดานแข็ง | เพดานอ่อน | เส้นเสียง | |||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
กัก | ไม่ก้อง ไม่มีลม | ป /p/ | ต /t/ | จ /c/ (หรือ /t͡ɕ/) | ก /k/ | ||||||
ไม่ก้อง มีลม | ผ /pʰ/ | ถ /tʰ/ | ฉ /cʰ/ (หรือ /t͡ɕʰ/) | ข /kʰ/ | |||||||
ก้อง | พ /b/ | ท /d/ | ช /ɟ/ (หรือ /d͡ʑ/) | ค /ɡ/ | |||||||
กักเส้นเสียง | บ /ʔb/ (หรือ /ɓ/) | ด /ʔd/ (หรือ /ɗ/) | อย /ʔj/ | อ /ʔ/ | |||||||
เสียดแทรก | ไม่ก้อง | ฝ /f/ | ส /s/ | ฃ /x/ | ห /h/ | ||||||
ก้อง | ฟ /v/ | ซ /z/ | ฅ /ɣ/ | ||||||||
นาสิก | ไม่ก้อง | หม /hm/ | หน /hn/ | หญ /hɲ/ | (หง /hŋ/) | ||||||
ก้อง | ม /m/ | น /n/ | ญ /ɲ/ | ง /ŋ/ | |||||||
เสียงไหลและกึ่งสระ | ไม่ก้อง | หว /hw/ | (หร /hr/) หล /hl/ |
||||||||
ก้อง | ว /w/ | ร /r/ ล /l/ |
ย /j/ |
- สีเขียว สีชมพู และสีฟ้า คือหน่วยเสียงพยัญชนะที่จะพัฒนาไปเป็นอักษรกลาง อักษรสูง และอักษรต่ำ ในอนาคต ตามลำดับ
ระบบเสียงข้างต้นมีความสอดคล้องกันกับอักษรในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง นั่นคือ มีการใช้อักษร ฃ และ ฅ แยกกับ ข และ ค อย่างชัดเจน บ่งบอกว่าภาษาไทยในสมัยที่มีการสร้างจารึกดังกล่าว หน่วยเสียงพยัญชนะเหล่านี้ต้องแตกต่างกัน นอกจากนี้ยังอธิบายได้ว่า เหตุใดวรรณยุกต์ในภาษาไทยในจารึกสมัยสุโขทัยจึงมีวรรณยุกต์เพียง 2 รูป (เอกและโท) เท่านั้น เป็นเพราะว่าภาษาไทยเก่ามีวรรณยุกต์เพียงสามเสียงเท่านั้น (เสียงสามัญไม่เขียนรูปวรรณยุกต์)
อย่างไรก็ตาม หน่วยเสียง /x/ และ /ɣ/ น่าจะมีการสูญหายไปในอย่างรวดเร็วในสมัยพระยาลิไท โดยเกิดการรวมกับหน่วยเสียง /kʰ/ และ /g/ โดยสังเกตได้จากการใช้รูปพยัญชนะ ฃ สลับกับ ข และ ฅ สลับกับ ค ในศิลาจารึกสมัยพระยาลิไท บ่งบอกว่าหน่วยเสียงทั้งสองคู่ไม่มีความแตกต่างกันอีกต่อไป ปัจจุบันจึงมีการเลิกใช้ตัวอักษร ฃ และ ฅ
ระบบเสียงวรรณยุกต์สามเสียงสอดคล้องกับฉันทลักษณ์ในสมัยอยุธยาตอนต้น เช่นการบังคับเอกโทในโคลงสี่สุภาพ ในวรรณกรรมสมัยอยุธยาตอนต้นที่เขียนในโคลงสี่สุภาพ ยังไม่ปรากฏว่ามีการใช้คำเอกโทษหรือโทโทษเกิดขึ้น จึงสันนิษฐานได้ว่าระบบเสียงของภาษาไทยที่ใช้ในสมัยอยุธยาตอนต้นยังคงเป็นระบบเสียงแบบเก่าอยู่ ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงของระบบเสียงภาษาไทยต่อไปในสมัยอยุธยาตอนกลาง อนึ่ง เสียงสระ ใ /aɰ/ และ ไ /aj/ ในสมัยอยุธยาตอนต้นยังคงรักษาความแตกต่างไว้ได้เช่นกัน โดยสังเกตได้จากการที่คำที่มีรูปสระ ไ และ ใ จะไม่สัมผัสกัน
การเปลี่ยนแปลงระบบเสียงที่สำคัญ
ในสมัยอยุธยาตอนต้น (พุทธศตวรรษที่ 21) ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงของระบบเสียงภาษาไทยเก่าขึ้น[5] นับเป็นจุดเปลี่ยนผ่านจากภาษาไทยเก่าไปเป็นภาษาไทยสมัยใหม่ โดยมีขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงดังนี้
- หน่วยเสียงวรรณยุกต์ทั้ง 3 เสียง (*A, *B และ *C) ได้แตกตัวออกเป็นเสียงละ 2 เสียง รวมทั้งหมดเป็น 6 เสียง (*A1, *A2, *B1, *B2, *C1 และ *C2) ขึ้นอยู่กับความก้องของเสียงพยัญชนะต้น แต่หน่วยเสียงที่แตกตัวออกมาเป็นคู่ ๆ เหล่านั้นยังคงมีความแตกต่างกันเพียงในระดับหน่วยเสียงย่อย เท่านั้น
- เสียงวรรณยุกต์ชุดแรก *A1, *B1 และ *C1 จะปรากฏในคำที่มีพยัญชนะต้นเป็นเสียงไม่ก้อง และเสียงกักเสีนเสียง ได้แก่ /p pʰ t tʰ t͡ɕ t͡ɕʰ k kʰ ʔ h f s x m̥ n̥ ɲ̊ ŋ̊ ʍ l̥/
- เสียงวรรณยุกต์ชุดที่สอง *A2, *B2 และ *C2 จะปรากฏในคำที่มีพยัญชนะต้นเป็นเสียงก้อง ได้แก่ /b d d͡ʑ g v z ɣ m n ɲ ŋ r w l j/
- เกิดการยุบรวม (merger) ของหน่วยเสียงพยัญชนะต่อไปนี้
- เสียงกัก ก้อง (/b d d͡ʑ g/) ได้ยุบรวมกับเสียงกัก มีลม ไม่ก้อง (/pʰ tʰ t͡ɕʰ kʰ/)
- เสียงเสียดแทรก ก้อง (/v z/) ได้ยุบรวมกับเสียงเสียดแทรก ไม่ก้อง (/f s/)
