ภาษาถิ่นสะกอม
ภาษาถิ่นสะกอม | |
---|---|
สะหม้อ | |
ประเทศที่มีการพูด | ไทย |
ตระกูลภาษา | ขร้า-ไท
|
รหัสภาษา | |
ISO 639-3 | – |
ภาษาถิ่นสะกอม เป็นภาษาถิ่นย่อยของภาษาตากใบ[1][2] ใช้สื่อสารกันในกลุ่มชาวไทยมุสลิม พบผู้ใช้ภาษาดังกล่าวที่เป็นชาวไทยพุทธและชาวไทยเชื้อสายจีนกลุ่มเล็ก ๆ ซึ่งอาศัยในตำบลสะกอม อำเภอจะนะ และตำบลสะกอม อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา โดยเป็นภาษาที่เป็นเอกลักษณ์แตกต่างไปจากภาษาไทยถิ่นใต้ และภาษามลายูปัตตานี เพราะมีคำศัพท์เฉพาะถิ่นของตนเอง[3] และด้วยความที่อาณาเขตของภาษาอยู่บริเวณรอยต่อทางวัฒนธรรมของไทยถิ่นใต้และมลายูปัตตานีจนทำให้เกิดความผสมผสานทางภาษา[4]
ภาษาถิ่นสะกอมถูกใช้เป็นสำเนียงพูดของ อ้ายสะหม้อ ตัวละครหนึ่งในหนังตะลุงบางคณะ มีรูปพรรณเตี้ย สวมหมวกแขก นุ่งโสร่ง คางย้อย คอเป็นหนอก หลังโก่ง และลงพุง ซึ่งสร้างจากจินตนาการ โดยระบุว่านำมาจากบุคคลจริงและได้รับการอนุญาตจากเจ้าตัวแล้วชื่อ "สะหม้อ" (หรือ สาเมาะ) บุตรชายของโต๊ะยีโซะ เป็นชาวบ้านสะกอม อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เป็นมุสลิมแต่มักบริโภคเนื้อสุกรและดื่มเหล้า พูดจาพาทีด้วยภาษาถิ่น[5] ซึ่งเกิดขึ้นจากเสียงเล่าลือว่าเขาเป็นคนสนุกสนาน แต่ดุ และเป็นนักเลงเต็มตัว[6] ด้วยเหตุนี้ภาษาถิ่นสะกอมจึงเป็นที่รู้จักในชื่อ ภาษาสะหม้อ ตามชื่อตัวหนัง[7][8]
ปัจจุบันภาษาถิ่นสะกอมยังถูกใช้โดยประชาชนในพื้นที่ ทั้งในการประชุมหรือในการจัดรายการวิทยุท้องถิ่น แต่ปัญหาที่เกิดจากเหตุปัจจัยต่าง ๆ ทำให้ภาษาถิ่นสะกอมประสบปัญหาการเปลี่ยนแปลงด้านคำศัพท์ เพราะได้รับอิทธิพลจากภาษาอื่น และคำศัพท์สะกอมหลายคำเริ่มถูกแทนที่ด้วยคำจากภาษาไทยมาตรฐาน[9] ภาษาถิ่นสะกอมได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ พ.ศ. 2556[10]
ประวัติ[แก้]
เชื่อกันว่า บรรพบุรุษของชาวสะกอม เป็นชาวไทยที่อพยพมาจากเมืองหนองจิก (ปัจจุบันเป็นอำเภอขึ้นกับจังหวัดปัตตานี) เพื่อหนีอหิวาตกโรค ไปตั้งถิ่นฐานใหม่ที่บ้านบางพังกา ตำบลสะกอม อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ครั้นเกิดภาวะฝนแล้ง จึงย้ายถิ่นฐานไปตั้งชุมชนใหม่ที่บ้านปากบางสะกอม หรือสะฆอร์ (เป็นคำมลายู เรียกต้นไม้ขนาดเล็กชนิดหนึ่ง มีผลสีแดง) และตั้งบ้านเรือน ประกอบอาชีพเป็นชาวประมงชายฝั่งสืบมาจนถึงปัจจุบัน บ้างก็ว่าบรรพชนของตนเป็นชาวมุสลิมอพยพจากกรุงศรีอยุธยาเมื่อคราวกรุงแตกครั้งที่สอง ส่วนหนึ่งเข้าไปตั้งถิ่นฐานในเขตสะกอม และอีกส่วนไปตั้งถิ่นฐานที่อำเภอตากใบ ซึ่งมีภาษาที่คล้ายคลึงกัน[11] อย่างไรก็ตาม ชาวสะกอมมีภูมิปัญญาพื้นบ้านเฉพาะถิ่นที่เกี่ยวข้องกับการประมงอย่างหนึ่ง เรียกว่า ดูหลำ บ้างเรียก ยูสะแล หรือ ยูสะหลำ หมายถึงคนที่ฟังเสียงปลาใต้ท้องทะเล ดูหลำสามารถฟังเสียงจากใต้ทะเล รับรู้ได้ว่าในทะเลในจุดที่ลงไปนั้นมีปลาชนิดใด มีจำนวนมากเท่าใด และคุ้มทุนมากน้อยเพียงใดที่จะลงอวน[12]
