ข้ามไปเนื้อหา

ภาษากะซอง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ภาษากะซอง
ภาษาชองจังหวัดตราด
ปะซากะซ่อง
ออกเสียง/pasaː kasɔ̤̀ːŋ/
ประเทศที่มีการพูดไทย
ภูมิภาคจังหวัดตราด
ชาติพันธุ์ชาวกะซอง
จำนวนผู้พูด50 คน  (2551)[1]
ตระกูลภาษา
ระบบการเขียนอักษรไทย
สถานภาพทางการ
ภาษาชนกลุ่มน้อยที่รับรองใน ไทย
รหัสภาษา
ISO 639-3ไม่มี (mis)

ภาษากะซอง (กะซอง: ปะซากะซ่อง) เดิมรู้จักกันในชื่อ "ภาษาชองจังหวัดตราด" เป็นภาษาใกล้สูญภาษาหนึ่งในกลุ่มภาษาปอร์ของตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติก ปัจจุบันมีผู้พูดส่วนใหญ่อยู่ในตำบลด่านชุมพล อำเภอบ่อไร่[2] จังหวัดตราด ประเทศไทย ที่ผ่านมาภาษากะซองได้รับการจัดให้เป็นภาษาย่อยของภาษาชองกลางโดยประเมินจากความคล้ายคลึงกันของคำศัพท์ที่ได้รับการรวบรวมไว้ไม่มากนัก[3] อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาเพิ่มเติมและจากการตรวจสอบคำศัพท์ที่รวบรวมได้มากขึ้นบ่งชี้ว่าภาษากะซองเป็นภาษาต่างหากที่มีความเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับภาษาชองและภาษาซำเร[2][4] ภาษากะซองอยู่ในภาวะวิกฤตใกล้สูญ เนื่องจากไม่เหลือผู้รู้ภาษานี้เพียงภาษาเดียวและผู้รู้ภาษานี้ทุกคนใช้ภาษาไทยเป็นภาษาหลัก

จากวงศัพท์ที่มีการตรวจสอบ พบว่าร้อยละ 55.38 ของภาษานี้ประกอบด้วยคำยืมจากภาษาไทย[5] คำยืมเหล่านี้แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ คำยืมจากภาษาไทยโดยตรงและคำยืมที่มาจากการประสมคำภาษาไทยกับคำที่มีอยู่แล้วในภาษากะซอง[6] อัตราร้อยละที่สูงเช่นนี้บ่งบอกถึงเส้นทางสู่การสูญหายของภาษา โดยที่ภาษาไทยเข้ามาแทนที่ภาษานี้

เมื่อมากกว่า 50 ปีที่แล้ว[เมื่อไร?] ชาวกะซองทั้งหมดถูกห้ามไม่ให้พูดภาษากะซองทั้งในครอบครัวและกับผู้อื่น เนื่องจากผู้ว่าราชการจังหวัดเชื่อว่าการพูดภาษากะซองเป็นอุปสรรคต่อการพูดภาษาไทย[7] ชาวกะซองค่อย ๆ เลิกสื่อสารกันเป็นภาษากะซองและหันมาสอนภาษาไทยแก่ลูกหลานแทน[7] จนกระทั่งไม่นานมานี้ได้มีความพยายามอนุรักษ์และฟื้นฟูภาษาและภูมิปัญญากะซองผ่านระบบตัวเขียนอักษรไทยที่ชาวกะซองสร้างขึ้นโดยได้รับความช่วยเหลือจากนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดล ภาษาและกลุ่มชนกะซองเป็นตัวแทนของชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์ภาษาจำนวนมากของประเทศไทย[8]

การจำแนก

[แก้]