- เสียงกังวาน (sonorant) ไม่ก้อง (/m̥ n̥ ɲ̊ ŋ̊ ʍ l̥/) ยุบรวมกับเสียงกังวาน ก้อง (/m n ɲ ŋ w l/)
- คู่ของเสียงวรรณยุกต์ทั้ง 3 คู่ มีการแบ่งแยกความแตกต่างมากขึ้น จนไปถึงระดับหน่วยเสียง (phoneme)
- มีการแตกตัวและการรวมของเสียงวรรณยุกต์ต่อไป
ภาษาไทยถิ่นกลางมีการแตกตัวและการยุบรวมของเสียงวรรณยุกต์ที่มีลักษณะเฉพาะ แบ่งแยกได้จากภาษาถิ่นภาคอื่น ๆ ได้แก่ การแตกตัวของเสียงวรรณยุกต์ *A ออกเป็นสองเสียงที่ต่างกันระหว่างพยัญชนะเสียงไม่ก้องที่มีลม (/pʰ tʰ t͡ɕʰ kʰ h f s x m̥ n̥ ɲ̊ ŋ̊ ʍ l̥/) กับเสียงไม่ก้องที่ไม่มีลม (/p t t͡ɕ k ʔb ʔd ʔj ʔ/) และมีการยุบรวมของเสียงวรรณยุกต์ *B2 (เอก-ก้อง) และ *C1 (โท-ไม่ก้อง) อีกด้วย จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมคำว่า ค่า กับ ข้า หรือคำว่า น่า กับ หน้า จึงออกเสียงวรรณยุกต์เป็นเสียงเดียวกันในภาษาไทยถิ่นกลาง แตกต่างจากภาษาไทยถิ่นเหนือและอีสานที่มีการแตกตัวและยุบรวมของเสียงวรรณยุกต์ที่ต่างไปจากนี้ จึงออกเสียงวรรณยุกต์ของทั้งสองคำนี้ต่างกันไปด้วย
สำหรับภาษาไทยถิ่นกลางบางสำเนียง เช่น สำเนียงกรุงเทพ และสำเนียงอยุธยา เป็นต้น มีการยุบรวมเสียงวรรณยุกต์ *A1 ของพยัญชนะเสียงไม่ก้อง ไม่มีลม (/p t t͡ɕ k ʔb ʔd ʔj ʔ/) กับเสียงวรรณยุกต์ *A2 ของพยัญชนะเสียงก้อง (/b d d͡ʑ g v z ɣ m n ɲ ŋ r w l j/) ด้วย จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมคำว่า กา กับ คา จึงออกเสียงวรรณยุกต์เหมือนกัน (เสียงสามัญ) แต่ออกเสียงวรรณยุกต์ต่างจากคำว่า ขา ซึ่งเป็นเสียงจัตวา ในขณะที่ภาษาไทยถิ่นกลางบางสำเนียง เช่น สำเนียงสุพรรณ (ในผู้พูดบางราย) มีการออกเสียงวรรณยุกต์ของคำว่า กา กับ คา ที่ต่างกันอยู่ นั่นคือยังไม่มีการยุบรวมของเสียงวรรณยุกต์ *A1 และ *A2 ดังกล่าว การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้ภาษาไทยกรุงเทพปัจจุบันมีเสียงวรรณยุกต์ที่แตกต่างกัน 5 หน่วยเสียง และสำเนียงสุพรรณ (ในผู้พูดบางราย) มีเสียงวรรณยุกต์ 6 หน่วยเสียง
รูปแบบการแตกตัวของเสียงวรรณยุกต์ที่แตกต่างกัน ของภาษาไทยสำเนียงกรุงเทพ และสำเนียงสุพรรณบุรี สรุปได้ตามตารางต่อไปนี้ (ให้เสียงวรรณยุกต์เดียวกันมีสีเดียวกัน และวรรณยุกต์ที่ปรากฏในตารางเป็นเสียงวรรณยุกต์ในปัจจุบัน)
คำเป็น | คำตาย | |||||
---|---|---|---|---|---|---|
กลุ่มพยัญชนะ | เสียงพยัญชนะเดิม | สามัญเดิม (*A) |
เอกเดิม (*B) |
โทเดิม (*C) |
สระยาว (*DL) |
สระสั้น (*DS) |
พยัญชนะไม่ก้อง มีลม (อักษรสุง) | /pʰ tʰ t͡ɕʰ kʰ h f s x m̥ n̥ ɲ̊ ŋ̊ ʍ l̥/ | 5 | 2 | 3 | 2 | 2 |
พยัญชนะไม่ก้อง ไม่มีลม (อักษรกลาง) | /p t t͡ɕ k ʔb ʔd ʔj ʔ/ | 1 | ||||
พยัญชนะก้อง (อักษรต่ำ) | /b d d͡ʑ g v z ɣ m n ɲ ŋ r w l j/ | 3 | 4 | 3 | 4 |
คำเป็น | คำตาย | |||||
---|---|---|---|---|---|---|
กลุ่มพยัญชนะ | เสียงพยัญชนะเดิม | สามัญเดิม (*A) |
เอกเดิม (*B) |
โทเดิม (*C) |
สระยาว (*DL) |
สระสั้น (*DS) |
พยัญชนะไม่ก้อง มีลม (อักษรสุง) | /pʰ tʰ t͡ɕʰ kʰ h f s x m̥ n̥ ɲ̊ ŋ̊ ʍ l̥/ | 5 | 2 | 3 | 2 | 2 |
พยัญชนะไม่ก้อง ไม่มีลม (อักษรกลาง) | /p t t͡ɕ k ʔb ʔd ʔj ʔ/ | 1.1 | ||||
พยัญชนะก้อง (อักษรต่ำ) | /b d d͡ʑ g v z ɣ m n ɲ ŋ r w l j/ | 1.2 | 3 | 4 | 3 | 4 |
วรรณยุกต์ที่ 1–5 ในภาษาไทยสำเนียงกรุงเทพในตาราง คือวรรณยุกต์ สามัญ เอก โท ตรี จัตวา ตามลำดับ
แม้ว่าจะมีการการเปลี่ยนแปลงของระบบเสียงวรรณยุกต์จากภาษาไทยเก่ามาเป็นภาษาไทยสมัยใหม่ แต่อักขรวิธีของภาษาไทยยังคงรูปเขียนเช่นเดิม ทำให้รูปเขียนและเสียงอ่านมีความไม่สอดคล้องกันขึ้น ยกตัวอย่างเช่น คำว่า ข้า กับ ค้า ที่ออกเสียงวรรณยุกต์ต่างกัน ทั้ง ๆ ที่มีรูปวรรณยุกต์โทเช่นเดียวกัน เกิดจากการที่ทั้งสองคำนี้เคยมีเสียงวรรณยุกต์เดียวกัน แต่มีเสียงพยัญชนะต้นที่แตกต่างกัน คือเสียง ข /kʰ/ และ ค /g/ ในภาษาไทยเก่า ความไม่สอดคล้องกันระหว่างรูปเขียนและเสียงอ่าน ทำให้เกิดระบบไตรยางศ์ ขึ้น โดยเป็นระบบการจัดหมวดหมู่รูปพยัญชนะอักษรไทยที่จัดให้รูปวรรณยุกต์หนึ่ง ๆ มีการออกเสียงที่แตกต่างกันได้เป็น 2 เสียง ขึ้นอยู่กับรูปพยัญชนะต้นของคำนั้น ๆ ซึ่งเป็นไปตามรูปแบบการแตกตัวและยุบรวมของหน่วยเสียงพยัญชนะและสระข้างต้น