ในชุมชนสะกอมก็มีกลุ่มชาวไทยพุทธจำนวนหนึ่งอาศัยอยู่ท่ามกลางประชาคมไทยมุสลิม มีวัดหนึ่งแห่งคือวัดสะกอม ใน พ.ศ. 2565 มีพระสงฆ์จำพรรษาราว 7-8 รูป[13] นอกจากกลุ่มชาวไทยมุสลิมและพุทธที่ใช้ภาษาถิ่นสะกอมแล้ว ยังมีกลุ่มชาวไทยเชื้อสายจีนที่อพยพเข้ามายังชุมชนสะกอมในชั้นหลังเพื่อทำการค้าขายกลางหมู่บ้าน จนเกิดเป็นชุมชนบ้านจีนและศาลปุนเถ้ากงสืบมาจนถึงปัจจุบัน ชาวไทยเชื้อสายจีนเหล่านี้ก็ใช้ภาษาถิ่นสะกอมสำหรับสื่อสารระหว่างชาวไทยมุสลิมและพุทธ[11] ทั้งชาวไทยพุทธและชาวไทยเชื้อสายจีนอาศัยอยู่ที่บ้านจีน (หมู่ 2) ตำบลสะกอม อำเภอจะนะ[14]
มีชุมชนที่ใช้ภาษาถิ่นสะกอมในการสื่อสารจำนวน 13 หมู่บ้าน ในพื้นที่สองตำบล คือ ตำบลสะกอม อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา มีจำนวน 9 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านสะกอมหัวนอน บ้านจีน บ้านเลียบ บ้านปากบาง บ้านชายคลอง บ้านโคกสัก บ้านบ่อโชน บ้านโคกยาง และบ้านบนลาน และมีชาวสะกอมบางส่วนโยกย้ายไปตั้งชุมชนที่ตำบลสะกอม อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา จำนวน 4 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านปากบางสะกอม บ้านสวรรค์ บ้านม่วงถ้ำ และบ้านพรุหลุมพี[15] นอกจากนี้ยังมีชาวสะกอมบางส่วนอพยพไปตั้งถิ่นฐานที่บ้านตลิ่งชัน ตำบลตลิ่งชัน อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา อีกจำนวนหนึ่ง[16] ใน พ.ศ. 2536 ตำบลสะกอม อำเภอจะนะ มีสัดส่วนของอิสลามิกชนมากถึงร้อย 96.21 และพุทธศาสนิกชนร้อยละ 3.79[17] ขณะที่ตำบลสะกอม อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา มีอิสลามิกชนร้อยละ 65 และพุทธศาสนิกชนร้อยละ 35[18] โดยทั้งชาวไทยมุสลิม ไทยพุทธ และชาวไทยเชื้อสายจีนในพื้นที่หลายครอบครัวมีความสัมพันธ์เป็นเครือญาติผ่านการสมรสข้ามกลุ่ม[19] พวกเขาสามารถอยู่ร่วมกันได้โดยสันติปราศจากข้อขัดแย้งด้านศาสนาและวัฒนธรรม[20]
ลักษณะของภาษา[แก้]
เนื่องจากเป็นภาษาที่อยู่ระหว่างรอยต่อของภาษาไทยถิ่นใต้กับภาษามลายูปัตตานี ทำให้ชุมชนชาวสะกอมได้รับอิทธิพลดังกล่าวนี้มาผสมผสานเข้าด้วยกัน จนเป็นภาษาที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง โดยเฉพาะคำศัพท์และสำเนียงการพูด โดยผู้พูดภาษาถิ่นสะกอมจะใช้เสียงดัง เนื่องจากต้องพูดสู้เสียงทะเล ไม่สุภาพนุ่มนวล และพูดอย่างตรงไปตรงมา นอกจากนี้ ภาษาถิ่นสะกอมยังมีความใกล้เคียงกับภาษาถิ่นตากใบมากกว่าภาษาไทยถิ่นใต้สำเนียงสงขลา[21] แต่มีลักษณะอันเป็นเอกลักษณ์คือ คำที่มีสองพยางค์ จะไม่นิยมตัดคำเหมือนภาษาไทยถิ่นใต้ทั่วไป มีการเติมเสียงพยางค์หน้า และยังมีการเรียงคำสับ ที่เป็นภาษาถิ่นใต้ทั่วไป เช่น พุงขึ้น ("ท้องขึ้น") จะเป็น ขึ้นพุง เป็นต้น[22]