กะซอง (หรือ กะซ่อง /kasɔ̤̀ːŋ/ ในภาษากะซอง) เป็นทั้งชื่อเรียกภาษาและกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีถิ่นฐานอยู่ในอำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด สันนิษฐานกันว่าคำนี้มีความหมายดั้งเดิมว่า "คน"[9] ภาษากะซองเป็นภาษาตระกูลออสโตรเอเชียติกที่จัดอยู่ในกลุ่มย่อยปอร์ร่วมกับภาษาชองในจังหวัดจันทบุรี แต่เดิมคนภายนอกรู้จักภาษานี้ในชื่อ "ภาษาชองจังหวัดตราด" เนื่องจากชื่อและตัวภาษาทั้งสองมีความคล้ายคลึงกัน และชาวกะซองหลายคนก็แปลคำว่า กะซ่อง เป็น ชอง เมื่อพูดภาษาไทย[4] แต่จากการตรวจสอบเปรียบเทียบวงศัพท์ภาษากะซองกับวงศัพท์ภาษาชองพบว่าภาษาทั้งสองมีความแตกต่างกันมากพอที่จะถือว่าเป็นคนละภาษา[10]

สัทวิทยา

[แก้]

พยัญชนะ

[แก้]
หน่วยเสียงพยัญชนะภาษากะซองถิ่นคลองแสง[11]
ลักษณะการออกเสียง ตำแหน่งเกิดเสียง
ริมฝีปาก ปุ่มเหงือก เพดานแข็ง เพดานอ่อน เส้นเสียง
เสียงนาสิก m n ɲ ŋ
เสียงหยุด ก้อง b d
ไม่ก้อง ไม่พ่นลม p t c k ʔ
พ่นลม
เสียงเสียดแทรก (f) s h
เสียงรัว r
เสียงข้างลิ้น l
เสียงกึ่งสระ w j
  • หน่วยเสียงที่อยู่ในวงเล็บคือหน่วยเสียงที่ปรากฏในคำยืมจากภาษาไทย
  • หน่วยเสียงที่เป็นได้ทั้งพยัญชนะต้นและพยัญชนะท้ายมี 12 หน่วยเสียง ได้แก่ /m/, /n/, /ɲ/, /ŋ/, /p/, /t/, /c/, /k/, /h/, /l/, /w/ และ /j/[12]
  • หน่วยเสียงพยัญชนะต้นควบมี 12 หน่วยเสียง ได้แก่ /pr/, /pl/, /pʰr/, /pʰl/, /tr/, /cr/, /kr/, /kl/, /kw/, /kʰr/, /kʰl/ และ /sr/[13]
  • หน่วยเสียง /c/ เมื่ออยู่ในตำแหน่งต้นพยางค์ออกเสียงเป็น [t͡ɕ] และเมื่ออยู่ในตำแหน่งท้ายพยางค์ออกเสียงเป็น [c][14]
  • หน่วยเสียง /cʰ/ ออกเสียงเป็น [t͡ɕʰ][15]
  • หน่วยเสียง /w/ และ /j/ เมื่ออยู่ในตำแหน่งท้ายพยางค์ออกเสียงเป็น [u] และ [i] ตามลำดับ[16]

สระ

[แก้]

สระเดี่ยว

[แก้]
หน่วยเสียงสระเดี่ยวภาษากะซองถิ่นคลองแสง[17]
ระดับลิ้น ตำแหน่งลิ้น
หน้า กลาง หลัง
สูง i, iː ɯ, ɯː u, uː
กลาง e, eː əː o, oː
ต่ำ æ, æː a, aː ɔ, ɔː

สระประสม

[แก้]

ภาษากะซองถิ่นคลองแสงมีหน่วยเสียงสระประสม 1 หน่วยเสียง ได้แก่ /uə/ ซึ่งออกเสียงเป็น [uːə][18] นอกจากนี้ยังปรากฏหน่วยเสียง /iə/ [iːə] และ /ɯə/ [ɯːə] ในคำยืมจากภาษาไทยอีกด้วย

ลักษณะน้ำเสียง

[แก้]