เสียงวรรณยุกต์ในสมัยอยุธยา
หลักฐานที่บ่งบอกถึงเสียงวรรณยุกต์ในสมัยอยุธยามีน้อยมาก ระบบไตรยางศ์แบบเดียวกันกับภาษาไทยปัจจุบันนี้ถูกกล่าวถึงเป็นอย่างช้าสุดในตำราจินดามณี จากการสืบสร้างเสียงวรรณยุกต์จากตำราจินดามณี พบว่ามีหน่วยเสียงวรรณยุกต์ 5 เสียง และมีการแตกตัวของเสียงวรรณยุกต์คล้ายคลึงกับภาษาไทยปัจจุบัน แต่ระดับเสียงและรูปร่างเสียงวรรณยุกต์ (contour) ยังคงมีความแตกต่างจากภาษาไทยปัจจุบันอยู่พอสมควร เสียงวรรณยุกต์สมัยนี้อาจมีความคล้ายคลึงกับสำเนียงพากย์โขน (วริษา กมลนาวิน, 2546)[6]
พิทยาวัฒน์ พิทยาภรณ์ (2559) ได้เสนอการสืบสร้างระบบเสียงวรรณยุกต์จากตำราจินดามณีดังต่อไปนี้[7]
หน่วยเสียง | ระดับเสียงจากจินดามณี | เทียบระดับเสียงปัจจุบัน |
---|---|---|
สามัญ | กลาง | กลาง |
เอก | กลาง ถึง สูง* | กึ่งต่ำ หรือ ต่ำอย่างเดียว |
โท | กลาง-ตก | สูง-ตก |
ตรี | สูง** | กึ่งสูง-ขึ้น หรือ สูงอย่างเดียว |
จัตวา | สูง** | ต่ำ-ขึ้น |
- * ระบุระดับเสียงไม่ได้ชัดเจน
- ** ระบุความแตกต่างของสองเสียงนี้ไม่ได้ชัดเจน
และได้เสนอว่าระบบวรรณยุกต์ในสมัยอยุธยามีรูปแบบการแตกตัวที่ต่างไปจากภาษาไทยปัจจุบัน คือ เสียงวรรณยุกต์ของพยางค์ที่มีอักษรต่ำ คำตาย เสียงสระสั้น กับ พยางค์ที่มีอักษรต่อ คำตาย เสียงยาว มีเสียงเดียวกัน (ตัวอย่างเช่น คำว่า คัด กับ คาด เคยมีเสียงวรรณยุกต์เดียวกัน) ซึ่งสรุปการแตกตัวได้ดังนี้
คำเป็น | คำตาย | ||||
---|---|---|---|---|---|
สามัญเดิม (*A) |
เอกเดิม (*B) |
โทเดิม (*C) |
สระยาว (*DL) |
สระสั้น (*DS) | |
อักษรสุง | 5 | 2 | 3 | 2 | |
อักษรกลาง | 1 | ||||
อักษรต่ำ | 3 | 4 | 3 |
สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม
ในสมัยที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี มีการปฏิรูปภาษาไทยโดยสภาวัฒนธรรมแห่งชาติเมื่อ พ.ศ. 2485 มีการเปลี่ยนแปลงการสะกดคำมากมาย การเปลี่ยนแปลงหลัก ๆ ที่สังเกตได้มีดังนี้
- ตัดพยัญชนะ ฃ ออก แล้วใช้ ข แทน
- ตัดพยัญชนะ ฅ และ ฆ ออก แล้วใช้ ค แทน
- ตัดพยัญชนะ ฌ ออก แล้วใช้ ช แทน
- ตัดพยัญชนะ ฎ ออก แล้วใช้ ด แทน
- ตัดพยัญชนะ ฏ ออก แล้วใช้ ต แทน
- ตัดพยัญชนะ ฐ ออก แล้วใช้ ถ แทน
- ตัดพยัญชนะ ฑ ออก แล้วใช้ ท แทน
- ตัดพยัญชนะ ฒ ออก แล้วใช้ ธ แทน
- ตัดพยัญชนะ ณ ออก แล้วใช้ น แทน
- ตัดพยัญชนะ ศ และ ษ ออก แล้วใช้ ส แทน
- ตัดพยัญชนะ ฬ ออก แล้วใช้ ล แทน
- พยัญชนะ ญ ถูกตัดเชิงออกกลายเป็น
- พยัญชนะสะกดของคำที่ไม่ได้มีรากมาจาก คำบาลี-สันสกฤต เปลี่ยนเป็นพยัญชนะสะกดตามแม่โดยตรง เช่น อาจ เปลี่ยนเป็น อาด, สมควร เปลี่ยนเป็น สมควน
- เปลี่ยน อย เป็น หย เช่น อยาก เปลี่ยนเป็น หยาก
- เลิกใช้คำควบไม่แท้ เช่น จริง เขียนเป็น จิง, ทรง เขียนเป็น ซง
- ร หัน ที่มิได้ออกเสียง /อัน/ ส่วนใหญ่ถูกเปลี่ยนเป็นสระอะตามด้วยตัวสะกด เช่น อุปสรรค เปลี่ยนเป็น อุปสัค, ธรรม เปลี่ยนเป็น ธัม
- เลิกใช้สระใอ (ไม้ม้วน) เปลี่ยนเป็นสระไอ (ไม้มลาย) ทั้งหมด
- เลิกใช้ ฤ ฤๅ ฦ ฦๅ เปลี่ยนไปใช้การสะกดตามเสียง เช่น พฤกษ์ ก็เปลี่ยนเป็น พรึกส์, ทฤษฎี ก็เปลี่ยนเป็น ทริสดี
- ใช้เครื่องหมายวรรคตอนอย่างภาษาต่างประเทศ เช่น มหัพภาค (.) เมื่อจบประโยค จุลภาค (,) เมื่อจบประโยคย่อยหรือวลี อัฒภาค (;) เชื่อมประโยค และจะไม่เว้นวรรคถ้ายังไม่จบประโยคโดยไม่จำเป็น
หลังจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม หลุดจากอำนาจหลังสงครามโลกครั้งที่สองยุติ รัฐนิยมก็ถูกยกเลิกไปโดยปริยาย อักขรวิธีภาษาไทยได้กลับไปใช้แบบเดิมอีกครั้งหนึ่ง[8]