ตัวอย่าง[แก้]
คำศัพท์[แก้]
สะกอม | ตากใบ | ไทยถิ่นใต้ | คำแปล |
---|---|---|---|
กะดานละฆั้น | กือด๋านเคี้ยง | ดานเฉียง | เขียง |
กะพร็อก | กือพร็อก | พร็อก | กะลา |
กะรีซ๊ะ | ฮ้วง | ฮ้วง | เป็นห่วง |
กุโบ | ป๊าเปร๊ว | เปรว | ป่าช้า |
กุหรัง | พั่ง | พั่ง | พัง |
จะระโผง | หัวหรุ่ง | หัวรุ่ง | รุ่งสาง |
จะหลาก๋า | ก๋าหลี, ท้อย | ชั่ว | ชั่วร้าย, เลวทราม |
จะล็อก | ย้อก | หยอก | หยอก, ล้อเลียน |
ชะเร่ | เซ | เซ | โซเซ |
บะจี๋น | โหลกฆฮื่อจี๋น, โหลกบื่อจี๋น | ดีปลี, ลูกเผ็ด | พริก |
บาระ | ด๋อง | กินเหนียว | แต่งงาน |
ตะหลำ | กือหลำ | ท้าด | ถาด |
ระเบ๋งโพละ | พ้า | ผา | หน้าผา |
ลาบ้า | ก๋ำไหร | กำไร | กำไร |
ทุร่าตับ | คีคร่าน | ขี้คร้าน | ขี้เกียจ |
ถะแหลง | แหลง | แหลง | พูด |
ตะแป็ด | ต๊าย | ขึ้น | ปีน |
ติหมา | กือถาง | หมา | ถังน้ำ |
บาดัง | กือดัง | ด็อง | กระด้ง |
ปาแรแหยด | แบ๋น | แบ๋น | แบน |
สะลอหว็อด | ยุงกือโจ๋, กือโจ๋หาย | วุ่นวาย | ชุลมุน, วุ่นวาย |
ประโยค[แก้]
- เด็กพายาหมูไปนั่งกินเท่ตะพาน แปลว่า เด็กเอาฝรั่งไปนั่งกินที่สะพาน
- เมาะราเยนเอาบะจี๋นใส่ตะหลำไปตากแดด แปลว่า ยายขยันเอาพริกใส่ถาดไปตากแดด
- เจ๊ะโปกจะไค้ในป่ากะพร้าว แปลว่า พ่อปลูกต้นตะไคร้ในป่ามะพร้าว
- เอาบะจี๋นใส่ตะหลำให้แมะที แปลว่า เอาพริกใส่ถาดให้แม่หน่อยสิ
- คนเท่โถกรถชุนเหลกวา ทำท่าตะโระ แปลว่า คนที่ถูกรถชนเมื่อวานนี้ คงบาดเจ็บหนัก
อ้างอิง[แก้]
- ↑ ทวีพร จุลวรรณ (2554). ระบบเสียงภาษาพิเทน ตำบลพิเทน อำเภอทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานี (PDF). มหาวิทยาลัยศิลปากร. p. 4.
{{cite book}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|year=
(help) - ↑ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (2559). ภาษา : มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ (PDF). กรุงเทพฯ: สำนักงานกิจการโรงพิมพ์ องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ในพระบรมราชูปถัมภ์. p. 55.
{{cite book}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|year=
(help) - ↑ ตามใจ อวิรุทธิโยธิน (2559). ภาพรวมการศึกษาภาษาไทยถิ่นใต้. วารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (13:1). p. 9.
{{cite book}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|year=
(help) - ↑ ภารตี เบ็ญหรีม และเชิดชัย อุดมพันธ์ (2564). แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงคำศัพท์ภาษาสะกอมของคน 3 กลุ่มอายุ. วารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (12:2). p. 37.