ภาษากะซองในปัจจุบันจัดว่ามีลักษณะน้ำเสียงแบบผสมผสาน กล่าวคือ ใช้ลักษณะน้ำเสียงร่วมกับระดับเสียงในการจำแนกคำ จึงแตกต่างไปจากภาษาชองและภาษาซำเร[19] ลักษณะน้ำเสียงแบบผสมผสานของภาษากะซองมี 4 ลักษณะ ได้แก่ ลักษณะน้ำเสียงปกติ ระดับเสียงกลาง [V̄] หรือสูง [V́], ลักษณะน้ำเสียงปกติ ระดับเสียงกึ่งสูง–สูง–ตก [V̂], ลักษณะน้ำเสียงพ่นลม ระดับเสียงกลาง–กึ่งสูง–ตก [V̤̂] และลักษณะน้ำเสียงพ่นลม ระดับเสียงกึ่งต่ำ [V̤̀] ลักษณะน้ำเสียงเหล่านี้อยู่ระหว่างการพัฒนาไปเป็นเสียงวรรณยุกต์เนื่องจากอิทธิพลของภาษาไทย[19]

ระบบการเขียน

[แก้]

ใน พ.ศ. 2544 ชุมชนชาวกะซองที่จังหวัดตราดได้พยายามฟื้นฟูภาษาและภูมิปัญญาท้องถิ่นของตนเองผ่านการทำโครงการวิจัยเพื่อท้องถิ่นโดยมีหน่วยงานวิชาการคอยช่วยเหลือด้านกระบวนการวิจัย[20] โครงการวิจัยแรกซึ่งดำเนินอยู่ระหว่าง พ.ศ. 2552–2554 คือ "แนวทางการพลิกฟื้นภาษากะซองเพื่อสืบทอดให้คนรุ่นหลังอย่างยั่งยืน บ้านคลองแสง ตำบลด่านชุมพล อำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด" ทำให้เกิดผลงานสำคัญคือระบบเขียนภาษากะซองอักษรไทยเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการบันทึกภาษาและภูมิปัญญาท้องถิ่นรวมทั้งการจัดทำคู่มือการสอนภาษาต่อไป ระบบเขียนภาษากะซองอักษรไทยที่ชุมชนชาวกะซองที่บ้านคลองแสงได้กำหนดไว้มีดังนี้[21]