สัทวิทยา
ภาษาไทยประกอบด้วยหน่วยเสียงสำคัญ 3 ประเภท[9] คือ
- หน่วยเสียงพยัญชนะ
- หน่วยเสียงสระ
- หน่วยเสียงวรรณยุกต์
พยัญชนะ
พยัญชนะต้น
ภาษาไทยมาตรฐานแบ่งแยกรูปแบบเสียงพยัญชนะก้องและพ่นลม ในส่วนของเสียงกักและเสียงผสมเสียงแทรก เป็นสามประเภทดังนี้
- เสียงไม่ก้อง ไม่พ่นลม
- เสียงไม่ก้อง พ่นลม
- เสียงก้อง ไม่พ่นลม
หากเทียบกับภาษาอังกฤษ โดยทั่วไปมีเสียงแบบที่สองกับสามเท่านั้น เสียงแบบที่หนึ่งพบได้เฉพาะเมื่ออยู่หลัง เอส (S) ซึ่งเป็นเสียงแปรของเสียงที่สอง
เสียงพยัญชนะต้นมี 21 เสียง ตารางด้านล่างนี้บรรทัดบนคือสัทอักษรสากล บรรทัดล่างคืออักษรไทยในตำแหน่งพยัญชนะต้น
ริมฝีปากทั้งสอง | ปุ่มเหงือก | เพดานแข็ง | เพดานอ่อน | เส้นเสียง | ||
---|---|---|---|---|---|---|
เสียงนาสิก | [m] ม |
[n] ณ, น |
[ŋ] ง |
|||
เสียงกัก | ก้อง | [b] บ |
[d] ฎ, ด, ฑ** |
|||
ไม่ก้อง ไม่มีลม | [p] ป |
[t] ฏ, ต |
[tɕ] จ |
[k] ก |
[ʔ] อ | |
ไม่ก้อง มีลม | [pʰ] ผ, พ, ภ |
[tʰ] ฐ, ฑ**, ฒ, ถ, ท, ธ |
[tɕʰ] ฉ, ช, ฌ |
[kʰ] ข, ฃ*, ค, ฅ*, ฆ |
||
เสียงเสียดแทรก | [f] ฝ, ฟ |
[s] ซ, ศ, ษ, ส |
[h] ห, ฮ | |||
เสียงเปิด | [w] ว |
[l] ล, ฬ |
[j] ญ, ย |
|||
เสียงรัวลิ้น | [r] ร |
* ฃ และ ฅ เลิกใช้แล้ว ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าภาษาไทยสมัยใหม่มีพยัญชนะเพียง 42 ตัวอักษร
** ฑ มีอยู่สองเสียง คือ [tʰ] เมื่อเป็นคำเป็น และ [d] เมื่อเป็นคำตาย
พยัญชนะสะกด
ถึงแม้ว่าพยัญชนะไทยมี 44 รูป 21 เสียงในกรณีของพยัญชนะต้น แต่ในกรณีพยัญชนะสะกดแตกต่างออกไป สำหรับเสียงสะกดมีเพียง 8 เสียง เรียกว่า มาตรา เสียงพยัญชนะก้องเมื่ออยู่ในตำแหน่งตัวสะกด ความก้องจะหายไป
ในบรรดาพยัญชนะไทย นอกจาก ฃ และ ฅ ที่เลิกใช้แล้ว ยังมีพยัญชนะอีก 6 ตัวที่ใช้เป็นตัวสะกดไม่ได้คือ ฉ ผ ฝ ห อ ฮ ดังนั้นตัวสะกดจึงเหลือเพียง 36
ริมฝีปาก ทั้งสอง |
ปุ่มเหงือก | เพดานแข็ง | เพดานอ่อน | เส้นเสียง | |
---|---|---|---|---|---|
เสียงนาสิก | [m] ม |
[n] ญ, ณ, น, ร, ล, ฬ |
[ŋ] ง |
||
เสียงกัก | [p̚] บ, ป, พ, ฟ, ภ |
[t̚] จ, ช, ซ, ฌ, ฎ, ฏ, ฐ, ฑ, ฒ, ด, ต, ถ, ท, ธ, ศ, ษ, |
[k̚] ก, ข, ค, ฆ |
[ʔ]* - | |
เสียงเปิด | [w] ว |
[j] ย |
* เสียงพยัญชนะกัก เส้นเสียง [ʔ] จะปรากฏเฉพาะหลังสระเสียงสั้นเมื่อไม่มีพยัญชนะสะกด
กลุ่มพยัญชนะ
แต่ละพยางค์ในคำหนึ่ง ๆ ของภาษาไทยแยกออกจากกันอย่างชัดเจน (ไม่เหมือนภาษาอังกฤษที่พยัญชนะสะกด อาจกลายเป็นพยัญชนะต้นในพยางค์ถัดไป หรือในทางกลับกัน) ดังนั้นพยัญชนะหลายตัวของพยางค์ที่อยู่ติดกัน จะไม่รวมกันเป็นกลุ่มพยัญชนะเลย
ภาษาไทยมีกลุ่มพยัญชนะเพียงไม่กี่กลุ่ม ประมวลคำศัพท์ภาษาไทยดั้งเดิมระบุว่ามีกลุ่มพยัญชนะ (ที่ออกเสียงรวมกันโดยไม่มีสระอะ) เพียง 11 แบบเท่านั้น เรียกว่า พยัญชนะควบกล้ำ หรือ อักษรควบกล้ำ
ริมฝีปาก | ปุ่มเหงือก | เพดานอ่อน | ||||
---|---|---|---|---|---|---|
พยัญชนะเดี่ยว | [p] ป |
[pʰ] ผ, พ |
[t] ต |
[k] ก |
[kʰ] ข, ฃ, ค, ฅ | |
เสียงรัว | [r] ร |
[pr] ปร |
[pʰr] พร |
[tr] ตร |
[kr] กร |
[kʰr] ขร, ฃร, คร |
เสียงเปิด | [l] ล |
[pl] ปล |
[pʰl] ผล, พล |
[kl] กล |
[kʰl] ขล, คล | |
[w] ว |
[kw] กว |
[kʰw] ขว, ฃว, คว, ฅว |
พยัญชนะควบกล้ำมีจำนวนเพิ่มขึ้นอีกหกเสียงจากคำยืมภาษาต่างประเทศ ได้แก่
- /br/ (บร) เช่น บรอนซ์, เบรก
- /bl/ (บล) เช่น บล็อก, เบลอ
- /dr/ (ดร) เช่น ดราฟต์, ดริงก์
- /fr/ (ฟร) เช่น ฟรักโทส, ฟรี
- /fl/ (ฟล) เช่น ฟลูออรีน, แฟลต
- /tʰr/ (ทร) เช่น จันทรา, แทรกเตอร์
เราสามารถสังเกตได้ว่า กลุ่มพยัญชนะเหล่านี้ถูกใช้เป็นพยัญชนะต้นเท่านั้น ซึ่งมีเสียงพยัญชนะตัวที่สองเป็น ร ล หรือ ว และกลุ่มพยัญชนะจะมีเสียงไม่เกินสองเสียงในคราวเดียว การผันวรรณยุกต์ของคำขึ้นอยู่กับไตรยางศ์ของพยัญชนะตัวแรก