{{cite book}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|year=
(help) - ↑ "อ้ายสะหม้อ". เทศบาลตำบลควนเนียง. สืบค้นเมื่อ 16 สิงหาคม 2565.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "ตัวตลก". เทศบาลเมืองทุ่งสง. สืบค้นเมื่อ 16 สิงหาคม 2565.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ มุจรินทร์ ทีปจิรังกูล (2538). ภาษิตชาวบ้านตำบลสะกอม อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา (PDF). มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ. p. 6. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2022-08-16. สืบค้นเมื่อ 2022-08-16.
{{cite book}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|year=
(help) - ↑ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (2559). ภาษา : มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ (PDF). กรุงเทพฯ: สำนักงานกิจการโรงพิมพ์ องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ในพระบรมราชูปถัมภ์. p. 68.
{{cite book}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|year=
(help) - ↑ ภารตี เบ็ญหรีม และเชิดชัย อุดมพันธ์ (2564). แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงคำศัพท์ภาษาสะกอมของคน 3 กลุ่มอายุ. วารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (12:2). p. 57.
{{cite book}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|year=
(help) - ↑ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (2559). ภาษา : มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ (PDF). กรุงเทพฯ: สำนักงานกิจการโรงพิมพ์ องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ในพระบรมราชูปถัมภ์. p. 69.
{{cite book}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|year=
(help) - ↑ 11.0 11.1 มุจรินทร์ ทีปจิรังกูล (2538). ภาษิตชาวบ้านตำบลสะกอม อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา (PDF). มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ. p. 5. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2022-08-16. สืบค้นเมื่อ 2022-08-16.
{{cite book}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|year=
(help) - ↑ วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง (มกราคม 2548). "คนฟังเสียงปลา ภูมิปัญญาพรานทะเลแห่งจะนะ". สารคดี. สืบค้นเมื่อ 18 สิงหาคม 2565.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
และ|date=
(help) - ↑ แลต๊ะแลใต้ (16 สิงหาคม 2565). "มองเจ้าแม่กวนอิมที่หาดสะกอม ผ่านสายตาคนใน "จีนมลายู พุทธ มุสลิมชายแดนใต้"". นักข่าวพลเมือง ไทยพีบีเอส. สืบค้นเมื่อ 17 สิงหาคม 2565.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
และ|date=
(help) - ↑ สภาพทั่วไปและข้อมูลพื้นฐาน ตำบลสะกอม อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา (PDF). องค์การบริหารส่วนตำบลสะกอม. p. 10.
- ↑ ภารตี เบ็ญหรีม และเชิดชัย อุดมพันธ์ (2564). แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงคำศัพท์ภาษาสะกอมของคน 3 กลุ่มอายุ. วารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (12:2). p. 43.
{{cite book}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|year=
(help) - ↑ "ประวัติความเป็นมาของตำบลตลิ่งชัน". องค์การบริหารส่วนตำบลตลิ่งชัน. สืบค้นเมื่อ 18 สิงหาคม 2565.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ มุจรินทร์ ทีปจิรังกูล (2538). ภาษิตชาวบ้านตำบลสะกอม อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา (PDF). มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ. p. 15. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2022-08-16. สืบค้นเมื่อ 2022-08-16.
{{cite book}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|year=
(help) - ↑ โสภณ พรโชคชัย (6 พฤษภาคม 2565). "มุสลิมชาวจะนะ-เทพาไม่ควรค้านการสร้างเทวรูปกวนอิม". ประชาไท. สืบค้นเมื่อ 17 สิงหาคม 2565.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
และ|date=
(help) - ↑ มุจรินทร์ ทีปจิรังกูล (2538). ภาษิตชาวบ้านตำบลสะกอม อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา (PDF). มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ. p. 13. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2022-08-16. สืบค้นเมื่อ 2022-08-16.
{{cite book}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|year=
(help) - ↑ มุจรินทร์ ทีปจิรังกูล (2538). ภาษิตชาวบ้านตำบลสะกอม อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา (PDF). มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ. p. 9. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2022-08-16. สืบค้นเมื่อ 2022-08-16.
{{cite book}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|year=
(help) - ↑ ::ฐานข้อมูลวิทยานิพนธ์อิเล็กทรอนิกส์[ลิงก์เสีย]
- ↑ "สงขลา 9 ภาษาและวรรณกรรม". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2004-03-11. สืบค้นเมื่อ 2009-09-29.