พยัญชนะ
อักษรไทย เสียง ตัวอย่างคำ ความหมาย
/k/ ะฮ หม้อ
มอ ค้างคาว
/kʰ/ ค้อน หนู
/ŋ/ ง่าล ใบหน้า
กา พระจันทร์
/c/ ไป
ซู้ มด
/cʰ/ ช้ หมา
/s/ ซี งู
/ɲ/ ญ่าย พูด
ทิ้ หน่อไม้
/d/ เป็ด
/t/ (เมื่อเป็นพยัญชนะท้าย) เง่ เช้า
/t/ (เมื่อเป็นพยัญชนะต้น) ตุ ไข่
/tʰ/ ท้าม ปู
/n/ น่อง ภูเขา
กรา ขวาน
/b/ โบสถ์
/p/ (เมื่อเป็นพยัญชนะท้าย) ตรึ มะเขือ
/p/ (เมื่อเป็นพยัญชนะต้น) มีด
/pʰ/ พ้ สาม
/m/ มั่ นัยน์ตา
ซึ ดาว
/j/ ยู่ เมฆ
ละว่า เสือ
/r/ คางคก
/l/ ไก่
นี เสื่อ
/w/ ลิง
กะปา ควาย
/ʔ/ กลอย
/h/ าล ข้าวเปลือก
อู ฟืน
สระ
อักษรไทย เสียง ตัวอย่างคำ ความหมาย
–ะ /a/ ((เมื่อไม่มีพยัญชนะท้าย
และอยู่ในคำหลายพยางค์
หรือเมื่อมีพยัญชนะท้ายเป็น /h/)
โม้ หิน
ต่ กระทะ
–ั /a/ (เมื่อมีพยัญชนะท้ายที่ไม่ใช่
/h/, /m/, /j/, /w/)
ลั ข้าวฟ่าง
รั น่อง
–า /aː/ กิน
ร่ สิบ
–ิ /i/ มะริ่ พริกไทย
นิ ไม้
–ี /iː/ รี่ ป่า
ชี้ นก
–ึ /ɯ/ ปะนฺึ้ จอมปลวก
อึ ให้
–ือ /ɯː/ (เมื่อเป็นพยางค์เปิด) กะจฺื้อ กระบุง
–ื /ɯː/ (เมื่อเป็นพยางค์ปิด) มะรื่ หนวก
–ุ /u/ ลุ เกลือ
รุ่ ขาว, หงอก
–ู /uː/ ลู่ ขา
กู้ กบ
เ–ะ /e/ (เมื่อมีพยัญชนะท้ายเป็น /h/) กวาง
เ– /e/ (เมื่อมีพยัญชนะท้ายอื่น) จ่น เหยียบ
/eː/ มฺ้ ปลา
ร่ฮ ราก
แ–ะ /æ/ (เมื่อมีพยัญชนะท้ายเป็น /h/) ปล ถอน, เด็ด
แ– /æ/ (เมื่อมีพยัญชนะท้ายอื่น) ญ้ญ หยิก, งอ
/æː/ กวก กอด
จรง แหวน
โ–ะ /o/ (เมื่อมีพยัญชนะท้ายเป็น /h/) ปะ ข้าวตอก
โ–ะ (ลดรูป) /o/ (เมื่อมีพยัญชนะท้ายอื่น) ซร่ก หมู
โ– /oː/ พ้ ฝัน
ตฮ หัว
เ–าะ /ɔ/ (เมื่อมีพยัญชนะท้ายเป็น /h/) ล่าะ คลาน
–อ /ɔ/ (เมื่อมีพยัญชนะท้ายอื่น) งปี่ อะไร
/ɔː/ ฮ้ บิน
ตร วัว
เ–อ /əː/ (เมื่อเป็นพยางค์เปิด) ลฺ้ เปื้อน, เลอะ
เ–ิ /əː/ (เมื่อเป็นพยางค์ปิด) เปิ่ พบ, เจอ
เ–ีย /ia/ ซุกเปีย ผมเปีย
เ–ือ /ɯə/ เกือ รองเท้า
–ัว /uə/ (เมื่อไม่มีพยัญชนะท้าย) มะคัว สิว
–ว– /uə/ (เมื่อมีพยัญชนะท้าย) ซฺ้ เย็บ
–ำ /am/ คะนำ ยา
ไ– /aj/ ใจ
เ–า /aw/ กะ ฟักทอง
ลักษณะน้ำเสียงและระดับเสียง
อักษรไทย ลักษณะ
น้ำเสียง
และระดับเสียง
ตัวอย่างคำ ความหมาย
ไม่มีรูป ปกติ
กลางหรือสูง
ตะเง ฟัง
กอง กำไล
ซีด เห็ด
โปด โค่น (ต้นไม้)
–้ ปกติ
กึ่งสูง–สูง–ตก
ทะงี้ พระอาทิตย์
ก้อง เขียด
เปล้ มะอึก
ปู้ น้ำเต้า
–ฺ้ พ่นลม
กลาง–กึ่งสูง–ตก
จฺ้ เปรี้ยว
ตฺ้าก เปียก
ซฺี้ เช็ด
ปฺ้ อ่อน
–่ พ่นลม
กึ่งต่ำ
ละวี่ พัด (กริยา)
ต่าก น้ำ
เปล่ ไฟ
ป่ ข้าวโพด

สถานการณ์ในปัจจุบัน

[แก้]

ชาวกะซองส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในหมู่ที่ 3 บ้านคลองแสง และส่วนน้อยอาศัยอยู่ในหมู่ที่ 1 บ้านด่านชุมพล และหมู่ที่ 6 บ้านปะเดา ตำบลด่านชุมพล อำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด[22] พวกเขาสร้างครัวเรือนอยู่กระจัดกระจายปะปนกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ โดยประกอบอาชีพเกษตรกรรมรวมทั้งเก็บของป่าในฤดูแล้ง ชาวกะซองมีการแต่งงานกับคนนอกกลุ่มจึงเกิดการผสมผสานระหว่างเชื้อสายและวัฒนธรรมตามแบบไทย[22]