สระ
เสียงสระในภาษาไทยมาตรฐานแบ่งออกเป็น 3 ชนิดคือ สระเดี่ยว สระประสม และสระเกิน สะกดด้วยรูปสระพื้นฐานหนึ่งตัวหรือหลายตัวร่วมกัน (ดูที่ อักษรไทย)
สระเดี่ยว หรือ สระแท้ คือสระที่เกิดจากฐานเพียงฐานเดียว มีทั้งสิ้น 18 เสียง
สระประสม คือสระที่เกิดจากสระเดี่ยวสองเสียงมาประสมกัน เกิดการเลื่อนของลิ้นในระดับสูงลดลงสู่ระดับต่ำ ดังนั้นจึงสามารถเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "สระเลื่อน" มี 3 เสียงดังนี้
- เ–ีย [iːa] ประสมจากสระ อี และ อา ia
- เ–ือ [ɯːa] ประสมจากสระ อือ และ อา uea
- –ัว [uːa] ประสมจากสระ อู และ อา ua
ในบางตำราจะเพิ่มสระสระประสมเสียงสั้น คือ เ–ียะ เ–ือะ –ัวะ ด้วย แต่ในปัจจุบันสระเหล่านี้ปรากฏเฉพาะคำเลียนเสียงเท่านั้น เช่น เพียะ เปรี๊ยะ ผัวะ เป็นต้น
สระเสียงสั้น | สระเสียงยาว | สระเกิน | |||||
---|---|---|---|---|---|---|---|
ไม่มีตัวสะกด | มีตัวสะกด | ไม่มีตัวสะกด | มีตัวสะกด | ไม่มีตัวสะกด | มีตัวสะกด | ||
–ะ | –ั–1, -รร, -รร- | –า | –า– | –ำ | (ไม่มี) | ||
–ิ | –ิ– | –ี | –ี– | ใ– | (ไม่มี) | ||
–ึ | –ึ– | –ือ | –ื– | ไ– | (ไม่มี) | ||
–ุ | –ุ– | –ู | –ู– | เ–า | (ไม่มี) | ||
เ–ะ | เ–็–, เ––2 | เ– | เ–– | ฤ, –ฤ | ฤ–, –ฤ– | ||
แ–ะ | แ–็–, แ––2 | แ– | แ–– | ฤๅ, –ฤๅ | (ไม่มี) | ||
โ–ะ | –– | โ– | โ–– | ฦ, –ฦ | ฦ–, –ฦ– | ||
เ–าะ | –็อ–, -อ-2 | –อ | –อ–, ––3 | ฦๅ, –ฦๅ | (ไม่มี) | ||
–ัวะ | –็ว– | –ัว | –ว– | ||||
เ–ียะ | (ไม่มี) | เ–ีย | เ–ีย– | ||||
เ–ือะ | (ไม่มี) | เ–ือ | เ–ือ– | ||||
เ–อะ | เ–ิ–4, เ––4 |
เ–อ | เ–ิ–, เ––5, เ–อ–6 |
สระเกิน คือสระที่มีเสียงของพยัญชนะปนอยู่ มี 8 เสียงดังนี้
- –ำ [am, aːm] am ประสมจาก อะ + ม (อัม) เช่น ขำ บางสำเนียงถิ่นออกเสียงยาวเวลาพูด (อาม) เช่น น้ำ
- ใ– [aj, aːj] ai ประสมจาก อะ + ย (อัย) เช่น ใจ บางสำเนียงถิ่นออกเสียงยาวเวลาพูด (อาย) เช่น ใต้
- ไ– [aj, aːj] ai ประสมจาก อะ + ย (อัย) เช่น ไหม้ บางสำเนียงถิ่นออกเสียงยาวเวลาพูด (อาย) เช่น ไม้
- เ–า [aw, aːw] ao ประสมจาก อะ + ว (เอา) เช่น เกา บางสำเนียงถิ่นออกเสียงยาวเวลาพูด (อาว) เช่น เก้า
- ฤ [rɯ] rue, ri, roe ประสมจาก ร + อึ (รึ) เช่น ฤกษ์ บางคำเปลี่ยนเป็น [ri] (ริ) เช่น กฤษณะ หรือ [rɤː] (เรอ) เช่น ฤกษ์
- ฤๅ [rɯː] rue ประสมจาก ร + อือ (รือ)
- ฦ [lɯ] lue ประสมจาก ล + อึ (ลึ)
- ฦๅ [lɯː] lue ประสมจาก ล + อือ (ลือ)
บางตำราก็ว่าสระเกินเป็นพยางค์ ไม่ถูกจัดว่าเป็นสระ
สระบางรูปเมื่อมีพยัญชนะสะกด จะมีการเปลี่ยนแปลงรูปสระ สามารถสรุปได้ตามตารางด้านขวา
- คำที่สะกดด้วย –ั (สระ -ะ) + ว นั้นไม่มี เพราะซ้ำกับ –ัว แต่เปลี่ยนไปใช้ เ–า แทน
- สระ เ-ะ แ-ะ เ-าะ ที่มีวรรณยุกต์ ใช้รูปเดียวกับสระ เ– แ- -อ ตามลำดับ เช่น เผ่น เล่น แล่น แว่น ผ่อน กร่อน
- คำที่สะกดด้วย –อ (สระ -อ) + ร จะลดรูปเป็น –ร ไม่มีตัวออ เช่น พร ศร จร ซึ่งก็จะไปซ้ำกับสระ โ–ะ ดังนั้นคำที่สะกดด้วย โ–ะ + ร จึงไม่มี
- สระ เ–อะ ที่มีตัวสะกดใช้รูปเดียวกับสระ เ–อ[10] เช่น เงิน เปิ่น เห่ย
- คำที่สะกดด้วย เ–อ + ย จะลดรูปเป็น เ–ย ไม่มีพินทุ์อิ เช่น เคย เนย เลย ซึ่งก็จะไปซ้ำกับสระ เ– อย่างไรก็ตาม คำที่สะกดด้วย เ– + ย จะไม่มีในภาษาไทย
- พบได้น้อยคำ เช่น เทอญ เทอม
วรรณยุกต์
เสียงวรรณยุกต์
คำเป็น
เสียงวรรณยุกต์ในภาษาไทยมาตรฐานจำแนกออกได้เป็น 5 เสียง ได้แก่
เสียงวรรณยุกต์ | ตัวอย่าง | |||
---|---|---|---|---|
เสียง | ระดับเสียง | อักษรไทย | สัทอักษรสากล | |
หน่วยเสียง | เสียง | |||
สามัญ | กลาง | นา | /nāː/ | [naː˧] |
เอก | กึ่งต่ำ-ต่ำ หรือ ต่ำอย่างเดียว | หน่า | /nàː/ | [naː˨˩] |
โท | สูง-ต่ำ | น่า/หน้า | /nâː/ | [naː˥˩] |
ตรี | กึ่งสูง-สูง หรือ สูงอย่างเดียว | น้า | /náː/ | [naː˦˥] |
จัตวา | ต่ำ-กึ่งสูง | หนา | /nǎː/ | [naː˩˩˦] |
คำตาย
เสียงวรรณยุกต์ในคำตายสามารถมีได้แค่เพียง 3 เสียงวรรณยุกต์ คือ เสียงเอก เสียงโท และ เสียงตรี โดยขึ้นอยู่กับความสั้นความยาวของสระ เสียงเอกสามารถออกเสียงควบคู่กับได้สระสั้นหรือยาว เสียงตรีสามารถออกเสียงควบคู่กับสระสั้น และ เสียงโทสามารถออกเสียงควบคู่กับสระยาว เช่น
เสียง | สระ | ตัวอย่าง | ||
---|---|---|---|---|
อักษรไทย | หน่วยเสียง | เสียง | ||
เอก | สั้น | หมัก | /màk/ | [mak̚˨˩] |
ยาว | หมาก | /màːk/ | [maːk̚˨˩] | |
ตรี | สั้น | มัก | /mák/ | [mak̚˦˥] |
โท | ยาว | มาก | /mâːk/ | [maːk̚˥˩] |
แต่อย่างใดก็ดี ในคำยืมบางคำที่มีรากศัพท์มาจากภาษาอังกฤษ คำตายสามารถมีเสียงตรีควบคู่กับสระยาว และเสียงโทควบคู่กับสระสั้นได้ด้วย เช่น
เสียง | สระ | ตัวอย่าง | |||
---|---|---|---|---|---|
อักษรไทย | หน่วยเสียง | เสียง | อังกฤษ | ||
ตรี | ยาว | มาร์ก | /máːk/ | [maːk̚˦˥] | Marc, Mark |
สตาร์ต | /sa.táːt/ | [sa.taːt̚˦˥] | start | ||
บาส (เกตบอล) | /báːt (.kêt.bɔ̄n) / | [baːt̚˦˥ (.ket̚˥˩.bɔn˧)] | basketball | ||
โท | สั้น | เมคอัพ | /méːk.ʔâp/ | [meːk̚˦˥.ʔap̚˥˩] | make-up |
รูปวรรณยุกต์
ส่วน รูปวรรณยุกต์ มี 4 รูป ได้แก่
รูปวรรณยุกต์ | ชื่อ | |
---|---|---|
ไทย | สัทอักษร | |
-่ | ไม้เอก | /máːj.ʔèːk/ |
-้ | ไม้โท | /máːj.tʰōː/ |
-๊ | ไม้ตรี | /máːj.trīː/ |
-๋ | ไม้จัตวา | /máːj.t͡ɕàt.ta.wāː/ |
การเขียนเสียงวรรณยุกต์
ทั้งนี้คำที่มีรูปวรรณยุกต์เดียวกัน ไม่จำเป็นต้องมีระดับเสียงวรรณยุกต์เดียวกัน ขึ้นอยู่กับระดับเสียงของอักษรนำด้วย เช่น ข้า (ไม้โท) ออกเสียงโทเหมือน ค่า (ไม้เอก) เป็นต้น
รูปวรรณยุกต์ | ||||||
---|---|---|---|---|---|---|
ไม่เขียน | -่ | -้ | -๊ | -๋ | ||
อักษร | สูง | เสียงจัตวา | เสียงเอก | เสียงโท | - | - |
ตัวอย่าง | ขา | ข่า | ข้า | - | - | |
กลาง | เสียงสามัญ | เสียงเอก | เสียงโท | เสียงตรี | เสียงจัตวา | |
ตัวอย่าง | ปา | ป่า | ป้า | ป๊า | ป๋า | |
ต่ำ | เสียงสามัญ | เสียงโท | เสียงตรี | - | - | |
ตัวอย่าง | คา | ค่า | ค้า | - | - |
คำควบกล้ำ
คำควบกล้ำ หรือ อักษรควบ หมายถึง พยัญชนะสองตัวเขียนเรียงกันอยู่ต้นพยางค์ และใช้สระเดียวกัน เวลาอ่านออกเสียงกล้ำเป็นพยางค์เดียวกัน เสียงวรรณยุกต์ของพยางค์นั้นจะผันเป็นไปตามเสียงพยัญชนะตัวหน้าคำควบกล้ำ (อักษรควบ) มี 2 ชนิด คือ
คำควบแท้ ได้แก่ พยัญชนะ ร ล ว ควบกับพยัญชนะตัวหน้า ประสมสระตัวเดียวกัน เวลาอ่านออกเสียงพยัญชนะทั้งสองตัวพร้อมกัน
คำควบไม่แท้ ได้แก่ พยัญชนะ ร ควบกับพยัญชนะตัวหน้าประสมสระตัวเดียวกัน เวลาอ่านไม่ออกเสียง ร ออกเสียงเฉพาะตัวหน้า หรือมิฉะนั้น ก็ออกเสียง เป็นเสียงอื่นไป
- คำควบไม่แท้ที่ออกเสียงเฉพาะพยัญชนะตัวหน้า ได้แก่พยัญชนะ จ ซ ศ ส ควบกับ ร
- คำควบไม่แท้ ท ควบกับ ร จะออกเสียงกลายเป็น ซ
ไวยากรณ์
ภาษาไทยเป็นภาษาคำโดด คำในภาษาไทยจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูป ไม่ว่าจะอยู่ในกาล (tense) การก (case) มาลา (mood) วาจก (voice) หรือบุรุษ (person) ใดก็ตาม คำในภาษาไทยไม่มีลิงค์ (gender) ไม่มีพจน์ (number) ไม่มีวิภัตติปัจจัย แม้เป็นคำที่รับมาจากภาษาผันคำ (ภาษาที่มีวิภัตติปัจจัย) เช่น ภาษาบาลี และภาษาสันสกฤต เมื่อนำคำที่รับมานั้นมาใช้ในภาษาไทย ก็จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูป
คำในภาษาไทยหลายคำไม่สามารถกำหนดหน้าที่ของคำได้อย่างตายตัว จำเป็นต้องอาศัยบริบทเข้าช่วยในการพิจารณา เมื่อต้องการจะผูกประโยค ก็นำเอาคำแต่ละคำมาเรียงติดต่อกันเข้า ภาษาไทยมีโครงสร้างแตกกิ่งไปทางขวา คำคุณศัพท์จะวางไว้หลังคำนาม ลักษณะทางวากยสัมพันธ์ โดยรวมแล้วจะเป็นแบบ 'ประธาน-กริยา-กรรม' (subject-verb-object หรือ SVO)