ในปัจจุบันมีผู้พูดภาษากะซองที่ยังสื่อสารได้ดีไม่เกิน 10 คน และล้วนเป็นผู้สูงอายุ ในขณะที่ชาวกะซองในวัยกลางคนจนถึงวัยเยาว์สื่อสารกันผ่านภาษาไทยเป็นหลัก แม้จะเข้าใจภาษาของบรรพชนอยู่บ้างแต่ก็ไม่สามารถสื่อสารเป็นประโยคยาว ๆ ได้[20] จึงถือว่าภาษากะซองเป็นภาษาที่อยู่ในภาวะวิกฤตใกล้สูญ ชาวกะซองเองก็ตระหนักดีถึงสถานการณ์ดังกล่าว จึงมีแนวคิดที่จะอนุรักษ์ภาษาไว้ให้ได้นานที่สุดผ่านการเพิ่มจำนวนปราชญ์พื้นบ้านและผู้พูดภาษากะซองทั้งผู้ใหญ่และเยาวชน โดยมีการรณรงค์ให้ไปเรียนภาษากับครูภูมิปัญญาในวันหยุด ฝึกทักษะการฟังและการพูดอย่างเข้มข้นกับผู้สูงอายุที่ยังสามารถสื่อสารภาษากะซองได้ดี และพัฒนาไปสู่การใช้ภาษากะซองในชีวิตประจำวัน[20]

กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ประกาศขึ้นทะเบียนภาษากะซองเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติไทย สาขาภาษา เมื่อ พ.ศ. 2557[23]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "UNESCO Atlas of the World's Languages in Danger". unesco.org (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2018-08-08.
  2. 2.0 2.1 Sunee, Kamnuansin (2003). "Syntactic Characteristics of Kasong: An Endangered Language of Thailand" (PDF). Mon-Khmer Studies. 33: 167–182. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2015-12-21.
  3. Sidwell, Paul (2009). Classifying the Austroasiatic Languages: History and State of the Art (ภาษาอังกฤษ). Muenchen: Lincom Europa. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-03-24.
  4. 4.0 4.1 Thongkham 2003, p. 1
  5. Thongkham 2003, p. 102
  6. Thongkham 2003, p. 105
  7. 7.0 7.1 Thongkham 2003, p. 113
  8. Joll, Chris. "Language Loyalty and Loss in Malay South Thailand – From Ethno-Religious Rebellion to Ethno-Linguistic Angst?" (Draft) (ภาษาอังกฤษ) – โดยทาง ResearchGate.
  9. ณัฐมน โรจนกุล และรณกร รักษ์วงศ์ 2558, p. 67
  10. Thongkham 2003, p. 2
  11. Thongkham 2003, p. 69
  12. Thongkham 2003, p. 60
  13. Thongkham 2003, p. 61
  14. Thongkham 2003, p. 73
  15. Thongkham 2003, p. 74
  16. Thongkham 2003, p. 81–82
  17. Thongkham 2003, p. 70
  18. Thongkham 2003, p. 87
  19. 19.0 19.1 กรมส่งเสริมวัฒนธรรม 2559, p. 4
  20. 20.0 20.1 20.2 ณัฐมน โรจนกุล และรณกร รักษ์วงศ์ 2558, p. 70
  21. สันติ เกตุถึก และคณะ 2554, p. 46–48
  22. 22.0 22.1 กรมส่งเสริมวัฒนธรรม 2559, p. 5
  23. กรมส่งเสริมวัฒนธรรม 2559, p. 7

บรรณานุกรม

[แก้]
  • กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (2559). ภาษา: มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ. กรุงเทพฯ: กรมส่งเสริมวัฒนธรรม.
  • ณัฐมน โรจนกุล และรณกร รักษ์วงศ์ (2558). "ภาษากะซอง: เสียงของคนกลุ่มสุดท้ายแห่งดินแดนตะวันออก". วัฒนธรรม. 54 (3): 66–73.
  • สันติ เกตุถึก และคณะ (2554). โครงการวิจัย "แนวทางการพลิกฟื้นภาษากะซองเพื่อสืบทอดให้คนรุ่นหลังอย่างยั่งยืน บ้านคลองแสง ต.ด่านชุมชน อ.บ่อไร่ จ.ตราด". กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.
  • Thongkham, Noppawan (2003). The phonology of Kasong at Khlong Saeng Village, Danchumphon Sub-district, Bo Rai District, Trat Province (M.A. thesis). Mahidol University.