วากยสัมพันธ์
ลักษณะทางวากยสัมพันธ์ หรือการเรียงลำดับคำในประโยค โดยรวมแล้วจะเรียงเป็น 'ประธาน-กริยา-กรรม' (subject-verb-object หรือ SVO) อย่างไรก็ตาม ในบางกรณี เช่น ในกรณีที่มีการเน้นความหมายของกรรม (topicalization) สามารถเรียงประโยคเป็น 'กรรม-ประธาน-กริยา' (object-subject-verb หรือ OSV) ได้ด้วย แต่ต้องใช้คำชี้เฉพาะเติมหลังคำที่เป็นกรรมคำนั้น เช่น
กรณี | ลำดับคำ | ตัวอย่าง |
---|---|---|
ธรรมดา (unmarked) |
ประธาน-กริยา-กรรม | วัวกินหญ้าแล้ว |
เน้นกรรม (object topicalization) |
กรรม-ประธาน-กริยา | หญ้านี้ วัวกินแล้ว หรือ หญ้าเนี้ย วัวกินแล้ว |
การยืมคำจากภาษาอื่น
ส่วนนี้ไม่มีการอ้างอิงจากเอกสารอ้างอิงหรือแหล่งข้อมูล โปรดช่วยพัฒนาส่วนนี้โดยเพิ่มแหล่งข้อมูลน่าเชื่อถือ เนื้อหาที่ไม่มีการอ้างอิงอาจถูกคัดค้านหรือนำออก |
ภาษาไทยเป็นภาษาหนึ่งที่มีการยืมคำมาจากภาษาอื่น ๆ ค่อนข้างสูงมาก มีทั้งแบบยืมมาจากภาษาในตระกูลภาษาขร้า-ไท ด้วยกันเอง และข้ามตระกูลภาษา โดยส่วนมากจะยืมมาจากภาษาบาลี ภาษาสันสกฤต และภาษาเขมร ซึ่งมีทั้งรักษาคำเดิม ออกเสียงใหม่ สะกดใหม่ หรือเปลี่ยนความหมายใหม่ อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกัน
บางครั้งเป็นการยืมมาซ้อนคำ เกิดเป็นคำซ้อน คือ คำย่อยในคำหลัก มีความหมายเดียวกันทั้งสอง เช่น
- ดั้งจมูก โดยมีคำว่าดั้ง เป็นคำในภาษาไท ส่วนจมูก เป็นคำในภาษาเขมร
- อิทธิฤทธิ์ มาจาก อิทฺธิ (iddhi) ในภาษาบาลี ซ้อนกับคำว่า ฤทฺธิ ऋद्धि (ṛddhi) ในภาษาสันสกฤต โดยทั้งสองคำมีความหมายเดียวกัน
คำจำนวนมากในภาษาไทย ไม่ใช้คำในกลุ่มภาษาไท แต่เป็นคำที่ยืมมาจากกลุ่มภาษาสันสกฤต-ปรากฤต โดยมีตัวอย่างดังนี้
- รักษารูปเดิม หรือเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย
- วชิระ (บาลี: วชิร [vajira]), วัชระ (สันส: วชฺร वज्र [vajra])
- ศัพท์ (สันส: ศพฺท शब्द [śabda]), สัท (เช่น สัทอักษร) (บาลี: สทฺท [sadda])
- อัคนี และ อัคคี (สันส: อคฺนิ अग्नि [agni] บาลี: อคฺคิ [aggi])
- โลก (โลก) – บาลี: โลก [loka] (สันสกฤต: लोक โลก)
- ญาติ (ยาด) – บาลี: ญาติ (ยา-ติ) [ñāti]
- เสียง พ มักแผลงมาจาก ว
- เพียร (มาจาก พิริย และมาจาก วิริย อีกทีหนึ่ง) (สันส:วีรฺย वीर्य [vīrya], บาลี:วิริย [viriya])
- พฤกษา หรือ พฤกษ์ (สันส:วฺฤกฺษ वृक्ष [vṛkṣa])
- พัสดุ (สันส: वस्तु [vastu] (วสฺตุ); บาลี: [vatthu] (วตฺถุ) )
- เสียง -อระ เปลี่ยนมาจาก -ะระ
- หรดี (หอ-ระ-ดี) (บาลี:หรติ [harati] (หรติ))
- เสียง ด มักแผลงมาจาก ต
- หรดี (หอ-ระ-ดี) (บาลี:หรติ [harati] (หะระติ))
- เทวดา (บาลี:เทวตา [devatā])
- วัสดุ และ วัตถุ (สันส: [vastu] वस्तु (วสฺตุ); บาลี: [vatthu] (วตฺถุ))
- กบิลพัสดุ์ (กะ-บิน-ละ-พัด) (สันส: कपिलवस्तु [kapilavastu] (กปิลวสฺตุ); บาลี: [kapilavatthu] (กปิลวตฺถุ))
- เสียง บ มักแผลงมาจาก ป
- กบิลพัสดุ์ (กะ-บิน-ละ-พัด) (สันส: कपिलवस्तु [kapilavastu] (กปิลวสฺตุ); บาลี: [kapilavatthu] (กปิลวตฺถุ))
- บุพเพ และ บูรพ (บาลี: [pubba] (ปุพฺพ))
ภาษาอังกฤษ
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีวิวัฒนาการต่าง ๆ ทางเทคโนโลยีมากมาย ซึ่งทำให้มีการใช้ภาษาอังกฤษกันอย่างแพร่หลาย อย่างไรก็ตาม ก็ได้มีการบัญญัติศัพท์จากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย เช่น[11]
- ประปา จากคำว่า วอเตอร์ซัปพลาย (water supply)
- สถานี จากคำว่า สเตชัน (station)
- รถยนต์ จากคำว่า รถมอเตอร์คาร์ (motorcar)
- เรือยนต์ จากคำว่า เรือมอเตอร์ (motorboat)
- ประมวล จากคำว่า โค้ด (code)[12]
ดูเพิ่ม
อ้างอิง
- ↑ 1.0 1.1 ภาษาไทย ที่ Ethnologue (18th ed., 2015) (ต้องสมัครสมาชิก)
- ↑ "Languages of ASEAN". สืบค้นเมื่อ 7 August 2017.
- ↑ Diller, A.; Reynolds, Craig J. (2002). "What makes central Thai a national language?". ใน Reynolds (บ.ก.). National identity and its defenders : Thailand today. Chiang Mai: Silkworm Books. ISBN 974-7551-88-8. OCLC 54373362.
- ↑ Draper, John (2019), "Language education policy in Thailand", The Routledge International Handbook of Language Education Policy in Asia, Abingdon, Oxon; New York, NY: Routledge, pp. 229–242, doi:10.4324/9781315666235-16, ISBN 978-1-315-66623-5, S2CID 159127015
- ↑ 5.0 5.1 Pittayaporn, Pittayawat [พิทยาวัฒน์ พิทยาภรณ์]. (2009a). The Phonology of Proto-Tai (Doctoral dissertation). Department of Linguistics, Cornell University.
- ↑ วริษา กมลนาวิน. การวิเคราะห์ระบบเสียงวรรณยุกต์ของชาวกรุงศรีอยุธยาจากเสียงเจรจาโขนและจินดามณี. วารสารศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 3 (2), 28 - 54. https://so03.tci-thaijo.org/index.php/liberalarts/article/view/29103.
- ↑ Pittayawat Pittayaporn. Chindamani and reconstruction of Thai tones in the 17th century. Diachronica 33(2):187-219.
- ↑ "โหมโรง, รัฐนิยม, จอมพล ป. พิบูลสงคราม ประวัติศาสตร์ที่ต้องไม่บิดเบือน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-07-31. สืบค้นเมื่อ 2013-05-27.
- ↑ ศูนย์การแปลและล่ามเฉลิมพระเกียรติ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แปล ; ปรีมา มัลลิกะมาส, นริศรา จักรพงษ์, ไพศาลย์ เปี่ยมเมตตาวัฒน์ บรรณาธิการ, พจนานุกรมออกซฟอร์ด-ริเวอร์ บุ๊คส์ อังกฤษไทย, River Books, 2549, หน้า 1041
- ↑ "thai-language.com - Thai Vowels, Diphthongs, and Their Transcription". www.thai-language.com.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๒๖ น่า ๗๘๖ วันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๑๒๘ แจ้งความกรมราชเลขานุการ เรื่อง กำหนดให้เรียกคำบางคำในภาษาอังกฤษ เป็นคำภาษาไทย คือคำว่าวอเตอร์สัปพลาย ให้เรียกว่าประปา คำว่าสเตชัน ให้เรียกว่าสถานี คำว่ารถมอเตอร์คาร์ ให้เรียกว่ารถยนต์ คำว่าเรือมอเตอร์ ให้เรียกว่าเรือยนตร์
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา วันที่ ๑๕ สิงหาคม ๑๒๘ เล่ม ๖๖ น่า ๑๐๖๐ แจ้งความกรมราชเลขานุการ เรื่อง ให้กำหนดเรียกคำว่า ประมวล แทนคำที่เรียกตามภาษาอังกฤษว่า โค้ด
- กำชัย ทองหล่อ. หลักภาษาไทย. กรุงเทพฯ: บำรุงสาส์น, 2533.
- นันทนา รณเกียรติ. สัทศาสตร์ภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2548. ISBN 978-974-571-929-3.
- อภิลักษณ์ ธรรมทวีธิกุล และ กัลยารัตน์ ฐิติกานต์นารา. 2549.“การเน้นพยางค์กับทำนองเสียงภาษาไทย” (Stress and Intonation in Thai) วารสารภาษาและภาษาศาสตร์ ปีที่ 24 ฉบับที่ 2 (มกราคม – มิถุนายน 2549) หน้า 59-76
- สัทวิทยา: การวิเคราะห์ระบบเสียงในภาษา. 2547. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- Gandour, Jack, Tumtavitikul, Apiluck and Satthamnuwong, Nakarin.1999. “Effects of Speaking Rate on the Thai Tones.” Phonetica 56, pp.123-134.
- Tumtavitikul, Apiluck, 1998. “The Metrical Structure of Thai in a Non-Linear Perspective”. Papers presentd to the Fourth Annual Meeting of the Southeast Asian Linguistics Society 1994, pp. 53-71. Udom Warotamasikkhadit and Thanyarat Panakul, eds. Temple, Arizona: Program for Southeast Asian Studies, Arizona State University.
- Apiluck Tumtavitikul. 1997. “The Reflection on the X’ category in Thai”. Mon-Khmer Studies XXVII, pp. 307-316.
- อภิลักษณ์ ธรรมทวีธิกุล. 2539. “ข้อคิดเกี่ยวกับหน่วยวากยสัมพันธ์ในภาษาไทย” วารสารมนุษยศาสตร์วิชาการ. 4.57-66.
- Tumtavitikul, Appi. 1995. “Tonal Movements in Thai”. The Proceedings of the XIIIth International Congress of Phonetic Sciences, Vol. I, pp. 188-121. Stockholm: Royal Institute of Technology and Stockholm University.
- Tumtavitikul, Apiluck. 1994. “Thai Contour Tones”. Current Issues in Sino-Tibetan Linguistics, pp.869-875. Hajime Kitamura et al, eds, Ozaka: The Organization Committee of the 26th Sino-Tibetan Languages and Linguistics, National Museum of Ethnology.
- Tumtavitikul, Apiluck. 1993. “FO – Induced VOT Variants in Thai”. Journal of Languages and Linguistics, 12.1.34 – 56.
- Tumtavitikul, Apiluck. 1993. “Perhaps, the Tones are in the Consonants?” Mon-Khmer Studies XXIII, pp.11-41.